What’s in a name? That which we call a rose
By any other name would smell as sweet.
Romeo and Juliet
นามนั้นสำคัญไฉน? ที่เราเรียกกุหลาบนั้น
แม้เรียกว่าอย่างอื่นก็หอมรื่นอยู่เหมือนกัน
โรเมโอกับจูเลียต
ชื่อนั้นสำคัญไฉน เมื่อจูเลียตถามโรเมโอ คนรักที่ทั้งคู่ต่างมีชื่อที่ไม่ควรแก่การรักกัน แต่ชื่อนั้นย่อมสำคัญเพราะปลายทางของการขัดขืนนามที่ตราลงบนตัวตนของทั้งสอง คือโศกนาฏกรรมและความตาย
ช่วงสองสามวันนี้ ก็มีประเด็นปัญหาใน ‘ชื่อ’ โดยเฉพาะยาบ้าเจ้าปัญหา ถ้าจำได้เกือบ 20 ปีก่อน ยาบ้าก็ถูกเปลี่ยนชื่อมาจากยาม้าเพื่อแสดงให้เห็นถึงโทษภัยของมัน ล่าสุดกรณีวาทศิลป์ ‘เอาชนะมันไม่ได้ก็จงอยู่ร่วมกับมันเสีย’ ก็เป็นวาทศิลป์ที่ทำให้ประเด็นเรื่องแนวคิดการถอดสารตั้งต้นคือ แอมเฟตามีน อันเป็นสารตั้งต้นของยาบ้าออกจากบัญชีเพื่อผลทางการแพทย์ต่อไป
เรื่องการเปลี่ยนความคิดต่อยาเสพติดใหม่ที่จากเดิมเราจะต้องทำสงครามด้วย ก็เป็นประเด็นที่เกี่ยวเนื่องกันกับการประชุมของทางสหประชาชาติ รวมถึง‘ชื่อ’ สารที่เกี่ยวข้องกับยาเสพติดว่าการจะเรียกสารใดว่ายารักษาหรือยาเสพติดก็ขึ้นอยู่กับวิธีการผลิตและการนำไปใช้ ‘ชื่อ’ ของผู้ที่ใช้สารเหล่านั้นก็เป็นสิ่งที่กำลังถูกเสนอให้เปลี่ยนแปลงด้วย เช่นที่ BBC รายงานต่อมาในทำนองเดียวกันจากความล้มเหลวของสงครามกับยาเสพติด และเสนอให้เปลี่ยนมุมมองวิธีคิดต่อสิ่งที่เราเรียกว่ายาเสพติด โดยเฉพาะการลดการตราว่ายาเสพติดเป็นเรื่องของอาชญกรรม เปลี่ยนผู้ใช้ (ไม่ใช่ผู้ค้า) และมองว่าเป็น ‘ผู้ป่วย’ ให้ความสำคัญกับการบำบัด เยียวยา และฟื้นฟูกลับสู่สังคม
สารตัวใดตัวหนึ่ง เช่นกรณีดราม่าที่เกิดขึ้นคือแอมเฟตามีน รวมไปถึงนามที่ไปเรียกมันว่าเป็นยาเสพติด เป็นยาพิษ เป็นอาชญกรรม ส่วนหนึ่งเกิดจากการชี้นำของภาษาและชุดความหมายต่างๆ ที่รายล้อมมัน ความน่าสนใจของการเปลี่ยนแปลงความคิดผ่านการเรียกคำเรียกขานจึงเป็นกระบวนการขุดรากถอนโคนที่มีนัยสำคัญ ลองนึกถึงปัญหาของคนที่เคยเสพยาที่เรียกกันแย่ๆ ว่าขี้ยา สุดท้ายแล้วด้วยภาษาและความคิดที่รายล้อมกับ ‘ความเป็นอาชญากร’ ทำให้เราหรือสังคมไม่ยอมรับคนเหล่านี้กลับเข้าไปในสังคม และปลายทางก็อาจจะยิ่งทำให้ปัญหาต่างๆ ลุกลามตามมาได้
ย้อนกลับมาที่คำว่า ‘ยา’
คำว่า ‘ยา’ เป็นแนวคิดที่ถูกเอามาพูดถึงในเชิงปรัชญา โดยเฉพาะในแง่ของความหมายหรือภาษาของคำ
ในปรัชญามีแนวคิดที่เรียกว่า pharmacon ถ้าแปลตรงตัวก็แปลว่ายาเหมือนกัน (รากเดียวกันกับคำว่า pharmacy) ซึ่งไอ้เจ้า pharmacon มันถูกเอามาอธิบายในตำนานอิยิปต์เกี่ยวกับการประดิษฐ์ ‘การเขียน (writing)’ ขึ้นว่า การเขียนเนี่ยเปรียบเสมือนยาอย่างหนึ่ง
