มีงานวิจัยมากมายที่พูดถึงปรากฏการณ์ผีๆในสื่อมวลชน เช่น ในผีละคร โดยนิรินทร์ เภตราไชยอนันต์ (2550), ผีในหนังโดยกำจร หลุยยะพงศ์ และ สมสุข หินวิมาน (2552), ในหนังสือการ์ตูนโดยชนกพร ชูติกมลธรรม (2557), The MATTER เองก็เคยทำวิจัยเชิงปริมาณว่าด้วยการปรากฏตัวของผีผ่านสื่อวิทยุด้วยนะเออ (ดูเพิ่มเติม : เปิดกรุผีไทยในรายการ The Shock : สำรวจตัวตนผี ผ่านเรื่องเล่าเขย่าขวัญ โดยธัญวัฒน์ อิพภูดม เปิดวาร์ปทางนี้ thematter.co)
อธิบายกันจนปากเปียกปากแฉะแล้วว่า ภูตผีปีศาจในหนังละครไทยมักจะเป็นผู้หญิง เพราะภายใต้โครงสร้างสังคมชายเป็นใหญ่ ผู้หญิงมีคุณสมบัติที่ต้องอยู่ติดที่ แบกรับภาวะของความเป็นแม่และเมีย ฝ่ายถูกกระทำ ตกเป็นเหยื่อ จนเหมือนมี ‘แม่นาคพระโขนง’ ในตำนานเป็นโมเดล พวกเธอจึงเป็นผีผู้เฝ้ารอชายคนรัก ไม่ว่าชายคนนั้นจะรักตอบหรือไม่ก็ตาม ไม่ว่าเขาจะหักอกหรือทำให้เสียใจ ก็ยังคงภักดีเสมอไม่ว่าชายคนนั้นจะยังมีชีวิตอยู่ หรือตายไปแล้วจนไปผุดไปเกิดแล้วกี่ภพกี่ชาติ ก็จะยังรอคอยชายคนรักหวนกลับมา หรือไม่ก็ติดตามชายคนรักไปทุกที่ด้วยใจรัก หวง ห่วง หรือแค้น ไม่ก็เป็นผีที่เมื่อสมัยเป็นคนถูกผู้ชายหักหลัง ทรยศหลอกลวง เสียใจจนตายแล้วตามรังควานราวีล้างแค้น[1]
ตัวอย่างพอเป็นกระษัยก็เรื่อง บุปผาราตรี (2546) ผีตะเคียน ตานีในหนังเรื่อง หลอน (2546) ชัตเตอร์กดติดวิญญาณ (2547) เปนชู้กับผี (2549) บอดี้ ศพ #19 (2550) แฟนเก่า (2552) ตะเคียน (2553) รักฉันอย่าคิดถึงฉัน (2555) นี่แค่จอเงินพอหันมาดูจอแก้วก็ไล่มาตั้งแต่สุสานคนเป็น (2515, 2525, 2534, 2545, 2557) ปะการังสีดำ (2520, 2539, 2560) ภูตแม่น้ำโขง (2535,2551) ดารายัณ (2539) เกล็ดมรกต (2546) ตารีบุหงา (2547) อมฤตาลัย (2549) อนิลทิตา (2549, 2557)หีบหลอนซ่อนวิญญาณ (2551) สาปภูษา (2552) บ่วง (2555) นางชฎา (2558) ทายาทอสูรเวอร์ชั่นเบนซ์ พรชิตา (2559) บ่วงอธิฏฐาน (2559) พิษสวาท (2559)
มีคำอธิบายมากมายว่า ผีผู้หญิงสะท้อนถึงรากเหง้าสังคมเกษตรกรรมดั้งเดิมที่ผู้หญิงเคยเป็นใหญ่ มีบทบาทแม่และเมีย เป็นผู้นำความเชื่อและพิธีกรรม ตามลัทธิ Animism ของท้องถิ่นที่กระจายอยู่ทั่วเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ก่อนศาสนาพุทธ ฮินดู อิสลาม คริสต์จะเข้ามา หลายชุมชนนับถือเจ้าแม่ ผู้หญิงจึงมีอำนาจและบทบาททางสังคมสูงมาก เป็นศูนย์รวมจิตใจและการรักษาความเจ็บไข้ได้ป่วย เป็นร่างทรง เชื่อมต่อกับวิญญาณบรรพชนหรือเทวดา นอกจากนี้ยังเชื่อว่ามีพลังลึกลับในตัวให้คุณให้โทษได้
