ทุกอาชีพมีหน้าที่กำหนดอย่างชัดเจน แต่บางอาชีพก็ทำหน้าที่เกินกว่าเหตุ ไม่ใช่เพราะโปรดักทีฟอะไร แต่อาจจะเพราะมี ‘เบื้องหลังภายในจิตใจ’ บางอย่าง
ภาพความรุนแรงต่างๆ ที่ปรากฏในม็อบช่วงหลังมานี้ ทำให้เราตั้งคำถามกับขอบเขตอำนาจของ ‘เจ้าหน้าที่ตำรวจ’ มากขึ้นว่าทำเกินกว่าเหตุไปมั้ย? ต้องรุนแรงถึงขั้นเอาให้ตายเลยหรือ? นายสั่งมาแต่อารมณ์ก็พาไปด้วยหรือเปล่า?
คำถามสุดท้ายอาจไม่ต้องถามใครเลยก็ได้ เพราะดูจากคลิปเหตุการณ์ต่างๆ จะเห็นได้ว่าอารมณ์ส่วนตัวของพวกเขา ถูกนำมาใช้ปราบฝูงชนที่มาร่วมม็อบอย่างชัดเจน ผ่านวาจาในคลิปวิดีโอที่กล่าวออกมาว่า “ขอพวกพี่สนุกหน่อย มันเต็มที่แล้ว” หรือ “พูดมากหรอ” พร้อมฟาดอาวุธไปที่เกราะเพื่อข่มขู่
ยังไม่รวมถึงการวิ่งกรูเข้าไปหลายสิบนาย เพื่อจับกุมประชาชนเพียงคนเดียวที่มีเพียงมือเปล่าไร้ซึ่งอาวุธ การซุ่มยิงกระสุนยางจากที่สูงลงมาที่ต่ำอย่างไม่ยั้งมือ หรือการเล็งเป้าที่มีระยะสูงจนเสี่ยงโดนจุดตาย จึงเป็นข้อสงสัยว่าเจ้านายหรือหัวใจกันแน่ที่สั่งมา? หัวใจที่เต็มไปด้วยรู้สึกบางอย่าง จนนำไปสู่พฤติกรรมที่เรียกว่า ‘Police Brutality’ หรือ ‘ความรุนแรงของตำรวจ’ ซึ่งในทางจิตวิทยาสามารถอธิบายเบื้องหลังของพฤติกรรมนี้ได้
Police Brutality เมื่อตำรวจกลายเป็นผู้ร้ายเสียเอง
Police Brutality หมายถึง การใช้กำลังจับกลุ่มผู้ต้องหา ผู้เสียหาย หรือเหยื่อที่ ‘มากเกินความจำเป็น’ ความจำเป็นในที่นี้ก็คือ ความจำเป็นที่จะต้องควบคุมสถานการณ์ให้สงบเรียบร้อย หรือลดการปะทะจนเกิดอันตรายแก่ชีวิต ซึ่งพวกเขากลับ ‘เล่นใหญ่’ และใช้กำลังเกินกว่าเหตุ (Excessive Force) จนทำให้ประชาชนเริ่มไม่ไว้วางใจที่จะฝากชีวิตกับผู้ที่สาบานตนว่าเป็น ‘ผู้พิทักษ์สันติราษฎร์’ ได้อีกแล้ว
หากยังจำกันได้ในปี ค.ศ.2020 กับกรณีของ จอร์จ ฟลอยด์ ชาวอเมริกันเชื้อสายแอฟกริกา วัย 46 ปี ที่ถูกเจ้าหน้าที่ตำรวจมินนีแอโพลิส รัฐมินนิโซตา จับกุมในข้อหาใช้ธนบัตรปลอมในร้านอาหาร โดยฟลอยด์ถูกกดทับที่คอจนขาดอากาศหายใจ และเสียชีวิตในเวลาต่อมา แม้ว่าเขาจะร้องขอเจ้าหน้าที่ให้ปล่อยแล้วก็ตาม นำไปสู่การวิพากษ์วิจารณ์จากคนทั่วโลกถึงการใช้กำลังเกินกว่าเหตุของเจ้าหน้าที่ จนเกิดกระแสการขับเคลื่อน Black Lives Matter ในเวลาต่อมา เพื่อให้ police brutality กลายเป็นประเด็นที่ควรพูดถึงในสังคมและควรเกิดการเปลี่ยนแปลง
