‘You don’t want modesty, you want humility. Humility comes from inside out. It says someone was here before me and I’m here because I’ve been paid for. I have something to do and I will do that because I’m paying for someone else who has yet to come.’
– Maya Angelou
เราอยู่ในสังคมที่ต้องการให้ผู้คนสงบเสงี่ยม เราชอบให้คนอยู่กันเงียบๆ ทำอะไรก็ทำไปเงียบๆ อย่าโผงผาง เราถึงมีคำว่าดี/เก่งได้แต่อย่าเด่น จะเป็นภัย ตรงนี้เลยเป็นเหมือนความยอกย้อน คือถ้าเรามองว่า ‘ความสงบเสงี่ยม’ (modesty) ความเจียมตัว อ่อนน้อม คือการที่เรามีดีอะไร มีความสำเร็จ ก็อย่าได้นำออกมาเปิดเผยให้คนอื่นเห็น ให้เจียมตัว ทำตัวเล็กๆ ก้มหัวยอมรับไป
ดังนั้นในความสงบเสงี่ยมแทนที่จะมีความหมายเชิงบวก คือการรู้จักยอมรับความเล็กจิ๋วของตัวเองและเรียนรู้ต่อไป กลับส่อนัยถึงการเป็นสังคมแห่งความอิจฉาริษยา การมองไม่เห็นและไม่สามารถยอมรับความเก่ง ความสามารถ หรือความพิเศษของคนอื่นได้ ซึ่งการไม่สามารถยอมรับความพิเศษของคนอื่นได้นั้น ก็มาจากการที่บุคคลนั้นมองไม่เห็นความพิเศษของตัวเองได้
Maya Angelou คุณแม่นักคิดนักเขียนผิวสีจึงประกาศว่า เธอไม่ชอบความสงบเสงี่ยมเจียมตัว (modesty) เธอบอกว่าในความเจียมตัวนอบน้อม มีความยอกย้อนในตัวเอง เธอเห็นว่าภายในความเจียมตัวมีความยโสโอหังแอบแฝงอยู่ ความโอหังที่แท้จริงคือการที่คนๆ หนึ่งไม่รู้จักยอมรับว่าตัวเองเป็นคนพิเศษ และผลของการที่ไม่ยอมรับความพิเศษของตัวเองนั้นก็เลยพาลไปปฏิเสธความพิเศษของคนอื่นด้วย C. S. Lewis นักเขียนปรมาจารย์อีกคนก็เห็นเป็นในทางเดียวกันว่า ความสงบเสงี่ยม(และคาดหวังความสงบเสงี่ยมจากคนอื่น) ถือเป็นความโอหัง (pride) รูปแบบหนึ่ง และแกยังบอกว่าในความถ่อมตัวอาจไม่จำเป็นต้องมีความสงบเสงี่ยมเจียมตัวเลยก็ได้
ฟังคุณแม่มายากล่าวแล้วก็สะท้อนใจ ว่าจริงๆ แล้วเราทุกคนต่างก็มีความพิเศษ มีความสามารถในตัวเอง และแน่นอนว่าบางคนก็ทำ ฝึกฝนสิ่งต่างๆ จนกลายเป็นที่เก่ง ที่มีดี แต่กลับกลายเป็นว่าไอ้เจ้า ‘คุณธรรม’ หรือข้อกำหนดของสังคมดันมาบอกว่า มึงมันไม่ได้มีอะไรหรอก มีดีแล้วก็อย่าแสดงออกมา กลับกลายเป็นว่าการบังคับให้ไม่ยอมรับความเจ๋งของตัวเองนำไปสู่การคาดหวังให้คนอื่น ‘ห้ามเจ๋ง’ ไปซะด้วย ฟังๆ ก็ดูเหมือนจะเป็นแนวคิดของคนกระจอกๆ ที่ทำให้ทั้งสังคมกลายเป็นสังคมกระจอกๆ ไปซะเฉย ซึ่งสุดท้ายก็ไม่ได้หมายความว่าทุกคนจะต้องเต็มไปด้วยความจองหองแต่อย่างใด สิ่งสำคัญคือความเคารพยอมรับ ที่เราจะต้องเคารพทั้งตนเองและเคารพทั้งผู้อื่นในฐานะมนุษย์คนหนึ่ง
