“พอมีเลือกตั้ง คนส่วนหนึ่งก็ innocent ก็เข้าใจว่าการเลือกตั้งจะเปลี่ยนแปลงอะไร เขาจะมีโอกาสเลือกตัวแทน แล้วตัวแทนจะเข้าไปเปลี่ยนแปลง แล้วมันจะไม่เป็นเหมือนเดิม แต่พอเลือกตั้งเสร็จแล้ว เห็นกลไกต่างๆ ทำงานให้คนที่เขาเลือกไม่ได้ไปต่อ มันก็ชัดขึ้นๆ”
24 มีนาคม พ.ศ.2562 เคยเป็นวันแห่งความหวังของใครหลายคน เมื่อประเทศไทยกลับสู่การเลือกตั้งครั้งแรกในรอบ 8 ปี ความคึกคักในการเลือกตั้งนี้สังเกตได้จากตัวเลขผู้ออกไปใช้สิทธิ์ 74.69% จากผู้มีสิทธิ 51.2 ล้านคน เกือบจะมากที่สุดในประวัติศาสตร์
บางคนอยากไปเลือกคนที่รักให้ได้เป็นผู้แทน บางคนอยากออกไปส่งเสียงให้คณะรัฐประหารที่กุมอำนาจมาหลายปี ให้ได้รู้ว่า สิ่งที่ประชาชนคิดเป็นอย่างไร
แม้คนส่วนใหญ่จะรู้ว่า การเลือกตั้งครั้งนี้ไม่น่าจะเป็นธรรมนัก – เพราะพรรคการเมืองหนึ่งที่เข้าแข็งขันอยู่ข้างเดียวกับผู้เขียนกติกา ผู้ตั้งกรรมการกลาง และผู้คุมสถานการณ์ในช่วงเลือกตั้ง – แต่หลายคนก็ยังเชื่อว่า เสียงของประชาชนต่างหากที่ ‘เป็นใหญ่ที่สุดในแผ่นดิน’ และพวกเราจะออกไปจับปากกาฆ่าเผด็จการ!
เลือกตั้งครั้งประวัติศาสตร์ผ่านมา 1 ปีเศษแล้ว หลายๆ คนน่าจะตื่นจาก ‘ภาพฝัน’ และเข้าใจ ‘ความเป็นจริง’ ทางการเมืองไทยมากขึ้น เมื่อที่สุดแล้วเสียงของประชาชนที่สะท้อนผ่านผู้แทน (ส.ส.) 500 คน กลับถูกแทรกแซงโดยเหล่าคนที่ทหารแต่งตั้งเข้ามา (ส.ว.) 250 คน จนผู้มีอำนาจรายเดิมได้กลับมามีอำนาจ แคนดิเดตนายกฯ รายหนึ่งถูกห้ามเข้าสภาผู้แทนราษฎร และพรรคการเมืองที่ตรวจสอบรัฐบาลอย่างเข้มข้นถูกศาลสั่งยุบในคดีที่นักกฎหมายจำนวนไม่น้อยเห็นแย้ง
เป็นที่มาของประโยคแรกของบทความนี้ ซึ่งผู้พูดได้แก่ ‘เป๋า-ยิ่งชีพ อัชฌานนท์’ ผู้จัดการโครงการอินเทอร์เน็ตเพื่อกฎหมายประชาชน หรือ iLaw หนึ่งในองค์กรภาคประชาสังคมที่เดินทางรณรงค์ให้ความรู้เกี่ยวกับการเลือกตั้ง และตรวจสอบผู้ใช้อำนาจอย่างต่อเนื่อง
The MATTER ไปคุยกับยิ่งชีพในวันที่โรคระบาดกำลังลามไปทั่วประเทศ ทำให้ประเด็นทางการเมืองถูกลดระดับความสำคัญลงไป แต่มันยังไม่หายไปไหนเพราะ ‘การเมือง’ อยู่ในชีวิตของเราทุกๆ คน และโครงสร้างการเมืองอันบิดเบี้ยวก็จะทำให้ประเทศต้องติดหล่ม ก้าวไปไหนไม่ได้ไกล
