“สมควรโดนแล้ว” “สะใจจริงๆ” “แค่นี้ยังน้อยไป”
คำพูดมากมายที่ทับถมผู้เห็นต่างในทางการเมืองที่ประสบกับความบาดเจ็บ สูญเสียอิสรภาพ ไปจนถึงขั้นถูกสังหาร ถูกสาดละเลงเลอะเปรอะเปื้อนบนโลกโซเชียลจนเราแทบจะเห็นมันเป็นเรื่องปกติ ทั้งๆ ที่มันไม่ได้ปกติตรงที่ว่าผู้ประสบเคราะห์กรรมเหล่านั้นล้วนเป็นมนุษย์ไม่แตกต่างไปจากคนที่กำลังมีความรู้สึกสมน้ำหน้าสะใจ
เราทุกคนคงยอมรับตรงกันว่า ‘ความรุนแรง’ ไม่ใช่ทางออกของปัญหาที่สังคมการเมืองไทยกำลังเผชิญอยู่ หรืออย่างน้อยๆ เราคงยืนยันในหลักการที่ว่า การหลีกเลี่ยงการใช้ความรุนแรงจะนำมาซึ่งการแก้ไขปัญหาความขัดแย้งในทางการเมืองที่มีมายาวนานนับสิบปี แต่ทำไมกันนะ เมื่อมีผู้คนจำนวนไม่น้อยต่างออกมาแสดงความสนุกสนานสะใจเมื่อได้เห็นผู้เห็นต่างทางการเมืองต้องประสบกับเรื่องร้ายๆ
ร้อยยิ้มและเสียงหัวเราะแด่คนตาย: จากเหยื่อ 6 ตุลา ถึงเหยื่อมือปืนป๊อปคอร์น
“โคตรสะใจเลยว่ะ ยิ่งแม่ง กระเจิงเลยไอ้เ-ี้ย ใส่ถุงปุ๋ย ปึกๆๆ” คำพูดของนักแสดงคนหนึ่งบนเวทีการประท้วงกปปส. เมื่อปี 2557 ในกรณี ‘มือปืนป๊อปคอร์น’ ถูกยกกลับมาพูดถึงอีกครั้งในช่วงไม่กี่เดือนก่อน ความรุนแรงที่ทำให้เรื่องของการสูญเสียชีวิตกลับกลายเป็นเรื่องสะใจ หรือย้อนกลับไปในเหตุการณ์ 6 ตุลาที่ความรื่นเริงและรอยยิ้มของเด็กผู้มองศพถูกแขวนคอและฟาดด้วยเก้าอี้ยังคงหาคำตอบไม่ได้ว่า เพราะเหตุใดรอยยิ้มที่ดูเย็นยะเยือกถึงเกิดขึ้นได้ในเหตุการณ์อันดำมืดที่สุดของประวัติศาสตร์ไทยสมัยใหม่
เหตุการณ์ทั้งสองอาจเกิดขึ้นต่างกันในเงื่อนไขของบริบททางเวลาและสถานการณ์ แต่เราอาจพูดได้ว่า ผู้ที่รู้สึกยินดีต่อความตายและความเจ็บปวดของเหยื่อต่างมองว่าเหยื่อเป็นพวก ‘คอมมิวนิสต์’ หรือ ‘เผาบ้านเผาเมือง’ เป็นการลดทอนคุณค่าเหล่านี้ทำให้พวกเขาและเธอมองฝ่ายตรงข้ามทางการเมืองเป็นบางสิ่งบางอย่างที่ ‘ไม่ใช่คน’
มีศัพท์ในภาษาเยอรมันที่เรียกอาการของความสนุกสนานร่าเริงใจที่ได้เห็นผู้อื่นต้องประสบเคราะห์กรรมว่า ‘Schadenfreude’ (ชาเดนฟรอยด์) คำศัพท์คำนี้ยังไม่มีคำแปลที่ตรงตัวทั้งในภาษาไทยและภาษาอังกฤษ แต่มันย่อมอธิบายความรู้สึกบางอย่างที่ดำมืดของมนุษย์ที่พวกเขากลับรู้สึกรื่นเริงใจเมื่อได้เห็นผู้อื่นพบกับเรื่องร้ายๆ
