เมื่อพูดถึงประเทศที่ขึ้นชื่อเรื่องการเผยแพร่วัฒนธรรม หรือดึงดูดสายตาชาวโลกด้วย soft power ก็คงหนีไม่พ้น ‘ประเทศเกาหลีใต้’ ที่สังเกตได้ว่าวิถีชีวิตของพวกเขา ค่อยๆ เข้ามาอยู่ในชีวิตประจำวันของเราชาวไทยมากขึ้นเรื่อยๆ โดยเฉพาะ ‘วัฒนธรรมการกินดื่ม’ ที่ไม่ว่าจะเปิดดูซีรีส์เรื่องไหน ก็ต้องเห็นฉากปิ้งย่าง ซูดเส้นรามยอน ไม่ก็ชนแก้วโซจูพร้อมกับร้องว่า “จันนนน!”
ด้วยกระแสความนิยมของภาพยนตร์และซีรีส์เกาหลีที่พุ่งสูงขึ้นเรื่อยๆ ในช่วงหลังมานี้ ก็ทำให้คนดูจากทั่วโลกค่อยๆ ซึมซับวัฒนธรรมเหล่านี้เข้าไปโดยปริยาย รู้ตัวอีกทีก็มิกซ์โซจูบอมบ์ดื่มแบบนางเอกซีรีส์ ต้มจาปากูรีกินแบบในเรื่อง Parasite หรือนั่งแกะน้ำตาลแผ่นแบบในเรื่อง Squid Game ซึ่งก็ต้องยอมรับเลยว่า ประเทศเกาหลีใต้ขยายอิทธิพลของประเทศตัวเอง ผ่านเรื่องราวง่ายๆ เหล่านี้ได้เก่งทีเดียว
แต่นอกเหนือจากที่เห็นในภาพยนตร์ ซีรีส์ หรือรายการต่างๆ วัฒนธรรมการกินดื่มของประเทศเกาหลีใต้ยังมีเสน่ห์อีกมากมายรอให้ไปค้นหา ซึ่ง ‘เชฟแบค’ หรือ แบคจงวอน (Baek Jong Won) เชฟชื่อดังจากประเทศเกาหลีใต้ และเจ้าของร้านอาหาร Bornga ที่มาเปิดอยู่แถวสุขุมวิท ก็ได้ชวนคนดูมาตั้งวงจิบโซจูกินกับแกล้มไปด้วยกัน ในรายการ Paik’s Spirit บน Netflix พร้อมบทสนทนาอันลึกซึ้งปนสาระความรู้เกี่ยวกับการกินดื่ม โดยมีแขกรับเชิญที่คุ้นหน้าคุ้นตากันเป็นอย่างดีมาร่วมวงด้วย เช่น เจย์ ปาร์ค (Jay Park) โลโค (Loco) อีจุนกิ (Lee Joon Gi) และ คิมยอนคยอง (Kim Yeon Koung)
หลังจากที่ดู Paik’s Spirit จบครบทุกตอน ก็ไม่แปลกใจเลยว่าทำไมช่วงหลังมานี้ถึงได้เห็นร้านอาหารเกาหลีในประเทศไทยผุดขึ้นมาเยอะขนาดนี้ The MATTER จึงได้รวบรวมสาระแบบเน้นๆ ที่เชฟแบคเล่าให้ฟังในแต่ละตอนมาให้อ่านกัน แต่ถ้าใครอยากติดตามเรื่องราวแบบเต็มๆ พร้อมฟุตเทจประกอบที่ถ่ายออกมาได้สะเทือนน้ำย่อยในกระเพาะอาหาร ก็สามารถเข้าไปดูได้ใน Netflix เลยนะ
การเค้นจิตวิญญาณของโซจู
