ลืมเธอยังลืมมาแล้ว แต่ลืมตาในเช้าวันจันทร์ทำแทบไม่ไหว ใจหนึ่งก็ต้องลุกไปทำงานตามหน้าที่ ปากท้องที่มีก็ยังต้องกินข้าว ไหนจะบิลสิ้นเดือนที่ยาวเป็นหางว่าว
อีกใจหนึ่งที่เหมือนจะมีปีศาจสันหลังยาวคอยเป่าหูว่าจะลุกไปทำไมกัน ในวันอากาศดีๆ นอนแป๊บเดียวยังสบายขนาดนี้ นอนต่อยาวๆ ทั้งวันจะสบายขนาดไหน หาเรื่องลาให้ได้สักอย่างสิ สบายเลยไม่ต้องรอ หากการลุกไปทำงานมันยากขนาดนี้ มันเกิดอะไรขึ้นกับงานหรือเปล่า หรือเป็นที่ตัวเรากันแน่?
หากตอนนี้ยังอยู่กับภาพชาวออฟฟิศหัวฟูอยู่บนที่นอนในเช้าวันจันทร์ เราขอกรอภาพกลับไปยังวันที่เราเลื่อนหางานในเว็บไซต์ยอดฮิตกันก่อน เป็นเราเองนี่แหละที่เห็นตำแหน่งนี้แล้วสนใจ กดส่งประวัติและผลงานไปเองกับมือ ซ้อมตอบคำถามในวันสัมภาษณ์ซ้ำแล้วซ้ำเล่า ตื่นเต้นกับวันทำงานวันแรกและหวังใจว่าจะฝากตัวรับใช้นายที่นี่ได้แน่ เป็นเราเองที่ก้าวขาเข้ามาในงานนี้ และก็เป็นเราเองอีกเช่นกันที่ไม่อยากแม้แต่จะลุกไปทำงานในทุกวัน
หากเป็นแค่วันเริ่มต้นสัปดาห์ วันต่อมาฟิตเต็มข้อก็คงไม่เป็นปัญหาอะไร แต่หนักเข้าเริ่มไม่สนว่าวันไหน เพราะไม่อยากไปทำงานเลยสักวันเดียว หรือเรากำลังเผชิญกับปัญหาอะไรสักอย่างอยู่ไหมนะ ปัญหาที่เราทับถมมันไว้ด้วยการทำงานให้หมดวันไปเรื่อยๆ หากใครอยู่ในอาการนี้ เราขอผายมือให้ทุกคนมานั่งลงข้างกัน หายใจให้ลึกเข้าไว้แล้วไปสำรวจเบื้องหลังปัญหาน่าเบื่อหน่ายนี้กัน
หากจะถามถึงเหตุผลที่ทำให้คนเราไม่อยากไปทำงานเนี่ย ยกนิ้วมือขึ้นมานับก็ไม่หมด แต่ละคนต่างมีรายละเอียดเล็กน้อยต่างกันไป งั้นเราขอยกตัวอย่างเป็นเรื่องราวยอดฮิตของวัยทำงานที่ได้ยินปัญหาเดิมๆ มาทุกยุคทุกสมัยกันก่อน
ความสัมพันธ์กับเพื่อนร่วมงานไม่ราบรื่น
เครียดกับงานยังพอทน เครียดกับคนใครอยากทนก็ทนเลย ปัญหาสุดคลาสสิกที่เกิดขึ้นได้กับทุกสายอาชีพในทุกช่วงเวลา แต่จะหลีกเลี่ยงด้วยการทำงานแบบไม่ติดต่อสื่อสาร หรือร่วมมือกับใครเลยก็ไม่ได้ เราก็เลยต้องฝึกความอดทนให้ตัวเองเสียหน่อย
