จากภาพยนตร์ ‘ฝัน บ้า คาราโอเกะ’, ‘มนต์รักทรานซิสเตอร์’, ‘เรื่องรัก น้อยนิด มหาศาล’ เรื่อยมาจนถึงตอนนี้ เป็นเวลากว่า 20 ปีที่ ‘เป็นเอก รัตนเรือง’ ได้คลุกคลีอยู่ในอุตสาหกรรมภาพยนตร์ ด้วยสไตล์งานที่โดดเด่นและความเย้ายวนในการเล่าเรื่อง ทำให้ผู้ชมต่างได้ลิ้มรสอย่างจัดจ้านมาโดยตลอด แม้แต่ภาพยนตร์ที่หลายคนมองว่าเป็นหนังดูยาก แต่เป็นเอกเองยังคงยืนยันว่ามันสนุก
The MATTER จิบกาแฟแล้วนั่งคุยกับเป็นเอกในเช้าวันที่อากาศกรุงเทพฯ เย็นสบาย ตั้งใจไปถามถึงผลงานล่าสุดอย่าง ‘Samui Song (ไม่มีสมุยสำหรับเธอ)’ ย้อนกลับไปถึงเรื่องการทำหนังมาตลอด 20 ปีของเขา ก่อนจะพบว่าสิ่งที่น่าสนใจไม่แพ้เรื่องหนัง คือ ‘สายตา’ ที่มองสังคม วัฒนธรรม และความเป็นผู้หญิง ซึ่งมักปรากฏเป็นส่วนประกอบหนึ่งในหนังของเขาเสมอๆ
ทำไมตั้งชื่อหนังเรื่องใหม่ว่า ‘สมุยซอง (Samui Song)’
ไม่ได้หลงรักอะไรเกาะสมุยเลย แค่อยากทำหนังเรื่องหนึ่งที่ตอนทำโปสเตอร์จะมีคำว่า ‘สมุย’ เขียนอยู่ มันน่าจะสวยดี (หัวเราะ) คิดอย่างนี้ดื้อๆ นี่ไม่ได้อำนะ พูดจริงๆ
แล้ว ‘สมุยซอง’ มันเป็นชื่อสร้อยตามมาทีหลัง ตอนที่เขียนบทก็ต้องหาเงินเมืองนอกมาช่วยสร้างหนังใช่ไหม มันก็ต้องแปลบทเป็นภาษาอังกฤษ สมุยร่างแรกก็เป็นสมุยหนึ่ง พอร่างสองมันก็เป็นสมุยสอง (สมุยซอง) เขาเรียกกลับมาอย่างนั้น เราก็เลย.. สมุยซองก็สมุยซอง
สมุยในหนังนี่เป็นสวรรค์เลย ชื่อภาษาไทยถึงเป็น ‘ไม่มีสมุยสำหรับเธอ’ เพราะเคยมีหนังเรื่องหนึ่งชื่อว่า ‘ไม่มีสวรรค์สำหรับคุณ’ มันเป็นช่วงเดียวในหนังที่นางเอกมีชีวิตที่โคตรจะมีความสุข แต่ผู้หญิงในสังคมไทย ช่วงที่มีความสุขโดยปราศจากผู้ชายได้เนี่ยมันสั้น สุดท้ายต้องมากลับมาอยู่ในที่ของตัวเองอยู่ดี กลับมาเป็นทาสผู้ชายอยู่ดี
ได้ยินว่าหนังเรื่องนี้ใช้เวลาตัดต่อนานเป็นปี
ที่ตัดต่อนานมากเพราะว่าพล็อตเรื่องมันเยอะมาก อยากจะให้เรื่องมันไม่หยุดเดิน ตัวละครแต่ละตัวก็จะมีมิติของตัวเอง พอทุกอย่างมันเยอะเกิน มันต้องเอาไอ้นี่ออก ต้องเอาอะไรไว้ มันก็เลยเป็นการตัดต่อที่ยากมาก แต่อันนี้มันไม่ใช่เรื่องผิดปกติเท่าไหร่ การตัดต่อหนังมันควบคุมไม่ค่อยได้ บางทีมันลงตัวเร็วก็เร็ว มันลงตัวช้าก็ช้า
ตัดต่อมันยากตรงที่ว่ามันเป็นขั้นตอนสุดท้ายของการทำหนัง เราผัดผ่อนต่อไปตรงอื่นไม่ได้แล้ว บางทีออกไปถ่ายหนังมันเวิร์คบ้างไม่เวิร์คบ้าง ก็ไม่เป็นไร ค่อยมาจัดการในห้องตัดต่อได้ เขียนเป็นบท บทยังไม่ค่อยดีเท่าไร ไม่เป็นไร เดี๋ยวระหว่างกำกับ เรากำกับให้มันเป็นแบบนู้นแบบนี้ได้ แต่ตัดต่อนี่มันขั้นสุดท้ายแล้ว คุณต้องเอาให้อยู่คุณต้องเอาให้ได้
ในหนังมีการพูดถึงลัทธิสุดโต่ง ทำไมถึงสนใจคัลท์นี้
