มันเป็นข้อเท็จจริงที่เหยื่อข่มขืนหลายคนอยู่ร่วมกับอาการ PTSD (Post-traumatic Stress Disorder) หลังถูกข่มขืน และรู้สึกเหมือนตายทั้งเป็น ซึ่งเป็นความตายที่ถูกยัดเยียดโดยคนใกล้ตัวหรือใครก็ไม่รู้ แสวงหาผลประโยชน์ทางเพศสนองความใคร่บนร่างกายจู๋จิ๋มตูดนมคนอื่นที่เจ้าตัวไม่ยินยอม แน่นอนการข่มขืนชำเราคือการล่วงละเมิดสิทธิเนื้อตัวร่างกายและชีวิตผู้อื่น ไม่เคารพผู้อื่นในฐานะมนุษย์ด้วยกัน
เมื่อเกิดเหตุการณ์เด็กหญิง หญิงสาว ไปจนถึงหญิงแก่ ถูกข่มขืน มันจึงมีบรรดากระทาชายแอ่นอกออกมาป่าวประกาศให้ประหารอาชญากรลูกเดียว ราวกับโตมาในสังคมใช้กฎหมายฮัมมูราบี ซึ่งโดยตรรกะเดียวกัน ที่หากเราไม่เห็นด้วยให้ใครข่มขืนใครเพราะนั่นเป็นการทำลายชีวิตคนคนนึงแล้ว มันก็ไม่ควรมีอำนาจใดที่ถูกสถาปนามากำหนดให้ใครต้องถูกลงโทษจนตาย ต่อให้ระยำตำบอนแค่ไหนก็ตาม
ทันที่ที่ผู้ชายออกมารณรงค์แก้กฎหมายชุดนี้บนที่สาธารณะ ก็ทำให้แลดูเป็นสุภาพบุรุษขึ้นมาฉับพลันทันใด กลายเป็นผู้ชายชั้นดีไม่ใช้ความรุนแรงรังแกผู้หญิง (อันที่จริงไม่ว่าใครก็ไม่ควรใช้กำลังความรุนแรง ไม่ว่าเพศใดอยู่แล้วป่าววะ) ดีดตัวเองให้อยู่สูงเหนือกว่าพวกผู้ชายชั้นเลวชอบข่มขืนชำเรา ทั้งๆ ที่สำนึกของสุภาพบุรุษนั้นมันก็เป็นการให้เกียรติผู้หญิงในฐานะเป็นเพศที่อ่อนแอ เปราะบาง ปกป้องตัวเองไม่เป็น ไม่ได้ต่างอะไรไปจากสำนึกของคนข่มขืน
ไม่ว่าอาชญากรข่มขืนหรือสุภาพบุรุษ ล้วนจัดวางผู้หญิงไว้ในสถานะด้อยกว่าผู้ชายทั้งคู่
‘ข่มขืน = ประหาร’ มันจึงเป็นแคมเปญที่มีแต่เปลือก ใช้อารมณ์นำ มุ่งเยียวยาความโกรธแค้นตนเองมากกว่าเยียวยาความรู้สึกของเหยื่อ ไม่ได้สนฝนสนแดดอะไรกับความรู้ทางกฎหมายและความไว้วางใจได้ของกระบวนการยุติธรรม ข้อดีของมันจึงมีเพียงอย่างเดียวคือใช้เป็นเครื่องมือสร้างภาพลักษณ์บอกกับตนเองและสังคมว่า ‘ผมเป็นคนดีนะครับ’ ดังนั้นผู้ชายที่เคยออกมาแหกปากป่าวร้อง “ข่มขืนเท่ากับประหาร” วันดีคืนดีจึงออกมา make fun กับการข่มขืนได้อย่างน่าขยะแขยง คิดว่าชายใดมี sex appeal หล่อ sexy จะล่วงละเมิดทางเพศใครก็ได้ การถูกหนุ่มๆ หล่อล่ำหน้าตาระดับเคยเป็นพระเอกละครมาล่วงละเมิดทางเพศถือว่าเป็นบุญสี่บารมีแปด
อันที่จริงการข่มขืนเป็นปัญหาเชิงโครงสร้างทางสังคมและสิทธิมนุษยชน ไม่ใช่ปัญหาระดับปัจเจกบุคคลว่าใครหล่อใครสวยใครหื่นใครแต่งตัวล่อตะเข้ และแน่นอนการสร้างความตระหนักในสังคมเช่นนี้ ก็หาใช่ใครก็ได้ที่หลงตัวเองซ้ำไม่ได้มีความรู้ความเข้าใจอะไรสถาปนาตัวเองเป็นผู้สร้างแรงกระเพื่อมสังคม