เคารพ/นบนอบ
ในโลกตะวันตกมีการถกเถียงกันระหว่างคำและคุณธรรมของข้อคือคำว่า modesty กับคำว่า humility ถ้าแปลอย่างคร่าวๆ ก็อาจจะพอแปล modesty ว่าเป็นความนอบน้อม และแปล humility ว่าความถ่อมตน ในการถกเถียงก็บอกว่าเนี่ยเราไม่ชอบคำว่า modesty เพราะการนอบน้อมอาจจะไม่ได้หมายถึงการถ่อมตนที่มาจากภายในก็ได้ เจ้า modesty เกี่ยวข้องกับพฤติกรรมและการแสดง หลักๆ แล้วคือการที่ปฏิเสธคุณสมบัติ ความสำเร็จของตัวเอง ในขณะที่ความถ่อมตัวคือความรู้สึกจากภายใน เป็นการรู้จักที่จะยอมรับและเคารพตัวตน สติปัญญา และความสามารถของตนเองและของคนอื่นด้วย
สรุปอย่างลวกๆ modesty หมายถึง สิ่งที่แสดงออกมา ดังนั้นเรามักใช้คำว่า act ซึ่งก็คล้ายๆ กับค่านอบน้อมในภาษาไทยที่นัยเกี่ยวข้องกับการแสดงออกมากกว่าความรู้สึกจริงๆ ที่ออกมาจากข้างใน การแสดงความนอบน้อมหลายครั้งจึงสัมพันธ์กับการถูกบังคับ ส่วนคำว่าการถ่อมตนในทางกลับกันสัมพันธ์กับความรู้ภายในมากกว่า ความรู้สึกยอมรับคนอื่น สิ่งอื่นที่เหนือกว่าตน และที่สำคัญคือยอมรับตัวเองด้วย ความถ่อมตนเกิดจากการที่เรารับรู้ – ไม่ปฏิเสธความพิเศษ ความสามารถ และพรสวรรค์ของตัวเอง ตลอดจนยอมรับนับถือของผู้อื่นด้วย
จุดต่างสำคัญของความสองความ คืออย่างแรก ความนอบน้อมสงบเสงี่ยมมักไปโยงกับการปฏิเสธความสามารถของตัวเอง จนกระทั่งไปปฏิเสธความสามารถของคนอื่น แต่ความถ่อมตนคือการประมาณและยอมรับในตัวตนและศักยภาพของตัวเอง ควบคู่ไปกับการมองเห็นและยอมรับศักยภาพของคนอื่นไปพร้อมๆ กัน
ถ่อมตนไม่ต้องอ่อนน้อม?
C. S. Lewis บอกว่า ความถ่อมตนที่แท้จริงไม่จำเป็นต้องมีความอ่อนน้อมเลยก็ได้ ในความรู้สึกถ่อมตน (humbleness) จริงๆ เป็นมิติที่สัมพันธ์กับปรัชญาและทัศนคติที่ลุ่มลึกและยิ่งใหญ่พอสมควร ความถ่อมตนหลักๆ คือการที่เราลดละอัตตาของเราออกไป คือความรู้สึกเข้าใจในความยิ่งใหญ่ของสรรพสิ่งและความเล็กจิ๋วของเรา แต่ความเล็กจิ๋วที่ว่าไม่ใช่ความรู้สึกกระจอกงอกง่อย แต่คือความระแวดระวังว่า เออ เรามันก็แค่มนุษย์คนหนึ่งในทะเลของสรรพสิ่ง ของความรู้ ของผู้คนในจักรวาลอันกว้างไกลนี้ ตัวตน ความคิด ไปจนถึงความบกพร่องผิดพลาดของเรามันก็แค่จุดเล็กๆ บนโลกใบนี้ เราอาจจะผิดก็ได้ และเราจะยอมรับความผิดและเรียนรู้สิ่งต่างๆ จากคนอื่น จากสรรพสิ่งนี้ได้อย่างไร นั่นแหละคือความถ่อมตน ถ่อมตัวต่อโลก ต่อความรู้ ถ่อมตัวเพื่อเรียนรู้และยอมรับ
