หนึ่งในตระกูลการเมืองหรือ ‘บ้านใหญ่’ ที่สามารถครองตำแหน่งการเมืองในพื้นที่ได้ยาวนานกว่าครึ่งทศวรรษ แถมสามารถส่งไม้ต่อมาจนถึงรุ่นที่ 3 ก็คือ ‘ตระกูลอัศวเหม’ แห่ง จ.สมุทรปราการ
คนครอบครัวนี้ทำได้อย่างไร?
มีคำอธิบายจากอาจารย์ชุมพล อุ่นพัฒนาศิลป์ อาจารย์ประจำคณะรัฐประศาสนศาสตร์ สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (NIDA) ในรายการนอกBangkok ที่กล่าวถึงกลไกการรักษาอำนาจของตระกูลอัศวเหม ว่าไม่ต่างกับ “จักรกลทางการเมือง” จนทำให้สามารถรักษาอำนาจมาตั้งแต่รุ่นวัฒนา พี่น้อง ลูก หลาน หรือกระทั่งลูกสะใภ้ได้อย่างน่าติดตาม
จักรกลที่ว่ามีหน้าตาอย่างไร และเหตุใดอัศวเหมจึงถูกเลือกให้มีตำแหน่งทางการเมืองอยู่เรื่อยๆ ตลอดระยะกว่า 50 ปีที่ผ่านมา แม้คนปากน้ำบางส่วนจะไม่ได้รู้สึกชื่นชอบ ไปติดตามกัน
4 ยุคการเมืองปากน้ำ
จากงานวิจัยที่ทำร่วมกับอาจารย์พิชญ์ พงษ์สวัสดิ์ จากคณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เวลาเราพูดถึงบ้านใหญ่ จ.สมุทรปราการ อาจจะต้องแบ่งออกเป็นสัก 4 ช่วงเวลา เพื่อให้เห็นความเปลี่ยนแปลง เห็นพลวัต เห็นความเปลี่ยนแปลงของ ‘บ้านใหญ่’
- ช่วงที่ 1 ระหว่างปี 2500-2018 เป็นช่วงก่อนการเกิดเครือข่ายบ้านใหญ่อัศวเหม
- ช่วงที่ 2 ตั้งแต่ปี 2518 ถึงทศวรรษที่ 2540 ช่วงการก่อร่างสร้างบ้านใหญ่อัศวเหมและการขยายอำนาจ
- ช่วงที่ 3 ระหว่างกลางทศวรรษ 2540 ถึงปี 2560 เป็นช่วงดาวน์ของบ้านใหญ่ ขอตั้งชื่อว่า ความพ่ายแพ้ในสมรภูมิการเมืองระดับชาติ สู่การวางรากฐานของการเมืองท้องถิ่นอย่างเป็นระบบ
- ช่วงที่ 4 เหมือนวัฏจักร พอมีขึ้นก็มีลงแล้วก็มีขึ้นอีก คือตั้งแต่ปี 2560 ถึงปัจจุบัน สมาชิกท่านหนึ่งในเครือข่ายของบ้านใหญ่ เรียกช่วงนี้ว่า “แม่น้ำทุกสายก็ไหลสู่บ้านใหญ่”
ก่อนการเกิดขึ้นของเครือข่ายบ้านใหญ่อัศวเหม ระหว่างปี 2500-2518 เหตุที่ตัดปี 2518 เพราะเป็นปีที่คุณวัฒนา อัศวเหม พ่อของคุณชนม์สวัสดิ์ อัศวเหมผู้ล่วงลับ (ต้นปี 2566) ลงเล่นการเมืองครั้งแรกและชนะการเลือกตั้ง ก่อนหน้านั้น จ.สมุทรปราการ ไม่มีเครือข่ายทางการเมือง หรือเรียกว่าไม่มีบ้านใหญ่บ้านเดียว ที่สามารถครองอำนาจในจังหวัดไว้ได้อย่างเบ็ดเสร็จเด็ดขาด จะมีลักษณะของเครือข่ายที่กระจัดกระจาย แล้วก็ขึ้นอยู่กับ ‘ตัวบุคคล’ มากกว่า และมักจะยึดโยงกับทหารหรือข้าราชการเป็นสำคัญ
