‘อธิคม คุณาวุฒิ’หนุ่มมาดเข้มที่คนในแวดวงนักเขียนนักอ่านต่างรู้กันดีว่าเขาคือบรรณาธิการบริหารนิตยสาร WAY แล้ว อีกมุมหนึ่งเขาคือ ‘พ่อหล่อ’ ของน้องเมี่ยงลูกสาววัย 11 ปี ที่กำลังช่างซักช่างถาม บทสนทนาที่ไม่ตั้งใจให้คมแต่สื่อสารอะไรมากมายเหลือเกินระหว่างพ่อหล่อกับลูกสาวออกมาเป็นหนังสือปกน่ารัก เคลือบเนื้อหาหนักแน่นแต่ย่อยง่ายภายใต้ชื่อ ‘พ่อหล่อสอนลูก’ มาแล้ว
เอ๊ะ ถ้าอยากรู้ว่าคุณพ่อคนนี้หล่อจริงมั้ย หล่อทั้งหน้าตา หล่อทั้งความคิดหรือหล่อยังไง แล้วพ่อหล่อ ๆ จะพูดเรื่องยาก ๆ อย่างเรื่องการเมือง เรื่องการลงประชามติ เรื่องร่างรัฐธรรมนูญ ให้ลูกสาวหรือคนรุ่นใหม่ฟังว่ายังไงได้บ้าง ไม่ต้องรอช้ามามุงอ่านความคิดพ่อหล่อไปพร้อม ๆ กัน
The MATTER : พ่อหล่อเคยพูดว่าทุกอย่างควรมีช่วงเวลาของมันในการพูดคุยกับลูก แล้วเรื่องการเมืองนี่คิดว่าควรคุยด้วยเมื่อไหร่
พ่อหล่อ : ไม่รู้คิดถูกหรือคิดผิดนะ ก็คุยกับเขาเมื่อเขาสงสัยอะครับ เราก็ไม่รู้อะเนอะว่าเด็กวัยไหนมันมีอายุเวลาที่แน่นอนหรือเปล่าว่าวัยนี้จึงจะสนใจได้ แต่ว่าคำอธิบายหรือการที่จะพยายามหาคำตอบของเรา มันก็เริ่มต้นจากแค่ความสงสัยของเขานั่นแหละ
โอเค เขาอาจไม่ใช่เด็กที่มีลักษณะพิเศษที่จู่ ๆ ก็สงสัย ไอ้ความสงสัยนี่มันก็คงมาจากตำราเรียนนั่นแหละฮะ ใช่มั้ยฮะ เด็กอายุประถมปลายอย่างนี้ ก็เริ่มเรียนระบอบการเมืองการปกครอง บอกว่าประเทศเราปกครองด้วยระบอบนั้นระบอบนี้มีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข เขาก็สงสัยว่าไหนบอกว่าปกครองด้วยระบอบนี้แล้วทำไมมีทหารมาปกครอง เราก็ตอบไป ตอบไปตามที่เขาสงสัย
คือการเมือง เราอธิบายถึงสถาบันทางการเมือง แล้วก็กรอบโครงสร้างอำนาจ แล้วก็นิยามของแต่ละกรอบใช่ไหมฮะ เราไม่ได้อธิบายถึงลักษณะความฉ้อฉลหรือวิธีคิดบางอย่างที่พวกสัตว์การเมืองเขาเป็นกัน เราแค่อธิบายโครงสร้างมัน
The MATTER : เด็กรุ่นใหม่หลาย ๆ คนรู้สึกว่าการเมืองเป็นเรื่องน่าเบื่อ เป็นเรื่องไกลตัว พ่อหล่อบอกลูกยังไงว่าการเมืองมันไม่ใช่เรื่องไกลตัวอย่างที่คิด
พ่อหล่อ : ลูกเราก็คงไม่ใช่คนที่มีความพิเศษ ที่มีความตื่นตัวทางการเมืองเป็นพิเศษไม่ใช่อย่างนั้น แต่ ลักษณะความใกล้ความไกลก็คงจะอยู่ในเรื่องของที่เขามาอยู่ใกล้ๆ เรา แล้วเรา พบเจอคนนั้นคนนี้ เขาก็ ได้ยินบทสนทนาผ่านหู
หรือแม้กระทั่งว่าเรากำลังเปิดเฟซบุ๊กอยู่ เขาก็ชะโงกหน้าเข้ามาดูแล้วเขาเห็น รูปน้องคนหนึ่งที่ยืนเกราะลูกกรง เกาะห้องขังอยู่ เขาก็ถามเราว่านั่นเป็นใคร เราก็บอกว่า อือ เป็นรุ่นน้องของพ่อหล่อเองแหละ เขาก็ถามว่าทำไมจึงต้องไปอยู่อย่างนั้น เราก็บอกเขาตามข้อเท็จจริงว่า เพราะเขาไปแสดงความเห็นที่ตรงข้ามกับคนที่ปกครองประเทศตอนนี้อยู่
The MATTER : แล้วเขาเข้าใจไหม ?
