ถ้าการที่เรารู้สึกรักหรือมีแรงดึงดูดกับใครก็ได้ เป็นรสนิยมทางเพศของมนุษย์ที่มีความหลากหลาย งั้นการที่เราไม่ได้รู้สึกรักหรือมีแรงดึงดูดกับใครเลย ก็เป็นรสนิยมทางเพศของมนุษย์อย่างหนึ่งเช่นเดียวกัน
ท่ามกลางการตื่นรู้เรื่องอัตลักษณ์ทางเพศและรสนิยมทางเพศที่มากขึ้นของคนในสังคม เราพอจะรู้กันดีแล้วว่า ความรัก ความชอบ หรือการมีแรงดึงดูดทางเพศกับใครสักคนนั้น ไม่ใช่สิ่งที่จำเป็นจะต้องเกิดขึ้นระหว่างคนสองเพศเสมอไปตามนอร์มของสังคมสมัยเก่า เพราะมนุษย์สามารถรู้สึกกับใครก็ได้ ไม่จำกัดว่าจะต้องเป็นเพศไหน และมีความลื่นไหลทางเพศมากกว่าที่เราจินตนาการได้
แต่หลายคนอาจจะยังไม่รู้ว่าการ ‘ไม่มี’ ความรู้สึกดังกล่าวกับใครเลย ก็ถือว่าเป็นรสนิยมทางเพศหนึ่งที่มีอยู่จริงเช่นกัน และนั่นไม่ได้หมายความว่า คนที่มีรสนิยมทางเพศแบบนี้จะเป็นพวกที่ผิดปกติหรือควรได้รับการบำบัด เพราะพวกเขาก็เป็นมนุษย์ทั่วๆ ไป ที่ได้ใคร่ครวญและตัดสินใจเกี่ยวกับรสนิยมทางเพศของตัวเองอย่างถี่ถ้วนดีแล้ว เฉกเช่นคนที่มีรสนิยมทางเพศแบบอื่นๆ
เพื่อทำความเข้าใจเกี่ยวกับรสนิยมทางเพศที่ว่านี้มากขึ้น The MATTER ได้ติดต่อขอสัมภาษณ์ ปาร์คเกอร์—ภารวี อากาศน่วม วัย 24 ปี ผู้ที่นิยามตัวเองว่าเป็นทั้ง ‘ผู้ที่ไม่มีแรงดึงดูดเชิงโรแมนติก’ (Aromantic) และ ‘ผู้ที่ไม่มีแรงดึงดูดทางเพศ’ (Asexual) ซึ่งเขาได้ก่อตั้งเพจ Aro/Ace-clusionist: Aromantic & Asexual Exist ขึ้นมา เพื่อบอกเล่าเรื่องราวและสร้างความเข้าใจที่ถูกต้องเกี่ยวกับชาว Aromantic และ Asexual แต่เราอยากรู้ลึกลงไปมากกว่านั้นผ่านตัวตนของปาร์คเกอร์ด้วย ซึ่งเขาก็ยินดีที่จะเล่าให้เราฟังเช่นกัน
เปิดเพจ Aro/Ace-clusionist: Aromantic & Asexual Exist มานานแค่ไหนแล้ว และวัตถุประสงค์ของการเปิดเพจนี้คืออะไร?
เพิ่งเปิดเพจเมื่อต้นปี ค.ศ.2020 ครับ ก็ประมาณเกือบ 2 ปีแล้ว เราเปิดมาเพราะเรารู้สึกว่าไม่ค่อยมีคนที่ทำเพจเกี่ยวกับเรื่องนี้ เราก็เห็นบางเพจที่เขาพยายามพูดถึง Aromantic หรือ Asexual แต่พอคนทำเพจไม่ได้เป็นเอง ข้อมูลก็อาจจะไม่ได้ตรงความเป็นจริงเท่าไหร่ เราเลยมาทำ เพราะเราเป็นเองก็เลยสามารถเข้าใจและอธิบายได้ดีกว่า
เพจหรือสื่อเกี่ยวกับ Aromantic หรือ Asexual ถือว่ามีมากหรือน้อยในประเทศไทย?