ความรุนแรงดังกล่าวดูจะเห็นได้บ่อยครั้งมากขึ้นเรื่อยๆ ในสหรัฐอเมริกา แม้กระทรวงยุติธรรมจะลองประเมินการติดต่อระหว่างตำรวจกับประชาชน ในปี ค.ศ.2018 แล้วพบว่ามีเพียง 2% เท่านั้นที่โดนตำรวจคุกคามหรือใช้กำลัง แต่การประเมินนั้นเป็นเพียงแค่การสำรวจที่ครึ่งหนึ่งเป็นเหตุการณ์เกี่ยวกับจราจร ไม่รวมถึงพฤติกรรมของตำรวจในระหว่างมีเหตุการณ์ประท้วง เราจึงไม่สามารถพูดได้อย่างเต็มปากว่า คนส่วนใหญ่ไม่เคยเจอความรุนแรงจากเจ้าหน้าที่ตำรวจ
แทนที่จะพิทักษ์สันติราษฎร์ ทำไมพวกเขากลับใช้กำลังในทางที่เป็นภัยต่อราษฎรเสียเอง? หากพูดในเชิงจิตวิทยา บุคลิกภาพพื้นฐานก็เป็นส่วนหนึ่ง เช่น บางคนอาจมีนิสัยใจร้อน วู่วาม ทนต่อสถานการณ์ตึงเครียดได้ไม่ดีมาก แต่ก็มีอีกหลายปัจจัยที่เข้ามามีส่วนด้วยเช่นกัน
มาเริ่มที่ปัจจัยระดับบุคคลก่อนแล้วกัน นั่นก็คือ สุขภาพจิต ของแต่ละบุคคล ในผลการศึกษาปี ค.ศ.2019 ผลการศึกษาพบว่า เจ้าหน้าที่ตำรวจหลายนายที่มีส่วนร่วมในการฝึกอบรมที่ ‘โหดร้าย’ มีแนวโน้มที่จะรายงานว่า พวกเขามีระดับของอาการ PTSD (Post-Traumatic Stress Disorder) ที่สูง ซึ่งก็คืออาการผิดปกติทางจิตใจหลังประสบสถานการณ์รุนแรงนั่นเอง
และมีความเป็นไปได้ที่พวกเขาจะประสบกับอาการ PTSD อย่างไม่ต้องสงสัย เพราะอาชีพตำรวจเป็นอีกอาชีพหนึ่งที่เต็มไปด้วยความเครียดจากการบาดเจ็บ ทำให้พวกเขาอาจมีการตอบสนองที่เรียกว่า Startle Response หรือการตอบสนองเพื่อป้องกันตัวที่ ‘มากเกินอำนาจจิตใจ’ ต่อสิ่งเร้าตรงหน้าอย่างฉับพลัน ซึ่งอาจหมายถึงการใช้กำลังกับบุคคลอื่นให้ถึงตาย แม้จะไม่มีความจำเป็นก็ตาม
นอกจากนี้ ก็มีนักวิจัยบางคนที่ตั้งทฤษฎีและสมมติฐานไว้ว่า นี่อาจเป็นลักษณะของคนที่เป็นโรคจิตเภท ที่เรียกว่า‘โรคบุคลิกผิดปกติชนิดต่อต้านสังคม’ (Antisocial Personality Disorder) ซึ่งดูจะแพร่หลายในเจ้าหน้าที่ตำรวจมากกว่าประชาชนทั่วไป โดยโรคนี้จะมีลักษณะที่เห็นได้ชัด อย่างการสร้างอำนาจอย่างไม่เกรงกลัว ไร้ความปราณี หรือไร้ความรู้สึก ซึ่งสามารถเกิดขึ้นได้เมื่อเผชิญหน้ากับสถานการณ์อันตราย หรือสถานการณ์ที่ทำให้อารมณ์แปรปรวน จนทำให้บุคคลนั้นมีแนวโน้มจะใช้กำลังมากเกินไป หรือรู้สึกว่าไม่จำเป็นต้องปฏิบัติตามกฎก็ได้