เหมือนในหนังละครและการ์ตูนผีเล่มละบาทที่ผู้หญิงจะมีอำนาจ กฤษดาภินิหาร ก็ต่อเมื่อได้ตายห่ากลายเป็นผีแล้ว
ไม่ว่าข้ออธิบายจะมีคนเชื่อคนแย้งหรือไม่เห็นด้วย แต่ก็ถูกใจนักสตรีนิยม โดยเฉพาะสำนักวัฒนธรรม หรือ cultural feminism ที่ภาคภูมิใจกับ ‘ความเป็นหญิง’ แบบนี้ ที่ผู้หญิงมีบทบาทชุมชนในเชิงสัญลักษณ์พิธีกรรม มีพลังงานลึกลับสามารถงัดข้อกับสำนึกผู้ชายเป็นใหญ่ได้ เหมือนกับที่มีป้าย ‘ห้ามสุภาพสตรีเข้า’ ตามโบสถ์หรือบริเวณพระธาตุเจดีย์ เพราะเชื่อว่าประจำเดือนของผู้หญิงสกปรกและมีพลังทำลายล้างสูง สามารถทำให้คาถาความศักดิ์สิทธิ์ของผู้ชายและพระเสื่อม เช่นเดียวกับที่เชื่อว่ามีสัญชาตญาณความเป็นแม่เพียงเพราะเกิดมามีมดลูก
อย่างไรก็ตาม ผีสางผู้หญิงแบบนี้ก็เป็นภาพสะท้อนที่ทางของผู้หญิงในสังคมปิตาธิปไตย ที่ต้องอยู่ติดบ้าน เฝ้าคอยผู้ชายที่เคลื่อนที่ได้จนเขาไปไหนถึงไหนแล้ว จนเขาไปเกิดใหม่กี่ภพกี่ชาตินางก็ยังคงอยู่ชาติเดิม อยู่กับความทรงจำความรู้สึกเดิม อยู่กับเหย้าเฝ้ากับเรือน อยู่ในถ้ำ อยู่ใต้กรุสมบัติ ไม่ก็สิงพืชสิงต้นไม้ แย่ไปกว่านั้นก็อยู่ในหม้อที่เป็นทั้งอุปกรณ์ในครัวเรือนและเครื่องจองจำกักขัง
ขณะเดียวกันยังทำให้เห็นภาพตัวแทนผู้หญิงในมายาคติแบบสังคมชายเป็นใหญ่ ที่ว่าผู้หญิงไม่มีตรรกะเหตุผล ไม่มีความเป็นวิทยาศาสตร์ ใช้อารมณ์ แปรปรวนจนควบคุมกำกับไม่ได้ ไม่มีตัวตน สัมพันธ์กับธรรมชาติมากกว่าผู้ชาย ผู้หญิงจึงเปรียบเสมือนผีในเรื่องผีๆ ที่เต็มไปด้วยอารมณ์ เกรี้ยวกราด โอดครวญ หึงหวง อาฆาต ล่องลอยล่องหน สามารถหายตัวทะลุกำแพง เปลี่ยนแปลงดัดบิดรูปร่างได้
หนัง ‘บ้านผีปอบ’ กี่ภาคๆ ปอบจึงเป็นผู้หญิงในชนบท เที่ยวสร้างความปั่นป่วนโกลาหลให้กับชาวบ้าน ไปจนถึงคนกรุงที่เป็นตัวแทนของวิทยาศาสตร์และความทันสมัยเข้าไป ‘พัฒนา’ ให้ความเป็นบ้านนอกคอกนาหมดสิ้น และเพื่อให้เรื่องมันจบ ผีผู้หญิงก็ย่อมถูกปราบปรามไม่ก็ปลดปล่อย โดยผู้ชายที่ต้องเป็นพระ ไม่พระสงฆ์ก็พระเอก
หนังผีจึงไม่เพียงมีคุณูปการต่ออุตสาหกรรมบันเทิง แต่ยังทำหน้าที่สร้างเสถียรภาพให้ระบอบปิตาธิปไตย ที่ต่อให้ผู้หญิงมีอิทธิฤทธิ์ปาฏิหาริย์ ยังไงๆ ก็ไม่เท่าผู้ชาย
