‘เพชรผมโคตรวิบวับวิบวับ ผู้หญิงอยากจะเข้ามาจับ’
เมื่อเห็นข้อความนี้ อาจจะมีคนฮัมเพลงเป็นทำนองตามเพลงฮิปฮอปที่มียอดวิวทะลุ 200 ล้านวิวอย่างเพลงวิบวับ (Wip Wup) แต่ก็อาจจะมีบางคนกำลังทำหน้าไม่พอใจเมื่อได้ยินหรือเห็นเพลงนี้ เพราะว่าเพลงนี้เป็นหนึ่งในเพลงที่สะท้อนมุมมองปิตาธิปไตยของคนบางกลุ่มที่ในสังคมไทย ไม่ว่าจะเป็นการตัดสินเพศหญิงที่สนใจผู้ชาเพราะเงิน จนถึงขั้นยอมไปเป็นเมียน้อยหรือที่ในเพลงใช้คำว่า ‘กิ๊ก’ เพียงเพราะผู้ชายคนนั้นรวย และยังตอกย้ำถึงการสนับสนุนความเจ้าชู้ของผู้ชายอีกด้วย ซึ่งวาทกรรมเหล่านี้ถูกผลิตซ้ำๆ ในวงการฮิปฮอปของไทย
ที่มาของฮิปฮอป : จากทุนนิยม และปิตาธิปไตย
เมื่อย้อนกลับไปดูรากเหง้าของเพลงฮิปฮอป ก็จะเห็นว่าเป็นดนตรีที่ถือกำเนิดจากกลุ่มคนแอฟริกัน-อเมริกันซึ่งเข้ามาอยู่ในประเทศอเมริกาในฐานะ ‘ทาส’ ซึ่งถูกกดขี่ และถูกผลักให้กลายเป็นคนชายขอบของสังคมที่ไม่มีสิทธิ์มีเสียงในการดำรงชีวิต ดนตรีจึงเป็นหนึ่งในเครื่องเยียวยาจิตใจพวกเขาได้เป็นอย่างดี เพลงฮิปฮอปในช่วงแรกจึงสร้างขึ้นมาจากจุดประสงค์เพื่อความสนุกสนานของคนในกลุ่ม และเริ่มมีการเล่าถึงปัญหาในสังคมจากการโดนกดขี่ของพวกเขา ความไม่เท่าเทียมกันในสังคม จนกระทั่งเรื่องการใช้สารเสพติด หรือใช้วิธีการโอ้อวดความเจ๋งของตัวเอง เพื่อแสดงจุดยืนในสังคม และสร้างพลังให้ตัวเอง เพราะถ้าทุกคนเห็นกรณีของ จอร์จ ฟลอยด์ (George Floyd) จะไม่แปลกใจเลยว่าชาวแอฟริกัน-อเมริกันในอดีตถูกฆ่าตายโดยไม่ได้รับความยุติธรรมมากขนาดไหน ซึ่งเรื่องเหล่านี้ก็สะท้อนผ่านเพลงดังๆ อย่าง N.Y. state of mind ของ NAS หรือเพลงสมัยใหม่อย่าง This is America ของ ไชล์ดิช แกมบิโน (Childish Gambino) ที่เล่าถึงปัญหาของประเทศอเมริกาและสิ่งที่คนกลุ่มนี้ต้องเผชิญ
