เราจะทำให้คนที่เรารักรู้สึกไม่ปลอดภัยหรือเปล่า?
ความรักและความเทิดทูน บ่อยครั้งทำให้เราทำหลายอย่างที่เราอาจไม่คิดว่าเราจะทำ การพัฒนาตัวเองในแบบที่เราไม่เคยมองมาก่อน การรับมุมมองใหม่ๆ ที่เราอาจไม่เปิดรับจากคนอื่น และการพิจารณาชีวิตในรูปแบบที่เราไม่เคยคิดจะทำมาก่อน ในขณะที่ความรักทำให้เราพัฒนาไปในแง่บวกได้ แต่บางครั้งหลายอย่างที่เราไม่เคยคิดจะทำนั้น ก็ไม่ใช่เรื่องแง่บวกเสมอไป
ความรักและความเป็นภัย 2 สิ่งที่ในอุดมคติควรจะอยู่กันคนละฟากฝั่งกัน แต่บ่อยครั้งเหลือเกินที่มันกลับมาอยู่ข้างกัน ไม่ว่าจะเป็นความสัมพันธ์ที่เป็นพิษ ความรุนแรงในครัวเรือน การสะกดรอยตาม ฯลฯ ความรักสามารถนำไปสู่ภัยได้ หากเส้นบางเส้นที่ขีดไว้ถูกมองข้าม
ความรักที่ต่างรูปแบบกันไปก็มีเส้นที่ไม่เหมือนกัน ทั้งมีการข้ามเส้นที่แตกต่างและรุนแรงยิ่งกว่า
ไม่ว่าเราจะเป็นหรือไม่เป็นคนนอกหรือคนในแฟนด้อมของวัฒนธรรมเคป๊อป คำถามที่มักเกิดขึ้นเมื่อเราเห็นข่าวเกี่ยวกับ ‘ซาแซงแฟน’ คือ ทำไมคนเราถึงจะทำให้คนที่เราเทิดทูนตกอยู่ในอันตราย? ความรักจะนำพาคนคนหนึ่งไปถึงจุดนั้นได้ยังไง? และที่น่าสนใจคือแม้หน้าตาจะไม่แตกต่างกันมาก แต่ปัญหาของซาแซงแฟนนั้นแตกต่างจากเหล่าสตอล์คเกอร์ (Stalker) ทั่วไปในหลากหลายมิติ
‘ซาแซงแฟน’ แปลจากภาษาเกาหลีหยาบๆ ได้ว่าเป็นแฟนคลับที่ก้าวล่วงชีวิตส่วนตัว คือรูปแบบแฟนคลับในแฟนด้อมเคป๊อปที่ติดตามศิลปินหรือไอดอลไม่เพียงแค่ผ่านเพลง ผ่านรายการ และผ่านการไปคอนเสิร์ตเท่านั้น แต่ตามชื่อซาแซงแฟนที่พวกเขาได้รับ คือการติดตามผ่านการเฝ้ามองชีวิตประจำวันของเหล่าศิลปินด้วย โดยตัวอย่างวิธีการตามนั้นอาจทำได้จากการเดินตามศิลปินนอกเวลางาน การยืนดูศิลปินอยู่หน้าบริเวณหอพัก การขับรถตามเมื่อพวกเขาเหล่านั้นต้องเดินทางไปไหน
รวมไปถึงการโทรเข้าไปหาศิลปิน การหลอกถามที่อยู่ หรือการจองห้องนอนในโรงแรมเดียวกันหรือไฟลต์บินเดียวกันกับศิลปินเพื่อจะได้ใกล้ชิด เส้นเหล่านี้ของศิลปินเกาหลีมักเป็นเส้นที่ถูกก้าวข้ามไปอยู่เสมอ และแม้ว่าการกระทำทั้งหมดที่กล่าวมานั้นอาจเป็นภัยได้ทั้งหมด แต่บางครั้งซาแซงแฟนสามารถข้ามเส้นไปได้มากกว่านั้น ไม่ว่าจะเป็นการส่งจดหมายเขียนด้วยเลือด การตั้งกล้องแอบถ่ายในโรงแรม ไปจนการวางยาพิษ
แม้ว่าพฤติกรรมเช่นนี้จะกำเนิดขึ้นในประเทศเกาหลี ซึ่งอิทธิพลของสื่อบันเทิงเกาหลีนั้นแทรกซึมไปทุกมุมโลก และหากสื่อไปที่ไหน วัฒนธรรมของมันก็จะตามไปที่นั่นด้วย ซาแซงแฟนจึงไม่ได้มีเพียงคนเกาหลี แต่อาจเป็นคนต่างชาติที่ติดตามพวกเขาไปในประเทศต่างๆ ที่ไป บ้างถึงขั้นบินไปเกาหลีเพื่อตามศิลปินโดยเฉพาะก็ยังมี
แล้วอะไรกันทำให้คนคนหนึ่งกลายเป็นซาแซงแฟน?