หากแต่การนำประเด็นข่มขืนมาพูดติดตลก ทำให้เป็นเรื่องขำขันนั้นต่างหากที่เป็นปัญหาระดับเพียงปัจเจกบุคคล เพราะเป็นปัญหาการขาดความเข้าใจในสิทธิมนุษยชนและสามัญสำนึกบกพร่อง
การที่ประธานาธิบดีโรดรีโก ดูแตร์เต แห่งฟิลิปปินส์ กล่าวติดตลกในสุนทรพจน์คราวเยือนค่ายทหารอย่างเป็นทางการที่มินดาเนา เมื่อเดือนพฤษภาคม 2017 ที่ผ่านมาว่า อนุญาตให้ทหารในพื้นที่ประกาศกฎอัยการศึก ข่มขืนผู้หญิงได้โดยไม่มีความผิด ประธานาธิบดีจะยอมติดคุกแทน แต่มีโควต้ามากที่สุดไม่เกิน 3 คน ซึ่งนี่ก็ไม่ใช่ครั้งแรกที่เขาเล่นมุกไร้รสนิมอย่างมุกข่มขืน ขณะที่เขายังเป็นผู้สมัครประธานาธิบดีเขาก็เคยเล่นมุกนี้กับคดีรุมโทรมมิชชันนารีชาวออสเตรเลียในเมืองดาเบาว่าเป็นคนสวย ในฐานะนักการเมืองประจำท้องที่ เขาควรจะเป็นคนแรกที่ได้ข่มขืนเธอ[1] นำไปสู่กระแสวิพากษ์วิจารณ์และความกังวลใจทั่วโลกด้านสิทธิมนุษยชนในฟิลิปปินส์มากขึ้น แต่ก็หาได้ทำให้ชายคนนี้สะทกสะท้านไม่ เขายังดำเนินความหยาบคายต่อไป เมื่อวันก่อนในเดือนกรกฎาคมนี้ เขาพูดติดตลกประมาณว่าการข่มขืนมิสยูนิเวิร์สจะเป็นความกล้าหาญชาญชัยที่เขาจะแสดงความยินดีด้วย[2]
ในสังคมปิตาธิปไตยที่มักจะเอาลึงค์เป็นศูนย์กลาง (phallocentrism) การข่มขืนถูกมองว่าเป็นการเอาจู๋ไปจิ้มจิ๋ม ผู้ชายข่มขืนผู้หญิง ด้วยเหตุนี้กฎหมายข่มขืนในประเทศไทยหรือประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 276 ก่อนปี 2550 ยังให้ความหมายว่าการข่มขืนกระทำชำเป็นการกระทำโดยชายและผู้ถูกกระทำเป็นหญิงเพศเดียวเท่านั้น และถ้าหากผู้ชายทำกับภรรยาตนเองแล้ว ไม่ถือว่ามีความผิดทางกฎหมาย อันมาจากสำนึกคิดว่าหญิงผู้เป็นภรรยาต้องรองรับอารมณ์ทางเพศของสามีเสมอ กฎหมายข่มขืนนี้พัฒนาให้เกิดความเท่าเทียมทางเพศมากขึ้นครบทศวรรษพอดี[3]
ด้วยสังคมชายเป็นใหญ่เช่นนี้ ผู้ชายถูกข่มขืนจึงปลาสนาการไปจากความหมายของคำว่า ‘ข่มขืน’ แม้จะมีละครประเภทตัวอิจฉานางร้ายมอมเหล้าพระเอกหัวอ่อน แล้วลากไปแก้ผ้าบนเตียง หรือหลอกให้กินยาเสริมกำลังวังชาไวอากร้าแล้วหลอกล่อไปม่านรูด แต่สุดท้ายพระเอกก็จะได้รับกลไกบางอย่างให้พ้นมลทินได้เอง