ขอพานอกเรื่องนิดหนึ่ง จ.สมุทรปราการ เป็นพื้นที่ติดกับ กทม. แล้วมีช่วงหนึ่งก่อนปี 2500 ก็ถูกผนวกเข้าไปเป็นส่วนหนึ่งของ จ.ธนบุรีและพระนครก่อนจะถูกแยกออกมา ด้วยเงื่อนไขเหล่านี้ ทำให้บางที ส.ส.หรือผู้แทนก็ไม่ใช่คน จ.สมุทรปราการ แต่เป็นคนฝั่งธนบุรีมาลงสมัคร ทำให้คนที่ชนะเลือกตั้งมี 2 คนที่น่าสนใจ คนหนึ่งคือคุณสุทิน กลับเจริญ ที่เป็นคนฝั่งธนฯ ทำงานการรถไฟ แต่การศึกษาดี เคยทำงานที่ธนาคารกรุงศรีอยุธยา พูดง่ายๆ คือโปรไฟล์ดี เคยทำงานทั้งภาครัฐและเอกชน อีกคนคือคุณบุญถม เย็นมะโนช ที่เป็นคนคลองสาน เรียนจบจากประเทศญี่ปุ่นด้านการเงินการคลัง เคยทำงานภาคเอกชนและเคยทำงานที่ สตง.
ตัวแทนสมัยก่อนๆ ของ จ.สมุทรปราการ จะเป็นคนที่ได้รับการยอมรับ มีโปรไฟล์ดี ไม่ได้อาศัยอำนาจเชิงเครือข่ายเพื่อชนะการเลือกตั้ง
และอีกปัจจัยสำคัญคือมีความสัมพันธ์อันดีกับพรรคการเมืองที่ได้รับการสนับสนุนจากทหาร เพราะการเมืองระดับชาติยุคนั้น ช่วงปี 2500 ต้นๆ ประเทศไทยยังถูกปกครองด้วยทหารที่เข้ามาเล่นการเมือง
จุดกำเนิดบ้านใหญ่ ‘อัศวเหม’
มาถึงปี 2518 ที่คุณวัฒนา อัศวเหม ลงรับสมัครการเลือกตั้งและได้รับชัยชนะ แรกๆ ก็ต้องอาศัยการอุปถัมภ์จากผู้มีอำนาจในเครือข่ายก่อนๆ ซึ่งก็คือคุณสังข์ พัธโนทัย พ่อของคุณมั่น พัธโนทัย อดีตรองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีหลายกระทรวง คุณมั่นจะค้ลายๆ เป็นมือขวาของคุณวัฒนาในการต่อสู้ทางการเมือง โดยคุณสังข์พ่อของคุณมั่นมีความใกล้ชิดกับจอมพล ป. พิบูลสงครามมาก จึงทำให้สามารถใช้เครือข่ายทหารสนับสนุนคุณวัฒนาให้ชนะการเลือกตั้ง
ระหว่างปี 2518-2540 จะเป็นช่วงที่บ้านใหญ่อัศวเหมโลดแล่นมาก คุณวัฒนาชนะเลือกตั้ง ส.ส.สมุทรปราการได้ถึง 10 สมัยติดต่อกัน ช่วงแรกๆ ก็ชนะแค่คนเดียว แต่หลังๆ เริ่มมีพรรคพวก สะสมกำลังได้มากขึ้น เอาคนของตัวเองไปวางในเขตเลือกตั้งต่างๆ และสามารถพาทีมส่วนใหญ่ชนะการเลือกตั้งได้
นอกจากนี้ คุณวัฒนายังเคยเป็นรัฐมนตรีถึง 5 ครั้ง โดยมักจะเลือกไปวนเวียนอยู่กระทรวงมหาดไทย ซึ่งมันยึดโยงกับโครงสร้างระบบราชการ และโยงถึงการสร้างฐานอำนาจใน จ.สมุทรปราการด้วย เพราะถ้าคุมมหาดไทยได้ก็คุมราชการส่วนภูมิภาคได้ และยิ่งมีคอนเน็กชั่นกับฝ่ายทหารดีอยู่แล้ว อำนาจ 2 ทางนี้ จึงเสริมสร้างให้คุณวัฒนาและเครือข่ายบ้านใหญ่อัศวเหมมั่นคงมากในช่วงนั้น