‘schadenfreude’ จึงอาจอธิบายฐานความคิดของการแบ่งพวกเขา-พวกเราได้ จากงานวิจัยใน New Ideas in Psychology ได้ผลสรุปว่า ความรู้สึกสะใจหรือมีความสุขเมื่อได้เห็นผู้อื่นต้องทนทุกทรมานเกิดขึ้นจากการลดทอนความเป็นมนุษย์ (dehumanisation) ต่อมนุษย์ผู้อื่น โดยกรณีของ 6 ตุลา และเหยื่อของมือปืนป๊อปคอร์นที่ไม่รู้อิโหน่อิเหน่ แต่กลับถูกสังหารนั้น พวกเขาถูกลดทอนคุณค่าความเป็นมนุษย์ในสายตาของฟากฝั่งที่เห็นว่าคนเหล่านี้เป็นภัยต่อความมั่นคงของ ‘ชาติ’
การคุกคามเยาวชนและประชาชนผู้เห็นต่าง: การกระทำในนาม ‘คนดี’
ยังคงไม่มีคำตอบจากภาครัฐในการสลายการชุมนุมโดยสงบของประชาชนเมื่อวันที่ 16 ตุลาคมที่ผ่านมา แต่ก็มิวายเมื่อกลุ่มคนที่รู้สึกต่อการสลายการชุมนุมดังกล่าวว่า ผู้ชุมนมสมควรถูกฉีดด้วยน้ำสีฟ้าผสมสารเคมี ซึ่งเหตุการณ์การถูกละเมิดสิทธิกลับถูกเพิกเฉย และซ้ำร้ายถูกหัวเราะเยาะว่า “สมควรโดนแล้ว” “แค่นี้ยังน้อยไป” ยังคงเกิดขึ้นเรื่อยๆ ในสังคมไทย
จากเหตุการณ์ป้าตบหน้าเด็กที่ไม่ยืนเคารพธงชาติแต่ได้รับเงินบริจาค ไปจนถึงการที่กลุ่มคนเสื้อสีเหลืองทำร้ายผู้ชุมนุม สิ่งเหล่านี้มิได้ทำแค่ให้สังคมไทยบิดเบี้ยว แต่กลายเป็นคำถามข้อใหญ่ว่า ‘เหตุใดถึงยังมีคนที่รู้สึกมีความสุข ที่ได้เห็นคนอื่นทุกข์ทรมาน?’
รวมถึงอีกประเด็นใหญ่ ที่เขาเหล่านั้น กลับไม่ตั้งคำถามกับผู้กระทำที่ใช้คำความรุนแรง ทำให้ต้นแบบ ‘คนดี’ ของใครหลายคนกลับได้รับการสนับสนุน และส่งเสริมให้เกิดการใช้ความรุนแรงกับเยาวชน ในรูปแบบที่ออกมาแสดงท่าทีว่า ตนยอมติดคุกจากการทำร้ายร่างกายเยาวชนที่ตนเชื่อเห็นต่างจากตัวเอง ซึ่งท่าทีเหล่านี้ไม่ได้แปลว่าพวกเขาไม่รู้ว่าการใช้ความรุนแรงเป็นเรื่องผิด
ในทางกลับกัน พวกเขารู้สึกว่า พวกเขาต้องทำอะไรสักอย่างในนาม ‘ความดี’ หรือ ‘ความยุติธรรม’ ที่กฎหมายอาจไม่เอื้อให้เขาได้เห็นผลลัพธ์ที่สมใจ ความดีใจ และสะใจที่เพียงแค่จินตนาการว่าเยาวชนจะถูกทำร้ายร่างกายคือผลลัพธ์ของ ‘shadenfreude’ ในอีกลักษณะหนึ่งที่ว่าพวกเขาได้เห็น ‘การสำเร็จโทษ’ จากบรรทัดฐานความยุติธรรมในแบบของพวกเขา
เป็นเรื่องเก่าที่ดูใหม่เมื่อ ค.ศ.2002 The New York Times ได้ตีพิมพ์บทความว่าด้วยงานวิจัยที่ทำความเข้าใจว่า กลุ่มคนที่มีความรู้สึกมีความสุขต่อความทุกข์ทรมานของผู้อื่นนั้น เกิดขึ้นในกลุ่มคนที่มีภาวะความภูมิใจในตนต่ำ (low self-esteem) คือ การที่พวกเขารู้สึกขาดอะไรบางอย่างไป หรือพูดในอีกมุมหนึ่งคือ พวกเขารู้สึกว่ามีภัยอะไรบางอย่างกำลังคุกคามสถานะเดิม (status quo) ที่พวกเขายึดถือมาโดยเสมอ
