ช่วงนี้การเมืองกำลังเดือดพล่าน มีการจัดการชุมนุมขึ้นแทบทุกอาทิตย์ แต่ที่เราสังเกตเห็นได้ชัดนั่นก็คือ แกนนำสำคัญในการชุมนุมส่วนใหญ่เป็น ‘เยาวชน’ ทั้งในระดับมัธยมและมหาวิทยาลัย ทำให้ประโยคที่ว่า ‘เด็กคืออนาคตของชาติ’ ไม่ใช่ประโยคที่พูดกันลอยๆ อีกต่อไป
สิ่งที่เยาวชนทั่วประเทศกำลังขับเคลื่อนอยู่ในขณะนี้ ไม่ว่าจะเป็นการออกมาตั้งข้อเรียกร้อง จัดตั้งการชุมนุม หรือแสดงออกทางสัญลักษณ์ภายในรั้วโรงเรียนและรั้วมหาลัย ถึงแม้จะเป็นการเคลื่อนไหวเล็กๆ แต่ก็สามารถสร้างแรงกระเพื่อมขนาดใหญ่ และกำหนดอนาคตของชาติอันใกล้นี้ได้
ในขณะเดียวกัน ก็ส่งผลกระทบต่อเรื่องใกล้ตัว อย่างเช่น ‘ครอบครัว’ โดยเฉพาะพ่อ แม่ และผู้ปกครองที่รู้สึกเป็นห่วงหรือกังวลใจกับท่าทีและการแสดงออกของบุตรหลาน อีกทั้งช่องว่างระหว่างวัย รวมถึงประสบการณ์ที่แตกต่างกัน ทำให้ความเข้าใจระหว่างเด็กและผู้ปกครองเกิดความคลาดเคลื่อนไปด้วย ประกอบกับบางครั้งการเชื่อมั่นในอุดมการณ์ของวัยรุ่นเหล่านี้ อาจทำให้ผู้ปกครองมองว่าพวกเขาไม่เชื่อฟังตนเอง จนเกิดเป็นความขัดแย้งภายในบ้าน
แพทย์หญิงจิราภรณ์ อรุณากูร หรือ หมอโอ๋ กุมารแพทย์เวชศาสตร์วัยรุ่น ได้กล่าวในเพจ ‘เลี้ยงลูกนอกบ้าน’ ไว้ว่า ช่วงนี้ผู้ปกครองหลายท่านกลัดกลุ้มใจที่บุตรหลานเข้าไปมีส่วนร่วมทางการเมือง และด้วยความที่สื่อสารกันไม่เข้าใจ ทำให้บางบ้านเกือบถึงขั้นตัดสายสัมพันธ์กันก็มี โดยอย่างแรกที่หมอโอ๋แนะนำนั่นก็คือ ให้ผู้ปกครองรู้สึก ‘ดีใจ’ เข้าไว้ ที่เด็กหรือวัยรุ่นมองการเมืองเป็นเรื่องของทุกคน และรู้จักตั้งคำถามกับสิ่งต่างๆ ที่เกิดขึ้น เพราะการตั้งคำถามของพวกเขา จะนำไปสู่การพัฒนาและเปลี่ยนแปลงสังคมในอนาคต
จริงๆ แล้วการที่เด็กและวัยรุ่นเข้าไปมีส่วนร่วมทางการเมืองนั้นนับว่าเป็นเรื่องที่ดี เพราะทำให้พวกเขารู้จักคิดวิเคราะห์สถานการณ์ที่เกิดขึ้นในบ้านเมือง ทั้งยังได้กลับมาทบทวนเรื่องสิทธิและเสรีภาพของตนเองไปในตัว แต่ไม่ว่าใครก็ต่างรู้ดีว่า การแสดงออกทางการเมืองในประเทศที่ยังไม่เป็นประชาธิปไตยโดยสมบูรณ์แบบนั้น นับว่าเป็นเรื่องเสี่ยงอันตราย ทั้งถูกตำรวจตามมาถึงบ้าน ถูกคนเห็นต่างประสงค์ร้าย ผู้ปกครองหลายท่านจึงเกิดความกังวลและเป็นห่วงบุตรหลาน และมักจะสอนให้พวกเขาอยู่ห่างจากการเมืองไว้ ไม่ว่าจะเป็นการแชร์ข้อความหรือเข้าร่วมการชุมนุม
แต่ในขณะเดียวกัน ประชาธิปไตยก็คือสิทธิและเสรีภาพในการแสดงออก ซึ่งวัยรุ่นเหล่านี้ควรจะมีเสรีภาพตรงนี้อย่างเต็มที่ The MATTER จึงได้ขอสัมภาษณ์หมอโอ๋เพิ่มเติมว่า สุดท้ายแล้วการแสดงความเป็นห่วงของพ่อแม่สามารถทำได้ในระดับไหน? เพื่อไม่ให้กระทบต่อเสรีภาพที่พวกเขาควรมี หมอโอ๋ตอบกลับมาว่า การแสดงออกถึงความเป็นห่วงของผู้ปกครอง สามารถทำได้ตามที่รู้สึก เป็นห่วงมากเท่าไหร่ก็แสดงความรู้สึกออกมาเท่านั้น เพียงแต่ว่าการกระทำก็จะเป็นอีกเรื่องที่แยกออกมา ซึ่งสิ่งที่ผู้ปกครองสามารถทำได้ก็คือ ‘การรับฟัง’ ว่าลูกๆ ต้องการอะไร