ถึงอย่างนั้นทฤษฎีนี้ก็มีข้อจำกัด เพราะก็มีคนตั้งข้อสงสัยว่า ไม่น่าเป็นไปได้ที่โรค APD ซึ่งหาได้ยากมากๆ จะสามารถอธิบายความรุนแรงของเจ้าหน้าตำรวจส่วนใหญ่ได้ ถ้าอย่างนั้นก็อาจเป็นไปได้ว่ามาจากประสบการณ์ส่วนตัวอื่นๆ เช่น ความสัมพันธ์หรือเหตุการณ์ตึงเครียดในชีวิต ทำให้เมื่อเจอกับสถานการณ์ที่ตึงเครียดมากขึ้น อย่างการเผชิญหน้ากับคนร้ายหรืออยู่ท่ามกลางเหตุยิงกัน พวกเขาจึงไม่สามารถควบคุมความเครียดหรืออารมณ์โกรธของตัวเองได้ หรือแม้แต่อคติส่วนตัว (Bias) ที่ทำให้พวกเขาเลือกปฏิบัติอย่างรุนแรงกับกลุ่มที่พวกเขาเกลียดชังเป็นพิเศษ
ต่อมาคือปัจจัยระดับองค์กร ปัจจัยนี้รวมถึงกรมตำรวจหรือสภาพแวดล้อมการทำงานโดยทั่วไป หากกรมตำรวจมีการกำหนดขอบเขตอำนาจการใช้กำลัง โดยอนุญาตให้เจ้าหน้าที่ใช้ ‘ดุลยพินิจ’ ของตนเองได้ กล่าวคือ เป็นขอบเขตที่คลุมเครือหรือผ่อนปรนเกินไป ก็มีโอกาสที่เจ้าหน้าที่จะสามารถใช้กำลังเกินความจำเป็น
ยิ่งถ้าหากองค์กรไม่มีบทลงโทษหรือตำหนิติเตือนเจ้าหน้าที่ที่ใช้กำลังมากเกินไป ก็จะถือว่าความรุนแรงดังกล่าวเป็นสิ่งที่ ‘ยอมรับได้’ ในอาชีพของพวกเขา จากฐานข้อมูลการใช้ปืนของตำรวจใน Washington Post เผยว่า ในสหรัฐอเมริกา ตำรวจได้ยิงและสังหารผู้คนประมาณ 1,000 คนต่อปี แต่มีตำรวจเพียง 110 นายเท่านั้น ที่ถูกตั้งข้อหาฆาตกรรมหรือฆ่าคนตายโดยประมาท และมีตำรวจเพียง 42 คนเท่านั้น ที่ถูกตัดสินว่ามีความผิด
นับเป็นเรื่องยากที่จะเอาความหรือดำเนินคดีกับตำรวจในข้อหาประพฤติมิชอบ เพราะการใช้กำลังของพวกเขา กลายเป็นความชอบธรรมที่ไม่ค่อยมีใครพูดถึง เมื่อเทียบกับประชาชนทั่วไปที่ใช้กำลังในระดับเดียวกัน
สุขภาพจิตของเจ้าหน้าที่และทางออกของความรุนแรง
เมื่อเข้าใจกับจิตวิทยาเบื้องหลังความรุนแรงที่เกินกว่าเหตุของเจ้าหน้าที่ตำรวจ คำถามต่อคือ เราควรจะจัดการปัญหานี้ยังไง?