พ่อหล่อ :เขาก็จะเตือนว่าอย่าดูเฟซบุ๊กบ่อยเพราะจะทำให้โมโห เพราะเขาจะสังเกตว่าเราหงุดหงิดตอนดูเฟซบุ๊ก (ยิ้ม)
The MATTER : ตามประสาพ่อที่ชอบเล่านู่นเล่านี่ให้ลูกฟัง สมมติว่าต้องเล่า พ่อหล่อจะเล่าเรื่องการลงประชามติหรือร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้ให้ลูกฟังยังไง
พ่อหล่อ : อันนี้เป็นเรื่องจริงเลยเพิ่งอธิบายไปเมื่อสัก 3-4 วันที่แล้ว เสาร์อาทิตย์ที่แล้วมั้งครับ ก็ขับรถมาผ่านหน้าวัดบึงทองหลาง มันก็มีป้ายคัทเอาต์เรื่อง 7 สิงหาไปลงประชามติ
ซึ่งจริง ๆ เขาก็คงเห็นมาหลายจุดนะครับว่าตามสะพานลอย ตามอะไรเขาก็เห็น เขาก็ถามว่าไอ้ประชามตินี่แปลว่าอะไร แล้ว 7 สิงหาทำไมต้องเป็น 7 สิงหา ทำอะไร
เราก็พยายามอธิบายในเชิงโครงสร้างว่า เราก็บอกเขา เริ่มต้นว่า คือตอนนี้ประเทศเรากำลังออกแบบกฎหมายชนิดหนึ่งที่จะเป็นข้อตกลงใหญ่ในการอยู่ร่วมกัน ไอ้กฎหมายชนิดนั้นเนี่ยเขาก็เรียกกันว่ารัฐธรรมนูญ ธรรมนูญแปลว่าข้อตกลง รัฐแปลง่ายๆ ว่าประเทศชาติ ทั้งหมดแปลง่ายๆ ว่าข้อตกลงของประเทศชาติ แล้วก็มีคำถามว่าแล้วทำไมต้องเขียนใหม่ เราก็ต้องอธิบายว่า ก็อย่างที่หนูเห็นไง มันมีคณะปกครองคณะหนึ่ง เขาขึ้นมาปกครองภายใต้เงื่อนไขพิเศษ แล้วโดยกรอบของกฎหมายแล้วเนี่ย การขึ้นมาลักษณะนี้มันผิดเงื่อนไขเดิม เพราะฉะนั้นเขาต้องฉีกเงื่อนไขเดิมทิ้ง
เขาก็ถามต่อว่า แล้วทำไมเขาถึงขึ้นมาได้ เราก็ตอบ อ๋อ ช่วงหลายปีที่ผ่านมามันมีความไม่เรียบร้อยบางอย่างเกิดขึ้นในประเทศเรา แล้วก็มีคนกลุ่มหนึ่งเขาดันไปเชื่อว่ามันจำเป็นต้องใช้อำนาจพิเศษชนิดนี้ ซึ่งมันไม่ใช่อำนาจตามระบอบเดิม เช่น การเลือกตั้งใหม่ การหาอะไรใหม่ ก็อธิบายให้เขาฟัง ว่ารัฐธรรมนูญเป็นแบบนี้ หน้าที่มันคือเป็นแบบนี้ แล้วที่มาเป็นแบบนี้