ถึงจะเป็นอย่างนั้น ก็จะเห็นได้ว่าฮิปฮอปในช่วงแรกๆ มีแต่ศิลปินชายเท่านั้นที่จะได้ออกมาพูด ในหนังสือ In HIP-HOP: Beyond Beats and Rhymes ตัวผู้เขียนได้กล่าวว่าเพราะในอดีตมีเพียงผู้ชายที่เมื่อออกมาภายนอกจะต้องเจอกับความรุนแรง และการเอาชนะซึ่งกันและกัน ซึ่งบางทีจุดจบคือความตาย พวกเขาจึงออกมาพูดเรื่องภายนอกที่เป็นประเด็นของสังคม ต่างจากเพศหญิงที่ค่านิยมในอดีตมองว่าผู้หญิงไม่สามารถเป็นแรงงานที่ดีมากพอจากลักษณะกายภาพ และทำได้เพียงทำงานภายในบ้านและปรนนิบัติชายที่เป็นเจ้าของ จะเห็นได้ว่าแม้จะเป็นชาวแอฟริกัน-อเมริกันที่โดนกดขี่ แต่ก็มีความซับซ้อนของการโดนกดขี่เพิ่มมากขึ้น เนื่องจากหากเป็นเพศชายก็ยังคงมีเสียงที่มากกว่า ผู้ชายที่เป็นชาวแอฟริกัน-อเมริกันมีสิทธิ์โหวตเลือกผู้นำก่อนที่ผู้หญิงชาวอเมริกันจะได้สิทธินั้นเสียอีก ผู้ชายที่ถูกกดขี่จากการเป็นทาส จึงอาจสามารถสร้างอำนาจให้ตนเอง ด้วยการกดขี่เพศหญิงที่ในสังคมตอนนั้นอยู่ชายขอบมากกว่าพวกเขาอีกทีเพื่อเสริมสร้างความเป็นชายให้ตัวเอง
การเข้าสู่กระแสหลักของฮิปฮอปศิลปินชายแต่ละคนที่แม้จะมีการแสดงออกถึงมุมมองต่อสังคมที่ต่างกันออกไป แต่วาทกรรมที่ถูกผลิตซ้ำอยู่บ่อยๆ ก็คือวาทกรรมของ Patriarchy หรือ ปิตาธิปไตย ที่หลายครั้งมองผู้หญิงเป็นเพียงวัตถุทางเพศ และลดคุณค่าของผู้หญิง เช่นเพลงดังอย่าง Blurred Lines ของ Robin Thicke Feat. T.I. and Pharrell ที่มีเนื้อเพลงเปรียบผู้หญิงเป็นธรรมชาติของผู้หญิงที่จะมีความเป็นสัตว์ในตัวเอง และเจ้าของเพลงอย่าง โรบิน ธิก (Robin Thicke) ก็ออกมาโต้ตอบคนที่จุดประเด็นเรื่องนี้ว่า “ไร้สาระ ผู้หญิงทุกคนก็ต้องมีด้านร้ายๆ เหมือนสัตว์นั้นแหละ”
นอกจากนั้นอเมริกาที่เป็นต้นกำเนิดของฮิปฮอปยังมีความเป็นทุนนิยมมากๆ ซึ่งระบบนี้ก็มีความเกี่ยวข้องกับปิตาธิปไตยที่เปลี่ยนผู้หญิงให้เป็นวัตถุทางเพศ จากการที่ระบบทุนนิยมให้อำนาจกับผู้ที่มีทรัพย์สินของตนเองผู้ชายที่มีแรงงานทางกายภาพที่สามารถสร้างสมบัติจากลักษณะกายภาพที่ได้เปรียบของตัวเอง จึงผลักเพศหญิงให้ไปอยู่ชายขอบของสังคมในฐานะสมบัติที่ต้องได้รับการดูแล และไม่มีสิทธิ์ถือครองทรัพย์สินใดๆ การใช้อำนาจเงินของผู้ชายและตัดสินคุณค่าของผู้หญิงจากเงินทองจึงได้รับความนิยมสูงเช่นเพลง bottoms up ของ เทรย์ ซองส์ (Trey Songz) ที่พูดถึงปฏิสัมพันธ์ของชายหญิงในคลับ ที่ตัวผู้ชายมีเงินอยู่เต็มกระเป๋าทำให้ผู้หญิงสนใจและอยากที่จะมีเพศสัมพันธ์ด้วย