โซจู (Soju) หรือเหล้ากลั่นสีใสคล้ายวอดก้า คือเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ที่ขึ้นชื่อของเกาหลีใต้ และเป็นเหล้ากลั่นที่ขายดีที่สุดในโลก มีหลายรสชาติและหลายยี่ห้อด้วยกัน ซึ่งเชฟแบคได้เล่าให้ฟังว่า โซจูทำมาจาก ‘ชูจอง’ ซึ่งเกิดจากการหมักแป้งมันสำปะหลัง ข้าวสาลี ข้าวบาร์เลย์ หรือมันฝรั่ง จนเป็นน้ำใสๆ ซึ่งมีแอลกอฮอล์ 95 เปอร์เซนต์ จากนั้นก็นำมาเจือจางด้วย ‘น้ำ’ อีกที เพื่อลดปริมาณแอลกอฮอล์ลง และเติม ‘สารให้ความหวาน’ อย่างแอสปาร์แตมหรือโอลิโกแซกคาไรด์เข้าไปให้ดื่มง่ายขึ้น จนเกิดรสชาติที่แตกต่างกัน ตามแต่ละสูตรของแต่ละบริษัท
“ในแง่หนึ่ง บริษัทโซจูก็เหมือนบริษัทค็อกเทล เราเอาแอลกอฮอล์ผสมกับส่วนผสมอื่นๆ เพื่อให้มีรสชาติและสีสันที่ดี บริษัทโซจูแต่ละแห่งก็มีสูตรเฉพาะของตัวเอง เหมือนการทำค็อกเทลนั่นแหละ โดยรัฐบาลจะเป็นผู้เลือกผู้ผลิตชูจองเอง นั่นก็คือบริษัท ‘โคเรียเอทานอลซัพพลายส์’ ซึ่งจัดหาชูจองให้บริษัทโซจูทั้งหมด สิ่งที่บริษัทโซจูต้องทำต่อ ก็แค่เติมน้ำลงไปและแต่งรสแต่งกลิ่นเพิ่ม”
และยังมีประวัติศาสตร์ที่เผยว่า การกลั่นโซจูมีมาหลายร้อยปีแล้ว ในสมัยราชวงศ์โครยอ จักรวรรดิมองโกลเข้ามารุกรานเกาหลี และเริ่มทำเหล้ากลั่น ซึ่งก่อนหน้านั้นเกาหลีไม่เคยมีการกลั่นเหล้ามาก่อน พวกเขาจึงได้เรียนรู้เทคนิค และเริ่มทำโซจูเป็นของตัวเองเป็นครั้งแรก เรียกว่า ‘อันดงโซจู’ ต่อมาในสมัยรางวงศ์โชซอน ชาวบ้านมีวัฒนธรรมการกลั่นเหล้าดื่มเองที่บ้าน เรียกว่า ‘คายังจู’ และมีเทคนิคที่ก้าวหน้ากว่าเดิมมาก แต่ภายใต้การผนวกของญี่ปุ่น จึงทำให้คายังจูถูกสั่งห้าม เพื่อที่ญี่ปุ่นจะได้เก็บภาษีได้
แต่เมื่อประเทศเป็นเอกราช ผู้คนต่างก็คิดว่าสามารถกลับมากลั่นเหล้าดื่มเองที่บ้านได้แล้ว แต่ขณะนั้นประเทศกำลังยากจนมาก จนรัฐบาลออกคำสั่งไม่ให้ใช้ข้าวทำเหล้า วัฒนธรรมกลั่นเหล้าจึงหยุดนิ่งไปสักพักใหญ่ โดยมีรัฐบาลเข้ามาควบคุมกระบวนการทั้งหมด และเสนอให้ใช้มันฝรั่งราคาถูกทำชูจอง เมื่อนำชูจองกระจายไปยังบริษัทต่างๆ เติมน้ำเจือจางลงไป จึงกลายโซจูที่เป็นที่นิยมและเป็นกระแสหลักในเวลาต่อมา ไม่ว่าจะเทศกาลไหน อารมณ์ไหน ก็จะเห็นว่าคนเกาหลีก็มีโซจูเป็นเพื่อนเคียงข้างเสมอ
“เราเปรียบเทียบกระบวนการกลั่นเหมือนกับการเค้นจิตวิญญาณออกมา ซึ่งเครื่องดื่มประเภทกลั่นก็ตรงกับคำว่า Spirit ในภาษาอังกฤษพอดี และเป็นที่มาของชื่อรายการด้วย”
โซจูและหมูสามชั้น
