ในยุคสมัยที่เทคโนโลยีเอื้ออำนวยความสะดวกสบายให้แก่มนุษย์ ทั้งการสื่อสาร การเดินทาง การบริโภค แทบจะตอบสนองความต้องการและไลฟ์สไตล์ของเราได้ทั้งหมด สุขภาพเองก็เช่นกัน การค้นหาข้อมูลหรือ information search ก็ทำให้เราได้ทราบถึงอาการที่กำลังเผชิญ โรคที่มีแนวโน้มจะเป็น และการรักษาที่ทำได้ แม้จะไม่ได้ออกไปหาหมอที่โรงพยาบาล
ค่าใช้จ่ายสูง รอคิวนาน กลัวโดนหมอดุ เหล่านี้คือทัศนคติที่ทำให้ผู้ป่วยหลายคนหลีกเลี่ยงการเข้ารักษาที่โรงพยาบาล แล้วเลือกที่จะหาข้อมูลเกี่ยวกับโรคและอาการด้วยตัวเอง เนื่องมาจากอินเทอร์เน็ตอุดมไปด้วยองค์ความรู้และผู้มีประสบการณ์เยอะแยะมากมาย ไม่ต้องเดินทางไกลไปหาหมอเพื่อรอคิวนานๆ แถมยังต้องเสียค่ารักษาที่สูงลิ่วอีก
แต่ข้อมูลที่มีอยู่บนอินเทอร์เน็ตนั้นไม่ใช่ข้อมูลที่เฉพาะเจาะจง เป็นเพียงแค่การอธิบายทั่วๆ ไป ทำให้บางครั้งการเสิร์ชไปเสิร์ชมา ก็เปลี่ยนอาการเจ็บคอให้กลายเป็นโรคมะเร็งปอดซะงั้น สร้างความตื่นตระหนกไปกันใหญ่ และนำไปสู่การรักษาโรคด้วยวิธีที่ผิดๆ
The MATTER จึงขอชวนมาพูดคุยกับ พญ.กอบกาญจน์ ชุณหสวัสดิกุล ประธานเจ้าหน้าที่ฝ่ายปฏิบัติการทางการแพทย์จากศูนย์ตรวจสุขภาพ Jin Wellness Clinic เกี่ยวกับพฤติกรรมผู้ป่วยยุคใหม่ที่ส่งผลต่อมายาคติของโรค และวิธีรักษาทางการแพทย์ในปัจจุบัน
เทคโนโลยีเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมของผู้ป่วยในยุคนี้ยังไงบ้าง
หมอทำงานเกี่ยวกับ integrated medicine งานจะไปในเชิงของการป้องกันการเจ็บป่วย (prevention) และงานของการรักษา (treatment) หมอเลยมีทั้งคนก่อนป่วยและคนป่วย เพราะฉะนั้นเมื่อเกิดปัญหา หรือเกิดอะไรขึ้นกับร่างกายเรา แล้วรู้สึกป่วยมากพอที่จะต้องเสิร์ช สิ่งแรกที่เสิร์ชก็คือฉันเป็นอะไรกันแน่ มันเกี่ยวข้องกับอะไร มันรุนแรงถึงชีวิตมั้ย ไปจนถึงฉันจะไปหมอที่ไหนดี ฉันไม่รู้จะไปหาหมอที่ไหน ก็จะเสิร์ชว่าโรงพยาบาลไหนรักษาโรคหรืออาการที่ฉันเป็นบ้าง อันนี้คือการทำ information search ของคนไข้ แต่ปัจจุบันมันลงลึกไปอีก จนกระทั่งว่าหมอกับคนไข้บางทีต้องมารีวิวเปเปอร์ร่วมกัน หรือมาพูดคุยกัน เพราะการรักษาคนๆ หนึ่ง สมมติเป็นโรคง่ายๆ เขาแทบไม่ได้ต้องการเราเลย เขาแค่ต้องการความช่วยเหลือ เขาแค่ถามว่าหมอมียาตัวนี้มั้ย แทบจะสั่งมาจากบ้านละ