ช่วงที่เขียนบท เราเห็นข่าวพระสงฆ์ทำอะไรแย่ๆ แล้วพระรูปนั้นคนเลื่อมใสเยอะมาก Follower เยอะ แล้วก็ถูกสึก ถูกไล่ออกจากวัด ปรากฏว่าเขาไปตั้งลัทธิใหม่ แล้วคนก็ตามไปกันเยอะมากเลย ข่าวนี้มันก็อยู่ในหัวไม่ออกไปไหนเลย
คนที่นับถือพวกผู้นำลัทธิถึงขั้นลุ่มหลง ส่วนมากเป็นผู้หญิง ผู้ชายก็มีแต่น้อย ทำไมวะ ผู้หญิงต้องการความยึดเหนี่ยวทางด้านนี้มากกว่าผู้ชายหรือยังไง เรารู้สึกว่าอิสรภาพในการปลดทุกข์ของผู้หญิงไทยมันน้อยกว่าผู้ชาย ผู้ชายเนี่ยง่ายมากเลย ถ้ามีทุกข์กับเมียนะก็มีกิ๊ก (หัวเราะ) ไม่อยากมีกิ๊ก ไม่อยากมีเมียน้อย ก็ตีหม้อเที่ยวกระหรี่ ไปอาบอบนวด
ผู้หญิงทำนู่นก็ไม่ได้ ทำนี่ก็ไม่ได้ เลยเหมือนกับว่าโอกาสที่เพศหญิงต้องไปพึ่งเรื่องพวกนี้มันเลยสูงกว่า แล้วบางทีนะ พระรูปนี้ดูดีมาก ถ้าเราเป็นผู้หญิงเราก็อยากจะให้เป็นเครื่องยึดเหนี่ยวทางใจเหมือนกัน งามก็งาม แล้วดูเวลาเทศน์ โอ้โห เสียง ท่านั่ง วิธีการ คือเหมือน Rock Star เลยอะ เดินมานี่ผ่องนึกว่า Michael Jackson แต่สิ่งนี้เราใช้เป็นศาสนาไม่ได้ ยังไงก็ไม่ได้ ห้ามทำหนังโดยมีพระอยู่ในนั้น
แล้วบทบาทของ ‘เมียฝรั่ง’ ในหนังเรื่องนี้ล่ะ
มันเกิดจากวันหนึ่งเราไปช็อปปิ้งซื้อกับข้าวในซุปเปอร์ ก็ไปเจอนักแสดงผู้หญิงคนหนึ่งมากับแฟนฝรั่ง ทั้งคู่แต่งตัวดูดีมากเลย เราก็เดินตามเขา เดินตามห่างๆ ไม่ให้เขารู้ตัว ดูว่าคนแบบนี้เขาซื้ออะไรกันบ้าง มันเริ่มจากภาพนั้นเลย และหลังจากนั้นเหตุการณ์นี้มันก็ผ่านไปนะ แล้วภาพดาราผู้หญิงไทยที่เดินช็อปปิ้งอยู่กับสามีฝรั่งมันก็ติดอยู่ในหัวเรา
หลังจากนั้นหัวเรามันก็แต่งเรื่องไปได้เรื่อยๆ กลับไปที่บ้านจะเป็นไงวะ ข้างนอกดูดีมาก แต่ข้างในมันคงแย่เหมือนกันว่ะ แต่ชีวิตจริงอาจจะดีมากก็ได้นะ (หัวเราะ) มันคือจินตนาการแย่ๆ ของเรา
สิ่งที่ไม่ค่อยเห็นคือผู้หญิงฝรั่งกับผัวไทยเนี่ยไม่ค่อยเห็น เห็นน้อย มีนะ แต่น้อยมาก ก็รู้จักบ้างแบบนั้นแต่มันมีน้อยมาก เออ ทำไมวะ ทำไมมันต้องเป็นแบบนั้น ทำไมผัวต้องเป็นฝรั่ง แล้วเมียต้องเป็นไทยอยู่เรื่อย
ทำไมหนังของคุณมักวางให้ผู้หญิงเป็นตัวละครนำ
หนังที่เราทำหลายๆ เรื่อง อิท่าไหนไม่รู้ชอบไปตกเรื่องของผู้หญิง มีตัวละครนำเป็นผู้หญิงแล้วก็ไปตกอยู่ในสถานการณ์ที่ทำให้เขาต้องแสดงความแข็งแรงกว่าผู้ชาย มันมักจะเป็นแบบนั้น แต่ลึกๆ เราเป็นคนสนใจผู้หญิง เราชื่นชมเพศหญิง เรามักจะเรียนรู้เรื่องสำคัญๆ จากผู้หญิง จากพี่สาว จากแม่ จากคนรัก จิตใจก็เลยโอนเอียงไปทางนั้น อาจจะเป็นเพราะว่าชีวิตเราส่วนใหญ่ก็รายล้อมด้วยผู้หญิงด้วยมั้ง เวลาคิดถึงเรื่องที่จะต้องทำเรื่องที่จะต้องแต่งขึ้นมาทำหนังอะไรอย่างนี้
เพื่อนผู้ชายนี่มีไว้กินเหล้ากับเตะบอล ไม่ค่อยได้เรียนรู้อะไรจากเพื่อนผู้ชายเท่าไหร่