The MATTER : มันดูใหญ่เหมือนกันนะสำหรับเด็ก 11 ขวบ ที่ว่านี่คือกฏใหญ่ของประเทศ คือนั่นคือนี่ พอเขาฟังจบแล้วเขาเป็นยังไงบ้าง เขารู้สึกว่านี่เป็นเรื่องไกลตัวเขาไหม หรือว่าพ่อหล่อได้บอกเขาเพิ่มเติมไหมว่าเจ้ากฏใหญ่ของประเทศนี่มันจะเกี่ยวข้องกับตัวเขายังไง
พ่อหล่อ : บอกครับบอก บอกว่ากฏใหญ่ของประเทศมีเพื่อที่บอกว่า ไอ้กฎใหญ่ของประเทศเนี่ยมันจะเป็นหลักเวลาที่เราออกกฎหมายรายละเอียดอื่นๆ ตามมา มันจะต้องไม่ขัดกับข้อตกลงใหญ่ข้อตกลงนี้ เพราะฉะนั้นไอ้กฎใหญ่ตรงนี้มันจึงจำเป็นที่จะต้อง ได้รับฉันทามติ ได้รับการยอมรับจากคนทั้งประเทศ พูดกับเขาอย่างนั้นน่ะนะ
ก็ไม่แน่ใจว่าเขาเข้าใจหมดไหม แต่อย่างที่บอกครับ มันอาจจะเกี่ยวข้องกับสิ่งที่เขากำลังเรียนอยู่ เพราะว่าแบบเรียนวิชาสังคมศึกษาของเด็กประถมปลายก็เริ่มพูดเรื่องพวกนี้แล้ว มันก็น่าเศร้าอยางหนึ่งก็คือว่าข้อเท็จจริงที่เขาเจอกับตำราเรียนมันดันไม่ตรงกัน
The MATTER : ซึ่งเวลามันไม่ตรงกัน เขาก็มาถามเราอยู่ตลอด ?
พ่อหล่อ : ถามครับ ถาม
The MATTER : แล้วถามแล้ว มันจะมีปัญหามั้ย ถ้าพ่อหล่อตอบลูกไปมันเป็นอย่างหนึ่ง ซึ่งมันไม่ตรงกับตำราเรียน พ่อหล่อบอกลูกยังไง ?
พ่อหล่อ : บางทีเราก็ต้องฉ้อฉลนะ (หัวเราะ) อย่างนานมาแล้วเขาก็ถามเรื่อง เนี่ยข้อสอบเขาก็ถามว่าเนี่ยใครเป็นผู้ประดิษฐ์อักษรไทย เราก็พยายามเล่าให้เขาฟังว่าจริงๆ ระบบการผลิตอักษรเนี่ยมันไม่น่าเป็นระบบที่ใครคนใดคนหนึ่งสามารถคิดได้โดยลำพัง แต่โอเคถ้าจะตอบเพื่อเอาคะแนนเนี่ย หนูต้องตอบอย่างนี้นะลูก ตอบอีกแบบหนึ่งนะลูก มันก็ลำบากอยู่ (ยิ้ม)
The MATTER : แต่ลูกเข้าใจใช่ไหม?