หากไม่รู้ว่าควรจะเริ่มที่ตรงไหน สามารถดูได้จากตัวอย่างของสหรัฐอเมริกา โดยเฉพาะในปี ค.ศ.2014 ประธานาธิบดี บารัค โอบามา ได้ลงนามคำสั่งแต่งตั้งคณะทำงานด้านการรักษาพยาบาลศตวรรษที่ 21 โดยคณะทำงานได้จัดรายการข้อเสนอแนะ เช่น
– การปรับปรุงการฝึกอบรมและการศึกษาของเจ้าหน้าที่ตำรวจ
– การลดอคติหรือความลำเอียงของเจ้าหน้าที่ตำรวจและหน่วยงานต่างๆ
– การแนะนำและปรับปรุงการฝึกอบรมเพื่อแทรกแซงในภาวะวิกฤต
– การส่งเสริมความอ่อนไหวทางวัฒนธรรม ให้เจ้าหน้าที่ตำรวจมีความเมตตาหรือความเห็นอกเห็นใจอย่างที่พึงจะเป็น
จากข้อเสนอแนะของคณะที่โอบามาแต่งตั้งขึ้น ทำให้เห็นว่าการสุขภาพจิตของเจ้าหน้าที่ตำรวจเป็นสิ่งที่ควรให้ความสำคัญ ตราบใดที่พวกเขาต้องทำหน้าที่ที่เกี่ยวข้องกับความปลอดภัยของชีวิตประชาชนจำนวนมาก ดังนั้น ควรทบทวนดูดีๆ ว่า จำเป็นหรือไม่กับการฝึกอบรมที่โหดร้ายจนทำให้ผู้ฝึกเกิดภาวะทางจิตใจ
นอกจากนี้การแทรกแซงโดยเพื่อนร่วมงาน (Peer Intervention) ก็เป็นอีกวิธีหนึ่งที่สามารถลดความรุนแรงในหมู่ตำรวจได้ โครงการนี้เรียกว่า Project ABLE หรือ Active Bystandership for Law Enforcement ซึ่งเป็นผลงานของนักจิตวิทยาชื่อ เออร์วิน สตับ (Ervin Staub) จาก University of Massachusetts Amherst และอดีตธิการบดีของ APA’s DIV 48 หรือก็คือกลุ่มที่ศึกษาเกี่ยวกับความสงบ ความขัดแย้ง และความรุนแรง
โครงการนี้เป็นการเสริมวัฒนธรรมที่ให้เพื่อนร่วมงาน ‘ป้องกัน’ ไม่ให้เพื่อนของพวกเขาใช้ความรุนแรงโดยไม่จำเป็น และถือเป็นการช่วยชีวิตผู้คนและอาชีพของพวกเขาด้วย โดยที่เมื่อเกิดเหตุการณ์ใช้ความรุนแรง เจ้าหน้าที่ที่ถูกร้องเรียนการกระทำดังกล่าวจะไม่ได้รับเลือกให้ปฏิบัติหน้าที่ในครั้งต่อไป ซึ่งโครงการนี้ถูกนำไปใช้โดยหน่วยงานตำรวจในรัฐนิวแฮมป์เชียร์ วอชิงตัน บัลติมอร์ บอสตัน ฟิลาเดลเฟีย และอีกหลายแห่ง รวมถึง FBI National Academy แต่โครงการ ABLE ดูจะเป็นการแก้ไขที่ปลายเหตุ หากแก้ไขตั้งแต่เริ่มต้น โดยที่ไม่เกิดความเสียหายแก่ชีวิตของผู้คนเลยแต่แรก ก็คงจะเป็นเรื่องที่ดีกว่า
