เดี๋ยวนี้อะไรก็แพงขึ้นจริงไหม?
หากสังเกตง่ายๆ ใกล้ตัว เราอาจพบว่าข้าวของหรือวัตถุดิบในการประกอบอาหารต่างทยอยกันขึ้นราคา หรือร้านอาหารตามสั่งบางร้านก็เริ่มปรับราคา หรือหากไม่ปรับราคาปริมาณก็อาจจะลดน้อยลงแทน
ในขณะที่ข้าวของเครื่องใช้ต่างปรับราคาสูงขึ้น แต่ค่าแรงยังไม่ขยับไปไหน จึงปฏิเสธไม่ได้ว่า นอกจากกระทบชีวิตประจำวันของคนทั่วไปแล้ว สิ่งเหล่านี้ยังส่งผลกระทบต่อพ่อค้าแม่ค้าเช่นกัน เพราะเมื่อราคาต้นทุนสูงขึ้น คนซื้อจ่ายได้น้อยลง ส่งผลให้พ่อค้าแม่ค้าต้องแบกรับต้นทุนมากขึ้น
เมื่อต้นเดือนที่ผ่านมา กระทรวงพาณิชย์ออกมาเปิดเผยว่า ดัชนีราคาผู้บริโภคของไทยหรือเงินเฟ้อเดือนพฤษภาคม 2567 อยู่ที่ 108.84 เมื่อเทียบกับช่วงเดือนเดียวกันในปีที่แล้ว (2566) ซึ่งอยู่ที่ 107.19 หมายความว่าอัตราเงินเฟ้อทั่วไปสูงขึ้นมา 1.54% ขณะที่อัตราเงินเฟ้อที่สูงขึ้นส่วนหนึ่งมาจากราคาสินค้ากลุ่มพลังงานอย่างกระแสไฟฟ้าเพิ่มขึ้น รวมถึงผักสดและไข่ไก่ เนื่องจากสภาพอากาศที่ร้อนจัดจนทำให้ปริมาณการผลิตลดน้อยลง
สิ่งนี้ตอกย้ำให้เราเห็นว่าเรื่องของแพงไม่ใช่เพียงความรู้สึกของใครสักคนอีกต่อไป นอกเหนือจากความเจ็บปวดของผู้บริโภคแล้ว The MATTER ยังได้พูดคุยกับเหล่าพ่อค้า-แม่ค้าที่ค้าขายกันอยู่ที่ ‘ตลาดคลองเตย’ ตลาดสดที่มีผู้คนพลุกพล่านเข้า-ออกแทบจะตลอดเวลา ถึงความเป็นจริงที่พวกเขากำลังประสบ และต้นทุนที่ต้องแบกรับเพื่อให้ธุรกิจไปต่อได้ในวันที่ทุกอย่างแพงขึ้น
09.00 น. ของวันพฤหัสบดี (27 มิถุนายน 2567) ซึ่งถือว่าสายแล้วถ้าพูดกันตามเวลาของคนเดินตลาด เราเดินลงจากสะพานลอยและเลี้ยวเข้าไปในตลาด เห็นเหล่าพ่อค้าแม่ค้ากำลังง่วนอยู่กับการเตรียมของ ลงของ และเรียกลูกค้า เสียงดังจอแจของพวกเขาทำให้ตลาดนี้ดูมีชีวิตชีวาและคึกคักขึ้นแม้ว่าผู้คนที่มาจับจ่ายจะเริ่มบางตาลงแล้วก็ตาม
เรามองหาร้านอาหารแต่ละร้าน จนไปสะดุดตากับสิ่งมีชีวิตหลากสี บ้างกำลังนั่ง นอน กลิ้นเล่นอยู่หน้าร้าน จนอดใจไม่ไหวต้องเข้าไปทักทาย เพราะ ‘ร้านนี้แมวเยอะมาก’ และได้พบกับ ‘ป้าอร’ หญิงวัย 62 ปี ที่กำลังนั่งมองผู้คนเดินผ่านไป-มาหน้าร้านขนาด 2 คูหา และเราก็ได้เริ่มต้นบทสนทนากับเธอบนโต๊ะที่ตั้งอยู่ริมถนนพร้อมกับแมวที่นอนกลิ้งอยู่ข้างๆ นับสิบตัว
“ขายที่นี่มาก็เกือบ 60 ปีแล้ว อยู่ที่นี่มาตั้งแต่แรกๆ เลย ตั้งแต่คุณพ่อมาเปิดร้านตอนนั้นก็ยังเรียนอยู่ ก็เริ่มทำลูกชิ้นวันละนิดๆ หน่อยๆ ให้พอขายวันต่อวัน ช่วงนั้นก็ขาดทุนทุกวันแหละ จนหลังจากนั้นมาก็เริ่มดีขึ้นเรื่อยๆ จนมาถึงช่วงโควิด-19 ช่วงนั้นธุรกิจอะไรก็แย่ไปหมด อีกอย่างคือหน้าร้านจอดรถไม่ได้ด้วย ลูกค้าก็เลยยิ่งหาย” ป้าอรเริ่มเล่าให้เราฟัง