อ้างอิงจากบทความ ‘คนดีกับอัตลักษณ์ทางศีลธรรม’ ของโตมร ศุขปรีชา ได้พูดถึงคุณค่าความเป็น ‘คนดี’ ที่พร้อมจะสะใจต่อผู้เห็นต่างที่ถูกกระทำ ไม่ได้อยู่ที่การตัดสินว่าเขาหรือเธอมีศีลธรรมต่ำสูง แต่คือปทัสถาน (Norm) ที่กำกับบทบาทการเป็น ‘ราษฎรที่ดี’ พูดในอีกทางหนึ่ง ความสุขสดชื่นใจที่ได้เห็นความหายนะของผู้เห็นต่างทางการเมือง อาจเป็นตัวบ่งบอกถึงการกระจุกตัวของอำนาจที่ไม่เป็นธรรมในมือของใครฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง ฝ่ายที่อ้างศีลธรรมต่ำสูง ฝ่ายที่หลงลืมในการตระหนักว่าอำนาจมักฉ้อฉล อำนาจเบ็ดเสร็จ ทั้งนี้ การฉ้อฉลดูจะไม่ไปกันกับคนดีในความหมายของความดีที่ถูกกำกับโดยศีลธรรมต่ำสูงเท่าไหร่นัก
ความสุขบนความทุกข์ของผู้อื่น ‘ใช้ได้’ จริงหรือ?
ข้อถกเถียงเรื่องความสุขบนความทุกข์ของผู้อื่นว่ามีได้หรือไม่นั้น ไม่ได้เพิ่งเกิดขึ้น (อย่างน้อยๆ ก็ในประวัติศาสตร์ของมนุษยชาติ) แต่มันถูกถกเถียงมาอย่างยาวนานบนฐานคุณค่าของศีลธรรมที่มนุษย์พึงมีต่อกันไม่ว่าเขาหรือเธอจะมีความคิด การแสดงออก อย่างไรก็ตาม หากสิ่งเหล่านั้นกระทำบนฐานของสิทธิ เสรีภาพ ที่มิได้ละเมิดชีวิต ความปลอดภัย อนามัย หรือทรัพย์สินของผู้อื่น
เรอเน เดการ์ต (René Descartes) นักปรัญชาฝรั่งเศสได้เสนอว่า ความรู้สึกสะใจหรือยินดีที่ได้พบเห็นความทุกข์ของผู้อื่นถูกแสดงออกมาในฐานะผลลัพธ์ของความยุติธรรมอะไรบางอย่าง บนมาตรวัดของตน เพราะเมื่อพวกเขาเห็นใครบางคนที่ทำผิดแปลกไปจากมาตรฐานความดีของพวกเขา การที่คนพวกนั้นได้รับผลอะไรบางอย่างที่เจ็บปวดจึงดูเสมือนว่ามันเป็นโทษที่พวกเขาควรได้รับ
ในขณะที่ มีเชล เดอ มงแตญ (Michel de Montaigne) ได้เคยพูดถึงความสุขของการได้เห็นผู้อื่นพบความทุกข์ทรมาณด้วยเช่นกัน แต่เขาได้เสนอสิ่งที่น่าสนใจว่า ความรู้สึกดังกล่าวเป็นความรู้สึกที่บ่งชี้ว่า คนที่รู้สึกดีใจที่ได้เห็นผู้อื่นประสบเคราะห์กรรมนั้นเกิดจากความรู้สึกว่าตน ‘ปลอดภัย’ จากภยันตรายทั้งปวง เนื่องจากมีผู้ประสบเคราะห์กรรมนั้นแล้ว แต่ในทางกลับกัน ตนเองยังปลอดภัยดี
คำอธิบายที่มากกว่าความรู้สึกปลอดภัยคงหนีไม่พ้นคำอธิบายของ ชาลส์ โบเดอแลร์ (Charles Baudelaire) ว่าความรู้สึกดังกล่าวลำพังมิใช่แค่รู้สึกว่าตนปลอดภัย แต่คือความรู้สึกที่ว่าตนนั้นมีภาวะอยู่เหนือกว่า (superiority) อีกฝ่าย ความรู้สึกดังกล่าวทำงานภายใต้จิตสำนึกส่วนลึก และหวนย้อนกลับมายกชูความทระนงในตนเองว่าตนเหนือกว่าหรือดีกว่าอีกฝ่ายที่ประสบเคราะห์กรรม
สังคมบนพื้นฐานของความเห็นอกเห็นใจ
หรืออาจเป็นได้ว่า ที่เราสะใจ หรือมีความสุข เมื่อเห็นคนที่คิดต่างจากเราทุกข์ร้อน เพราะเราขาดความเห็นอกเห็นใจกัน ?