แต่ระหว่างปี 2518-2540 จ.สมุทรปราการก็ไม่ได้มีแค่บ้านใหญ่ แต่ยังมี ‘บ้านรอง’ ตามพื้นที่ต่างๆ ซึ่งด้วยความฉลาดของคุณวัฒนา คือไม่พยายามต่อสู้ให้แตกหักเหมือนบ้านใหญ่ในจังหวัดอื่น ที่หากใครมาแข่งกับบ้านใหญ่ ความรุนแรงจะเริ่มเข้ามา แต่ของ จ.สมุทรปราการ นอกจาก ‘ตระกูลพัธโนทัย’ ยังมี ‘ตระกูลยั่งยืน’ ‘ตระกูลกุลเจริญ’ ที่ถูกผนวกรวมเข้าไปในเครือข่าย และพยายามจัดสรรตำแหน่งแห่งที่ให้ตัวแทนแต่ละตระกูล ซึ่งอันนี้เป็นกลยุทธ์สำคัญของคุณวัฒนา
เข้าสู่ยุคตกต่ำและฟื้นตัว
เข้าสู่ช่วงที่ 3 ที่หลายคนจะมองว่าเป็นยุคตกต่ำของตระกูลอัศวเหม จนไม่น่าจะกลับมาได้แล้ว แต่จากที่ไปทำวิจัยมาพบว่า แม้การเลือกตั้งระหว่างปี 2544-2560 จะพ่ายแพ้ในการเลือกตั้งระดับชาติให้กับกลุ่มพรรคไทยรักไทย จนไม่ได้เป็น ส.ส.อีก เพราะมันไปประจวบเหมาะกับบริบทการเมืองช่วงนั้นที่มีกลุ่ม นปช. หรือ ‘คนเสื้อแดง’
แต่เมื่อไม่ได้อยู่ในเกมการเมืองระดับชาติแล้ว บ้านใหญ่ไปอยู่ที่ไหน? ก็ลงไปอยู่ที่การเมืองระดับท้องถิ่น ในช่วงนี้ที่บ้านใหญ่อัศวเหมไปยึดกุมเทศบาลนครสมุทรปราการ และ อบจ.สมุทรปราการ ซึ่งเป็น อบจ.ที่มีงบประมาณสูงมาก เพราะ จ.สมุทรปราการเป็นพื้นที่ซึ่งมีโรงงานอุตสาหกรรมมากที่สุดในประเทศ จึงสามารถเก็บค่าธรรมเนียมค่ากิจกรรมต่างๆ จากโรงงานอุตสาหกรรมได้มาก จนสามารถใช้ขับเคลื่อนกิจกรรมและโครงการพัฒนาต่างๆ ในพื้นที่ กระทั่งสามารถฟื้นคืนชีพได้
หลังปี 2560 ที่เขาเรียกว่า “แม่น้ำทุกสายไหลเข้าบ้านใหญ่” คือการเลือกตั้ง ส.ส.เมื่อปี 2562 ผู้สมัครจากบ้านใหญ่อัศวเหมชนะเลือกตั้ง ส.ส.ได้ 5 เขตจากทั้งหมด 6 เขต และการเลือกตั้ง อบจ.สมุทรปราการ ในปี 2563 คุณตู่–นันทิดา แก้วบัวสาย อดีตภรรยาของคุณชนม์สวัสดิ์ก็ชนะการเลือกตั้ง เครือข่ายของผู้สมัครในกลุ่ม ‘สมุทรปราการก้าวหน้า’ ชนะเลือกตั้งสมาชิก อบจ.ได้ถึง 80%
การเมืองทั้งในระดับชาติและระดับท้องถิ่น มันจึงถูกผนึกโดยบ้านใหญ่อัศวเหมไว้หมดเลย
ตระกูลการเมือง 3 เจนเนอเรชั่น
