‘ปรัชญา’ ฟังดูเป็นวิชายากๆ เป็นเรื่องไกลตัว เป็นสิ่งที่เก่าแก่โบร่ำโบราณ แต่ระยะหลังดูเหมือนว่าจะเกิดกระแสที่บอกว่า วิชาปรัชญาไม่ใช่สิ่งที่พ้นสมัย ไม่ใช่วิชาที่ไม่เข้ากับโลก แต่เป็นวิชาสำคัญ หลายๆ ประเทศก็มีความพยายามเอาวิชาหรือวิธีการแบบปรัชญาไปใช้ในระบบการศึกษา ไปใช้ในการเรียนการสอน บริษัทสมัยใหม่ที่ดูจะเป็นเรื่องธุรกิจเรื่องเทคโนโลยีก็ดูจะพูดถึงความสำคัญของวิชาปรัชญา วิชาที่ว่าด้วยการขบคิดและการตั้งคำถาม
ปรัชญาคืออะไร เราเรียนไปทำไม คนทั่วๆ ไปอย่างเราจะใช้ประโยชน์จากปรัชญาได้แค่ไหน The MATTER ชวน ศ.ดร. โสรัจจ์ หงศ์ลดารมภ์ อาจารย์ประจำภาคปรัชญา คณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ที่ปัจจุบันดำรงตำแหน่งนายกสมาคมปรัชญาและศาสนา มาคุยเรื่องปรัชญาในมุมที่ใกล้ๆ ตัว
The MATTER : วิชาปรัชญาคืออะไร และเราเรียนวิชาปรัชญาไปทำไม
อ. โสรัจจ์ : ตอบได้หลายแบบ แบบแรกก็คือ เรียนไปเพื่อให้เกิดความสามารถในการตอบคำถาม ขึ้นอยู่กับว่าปรัชญาคืออะไร ปรัชญาเป็นวิชาที่ตอบปัญหาของสิ่งต่างๆ ที่เป็นพื้นฐานของสิ่งต่างๆ ที่เป็นรากฐานของความเข้าใจของเรื่องต่างๆ ความจริงคืออะไร ความดีคืออะไร เราจะมีความรู้ที่ถูกต้องได้อย่างไร อันนี้เป็นคำตอบแบบในตำรา พอเรารู้คร่าวๆ ว่าปรัชญาเป็นแบบนี้ เราก็พอจะตอบได้ว่า เรียนปรัชญาไปเพื่อตอบคำถามเหล่านี้ แล้วตอบไปทำไม คำตอบของอาริสโตเติลนักปรัชญาโบราณคือ มนุษย์มีความอยากรู้โดยธรรมชาติ การตอบคำถามปรัชญา คือการตอบสนองความอยากรู้โดยธรรมชาติของมนุษย์ อันนี้เป็นตัวอย่างหนึ่ง
ทีนี้ก็มีคำตอบอื่นๆ อีกเยอะ อาจเป็นคำตอบในเชิงปฏิบัติเช่น เอาไปช่วยในการทำงาน เป็นความพยายามในการแสดงให้เห็นว่าปรัชญามีประโยชน์ในสังคม ซึ่งมี เพราะปรัชญาเปิดโอกาสให้ได้คิดในเชิงนามธรรม คิดในเชิงคอนเซ็ปต์ มโนทัศน์ การมองเห็นภาพกว้าง มองเห็นความเชื่อมโยงกันของสิ่งต่างๆ ซึ่งทำให้เข้าใจอะไรได้รวดเร็ว มองเห็นความสัมพันธ์ของเรื่องราวที่ปกติอาจจะไม่ค่อยมีโอกาสได้คิด หรือได้มองเห็น
The MATTER : วิชาหรือวิธีคิดแบบปรัชญาสำคัญกับสังคมไทยไหม
อ. โสรัจจ์ : คนไทยเรามักจะถูกสอนกันมาให้เชื่อว่า ทุกสิ่งทุกอย่างมีคำตอบตายตัว หน้าที่ของนักเรียนคือรู้เจ้าคำตอบตายตัวนั้น แล้วก็เอามาใช้ แต่ว่าโลกเปลี่ยนเร็วมากและมีความหลากหลายซับซ้อนมาก จนกระทั่งคำตอบตายตัวต่างๆ ที่เราถูกสอนมา ไม่นานก็ใช้ไม่ได้แล้ว พอมันใช้ไม่ได้ เราก็เจอกับทางตัน พอเจอกับสถานการณ์ที่เราไม่ได้เรียนมา ถ้าเผื่อเราเชื่อว่าทุกอย่างต้องเป็นถูกกับผิด หรือขาวกับดำไปทั้งหมด นอกจากมีโอกาสจะเจอทางตันอย่างที่ว่าแล้ว เวลาเจอประเด็นหรือเจอคำถามต่างๆ ที่ไม่ได้มีคำตอบตายตัวอาจจะด้วยเหตุผลอะไรก็ตาม เราจะไม่สนใจมัน เราจะทิ้งมันไป แล้วเราจะไปหาอะไรที่มีคำตอบตายตัวแทน ซึ่งคำถามที่มีคำตอบตายตัว อาจจะเป็นคนละเรื่อง อาจจะไม่ใช่หัวใจของเรื่องที่เราต้องการแก้ปัญหาก็ได้