แต่ถ้าโรคนั้นเป็นโรคที่ยาก เขาต้องการหาสิ่งที่เป็นประสบการณ์ของแพทย์ท่านนั้นๆ เขาจะมาถามว่าคุณหมอคิดเห็นยังไง บางทีสิ่งที่เขาคิดมาจากบ้านหรือสิ่งที่หมอมองมันอาจจะไม่ตรงกันก็ได้ งั้นเราลองมาคุยกันว่าเส้นทางต่อไปที่จะนำพาเราไปรักษาโรคๆ นึงเป็นยังไง เช่น โรคไมเกรน คนไข้เดินมาหาหมอบอกว่า เป็นไมเกรนซ้ำๆ ซากๆ มา 6 ปีแล้ว ทีนี้หมอก็ต้องมารีวิวประวัติ มาซักถามเพื่อหาสาเหตุ อันนี้เป็นการที่ถ้าเราไปเสิร์ชกูเกิ้ลมันจะไม่เจอ มันคือการพูดคุยที่ค่อยๆ ทะลุทะลวงไปที่ตัวคนๆ นั้นเอง หรือ personalized solution treatment นั่นคือสิ่งที่หมอทำ
ต่อให้มีกูเกิ้ลมา มันก็เป็นได้แค่ข้อมูลทั่วๆไป
และข้อมูลนั้นอาจจะไม่ได้ตรงกับคุณก็ได้
คิดไปเองว่าฉันเป็นแบบนี้ คิดไปเองว่าฉันเป็นซึมเศร้า คิดไปเองว่าฉันเป็นมะเร็งแน่ๆ ความทุกข์ก้อนใหญ่อยู่ที่คุณ ก้อนมโนต่างๆ ก็อยู่ที่คุณ หรือวิตามินต่างๆ ที่ไปเสิร์ชแล้วไปซื้อมากินเอง ปรากฏว่าซื้อมาสิบอย่างที่คิดว่าตรงกับตัวเอง หมดไปพันกว่าบาท แต่สรุปไม่หาย เทียบมาหาหมอทีเดียว ได้วิตามินที่ตรงกับตัวเอง แค่ไม่กี่บาทแต่หายถาวร แล้วที่ซื้อมาทั้งหมดล่ะคืออะไร มันก็คือการลงทุนกับองค์ความรู้ของตัวเอง แล้วก็เลือกแบบนั้น
ดังนั้น กลับมาที่คำถาม พฤติกรรมของผู้ป่วยปัจจุบันแตกต่างไปยังไง ข้อดีก็คือพวกเขาไม่จำเป็นต้องเดินมารู้จักเราแล้ว เขาไปเสิร์ชประวัติของหมอจากที่ไหนก็ได้ เสิร์ชหาข้อมูลว่าหมอคนนี้เป็นยังไง หรือประวัติคนไข้ที่เคยรีวิวไว้เป็นยังไง ทำให้เขาตัดสินใจมาาจากบ้านแล้วเรียบร้อย หรือเสิร์ชเปเปอร์หรืองานวิจัยที่หมอคนนั้นทำ ก็ช่วยให้เขามั่นใจว่าหมอคนนี้มีโซลูชั่นในการรักษาโรคให้กับเราแน่นอน ก็คือการที่พวกเขาได้หาโซลูชั่นที่ตรงกัน หาข้อมูลเกี่ยวกับค่าใช้จ่าย ข้อมูลเกี่ยวกับการเดินทาง ข้อมูลที่ช่วยประเมินสภาพแวดล้อมทั้งหมด แล้วก็เป็นการลดอัตราการพูดคุยที่ยืดยาวกับหมอด้วย
จากพฤติกรรมนี้ทำให้เกิดปัญหาอะไรตามมา