ก็พอมีบ้าง แต่พอเป็นการพูดถึง Aromantic หรือ Asexual ก็จะมีปัจจัยที่ว่าบางคนอาจไม่รู้ว่าตัวเองเป็นสองอย่างนี้ เพราะเขาไม่รู้ว่ามีอะไรแบบนี้บนโลกด้วย บางคนอาจจะแค่รับรู้ว่าตัวเองไม่ได้มีแรงดึงดูดอะไรกับใครเลย แต่เขาไม่รู้ว่าจริงๆ มันมีคำอธิบายให้กับเขาด้วย เลยไม่ได้มาเก็บข้อมูลในส่วนนี้ไป
ช่วยอธิบายอัตลักษณ์ของ Aromantic และ Asexual ให้ฟังคร่าวๆ ได้มั้ย?
Aromantic และ Asexual จะคล้ายๆ กัน แต่จะแตกต่างตรงที่ Aromantic ไม่มีแรงดึงดูดทางใจกับคนอื่น หรือจะมีได้น้อยมาก หรือไม่เป็นไปตามบรรทัดฐานที่สังคมวางไว้ ส่วน Asexual ก็คือไม่มีแรงดึงดูดทางเพศกับคนอื่น ก็เลยจะเป็นสองอัตลักษณ์ที่แตกต่างจากคนทั่วๆ ไป
แล้วเมื่อไหร่ที่เราชัดเจนกับตัวเองว่าเป็น Aromantic และ Asexual?
มันเป็นสิ่งที่อยู่ๆ ก็เกิดขึ้นมาเอง ตั้งแต่เกิดมาเราก็ไม่ได้รู้สึกอะไรกับใครเลย แต่เราก็ไม่เคยรู้ว่ามีสิ่งนี้บนโลกหรือมีคำอธิบายเรื่องนี้ เพิ่งมาเจอตอนที่เราได้รู้จักกับคำศัพท์เยอะขึ้น ถ้าช่วงที่นิยามตัวเองว่าเป็นสองอย่างนี้จริงๆ ก็คือช่วงมหาลัยครับ ช่วงอายุ 20 ปีที่เริ่มชัดเจนแล้วว่าเราไม่ได้รู้สึกอะไรกับใครจริงๆ ตอนมัธยมปลายเราคิดว่าเราอาจจะแค่เด็กหรือโตช้ากว่าคนอื่น (หัวเราะ) แต่อายุถึง 20 ปีแล้วเลยคิดว่าไม่น่าเป็นเพราะโตช้าแล้วล่ะ
โห มัธยมนี่เป็นช่วงที่เด็กหลายๆ คนกำลังเริ่มมีความรักกันเลยนะ ตอนนั้นรู้สึกว่าตัวเองแปลกหรือผิดปกติมั้ย?
ใช่ ตอนนั้นก็รู้สึกว่าเราแตกต่างจากคนอื่นมาก เพราะมัธยมต้นเพื่อนก็จะแอบชอบรุ่นพี่รุ่นน้องกัน ในขณะที่เราไม่ได้รู้สึกอะไรกับใครทั้งนั้น (หัวเราะ) แต่เราก็ไม่ได้มีปัญหากับการเป็น Aromantic หรือ Asexual ไม่ได้รู้สึกว่าตัวเองผิดปกติอะไร แค่รู้สึกว่าเราไม่เหมือนคนอื่นเฉยๆ
ได้ยินมาว่ารสนิยมทางเพศทั้งสองแบบมีหลายสเปกตรัมมาก ปาร์คเกอร์ได้มองว่าตัวเองอยู่ในสเปกตรัมไหนหรือเปล่า?