คิดยังไงกับประเด็นเรื่องการล่วงละเมิดทางเพศที่เป็นที่เพ่งเล็งมากในอุตสาหกรรมหนังตะวันตก
คุณจะไปจับนม สั่งให้คนแก้ผ้าแล้วมานวดคุณ พูดจาโอ้โลมปฏิโลม มันไม่สมควรอยู่แล้วแหละ คนอย่าง Harvey Weinstein หรือ Kevin Spacey โดยพื้นฐานคิดว่าคนที่ทำเนี่ยเขาเป็นคนนิสัยแบบนี้ แต่ในฐานะความเป็นมนุษย์ บางทีเป็นไปได้ที่คนมีอำนาจมากๆ มีโอกาสเอาเปรียบได้มันก็ทำ ไม่ได้เห็นด้วยกับสิ่งที่เขาทำ ไม่ได้เห็นใจเขา แต่เข้าใจว่ามันเกิดขึ้นได้ยังไง
มันมีผลกับทุกวงการเลย ไม่ใช่แค่วงการหนังอย่างเดียว ต้องเชื่อว่านักการเมืองที่มีอำนาจเยอะๆ ก็ต้องเคยทำสิ่งเหล่านี้ มันก็ต้องมีคนที่เคยทำสิ่งเหล่านี้บ้าง Bill Clinton ก็เคยมีในลักษณะแบบนี้กับเด็กฝึกงานของเขาไม่ใช่หรอ ไทยก็อาจจะมีถูกมะ
ประยุทธ์เขาเอะอะอะไรก็อารมณ์เสีย หันมาด่านักข่าวแบบ หยุด! เงียบๆ ไปเลยไป ไม่ต้องมาถามอะไร อย่ามาทำให้อารมณ์เสียนะ เขามีอำนาจมาก เขาทำสิ่งเดียวกับที่ Harvey Weinstein ทำ แต่ว่าเขาไม่ได้ทำเรื่องเซ็กซ์แค่นั้นเอง
แล้วเราควรจะสื่อสารหรือเตือนบรรดาผู้มีอำนาจเรื่องนี้ยังไงดี
เตือนไม่ได้เพราะว่าเขาทำตัวเป็นพ่อเราอะ คนไทยโดยพื้นฐานแล้วเนี่ยไม่ชอบปกครองตัวเอง ไม่รู้เป็นอะไรชอบรัฐประหารจังเลย ปกครองกันเองไม่ชอบ ชอบให้มีคนมาปกครอง พอมีคนมาปกครองก็ดีอย่าง สงบดี แล้วกูไม่ต้องรับผิดชอบอะไร กูก็ทำตามที่แม่งบอก พอไปเชิญให้เขาเข้ามาขนาดนี้ คนที่เข้ามาเขาก็ทำตัวเป็นพ่อทันทีไง เฮ้ยลูกๆ อยู่กันเงียบๆ นะ ถ้ายังไม่ดีกันเดี๋ยวพ่อไม่พาไปเขาดินนะ ถ้ายังไม่ดีกันไม่ต้องเลือกตั้งนะ ดูวิธีที่เขาพูดทุกวันศุกร์สิ เขาพูดด้วยโทนพ่อ แล้วทำเหมือนพวกเราทุกคนอายุ 12 ขวบหมดประเทศนี้
เพราะฉะนั้นคุณก็เตือนเขาไม่ได้ ลูกมันเตือนพ่อไม่ได้หรอก โดยเฉพาะยิ่งถ้าเป็นพ่อใจแคบยิ่งลืมไปได้เลย
ในแง่การอยู่ใต้อำนาจเรื่องเพศล่ะ ผู้หญิงไทยจะหลุดไปจากความไม่เท่าเทียมได้ไหม
เราอาจจะไม่ได้เห็นสิ่งนั้นในช่วงชีวิตเรา เกิดมาสัก 3 ทีค่อยว่า เรามีความสงสัยมากเลยว่า ทำไมรัฐมนตรีฯ กอบกาญจน์ (กอบกาญจน์ วัฒนวรางกูร) ทำไมถึงโดนปลด สามปีที่ผ่านมา คนๆ นี้เป็นคนเดียวที่พอจะทำให้รัฐบาลนี้ดูดีอยู่ได้บ้าง เขาไม่ได้ควรจะเป็นแค่รัฐมนตรีท่องเที่ยวนะ เขาควรจะเป็นนายกรัฐมนตรีของประเทศนี้ได้ด้วยซ้ำ ฉลาดก็ฉลาด ครีเอทีฟก็ครีเอทีฟ หัวก้าวหน้า
ในที่สุดก็อยู่ไม่ได้ พวกผู้ชายเขาไม่ให้อยู่กัน พวกนี้ชายเข้มด้วย ไม่ใช่ชายธรรมดาอย่างเราๆ มีเครื่องแบบด้วย เขาไม่มีวันให้เท่าเทียมหรอก ชายเข้มๆ พวกนี้ที่ปกครองประเทศนี้อยู่สองสามร้อยปี ถ้าผู้หญิงเท่าเทียมกันเมื่อไหร่ มันจะทำตัวไม่ถูก