ในส่วนของหน่วยงานหรือองค์กร อาจทำได้โดยการประเมินความเสี่ยงทางสุขภาพจิต หรือจ้างบุคคลที่มีความเสี่ยงต่ำต่อพฤติกรรมที่รุนแรงโดยไม่จำเป็น ซึ่ง ‘จิตวิทยาบุคลิกภาพ’ สามารถนำมาประเมินความเสี่ยงนี้ได้ เพื่อให้เห็นการตอบสนองต่อสถานการณ์ที่ตึงเครียดของแต่ละบุคคล หรือหากเจ้าหน้าที่ที่สังกัดอยู่ในปัจจุบันมีแนวโน้มที่มีพฤติกรรมรุนแรงเกินความจำเป็น การจัดเตรียมความช่วยเหลือด้านสุขภาพจิตก็มีความสำคัญ
ทั้งนี้ องค์กรควรตระหนักรู้ให้ได้ก่อนว่า ‘ความรุนแรง’ ไม่ใช่สิ่งที่ยอมรับได้ โดยเฉพาะในสถานการณ์ที่ประเมินแล้วว่าไม่มีความเสี่ยง เพื่อที่จะนำไปสู่การปรับปรุงมาตรการทางวินัยและการกำกับดูแล หากเจ้าหน้าที่ใช้กำลังมากเกินไป หรือแม้กระทั่งใช้กำลังจนถึงขั้นเสียชีวิต และไม่มีการลงโทษ นั่นคือการส่งต่อค่านิยมที่ว่าตำรวจสามารถใช้กำลังเกินขอบเขตได้โดยชอบธรรม ไม่ว่ากรณีไหนก็ตาม
ดังนั้น การจะหยุดวัฒนธรรมแบบนี้ที่ดีที่สุด คือการสร้างความเข้มงวดกับวินัยหรือจรรยาบรรณอาชีพเจ้าหน้าที่ตำรวจ กำหนดและใช้บทลงโทษตามที่ควรจะเป็น ก่อนประชาชนจะค่อยๆ เสื่อมศรัทธาและไม่ไว้วางใจผู้ประกอบอาชีพนี้อย่างช้าๆ
เราต้องยอมรับว่าความรุนแรงของเจ้าหน้าที่ตำรวจนั้นมีอยู่จริง และเป็นปัญหาที่ส่งผลต่อความปลอดภัยหรือชีวิตของประชาชน ไม่ว่าจะเป็นผู้กระทำผิดหรือผู้บริสุทธิ์ก็ตาม ซึ่งนับว่าขัดแย้งกับหลักหน้าที่ที่พวกเขาพึงกระทำและอุดมการณ์ที่พวกเขาพึงมี อย่างการรับใช้ประชาชน ยืนเคียงข้างความถูกต้อง และปราบปรามความอยุติธรรมในสังคม
รวมถึงปัญหาการประเมินสถานการณ์ที่เกินจริงของหน่วยงาน อย่างการสั่งให้หอบอาวุธมาอย่างยิ่งใหญ่ เพื่อปราบม็อบที่มีแนวโน้มว่าจะเคลื่อนไหวด้วยสันติวิธี จนสถานการณ์ขณะนี้เรียกได้ว่า ‘อุปกรณ์การแพทย์ไม่เคยครบ อุปกรณ์การรบไม่เคยขาด’ ทำให้เกิดสถานการณ์ที่ประชาชนถูกทำร้ายด้วย ‘ภาษี’ ของตัวเอง มีเพียงแค่คำกล่าวอ้างว่า ‘นายสั่งมา’ เท่านั้น แต่เป็นดั่งใบอนุญาตให้สามารถทำอะไรที่เข้าข่ายไร้มนุษยธรรมได้ โดยที่ไม่ต้องได้รับบทลงโทษทางกฎหมาย
สุดท้ายจึงอยากฝากคำถามให้ลองไปคิดกันดูว่า หากตำรวจทำร้ายประชาชนด้วยตัวเอง แล้วประชาชนจะต้องวิ่งไปแจ้งความที่ใคร? ถึงเวลาแล้วหรือยังที่หน่วยงานนี้ก็ควรปฏิรูปเช่นเดียวกัน? เมื่อไหร่กันนะที่พวกเขาจะยืนอยู่เคียงข้างประชาชนโดยแท้จริงสักที?
อ้างอิงข้อมูลจาก