โอลิมปิกใกล้เดินทางถึงจุดหมายของการแข่งขัน ในวันที่ วิว กุลวุฒิ ได้รับชัยชนะ มีมีมเล็กๆ ที่ว่าลุงป้อมไปเชียร์รอบไหนก็ได้ชัยชนะหมด ลุงป้อมจึงอาจเป็นเหมือนเทพีแห่งชัยชนะที่ช่วยอำนวยพรให้กับนักกีฬา?
ว่าด้วยเรื่องทวยเทพ โอลิมปิกที่ปารีสในปีนี้มีความพยายามตีความโอลิมปิกกลับไปยังรากฐานอย่างตำนานกรีก เช่นในพิธีเปิดที่ให้ภาพเทพเจ้าไดโอนีซุส (Dionysus) ตัวสีฟ้า ซึ่งทางผู้จัดอธิบายว่าเป็นเทพเจ้าแห่งการเฉลิมฉลอง และถ้าเรามองย้อนกลับไป การจัดการแข่งโอลิมปิกในสมัยกรีกโบราณนั้น ถือว่าเป็นการแข่งขันกีฬาที่ไม่ได้มีแค่เรื่องการแสดงศักยภาพทางร่างกาย ทว่าเรือนร่างของนักกีฬาและการเล่นกีฬายังนับเป็นการบูชา และเป็นงานรวมตัวเพื่อเน้นย้ำปรัชญาของชาวกรีกทั้งปวงด้วย
ในวันที่โอลิมปิกกำลังจะก้าวไปสู่พิธีปิดในวันที่ 11 สิงหาคม 2024 ที่จะถึงนี้ The MATTER ขอชวนผู้อ่านย้อนเวลากลับไปยังโอลิมปิกในยุคกรีกโบราณ ไปถึงงานใหญ่ที่จัดบนยอดภูเขาโอลิมเปีย (Olympia) ภูเขาที่สูงที่สุดในภาคพื้นที่ทวีป งานแข่งขันที่แม้กระทั่งรัฐศัตรูคู่อาฆาตยังทำสัญญาจับมือกันเพื่อหยุดสงคราม งานโอลิมปิกจึงถือว่าเป็นการแข่งกีฬาครึ่งหนึ่ง และเป็นเทศกาลเพื่อความเชื่ออีกครึ่งหนึ่ง
เขาโอลิมเปีย แซงค์ทัวรี่ของซุส
การแข่งขันโอลิมปิกยุคโบราณถือเป็นส่วนหนึ่งของเทศกาลบูชาเทพเจ้าซุส โดยจัดขึ้นที่ภูเขาโอลิมเปีย ภูเขาที่สูงที่สุดในพื้นที่แผ่นดินใหญ่ของกรีซ ซึ่งมีชื่อนี้มาตั้งแต่ยุคโบราณ และถือว่าเป็นพื้นที่ศักดิ์สิทธิ์ (Sanctuary) ซึ่งอุทิศให้กับเทพเจ้าซุสผู้เป็นประมุขแห่งเขาโอลิมปัส
อันที่จริงการแข่งขันกีฬาในรัฐหรือเมืองสำคัญของกรีก นอกจากโอลิมปิกแล้ว ยังมีการจัดการแข่งขันเพื่อเซ่นสรวงบูชาเทพเจ้า เป็นการแข่งขันที่เกิดขึ้นในอีกหลายเมือง ซึ่งเป็นการบูชาเทพเจ้าประจำเมืองนั้นๆ เช่น กรุงเอเธนส์มีการแข่งขันเพื่อบูชาเทวีอะธีนา (Athena) ในเดลฟี (เมืองที่เลื่องชื่อจากเทพพยากรณ์แห่งเดลฟี) ก็จัดกีฬาเพื่อเป็นเกียรติแก่อพอลโล (Apollo) โดยสเกลของการแข่งขันน้อยใหญ่มีลักษณะแตกต่างกัน แต่แกนหลักของการแข่งขันจะประกอบด้วยการแข่งกรีฑา มวยปล้ำ และชกมวย ซึ่งเป็นจุดร่วมสำคัญของการกีฬากรีกโบราณ
ถ้าเรามองย้อนไปในตำนานต่างๆ กีฬานับเป็นส่วนสำคัญหนึ่งในเรื่องเล่าของเหล่าทวยเทพ บางส่วนเชื่อว่าทวยเทพนั้นลงมาร่วมแข่งขันกีฬาต่างๆ ด้วยตัวเอง เหตุการณ์สำคัญในตำนานกรีก เช่น การขึ้นเทพบดีของซุสเกิดจากการใช้มวยปล้ำเอาชนะเทพบิดาอย่างโครนอส (Kronos) การแข่งขันในตำนานอื่นๆ เช่น เทพอพอลโล่แข่งวิ่งและเอาชนะเฮอร์มีส (Hermes) เทพเจ้าแห่งการสื่อสารและความว่องไว รวมถึงเอาชนะแอรีส (Ares) เทพเจ้าแห่งสงครามในการชกมวยได้ กีฬา 3 ชนิดนี้จึงดูเป็นแกนสำคัญของโอลิมปิกกรีกโบราณ
ในแง่ของพิธีกรรม ระหว่างเทศกาลการแข่งขัน (700 ปีก่อนคริสตกาล) การแข่งขันจะประกอบด้วยการบูชาเทพเจ้า หรือพิธีกรรมทางศาสนา เช่น ในวันที่การแข่งขันดำเนินมาถึงครึ่งทางจะมีการบูชายัญวัว 100 ตัว ในขณะเดียวกัน เหล่านักกีฬาก็จะทำการบูชาและเซ่นสรวงทวยเทพต่างๆ เพื่อชัยชนะ มีการสังเวยสัตว์บูชา พืชผล ไปจนถึงขนมอบเล็กๆ