ขวบปีหลังเลือกตั้ง ประเทศไทยเปลี่ยนไปจากเดิมแค่ไหน
บทสนทนากับผู้จัดการของ iLaw อาจพอให้คำตอบกับทุกๆ คนได้
เล่าที่มาขององค์กรชื่อ iLaw ให้ฟังหน่อย ไปๆ มาๆ มาทำเกี่ยวกับการเลือกตั้งได้อย่างไร
iLaw เริ่มตั้งแต่ปี พ.ศ.2552 เดิมเราต้องการผลักดันเรื่องการเข้าชื่อเสนอกฎหมาย แต่ทำมา 5-6 ปี ก็ไม่ได้ประสบความสำเร็จนัก กระทั่งคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) เข้ามา เราก็ทำคล้ายๆ กับการจับตา คสช. แล้วบันทึกข้อมูล 2 อย่าง คือการปิดกั้นการแสดงความเห็นของประชาชนและกระบวนการออกกฎหมายใหม่ๆ ซึ่งรวมถึงประกาศ/คำสั่งของ คสช. และพระราชบัญญัติ 444 ฉบับ รวมถึงรัฐธรรมนูญและกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญด้วย
ช่วงประชามติร่างรัฐธรรมนูญเมื่อปี พ.ศ.2559 iLaw จะพูดเรื่องข้อมูลเป็นหลัก ไม่เน้นสีสันหรือข่าวร้อน แต่ช่วงประชามติแรกๆ ก็จับต้นชนปลายไม่ถูกหรอก คิดว่าสิ่งที่เราพอจะทำได้คือการสรุปกฎหมาย แล้วก็พยายามสรุปประเด็นต่างๆ ของร่างรัฐธรรมนูญออกมาเผยแพร่ให้คนมีความรู้ก่อนลงประชามติในเดือนสิงหาคม เราก็เริ่มทำในเดือนมิถุนายน แต่พอมันใกล้เข้าๆ เราก็เห็นว่า รัฐไม่เปิดโอกาสให้ฝ่ายที่เห็นต่าง อยากไป vote no ได้รณรงค์ เลยกลายเป็นว่าสิ่งที่เราทำแค่ว่า ร่างรัฐธรรมนูญมีเนื้อหาอย่างไร ต่างกับฉบับปี พ.ศ.2540 และ 2550 อย่างไร กลับกลายเป็นสิ่งมีค่าขึ้นมา
พอช่วงเลือกตั้งปี พ.ศ.2562 ตอนแรกก็ไม่ได้ตั้งใจจะมาจับตาจับโกงเลือกตั้ง เพราะไม่มีประสบการณ์ ทำไม่เป็น ก็ทำแบบเดิม คือเลือกตั้งครั้งนี้ใช้กติกาใหม่ทั้งจากรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2560 และกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญ แล้วยังมีการใช้มาตรา 44 มาแก้ไขอะไรเกี่ยวกับการเลือกตั้งอีก เราก็เลยคิดว่าหน้าที่เราคือการจับตา ติดตาม และอธิบายกติกาการเลือกตั้งแบบใหม่ให้คนเข้าใจให้ได้ ซึ่งนอกจากจะเข้าใจว่าไปโหวตยังไง ยังต้องเท่าทันว่ามันมีเบื้องลึกเบื้องหลังอย่างไร เพื่อให้สามารถคิดถึงอนาคตได้ก่อนตัดสินใจโหวต ไม่ใช่แค่ชอบคนนี้เลยเลือกคนนี้ แต่ให้เข้าใจว่าบัตรเลือกใบเดียวมันส่งผลถึงอะไรบ้าง