เราต่างเคยได้ยินนิยามสังคมที่ดีเอาไว้ในหลายหลากรูปแบบ ‘สังคมที่ดีคือสังคมที่ใช้เหตุใช้ผลและอดทนกันด้วยความอารยะ’ อาจเป็นอีกชุดคำนิยามถึงสังคมที่มนุษย์เฝ้าฝันใฝ่ถึง ในอีกทางหนึ่ง สังคมที่ดีอาจหมายถึงสังคมที่มีความเห็นอกเห็นใจ (empathy) กันและกัน และแน่นอนว่าเมื่อมนุษย์เห็นอกเห็นใจกัน ภาวะรู้สึกสมน้ำหน้าหรือสะใจต่อความทุกข์ของผู้อื่นก็คงเกิดได้ยาก
ฌอง ฌาค รุสโซ (Jean Jacques Rousseau) นักปรัชญาเสรีนิยมคลาสสิกเคยเสนอเอาไว้ใน ‘ความเรียงว่าด้วยต้นกำเนิดและรากฐานแห่งความไม่เท่าเทียมกันของมวลมนุษยชาติ’ (Discourse on the Origin and Foundations of Inequality among Men) โดยพูดถึงการที่มนุษย์ทุกคนย่อมมีเสรีภาพติดตัวมาแต่เกิด ใจความว่า
“มนุษย์ทั้งหลายได้ประสิทธิ์ประสาทคุณธรรมที่ติดตัวมาแต่เกิด ยิ่งไปกว่านั้น พวกเขายังมีคุณสมบัติของความเมตตาสงสาร และ ‘ความเห็นอกเห็นใจ’… การวางข้อกำหนดของสังคมอารยะบนภาวะธรรมชาติของมนุษย์ได้นำมาซึ่งการเคลื่อนตัวของสังคมไปในทางคุณธรรมมากกว่าความชั่วร้าย และจากความสุขสันต์อันรื่นภิรมย์มากกว่าความทุกข์โศก”
สังคมไทยได้ข้ามผ่านความรุนแรงมามากมาย แต่เรื่องความรุนแรงต่างๆ กลับถูกซุกเอาไว้ใต้พรมไม่ถูกหยิบเอามาพูดถึง การเรียนรู้ความเจ็บปวดของเพื่อนมนุษย์ผ่านความรู้สึกเห็นอกเห็นใจอาจทำให้เราเห็นความเจ็บปวดของอีกฝ่ายชัดเจนขึ้น ตัดสินน้อยลง และเห็นฝ่ายตรงข้ามเป็นคนที่เท่ากันถึงแม้จะเห็นต่างกัน โดยที่ไม่จำเป็นที่ต้องไปลดทอนคุณค่าความเป็นมนุษย์ของผู้อื่น ผ่านความรู้สึกสะใจหรือสมน้ำหน้ากันและกัน
เมื่อเกิดเหตุการณ์เหล่านี้ เราอาจจะต้องลองมองว่า หากตัดเรื่องความเห็นที่แตกต่างออกไป การที่มนุษย์ ไม่ว่าใครก็ตามถูกปฏิบัติ และถูกกระทำแบบนั้น ยังคงเป็นเรื่องที่เรายอมได้ และรับได้หรือไม่ ?
อ้างอิงจาก