พ่อหล่อ : เขาเข้าใจ เขาจะยิ้ม จะหัวเราะ
The MATTER : สมมติลูกเรากำลังสนใจเรื่องการลงประชามติครั้งนี้ แต่ฟังเอาจากสื่ออยู่ด้านเดียว แล้วรู้สึกว่า พ่อ โห ทำไมมันดี๊ดีจัง พ่อหล่อมีวิธีบอกลูกยังไงให้หาข้อมูลหรือรับฟังข้อมูลจากรอบด้าน
พ่อหล่อ : คือบังเอิญประเด็นคล้ายๆ นี้เราคุยกันมาบ่อย มันไม่ใช่แค่เรื่องประชามติหรอกโฆษณาอะไรก็ตามแต่ที่เขาเห็นตามโทรทัศน์หรือตามสื่ออะไรก็ตามแต่ เราก็จะบอกว่า อืมม ส่วนมากก็จะถามเขาว่าหนูเชื่อเขามั้ยที่เขาพูดเนี่ย เขาก็จะก้ำๆ กึ่งๆ
พยายามคุยตั้งแต่ตอนนั้นแล้วว่าอะไรก็ตามที่เป็นการโฆษณาเนี่ยส่วนมากเขาก็ไม่ค่อยบอกหมดหรอกลูก เขาอาจจะบอกแต่ข้อดี หรือถ้าโฆษณาขนม โฆษณาของกิน เขาอาจถ่ายรูปออกมาให้สวยเกินกว่าของจริง นี่เป็นข้อตกลงเบื้องต้นที่ควรจะเข้าใจตรงกัน เผอิญเราคุยเรื่องนี้มาก่อน เพราะฉะนั้นเวลามาถึงเรื่องนี้ก็เลยไม่ค่อยมีปัญหามาก
The MATTER : พ่อหล่อคิดยังไงกับการที่ให้คนอายุ 70-80 ที่เดี๋ยวก็ต้องจากโลกนี้ไปแล้ว แต่มาร่างรัฐธรรมนูญที่กำหนดชีวิตคนรุ่นลูกรุ่นหลานเราไปอีกหลาย 10 ปี (เพราะมันแก้ย้ากยาก)
พ่อหล่อ : พูดแบบสุภาพๆ นะ คืออายุเท่าไหร่มันไม่ได้มีปัญหามากเท่ากับว่าสิ่งที่คุณร่างนั้นคุณได้ถามคนอื่นๆ หรือยัง ใช่มั้ยฮะ
ถ้าสมมติคุณอายุ 70-80 หรือต่อให้ 90 แต่เวลาคุณจะทำอะไรเนี่ยคุณถาม คุณมีช่องทางในการที่จะสื่อสารบอกกล่าว เปิดโอกาสให้มีการอภิปรายถกเถียง แล้วก็รับฟัง มีเกณฑ์ในการพิจารณาที่เป็นระบบน่าเชื่อถือ ไอ้การอายุ 70 หรือ 80 มันอาจไม่ใช่ปัญหามากเท่ากับเรื่องของการเปิดช่องทางการสื่อสาร
พูดง่ายๆ ก็คือว่า ต่อให้แก่แค่ไหนมันก็ไม่ควรไปตรัสรู้เอง ใช่มั้ยครับ ถาม ถามเราหน่อย เราต้องอยู่อีกนาน
The MATTER : เพราะฉะนั้นในสายตาพ่อหล่อตอนนี้เนี่ยร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้มันยังรับฟังคนอื่นน้อยไปหรือเปล่า?
พ่อหล่อ : มันผิดปกติไปแทบทุกขั้นตอนนั่นแหละครับ มันไม่ใช่แค่รับฟัง รับฟังก็ไม่ค่อยรับฟัง เปิดโอกาสให้วิพากษณ์วิจารณ์ก็ไม่ได้ บอกว่าไม่เอาก็ถูกจับ
แถมต้นทางก่อนหน้านั้นคน 20 กว่าคนที่จะมาร่างหลักธรรมนูญใหญ่ของการอยู่ร่วมกันเนี่ย มันเกี่ยวกับผมตรงไหนเนี่ย เขามาจากไหนเกี่ยวข้องยึดโยงกับผมอย่างไร แล้วถ้าผมอยากจะบอกเขาเนี่ย เขาฟังเราจริงหรือเปล่า เสียงของเราไปถึงเขาจริงไหม อะไรต่างๆ เหล่านี้มันเป็นปัญหาทั้งหมด ทั้งกระบวนการนั่นแหละครับ
The MATTER : พ่อหล่อสอนลูก สอนลูกเรื่องสิทธิของตัวเองบ้างมั้ย สอนยังไง?