ถ้าเราลองไปดูผังตระกูลอัศวเหมดีๆ จะพบว่ามี 3 เจนเนอเรชั่นแล้ว เจนฯ แรกคุณวัฒนาเป็นแกนนำ ในหมู่พี่น้อง 10 คน ก็มีพี่ชายคนที่สาม คุณสมบูรณ์ อัศวเหม เคยเป็นนายก อบจ.สมุทรปราการ หรือน้องชายคนที่ 7 คุณสมพร อัศวเหม ก็เคยเป็น ส.ส.ผ่านการชักชวนของคุณวัฒนาเอง
พอมาเจนฯ สอง คุณอัครวัฒน์ อัศวเหมที่เป็นลูกของคุณสมศักดิ์ พี่ชายคนแรกของคุณวัฒนาได้เป็น ส.ส.เมื่อปี 2562 ส่วนคุณวัฒนามีลูก 3 คน คือ คุณพิบูลย์ พูลผล และชนม์สวัสดิ์ คุณพิบูลย์มีคดีความจนหนีไปอยู่ต่างประเทศ, คุณพูลพลเสียชีวิตไปด้วยโรคระบบทางเดินหายใจ ส่วนคุณชนม์สวัสดิ์ก็เพิ่งเสียชีวิตไป เหลือคุณวรพร อัศวเหม ลูกชายของคุณสมพร ที่ลงเล่นการเมืองทั้งระดับท้องถิ่นและระดับชาติ
พอเข้าเจนฯ สาม สายตรงคุณวัฒนาก็ยังมีอยู่ เช่นคุณพิม อัศวเหม ลูกสาวคุณพูลผล ก็เล่นการเมืองระดับท้องถิ่นแล้ว เป็นสมาชิก อบจ.สมุทรปราการ ก่อนจะลาออกมาลงสมัคร ส.ส.บัญชีรายชื่อของพรรคพลังประชารัฐ ในการเลือกตั้งปี 2566 คุณตู่-นันทิดาก็ยังเป็นนายก อบจ.สมุทรปราการอยู่ และลูกสาวของคุณชนม์สวัสดิ์ คุณเพลง–ชนม์ทิดา อัศวเหม ก็ลงสมัคร ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคภูมิใจไทย
เหตุที่ต้องไล่ผังตระกูลอัศวเหม 3 เจนฯ เพราะต้องการให้เห็นว่า เจนฯ แรกสำคัญแน่ๆ ในการ ‘วางรากฐาน’ โดยคุณวัฒนาเป็นผู้เข้ามาสร้างเครือข่ายความสัมพันธ์ทางอำนาจและความนิยมต่างๆ ในพื้นที่ เจนฯ สองเข้ามา ‘วางระบบ’ เพื่อให้เครือข่ายบ้านใหญ่ทำงานได้เป็นอย่างดี ไม่ได้ยึดโยงกันแค่อำนาจบารมีของคนเพียงคนเดียว
จักรกลการเมือง เพื่อรักษาอำนาจ
เครื่องมือสำคัญที่บ้านใหญ่อัศวเหมใช้รักษาอำนาจใน จ.สมุทรปราการ จากข้อค้นพบ ขอเรียกว่าเป็น “จักรกลทางการเมือง” ที่ทำงานอย่างเข้มแข็งและเป็นระบบ ซึ่งต่างจากบ้านใหญ่อื่นๆ ที่อาจจะแตกดับไปพร้อมกับคนๆ เดียว เช่น บ้านใหญ่คุณปลื้มใน จ.ชลบุรี ที่พอกำนันเป๊าะ–สมชาย คุณปลื้มเสียชีวิต ก็จะเปราะบางจนอาจล่มสลายไปได้ง่าย
จักรกลทางการเมืองมันทำงานตลอดเวลา ทั้งช่วงก่อน ระหว่าง และหลังการเลือกตั้ง ไม่ใช่แค่อาศัยหัวคะแนนไปแจกเงินในวันเลือกตั้ง แต่ใช้ตัวแทนเครือข่ายในพื้นที่ทำหน้าที่เชื่อมต่อประชาชนตลอดเวลา จะฝนตก น้ำท่วม ก็จะเห็นการขยับ เช่น ตอนโควิด-19 อบจ.สมุทรปราการก็ซื้อวัคซีนมาฉีดให้ประชาชน จัดสรรให้ไปถึงคนในเครือข่าย
