ละคร ก็เป็นเรื่องของตัวละคร แต่ ‘การพูดถึง’ คือทัศนคติที่มาจากความจริง
ละครเรื่อง ‘ล่า’ ที่ได้ถูกนำมารีเมคใหม่เพิ่งออกฉายให้เราได้รับชมกันเมื่อไม่นานมานี้ ที่ก่อนหน้านี้เคยมีกรณีที่ดาราที่รับบทในเรื่องโพสต์ ‘โปรโมต’ ละครด้วยภาพชายหนุ่มจำนวนหนึ่งแล้วบอกว่า ใครอยากให้ข่มขืน เอ้าเลือกได้เลย คือโอเค เรื่องการข่มขืนกับละครไทยมันเป็นอะไรที่ยุ่งยากพอสมควร พระเอกไทยก็มักจะมีฉากที่ข่มขืนนางเอกบ่อยๆ โดยนัยคือ นี่ไงฉันพระเอกนะ หล่อนะ และทำไปด้วยรักนะ
แต่ในมิติของคนและความสัมพันธ์ การมีเพศสัมพันธ์ต้องการความยินยอมพร้อมใจ ไม่ใช่ว่าจะหล่อแซ่บขนาดไหนแล้วจะมาทำอะไรก็ได้ ไม่ใช่ว่าใครๆ ก็ต้องการ
ในแนวทางของละครไทย ‘ผู้ชาย’ มักเป็นเหมือนคำตอบสุดท้ายของเรื่อง พอพระเอกเข้าใจปุ๊บ เรื่องราวก็คลี่คลายปั๊บ พอนางเอกได้ครองรักกับพระเอก เรื่องก็จบลง ดังนั้นละครไทยแบบดั้งเดิมจึงมีแนวคิดที่มีผู้ชายเป็นศูนย์กลาง (Phallocentrism) ของเรื่อง ผู้ชายถือว่าเป็นอำนาจที่ผู้หญิงไขว่คว้า
แต่สำหรับละครเรื่อง ‘ล่า’ ทั้งฉบับนวนิยายและละครนั้นเป็นอีกแบบหนึ่งไปเลย เป็นเรื่องที่กลับมาให้อำนาจกับผู้หญิง พูดเรื่องปัญหาและการตกเป็นเหยื่อในมิติต่างๆ รวมไปถึงการถูกข่มขืน ซึ่งแกนสำคัญของเรื่องล่า คือการให้อำนาจกับผู้หญิง การไม่ตกเป็นเหยื่อ เป็นผู้ถูกเลือกอีกต่อไป
เมื่อ ‘จู๋’ เป็นศูนย์กลางในแนวคิดเรื่อง Phallocentrism
แนวคิดเรื่อง Phallocentrism เป็นแนวคิดที่สอดคล้องว่าสังคมและวัฒนธรรมต่างๆ ถูกสร้างขึ้นโดยมี ‘จู๋’ เป็นศูนย์กลาง ยุคหนึ่งเราเลยเรียกว่า ‘เจ้าโลก’ ไง …ซึ่งในแง่หนึ่งพวกเฟมินิสต์ก็บอกว่า เพราะว่าสังคมไปให้ความสำคัญกับเพศชายและความเป็นชายในฐานะตัวแทนของอำนาจไง พูดอย่างง่ายๆ คือ มันก็เหมือนความคิดที่ว่า ชีวิตนี้ต้องการผู้ชายเป็นเป้าหมาย และการให้ความสุข-โดยเฉพาะความสุขทางเพศ เป็นพลังและความสุขสมอย่างหนึ่งที่ผู้หญิงต้องการ
แนวคิดที่ว่าเกิดจากจิตวิทยาแนวจิตวิเคราะห์ (psychoanalysis) ต้นตำรับโดยซิกมุนด์ ฟรอยด์ นักจิตวิทยาผู้แสนจะหมกมุ่นอยู่กับจู๋ ฟรอยด์บอกว่าในแนวคิดของแกจู๋เป็นองค์ประกอบสำคัญในพัฒนาการจากเด็ก มาสู่การเป็นตัวตนของเรา
ประเด็นหนึ่งของฟรอยด์คือบอกว่าเจ้า Phallus ถือเป็นสัญลักษณ์ของอำนาจ เป็นสิ่งที่ใครๆ ก็ปรารถนา
เด็กผู้หญิงที่พอรู้ว่าตัวเองไม่มีอะไรที่งอกออกจากร่างกายแล้วชูชันได้เนี่ย ก็เป็นเพราะตัวเองถูกตอนไปแล้ว- คือแบบ ทฤษฎีของฟรอยด์ค่อนข้างเอาผู้ชายเป็นหลักเนอะ มองว่านี่ไง เพราะผู้ชายมีสิ่งนี้ ผู้หญิงที่ไม่มีเพราะถูกตอนไป ไรงี้ เลยต้องแสวงหา-ปรารถนาครอบครองจู๋ของคนอื่นจากการที่รู้สึกว่าถูกตอนไป