พ่อหล่อ : สอน สอนอยู่แล้ว บังเอิญเราอยู่กับเขาอย่างนี้ อยู่กับเขาแล้วก็พยายามตั้งแต่ที่เขาเริ่มรู้จักใช้เหตุใช้ผลเป็น หลัง 3 ขวบเป็นต้นมา เวลาจะทำอะไรเราก็จะถามเขาว่า หนูอยากทำอะไร เช่น เราจะไปซื้อของที่ห้างสรรพสินค้าห้างนี้ หนูช่วยเลือกร้านหน่อยว่าหนูอยากกินอะไร มื้อนี้อยากกินอะไร
สมมติว่าร้องว่าอยากกินร้านนี้ คุณก็จงรับผิดชอบการกินของคุณด้วยว่าจงกินในปริมาณที่สะท้อนสัมพันธ์กับความอยากที่คุณเลือกร้านนี้ ไม่ใช่เลือกร้านนี้แล้วนั่งกินอยู่ 3 ชั่วโมง ไม่หมดจานสักที
บังเอิญเราคุยกันแบบนี้ไงฮะ แล้วก็ให้เขารู้จักเลือกเอง รับผิดชอบเอง พอเป็นเด็กถึงวัยที่โตขึ้นย่าง 12 เราก็เริ่ม สอนเขารู้จักว่าร่างกายเป็นของเขา สิทธิที่จะเลือกทำหรือไม่เลือกทำอะไรเขาก็เป็นคนเลือก ถ้ามันยากก็จงยกมือปรึกษา
แต่ผมคิดว่าประเด็นเรื่องสิทธิมันไม่รู้สิ สำหรับเด็กรุ่นถัดๆ ไปมันไม่น่าจะเป็นเรื่องสิทธิของตัวเองสักเท่าไหร่ เพราะเรื่องนี้ทุกคนน่าจะชัดอยู่แล้ว ทั้งชัดแล้วก็หวง เป็นพื้นฐานอยู่แล้ว
ประเด็นที่เราคุยกันเรื่องสิทธินี่มันน่าจะเป็นเรื่องของการเรียนรู้ที่จะเคารพสิทธิผู้อื่น เช่น เวลาเราไปนั่งกินตามร้านอาหาร มันก็จะมีคนพูดจาเสียงดัง ล้งเล้งๆ อะไรเงี้ย เราก็จะมองหน้ากันยิ้มๆ มันแทบไม่ต้องสอน เพราะว่ามันอยู่ในพื้นที่ร่วมกันมันต้องรู้จักเคารพผู้อื่น เพราะเขาใช้พื้นที่ร่วมกับเรา
The MATTER : ข้อถกเถียงเรื่องโหวตโน โนโหวต พ่อหล่อจะบอกลูกว่ายังไง ?