เชื่อเถอะว่าเรื่องนี้ไม่ได้เจอแค่เราคนเดียวแน่ จากผลสำรวจของเว็บไซต์จัดหางาน FlexJobs เผยตัวเลขที่น่าสนใจเกี่ยวกับเรื่องนี้ไว้ว่า กว่า 87% ของผู้คนล้วนเคยทำงานกับหัวหน้าร้ายๆ มาแล้วอย่างน้อยหนึ่งครั้ง และ 43% เลือกจะลาออก เพราะไม่อยากทนกับพฤติกรรมร้ายๆ ของเจ้านายและเพื่อนร่วมงาน
เข้ากับวัฒนธรรมองค์กรไม่ได้
ปัญหานี้ความคล้ายคลึงกับเรื่องเพื่อนร่วมงาน แต่เปลี่ยนมาเป็นสิ่งนามธรรมอย่างวัฒนธรรมองค์กรแทน ซึ่งออกมาในรูปแบบที่เราไม่เข้าใจว่าทำไมต้องให้ความสำคัญกับเรื่องตำแหน่งขนาดนั้นนะ ทำไมเลือกทำงานวิธีนี้กัน ถ้าไม่ได้ผลงานดีแบบคนนั้นจะไม่มีวันได้รับคำชมเลยใช่ไหม อะไรเหล่านี้ที่เราตั้งคำถาม และรู้สึกว่าบรรยากาศโดยรวมรอบตัวช่างไม่เอื้ออำนวยให้เราก้าวเท้าเข้ามาด้วยจิตใจแจ่มใสสักเท่าไหร่เลย จนเราเอาแต่เฝ้าฝันว่าสนามหญ้าบ้านอื่นที่เรามองมานาน จะเขียวชะอุ่มเมื่อถึงวันที่เรากล้าออกจากที่นี่ไปอยู่ที่นั่นหรือเปล่านะ
ไม่มีเป้าหมาย ไม่ท้าทาย ไม่เติบโต
ใครๆ ต่างก็บอกว่าเราทำงานนี้ได้ดี แต่เรากลับอยู่ตำแหน่งนี้ที่เดิมตรงนี้มานาน ไม่มีวี่แววว่าจะได้ขยับไปไหน จนอยากเปลี่ยนตำแหน่งในนามบัตรเป็นปู่โสมเฝ้าทรัพย์ให้รู้แล้วรู้รอดไป ยิ่งนานวันความหวังที่จะก้าวหน้า เติบโต ไปเจอความท้าทายใหม่ๆ อย่างที่เคยวาง career path เอาไว้ก็ค่อยๆ เลือนรางหายไปทุกที
ปัญหานี้อาจไม่ใช่เรื่องกวนใจอย่างข้ออื่น แต่เราก็ไม่อาจจมอยู่กับปัญหานี้ได้นานเหมือนกัน หากเรายังอยากเติบโตไปอยู่ในจุดที่สูงขึ้น ก้าวเดินไปข้างหน้าด้วยความมั่นคง พื้นที่ตรงนี้อาจเล็กเกินจะให้เราเติบโตไปมากกว่านี้แล้ว
ปัญหาเหล่านี้คงฟังกันจนเบื่อจากทั้งเพื่อน คนรัก ครอบครัว เพราะใครๆ ต่างก็ต้องเจอปัญหาเหล่านี้กันสักครั้ง แต่เอ๊ะ ในเมื่อมันเกิดขึ้นบ่อยก็จริง แต่ใช่ว่าทุกคนจะยอมแพ้จนไม่ยอมตื่นมาทำงานแบบเราเสียหน่อย เรายังเห็นทั้งคนที่เจอกับปัญหา แต่ยังลุกขึ้นสู้ทำงานเต็มวันแบบไม่มีอิดออด หรือกระทั่งคนที่ไม่เจอปัญหาอะไรเลย แต่กลับไม่อยากทำงานเหมือนกับเรา ทำไมทุกอย่างดูสลับซับซ้อนไปหมด นี่เรายังสาวไม่ถึงต้นตองั้นเหรอ หรือว่ามันจะมีอะไรอยู่เบื้องหลังปัญหาที่เล่ามาอีกนะ?