เมื่อมีโซจูแล้วก็ต้องมีเมนูปิ้งย่าง คีบหมูเข้าปากตามด้วยโซจูอีกช็อต บอกได้เลยว่าฟินมาก! แต่หมูสามชั้นหรือ ‘ซัมกยอบซัล’ ที่เราเห็นคนเกาหลีกินกันในซีรีส์ จริงๆ แล้วเพิ่งจะได้รับความนิยมเมื่อไม่นานมานี้ เชฟแบคบอกว่า สมัยก่อนคนเกาหลีไม่นิยมกินเนื้อหมูกัน พวกเขาจะกินเนื้อวัวมากกว่า เพราะมองว่าหมูเป็นสัตว์ที่สกปรก ด้วยวิธีการต่างๆ ที่หมูถูกเลี้ยงมา และเห็นว่าเป็นสัตว์ที่มีแต่กิน ไม่ได้ทำอะไรมาก พวกเขาเลยคิดว่าเนื้อวัวน่าจะมีประโยชน์กว่า
แต่พอช่วงปี ค.ศ.1970 คนเกาหลีต้องการโปรตีนอย่างมาก เลยเริ่มทำฟาร์มหมูขนาดใหญ่ โดยมีรัฐบาลคอยให้การสนับสนุน ซึ่งบริษัทแรกที่เริ่มทำฟาร์มหมูขนาดใหญ่ในเกาหลีก็คือ ซัมซุง ใช่แล้ว Samsung ที่เราถือในมือกันอยู่ทุกวันนี้นี่แหละ เมื่อก่อนซัมซุงมีบริษัทในเครือที่มีที่ดินขนาดใหญ่อยู่นอกโซล นั่นคือเมืองยงอิน (เริ่มคุ้นๆ ชื่อเมืองมั้ย?) แต่ตอนนั้นชาวไร่ต่างก็พากันโกรธเคือง เนื่องจากบริษัทยักษ์ใหญ่จะเข้ามาควบคุมและยึดพื้นที่ทำมาหากินของพวกเขา เกิดเป็นปฏิกิริยาเชิงลบที่รุนแรง ทำให้ซัมซุงพับโปรเจกต์นี้ไป และสร้างสวนสนุกเอเวอร์แลนด์ขึ้นมาแทน (ใช่แล้ว! นั่นคือที่ดินเดียวกับสวนสนุนเอเวอร์แลนด์เลย ซึ่งซัมซุงเป็นเจ้าของสวนสนุกนี้ด้วยยังไงล่ะ)
“ลองคิดดูสิว่า ถ้าวันนั้นไม่เกิดปฏิริยาเชิงลบที่รุนแรง และซัมซุงเกิดประสบความสำเร็จในการทำฟาร์มหมูขนาดใหญ่ ทุกวันนี้อาจจะไม่มีอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์หรือเซมิคอนดักเตอร์ให้เราใช้กันก็ได้”
คนเกาหลีเพิ่งเริ่มนิยมเนื้อหมูได้ไม่นาน เช่นเดียวกับส่วนที่เรียกว่าซัมกยอบซัลหรือสามชั้น ซึ่งที่มาของชื่อซัมกยอบซัลนั้น มี 2 ทฤษฎี นั่นคือ ซัมที่แปลว่า ‘โสม’ เพื่อบอกให้รู้ว่ากินเนื้อส่วนนี้คู่กับโสมแล้วอร่อย ทฤษฎีนี้มาจากเมืองแคซองที่ขึ้นชื่อเรื่องโสม อีกทฤษฎีก็คือ ซัมที่แปลว่า ‘สาม’ เนื้อจากดูแล้วเหมือนมีสามชั้น เลยเรียกว่าซัมกยอบซัลนั่นเอง และถ้าใครดูซีรีส์เกาหลีบ่อยๆ จะเห็นได้ว่านักแสดงนำสามชั้นมาห่อด้วยใบงาด้วย ซึ่งใบงาก็จะช่วยให้หมูสามชั้นมีรสชาติที่ดีขึ้นไปอีก แต่ถ้าใครไม่ชอบกลิ่นฉุนก็อาจจะขอผ่านไปก่อน
รายได้ที่กระจายสู่ท้องถิ่น
