หลายคนที่มีเพื่อน คนรอบตัว เป็นชาวคอทองแดง (หรือเป็นเสียเอง) อาจเคยเจอเหตุการณ์ที่เราชวนกินข้าวแล้วเขาทำอิดออด แต่ชวนไปดื่มดันไปตลอดเหมือนล็อกคำตอบไว้แล้ว
การชอบดื่มชอบดริงก์คงไม่ใช่เรื่องแปลกอะไร แต่บางคนนี่สิ ชอบมากเสียจนเลือกอดข้าวเพื่อมาดื่มเลยล่ะ แค่ฟังดูก็รู้สึกถึงผลร้ายที่จะเกิดกับสุขภาพแล้ว แต่รู้ไหมว่าไม่ใช่แค่ร่างกายเท่านั้นที่ได้รับผลกระทบ เพราะสุขภาพใจก็พลอยย่ำแย่ไปด้วยไม่ต่างกัน
แอลกอฮอล์ไม่ใช่เครื่องดื่มแคลอรี่ต่ำ เมื่อไปดื่มไปดริงก์แต่ละครั้ง นอกจากความเมามาย เราก็รับเอาแคลอรี่กลับมาไม่น้อยเช่นกัน โดยข้อมูลจากกระทรวงเกษตรสหรัฐ (USDA) พบว่า เบียร์ 100 กรัม มี 43 กิโลแคลอรี่ ไวน์ 100 กรัม มี 82 กิโลแคลอรี่ และวิสกี้ 100 กรัม มีมากถึง 250 กิโลแคลอรี่ ซึ่งกว่าจะดื่มจนเมาเราคงไม่ได้หยุดอยู่แค่หน่วยตัวอย่าง 100 กรัมแน่ๆ ดังนั้น เมื่อปัญหาแคลอรี่ที่จำกัดต่อวันมาเยือน มิตรรักนักดื่มหลายคนจึงอาจเลือกเก็บโควต้าแคลอรี่ในวันนั้นไว้ให้แอลกอฮอล์ที่รัก แล้วเลือกงดมื้ออาหารมื้อใดมื้อหนึ่งไป
กินข้าวไม่เอา ดื่มเหล้าสู้ตาย
สำหรับการอดมื้ออาหารเพื่อเก็บโควต้าไว้ดื่ม หากทำไม่กี่ครั้งให้พอสบายใจคงไม่เป็นไรนัก แต่เชื่อไหมว่ามีหลายคนที่เลือกทำแบบนี้ตลอดเวลา เราเรียกอาการนี้ว่า ‘Drunkorexia’ คือพฤติกรรมที่คนเราเลือกอดมื้ออาหารบางมื้อ เพื่อกั๊กแคลอรี่ที่ได้รับต่อวันไปใช้กับเครื่องดื่มแอลกอฮอล์แทน ซึ่งพฤติกรรมนี้เป็นส่วนผสมระหว่างการใช้แอลกอฮอล์ในทางที่ผิด (alcohol use disorder) กับโรคคลั่งผอม (anorexia)
ทั้ง 2 อาการนี้ส่งผลถึงกันเป็นลูกโซ่ เมื่อมีความกังวลกับรูปร่างมากเกินไป มากจนเลือกที่จะจำกัดแคลอรี่ต่อวัน คนเราจึงเลือกที่จะงดมื้ออาหารเพื่อเหลือพื้นที่ให้แอลกอฮอล์ หรือในบางครั้งก็เลือกดื่มแอกอฮอล์เพื่อให้ไม่เกิดความหิว หรือความอยากอาหาร ทั้งนี้ อาการดังกล่าวก็ยังไม่ถูกชี้ชัดว่าเป็นการวินิจฉัยทางการแพทย์
พอมากางแผนที่ชี้เรื่องราวทั้งหมดแล้ว เรื่องนี้คงไม่ได้หยุดอยู่แค่มุกตลกอย่าง ‘อดข้าวมากินเหล้า’ อีกต่อไป เมื่อสิ่งนี้กลายมาเป็นพฤติกรรมที่เกิดขึ้นกับคนจำนวนมาก โดยงานวิจัยจาก University of South Australia พบว่า นักศึกษาในมหาวิทยาลัยกว่า 79.1% มีพฤติกรรมเกี่ยวข้องกับ Drunkorexia ซึ่งถือว่าเป็นตัวเลขที่สูงจนน่าตกใจ นั่นอาจหมายความว่าวัยรุ่นส่วนใหญ่อดข้าวเพื่อกินเหล้ากันจนเป็นเรื่องปกติ