แต่โลกนี้ไม่มีอะไรฟรี การทำงานของจักรกลทางการเมืองก็ต้องมีผลประโยชน์ตอบแทน ไม่เช่นนั้นก็จะไม่สามารถยึดกุมผู้คนจำนวนมากให้อยู่ในเครือข่ายต่อไปได้ จักรกลนี้จึงต้องทำหน้าที่แบ่งสรรปัดส่วนผลประโยชน์ต่างๆ ให้สมาชิกในเครือข่ายด้วย เพื่อสร้างความเป็น ‘หุ้นส่วนทางอำนาจ’ เช่น คุณอาจจะถูกคัดสรรให้เป็นผู้สมัครไม่ว่าในระดับท้องถิ่นหรือระดับชาติ หรือการใช้งบประมาณต่างๆ ก็อาจจะถูกจัดสรรผ่านโครงการต่างๆ ไปให้คนในเครือข่าย
อนาคตอัศวเหมหลังการเสียชีวิตของ ‘ชนม์สวัสดิ์’
การเสียชีวิตของคุณเอ๋-ชนม์สวัสดิ์ถือว่าไปเร็วมาก ช่วงเปลี่ยนผ่านจากเจนฯ หนึ่งมาเจนฯ สอง มันมีการตระเตรียม นับแต่คุณวัฒนาโดนคดีคลองด่าน แต่จากเจนฯ สองไปเจนฯ สาม ผมไม่แน่ใจว่าตระเตรียมทันหรือไม่
มีเกร็ดเล็กน้อยตอนไปทำงานวิจัยแล้วได้ข้อมูลจากคนในเครือข่ายบ้านใหญ่อัศวเหม คือตอนที่โดนศาลฎีกาตัดสินให้จำคุกคดีทุจริตเลือกตั้ง หลังออกจากคุกมา คุณชนม์สวัสดิ์ไม่อยากให้ใครเรียกว่าบ้านใหญ่ อาจเพราะรู้สึกว่ามันมีเซ้นส์ของความเทาๆ ซึ่งแกรู้สึกไม่ค่อยดี ประกอบกับช่วงนั้นทาสีบ้านใหม่เป็นสีขาวพอดี เลยขอให้คนทั่วไปเรียกว่า ‘บ้านขาว’ แทนบ้านใหญ่ เหมือนกับจะได้เริ่มชีวิตใหม่หลังออกจากคุก
อีกเรื่องที่น่าสนใจคือ ตอนรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา มีการส่งคนในเครือข่ายเข้าไปเป็น รมช.เกษตรและสหกรณ์ คือคุณสุนทร ปานแสงทอง ซึ่งบางคนก็อาจจะงงว่าเป็นใครมาจากไหน แต่เท่าที่ได้รับการบอกเล่าจากแหล่งข้อมูล คุณสุนทรเป็นผู้จัดการคนสำคัญของเครือข่ายบ้านใหญ่ จ.สมุทรปราการ ถ้าย้อนไปก่อนจะมีกลุ่มสมุทรปราการก้าวหน้า ชื่อเดิมของกลุ่มคือ ‘กลุ่มแสงทอง’ พอจะเห็นความเชื่อมโยงไหม คือเอานามสกุลของคุณสุนทรมาตั้งเป็นชื่อกลุ่ม
สมัยก่อนคุณสุนทรจะไม่ได้ออกหน้ามาก แต่หลังจากคุณวัฒนาต้องลี้ภัยไปต่างประเทศ ก็กลายเป็นผู้มีบทบาทสำคัญในการรักษาเครือข่ายนี้ไว้ เพราะถ้าว่ากันอย่างตรงไปตรงมา ตัวคุณชนม์สวัสดิ์เองก็ไม่ได้สนใจการเมือง และไม่ได้ถูกเตรียมพร้อมให้มาเป็นคนคุมเครือข่ายการเมืองเลย เห็นได้จากการใช้ชีวิตของแกที่ชอบอยู่ในแสงไฟ ไปแข่งรถ อยู่กับดารา อยู่ในแวดวงสังคม
มีสารพัดเรื่องอื้อฉาว ทำไมคนยังเลือก?