การดีลกันแบบนี้มันง่ายดี ทั้งคนที่กดขี่และคนที่ถูกกดขี่ ทั้งคู่ตกลงกันมาแล้วชอบระบบนี้ ถ้าเกิดคุณลุกขึ้นมาเรียกร้องให้เท่ากันเมื่อไหร่ แล้วต้องรับผิดชอบชีวิตตัวเอง ยากเกินไป กดขี่กูไว้ดีกว่า แม่งง่ายดี สั่งให้กูทำไรกูก็ทำตาม เพราะฉะนั้นมันคงไม่ได้เห็นในชาตินี้ คงจะเห็นในชาติอื่นๆ ของเรา ถ้ายังเกิดมาเป็นคนอยู่ (หัวเราะ)
คุณเคยให้สัมภาษณ์ว่า ปกติหนังตัวเองจะมี 2 โหมด คือ ‘โหมดส่วนตัว’ กับ ‘โหมดสนุก’ ช่วยขยายความหน่อย
หนังส่วนตัวมากๆ อย่าง Last Life in the Universe, Invisible Wave, พลอย, นางไม้ เราก็ยืนยันว่ามันสนุกอยู่ดี เพียงแต่ว่ามันอาจจะสนุกสำหรับคนไม่ได้กว้างมาก แต่ถ้าจะมาพูดถึงหนังแบบมนต์รักทรานซิสเตอร์ อย่างสมุยซองเนี่ย แม่บ้านคนไทยที่มาเก๊าไปดูกันเยอะมาก โปรดิวเซอร์เรานั่งดูอยู่บอกคนหัวเราะกันตลอดเวลาเลยเหมือนดูหนังตลก เหมือนดูเรื่องตลก 69 เลย
มันอาจจะกลับไปเป็นอย่างนั้น ความสนุกมันเริ่มตั้งแต่ว่ามันไม่ค่อยมีความเป็นส่วนตัวผูกพันอยู่ในหนัง เราอยากทำหนังเราตั้งใจจะเอนเตอร์เทน เพราะเราเป็นคนมีอารมณ์ขัน เราเป็นคนเล่าเรื่องเก่ง นี่ไม่ได้ชมตัวเองแต่ว่ามันหลุดปากออกมาเอง (หัวเราะ)
เรารู้แล้วว่าเราเล่าเรื่องเก่ง ทุกคนก็รู้ว่าเราเล่าเรื่องเก่ง เรามีพรสวรรค์ในการเล่าเรื่องให้มันสนุก หลอกล่อให้คนตาม แล้วตบกบาลกลับอะไรแบบนี้ มันก็เริ่มตั้งแต่ที่เราจรดปากกาเขียนลงกระดาษว่าเราตั้งใจจะไปทางนี้
อีกอย่างหนึ่งคือมีความตั้งใจว่า เราเบื่อหนังช้าๆ ของเราแล้ว จริงๆ คนเขาเบื่อมานานแล้ว เราอยากกลับมาทำหนังที่มันเดินเรื่องเร็วๆ หน่อย ให้ความสนุกมันมาจากสิ่งเหล่านี้ เดินเรื่องเร็วขึ้นมันก็สนุกแล้ว
อะไรดึงให้คุณกลับมาทำหนังอยู่ตลอดเวลา
ผลลัพธ์ฮะ พอเสร็จแต่ละเรื่องแม่ง กูแม่งไม่เคยแฮปปี้สักที พอเสร็จก็เหี้ยเอ้ย แม่ง ตรงนั้นทำไมกูปล่อยให้มันเป็นแบบนั้นวะ ตรงนี้ทำไมมันเป็นงี้วะ เป็นแบบนี้อยู่เรื่อยเลยต้องลุกขึ้นมาทำเรื่องต่อไป เพื่อจะแก้ไอ้แผลพวกนี้ บางทีแก้สำเร็จแผลพวกนี้ก็ไม่มีแล้ว แต่มีแผลใหม่อีก 7 แผล มันก็เลยไม่จบ เพราะมันไม่แฮปปี้สักที ทุกเรื่องมีแต่แบบได้ 50-80% อยู่อย่างนี้ ไม่เคยหวัง 100% นะ แต่วันนึงถ้าทำหนังแล้วได้สัก 90% ของสิ่งที่ตั้งมั่นเอาไว้คงจะเลิกทำอะ คงตายตาหลับ
ความสุขของการทำหนังมันก็มีส่วนนะ มันมีความสุขตั้งแต่เริ่มเขียนบท พอเริ่มนั่งลงรู้ว่าวันนี้มีโปรเจกต์ใหม่นะ ก็นั่งเขียนแค่นั้นเองฮะ ชีวิตแม่งดีว่ะ มีความสุขมาก เปิดกล้อง ออกกอง การทำงานกับทีมงานเดิมๆ มันเหมือนรียูเนียน สองปีก็รียูเนียนทีนึง แล้วก็มีความภูมิใจกับสิ่งที่ทำ มันเป็นคล้ายๆ ยาเสพติดเหมือนกัน
มีบางคนบอกว่าการทำหนังเป็นเผด็จการ เห็นด้วยไหม?