ยอดเขาโอลิมเปียซึ่งเป็นศูนย์กลางของการแข่งขันกีฬาจึงค่อยๆ เฟื่องฟูขึ้นเรื่อยๆ พื้นที่ศักดิ์สิทธิ์ของซุสเองก็เริ่มมีการสร้างกลุ่มอาคารและลานต่างๆ เพื่อใช้บูชา เช่น เทวรูปซุสที่สูงถึง 42 ฟุต
Ekecheiria พักรบเพื่อกีฬาและการรวมตัวของชาวกรีก
การแข่งขันกีฬาของชาวกรีก ไม่ว่าจะเป็นโอลิมปิกหรือการแข่งขันอื่นๆ เช่นในเมืองเดลฟี การแข่งขันในยุคนั้นเรียกว่าเป็นการแข่งขันของชาวกรีกทั้งปวง (Panhellenic Game) คือการแข่งขันรวมถึงงานโอลิมปิกที่จัดขึ้นทุก 4 ปี ซึ่งนับเป็นอีเวนต์เฉพาะของชาวกรีกที่เชื่อในพระเจ้าเดียวกัน พูดภาษาเดียวกัน ทว่าชาวกรีกในสมัยนั้นยังกระจายตัวไปในหลายพื้นที่ และที่สำคัญคือบางส่วนเป็นปฏิปักษ์ต่อกัน
ดังนั้น รากฐานหนึ่งของการแข่งขันโอลิมปิกจึงมีสิ่งที่เรียกว่า Ekecheiria เป็นชื่อเทวีแห่งการยุติความเป็นปรปักษ์ การหยุดสงครามหรือความขัดแย้ง ความหมายโดยตรงของคำคือ การจับมือ (holding of hands) การยุติความขัดแย้งนั้นมาจากข้อตกลงในระดับรัฐที่ปัจจุบันเรียกว่า การสงบศึกษาโอลิมปิก (Olympic Truce) ซึ่งมีที่มาจากราวศตวรรษที่ 9 หลังคริสตกาลที่กษัตริย์กรีกจากสามดินแดนอย่าง อิลิส (Elis) ปิซา (Pisa) และสปาร์ตา (Sparta) ทำสัญญาสงบศึก โดยมีเงื่อนไขให้เมืองที่เป็นศัตรูกันไม่ทำอันตรายแก่นักกีฬา ทั้งยังมีหน้าที่อำนวยสิ่งต่างๆ ให้กับนักกีฬาและผู้มาร่วมงานการแข่งขันอย่างเหมาะสมด้วย
ตรงนี้เองที่โอลิมปิกสมัยใหม่จับมิติของมหกรรมกีฬา ในฐานะตัวแทนของการสร้างสันติภาพและยุติความขัดแย้ง ในสมัยนั้นการรวมตัวกันของชาวกรีกจากพื้นที่ที่ห่างไกล ถ้ามองจากเขตแดนในปัจจุบัน คือมาจากสเปน อิตาลี ลิเบีย อียิปต์ ยูเครน และตุรกี ทั้งยังเป็นการรวมกันเพื่อยืนยันถึงความเป็นคนกรีก และการแสดงเรือนร่างของนักกีฬาที่ถูกฝึกฝนมาอย่างดี ก็สะท้อนถึงการอยู่ในครรลอง อยู่ในวินัย และการจัดการตัวเองที่สะท้อนออกมาผ่านเรือนร่างซึ่งแสดงออกในการแข่งขัน โดยถือเป็นการบูชาเทพเจ้าอย่างสำคัญ และเป็นการรักษาค่านิยมของชนชั้นสูงในขณะนั้น เพราะกีฬาของชาวกรีก ผู้เข้าร่วมมีแต่บุรุษชนชั้นสูงเท่านั้น
การย้อนกลับไปยังมิติทางศาสนา และที่มาของโอลิมปิกในยุคกรีกโบราณ นอกจากความน่าสนใจในการเป็นส่วนหนึ่งของพิธีกรรมและการบูชาทวยเทพแล้ว ประเด็นเรื่องร่องรอยของการใช้การกีฬา และการขัดแย้งกันของชาวกรีกที่ส่วนหนึ่งเป็นการสะท้อนความเป็นอันหนึ่งอันเดียว ผ่านการมีค่านิยม มีภาษา และมีศรัทธาความเชื่อเดียวกัน จึงนับเป็นอีกหนึ่งการนำเอาร่องรอยของที่ล้ำสมัยของยุคโบราณกลับมาใช้ใหม่
ตรงนี้เองซึ่งเชื่อมโยงกลับมายังปารีสโอลิมปิก ในฐานะประเทศที่ให้กำเนิดโอลิมปิกสมัยใหม่ จากการริเริ่มของ ปิแอร์ เดอ คูเบอร์แต็ง (Pierre de Coubertin) ซึ่งนำเอาภาพสัญลักษณ์ห่วงทั้ง 5 ที่วาดด้วยมือมาแสดงในพิธีเปิดของปารีส เพื่อรำลึกถึงมรดกทั้งของฝรั่งเศส และย้อนกลับไปถึงที่มาจากสมัยกรีกโบราณด้วย
อ้างอิงจาก