หนึ่งในคำตอบอาจหาได้จากงานวิจัย “Sasaengpaen” or K-pop Fan? Singapore Youths, Authentic Identities, and Asian Media Fandom โดย เจ. แพทริก วิลเลียม (J. Patrick Williams) และ ซาแมนธา เซียง ซิน (Samantha Xiang Xin) จากมหาวิทยาลัย Nanyang Technological University ประเทศสิงคโปร์ เป็นหนึ่งในไม่กี่งานวิจัยที่เกี่ยวข้องกับพฤติกรรมสตอล์คเกอร์และอุตสาหกรรมเคป๊อป ซึ่งเล็งเป้าไปศึกษาเกี่ยวกับพฤติกรรม ตัวตน และการเกิดขึ้นของซาแซงแฟนและแฟนคลับเคป๊อปธรรมดาจริงๆ
แม้ว่าจะเป็นการศึกษาที่เกิดขึ้นในประเทศสิงคโปร์ แต่หลายๆ ข้อมูลที่ผู้วิจัยศึกษาออกมาได้นั้นสามารถนำไปปรับใช้ได้โดยไร้พรหมแดนประเทศเป็นตัวตัดขาด เนื่องจากเมื่อพูดจริงๆ แล้ว วัฒนธรรมของแฟนด้อมเกาหลีหรือประเทศแถบเดียวกันสักหนึ่งแฟนด้อมนั้น แทบจะเป็นสิ่งที่แยกตัวของมันเดี่ยวๆ ออกจากบริบทของประเทศที่มันไปอยู่เกือบทั้งหมด
งานวิจัยเล่าว่า ความหมกมุ่นอย่างเข้มข้นของซาแซงแฟนนั้นเกินเลยจากขั้นของความภักดีไปแล้ว แต่เป็นความต้องการที่จะโดดเด่นออกมาจากฝูงชนแฟนคลับคนอื่นๆ นั่นคือเหตุผลให้บางคนทำพฤติกรรมที่สร้างความเสี่ยงมากขึ้นเรื่อยๆ “ฉันรู้สึกว่ามันทำให้ฉันได้รู้จักและเข้าใกล้ไอดอลที่ฉันรักมากขึ้น ถ้าฉันไปคอนเสิร์ตมันก็มีคนเป็นพันเป็นหมื่นคนไปด้วย ไอดอลก็ไม่รู้หรอกว่าฉันเป็นใคร แต่การเป็นซาแซงแฟนทำให้พวกเขาจดจำฉันได้” หนึ่งในโควตที่ผู้วิจัยยกมาจากงานวิจัยก่อนหน้า
แล้วเราสามารถเป็นแฟนคลับที่ทุ่มเทและติดตามศิลปินอย่างไม่ข้ามเส้นได้จริงๆ หรือไม่? งานวิจัยชิ้นนี้ไม่ได้ศึกษาเพียงตัวตนของซาแซงแฟน แต่ยังศึกษาวิธีที่สื่อมวลชน แฟนคลับธรรมดา และซาแซงแฟนมีปฏิสัมพันธ์ต่อกันและกันด้วย โดยแฟนคลับธรรมดาในที่นี้คือคนที่ฟังเพลง ไปคอนเสิร์ต จ่ายเงินซื้อสินค้า และไม่ยุ่งเกี่ยวกับชีวิตส่วนตัวของศิลปิน