การทำหนังนี่คือเผด็จการเลยครับ ห้ามมีประชาธิปไตยเด็ดขาดครับ เราปล่อยให้ทีมงานทำงานตามใจชอบของเขา แต่ว่าถ้าทีมงานไม่ได้เป็นทีมนี้เราก็ไม่ได้ปล่อยแบบนี้นะ ทีมนี้เหมือนเป็นครอบครัวเลยครับ รู้จักเราดีมาก ทำงานด้วยกันมา 20 กว่าปี เวลาไม่ได้ทำหนังด้วยกันก็ทำโฆษณาด้วยกัน เพราะฉะนั้นเราถึงทำแบบนี้ได้
เมื่อก่อนตอนทีมงานยังไม่แข็งแรงเท่านี้ ยังไม่รู้จักกันขนาดนี้ ตอนนั้นมีความอยากควบคุมเยอะมาก ไปหา Reference มาให้ดู หาหนังตัวอย่างมาให้ดู หาภาพมาให้ดู เดี๋ยวนี้ไม่มีเลย นั่งคุยบทกันเสร็จปั๊บ ตามสบายครับ อีกเดือนหนึ่งเจอกันเอางานมาให้ดู แล้วทุกคนก็จะมาปล่อยของกันใหญ่เลย แต่สุดท้ายคือมันมีความสบายใจ เพราะเรารู้ว่าตัวเองเป็นคนเลือกอยู่ดี แล้วบางทีก็เลือกผิด เลือกผิดก็รับผิดชอบไป แล้วแก้ไขครั้งต่อไป
อีโก้จำนวนมหาศาลที่เรามีอยู่ในตัวเนี่ย เรามีเอาไว้ทำงานนะ เราไม่ได้มีไว้กระหน่ำใส่คน เวลาคุยกับทีมงานหรือนักแสดง เราจะกดอีโก้ให้มันหายไปหรือซ่อนเอาไว้ แต่ในที่สุดนะ ไม่ว่าทีมงานจะเห็นว่าแก้วใบนี้ควรจะเป็นแก้วใส ถ้าเรามองไปมองมาแล้วเราบอกว่ามันต้องเป็นสีขาวนะ เราก็จะบอกไปเอาสีขาวมาอยู่ดี มันมีความสบายใจอย่างหนึ่งของการเป็นเผด็จการ คือเรารู้ว่าตอนจบอะทุกอย่างขึ้นอยู่กับเราอยู่ดี
คนที่เป็นเผด็จการเนี่ย มีอำนาจเบ็ดเสร็จอยู่ในมือ จริงๆ แล้วควรจะเป็นคนที่ใจดีที่สุดเลย เราไม่เข้าใจผู้นำของเราคนนี้จริงๆ เขามีอำนาจเบ็ดเสร็จอยู่ในมือ ทำไมอารมณ์เสียตลอดเวลาวะ ในเมื่อเขาเป็นคนตัดสินทุกอย่างอยู่ดี
พูดถึงการเมืองเรื่องอำนาจ เราจะมีโอกาสจะได้ดูหนังการเมืองอย่าง ‘ประชาธิป‘ไทย’ อีกรึเปล่า
มีๆ จะมีการเพิ่มเรื่องเข้าไปให้ใหญ่ขึ้น เริ่มทำตั้งแต่ตอนที่ภาคแรกออกฉายแล้วก็เริ่มทำกันต่อเลย แต่แล้วมันก็มีรัฐประหารไง หลายๆ คนที่อยู่ในหนังเราที่คิดว่าต้องคุยกับเขาดันอยู่ประเทศนี้ไม่ได้แล้ว ออกนอกประเทศไปแล้วตอนนี้ยังกลับมาไม่ได้ก็มี มันก็เลยต้องนิ่งไป แต่ก็ทำอยู่ มันคงต้องทำไปเรื่อยๆ เพราะว่ามันไม่รู้จะจบตรงไหน
พูดจริงๆ ตอนที่ทำภาคแรกอะ เราไม่เคยคิดว่าจะมีรัฐประหารอีกในชีวิตเรานะ เราเชื่อว่าหลายๆ คนก็ไม่คิด นึกว่าครั้งทักษิณถูกเตะออกไปนอกประเทศนั่นจะเป็นครั้งสุดท้ายแล้ว เพราะฉะนั้นโครงสร้างอำนาจของประเทศนี้ที่เรามีมา 80 ปีมันยังไม่เป็นประชาธิปไตยจริงๆ หรอก