คุ้มที่จะตื่นไปทำงานหรือเปล่า?
เราอาจมัวคิดสารตะไปกับการหาสาเหตุสารพัด เพราะเจ้านายใจร้าย เพื่อนร่วมงานตัวแสบ เดินทางแสนลำบาก งานหนักเลือดตาแทบกระเด็น แต่เราก็ยังเห็นคนที่เจอปัญหาเหล่านี้แล้วยังอยากไปทำงานอยู่ดี นั่นอาจเป็นเพราะเขาคิดมาแล้วว่าทำไปก็คุ้มไงล่ะ หลายครั้งเราอาจจะมัวแต่โฟกัสกับการไล่ตามปัญหาจนอาจลืมสิ่งนี้ไป
คำถามนี้อาจเป็นสิ่งที่เรามองข้ามไป หรือไม่เคยนึกถึงมันมาก่อนด้วยซ้ำ งั้นเราลองมาเช็กกับตัวเองกับคำถามนี้กันหน่อยดีกว่า หากวางปัญหาที่เรามีไว้ตรงหน้าแล้วมาจับเข่าคุยกับว่า ที่ทำอยู่มันคุ้มหรือเปล่า? สมมติว่าเราเจองานหนักเหมือนแบกแผนกไว้บนหลังเราเอง แต่เงินเดือนวิ่งเข้าบัญชีก็หายเหนื่อยเป็นปลิดทิ้ง เพราะมันมากพอให้เราได้ชดเชยให้ตัวเองด้วยคุณภาพชีวิตที่ดีได้ หรือจะเป็นเดินทางลำบากจนเสียเวลาบนถนนไปหลายชั่วโมง แต่เพื่อนร่วมงานดีมาก เดินเข้าออฟฟิศไปแล้วหายเหนื่อย จนมีแรงเดินทางไปกลับแบบไม่เอ่ยปากบ่น
ในทางกลับกัน คำถามเดิมนั้นอาจพลิกเป็นไม่คุ้มขึ้นมามันจะเป็นยังไง งานที่รัก งานที่ชอบ แพชชั่นเต็มเปี่ยม แต่เงินไม่ดีเอาเสียเลย ทำงานไปแค่พอจ่ายบิล ไม่เหลือมาใช้ชีวิตด้วยซ้ำ แล้วไอความคุ้มค่าเนี่ยไม่ได้จำกัดอยู่แค่แรงกายที่เราทุ่มเทลงไปเท่านั้น แรงใจก็ถูกนับด้วยเหมือนกัน อย่างงานที่เงินดีมาก แต่เพื่อนร่วมงานท็อกซิกจนรู้สึกว่านั่งทำงานไปก็บั่นทอนใจเข้าไปทุกที จึงไม่แปลกที่เราจะรู้สึกขี้เกียจจะลุกไปต่อสู้ เพราะรู้สึกไม่คุ้มที่จะต้องทำ
หากเกิดคำถามกับงานที่ทำขึ้นมา ทางออกจึงไม่ใช่แค่การโฟกัสปัญหาเพียงอย่างเดียว ถ้าเราได้ลองพูดคุย สะท้อนความต้องการกับตัวเองอยู่เสมอ (หรือจะหาเพื่อนแลกเปลี่ยนก็เป็นตัวเลือกที่ดี) ว่าในตอนนี้เราได้สิ่งตอบแทนคุ้มกับที่ลงทุนไปไหม มันอาจเคยคุ้มในวันวาน แต่ถ้าวันนี้เราต้องการมากขึ้นและมองว่ามันไม่คุ้มแล้ว สิ่งนี้ก็เกิดขึ้นได้เหมือนกัน แม้จะได้คำตอบในใจแล้วล่ะว่ามันคุ้มหรือไม่คุ้มยังไง
แต่ถ้าหากอยากสำรวจว่างานที่เราทำอยู่ยังใช่กับเราแค่ไหน สามารถอ่านเพิ่มเติมได้ที่ thematter.co