และเมื่อวัฒนธรรมเหล่านี้ดังมากๆ จนเข้ามาสู่ไทยทำให้เพลงฮิปฮอปไทยหลายๆ เพลรับเอามุมมองที่สะท้อนค่านิยมแบบปิตาธิปไตยเข้ามา เช่นเพลง ‘ยกมือขึ้น’ ของโจอี้ บอยที่มีท่อนที่ว่า ‘แฟนไม่หล่อแต่ก็ไม่เป็นไร แต่ขอให้รวยก็แล้วไป ก็ขอให้ยกมือขึ้น’
การลดทอนคุณค่าของผู้หญิงในเพลงฮิปฮอปไทย
ถึงแม้ว่าเพลงฮิปฮอปในไทยจะมีการพูดถึงปัญหาของสังคม เช่น rap against dictatorship ที่ออกมาพูดถึงประเด็น ทั้งการเมือง ความไม่เท่าเทียม การศึกษา แต่ปัญหาสังคมอย่างแนวคิดปิตาธิปไตยในเพลงฮิปฮอปที่ลดทอนคุณค่าผู้หญิงก็ยังคงถูกถ่ายทอดผ่านเพลงฮิปฮอปเพื่อเสริมสร้างความเป็นชายตามแบบศิลปินตะวันตก เพราะศิลปินไทยมักจะให้เหตุผลถึงรากเหง้าของฮิปฮอปว่าเป็นวัฒนธรรมตะวันตกที่ออกมาพูดเรื่องพวกนี้ การออกมาพูดเหมือนกันในภาษาไทยจึงเป็นการสืบทอดวัฒนธรรม จะเห็นได้ตั้งแต่ยุคโจอี้ บอย ว่าเพลงในช่วงนั้นผู้ชายมักจะแทนตัวเองว่าพี่และเรียกผู้หญิงว่าน้อง ซึ่งเป็นการเน้นย้ำแนวคิดที่ผู้ชายเป็นคนที่ต้องคอยดูแลและนำผู้หญิง เช่นเพลง ‘ไหวอ่ะเปล่า เบเบ้’ ของ Southside ที่มีท่อนร้องว่า ‘ว่าไงน้องสาวไหวอ่ะเปล่าเบเบ้’ นอกจากนี้ความเป็นชายในเพลงฮิปฮอปไทยถ่ายทอดมักจะเป็นผู้ชายที่ต้องรวยและเจ้าชู้ สามารถใช้เงินในการหาผู้หญิงมาอยู่กับตัวเองได้ และผู้หญิงจะสนใจใครก็อยู่ที่เงิน ซึ่งเป็นค่านิยมที่ยังถูกผลิตซ้ำผ่านเพลงในปัจจุบัน เช่น เพลง Gucci Belt ของ Diamond feat. Youngohm,Fiixd,Younggu ที่มีท่อนในเพลงที่ร้องว่า
‘แก้วที่อยู่ ในมือเอาขึ้นมา sip yeah สาวมองตังค์กู ตาเธอไม่กระพริบ yeah
ยังไม่ทันบอกให้เธอ เดินเข้ามาชิด yeah เธอก็เดินเข้ามา ต้องอยากจะ suck my d*ck’
ซึ่งถือเป็นการลดคุณค่าของผู้หญิง และมองผู้หญิงเป็นเพียงวัตถุที่ซื้อได้ด้วยเงิน ยิ่งไปกว่านั้นศิลปินหญิงเองก็ปล่อยเพลงฮิปฮอปที่ยังคงมีแนวคิดของปิตาธิปไตยอย่างเพลง ‘พักก่อน’ ของ Milli ที่มีเนื้อเพลงว่า
‘Oh my god นี่ชะนีหรือ rhino วิ่งโร่หาพวกผู้ชาย
Oh my god แต่งตัวโคตรมิดชิดพี่แอบคิดว่าหนูขาย’