ลำพังการดื่มแอลกอฮอล์มากเกินไปก็ส่งผลเสียกับสุขภาพกายอยู่แล้ว ยิ่งอดข้าวซึ่งเป็นโภชนาการที่ควรได้รับระหว่างวันไปด้วย แม้จะยังไม่ได้ทำ แค่อ่านดูก็พอจะรู้ว่าสิ่งนี้ย่อมไม่ส่งผลดีกับร่างกายอยู่แล้ว ทว่าสิ่งหนึ่งที่หลายคนอาจมองข้ามไป นั่นคือผลกระทบต่อสุขภาพใจที่มันแอบหว่านเมล็ดพันธุ์เอาไว้อย่างเงียบเชียบ ซึ่งอาจไม่ได้แสดงผลชัดเจนเท่าผลกระทบต่อร่างกาย
ไม่พังแค่ร่างกาย สุขภาพใจก็แย่ตาม
เมื่อต้นตอของพฤติกรรมนี้มาจากความกังวลในรูปร่างมากเกินไป และเลือกใช้ทางออกผิดๆ อย่างการดื่มแอลกอฮอล์ทดแทนมื้ออาหาร สิ่งนี้อาจสะท้อนถึง self-esteem หรือการเห็นคุณค่าในตัวเองจากการผูกกับรูปร่างหน้าตา ยิ่งเราไม่พอใจกับรูปร่างหน้าตาเท่าไร self-esteem ของเราก็จะยิ่งต่ำลงเท่านั้น และนั่นจึงเป็นสาเหตุให้เกิดการวิพากษ์วิจารณ์ตัวเอง มองตัวเองในแง่ลบจนเกินไป
นอกจากนี้ งานวิจัยหัวข้อ ‘Exploring the association between psychological distress and drunkorexia behaviors in non-clinical adolescents: the moderating role of emotional dysregulation’ ยังชี้ว่า ผู้ที่มีพฤติกรรม Drunkorexia มีแนวโน้มจะประสบกับความวิตกกังวล ภาวะซึมเศร้า และควบคุมอารมณ์แย่ลง ซึ่งเมื่อเกิดความกังวล ความเครียด พวกเขาก็จะหันไปใช้แอลกอฮอล์เป็นกลไกในการรับมือกับสถานการณ์ที่เจอ
โดยรวมแล้ว Drunkorexia คือความรู้สึกที่เรากังวลกับรูปร่างตัวเองจนมองตัวเองในแง่ลบเกินไป เราเลยพยายามหาทางออกให้เรื่องนี้ ด้วยการดื่มแทนการกินอาหารตามปกติ สิ่งที่ตามมาจึงเป็นเรื่องของการใช้แอลกอฮอล์ในทางที่ผิดนั่นเอง ทางออกของเรื่องนี้เลยอยู่ที่มุมมองของเรา ว่าเราจะโอนอ่อนและใจดีกับตัวเอง ยอมรับสิ่งที่ตัวเองเป็นได้มากแค่ไหน แต่ถ้ารู้สึกว่าพฤติกรรมนี้ของเราไปไกลเกินกว่าจะบังคับใจตัวเองได้ การพบผู้เชี่ยวชาญหรือพบแพทย์เฉพาะทางก็เป็นทางออกที่ตรงจุดและรวดเร็วที่สุด
หากความกังวลที่เป็นสารตั้งต้นคือเรื่องรูปร่าง ทางออกของเรื่องนี้ไม่ได้มีเพียงการดื่มให้ลืมหิวเพียงอย่างเดียว (จริงๆ แล้วไม่ควรเป็นวิธีนี้ตั้งแต่แรก) เพราะยังคงวิธีอื่นๆ อีกมากที่จะไม่ส่งผลเสียกับร่างกายและจิตใจของเรา ไม่ว่าจะเป็นการออกกำลังกาย กินอาหารตามหลักโภชนาการ หรือการไม่ตามใจปากจนเกินไป
เราเข้าใจดีว่าเรื่องนี้อาจไม่ได้ง่ายเหมือนการโยนอะไรสักอย่างทิ้งไปเฉยๆ แต่การใช้แอลกอฮอล์แก้ปัญหาแบบผิดๆ ก็รังแต่จะสร้างปัญหาต่อไปให้เราไม่รู้จบ
หากรักการดื่มจริงๆ มาดื่มมาดริงก์แบบไม่ทำร้ายตัวเองกันดีกว่า
อ้างอิงจาก