พ่อหล่อ : คือเนื่องจากตัวเราเป็นคนที่เลือกโหวตโน แต่เราก็เคารพนะ แล้วก็มีความเชื่อด้วยว่าลอจิกส์ของคนที่โนโหวตจำนวนหนึ่งมันก็แข็งแรงนะครับ แต่เราจะสอนให้ลูกสู้ พูดแล้วก็เหมือนที่ อาจารย์วรเจตน์พูด บางสนามเนี่ยรู้ทั้งรู้ว่าเสียเปรียบ แต่ถ้าเราไม่สู้เลยมันจะติดค้างคาใจเรา มากกว่าที่เราสู้แล้วแพ้
The MATTER : พ่อหล่อคาดว่าอีก 10 ปี ลูกจะมีโอกาสได้ใช้สิทธิเลือกตั้งมั้ย
พ่อหล่อ : อาจจะมองโลกสวยนะคิดว่ามันต้องจำเป็นแล้วล่ะ เพราะว่ามันไม่สามารถอั้นอะไรได้นานขนาดนั้น คือว่าถ้า 10 ปียังไม่ได้เลือกเนี่ยแสดงว่ามันคงมีเงื่อนไขพิเศษเป็นอย่างยิ่ง ในประเทศเรา
The MATTER : ในฐานะพ่อหล่อที่ตอบนั่นนี่ให้ลูกอยู่ตลอด ถ้าน้องเมี่ยงถามว่า พ่อๆ ถ้าพ่อนั่งไทม์แมชชีนได้ พ่อว่าอีก 10 ปีหลังการลงประชามติครั้งนี้ประเทศจะเป็นยังไง จะตอบให้ลูกเข้าใจง่ายที่สุดยังไง
พ่อหล่อ : คือเนื่องจากผมเรียนเศรษฐศาสตร์มา ผมก็จะบอกลูกว่าเราช้า แล้วเราก็เสียเวลาไปเถียงในเรื่องที่ไม่ควรเถียงซะเยอะ ไอ้เรื่องพวกนี้ในทางเศรษฐศาสตร์มันเรียกว่าต้นทุนค่าเสียโอกาสซึ่งมันแพง
บางเรื่องที่ไม่ควรเถียงกัน เช่น เขาตกลงกันมาเป็นสามสี่ร้อยปีแล้วว่าคนมันควรจะมีสิทธิเสรีภาพ มันควรมีความเสมภาคกัน มันจะไปเถียงกันทำไม
เหมือนไปเถียงว่าโลกกลมหรือโลกแบนน่ะ มันควรจะมีข้อตกลงที่เราเข้าใจร่วมกันไม่ต้องกลับไปเถียงกันใหม่ เพื่อที่เราจะได้เดินไปข้างหน้าได้เร็วขึ้น ได้ทันคนอื่นเขา หรือว่าไม่สูญเสียโอกาสไปกับเรื่องที่มันเหลวไหลน่ะครับ
The MATTER : แสดงว่ามองว่าอีก 10 ปีข้างหน้าถ้าเรายังวนเวียนเถียงอยู่กับเรื่องเดิมๆ ที่สากลเขาไปไกลกันแล้ว เราก็จะยังก้าวไปไหนไม่ได้ ?
พ่อหล่อ : แน่นอนเพราะทุกวันนี้ บางทีฟังข้อถกเถียงแล้วเราก็สงสัยและเศร้าใจว่าคนในประเทศเราเขาไม่ค่อยมีความรู้กันเนาะ เขามีปริญญาแต่เขาไม่ค่อยมีความรู้ เขาทำเหมือนว่าทุกอย่างต้องมาคุยกันที่นับหนึ่งเสมอ ทั้งๆ ที่ถ้าเราสะสมต้นทุนทางความรู้ทางประวัติศาสตร์กันมาเนี่ย เราไม่เห็นต้องมาเสียเวลานับหนึ่งอยู่เรื่อยนี่ เราก็ไปต่อ มีฐานความรู้อยู่แล้ว มีข้อตกลงอยู่แล้ว ก็ไปต่อ
The MATTER : อีก 10 ปีข้างหน้า คิดว่าพ่อหล่อจะยังสงสัยและเสียใจอยู่ไหม?
พ่อหล่อ : เชื่อว่ามันน่าจะดีขึ้นนะครับ ผมยังมีความเป็นคนโลกสวยแล้วก็เชื่อว่าคนรุ่นหลังๆ ต้องเก่งกว่าคนรุ่นเรา
The MATTER : ถ้าบังเอิญ 10 ปีข้างหน้าสภาพบ้านเมืองมันแย่ พ่อหล่ออยากบอกอะไรกับลูกไว้เป็นภูมิคุ้มกันตัวเอง?