เลือกตั้งที่เรามีกันมา พรรคการเมืองต่างๆ มันเป็นแค่ตัวละครปาหี่เฉยๆ ตราบใดที่ทหารอยากจะตบเท้าเข้ามายึดอำนาจเมื่อไรก็ได้ ทำเศรษฐกิจฉิบหายวายวอด แล้วไม่ต้องรับผิดชอบอะไรด้วย มันจะเป็นประชาธิปไตยได้ไง
ตอนที่ทรัมป์ถูกเลือก คนอเมริกันแม่งช็อคมากที่ทรัมป์ได้ ช็อคมหาศาล ลามปามน่าเกลียดไปจนออกมาประท้วงว่า จะไม่ยอมรับผลการเลือกตั้ง ซึ่งอเมริกาไม่เคยมีนะ คนที่ San Francisco ออกมา Portland, Oregon, New York ออกมา ไม่เอา กูจะไม่เอาผลการเลือกตั้งอันนี้ กูจะไม่ยอมแล้ว แล้วทหารเขาอยู่ไหน ไม่เห็นทหารเขาออกมายึดอำนาจเลย
ฉะนั้นหนังที่เราบันทึกการเดินทางของประชาธิปไตยปลอมเนี่ย มันก็ต้องถูกบันทึกไปเรื่อยๆ จนกว่าวันหนึ่งมันอาจจะมีประชาธิปไตยจริงอะ วันที่ทหารไม่สามารถจะยึดอำนาจได้ง่ายๆ แบบนี้อีกแล้ว
คุณจัดการยังไงเมื่อการที่เขาเข้ามามันมีผลต่อสิ่งที่หนังจะเล่า
ก็ต้องตัดออกไป ไม่อยากติดคุก เราไม่ได้เป็น activist เราเป็นแค่คนทำหนัง เรามีชีวิตประจำวัน เรามีอย่างอื่นต้องทำ เราไม่ได้เป็นคนเข้มแข็ง เราทำหนังประชาธิป’ไทยขึ้นมาด้วยเหตุผลง่ายๆ คือเราแม่งงงกับโครงสร้างอำนาจในรอบ 10 ปีที่ผ่านมา เรามีคำถามเต็มไปหมด เราเลยทำหนังขึ้นมาเพื่อถามคำถามเหล่านี้กับตัวเอง
เราได้ไปถามคนที่เขารู้เยอะกว่าเรา ให้ความกระจ่างกับเรา แล้วถ่ายออกมาเป็นหนัง เราทำหนังพวกนั้นเพื่อตัวเราเอง เราจะเข้าใจมันมากขึ้นไหม กูจะหายงงไหม แล้วหนังมันไม่ได้มีจุดประสงค์ในการท้าทายอำนาจใครหรือวิพากษ์วิจารณ์ใคร จุดประสงค์คืออยากให้ตัวเองได้เรียนรู้
20 ปีที่ผ่านมา หนังเป็นเอกเปลี่ยนไปยังไงบ้าง
หนังเราไม่ฉูดฉาดเท่าเมื่อก่อน ตอนเริ่มทำหนังใหม่ๆ หนังเราจะฉูดฉาดมาก แล้วความฉูดฉาดมันมาจากความอยากโชว์ออฟ อยากโชว์เทคนิค อยากโชว์ฉลาด อยากให้โลกรู้ว่าเราเจ๋ง อยากจะกระทำกับคนดูอย่างงี้อย่างงั้น เป็นผู้กำกับตอนอายุน้อยๆ รสชาติมันเลยจัดมาก
พอทำหนังมากขึ้น หนังเรามันไม่ชัดเจนเท่าเมื่อก่อน มันนิ่งลง ช้าลง มันก็โตไปตามอายุ ตามประสบการณ์ของเรา
เมื่อก่อนนี้นะ เชื่อไหม กำหนดทุกอย่างเลย โลเคชั่นจะเอาแบบนี้ ถ้าหาไม่ได้แบบนี้ก็เอาที่ใกล้เคียงแบบนี้ที่สุด ถ้าไม่ได้จริงๆ กูสร้างฉากแม่งเลย เอาสีเข้าไปทาให้เหมือนที่กูคิดในหัว เนรมิตเอา
เดี๋ยวนี้เดินไปหาเลย ถ้าโลเคชั่นนี้มันพูดหรือส่งสัญญาณมาที่เรา กูรู้สึกดีกับที่นี่ เอาตรงนี้แหละ แล้วก็สร้างหนังกันตรงนี้ ใจมันธรรมชาติมากขึ้น เราค่อนข้างจะยอมรับกับอะไรที่มันไม่เป็นไปตามที่คิดได้ง่ายขึ้น พอมีประสบการณ์เราก็จะค่อยๆ แก้ เดี๋ยวนี้ก็ไม่ค่อยอารมณ์เสียแล้ว