ทั้ง Aromantic และ Asexual มีสเปกตรัมของมันทั้งคู่ ซึ่งชื่อของมันก็จะเหมือนกัน แต่แค่ลงท้ายต่างกัน ถ้าเป็นฝั่งของ Aromantic ก็จะลงท้ายด้วยคำว่า -romantic ถ้าเป็นฝั่งของ Asexual ก็จะลงท้ายด้วยคำว่า -sexual ชื่อแรกก็จะคล้ายๆ กันหมด และความหมายก็จะใกล้ๆ กัน ต่างตรงที่ความโรแมนติกและความเกี่ยวข้องทางเพศเฉยๆ (ยกตัวอย่าง เช่น Lithromantic หมายถึง ผู้ที่มีแรงดึงดูดเชิงโรแมนกับคนอื่น แต่ไม่ต้องการให้คนอื่นมีแรงดึงดูดเชิงโรแมนติกตอบ ส่วน Lithsexual หมายถึง ผู้ที่มีแรงดึงดูดทางเพศกับคนอื่น แต่ไม่ต้องการให้คนอื่นมีแรงดึงดูดทางเพศตอบ)
ตอนแรกเราก็เคยสงสัยนะว่าเราจะอยู่ในสเปกตรัมไหน แต่สุดท้ายเรารู้สึกว่า เราไม่ได้มีความจำเป็นว่าจะต้องจับตัวเองลงกล่องขนาดนั้น เหมือนกับว่าเราก็แฮปปี้กับการอธิบายกว้างๆ ว่าเราเป็น Aromantic และ Asexual แค่นี้ ก็คิดว่าพอแล้ว
แบบนี้เราเชื่อใน love at first sight หรืออาการใจเต้นแรงเวลาเจอใครสักคนมั้ย หรืออย่างในหนังรักโรแมนติก หลายคนจะชอบเชื่อมโยงตัวเองกับตัวละคนในหนัง เราเป็นแบบนั้นหรือเปล่า?
(หัวเราะ) จริงๆ ก็เป็นความตลกอย่างหนึ่งของคนที่เป็น Asexual นะ ตราบใดที่เรื่องรักๆ ใคร่ๆ ไม่ได้เกี่ยวข้องกับตัวเราเอง เราก็จะแฮปปี้กับเขา อย่างถ้าเราอ่านนิยายรักแล้วตัวละครเขารักกัน กุ๊กกิ๊กกัน เราก็จะรู้สึกแฮปปี้กับตัวละคร เพราะมันไม่ได้เกี่ยวข้องอะไรกับเรา เพราะเราเป็นคนนอกที่มองเข้าไปเฉยๆ แล้วรู้สึกว่าเขาน่ารักดี
ถ้าเป็นเรื่องที่เกี่ยวข้องกับคนอื่น ถ้าเราเห็นคนอื่นรักกัน เราก็รู้สึกยินดีที่เขารักกัน แล้วก็มีความสุขกับเขาด้วย แต่ถ้าเป็นตัวเองคือ ไม่ อย่าเอาตัวเราเข้าไปเกี่ยว (หัวเราะ)
เป็นความตลกอย่างหนึ่งของคนที่เป็น Asexual นะ
ตราบใดที่เรื่องรักๆ ใคร่ๆ ไม่ได้เกี่ยวข้องกับตัวเราเอง
เราก็จะแฮปปี้กับเขา
สรุปก็คือเราไม่ได้รังเกียจการมีเซ็กซ์หรือการรักใครสักคน แต่เราแค่ไม่ได้รู้สึกเชื่อมโยงเฉยๆ แล้วเวลามีคนเข้ามาจีบหรือพยายามสานสัมพันธ์เชิงโรแมนติก เรารู้สึกยังไงบ้าง?
ส่วนใหญ่เราก็จะบอกเขาไปตรงๆ ว่าเราเป็นแบบนี้นะ เพราะเรารู้สึกว่าถ้าเขาเข้ามาคุย แล้วเขาคาดหวังความโรแมนติกหรือความสัมพันธ์อย่างอื่นจากเรา เขาก็จะผิดหวัง เราว่ามันเป็นเรื่องที่ต้องคุยกันแต่แรก นอกซะจากว่าเราเป็นเพื่อนกันแล้วจู่ๆ เขาชอบเราขึ้นมา อันนี้ก็จะเป็นอีกเรื่องหนึ่งที่วุ่นวายกว่าเดิม (หัวเราะ)
เราก็สงสัยนะว่าที่เราอธิบายไป คนที่ฟังหรือคนที่ชอบเราเขาเข้าใจและยอมรับได้หรือเปล่า เราคิดว่าเขาสามารถเข้าใจในสิ่งที่เราพูดได้ แต่เขาจะยอมรับว่ามันมีอยู่จริงหรือเปล่า ซึ่งถ้าเขาไม่เชื่อเรา อันนั้นก็ไม่ใช่ปัญหาของเราแล้ว ก็ถือว่าคุณเลือกที่จะไม่เชื่อเอง งั้นก็เป็นปัญหาของคุณว่าคุณจะทำยังไงต่อ (หัวเราะ)
การที่เรามีรสนิยมทางเพศแบบไม่ได้ชอบใครเลย ดูเหมือนจะได้กลับมาโฟกัสที่ตัวเราเองมากขึ้น อยากรู้ว่ารสนิยมทางเพศแบบนี้ส่งผลให้เรามีมุมมองต่อตัวเองเปลี่ยนไปมั้ย เช่น รู้สึกเหมือนมีตัวเองเป็นคู่ใจ หรือรู้สึกว่าเราให้คุณค่ากับตัวเองมากเป็นพิเศษ?