ถ้าไปเดินตามซุปเปอร์มาร์เก็ต อาจจะพบว่ามีโซจูอยู่ 3-4 ยี่ห้อให้เลือกซื้อ แต่จริงๆ แล้วโซจูในเกาหลีใต้มีให้เลือกเยอะมาก เนื่องจาก ‘กฎหมายคุ้มครองสุราระดับภูมิภาค’ ที่รัฐบาลกำหนดให้มีบริษัทโซจูเพียงบริษัทเดียวต่อเมืองหรือจังหวัด เพื่อไม่ให้บริษัทโซจูรายใหญ่ในโซลผูกขาดตลาด โดยยอดขายอย่างน้อยครึ่งหนึ่งในแต่ละภูมิภาคต้องมาจากยี่ห้อท้องถิ่น เพื่อช่วยปกป้องตลาดโซจูในประเทศ
“มีครั้งหนึ่งประธานจากบริษัทโซจูทุกบริษัทมาประชุมกัน ทุกอย่างราบรื่นมาก พวกเขากินข้าวเย็นด้วยกัน ดื่มโซจูด้วยกัน ทายสิว่าพวกเขาดื่มโซจูอะไร ในเมื่อมีหลายบริษัทมารวมกัน สิ่งที่พวกเขาก็คือ เทโซจูทุกยี่ห้อลงไปผสมรวมกันในกาต้มน้ำขนาดใหญ่ และก็ดื่มด้วยกัน”
ไม่เพียงแต่โซจูที่โด่งดัง อุตสาหกรรมคราฟต์เบียร์เกาหลีใต้ก็กำลังเติบโตขึ้นเรื่อยๆ ด้วยเช่นกัน เนื่องจากมีการแก้ไขกฎหมายแอลกอฮอล์ในปี ค.ศ.2014 ที่ไม่มีการควบคุมหรือปิดกั้นผู้ผลิตรายย่อย ส่งผลให้มีผู้ผลิตหน้าใหม่ในตลาดเบียร์เพิ่มมากขึ้น รวมถึงปี ค.ศ.2020 ที่มีการเปลี่ยนแปลงกฎหมายภาษีใหม่ที่เอื้อต่อให้ผู้ผลิตรายย่อยสามารถแข่งขันด้านราคากับเบียร์ที่มีอยู่ในตลาดได้ และบวกกับการที่มีวัฒนธรรมการกิน ‘ไก่กับเบียร์’ ที่เห็นบ่อยๆ ในซีรีส์ด้วยแล้ว ก็ยิ่งทำให้อุตสาหกรรมเบียร์ครึกครื้น เต็มไปด้วยความหลากหลายที่เลือกได้ แสดงให้เห็นว่า ‘ถ้าการเมืองดี วัฒนธรรมการกินดื่มก็ดีขึ้นไปด้วยเช่นกัน’
โซจูยี่ห้อไหนก็ใช้ขวดแบบเดียวกัน
เชฟแบคมี fun fact เกี่ยวกับขวดโซจูมาเล่าให้ฟัง เคยสงสัยมั้ยว่าทำไมขวดโซจูต้องใช้สีเขียว? สมัยก่อนขวดโซจูมีหลายสี เช่น สีฟ้าอ่อน สีเขียว สีดำ จนกระทั่งปี ค.ศ.2009 รัฐบาลและบริษัทโซจูต่างๆ ก็เริ่มตกลงกันว่าจะใช้ขวดสีเขียวเหมือนกัน และมีขนาดกับการออกแบบที่เหมือนกันแบบเป๊ะๆ ด้วย ชนิดที่ถ้าลอกฉลากออกก็ไม่รู้เลยว่ายี่ห้ออะไร ซึ่งเหตุผลที่พวกเขาตัดสินใจเช่นนั้น ก็เพื่อที่บริษัททั้งหลายจะได้สามารถ ‘แบ่งปัน’ ขวดให้กันใช้ ไม่ต้องแยกยี่ห้อ และนำไปรีไซเคิลด้วยกันได้ ถือเป็นข้อตกลงโดยความสมัครใจระหว่างบริษัทโซจูและกระทรวงสิ่งแวดล้อม ไม่มีการบังคับตามกฎหมาย