ความถ่อมตนจึงเป็นเรื่องของความเสมอภาค ในทางกลับกันความนอบน้อมอาจเป็นอุปสรรคด้วยซ้ำ เช่นในโลกที่ให้ความสำคัญกับความเป็นเด็กและความเป็นผู้ใหญ่ ถ้าเราถือตนว่าเป็นผู้ใหญ่ เรามองว่า เฮ้ย คนอื่นทำไมไม่ ‘แสดงความนอบน้อมต่อเรา’ การเรียกร้องความนอบน้อมอาจนำไปสู่การไม่ยอมรับ เราไม่ยอมรับตัวตน ไม่ยอมรับสถานะของอีกฝ่าย แต่ถ้าเรารับรู้ว่า เรามันก็แค่มนุษย์ตัวเล็กๆ คนหนึ่ง เราก็มีแนวโน้มที่จะปฏิบัติและรับฟังเรียนรู้ต่อผู้อื่นเสมอ ไม่สำคัญว่าอีกฝ่ายจะเป็นใคร หรือจากอะไร
ในมุมมองของลิวอิส ถ้าเราเป็นคนที่ถ่อมตนและเข้าใจโลกจนถึงที่สุด เราจึงไม่ค่อยยึดถึงอัตตาหรืออีโก้ ความนอบน้อมหรือการแสดงออกจึงแทบไม่จำเป็นสำหรับเราเลย เพราะเรากำลังปฏิสัมพันธ์กับคนอีกคนหนึ่ง ซึ่งเราเคารพและยอมรับอย่างเท่าเทียมกันแล้ว ถ้าจะถกเถียงหรือโต้แย้งกัน ก็เป็นการถกเถียงในเรื่องอื่นๆ ไม่ใช่โจมตีกันที่ตัวตนของอัตตาของอีกฝ่าย – เวรี่อุดมคติ
ดังนั้นบางครั้งคนที่ถ่อมตัวอาจดูเป็นคนยโสในสังคมแห่งความนอบน้อม สังคมที่ไม่ยอมรับฟังเสียงและมองเห็นตัวตนของคนอื่น
ข้อสังเกตสำคัญของความถ่อมตนอย่างหนึ่งคือ เราไม่ได้แค่ยอมรับในจุดแข็งหรือข้อดีของตัวเราเองแต่อย่างเดียว แต่การถ่อมตนยังหมายถึงรับรู้จุดอ่อนของตัวเราเอง ยอมรับความผิดของเราที่ได้กระทำลงไป และเรียนรู้เติบโตจากทุกสิ่งทุกอย่างที่ผ่านเข้ามาในชีวิต ความถ่อมตนเป็นทัศนคติที่ซับซ้อนเพราะเกี่ยวข้องกับอัตตาหรือตัวตนของเรา เป็นสิ่งที่เราต้องฝึกและต้องตรวจสอบตัวเองอยู่เสมอว่า เราผิดหรือกำลังพลาดอะไรไปหรือไม่
จุดสำคัญจากนักคิดนักเขียนทั้งหลาย คือเรา ไม่จำเป็นต้องทำตัวจิ๋วๆ แล้วหายไปจากสังคมนี้โดยเข้าใจว่านี่คือการถ่อมตน แต่การถ่อมตนคือการรู้และยอมรับความสามารถ คุณค่าและความสำเร็จของทั้งตนเองและผู้อื่นอย่างเหมาะสม สามารถแยกแยะระหว่างความภาคภูมิใจ (proud) และความยะโส (pride) ออกจากกันได้ เป็นทัศนคติที่ทำให้เติบโตขึ้นจากการเรียนรู้ซึ่งกันและกัน ไม่ใช่ปิดปากหรือปฏิเสธซึ่งกันและกัน ความถ่อมตนจึงเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นจากทัศนคติภายใน ไม่ได้เกิดจากแรงกดดันหรือการบังคับภายนอก
อ้างอิงข้อมูลจาก