เจ้าจู๋ที่เราพูดๆ ถึง นี่มันก็ไม่ได้หมายถึงแค่ที่เป็นชิ้นๆ เป็นเนื้อๆ เท่านั้น แต่กินความไปถึงมิติทางสังคมและวัฒนธรรมที่เรามองผู้ชายเข้ากับการมีอำนาจ การเป็นที่พึงปรารถนา การเป็นผู้กระทำ การเป็นผู้เลือก ดังนั้นสังคมโดยทั่วไปเลยถูกเรียกว่าสังคมชายเป็นใหญ่ เพราะสังคมมักจะให้ค่ากับผู้ชายในฐานะตัวแทนของอำนาจที่เชื่อมโยงเข้ากับ Phallus อันเป็นแท่งสัญลักษณ์แห่งอำนาจนี่แหละ
ละครไทยแบบเดิมๆ พระเอกนักข่มขืนกับความคิดเรื่องแท่งแห่งอำนาจ
ละครไทยแบบดั้งเดิมก็ดูจะส่งเสริมแนวคิดเรื่อง Phallocentrism เป็นเรื่องเล่าที่สปอยล์ผู้ชายพอสมควร คือนอกจากทั้งเรื่องผู้หญิงทั้งหลายจะแย่งพ่อพระเอกกันแล้ว ฉากข่มขืนเองจึงเป็นส่วนประกอบสำคัญที่สะท้อนถึงความไม่เท่าเทียมทางเพศ
นางเอกมักจะดื้อๆ ไม่ค่อยฟังใคร มีความแสบๆ ลูกสาวกำนันในตัวเองหรือมีความไม่เข้าใจบางอย่าง ดังนั้นในละครไทยหลายเรื่อง พระเอกจึงลงมือข่มขืนนางเอกเพื่อแสดงความรักและปรับความเข้าใจ – ซึ่งถ้ามองจากมุมมองปัจจุบันจะรู้สึกแหวะมาก แต่ถ้าดูจากแนวคิดที่มีผู้ชายหรือจู๋เป็นตัวแทนของอำนาจ ฉากข่มขืน ในทางความหมายจึงซุกซ่อนความรุนแรงและความไม่เสมอภาคของชายหญิงไว้อย่างน่ากลัว
พูดง่ายๆ คือผู้ชายมองว่าอวัยวะของตัวเองมีอำนาจ ในแง่นี้ถ้าพูดร้ายๆ คือมีอำนาจในการ ‘สยบ’ ผู้หญิงได้ ความเชื่อแบบนี้ก็คือความเชื่อที่ว่าโลกนี้มีจู๋/ผู้ชายเป็นศูนย์กลางของเรื่อง ไปจนถึงของโลก
แน่ล่ะ ความคิดแบบนี้ไม่ใช่ว่าจะมีแต่ในละคร ในชีวิตจริงเอง ผู้ชายบางคนก็ยังเชื่อว่าอำนาจของตัวเองส่วนหนึ่งอยู่บนเตียง เชื่อว่าความรักและความสัมพันธ์หลักๆ แล้วเกิดจากความสุขทางกายที่ตัวเองมอบให้ได้
ซึ่งก็อาจจะจริงบางส่วน ในความสัมพันธ์ถ้าพูดกันอย่างตรงไปตรงเรื่องความสุขทางกายระหว่างคนสองคนมันก็มีส่วนที่ทำให้ความสัมพันธ์มันซาบซ่านขึ้น แต่มันก็ไม่ใช่แก่นแกนที่ทำให้ต่างฝ่ายต่างเลือกซึ่งกันและกัน ดังนั้นในทางกลับกัน ชายหนุ่มเองก็อย่าทะนงตนว่าตนเองมีไพ่เหนือกว่าแค่ด้วยอวัยวะที่งอกออกมา (ตามที่ฟรอยด์ว่า) รวมไปถึงอำนาจจากความเป็นชายที่ตัวเองมี- เพราะหำก็ไม่ได้มีแค่อันเดียว ไม่ได้พิเศษขนาดนั้น
กลับไปที่เรื่องล่า และปัญหาทางความคิดของนักแสดง เรื่องล่าเองเลยกลายเป็นนวนิยายที่ต่างไป นวนิยายทั่วไปที่มีผู้ชายเป็นศูนย์กลาง เรื่องราวไม่ได้จบลงแค่ โอเค นางเองได้กับพระเอกแล้วได้ความสุข สถานะ และความถูกต้องทั้งหลายที่กลับมาพร้อมกับพระเอก (ทั้งหมดก็คือส่วน phallus ที่มีทั้งแบบในมิติกายภาพและสัญลักษณ์) แต่เรื่องล่าไปพูดถึงแต่ผู้หญิงจากการตกเป็นเหยื่อ เป็นเรื่องของผู้หญิงและอำนาจของผู้หญิง อันเป็นอีกโลกที่ต่างไปจากโลกของผู้ชายเป็นใหญ่