ถ้าให้เลือกรีเมคหนังตัวเองสักเรื่อง จะเลือกเรื่องไหน
ฝันบ้าฯ นี่คือหนังที่ผมอยากรีเมคที่สุด เรายังยืนยันว่าตัวบทภาพยนตร์ฝันบ้าฯ เนี่ยสนุก ไม่ได้อยากรีเมคเพราะว่าความผิดพลาดในยุคนั้นนะ แต่เราคิดว่ารีเมคแล้วมันจะสนุกแค่นั้นเอง แต่เราทำไม่เป็นเท่านั้น เราทำแล้วมันไม่เป็นหนังอะ
มันคงมีหลายๆ ซีนที่เราตัดทิ้ง มีหลายซีนที่เราเขียนเพิ่มเข้าไป ผูกเรื่องให้มันกลมกล่อมกว่านี้ หนังมันไปโฟกัสที่ผู้หญิงคนหนึ่ง แต่ตัวละครที่เป็นพ่อ มันไม่ค่อยมีมิติ การแต่งตัวเป็นเหมือนตัวการ์ตูน ความคิดความอ่านของพ่อเหมือนเด็ก
ถ้าเราเขียนบทตอนนี้ด้วยอายุขนาดนี้ ตัวละครพ่อคงมีบทบาทขึ้นเยอะ ตอนนั้นที่เราเขียนเราอายุ 35 เราไม่เข้าใจความเป็นพ่อ เราไม่สนใจด้วย มันก็เป็นแค่ตัวละครประกอบที่ทำให้ชีวิตของนางเอกมันแย่ลงๆ เราไม่ได้มีลูกนะ แต่เราก็อายุก็เท่าพ่อคนมันก็คงมีด้านนั้นมากขึ้น
มีคนเคยบอกว่า ‘ทำหนังแล้วไม่รวย’ 20 ปีที่ผ่านมา รวยหรือยัง
จะไปรวยได้ไงล่ะ เราไม่เคยได้เงินจากหนังเลยแม้แต่บาทเดียวเลยนะ เสียเงินด้วยซ้ำ ทุนมันได้มาแค่นี้ พออยากได้มากกว่านั้นก็เอาเงินตัวเองไปลง แต่ว่าเราหาเงินจากการทำโฆษณา โฆษณานี่ค่าตอบแทนสูงนะ แต่ทำเยอะไม่ได้ ถ้าทำเยอะมันจะประสาทเสียมาก ทำตามใจคนอื่นเต็มไปหมด ปีนึงเราก็จะทำประมาณนึง รายได้ประมาณนี้ อยู่ได้แล้วปีนี้ เราก็จะหยุด
แต่ถ้าไปถามผู้กำกับคนอื่น เขาอาจจะรวยก็ได้ คนทำหนังไทยแล้วรวยก็มี
แล้วคิดเห็นยังไงกับความเห็นที่ว่า ‘ยุคทองของหนังไทย’ ผ่านไปแล้ว
อุตสาหกรรมที่รุ่งเรืองมันต้องมีความหลากหลายของหนัง มีหนังแบบนี้แบบนั้น ซึ่งปัจจุบันมันไม่มี ยุคไหนหนังผีฮิตก็ทำหนังผี แล้วผลัดกันเจ๊งด้วยหนังผี ความมีหน้ามีตาของเทศกาลหนังในโลกนี้บอกถึงความรุ่งเรือง เมื่อก่อนมีหนังไทยที่ไปเทศกาลใหญ่ๆ มากกว่าเดี๋ยวนี้
แต่ว่าขณะเดียวกันมีจุดนึงที่น่าสนใจในยุคนี้ เราเรียกว่า ‘หนังอินดี้’ หนังที่ไม่ได้ทำโดยสตูดิโอ เป็นยุครุ่งเรืองของเขาตอนนี้ ได้รับการผลิตเยอะขึ้นกว่าแต่ก่อน เทคโนโลยีมันทำให้การทำหนังราคาถูกลง หนังไทย 10-20 ปีที่ผ่านมาเริ่มมีโปรไฟล์ในต่างประเทศมากขึ้น ฉะนั้นการขอทุนก็ง่ายมากขึ้น สมัยเราเริ่มทำเราไม่คิดจะขอทุนเมืองนอกเลย หนังไทยหรอ ไทยไรวะ ไทเป ไทยแลนด์ ไทวัน (ไต้หวัน) ไม่มีใครรู้