ก็จะมีเรื่องของการซื้อยากินเอง คิดว่าตัวเองไม่เป็นอะไร บางทีคิดว่าเป็นอะไรมากเกินไป หรือบางทีถามคนที่มีองค์ความรู้ด้านเดี่ยว เช่นถามคนไข้ที่เป็นโรคเดียวกัน เขาก็จะบอกว่าเราเป็นอย่างงั้นอย่างงี้แน่นอน อย่าไปเชื่อหมอนะ เหมือนเป็นการหาพวก แต่หมอมีไว้เพื่อเป็นกัลยาณมิตรทางสุขภาพ มาถามเหอะ รักษาไม่รักษาหมอไม่เคยบังคับเลยนะ หมอจะบอกเฉยๆ ว่าหมอนั่งอยู่ตรงนี้ เมื่อไหร่ที่คุณพร้อมหรือต้องการการรักษาก็เข้ามา ไม่เคยมีความโกรธ มีแต่ความเมตตาล้วนๆ
เห็นหลายครั้งที่คนไข้หาข้อมูลมาเองแล้วก็มีการเถียงกับหมอหรือไม่เชื่อฟังหมอเกิดขึ้น
สำหรับหมอ หมอฟังนะ เพราะกว่าเขาจะแบกตัวเอง ขับรถมาตั้งไกลเพื่อจะมานั่งต้องใช้ความพยายามมาก ดังนั้น เขาต้องการความช่วยเหลือจากหมออยู่แล้วล่ะ คนเราถ้าเขามีความคิดของเขา แล้วเขาเชื่อมั่นในตัวเอง เขาคงไม่มาหาเรา เพราะฉะนั้นเราต้องเข้าใจมุมมองของเขาให้มากขึ้น พอหมอคุยไปคุยมา เขามีอินไซต์ ซึ่งอินไซต์ของเขาก็คือสิ่งที่เขามีความเชื่ออยู่ หมอมีหน้าที่แค่แนะนำเท่านั้น แล้วหมอก็จะถามเขาว่าแล้วคุณคิดว่าตรงนี้เมคเซนส์กับคุณมั้ย เช่น คนไข้เป็น autoimmune ปวดหลังเรื้อรัง กระดูกสันหลังอักเสบเรื้อรัง ซึ่งตัวกระตุ้นคือแม่เขานะ เพราะทุกครั้งที่ทะเลาะกับแม่ pain score ของเขาจะขึ้นเลย หมอแค่บอกให้เขาไปสังเกตตัวเองแล้วคิด แต่ยังไม่ต้องเชื่อหมอ ลองไปทำ pain score เลย ถ้าไม่เชื่อหมอไม่เป็นไร ไม่จำเป็น แต่ความจริงมันอยู่ตรงหน้า ถ้ามันง่ายมันคงหายไปแล้ว ถ้ามันไม่หาย แสดงว่าคุณต้องการแนวคิด หรือวิธีการแก้อื่นๆ
บางครั้งที่คนไข้หาย หมอบอกว่าหมอไม่ได้เก่งนะ
แต่มันคืออีกมุมมองนึงต่างหาก
อีกมุมนึงที่เรามาคุยหรือมาดูแลร่วมกัน ทั้งหมดคนไข้ไม่เสียโอกาส ถ้าเราปิดกั้นตัวเองด้วยทิฐิมานะ ฉันเชื่อว่าฉันเป็นแบบนี้ นั่นคือ fixed idea แต่มนุษย์เป็นสิ่งมีชีวิต วันดีคืนดีจะเกิดอะไรขึ้นก็ได้ ดังนั้นความมีทิฐิมานะของตัวเอง คนไข้ก็จะเสียโอกาสในการมองหาการรักษาที่ถูกวิธี บางครั้งเป็นซึมเศร้าแค่ออกไปตากแดดหรือออกกำลังกายก็หายแล้ว ดีกว่าการกินยาแล้วซึมกว่าเดิม