เหยื่อผู้ชายในการข่มขืนไม่ว่าจะโดยผู้ชายด้วยกันเองหรือผู้หญิง ถูกทำให้ไม่มีตัวตน ไม่เพียงในไทยแต่ในระดับสากล แม้จะมีการวิจัยในอังกฤษและสหรัฐที่เกี่ยวกับการกระทำรุนแรงทางเพศและข่มขืนต่อผู้หญิงและชาย แต่เมื่อเทียบกันกับอัตราส่วนการศึกษา ในเรื่องเดียวกันที่เป็นการกระทำต่อผู้ชายถือว่าน้อยมาก งานวิจัยทางสังคมศาสตร์ที่อธิบายเรื่องการกระทำรุนแรงทางเพศ ก็มักเลือกที่จะพุ่งประเด็นไปยังการข่มขืนผู้หญิงและละเลยผู้ชาย ขณะเดียวกันการศึกษาการข่มขืนผู้ชายส่วนใหญ่ก็จะมุ่งความสนใจไปยังกลุ่มผู้ชายบางกลุ่มเฉพาะ เช่นกลุ่มที่ถูกกระทำรุนแรงทางเพศตั้งแต่เด็ก หรือการข่มขืนในชุมชนเฉพาะเช่น กลุ่มนักศึกษามหา’ลัย นักโทษในเรือนจำ และในกองทัพ แต่ไม่สามารถทำให้ผู้ชายที่ถูกข่มขืนมีตัวตนหรือประสบการณ์ของพวกเขาเป็นที่รับรู้เพื่อหาทางเยียวยา[4]
เพราะเพศสภาพและ ‘ความเป็นชาย’ เป็นสิ่งประกอบสร้างทางสังคม ไม่ได้ขึ้นอยู่กับเพศกำเนิด แต่เกิดที่วัฒนธรรมได้ความคาดหวังและสร้างข้อกำหนดขึ้น
ซึ่ง ‘ความเป็นชาย’ ก็ถูกกำหนดและคาดหวังให้เป็นผู้กระทำ แข็งแกร่ง ดูมีอำนาจ มีพละกำลังแข็งแรง ไม่อ่อนแอ ต้องพึ่งพาตัวเองได้ ไม่มีอะไรมาทำลายล้างและวางตัวให้ออกห่างจาก ‘ความเป็นหญิง’ ทั้งหมด และด้วยความกลัวจะถูกมองว่าเป็นชายที่อ้อนแอ้นอ่อนแอ จึงพยายามแสดงความเป็นชายตามภาพเหมารวม เช่นการแสดงอำนาจเหนือกว่าผู้หญิงหรือผู้ชายด้วยกันเอง เพื่อแสดงและพิสูจน์ให้เห็นว่าพวกเขามี ‘ความเป็นชายจริง’
แต่เมื่อใดก็ตามที่ผู้ชายไม่สามารถทำตัวให้เป็นไปอย่างที่สังคมคาดหวังให้เพศชายเป็นได้ เขาก็จะรู้สึกว่าตัวเองไม่มี ‘ความเป็นชาย’ และสูญเสียตัวตนในฐานะเพศชายในสังคมไป โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อเขาตกเป็นเหยื่อการกระทำรุนแรงทางเพศ ต่อให้ไม่เป็นการข่มขืนชำเรา แค่จะตกเป็นเหยื่อในเรื่องทั่วๆไป ก็จะถูกสังคมตัดสินว่าไม่เหลือ ‘ความเป็นชาย’ แล้ว เพราะว่า ‘ชายที่แท้จริง’ จะไม่มีวันตกเป็นเหยื่อเพราะช่วยเหลือตัวเองได้ และ ‘ชายที่แท้จริง’ จะต้องต่อสู้ผู้ที่มาข่มขืนตัวเองได้
การข่มขืนระหว่างผู้ชายด้วยกันเองจึงแสดงให้เห็นถึงความสัมพันธ์เชิงอำนาจ การประกาศอำนาจระหว่างเพศเดียวกัน สร้างชนชั้นทางเพศระหว่างผู้ชายด้วยกันผ่าน ชายที่มีอำนาจกว่ามักจะเถลิงอำนาจควบคุมบังคับพวกที่อ่อนแอกว่าผ่านการข่มขืน เพราะการข่มขืนทำให้เหยื่ออับอาย รู้สึกเนื้อตัวร่างกายมีค่าน้อยลง ลดทอนความเป็นคน และท้ายที่สุดทำให้ ‘ความเป็นชาย’ ของเหยื่อลดน้อยถอยลงเรื่อยๆ ไปพร้อมกับทำให้เป็นผู้หญิงมากขึ้น เด็กชายหรือผู้ชายที่ตกเป็นเหยื่อการข่มขืนมักถูกตีตราด้วยคำด่าว่าตุ๊ด อ่อน ไม่แมน สาว ในทางกลับกันการข่มขืนนี้ก็ทำให้ ‘ความเป็นชาย’ ของผู้ข่มขืนเพิ่มขึ้นจากการได้อภิเษกตนเองเหนือกว่า ‘ความเป็นชาย’ ของคนอื่น การสร้าง ‘ความเป็นชาย’ ผ่านการข่มขืนในโลกของเรือนจำเองก็ไม่แตกต่างไปจากโลกนอกเรือนจำมากนัก เพียงแต่มีเส้นเบ่งความสัมพันธ์เชิงอำนาจที่ชัดเจนกว่าระหว่างชายที่มีอำนาจบังคับชายอื่นเป็นฝ่ายรุก กับชายที่ถูกบังคับ ถูกมองว่าอ่อนด้อยกว่าชายอื่นๆเป็นฝ่ายรับ [5]