เราว่าแล้วแต่คนนะ แต่มันเปิดโอกาสให้เราได้สำรวจ เข้าใจ และคุยกับตัวเองมากขึ้นว่า ความรู้สึกที่เรารู้สึกอยู่มันแตกต่างยังไงบ้าง เรารู้สึกว่าการที่คนๆ หนึ่งสามารถที่จะรับรู้ว่าตัวเองเป็น Aromantic หรือ Asexual ได้ เขาผ่านการคิดมาเยอะ และคุยกับตัวเองเรื่องแรงดึดดูดมาเยอะมากๆ ว่าที่ฉันรู้สึกอยู่มันคืออะไรกันแน่ มันทำให้เราสะดวกใจ สบายใจที่จะขุดค้นความรู้สึกตัวเองมากขึ้น แต่ถ้าถามว่าทุกคนจะต้องมี self-love มากขึ้นมั้ย ก็ไม่จำเป็นเสมอไป เพราะเรื่องของ self-love ก็เป็นเรื่องที่ซับซ้อนเหมือนกันว่าอะไรคือ self-love กันแน่
การที่คนๆ หนึ่งสามารถที่จะรับรู้ว่า
ตัวเองเป็น Aromantic หรือ Asexual ได้
เขาผ่านการคิดมาเยอะ
และคุยกับตัวเองเรื่องแรงดึงดูดมาเยอะมากๆ
น่าสนใจมากที่บอกว่าได้คุยกับตัวเองเยอะขึ้น อย่างบางคนอาจจะไม่รู้เลยว่าตัวเองเป็น Asexual แล้วพอมีแฟนก็รู้สึกลำบากใจที่จะมีเซ็กซ์ด้วย เหมือนแค่ยอมๆ ทำๆ ไป แต่ถึงจุดหนึ่งก็เพิ่งได้รู้ว่าตัวเองไม่ได้ต้องการสิ่งนี้
ใช่ มีคนที่เป็นแบบนั้นเยอะมาก หลายคนก็ไม่เคยรู้ตัวมาก่อน หลายคนก็อาจจะคิดว่ามีเซ็กซ์ได้ แต่ไม่มีจะดีกว่า ซึ่งก็เป็นส่วนหนึ่งของการเป็น Asexual เหมือนกัน เวลาที่มีความสัมพันธ์กับคนอื่นก็เลยค่อนข้างวุ่นวาย เพราะเราต้องนั่งคุยกับคู่ของเราเยอะเหมือนกัน
แต่เราคิดว่าคนที่เป็น Aromantic และ Asexual เขามีขอบเขต (boundary) ของตัวเองเยอะมาก ซึ่งเป็นผลดีต่อการมีชีวิตคู่เหมือนกัน เพราะมันเปิดโอกาสให้ทั้งคู่ได้คุยกันเยอะขึ้น คู่ทั่วไปอาจจะไม่ได้คุยกันลึกซึ้งถึงขนาดที่ว่าสามารถทำอะไรได้บ้าง จับตัวได้แค่ไหน ใช้คำไหนในที่สาธารณะได้บ้าง สามารถแตะต้องตรงไหนได้บ้าง คนที่มีรสนิยมทางเพศแบบนี้เลยจะคุยเรื่องนี้กันเยอะกว่า และอาจจะทำให้ชีวิตคู่เขายืนยาวกว่าด้วยซ้ำ เพราะเขาคุยกันเยอะมาก
คนที่เป็น Aromantic และ Asexual
เขามีขอบเขต (boundary) ของตัวเองเยอะมาก
ซึ่งเป็นผลดีต่อการมีชีวิตคู่เหมือนกัน
เพราะมันเปิดโอกาสให้ทั้งคู่ได้คุยกันเยอะขึ้น
การเปิดเผยตัวตน (Coming out) ว่ามีรสนิยมทางเพศแบบนี้เป็นเรื่องที่ยากหรือเปล่า มีอุปสรรคหรือเกิดความขัดแย้งกับคนรอบข้างบ้างมั้ย?