พ่อหล่อ : สิ่งที่สอนลูกคุยกับลูกเสมอๆ เลยก็คือให้เขาเป็นคนที่รักความรู้ พอรักความรู้แล้วเนี่ยฝึกให้เขามีทักษะในการใช้เหตุใช้ผล แล้วก็ฝึกเขาเรื่องรสนิยมทางศิลปะบางอย่าง คนเราถ้ามันมีความรู้ มีลอจิกส์ มีรสนิยมทางศิลปะ มันก็น่าจะเป็นต้นทุนเท่าที่เราจะให้ได้แล้วล่ะ ที่เหลือก็เป็นเรื่องชีวิตเขา
The MATTER : ถ้าตอนนี้น้องเมี่ยงมีสิทธิลงคะแนนเสียงแล้ว เราอยากบอกอะไรในโค้งสุดท้ายก่อนลงประชามตินี้ทั้งกับลูกหรือกับคนรุ่นใหม่?
พ่อหล่อ : ถ้ายังไม่อ่านก็กลับไปอ่าน ถ้าอ่านแล้วยากก็กลับไปอ่านข้อมูลที่เขาย่อยไว้หลายๆ แห่ง แล้วก็อย่าเงียบ อย่าเฉย อย่าดูดาย
คำว่าการเมืองเป็นเรื่องไกลตัว มันน่าจะถูกท้าทายเยอะแล้วนะในช่วง 10 กว่าปีที่ผ่านมา คือ 10 กว่าปีก่อนคนอาจจะพูดกันว่าการเมืองเป็นเรื่องไกลตัว แต่ 10 กว่าปีถัดมาการเมืองมันอยู่บนโต๊ะกินข้าวแล้ว มันอยู่ในความสัมพันธ์ระหว่างเรากับเพื่อนแล้ว เพราะฉะนั้นมันไม่ไกลหรอก เพียงแต่ว่าถ้าจะเผื่อไว้นิดนึงก็อยากบอกเขาหน่อยว่า
ไม่ว่าเราจะโหวตอะไรหรือคนอื่นจะโหวตอะไรเนี่ยถึงสุดท้ายมันก็ต้องอยู่ด้วยกัน เราไม่น่าจะมีสิทธิที่จะจับคนที่ไม่เห็นด้วยกับเราทั้งหมดไปรมแก๊สมั้งนะ ใช่ปะ มันก็ต้องอยู่ร่วมกัน ทีนี้เราจะหาวิธีดีไซน์ระบอบวิธีการอยู่ร่วมกันยังไงต่างหาก
The MATTER : ที่ว่าให้กลับไปอ่านข้อมูลที่เขาย่อยไว้แล้วหลายๆ แห่ง พ่อหล่อมีแนะนำไหม?
พ่อหล่อ : อันดับแรกอ่านแผ่นพับที่เขาส่งมาที่บ้านเราก่อนของ กกต. เนี่ย อ่านตรงนั้นก่อน อันดับสองอ่านสื่อโฆษณาที่กรธ.ทำออกมาก่อน แล้วจึงไปอ่าน iLaw ไปอ่านความเห็นนักวิชาการด้านกฎหมายมหาชน อยากให้อ่านทั้ง 2 อย่าง
The MATTER : พ่อหล่อมีความเห็นอย่างไรกับร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้?
พ่อหล่อ : มันมีปัญหาทั้งทางเนื้อหา คือร่างรัฐธรรมนูญที่มันเกิดขึ้นภายใต้เงื่อนไขพิเศษแบบนี้เนี่ย มันมักถูกร่างโดยวัตถุประสงค์เบื้องต้นที่มีอยู่แล้ว พม่านี่ชัดดี เขียนเลยว่าไม่ให้ซูจีเป็นนายกฯ (หัวเราะ) อันนี้ชัดเลย อะ ชัด
แต่ว่าอย่างเราบังเอิญว่าเรา เราถูกฝังถูกฝึกให้ท่องอาขยานทางการเมืองว่านักการเมืองมันชั่ว เวลาด่านักการเมืองมันง่าย มันคล่องปาก ด่านักการเมือง ด่าเมื่อไหร่ก็ถูกเมื่อนั้น
อย่างน้อยที่สุด 2 ปีที่ผ่านมาเนี่ย ถ้าเรามีสติสัมปชัญญะอยู่บ้าง เราก็น่าจะเห็นว่าไม่ใช่นักการเมืองที่เขาโกงเป็นอยู่อาชีพเดียวหรอก อย่างอื่นก็มี