ดังนั้นการเป็นแพทย์ก็คือการให้คนไข้กล้าที่ทดลองสิ่งต่างๆ เพื่อดูว่าวิธีไหนเข้ากับคุณ อันนี้ในเชิงการป้องกันนะ เช่น คนไข้บางคนติดแอลกอฮอล์ เขาบอกว่าทุกครั้งที่ดื่มไวน์จะอาการดีขึ้น เราก็มองว่านั่นอาจจะเป็นยาของเขาก็ได้ เราจะต้องเปิดโอกาส สมมติคนไข้คนนึงเป็นมะเร็งตับ เขาต้องการหาหมอซักคนที่บอกว่าเขาสามารถกินเหล้าต่อไปได้ ไม่งั้นเขาไม่รักษา เพราะเขาเป็นศิลปิน ถ้าไม่กรึ่มงานเขาไม่เดิน ไปหาหมอกี่คนเขาก็บอกว่าให้หยุด หมอเลยบอกว่าไหนๆ ก็หยุดไม่ได้แล้ว งั้นก็ต้องหาวิธีที่ดีที่สุดในจุดที่เป็นอยู่ หมอก็ต้องให้วิตามินต่างๆ ช่วยให้เขาเฟรช สุดท้ายคนไข้ดื่มน้อยลงด้วยตัวของเขาเอง เพราะเขามีแรงในการทำงาน แต่ในช่วงที่คนไข้ดื่มอยู่ หมอก็ต้องจำกัดเวลา จำกัดโดส เพื่อลดความเสื่อมสูงสุด มันไม่ใช่แค่วิตามิน แต่เป็นการปรับทัศนคติ การปรับพฤติกรรมหรือ lifestyle modification ทุกอย่างในการที่เราจะทำให้คนๆ นึงมีสุขภาพที่ดีขึ้น
เคยเจอผู้ป่วยที่มาพร้อมกับความเชื่อผิดๆ บนโลกอินเทอร์เน็ตบ้างมั้ย
ก็มี เช่น น้ำมะนาวโซดา คนไข้ก็ไปกินเพื่อรักษามะเร็ง สุดท้ายก็มาด้วยอาการกรดไหลย้อน (หัวเราะ) เราก็บอกว่า เห็นมั้ยว่าเราก็ได้ลองกันไปแล้ว มันเป็นแบบนี้ แล้วเราจะยังกินต่อมั้ย? เขาก็รู้ด้วยตัวเขาเอง หรือมีช่วงนึง น้ำผึ้งโยเกิร์ตมะนาว คนไข้มาด้วยเรื่องผื่นขึ้น เพราะคนไข้เป็น lactose intolerance หรือแพ้โปรตีนในนมวัว หรืออดล้างพิษด้วยแตงโม เราถามว่าพี่เลือกแตงโมปลอดสารปะหรือว่าแตงโมตามตลาด หมอเองก็อดล้างพิษมา 15 ปีแล้วนะ หมอเลยแนะนำมะละกอหรือฝรั่งออร์แกนิคไป หรือคั้นน้ำส้มกินอย่างเดียวทั้งวัน แทนที่จะดีแต่สุดท้ายเป็นเบาหวาน น้ำตาลขึ้น มันก็คือการที่ไปเชื่อแต่ขาดองค์ความรู้อย่างใดอย่างหนึ่ง หรือเทคนิคกินอาหารฤทธิ์เย็นที่ช่วยรักษาได้ทุกโรค ก็ไปกินตามกันเป็นแคมป์ คนไข้บางคนก็เลยความดันต่ำ คนไข้บางคนมีอาการหนาวง่ายตามมา เพราะไม่ได้ผ่านการสกรีนจากบุคลาการทางการแพทย์ หมอเองยังไม่เคยบอกเลยนะว่าสูตรไหนมันดีสำหรับทุกคน
สูตรๆ นึงมันจะดีกับบางคนและบางเวลา
มันไม่ได้ผิด แต่มันไม่ได้ 100%
มูเตลูบอกว่าดีก็ตามกันไป
หมออยากให้ทุกคนมีสติก่อนว่ากำลังเป็นอะไร เราต้องรู้ว่าเราเป็นคนยังไง กำลังทำอะไรอยู่ เพราะฉะนั้นสิ่งที่หมอทำคือการบรรยาย การให้ข้อมูลกับคนไข้ เพื่อให้ทุกคนรีวิวตัวเองให้เป็นก่อน ทีนี้ก็จะรู้ว่าเส้นทางตัวเองควรจะไปทางไหน บางคนเหมาะกับการกินอาหารแบบนึง เขาก็จะกินต่อไปเรื่อยๆ บางคนอาจจะต้องใช้อาหารอีกแบบนึง เพราะเขามีรสนิยมอีกแบบนึง หมอก็ต้องแนะนำเขาอีกแบบนึง องค์ความรู้ของแพทย์มีไว้เพื่อปรับให้เหมาะกับคนไข้แต่ละคน