โดยขั้นตอนการนำขวดโซจูกลับมาใช้ใหม่ ก็คือบริษัทโซจูยี่ห้อต่างๆ จะมาเก็บขวดโซจูไป ซึ่งมีของหลายบริษัทปะปนกันได้ จากนั้นก็นำไปล้างทำความสะอาด ตรวจหาสารปนเปื้อน ก่อนจะนำมาใส่โซจูและติดสลาก ส่งออกขายอีกครั้ง ถือเป็นการประหยัดต้นทุนการผลิตได้อีกทางหนึ่ง แต่ระบบ eco-friendly นี้ ก็ประสบปัญหาขึ้นในปี ค.ศ.2019 เนื่องจากมีบริษัทสุรายักษ์ใหญ่บางแห่ง เปิดตัวโซจูใหม่ที่ใช้ขวดสีใส และมีรูปร่างแตกต่างจากขวดโซจูอื่นๆ ที่มีในตลาด ซึ่งก็ส่งผลให้เกิดความกังวลเรื่องการจัดการขยะ และการวิพากษ์เกี่ยวกับ ‘สนธิสัญญาการรีไซเคิล’ ที่มีมาก่อนหน้านี้
ดื่มสนุกขึ้นเมื่อรู้ความเป็นมา
สิ่งที่เราบริโภค ไม่ว่าจะกิน ดื่ม หรือใช้ เมื่อมีเรื่องราวหรือภูมิหลังมาเล่าให้ฟัง สิ่งนั้นก็ดูมีคุณค่ามากขึ้นไปอีก เช่นเดียวกับเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ในเกาหลีใต้ที่มีเรื่องเล่ามากมายในอดีต ทำให้ไม่ใช่แค่การดื่มเพื่อสนุกสนานอย่างเดียว แต่ยังเป็นการดื่มด่ำกับคุณค่าในตัวเครื่องดื่มนั้นๆ ด้วย
ก่อนหน้านี้เราได้ทราบที่มาที่ไปของโซจูกันแล้ว ซึ่งตามบาร์ต่างๆ ก็มีการรังสรรค์เครื่องดื่มที่ตั้งชื่อตามภูมิภาคด้วย เนื่องจากใช้ส่วนผสมและเหล้าในภูมิภาคนั้นๆ มามิกซ์กัน และยังมีเรื่องเล่าเกี่ยวกับเครื่องดื่มอื่นๆ อีก เช่น ‘ฮันซันโซกกจู’ หรือไวน์ข้าวที่ประวัติศาสตร์ยาวนานหลายพันปี โดยหลังจากที่การกลั่นเหล้าที่บ้านถูกญี่ปุ่นสั่งห้าม เกาหลีก็สูญเสียวัฒนธรรมการกลั่นเหล้าและสูตรเหล้าที่มีคุณภาพไปเยอะมาก จนในช่วงโอลิมปิกปี ค.ศ.1988 และเอเชียนเกมส์ปี ค.ศ.1986 รัฐบาลได้เสนอให้ฟื้นฟูเหล้าแบบดั้งเดิมขึ้นมาอีกครั้ง พวกเขาออกค้นหาทายาทที่หลงเหลืออยู่เพื่อมาฟื้นฟู แต่ทายาทเหล่านั้นก็เสียชีวิตลง แผนการฟื้นฟูจึงไม่สำเร็จ
ต่อมาในปี ค.ศ.2000 รัฐบาลพยายามฟื้นฟูเหล้าแบบดั้งเดิมอีกครั้ง พวกเขาจึงรวบรวมคนที่รู้สูตรเหล้าอย่างดีในเมืองนั้นมา และลองให้พวกเขาทำเหล้าให้ชิม โดยไม่บอกว่าอันไหนเป็นของใคร ทุกคนเลยแบ่งปันสูตรของตัวเองเพื่อฟื้นฟูเหล้า มีการค้นคว้ามากมาย และล้มเหลวอยู่หลายครั้ง แต่พวกเขาก็ทุ่มเทกันอย่างหนักเพื่อให้ได้ผลิตภัณฑ์สุดท้ายออกมา จนกลายเป็นฮันซันโซกกจู สูตรเหล้าพันปีที่ผู้คนดื่มกันในทุกวันนี้
“ดื่มแล้วสนุกขึ้นนะ เวลาที่เรารู้เบื้องหลัง เราควรจะดื่มให้เพลิดเพลิน แทนที่จะดื่มเอาปริมาณ”
มักกอลลีที่ครองใจคนทุกรุ่น