และด้วยสังคมปิตาธิปไตย เมื่อผู้ชายยอมรับว่า ตนเองตกเป็นเหยื่อข่มขืน ก็เท่ากับยอมรับว่าไม่มี ‘ความเป็นชาย’
กลายเป็นผู้ชายชายขอบที่ท้ายที่สุดก็มักไม่ได้รับความสนใจเหลียวแล ซ้ำร้ายพวกเขาก็ไม่กล้าแจ้งตำรวจ เพราะไม่เพียงไม่ต้องการให้ใครรับรู้ถึงการสูญเสีย ‘ความเป็นชาย’ แต่พวกเขายังต้องการ ‘ซ่อม’ ความเป็นชายที่สูญเสียไปด้วยการดูแลตัวเองได้ หรือถ้าต้องเล่าถึงการตกเป็นเหยื่อชำเรา พวกเขาก็จะเล่าว่าได้ต่อสู้กลับแล้ว เพื่อไม่ให้ตัวเองถูกมองว่าเป็นเหยื่อด้านเดียวหรืออ่อนแอ หรืออาจอ้างฤทธิ์แอลกอฮอล์ที่ทำให้ตัวเองไม่สามารถปกป้องหรือต่อสู้กับผู้ที่มาข่มขืนได้[6]
เช่นเดียวกับชายหลายคนที่ถูกผู้หญิงข่มขืนเลือกที่จะปิดเงียบเป็นความลับ เพราะเกรงว่าถ้าไปแจ้งความก็จะ เป็นการแสดงออกถึง ‘ความไม่เป็นชาย’ เพราะไม่ต้องการร่วมเพศกับผู้หญิง กลายเป็นการต่อต้านวิถีปฏิบัติของ ‘ความเป็นชายที่แท้จริง’ และการยอมรับว่าตนถูกผู้หญิงล่วงละเมิดข่มขืนก็เท่ากับกำลังว่าไปทำลาย ‘ความเป็นชาย’ ที่ค้ำคออยู่ เพราะผู้หญิงถูกเชื่อว่าเป็นเพศที่อ่อนแอกว่า และหากผู้ชายไม่ยอมรับ นี่ก็อาจเป็นเหตุผลที่ทำให้สังคมไม่มองผู้หญิงก็เป็นผู้กระทำชำเราได้
แต่ไม่ว่าจะเพศวิถีเพศสภาพใด ก็ไม่ควรไปข่มขืนคนอื่น เพราะข่มขืนก็คือความรุนแรงและการล่วงละเมิด ไม่ใช่เรื่องตลกเอามาพูดล้อเล่น หรือฉวยโอกาสมาโปรโมตละครหรือแม้แต่โปรโมตตัวเอง
อ้างอิงข้อมูลจาก
[4] Aliraza Javaid. (2015). The Dark Side of Men: The Nature of Masculinity and Its Uneasy Relationship With Male Rape. The Journal of Men’s Studies, 3, pp. 271 – 292.
[5] Connell R. W. (2005). Masculinities (2nd ed.). Berkeley: University of California Press.; Kupers, T. (2001). Rape and the prison code. In D. Sabo, T. Kupers, & W. London (Eds.), Prison
masculinities (111-117). Temple University Press.
[6] Weiss K. G. (2010). Male sexual victimization: An exploration of men’s experiences and perceptions. Men and Masculinities, 12, pp. 275-298.