ตำนานเกี่ยวกับ pharmacon ถูกเล่าในบทสนทนากับโสเกรติส โดยโสเกรติสเล่าถึงตำนานอียิปต์ (โอ้ย อะไรยุ่งเหยิง) ว่าครั้งหนึ่งเทพโธต (Theuth) อันเป็นเทพแห่งปัญญาและศาสตร์ความรู้ต่างๆ ได้ประดิษฐ์การเขียนขึ้นและนำมาถวายแก่ฟาโรห์แอมมอน (Ammon) ซึ่งเทพเจ้าโธ้ตก็เวรี่ภูมิใจในสิ่งที่ตัวเองสร้างและพรีเซนต์ว่า เนี่ย ด้วยการเขียนที่ประดิษฐ์ขึ้น ชาวอิยิปต์จะต้องชาญฉลาดและมีความจำที่ดีขึ้น
ฟังดูเข้าท่าเนอะ ถ้าเราอ่านออกเขียนได้ก็น่าจะเรียนรู้อะไรได้ดีขึ้น จดจำอะไรได้มากขึ้น
ตรงนี้เองที่ฟาโรห์ตอบกลับว่า ไม่แน่ใจว่าการเขียนที่โธตสร้างขึ้นนี้เป็น phamakos ในแง่ของการเป็นเครื่องรักษา (remedy) หรือยาพิษ (poison) เพราะฟาโรห์เห็นว่าแท้จริงแล้วการเขียนก็ไม่แน่ว่าจะนำชาวอียิปต์ไปสู่สติปัญญาหรือการจดจำที่ดีขึ้นได้ ฟาโรห์กลับเห็นว่าการเขียนนั้นกลับนำมาซึ่งความหลงลืม (forgetfulness) ด้วยแทนที่ผู้คนจะใช้การการจดจำของตัวเองก็จะไปพึ่งพาตัวอักษรทั้งหลายที่ถูกสร้างขึ้นแทน และยังอธิบาย (ในระดับที่โคตรปรัชญา) ขึ้นไปว่า การเขียนที่บอกว่าเป็นการจดจำ (memory) ที่ท่านว่าน่ะมันไม่ใช่ แต่มันเป็นแค่เครื่องเตือนความจำ (reminiscence) แถมไอ้ความรู้หรือความจริงที่ท่านบอกว่าจะแพร่ไปพร้อมๆ กับงานเขียนน่ะมันก็ไม่มีอยู่จริงเสียหน่อย พออ่านๆ กันไปก็ไม่ได้ทำให้ได้เรียนรู้อะไรเพิ่มเติม สุดท้ายก็โง่อยู่ดี (แปลอย่างโหดๆ )
ตรงนี้คนรักการอ่านอย่าเพิ่งขุ่นเคืองใจไป เพราะบริบทของโสเกรติสในยุคโบราณเชื่อในพลังของคำพูด (speech) มากกว่าการเขียน (writing) พวกนี้เลยเชื่อการการงอกเงยความรู้ด้วยการพูดคุยสนทนาหรือการสร้างวาทะในที่สาธารณะ เลยจะมองว่าการส่งต่อความรู้ด้วยตัวอักษรมีลักษณะที่เป็นรองการเรียนรู้แบบตัวต่อตัว
ประเด็นสำคัญที่นักปรัชญารุ่นหลังโดยเฉพาะแดริดามองเห็นคือ ในคำคำหนึ่ง ที่เราคิดว่าความหมายของมันแน่นิ่งและตายตัว จริงๆ แล้วกลับเต็มไปด้วยความเลื่อนไหล (defer) คำว่า ‘ยา’ คำเดียวกลับมีความหมายที่เป็นทั้งบวกและลบ เป็นความหมายที่ตรงข้ามกันอยู่ในตัวของมันเอง ดังนั้นความหมายของคำที่มากำกับความเป็นจริง แท้จริงแล้วก็ไม่ได้ทรงพลังหรือมีความเป็นสัจจะอะไรมากมาย แต่กลับเต็มไปด้วยความไม่แน่นอนและความเลื่อนไหลจับต้องได้ยาก
กลับมาที่โลกแห่งความจริง
จากการขบคิดเชิงปรัชญาที่มี’ยา’อยู่ในนั้น ไปสู่การพินิจความไม่แน่นอนของภาษา จากโลกแห่งความคิดกลับมาสู่โลกแห่งความจริง กับกรณีของยาเสพติด ที่อาจมีได้ทั้งประโยชน์และโทษ แต่ด้วยชื่อที่ถูกเรียกขาน และความพยายามที่จะเรียกขานนิยามใหม่ ฟังดูเป็นเรี่องเล็กน้อย แต่การเปลี่ยนชื่อในแง่หนึ่งมันหมายถึงการเปลี่ยนมุมมองหรือมโนทัศน์ทั้งชุดที่เกี่ยวข้องกับสิ่งนั้นๆ