มักกอลลีดูเหมือนจะเป็นเครื่องดื่มของผู้ใหญ่หรือผู้สูงอายุ แต่ทุกวันนี้มักกอลลีกลายเป็นเครื่องดื่มที่ได้รับความนิยมในกลุ่มคนทุกวัย เนื่องจากการเปลี่ยนบรรจุภัณฑ์จากขวดแก้วที่แตกง่ายมาเปลี่ยนขวดที่วัสดุคล้ายพลาสติก ทำให้เกิดการเพิ่มขึ้นของผู้ผลิตและผู้บริโภคที่มีอายุน้อยไปด้วย โดยในรายการ เชฟแบคก็ได้พาไปทัวร์โรงบ่มมักกอลลี ซึ่งมีหนุ่มสาวแวะมาเยือนจำนวนไม่น้อยเลย
ว่าแต่ ‘มักกอลลี’ คืออะไรนะ? มักกอลลีหรือไวน์ข้าว (บางคนก็เรียกว่าสาโทของเกาหลี) เป็นเครื่องดื่มพื้นเมืองชนิดหนึ่งที่เกิดจากการนำเมล็ดข้าวมาหุงโดยใช้น้ำปริมาณน้อย เรียกว่า ‘โคดูบับ’ ลักษณะจะแห้งๆ แข็งๆ เหมือนข้าวที่ยังไม่สุกดี จากนั้นก็นำไปผสมกับส่าเหล้าที่เรียกว่า ‘นูรุก’ และเติมน้ำลงไป หมักทิ้งไว้ในไห จนออกมามีสีขาวนวลคล้ายน้ำนม ให้รสชาติที่หวาน และมีปริมาณแอลกอฮอล์ที่แตกต่างกันไปให้ได้เลือก ซึ่งในปัจจุบัน มีมักกอลลีที่อัดลมจนเป็นมักกอลลีซ่าด้วยนะ
และที่ขาดไปไม่ได้เลยก็คือกับแกล้ม เชฟแบคได้แนะนำอาหารที่ควรทานคู่กับมักกอลลี ได้แก่ ยอลมูกิมจิหมัก นามุล โดโทรีมุก และพิซซ่าเกาหลี หากใครมีโอกาสได้ไปร้านอาหารเกาหลี ก็ลองสั่งมาทานคู่กันดูได้นะ
เปิดประสบการณ์ผ่านประสาทสัมผัส
เวลาดื่มแอลกอฮอล์ เรามักจะดื่มในปริมาณมากโดยไม่รู้ตัว และเกิดอาการเมาอย่างรวดเร็ว เนื่องจากเราไม่ได้ใช้เวลากับเครื่องดื่มที่กำลังจะเข้าไปในปาก ซึ่งเชฟแบคแนะนำว่า วิธีที่จะช่วยให้เราจะดื่มน้อยลง ก็คือการเปิดประสาทสัมผัสในร่างกาย เพื่อให้มีช่วงเวลาได้ละเมียดละไมกับเครื่องดื่มนั้นมากขึ้น
อันดับแรกคือ appearance ลองสังเกตด้วยตาดูว่าลักษณะภายนอกของเครื่องดื่มนั้นเป็นยังไง มีสีแบบไหน เหลืองเข้ม เหลืองอ่อน น้ำตาล หรือดำ หรือมีฟองหนาบางยังไงบ้าง ต่อด้วย aroma ลองดมดมดูว่ากลิ่นของเครื่องดื่มนั้นหอมแบบไหน เครื่องเทศ ผลไม้ หรือออกหวานๆ เหมือนขนม ทีนี้ก็เป็นในเรื่อง flavor จิบเข้าไปพร้อมกับกลิ่นที่โชยมาแตะจมูก เพื่อเพลิดเพลินกับรสชาตินั้น และสุดท้ายเป็นการทบทวนโดยรวมว่าเครื่องดื่มนั้นทิ้งรสชาติอะไรเอาไว้ในปาก หรือมี after taste ยังไงบ้าง
“แม้ว่าจะยากในการเรียงตามลำดับ แต่พอคุณพยายามรู้สึกถึงมัน ก็จะเป็นประสบการณ์ที่ต่างออกไปเลย”