เราพูดคุยเกี่ยวกับกิจการของป้าอรไปเรื่อยๆ ตั้งแต่ความเป็นมาของร้านไปจนถึงราคาวัตถุดิบ ซึ่งหญิงวัย 62 รายนี้ถึงกับถอนหายใจพร้อมกับบอกว่า วัตถุดิบตอนนี้ปรับราคาขึ้นสูง และมันต่างกันเยอะมาก จากเมื่อก่อนขายไม่กี่บาท จนตอนนี้ 50 บาท และไม่รู้จะต้องปรับไป 60 บาทตอนไหน เพราะต้นทุนตอนนี้แพงขึ้นทุกอย่าง
“สิ่งนี้กระทบกับเรามากเลย สุดท้ายมันก็ต้องปรับราคาขึ้นแหละ แต่ตอนนี้เราก็พยุงไปก่อน กำไรที่ได้ ก็ได้ไม่เยอะหรอกตอนนี้อะไรก็แพง มันแพงไปหมดทุกอย่าง เราดูแลลูกน้องอีก 4 คน มีค่าเช่าร้านอีก 20,000 บาท ค่าน้ำค่าไฟอีก 20,000 บาท รวมกันเดือนนึงก็หลายบาท แล้วตอนนี้ลูกค้าเงียบด้วย เพราะเขาสั่งผ่านแอปฯ กันหมดแล้ว แต่อย่างว่า แอปฯ เราก็ต้องบวกราคาเข้าไปอีกเพราะมีการหักเปอร์เซ็นต์” ป้าอรกล่าว
ป้าอรเล่าให้เราฟังต่อว่าลูกค้าของที่ร้านลดน้อยลงจริงๆ จากที่เมื่อก่อนนั่งกันเต็มทุกโต๊ะแต่ตอนนี้เงียบ และบางตาลงเยอะ เทียบกับช่วงการแพร่ระบาดที่ผ่านมายังมีคนมานั่งกินมากกว่าปัจจุบันนี้อีก
บทสนทนาของเรากับป้าอรดำเนินมาจนถึงสิ่งที่เราเห็นตรงกันว่าอะไรคือปัญหาและ ‘รัฐ’ ควรช่วยเหลืออย่างไร ซึ่งระหว่างนั้นป้าอรก็หัวเราะขึ้นมาและพูดว่า
“โอ๊ย รัฐแก้ไม่ได้หรอก เขาไม่ฟังเราหรอก ถามจริง เปลี่ยนรัฐบาลทีของก็แพงที ก็รู้กันอยู่ว่าทำไม่ได้หรอก มีโครงการอะไรขึ้นมาก็โกงกินกันแล้วผู้ประกอบการจะได้อะไร?”
บทสนทานาของเราและป้าอรจบลง ต่างคนต่างยิ้มและโบกมือล่ำลากัน เราเริ่มเดินต่อตามตรอกซอกซอยของตลาดคลองเตยจนไปเจอ ‘ลุงศักดิ์’ ผู้ประกอบการร้านอาหาร วัย 53 ปี ที่เปิดโอกาสให้เราได้พูดคุยด้วยในช่วงเวลาสั้นๆ
“เพิ่งย้ายร้านมาจากในตลาด เปิดตรงนี้มาไม่ถึงปีเลย พวกของที่ใช้ในร้านก็แพงขึ้นกว่าเดิม เช่น ถุงแกงนี่ก็ขึ้นราคา และของสดอย่างคอหมูจากเดิม 140 บาทต่อกิโลกรัม ก็ขึ้นมาเป็น 160 บาทต่อกิโลกรัม ทำให้เราต้องขึ้นราคาขาย ซึ่งพวกนี้มันก็กระทบกับยอดขายของเราที่ลดลงด้วย” ลุงศักดิ์เล่า
แม้ว่าบทสนทนาของเราจะอยู่ในร้านที่เวลานั้นไม่มีลูกค้าสักโต๊ะ แต่ข้างมือของลุงศักดิ์เต็มไปด้วยอุปกรณ์รับออเดอร์ผ่านแอปฯ ต่างๆ ที่วางเรียงกันประมาณ 5 เครื่องได้ ซึ่งอุปกรณ์นี้ส่งเสียงเตือนว่ามีออเดอร์เข้ามาอยู่เรื่อยๆ