เราคิดว่าขึ้นอยู่กับสังคมที่เขาอยู่ว่าจะเป็นยังไง ถ้าสังคมในเมืองนอกที่ศาสนาของเขาต้องการให้มีลูกกันเยอะๆ ก็ยากที่จะ come out ว่าเป็น Aromantic หรือ Asexual หรือสังคมไทยที่ถ้ายึดติดกับการมีทายาทสืบทอดตระกูลก็เป็นเรื่องยากเหมือนกัน หรือเราเห็นหลายๆ คนที่ไม่ได้มีปัญหาอะไรแต่เลือกที่จะไม่ come out ก็มีนะ เพราะเขารู้สึกว่าเป็นเรื่องของตัวเขาเอง เขาไม่จำเป็นต้องป่าวประกาศบอกใคร ถ้าถามก็จะบอก ถ้าอยู่เฉยๆ ก็ไม่พูด
แต่สำหรับตัวเรารู้สึกว่าเป็นความแตกต่างอย่างหนึ่ง อาจจะเป็นเพราะเรา come out กับที่บ้านเรื่องที่เป็น transgender อยู่แล้ว ซึ่งก็เป็นเรื่องที่ใหญ่กว่า เพราะเกี่ยวข้องกับการใช้ฮอร์โมนด้วย พอเราบอกว่าเป็น Aromantic และ Asexual ด้วย ที่บ้านก็เลยเฉยๆ กลายเป็นเรื่องเล็กๆ สำหรับบ้านเรา
เล่าประสบการณ์ที่เจอความเข้าใจแบบผิดๆ เกี่ยวกับ Aromantic และ Asexual ให้ฟังได้หรือเปล่า?
ก็จะมีคนที่คิดว่าคนที่เป็น Asexual จะไม่มีเซ็กซ์กับใครเลย หรือเป็นคนที่ไม่มีอารมณ์ทางเพศ ซึ่งก็เป็นความคิดที่แปลกดี หรือบางคนเข้าใจว่าคนที่เป็นทั้ง Aromantic และ Asexual จะต้องอยู่เป็นโสด อยู่อย่างโดดเดี่ยวไปตลอด ต้องเหงาแน่ๆ เขาก็จะมีความสงสารเรา ทั้งที่มันก็ไม่ได้จำเป็นว่าจะต้องเหงาหรือเปล่านะ คนเราก็สามารถมีเพื่อนได้ (หัวเราะ)
เคสที่คนเจอเยอะก็คือเวลาบอกคนอื่นว่าไม่มีแรงดึงดูดทางเพศกับใคร ทุกคนก็จะเข้าใจไปว่า อ๋อ เธอไม่มีอารมณ์ทางเพศหรอ เธอมีปัญหากับการมีเซ็กซ์หรอ แต่จริงๆ คนที่เป็น Asexual หลายคนสามารถมีเซ็กซ์ได้ Asexual บางคนก็เป็น sex worker ด้วยซ้ำ เขาก็สามารถทำได้ปกติดี ไม่มีปัญหาอะไร แต่แค่ไม่มีแรงดึงดูดเท่านั้น ซึ่งหลายคนเขาไม่สามารถแยกได้ว่าแรงดึงดูดทางเพศกับอารมณ์ทางเพศแตกต่างกันยังไง ถ้าเราเข้าใจได้ว่าแรงดึงดูดทางเพศกับอารมณ์ทางเพศแตกต่างกัน เราจะเข้าใจได้ว่าทั้งสองอย่างนี้มีความสัมพันธ์ที่เกี่ยวข้องกันได้ โดยไม่ต้องหักล้างกัน (ยกตัวอย่างเช่น บางคนมีเซ็กซ์กับคู่นอนได้ เพราะมีอารมณ์ทางเพศ แต่ไม่ได้รู้สึกถึงแรงดึงดูด)
หรืออย่างการเป็น Aromantic ถ้าเราเข้าใจได้ว่าแรงดึงดูดทางใจหรือความรู้สึกเชิงโรแมนติก ต่างจากความรักในรูปแบบอื่นๆ ด้วย เราก็จะเข้าใจว่า Aromantic ก็สามารถรักอย่างอื่นได้ เพียงแต่ไม่ใช่ความโรแมนติกแบบคนรักเท่านั้นเอง
คนที่เป็น Asexual หลายคนสามารถมีเซ็กซ์ได้
ไม่มีปัญหาอะไร แต่แค่ไม่มีแรงดึงดูดเท่านั้น
อยากให้สังคมเข้าใจเกี่ยวกับรสนิยมทางเพศนี้มากขึ้นว่ายังไง?