หนังล่าสุดของเต๋อ-นวพล (Die Tomorrow) นี่เป็นบทพิสูจน์ที่ดีมากเลยนะ เต๋อทำเองแทบจะทุกอย่างไม่ได้ง้อใคร เต๋อทำให้ตัวเองเป็นอุตสาหกรรม เขารวบรวมคนมาดูหนังของเขาได้เอง เขาทำการตลาดของเขาได้เอง เขาทำหนังที่ค่าใช้จ่ายถูกมาก ใช้ชื่อเสียงของตัวเองอย่างถูกต้อง แล้วค่ายให้เข้าโรงฉาย โป้งๆๆๆๆ ทำมาได้กำไรนิดหน่อย เต๋อทำหนังเรื่องต่อไปได้แล้ว เราว่าเป็นยุคที่ดี
เวลาทำหนังออกมาแล้วคนดูไม่เก็ทแมสเสจ หรือเก็ทในแมสเสจอื่นที่เราไม่ได้ตั้งใจสื่อ ส่งผลกับคนทำไหม
ผู้กำกับคนอื่นเราไม่รู้นะ แต่สำหรับเราคือไม่มีผลเลย เวลาเราทำหนัง เราไม่มีแมสเสจอะไรที่อยากจะส่งไปที่คนดู จุดประสงค์ของเราอย่างเดียวเลยคือเราอยากจะเอนเตอร์เทน ไม่ใช่แค่ดูสนุก แต่ดูเสร็จแล้วแม่งจำ อยากให้กลับบ้านไปก็ยังติดอยู่ในหัว
ส่วนมากแมสเสจมันเกิดขึ้นตอนที่หนังเสร็จแล้ว คนดูดูแล้วบอกกับเราว่าหนังมีแมสเสจนี้ ใครว่าแมสเสจไหนเราก็โอเคหมด เพราะเราไม่ได้อยากให้เขาเก็ทอะไรเลย เรามีอะไรอยู่ในหัว เราก็เอามากองโครมลงบนโต๊ะ เอามาร้อยเรียงเข้าด้วยกันให้มันสนุก
มันหลีกเลี่ยงไม่ได้ที่คนจะเห็นแมสเสจนู้นแมสเสจนี้ มีสัญลักษณ์นี้ซ่อนอยู่ เพราะมันเป็นหนังเรา แต่เราไม่ได้ complain นะ จะมาบอกว่ามึงคิดมากไปเปล่า ไม่ได้จะส่งแมสเสจอะไรสักหน่อย พูดอย่างนั้นมันก็ไม่แฟร์กับคนที่เขาดู เพราะว่าจริงๆ แล้วเราอาจจะส่งแมสเสจไปก็ได้แต่เราไม่รู้ตัว มันอาจจะเป็นจิตใต้สำนึกอยู่
เวลาคนมาบอกเราว่า เอ้ยหนังของพี่เรื่องนี้แม่งพูดเรื่องนี้ดีว่ะ แม่งมีแมสเสจนี้ว่ะ ถึงแม้เราจะไม่คิดถึงสิ่งเหล่านั้นเลยตอนถ่ายทำ แต่เราก็ไม่เคยไปหัวเราะเยาะเขาว่าพวกมึงคิดมากไปเอง เพราะเราคิดว่าสิ่งที่เขาคิดก็ถูก แมสเสจที่เขาตีความออกมามันก็ถูก
เวลาคนดูหนังแล้วบอก ‘ไม่เข้าใจ’ เราจะรู้สึกผิดหวังมาก หนังเรามันดูไม่ยากเลย คุณดูแล้วคุณได้อะไรไปก็โอเคหมด เรื่องมันโคตรน้อยเลย เวลาบอกว่าหนังพี่เขาแม่งจะล้ำไปถึงไหนก็ไม่รู้ ต้องปีนบันไดดู คือเราไม่ได้ทำหนังด้วยเจตนานั้น เจตนาเราคือเอนเตอร์เทน ถ้าบอกว่าเกลียดฉิบหายหนังเรื่องนี้ โคตรเกลียดผู้กำกับเลย อย่างนี้ถึงแฟร์
การไปดูหนังร่วมกันในโรงหนังมืดๆ เงียบๆ นั่งข้างใครก็ไม่รู้ ประสบการณ์แบบนี้มันคือเข้าไปเผชิญหน้ากับสิ่งบนจอแล้วก็กลับบ้าน แมสเสจมันคืออะไรในหัวคุณ ตามสบายเลย มันไม่มีอะไรผิด ดีกว่าให้จอหนังกำหนดเราว่าตรงนี้ร้องไห้ ตรงนี้หัวเราะ เฮ้ย เขาจะรักกันแล้ว เพลงเปียโนมันมาแล้ว มันสนุกยังไงวะหนังอย่างงั้น
With assistance of Thanisara Ruangdej & Natchanin Boonyarit