“การเข้าร่วมกับแอปฯ มันก็ช่วยได้เยอะแต่เขาก็หักเปอร์เซ็นต์เยอะเหมือนกัน เพราะของมันแพงขึ้นราคาอาหารเพิ่มขึ้น แต่ทางร้านก็ปรับตัวก็พยายามให้ส่วนลดลูกค้าอยู่ตลอดแหละ”
ลุงศักดิ์เล่า และทิ้งท้ายด้วยว่า อยากให้รัฐช่วยดูแลหรือควบคุมราคาของในตลาด เพื่อไม่ให้ผู้ประกอบการแบกรับราคาสินค้าที่พุ่งขึ้นมากเกินไป
บทสนทนาของเรากับลุงศักดิ์จบลงพร้อมกับเสียงออเดอร์ลูกค้าคนใหม่ที่เด้งขึ้นมาพอดี เราจากกันด้วยรอยยิ้มแบบเดียวกับที่มอบให้ป้าอร และเดินต่อเข้าไปจนถึงท้ายตลาดจนได้พบกับ ‘พี่สาวจากร้านเขียงหมู’ ที่ชวนเราเข้าไปนั่งพูดคุยกันในร้าน
พี่สาวคนนี้เล่าให้เราฟังคร่าวๆ เกี่ยวกับตัวเองว่า เมื่อก่อนเธอก็เคยทำงานประจำในโรงแรม จนกระทั่งการแพร่ระบาดของโควิด-19 ที่มันเปลี่ยนชีวิตเธอไป ร้านขายเนื้อหมูร้านนี้เป็นธุรกิจของที่บ้านที่เธอมารับช่วงต่อ ซึ่งลูกค้าก็เงียบมาตั้งแต่ไหนแต่ไรแล้ว
เธอเล่าว่า ราคาหมูขึ้นอยู่กับหมูที่เขามาส่งเรา เพราะบางทีหมูมันก็จะมีปรับราคาขึ้นตามวันพระ พูดง่ายๆ คือหมูจะขึ้นหรือลงก็ต้องไปดูวันพระอีกทีนึง แต่ราคาเมื่อก่อนกับตอนนี้มันไม่ได้ต่างกันมากเท่าไหร่ แต่มีตรุษจีนปีนึงที่ราคาหมูสามชั้นกระโดดขึ้นไปอยู่ราคา 220-230 บาท แต่ตอนนี้ก็ลงมาเหลือ 180 บาท
“ตอนที่ปรับราคาขึ้นมันก็กระทบกับที่ร้านเพราะว่า มันแพง ลูกค้าก็หันไปซื้ออย่างอื่น เป็นไข่เป็นไก่อะไรไป แต่ตอนนี้มันก็แพงทุกอย่างเลย ไก่ก็ขึ้น ไข่ก็ขึ้น ขึ้นทุกอย่าง” พี่สาวคนนี้เล่าพร้อมบอกว่าตัวเธอเองก็ไม่ได้มีวิธีรับมืออะไร นอกจากต้องยอมรับสภาพไป
เธอบอกว่ารัฐควรดูแลเรื่องค่าครองชีพของประชาชน เพราะค่าครองชีพก็มีส่วนที่ทำให้ลูกค้าตัดสินใจมาเลือกซื้อของ
“ค่าครองชีพมันผูกกับกำลังซื้อของเขา อย่างครอบครัวนึงมีกัน 4-5 คน เขาซื้อกินข้างนอก ก๋วยเตี๋ยวราคาต่อชามก็ 50 บาทแล้วและที่บ้านมีตั้งกี่คนรวมกันกี่บาท และลูกค้าบางคนเขาไปเจอของถูกที่มันไม่ได้มีคุณภาพดี แต่เขาก็ต้องซื้อมากินๆ ไป ซึ่งพวกนี้มันก็เป็นผลสืบเนื่องมาจากค่าครองชีพของเขาทั้งนั้น”
สิ่งที่สะท้อนออกมาจากการพูดคุยกับพ่อค้า-แม่ค้าทั้ง 3 คนในวันนี้ คือความเป็นจริงที่พวกเขากำลังเผชิญอยู่ ต้นทุนที่หนักหนาขึ้นเรื่อยๆ และความพยายามที่ต้องดิ้นรนเพื่อให้ธุรกิจเล็กๆ ของพวกเขาได้ไปต่อ และอีกสิ่งที่คล้ายกันของทั้ง 3 คือการตั้งคำถามและฝากฝังถึงภาครัฐในการกำกับดูแลทั้งราคาข้าวของ และค่าครองชีพให้สอดคล้องกับสถานการณ์ในปัจจุบัน
ถือเป็นความท้าทายทางด้านเศรษฐกิจที่จะต้องจับตากันต่อไปว่า ‘รัฐบาล’ จะแก้ไขปัญหาเหล่านี้อย่างไร?
อ้างอิงจาก