ซึ่งเป็นการ slut-shaming ผู้หญิงในเรื่องของการแต่งตัวที่ควบคุมสิทธิของผู้หญิง โดยในภายหลังตัวศิลปินก็ออกมาขอโทษหากเพลงสื่อเจตนาในทางที่ผิด เพราะจุดประสงค์เธอเป็นการปล่อยเพลงออกมาในการด่าเพื่อนในกลุ่มเท่านั้น
นอกจากเพลงแล้วเอ็มวีของเพลงฮิปออปหลายๆ เพลงก็มีการทำให้ผู้หญิงเป็นวัตถุทางเพศผ่านการแต่งตัวโชว์สัดส่วนและเข้าไปรายล้อมและทำตัวกระตุ้นอารมณ์ศิลปินชาย เช่นเพลง ‘อยู่กับเพื่อน’ ของ BEN BIZZY x MAIYARAP x LAZYLOXY x BLACKSHEEP
หลายคนมองว่าการใช้คำที่ไม่ดีต่อเพศหญิง เป็นเพียงแค่วัฒนธรรมที่เป็นรากเหง้าของศิลปะและเป็นการถ่ายทอดสังคมที่มันเป็นปกติและมีอยู่จริงเท่านั้น เช่น Youngohm ที่ให้สัมภาษณ์ในรายการ The Driver ไว้ว่า “ฮิปฮอปมันคือศิลปะ ไม่ใช่อยู่ดๆ อย่างด่าเรื่อยเปื่อยก็ด่า” หรือ Milli ที่กล่าวว่า “ภาษาที่เอามาแต่งในเพลงเป็นสิ่งที่ใช้ในชีวิตประจำวันในการด่ากันกับเพื่อน เป็นเรื่องปกติ ไม่มีเจตนาที่จะเหยียดเพศแต่อย่างใด” และกระแสดราม่าในตอนเพลง วิบวับ (Wip Wup) ก็ทำให้มี แฮชแท็ก #saveวิบวับ ที่คนส่วนใหญ่ใหเหตุผลว่า มีเพลงอื่นๆ แรงกว่านี้, เพลงไทยเป็นแบบนี้มานานแล้ว เพลงลูกทุ่งก็มีเนื้อหาแนวนี้, หรือฮิปฮอปมาจากอเมริกา และเพลงฮิปฮอปของอเมริกาแรงกว่านี้ยังไม่มีปัญหาอะไรเลย
แต่เพลงฮิปฮอปซึ่งถือเป็นหนึ่งใน soft power ก็เป็นส่วนในการสนับสนุนหรือปล่อยให้การลดคุณค่าของผู้หญิงหรือสร้างภาพของผู้หญิงในทางที่ผิดเป็นเรื่องปกติ และกลายเป็นการ stereotype ผู้หญิงจากมุมมองปิตาธิปไตย แม้เพลงฮิปฮอปอาจจะเป็นพื้นที่ในการแสดงออกทางปัญหาและประเด็นที่อ่อนไหวในสังคม ซึ่งการใช้คำต่างๆ อาจจะดูเป็นศิลปะหรือวัฒนธรรมประจำกลุ่มที่ศิลปินหลายๆ คนให้เหตุผล แต่ยังจำเป็นมั้ยที่แนวคิดของปิตาธิปไตย ที่กดทับความเป็นผู้หญิงผ่านการทำให้ผู้หญิงเป็นเพียงวัตถุทางเพศยังคงอยู่ในเพลงฮิปฮอปเพียงเพราะว่าเป็นศิลปะที่คนทำกันต่อๆ มา
อ้างอิงข้อมูลจาก
วิสันต์ สุขวิสิทธิ์. (2556). เพศ-ภาษา: การสื่อความคิดเกี่ยวกับเพศสภาวะผ่านกลวิธีทางภาษาในวาทกรรมสาธารณะภาษาไทย. วารสารวจนะ. 1(1). 23-45.