ในการวิจัยพบว่าซาแซงแฟนมีมุมมองต่อแฟนคลับธรรมดาว่าเป็น ‘พวกไม่จริงจัง’ (Casuals) คือเป็นกลุ่มคนที่เสียเงินให้กับวงอื่นๆ ด้วย ในขณะที่พวกซาแซงแฟนจะทุ่มเทให้กับวงวงเดียว “เอาเงินตรงนั้นมาให้พวกเราดีกว่า เราต้องจ่ายค่ารถตู้” หนึ่งในซาแซงแฟนที่กำลังจะตามวงบิ๊กแบง (BigBang) กล่าวกับผู้วิจัย
นอกจากนั้น ทั้ง 2 ฝั่งของกลุ่มแฟนคลับเหล่านี้มักมองว่าตัวเองสูงส่งกว่าอีกฝั่งเสมอ จากการสำรวจพบว่าแฟนคลับธรรมดานั้นมักแสดงตัวต่อต้านพฤติกรรมของซาแซงแฟนในพื้นที่สาธารณะและผลักซาแซงแฟนออกว่าไม่ใช่แฟนคลับที่แท้จริง ซึ่งเป็นมุมมองที่ไม่น่าแปลกใจ แต่ที่น่าสนใจกว่านั้นคือซาแซงแฟนเองก็ไม่ได้มองว่าสิ่งที่ตัวเองทำนั้นเรียกว่าการเป็นซาแซงแฟนเช่นกัน “ซาแซงแฟนจริงๆ น่ากลัวกว่านี้เยอะ” “แบบนี้ไม่เรียกซาแซงแฟนหรอก ของจริงต้องตามไปถึงห้องในโรงแรม” กลุ่มซาแซงแฟนกลุ่มข้างต้นกล่าว
หากจะตอบคำถามว่าทำไมคนคนหนึ่งถึงเลือกจะเป็นซาแซงแฟนด้วยข้อมูลที่เราเสนอจากงานวิจัยนี้ คำตอบคงเป็นเพราะว่าพวกเขาไม่ได้มองว่าสิ่งที่พวกเขาเป็นคือซาแซงแฟนนั่นเอง แต่นอกจากนั้น งานวิจัยยังบอกอีกว่ามันคือความรู้สึก ‘ไม่พอ’ อีกด้วย ผู้วิจัยให้ข้อสังเกตว่าหนึ่งในปัจจัยสำคัญที่ก่อให้เกิดซาแซงแฟน คือความต้องการที่จะเชื่อมต่อทางกายภาพกับศิลปินและไอดอลของพวกเขา จากมุมมองที่สื่อกระแสหลัก แฟนคลับธรรมดา และบางครั้งซาแซงแฟนเองเป็นผู้ยืนยัน เช่นนั้นแล้วเราอาจต้องมาพูดถึงความไม่พอดังกล่าวหรือไม่ จึงจะสามารถไปหาคำตอบที่แท้จริงของคำถามได้?