แบบนี้หมอก็ไม่ได้มองว่าความเชื่อเป็นปัญหากับทางการแพทย์ใช่มั้ย
หมอต้องมาช่วยแก้ แต่หมอก็ไม่ได้มีอารมณ์ร่วมกับมันนะ คนไข้เป็นคนประสบเองเพราะเขาเป็นเจ้าของร่างกาย คนที่เสียประโยชน์สูงสุดคือตัวเขาเอง หมอเป็นแค่คนที่อยู่ตรงนี้เพื่อให้เขามาปรึกษา เหมือน COVID-19 อะ คนไข้ไปประเทศเสี่ยงมาแต่ไม่กล้าบอก เพราะอะไรล่ะ เพราะเขากลัวตัวเองผิด ความกลัวทำให้คนโกหก มันคือการศึกษาไทย อิทธิพลไทย การเลี้ยงดูแบบไทย เป็นคัลเจอร์ ต่อไปถ้ามีลูกมีหลานขอแนะนำว่าไปขู่เด็ก เพราะพวกเขาจะไม่รับอะไรเลยถ้าเขากลัว เหมือนกัน หมออยู่ตรงนี้เพื่อช่วย ดังนั้นคุณต้องบอกทั้งหมด การบอกทั้งหมดทำให้หมอช่วยคุณได้เยอะขึ้นในเวลาอันสั้น ซึ่งการบอกทั้งหมดเป็นยังไง หมอได้พัฒนาแอพพลิเคชั่นหนึ่งขึ้น เป็น personalized wellness analysis ที่คุณสามารถบอกข้อมูลและพฤติกรรมทั้งหมดลงไป แล้วมันก็จะบอกว่าคุณกำลังเจอความเสี่ยงอะไร แล้วค่อยไป check up ตามความเสี่ยงนั้น ไหนๆ จะเสิร์ชข้อมูลเกี่ยวกับโรคแล้วก็เสิร์ชกับข้อมูลที่การแพทย์ยอมรับหน่อย
เพราะฉะนั้น ข้อมูลทางอินเทอร์เน็ตส่วนมากเป็นข้อมูลที่เรารู้สึกว่าไปฟันธงทำไม คนรู้จริงเขาไม่ฟันธงนะ บางเรื่องที่เขาบอกว่าต้องกินแบบนี้นะ คนรู้จริงเขาจะรู้ว่าถ้าคนไข้เป็น G6PD เนี่ย เกิดปัญหาแน่เลย เป็นโรคจางเรื้อรังแน่เลย หลายคนที่เขียนฟันธงส่วนมากความรู้เขาไม่ได้ถึงยอดดอยจริงๆ พอความรู้ถึงยอดดอยและมีประสบการณ์มากพอ มันจะมีความถ่อมตัวลงมา แต่พอองค์ความรู้จะถึงยอดดอยหรือรู้พอประมาณนึง มันจะมีความภาคภูมิใจ แล้วก็อยากกระจายไปทั่ว ส่วนใหญ่ความรู้ในเน็ตที่เขาฟันธงกันมักจะมาจากขั้นนี้
ส่วนใหญ่ที่แชร์ๆ กันจะเป็นความเชื่อชาวบ้าน ผู้คนมักจะมองว่าเป็นวิธีที่ถูกต้อง เราจะจัดการยังไงกับความเชื่อเหล่านี้