“เราจะทำอะไรได้บ้าง เป็นเรื่องที่พ่อแม่ต้องกลับมาถามตัวเองว่า “เราทำอะไรได้จริงๆ มั้ย?” เพราะเราไม่สามารถขังหรือล่ามพวกเขาได้ บางครั้งเราเลยใช้ ‘ความเป็นพ่อแม่’ เข้ามาบังคับ เช่น ขู่จะตัดเงิน จะตัดแม่ตัดลูก หรือไล่ออกจากบ้าน ซึ่งสิ่งเหล่านั้น เราต้องกลับมามองว่าการกระทำของเราจะต้องแลกมาด้วยอะไร และหลายครั้ง เราจะเห็นว่ามันแลกมากับ ‘สายสัมพันธ์ที่ดี’ ซึ่งเป็นสิ่งสำคัญสำหรับวัยรุ่นที่ควรจะรักษาไว้” หมอโอ๋เสริม
แต่นอกเหนือจากความเป็นห่วงเป็นใย ขณะนี้ก็ได้มีหลายครอบครัวที่กำลังเกิดความขัดแย้ง อันเนื่องมาจาก ‘ความไม่เข้าใจ’ ของคนทั้งสองวัย ทั้งไล่ออกจากบ้าน ทั้งตัดพ่อตัดลูก ซึ่งจริงๆ แล้ว การจะสร้างความเข้าใจให้เกิดขึ้นได้ อาจเริ่มจากพื้นฐานง่ายๆ อย่าง ‘การสื่อสาร’ และ ‘การรับฟัง’ ที่ถูกวิธี เพราะทั้งคู่ย่อมมีความเชื่อหรือการให้คุณค่ากับบางสิ่ง ที่พร้อมจะนำมาแลกเปลี่ยนให้อีกคนฟัง แต่ด้วยท่าทีบางอย่างจึงทำให้การสื่อสารนั้นนำไปสู่การทะเลาะเบาะแว้ง และสถานการณ์ที่ตึงเครียดกว่าเดิม
“ถ้าเราอยากชี้แจงความเข้าใจหรือความต้องการของเรา ก็หาพื้นที่ปลอดภัยที่คิดว่าลูกจะรับฟังเราจริงๆ หรือพื้นที่ที่ลูกพูดอะไรออกมาแล้วเราจะรับฟังโดยไม่ตัดสิน ไม่ไปสรุปว่าพวกเขาถูกล้างสมอง เพราะจริงๆ แล้วข้อมูลหลายอย่างที่พวกเขารู้มาไม่ได้ผิด แล้วข้อมูลที่เขาไม่รู้ว่าทำไมเราถึงเชื่อหรือให้คุณค่ากับเรื่องนี้ เราก็สามารถที่จะแลกเปลี่ยนกับเขาได้ แต่ก็ต้องเป็นพื้นที่ที่คิดว่าเราตั้งใจจะรับฟังกันจริงๆ ไม่ใช่ฟังด้วยอคติ แต่ก็ต้องทำใจไว้ว่า บางทีลูกอาจจะไม่ได้คิดเหมือนกันกับเราทั้งหมด เพราะเขาไม่ใช่เรา” หมอโอ๋แนะนำ
“การสื่อสารที่ดีที่สุดคือ ‘การรับฟังแบบไม่ตัดสิน’
เพราะจะเป็นการฟังเพื่อเข้าใจความรู้สึก
และความต้องการของอีกฝ่ายจริงๆ”
นอกจากนี้ หมอโอ๋ยังแนะนำเพิ่มเติมว่า ลองใช้การสื่อสารที่เรียกว่า I-Message ในการสนทนา โดยการสื่อสารประเภทนี้ จะเน้นความรู้สึกของผู้พูดเป็นหลัก โดยใช้ประโยคเช่น แม่รู้สึกว่า…พ่อคิดว่า… แม่มองเรื่องนี้ว่า… แทนที่จะใช้คำพูดตำหนิอีกฝ่าย
“เวลาที่เราสื่อสารออกมาจากตัวเอง จะเป็นอะไรที่คนอื่นขัดแย้งไม่ได้ เช่น เราบอกว่า “แม่รู้สึกเป็นห่วงความปลอดภัยของลูก” เวลาลูกฟัง เขาก็จะรู้สึกว่าตัวเองไม่ได้ถูกตำหนิ เมื่อเทียบกับการบอกว่า “ทำไมทำตัวให้พ่อแม่เป็นห่วงแบบนี้?” แม้จะเป็นความหมายเดียวกัน แต่เวลาฟังมันให้ความรู้สึกต่างกัน ดังนั้น เลือกใช้ I-Message ดีที่สุด”
ดังนั้น แทนที่จะเข้าไปแลกด้วยความขัดแย้ง พ่อแม่อาจมองหาช่องทางที่จะประนีประนอม ให้ทางเลือกพวกเขาในการตัดสินใจ หรือช่วยทำให้ทางเลือกนั้นปลอดภัยสำหรับพวกเขาที่สุด และที่สำคัญ ถ้าเราเข้าใจว่าการเปลี่ยนแปลงของโลกเป็นเรื่องธรรมชาติ เราก็จะอยู่ในโลกของลูกได้อย่างมีความสุขมากขึ้น
ท่าทีและการสื่อสารล้วนสำคัญต่อสถานการณ์ที่ตึงเครียด และคงไม่มีใครอยากนำความตึงเครียด หรือความขัดแย้งนอกบ้านเข้ามาในบ้าน ดังนั้น การเลือกใช้วิธีที่ประนีประนอม พร้อมรับฟังความเห็นและความต้องการของอีกฝ่าย ย่อมให้ผลลัพธ์ที่ดีกว่าการปะทะด้วยอารมณ์และอคติเป็นไหนๆ