The MATTER : หรือปรัชญาเป็นเรื่องของความใจกว้าง
อ. โสรัจจ์ : ในเมื่อเรารู้ว่าคำตอบที่ถูกต้องเป๊ะๆ เนี่ยมันไม่ใช่ จึงนำไปสู่ความเป็นไป ‘ว่าเราอาจจะผิดก็ได้’ การเปิดใจกว้างก็เลยเป็นผลโดยตรงของการเรียนปรัชญา แต่การรับรู้ว่าตัวเองอาจจะผิดก็ได้ไม่ใช่ว่าคิดว่าตัวเองผิดแน่ๆ เพราะอันนั้นเป็นการคิดแบบเดิม ที่ว่าทุกอย่างต้องมีผิดหรือถูก 100% แต่ก็ไม่มีใครไม่รู้ความจริงหมดทุกอย่าง คือรู้บ้างไม่รู้บ้าง ก็ต้องมาแบ่งปันกัน การรับรู้แบบนี้ก็ไม่ได้แปลว่าไม่ต้องมีการมาโน้มน้าวใจซึ่งกันและกัน เพราะมันมีบางอย่างที่เป็นความจำเป็นที่ต้องตัดสินใจร่วมกัน
The MATTER : มีความพยายามในการใส่วิชาปรัชญาเข้าไปในการศึกษา ในโรงเรียน คิดว่าเป็นไปได้ไหม
อ. โสรัจจ์ : เป็นไปได้แน่นอน แต่โรงเรียนไทยมีแต่ครูยืนหน้าชั้น แล้วนักเรียนก็เป็นแถว จ้องหน้าครู เป็นแบบนี้มาเป็นสิบเป็นร้อยปี เราไม่ค่อยได้เห็นนักเรียนนั่งล้อมวงกันเป็นวงกลม แล้วครูนั่งอยู่ในวงกลม เป็นส่วนหนึ่งของวงกลมด้วย แล้วพูดคุยกัน ให้แต่ละฝ่ายเปลี่ยนใจกัน มีการเปิดใจให้กว้างรับฟังว่าความเห็นของอีกฝ่ายอาจจะดีกว่าของเรา ทั้งหมดนี้มาจากการไว้ใจกัน ไม่มีการปิดบังข้อมูล วิธีการแบบนี้เมืองไทยหาได้ยาก เป็นเหตุผลสำคัญว่าทำไมเมืองไทยถึงควรที่จะเรียนปรัชญา การเปิดใจให้กว้าง การรับฟังความคิดของคนอื่น การพยายามโน้มน้าวใจคนอื่นด้วยเหตุผลของตัวเอง และพยายามรับฟังคนอื่น ทั้งหมดนี้ถือเป็นคุณูปการของการเรียนปรัชญา
วิธีแบบนี้ใช้ได้ตั้งแต่ระดับประถมขึ้นมาเลย แค่พูดในลักษณะที่ไม่ซับซ้อนมาก แล้วค่อยๆ ซับซ้อนขึ้นมาเรื่อยๆ อย่างเรื่องนิทานที่ทิ้งท้ายไว้ว่าต้องมีประเด็นที่ต้องถกเถียง ที่ต้องคิดต่อ นิทานแบบที่ว่าตัวเอกไม่ได้ดี 100% มีจุดเสียบางอย่าง ให้เด็กได้มาถกเถียงกัน ครูต้องเปลี่ยนวิธีในการปฏิสัมพันธ์กับเด็ก เป็นเหมือนกับคนที่ร่วมสนทนาด้วย เป็นคนคอยจับประเด็น คอยตะล่อมประเด็น
The MATTER : เมื่อโตขึ้น เราจะยังรักษาความเป็นเด็ก ความสนุก และการเปิดใจกว้างอย่างไร
อ. โสรัจจ์ : เรามีความเป็นเด็กกันทุกคน ลักษณะของเด็กคือถามคำถามไม่เลิก ถามไม่หยุด เราก็อาจจะหาเวลาที่เรากลับมาเป็นเด็กอีกครั้ง มาถามคำถามพวกนี้อีกครั้ง ไม่มีใครตอบเรา เราก็หาคำตอบของเราเอง ถามตัวเอง ตัวเองเป็นผู้ตอบ ค้นเอง คิดเอง หรือถ้ามีใครที่ยินดีที่จะมาแชร์คำถามกับเรา เราก็มีโอกาส มีเรื่องคุยกับเขา ถือว่าเป็นการคุยที่ประเทืองปัญญา ในอังกฤษหรืออเมริกามีชมรมปรัชญา คือไม่จำเป็นว่าต้องเป็นคนที่เรียนปรัชญา แต่เป็นคนที่สนใจ มาคุยเรื่องทั่วไป คำถามกว้างๆ อย่าง ชีวิตคืออะไร ความดีคืออะไร ประชาธิปไตยกับเผด็จการอะไรดีกว่ากัน มีการนัดเจอกันเป็นระยะๆ ตรงนี้ทำให้การคิดของเราไม่โดดเดี่ยวจนเกินไป