หรือเราจะแค่ขี้เกียจเฉยๆ
สำรวจปัญหาให้ตัวเองแล้วเหมือนจะไม่มีปัญหาอะไรนี่นา หรือต่อให้มีก็รู้สึกว่าทำไปแล้วยังคุ้มอยู่จนไม่รู้สึกว่าเป็นปัญหา งั้นก็เหลืออย่างเดียวแล้วล่ะ ใช่แล้ว แค่ขี้เกียจเฉยๆ นี่แหละ ใครจะอยากยอมรับว่าตัวเองขี้เกียจกันล่ะ แม้บางครั้งมันก็ไม่ได้มีเบื้องลึกเบื้องหลังอะไรมากมายนักหรอก เราแค่ไม่อยากยอมรับมันเท่านั้นเอง เพราะถ้ามีเหตุผลดีๆ ฟังแล้วมีน้ำหนักเสียหน่อยอาจทำให้เรารู้สึกผิดกับตัวเองน้อยกว่า ถ้าจะหาข้ออ้างลาในวันจันทร์ หรือกดเลื่อนนาฬิกาปลุกในวันทำงาน
ทว่ายังไม่ต้องรู้สึกแย่ขนาดนั้น ใครๆ ต่างก็มีวันที่ขี้เกียจกันทั้งนั้นแหละ (เราอาจจะมีมากหน่อย) ใครกันจะทำงานติดต่อกันทุกสัปดาห์ ไม่มีปิดเทอมอย่างสมัยเรียนโดยไม่เหนื่อยได้บ้างล่ะ สิ่งที่เรากำลังจะบอกคือความโปรดักทีฟ ความขยัน อันนี้อาจเป็นสิ่งดี แต่ความขี้เกียจก็ไม่ได้เป็นสิ่งเลวร้ายไปเสียทั้งหมดเหมือนกัน
งานวิจัยจาก Yale University ในปี 2016 เผยว่า ช่วงเวลาผ่อนคลายทำให้หัวใจของเราสุขภาพดีขึ้น ลดความเครียดลง ช่วยลดความตึงเครียดของกล้ามเนื้อและสามารถช่วยให้คุณหลีกเลี่ยงภาวะซึมเศร้า วิตกกังวล จึงแนะนำให้เรามีเวลาผ่อนคลายให้ตัวเองเสมอ ตั้งมันไว้เป็นหน้าที่ที่ต้องทำไม่ต่างจากงานได้เลย
ทีนี้คงพอจะเห็นภาพแล้วว่า ทำไมบางคนถึงมีตารางงานที่เห็นแล้วต้องอ้าปากค้าง เพราะทำงาน 30 วันเต็มเดือน (เช่นลำไย ไหทองคำ) แต่เขายังอยากทำ เพราะมันมีจุดที่เขาคิดว่าคุ้มที่จะทำ อาจเป็นเงิน แพชชั่น ชื่อเสียง อะไรก็ตามที่ลงแรงกายแรงใจไปแล้วรู้สึกว่าคุ้ม ถ้าเราเองเจออะไรที่คุ้มจนอยากลุกไปทำบ้าง ตารางงานของเราก็คงแน่นไม่แพ้กัน (และก็คงไม่อ่านบทความนี้อยู่ตอนนี้หรอก) ใครบ้างจะอยากขี้เกียจกับงานที่ทำแล้วคุ้มล่ะ
หมั่นสำรวจความต้องการของตัวเองเสมอ ว่างานที่ทำอยู่ยังคุ้มให้ลงแรงอยู่ไหม ถ้าไม่คุ้มแล้วเรามีแผนยังไงให้ตัวเอง หรือถ้าเราแค่ขี้เกียจเฉยๆ ก็ไม่เห็นเป็นอะไรเช่นกัน อย่างน้อยเราทำหน้าที่ในงานของเราได้ดีไม่มีตกหล่นก็เพียงพอแล้ว
อ้างอิงจาก