อะไรทำให้คนคนหนึ่งรู้สึกว่า ‘ไม่พอ’ กับการติดตามศิลปิน? แน่ล่ะว่าเราสามารถโยนคำตอบเช่น ‘ก็เพราะนิสัยเสีย’ หรือ ‘เพราะหิวแสง’ ได้ทั้งหมด แต่ความแพร่หลายของพฤติกรรมลักษณะซาแซงแฟนนั้น แพร่หลายอย่างมีนัยมากกว่าแฟนด้อมเดียวและมีอยู่ในทุกแฟนด้อมเกาหลี แม้แต่ในแฟนด้อมนานาชาติก็มี และมากไปกว่านั้นแฟนด้อมที่ได้รับอิทธิพลมาจากแฟนด้อมเกาหลีก็มีเช่นกัน ความแพร่หลายรูปแบบนี้จึงไม่ใช่เพราะมีคนนิสัยเสียเยอะ แต่เป็นเพราะระบบและบริบทภายนอกนั้นมีส่วนสูงมากๆ ในการหล่อหลอม
ชิ้นส่วนสำคัญของการติดตามศิลปินใดๆ คือเราไม่ได้ติดตามพวกเขาเพียงในฐานะนักดนตรีหรือนักแสดงบนเวที แต่มันคือความเข้าใจว่าเราติดตามชีวิตของพวกเขาทั้งหมด ยังไม่ต้องพูดถึงการเป็นซาแซงแฟน แต่สื่อมวลชนอย่างเป็นทางการทั้งไลฟ์ บับเบิ้ล เรียลลิตี้ รายการเซอร์ไวเวอร์ ฯลฯ รายการและโซเชียลมีเดียช่วยยืนยันความรู้สึกเหล่านั้นให้กับเราทุกคน และไม่ว่าจะอยากยอมรับหรือไม่ก็ตาม นั่นคือจุดขายที่ขาดไม่ได้สำหรับไอดอลเกาหลี
ความรู้สึกของการเรียกศิลปินคนหนึ่งว่าพี่หรือน้อง นำไปสู่ความรู้สึกว่าเรารู้จักกับเขามากกว่าที่เรารู้จักเพื่อนบางคน อุตสาหกรรมบันเทิงของเกาหลีได้สร้างเครื่องจักรการผลิต Para-social Relationship ที่สมบูรณ์แบบไว้เป็นทศวรรษ ก่อนที่คำศัพท์ดังกล่าวจะเป็นที่รู้จักกันในวงกว้างเสียอีก และการใช้ความสัมพันธ์เช่นนั้นเป็นจุดขายย่อมมาพร้อมกับความอันตรายเช่นกัน
ลองนึกภาพตาม ความรู้ที่ว่าคนนับล้านทั่วโลกมองว่าไอดอลเป็นเพื่อนเรา โดยที่เราไม่เคยรู้หน้าตาของเขาแม้แต่คนเดียวนั้นก็น่ากลัวมากพอแล้ว แต่นับวันยิ่งเทคโนโลยีเริ่มพัฒนาก้าวไกล คนเหล่านั้นยิ่งเริ่มรู้สึกว่าเขาสามารถตอบโต้ได้ มีแอปพลิเคชั่นที่พวกเขาดูได้ว่าศิลปินอ่านข้อความของพวกเขา แน่นอนว่าซาแซงแฟนเกิดขึ้นก่อนหน้าการมาถึงเทคโนโลยีเหล่านี้ แต่การพัฒนาต่างๆ ของอุตสาหกรรมนี้ก็วางอยู่บนฐานของการสร้างความรู้สึกว่าพวกเขาสามารถใกล้ชิดศิลปินขึ้นไปได้เรื่อยๆ และเรื่อยๆ ซึ่งนั่นเป็นสิ่งที่น่ากลัวมาก
บ่อยครั้งเหลือเกินที่มีคนข้ามเส้นที่ไม่ควรข้าม แน่นอนว่าต้องเป็นคนบางประเภทที่เลือกจะข้ามเส้นนั้น แต่มันจะไม่ช่วยเลยหากเส้นที่ว่านั้นถูกออกแบบมาให้ไม่ชัดเจนเช่นนี้ และมีแนวโน้มจะไม่ชัดเจนมากขึ้นไปทุกวัน
อ้างอิงข้อมูลจาก