ขณะเดียวกันเรื่องผีๆ ที่เล่ากันปากต่อปาก ก็เป็นจุดยืนยันว่า เพศเป็นสิ่งอันดับต้นๆ ที่เราสนจดสนใจ เหมือนกับที่เวลาใครเล่าเรื่องผีถึงตอนที่เริ่มมีเงาๆ รางๆ เป็นร่างตะคุ่มๆ ก็ถามกันก่อนว่าเป็นเงาผู้หญิงหรือผู้ชาย ซ้ำประสบการณ์เห็นผียังสะท้อนการประกอบสร้างทางสังคมแบบทวิลักษณ์ ไม่เพียงแบ่งโลกคนตรงข้ามกับโลกผีเป็นจักรวาลคู่ขนาน แต่ผีแปลกหน้าวิญญาณลึกลับทั้งในรายการทีวี วิทยุหรือคนรู้จักชอบเล่าให้ฟัง ยังมักปรากฏตัวไม่ในชุดขาวก็ชุดดำ ผีผู้หญิงก็มีผมอยู่ทรงเดียวคือผมยาว ผีผู้ชายผมสั้น แบ่งอัตลักษณ์ทางเพศแบบขั้วตรงข้ามชัดเจน ไม่ค่อยมีใครเล่าเรื่อง ผีกะเทย เกย์เลสเบี้ยน คนข้ามเพศ หายไปไหนก็ไม่รู้ ราวกับว่าเป็นกลุ่มที่สั่งสมโพธิญาณแก่กล้าจนนิพพาน ไม่ต้องเวียนว่ายตายเกิดเหมือนพวกรักต่างเพศ
โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ‘ผีโบราณ’ (เป็นการตั้งชื่อคล้าย กาแฟโบราณ เฉาก๊วยโบราณ) ที่แบ่งอัตลักษณ์ รูปพรรณสัณฐานว่า วิญญาณชายไทยโบราณ ร่างสูงใหญ่ดำมะเมื่อมเหมือนนักรบ ทั้งๆ ที่เอาเข้าจริงคนไทยสมัยก่อนก็ไม่ได้กำยำล่ำถึก อาหารการกินก็มีแต่ข้าว ผัก น้ำพริก เป็นหลัก โปรตีนส่วนใหญ่ก็มาจากปลา เห็ด เป็ด ไก่ แล้วจะไปเอาโปรตีนที่ไหนมาให้ล่ำ
ย้อนไปสมัยที่ยังมีระบบเกณฑ์ไพร่ทาส ชายไทยสมัยก่อนก็ออกแกร็นๆ พออายุ 16-17 ปีที่ถือว่าโตเป็นชายฉกรรจ์ พร้อมจะนำไปเป็นแรงงานได้แล้ว ซึ่งวัดจากส่วนสูงก็ได้แค่ 150 กว่าเซนติเมตร วัดจากเท้าถึงไหล่ ได้ประมาณ 130 เซนติเมตร ใครสูง 170 เซนติเมตรก็ถือว่าสูงชะลูดแล้ว[2] ซ้ำลำพังเป็นแรงงานมูลนายก็เหนื่อยจะตายห่า จะพักผ่อนทั้งทีก็คงไม่ใช่ออกกำลัง ยกเวท เพาะกายกันหรอก
“ไม่แน่ว่า…ร่างกายสูงยาวประมาณ 180 เซนติเมตรนั้น บางที…อาจจะเป็นผีโบราณ ยุคโฮโม อีเร็กตัส (Homo erectus) เมื่อ 27,000 ปีก่อน ข้ามน้ำข้ามทะเลมาหลอกจากเกาะชวาหรือแอฟริกาก็เป็นได้…”
ผู้ชายโบราณนี่แค่นับเฉพาะยุคอยุธยา วันนึงๆ ก็ไม่ได้ตั้งหน้าตั้งตาจับอาวุธออกไปรบ อีที่รบๆ กันนั่นมันภาพจำในตำราเรียนที่วิชาประวัติศาสตร์ตามกระทรวงศึกษาธิการเขาสร้างขึ้น เพื่อปลุกลัทธิชาตินิยม มนุษย์ในประวัติศาสตร์นอกตำรามีมิติมากกว่าการเป็นทหารถูกเกณฑ์ไปสงคราม เชื่อกันว่าอาณาจักรอยุธยามีอายุ 417 ปี มีสงครามไปตีเมืองนั้นเมืองนี้หรือตั้งรับเมืองนั้นเมืองนี้มาตีสิริรวม 33 ครั้ง ชีวิตส่วนใหญ่ก็ทำไร่ไถนาเลี้ยงหมูดูหมา แล้วไม่จำเป็นต้องไปตายกลางสมรภูมิหรอก แค่ไปขี้ในทุ่งก็ถูกงูฉกตายได้แล้ว
วิญญาณหญิงสูตรโบราณก็เช่นกัน ที่มักเอวบางร่างน้อย หน้าสวยคม ผมยาวสลวย แล้วก็ต้องห่มสไบ ทั้งๆที่ประวัติศาสตร์แฟชั่นเสื้อผ้าหน้าผมแล้ว ผู้หญิงรู้จักห่มสไบแบบเรี่ยมเร้เรไร ในช่วงสมัยปลายอยุธยา แต่ก็ห่มเฉพาะงานพิธี พระราชพิธี หรือเข้าวัดเท่านั้น ชีวิตตามปรกติพวกนางเปลือยอก นุ่งโจง เอาผ้าคล้องคอคล้องบ่าปิดนมบ้างแล้วแต่อารมณ์ แถมผมก็สั้นกุด กว่าจะมาไว้ผมยาวจริงๆ จังๆ ก็เข้าสู่สมัยที่เค้าเลิกห่มสไบแล้ว[3]
