บางทีก็งงกันไหม ทำไมสังคมไทยถึงเต็มไปด้วยการสอน
ล่าสุด พอโปเกมอนโกเป็นกระแส ก็เกิดประโยคคมๆ ประมาณว่า แทนที่จะจับในโลกออนไลน์ ก็เอาเวลาไปกอดพ่อแม่ดีกว่า ซึ่งคนฟังแล้วก็งงๆ ว่าเอ๊ะ เหมือนจะดี แต่คิดอีกที ชักงงๆ ว่าเฮ้ยมันเกี่ยวกันยังไงหว่า เรื่อยไปจนผู้หลักผู้ใหญ่ออกมาเตือนให้ระวังบ้าง ไปจนถึงมีการประชุมว่าจะต้องมีการควบคุมพื้นที่ของการเกิดโปเกมอน ไปจนถึงมีการควบคุมเวลาด้วย
อ้าว นี่ประชากรอายุเท่าไหร่กันเนี่ย ฟังดูเหมือนเราทุกคนจะอายุประมาณ 8 ขวบ และทุกคนทำตัวเหมือนเป็นผู้ปกครองเรา คอยชี้นำสั่งสอนไม่พอ ยั้งจะสร้างกฏต่างๆ มากะเกณฑ์ควบคุมกันไปอีก
ซึ่งถ้าเราลองย้อนดูสื่อต่างๆ เราจะพบว่า สังคมไทยทำเหมือนว่าพลเมือง หรือคนในสังคมเหมือนกับเป็นเด็กน้อยเสมอ ไม่ว่าจะในรายการทีวี ละคร หนังหรือแม้แต่โฆษณา มักจะต้องมีจุดประเด็นในการสั่งสอนคุณธรรมความดีในตอนท้ายเสมอ คล้ายๆกับบทบาทของนิทานอีสป ที่ผู้ใหญ่เล่าให้เด็กๆ ฟังก่อนนอน
ฟังดูมันก็เหมือนจะดีนี่นา มีความรับผิดชอบต่อสังคมก็ประมาณนี้ไง สื่อหรือผู้รู้ทั้งหลายก็มีหน้าที่ชี้นำจรรโลงให้สังคมมันดีขึ้นไง
ปัญหาของการสั่งสอน?
ปัญหาเล็กของการสอน คือการที่คนรู้สึกว่าฉันนี่เป็นผู้ใหญ่ และมีหน้าที่ที่จะต้องมาชี้นำสั่งสอน คือพอพูดแบบนี้แล้วเป็นแง่ลบเล็กน้อย ซึ่งจริงๆ ก็ไม่ได้แย่ไปทั้งหมด เพียงแต่ประเด็นสำคัญคือ ประชากรทั่วๆ ไปไม่ใช่เด็ก และสังคมก็ไม่ใช่โรงเรียน สิ่งที่ควรคำนึงคือคนทุกคนต่างก็มีวิจารณญาณ มีความคิดและมีสิทธิที่จะเลือกและรับผิดชอบชีวิตตัวเองอย่างเหมาะสม
แบบนี้ก็พูดอะไรไม่ได้ สอนอะไรไม่ได้เลยใช่ไหม? คำตอบคือไม่ใช่ แต่ประเด็นอยู่ที่ว่าถ้าเป็นการสอนหรือการควบคุม มันจะเป็นความสัมพันธ์แบบทางเดียว แบบบนลงล่าง แบบผู้ใหญ่ผู้น้อย แต่ถ้าเรามองและเคารพซึ่งกันและกัน มันจะไม่ใช่การสอน แต่อาจจะเป็นการแนะนำและการถกเถียงกันมากกว่า
ถามว่าแล้วการสอนมีปัญหาในตัวเองไหม กวีและนักวิจารณ์ Edgar Allan Poe คนนี้ขาแรงนิดนึง ตำหนิว่างานแนวสั่งสอนหรือบทกวีเขียนขึ้นเพื่อสั่งสอนถือว่าเป็นงานที่นอกรีต เพราะโปเห็นว่าหน้าที่ของกวีนิพนธ์คือการเผยให้เห็นความจริงหรือสัจธรรมบางอย่างโดยที่ไม่มีการไปตัดสินชี้นำว่าอะไรดีไม่ดี การสั่งสอนมันมีนัยของการบอกว่าอะไรดีไม่ดี ซึ่งโปไม่โอเคกับจุดนี้มากๆ