มันคือโฮมแคร์บวกกับความศรัทธา เราว่าไม่ได้ แล้วเราต้องมารีวิวตัวเองด้วยว่าเรารู้เยอะกว่าเขาหรือเปล่า หมอเป็นแพทย์แผนไทยด้วยนะ ก่อนที่หมอจะบอกว่ากัญชารักษาไม่ได้ผล หมอจะต้องไปเรียนก่อน หมอจะไม่รีบข้ามไปบทสรุปแล้วบอกเขาว่าคนๆ นั้นไม่ได้เรื่อง ไม่ใช่นะ กัญชาได้ผลจริง แต่กับบางเรื่อง ใช้ได้กับบาง medical practice มีคนไข้มาถามเรื่องการใช้น้ำมันกัญชาน้อยมาก แล้วกัญชาก็เป็นปัญหาโลกแตก แต่หมอก็ไม่ได้โปรมาก และในขณะเดียวกันก็ไม่ได้บอกว่าไม่ใช้ เพราะมันมีกัญชาที่เป็นประโยชน์อยู่จริงๆ กัญชาจะมีแบบ cbd กับ thc เราก็ต้องไปถามเขาว่าเขาใช้สายพันธุ์อะไร ถ้าสายพันธุ์แก้ปวดคือ cbd นะ เมืองไทยจะมีการ purify สายพันธุ์ cbd น้อยมาก ส่วนมากเป็น thc ซึ่งมันจะเมา ที่สำคัญผิดกฎหมายด้วย ก็บอกเขาด้วยองค์ความรู้แบบนี้ไปสิ ช่วยเหลือเขาด้วยความเมตตา เพราะสิ่งที่มนุษย์ควรจะทำคือช่วยเหลือกัน
เราไปห้ามศรัทธาเขาไม่ได้
แต่เราเป็นผู้มีประสบการณ์ที่นำความรู้ไปช่วยเหลือเขาได้
แม้เทคโนโลยีจะก้าวหน้าขนาดไหน แต่สุดท้ายผู้ป่วยก็ต้องพึ่งพาหมออยู่ดีหรือเปล่า
แน่นอนค่ะ เราต้องมีทั้ง soft skill และ hard skill คุณมีโทรศัพท์แต่ในขณะเดียวกันอีกมือนึงก็ต้องจับช้อนกินข้าว ถูกมั้ย คุณไม่สามารถใช้โทรศัพท์ฟรีซข้าวคุณได้ ดังนั้นมนุษย์ต้องอย่าหลงลืม senses of life กิน นอน ตื่น ปัสสาวะ การพบปะผู้คน เคยมีงานวิจัยเหมือนกันว่าการขังเดี่ยวทำให้คนตายได้ในเวลาอันสั้น คุณต้องมีโซเชียล แต่โซเชียลนี้ต้องมาพร้อมกับสกิลด้วย ทีนี้ก็ไปเรื่องของ 12 senses คุณต้องเซนส์ให้ครบ การที่จะอยู่ในปี 2030 หรือ 2040 คุณต้องเซนส์ให้ครบเพื่อรีวิวตัวเอง เพราะเทคโนโลยีพวกนี้เข้ามาทำให้เซนส์ของคุณหายไป ความกลัวจากโรคต่างๆ ทำให้มนุษย์ทำร้ายกันเอง ตอนนี้มนุษย์เริ่มแบ่งแยกกันแล้ว ต่อไปมนุษย์ก็ตาย ต่อไปมนุษย์ก็จะ home office กันมากขึ้น ถูกจำกัดด้วยวัตถุนิยม แล้วสุดท้ายเราจะติดต่อกับใครล่ะ ไม่มี มนุษย์มาเจอกันเพื่อแชร์พลังชีวิตกับคนที่มีพลังชีวิตที่ดี ทำไมเราไปอยู่ใกล้คนที่มีพลังชีวิตแล้วรู้สึกปลื้มปริ่ม จากเดิมที่เกือบจะฆ่าตัวตาย พอโดนลูบหัวหน่อยเดียวก็หายแล้ว คุณแชร์พลังชีวิตที่เฮลตี้
ดังนั้น สุดท้ายมนุษย์ก็ต้องพึ่งพากันอยู่ดี โลกนี้มันโหดมากนะ มารับพลังบวกซึ่งกันและกันแล้วไปต่อ เพราะ Siri ไม่สามารถมาให้คำปรึกษาคุณได้ขนาดนั้น