อย่างไรก็ตาม เรื่องผีๆ ก็ยังคงเป็นเรื่องที่อยู่เหนือความเข้าใจอย่างสมเหตุสมผล ผีสามารถหลอกหลอนหลายรูปแบบ ทั้งเข้าฝัน อำ ยืนอยู่นอกหน้าตาทั้งๆ ที่เป็นตึกสูงไม่มีระเบียง หายตัว ทะลุตึก ยิ้มฉีกปากชวนผวา ทำหน้าสยดสยอง ขึ้นแท็กซี่ ซ้อนมอ’ไซค์ เสกลมฝนได้ขนาดนั้นเพื่อให้มนุษย์ตักบาตรไปให้ แต่ไม่ยักกะไปทำกับข้าว เพาะปลูก เก็บพืชผักล่าสัตว์ หาอาหารกินเอง
แต่ถึงกระนั้นเรื่องผีก็เป็นความเชื่อ วิจารณญาณส่วนบุคคลที่เราจะไม่ไปล่วงละเมิดกัน เพราะความเชื่อเป็นสิทธิส่วนบุคคลที่ยังหลงเหลืออยู่ในสังคมเช่นนี้ ในสังคมที่สิทธิอื่นๆ ไม่ได้รับการยอมรับ
เหมือนกับที่ชอบมีมนุษย์ประเภทสัมผัสพิเศษ มองเห็นวิญญาณ คุยกับผีรู้เรื่อง เที่ยวไปประณามพิพากษาว่าคนทำแท้งว่าชาตินี้ทั้งชาติทำอะไรก็ไม่เจริญ เพราะทำให้ผีจะมาเกิดแล้วไม่ได้เกิด แถมบอกอีกว่ามีผีเด็กตามอาฆาตคอยจองล้างจองผลาญคนยุติการตั้งครรภ์ ทั้งๆ ที่มันเป็นสิทธิเนื้อตัวร่างกาย สิทธิอนามัยเจริญพันธุ์ของนางเอง นั่นก็มดลูกช่องคลอดของนางเองแท้ๆ ยังจะไม่ให้นางตัดสินใจเองอีก
บรื๋อ….. คนประเภทนี้สิหลอนประสาทกว่าผีอีก !
อ้างอิงข้อมูลจาก
[1] กำจร หลุยยะพงศ์ และ สมสุข หินวิมาน. หลอน รัก สับสน ในหนังไทย: ภาพยนตร์ไทยในรอบสามทศวรรษ (พ.ศ. 2520-2547) กรณีศึกษาตระกูลหนังผี หนังรัก และหนังยุคหลังสมัยใหม่. กรุงเทพฯ : ศยาม, 2552.
นิรินทร์ เภตราไชยอนันต์. ภาพตัวแทนผีผู้หญิงในละครโทรทัศน์.กรุงเทพฯ : คณะวารสารศาสตร์และสื่อสารมวลชน มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์, 2550.; Chanokporn Chutikamoltham. Pleasure of Abjection: Cheap Thai Comics as Cultural Catharsis. Explorations Vol 12 (Fall 2014), pp. 46-58.
[2] อัญชลี สุสายัณห์. ความเปลี่ยนแปลงของระบบไพร่และผลกระทบต่อสังคมไทย ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว.กรุงเทพฯ, ภาควิชาประวัติศาสตร์ บัณฑิตวิทยาลัย จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, 2524.
[3] สุวดี ธนประสิทธิ์พัฒนา. การแต่งกายสตรีกับหัตถกรรมทอผ้าในสังคมไทยสมัยรัตนโกสินทร์. กรุงเทพฯ : เงินลงทุนจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เฉลิมฉลองสมเด็จพระเทพ รัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี, 2542.