อยากให้แยกเป็น 2 เรื่อง คือ ‘ทัศนคติทางการเมือง ‘กับ ‘พฤติกรรมทางการเมือง’ ของคนใน จ.สมุทรปราการ
บ้านใหญ่อัศวเหมเองก็ไม่ได้ขึ้นตลอด เหมือนที่ไล่ไทม์ไลน์ให้ฟัง ก็จะมีบางช่วงที่คนเปลี่ยนไปเลือกตัวแทนจากกลุ่มอื่นๆ เช่นผู้สมัครจากพรรคไทยรักไทย พรรคพลังประชาชน พรรคเพื่อไทย
หรือบ้านรองบางแห่งก็ไม่ได้สยบยอมต่อบ้านใหญ่ มันมีช่วงที่สมประโยชน์กันและมีช่วงที่แข่งขันกัน เช่น ‘ตระกูลรัศมิทัต’ จากฝั่ง อ.พระประแดง หรือ ‘ตระกูลชุนเจริญ’ ของ ต.บางปู คือบ้านรองที่ครองพื้นที่เศรษฐกิจสำคัญ หรือมีศักยภาพด้านงบประมาณ เช่น มีโรงงานอุตสาหกรรม มีพื้นที่ท่องเที่ยว หรืออยู่ใกล้สนามบินสุวรรณภูมิ พวกนี้ก็ไม่ได้แคร์บ้านใหญ่ขนาดนั้นและพร้อมจะลุกขึ้นมาต่อสู้ด้วยเสมอ
ยิ่งใครครองอำนาจนานๆ ก็มักจะมีภาพลักษณ์ไม่ดี มีคดีทุจริตที่เชื่อมโยงกับคนในตระกูลตลอด เช่น คดีคลองด่าน, คดีรุกที่สาธารณะ, คดีทุจริตเลือกตั้ง, คดีทุจริตเงินทอนวัด ฯลฯ แต่จุดตัดในการเลือกตั้งมันมีหลายๆ ปัจจัย อารมณ์ความรู้สึกของผู้คน การทำงานกับประชาชน ไปจนถึงการดูแลคนในเครือข่าย ซึ่งหากจักรกลทางการเมืองมันยังทำงานไปเรื่อยๆ ยังจัดสรรผลประโยชน์ตอบสนองความต้องการของคนในพื้นที่ให้ได้ มันก็เป็นเงื่อนไขที่กำหนดชัยชนะได้
เวลาเราดูการเมืองในแต่ละพื้นที่ อยากให้ดูเรื่องบริบท ดูปัญหาความต้องการพื้นฐาน (basic needs) ของผู้คน ซึ่งแตกต่างกัน ก็จะทำให้เห็นภาพของการเมืองมากขึ้น กรณีบ้านใหญ่อัศวเหมอยากจะให้ดูในฐานะตัวแบบหนึ่งของการเมืองท้องถิ่น ซึ่งเป็นรูปแบบหนึ่งของ ‘บ้านใหญ่’ ที่จะแตกต่างไปตามแต่ละพื้นที่ บ้านใหญ่สมุทรปราการ บ้านใหญ่ชลบุรี บ้านใหญ่บุรีรัมย์ ที่น่าจะเป็นคุณูปการในการศึกษาเรื่องบ้านใหญ่ต่อไป