นอกจากคำว่ายาแล้วยังมีอีกคำที่ถูกนำมาขบคิด คือการ ‘เสพติด’ (addict)
โยฮันน์ ฮารี (Johann Hari) กล่าวถึงการนิยามคำว่าเสพติด รวมไปถึงการทดลองที่พยายามตอบเรื่องการเสพติดกับสารเสพติดต่างๆ และผลคือฮารี เสนอมุมมองทางสังคมของมนุษย์ และพยายามเปลี่ยนคำว่าเสพติด (addict) ว่าแท้จริงแล้วมันเป็นเรื่องมนุษย์ที่ถวิลหาการสร้างสายสัมพันธ์ (bonding)
โยฮันน์กล่าวถึงการทดลองสารเสพติดในหนู งานทดลองที่ทำให้เกิดการต่อต้านยาเสพติด คือการทดลองเอาหนูใส่ในกรงที่มีขวดน้ำเปล่าและขวดยาเสพติด ผลคือหนูเก้าในสิบตัวจะเลือกกินน้ำผสมเฮโรอีนและติดจนตายไป ภายหลังมีการทดลองเพิ่มเติมโดยการเพิ่มออพชั่นต่างๆ เช่น อาหารที่ดี ของเล่น เข้าไปในกรง ผลคือ หนูที่อยู่ในกรงสวรรค์ไม่ชอบน้ำดื่มที่มีสารเสพติด ลักษณะดังกล่าวไม่ใช่แค่เรื่องของหนู โยฮันน์พูดและเชื่อมโยงโดยนัยเข้ากับกรณีของคนอย่างเราๆ ด้วย เช่น กรณีของทหารที่ไปรบที่มีจำนวนถึง 20% ที่ใช้เฮโรอีนเพื่อรับมือกับความเครียด กรณีดังกล่าวทำให้เกิดความวิตกกันว่าทหารที่กลับมาจะเต็มไปด้วยผู้ติดยา แต่ผลคือเมื่อทหารกลับมาอยู่กับครอบครัวแล้ว กลับมีเพียงจำนวนน้อยมากๆ ที่ต้องเข้ารับการบำบัดยาเสพติด อีกกรณีในทำนองเดียวกันคือกรณีของผู้ป่วยกระดูกสะโพกที่ต้องใช้มอร์ฟีน สุดท้ายเมื่อพวกผู้ป่วยกลับไปอยู่กับครอบครัวที่พร้อมด้วยความรัก กลับไม่มีความจำเป็นต้องใช้ยานี้อีก
จากประเด็นเล็กๆ หากเราเปลี่ยนคำว่าเสพติด เป็นการสร้างความสัมพันธ์ อาจทำให้ความคิดหรือจินตนาการของเราเปลี่ยนแปลงไปอย่างสิ้นเชิง จากเดิมที่มองว่าเป็นปัญหาเฉพาะของสังคม เป็นปัญหาความผิดปกติของแต่ละบุคคล รวมไปถึงปัญหาจากตัวสารที่ส่งผลต่อสมอง เปลี่ยนเป็นมองเห็นเขาในฐานะเพื่อนมนุษย์คนหนึ่ง ที่เป็นส่วนหนึ่งของสังคม และมีมิติอื่นๆ ที่ส่งเสริมให้คนเหล่านั้นต้องพึ่งพายาเสพติด ซึ่งอาจจะเกิดมาจากปัญหาทางสังคม เศรษฐกิจ และสิ่งแวดล้อม ที่มีความสลับซับซ้อนมากกว่าแค่การตอบสนองต่อสารบางอย่างในสมองเพียงเท่านั้น
ปัญหาหลายๆ อย่างที่เรารู้สึกว่าเป็นเรื่องไกลตัว บางครั้งก็ใกล้ตัวเรากว่าที่คิด
ไม่มากก็น้อย เราต่างเป็นมนุษย์ เป็นส่วนหนึ่งของสังคมนี้ การกีดกัน ความไม่เสมอภาค ความอยุติธรรม หรือการกระจายทรัพยากรอย่างไม่เป็นธรรม ไปจนถึงการร่วมสร้างจินตนการบางอย่างที่ตรงหรือไม่ตรงกับความเป็นจริงบ้าง
ทุกสิ่งล้วนมีความสัมพันธ์เกี่ยวเนื่องกันจนก่อเกิดเป็นปัญหาสังคม
แนวคิดเรื่องการเปลี่ยนการทำสงคราม ไปเป็นความเข้าใจ