The MATTER : มองอย่างไรกับคำพูดที่ว่า จะคิดมากไปทำไม คิดมากก็ปวดหัว อยู่ยาก
อ. โสรัจจ์ : เป็นไปได้ว่า คนที่พูดแบบนี้พยายามให้คนอื่นเชื่อแบบนี้ เป็นคนที่อยากจะหลอกคนอื่นให้ไม่สนใจในเรื่องความรู้ ให้คิดแค่ว่า เชื่ออย่างเดียว โดยเฉพาะผู้มีอำนาจหรือสื่อที่ขึ้นกับผู้มีอำนาจ จะได้เป็นคนที่ว่านอนสอนง่าย คนไทยมีการปลูกฝังคุณค่าแปลกๆ อย่างว่านอนสอนง่าย เดินตามผู้ใหญ่หมาไม่กัด เหล่านี้มีประโยชน์ในแง่ที่ทำให้การปกครองทำได้โดยง่าย บอกให้ทำอะไรก็ทำ นัดกันทำอะไรพร้อมกันก็ทำ ให้เลี้ยวซ้ายก็เลี้ยว ให้เลี้ยวขวาก็เลี้ยว ให้ทำอะไรทำหมด
ถามว่าดีไหม ดีในสายตาของผู้ปกครอง ทำให้คนไทยเป็นเหมือนกับดินน้ำมันอ่อนๆ อยากปั้นไปทางไหนก็ได้ แต่ข้อเสียคือจะเกิดอะไรขึ้นถ้าผู้ปกครองเกิดปั้นแล้วเละ เราจะยอมให้คนไทยทั้งหมดกลายเป็นเละไปหมด ด้วยการตัดสินใจผิดๆ ของผู้ปกครองหรือเปล่า เพราะฉะนั้นการตัดสินควรจะเป็นเรื่องสาธารณะ เป็นเรื่องของการคุยกันถกกัน โดยที่ไม่มีการคิดหรือเชื่อไว้ก่อนว่ามีใครที่รู้มากกว่าคนอื่นแล้วเชื่อไปเลย การปลูกฝังให้เชื่อคนอื่นโดยไม่คิดเป็นอันตรายมากๆ โดยเฉพาะเมื่อโลกเปลี่ยนไปแบบนี้
The MATTER : ในโลกที่ความรู้ไหลบ่าและรวดเร็ว เราจะจัดการความรู้อย่างไรให้ดี
อ. โสรัจจ์ : ในโลกที่ข้อมูลข่าวสารมีมากมาย ท่วมท้นเข้ามาหาเราอยู่ตลอดเวลา ในวิชาปรัชญามีวิชาการใช้เหตุผล ซึ่งตอบคำถามว่า อะไรควรเชื่ออะไรไม่ควรเชื่อ ในระดับง่ายๆ ในระดับว่าเหตุผลมันผิดหลักหรือถูกหลัก คือเรียนตัวหลักของการอ้างเหตุผล ถ้าเราเรียนจนการใช้เหตุผลซึมซับเข้าไปในตัวเรา ใครพูดอะไรมา เสนอเหตุผลอะไรมา ก็จะจับได้ทันทีว่าใช้ได้หรือไม่ได้ เป็นวิธีการหนึ่งในการเลือกเชื่อเฉพาะข้อมูลข่าวสารที่มีคุณค่าเพียงพอ ถูกต้องเป็นจริง มีหลักฐานครบถ้วนสมบูรณ์ เราก็จะมีความสามารถในการแยกแยะได้ ถ้าฝึกการเรียนแบบนี้มาตั้งแต่เด็ก ความสามารถในการแยกแยะอะไรแบบนี้ จะไวขึ้นจะชัดเจนขึ้น
The MATTER : คิดอย่างไรกับโลกที่ทุกคนดูสิ้นหวัง เราจะมองอนาคตอย่างไรดี
อ. โสรัจจ์ : มีนักปรัชญาชื่ออิมมานูเอล คานท์ พูดถึงปัญหาสำคัญทางปรัชญา หนึ่งในคำถามนั้นคือเราสามารถที่จะหวังอะไรได้บ้าง มีอะไรบ้างที่เราหวังได้ คำตอบคือว่า ความหวังเป็นสิ่งจำเป็น มนุษย์ไม่สามารถอยู่ได้โดยไม่มีความหวัง ถ้าไม่มีความหวังความหมายของชีวิตจะหายไปเยอะ จะอยู่ไปวันๆ ซังกะตาย อยู่ไปแบบหุ่นยนต์