แล้วประสาทสัมผัสเกี่ยวกับเสียงล่ะ? เชฟแบคได้อธิบายไว้ในตอนแรกว่า เสียง “กริ๊ง!” ซึ่งเป็นเสน่ห์ของการชนแก้วโซจู นอกจากจะฟังแล้วเพลิน ก็มีทฤษฎีบางอย่างอธิบายไว้เหมือนกันนะว่าทำไมเราถึงต้องชนแก้วกัน ย้อนกลับไปเมื่อช่วงสงครามในยุคกลาง มีการระแวงกันเกิดขึ้นเวลามีคนเสนอเครื่องดื่มให้ เกิดความไม่ไว้ใจว่าอาจจะมีใครมาวางยาในเครื่องดื่มหรือเปล่า เลยชนแก้วกัน เพราะในขณะที่ชน เครื่องดื่มของแก้วอื่นๆ จะมีการผสมกันนิดหน่อย ถ้าเครื่องดื่มนั้นมียาพิษก็เสียชีวิตกันทั้งหมดนี่แหละ แฟร์ๆ กันไปเลย ส่วนอีกทฤษฎีหนึ่งก็คือ เราจะได้ใช้ประสาทสัมผัสครบทั้ง 5 ส่วนในการดื่มยังไงล่ะ
อะไรก็ได้ลงท้ายด้วยคำว่า ‘เบียร์’
พอจะทราบมาว่าคนเกาหลีดื่มเก่ง แต่ก็ไม่นึกว่าเก่งถึงขนาดกับดื่มเบียร์ในทุกๆ กิจกรรมขนาดนี้!
เคยได้ยินคำว่า ‘แมกจู’ หรือเปล่า? คำนี้แปลว่า เบียร์ ในภาษาไทย ซึ่งถ้าได้ยินคำว่า แมก ในเครื่องดื่มไหน ก็เดาไว้เลยว่าในนั้นมีเบียร์อย่างแน่นอน อย่าง ‘โซแมก’ (โซจู + แมกจู) ที่เกิดจากการนำโซจูกับเบียร์มาผสมกัน โดยเพิ่มความสนุกสนานด้วยการใส่โซจูในแก้วช็อต แล้วหย่อนลงไปในแก้วเบียร์ หรือสารพัดวิธีที่ทำให้แก้วช็อตนั้นตกลงไปในเบียร์ ซึ่งเมื่อดื่มเข้าไปแล้วก็จะเกิดอาการร้อนผ่าวเหมือนเครื่องทำไอน้ำกำลังทำงานในท้อง เราจึงเรียกโซแมกว่า boiler maker นั่นเอง
นอกจากนี้แล้ว ก็มีการนำคำว่า แมก ไปต่อท้ายกิจกรรมต่างๆ เพื่อใช้เรียกวัฒนธรรมการดื่มที่หลากหลาย เช่น ‘นัตแมก’ = การนัดกินเบียร์ตอนกลางวัน ‘คอนแมก’ = การดื่มเบียร์ไปด้วย ดูคอนเทนต์ต่างๆ ในโทรทัศน์หรืออ่านหนังสือไปด้วย ‘โกลแมก’ = การดื่มเบียร์ตอนตีกอล์ฟ ‘ยาแมก’ = การดื่มเบียร์ระหว่างเบสบอลเกม เป็นคำเก๋ๆ ที่สั้น กระชับ และรู้ได้เลยว่ากิจกรรมนั้นต้องสนุกแน่นอน เพราะมีเบียร์กระแทกปากนั่นเอง
“การดื่มทำให้คนเริ่มพูดคุยกัน และช่วยให้คุณเป็นเพื่อนกับคนที่คุณแทบจะไม่รู้จัก มันมีพลังที่จะเชื่อมผู้คนเข้าด้วยกันได้”
สำหรับคนเกาหลีแล้ว เครื่องดื่มแอลกอฮอล์ก็เปรียบเสมือนตัวช่วยในการเข้าสังคมอย่างหนึ่ง ที่นอกจากจะทำให้บรรยากาศสนุก ผ่อนคลาย ยังทำให้บางคน ‘เปิดใจ’ ที่จะพูดสิ่งที่อยู่ลึกสุดในใจออกมา ซึ่งก็คงจะมีหลายคนที่สนิทสนมกันมากขึ้น หลังจากที่ได้ไปดื่มด้วยกันนี่แหละ
อ้างอิงข้อมูลเพิ่มเติมจาก