ถ้าเรามองในจุดของโป และผนวกกับประเด็นว่าการสอนมันไม่ควรจะมาอยู่ในสังคมวงกว้างเท่าไหร่เพราะมันเป็นการส่งสารทางเดียว การสอนนัยหนึ่งมันคือการที่คนคนหนึ่ง เชื่อว่านี่คือวิถีที่ดีงาม ที่ควร นี่คือบรรทัดฐานที่ถูกต้อง และพวกเธอจงทำแบบนี้ ปัญหาคือ แล้วถ้ามันผิดล่ะ หรือมันอาจจะมีแง่มุมอื่นๆ ก็ได้ อย่างต่างคนต่างเสมอกัน เห็นแย้ง ถกเถียงกันได้ แบบนี้สังคมก็น่าจะเดินไปได้ดีเหมือนกันไหม
โปเกมอนกับความตายตัวของจินตนาการ
ไอ้ความกลัวความป็อบของโปเกมอน จริงๆ ก็ไม่ใช่เรื่องใหม่ เวลาที่มีอะไรใหม่ๆ เข้ามา มันจะมีสิ่งที่เรียกว่าความตื่นกลัวทางศีลธรรม(moral panic) ประมาณว่า มีความเชื่อว่าสังคม อย่างกฏเกณฑ์ ระเบียบ หรือวิถี(ที่เชื่อกันว่าดีงาม) ต่างๆ จะถูกของใหม่ๆ อย่างเทคโนโลยีทั้งหลายเข้ามาทำลายให้ย่อยยับลงไป ความกลัวพวกนี้มีมาเรื่อยๆ การมาถึงของอินเทอร์เน็ต สมาร์ทโฟน แรกๆ ก็กลัวกันว่าจะทำให้คนไม่มีปฏิสัมพันธ์กันอีกแล้ว หนังหรือละครบางเรื่องที่โผล่ขึ้นมาแล้วก็กลัวว่าต่อไปนี้ทุกคนจะไม่รักนวลสงวนตัว วิธีคิดแบบนี้โดยพื้นฐานคือ ความกลัวการเปลี่ยนแปลง และจะใช้วิธีการสร้างจินตนาการที่สุดโต่งไปเลย ซึ่งในความเป็นจริง มันก็มีผลต่อการใช้ชีวิตแหละ แต่มักจะไม่ได้ไปเปลี่ยนอะไรขนาดที่จินตนาการ
กรณีของวาทะที่ว่า เอาเวลากลับไปกอดคนที่รัก ต้องบาลานซ์ให้ดีๆ มันก็คล้ายๆ กัน คือเป็นอาการตื่นกลัวทางศีลธรรมเหมือนกัน เพราะว่าจากสิ่งที่ถูกพูดถึงมันเป็นภาพในจินตนาการ คือมันเป็นอุดมคติของภาพครอบครัวที่คนจะต้องมีการโอบกอด กราบเท้า มอบพวงมาลัย ส่งต่อกระเช้ารังนกให้แก่กัน เป็นจินตภาพของการแสดงความรักของคนในครอบครัว ซึ่งเอาจริงๆ พิธีกรรมแสดงความรักแบบนี้ บางทีเราอาจพบได้แค่ในโฆษณารังนก หรือในชุดภาพช่วงวันแม่หรือวันพ่อก็ได้
ดังนั้น จินตนาการของคนที่บอกให้กลับไปกอดแม่ มันไปผูกติดกับภาพของจริยธรรม หรือจรรยาของลูกที่ดี ซึ่งมันแสนจะเป็นอันหนึ่งอันเดียวและตายตัว ในขณะเดียวกันมันถูกวาดให้ตรงข้ามกับจินตนาการของภาพหลังเทคโนโลยีใหม่ที่เข้ามา คือคิดไปว่าพอทุกคนที่เล่นโปเกม่อนก็จะอยู่แต่กับจอ หมกมุ่นอยู่แต่กับตัวเองและเกมในมือ
เอาจริงๆ มันก็ไม่ได้จะเป็นอะไรที่สุดโต่งขนาดนั้น เพราะอีกด้านเกมโปเกมอนโกก็สร้างความสัมพันธ์ระหว่างบุคคลเหมือนกัน เพื่อนก็เล่นด้วยกันได้ บางบ้านพ่อแม่ลูกอาจจะสานสัมพันธ์กันด้วยการจับโปเกม่อนด้วยกัน คือความสัมพันธ์ปัจจุบันมันอาจจะไม่จำเป็นต้องเป็นแบบจินตภาพที่เราวาดไว้แบบเมื่อก่อนอีกต่อไป เอาขันเงินมาล้างเท้า นั่งล้อมวงกินข้าวน้ำพริกปลาทู เดี๋ยวนี้ครอบครัวส่งความรักกันผ่านของขวัญดิจิทัล หรือกิจกรรมร่วมกันบนโลกเสมือนกัน ก็ถือเป็นการทำกิจกรรม ใช้เวลาร่วมกันที่ดีเหมือนกันเนอะ