คนที่เป็น Aromantic หรือ Asexual ก็เป็นคนธรรมดาทั่วไป เพราะทั้งสองอัตลักษณ์ก็เป็นอัตลักษณ์ที่หลากหลาย เหมือนเกย์หรือไบเซ็กชวล ก็เป็นรสนิยมทางเพศแบบหนึ่งที่เราเกิดมาแล้วก็เป็น ไม่ได้มีอะไรหล่อหลอมให้เป็น และไม่จำเป็นต้องไปรักษา เพราะมันไม่มีทางรักษาได้
ถ้าวันหนึ่งอัตลักษณ์ทางเพศหรือรสนิยมทางเพศของเขาจะเปลี่ยนไป มันก็เป็นเรื่องที่เกิดขึ้นได้ แต่ไม่ได้แปลว่าคนอื่นจะต้องเข้าไปรักษาตัวเขา มันไม่จำเป็นต้องใช้หมอหรือการรักษาใดๆ ทั้งสิ้น ถ้าจะเปลี่ยนเขาจะเปลี่ยนได้เอง ไม่ใช่เพราะปัจจัยภายนอกมาบังคับให้เขาเปลี่ยน
ก็ไม่เคยเข้าใจว่าทำไมสังคมถึงมีปัญหา เพราะคนที่มีรสนิยมทางเพศแบบนี้เขาก็อยู่กับตัวเอง ไม่ได้ไปอะไรกับใคร ไม่ได้ไปปฏิสัมพันธ์อะไรกับใคร ทำไมคนอื่นถึงจะต้องมีปัญหาอะไรวุ่นวาย (หัวเราะ)
สุดท้าย ช่วยฝากอะไรถึงคนที่ยังค้นหาอัตลักษณ์ทางเพศของตัวเองอยู่ หรือกำลังมีช่วงเวลาที่ยากลำบากในการแสดงจุดยืนด้านอัตลักษณ์ทางเพศหรือรสนิยมทางเพศของตัวเอง
คนที่กำลังค้นหาตัวเองอยู่ ใช้เวลากับมันไปเรื่อยๆ เพราะเรื่องพวกนี้เป็นเรื่องที่ต้องใช้เวลาจริงๆ ไม่สามารถให้คนอื่นมาช่วยตัดสินได้ว่าเราเป็นอะไร ไม่สามารถเอาปัจจัยภายนอกมาตัดสินได้ มันขึ้นอยู่กับตัวเราอย่างเดียวว่า เราพอใจจะใช้คำไหนในการนิยามตัวเอง เราพอใจจะพาตัวเองไปอยู่ใน community แบบไหน อยู่ในอัตลักษณ์ไหน บางทีการหาอัตลักษณ์ให้ตัวเองอาจจะไม่ต้องตรงกับสิ่งที่ตัวเองเป็น 100% ก็ได้ มันอาจจะตรงสัก 80-90% ก็ได้ ไม่มีปัญหาอะไรเลย ไม่มีใครมานั่งวัดว่าถ้าเธอจะเป็นแบบนี้ เธอจะต้องเป็นตามกฎนี้นะ มันไม่ได้มีคนมานั่งตั้งกฎเกณฑ์อะไรมากมายขนาดนั้น
เอาความสบายใจของตัวเองเป็นที่ตั้งดีกว่าที่จะทำให้คนภายนอกสบายใจ เพราะความสบายใจของคนรอบข้างไม่ได้สำคัญเท่าความสบายใจของตัวเราเอง ถ้าพอใจจะใช้อัตลักษณ์ไหนนิยามตัวเองก็ใช้ต่อไป ไม่ต้องพยายามทำให้โลกภายนอกยอมรับหรือแฮปปี้กับสิ่งที่เราเป็นทุกอย่างก็ได้