แต่พอลงสนาม มันอีรุงตุงนัง มันมีหลายอย่าง ก็คุยกับหลายองค์กร มีทั้งทำการจับตาจับโกงเลือกตั้ง รณรงค์เลือกตั้งเสรีเป็นธรรม ระหว่างนั้นก็ยังทำเรื่องการเข้าชื่อปลดอาวุธ คสช. เลยซ้อนๆ กันมีหลายอย่าง
งานของ iLaw เหมือนค่อยๆ เพิ่มขึ้นมา จากเรื่องเข้าชื่อเสนอกฎหมาย ให้ข้อมูลเกี่ยวกับกฎหมาย มาถึงจับตาเลือกตั้ง เท่าที่ทำมาตลอดสิบปี สังเกตเห็นอะไรบ้าง ความยากง่ายในการทำงานเช่นนี้คืออะไร
มันก็เป็นไปตามบรรยากาศบ้านเมือง พอบ้านเมืองมันเปลี่ยน การทำงานก็ต้องเปลี่ยน เริ่มทำงานปี พ.ศ.2552 ก็เป็นรัฐบาลอภิสิทธิ์ (เวชชาชีวะ) หลังจากนั้นก็รัฐบาลยิ่งลักษณ์ (ชินวัตร) พูดตรงๆ ตอนยุครัฐบาลพรรคเพื่อไทย การเปิดโอกาสให้ถกเถียงปัญหาสังคมเกิดขึ้นมากกว่า แล้วก็มีการจับกุมดำเนินคดีคนที่แสดงความคิดเห็นทางการเมืองน้อยกว่า งานก็เบา ยุครัฐบาลพรรคประชาธิปัตย์ มีการจับกุมดำเนินคดี 112 เยอะ งานก็หนัก ช่วงที่งานเบา เราก็คิดไปข้างหน้าได้ คือเราจะคิดว่า เราอยากจะเห็นอะไร เราก็ทำในเชิงแคมเปญเป็นผู้เล่นว่าเราอยากเห็นอะไร ตอนนั้นก็ทำเรื่องแก้ พ.ร.บ.ภาพยนตร์ สิทธินักโทษ แต่พอรัฐบาล คสช. เข้ามา บรรยากาศบ้านเมืองมันปิด สิ่งที่เราทำได้ก็แค่วิ่งไล่ตามดู วันหนึ่งจับใครบ้าง ใช้อำนาจผิดอย่างไร ใช้อำนาจอะไรเอาคนขึ้นศาล แค่บันทึกข้อมูลวันหนึ่งก็หมดแรงแล้ว อาจจะมีบางช่วงเคยคิดจะ active บ้าง แต่มันก็ไม่ได้เป็นผลนัก เช่นเราทำเรื่องการศึกษา แต่ทำแล้วมันก็ไม่ติด เพราะคนมันถูกปิดกั้นอยู่ ไม่ได้อยากจะคิดอะไรใหม่ๆ แค่ดิ้นรนหนีการจับกุมก็เก่งแล้ว
จริงๆ สิ่งที่เปลี่ยนมากคือช่วงเลือกตั้ง ตั้งแต่ต้นปี พ.ศ. 2562 ถึงปัจจุบัน บ้านเมืองมันเปลี่ยนมากๆ ย้อนไปปี พ.ศ.2553-2554 พอพูดเรื่องเสรีภาพการแสดงออก คนยังไม่ค่อยรู้ เวลาไปพูดตามมหาวิทยาลัย ไม่รู้ก็เริ่มใหม่ พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ ออกมาเมื่อไร มีปัญหาอย่างไร พอช่วง คสช.เข้ามาปี พ.ศ.2557 คดีมันเยอะ เวลาไปเจอนักศึกษาพูดเรื่องพวกนี้ ตาเขาจะเริ่มเบิกกว้าง คำมันจะติดๆ หูอยู่ คดี 112 พ.ร.บ.คอมฯ เขารู้สึกว่าเรื่องพวกนี้ไม่ไกลตัวมากเกินไป แต่ปี พ.ศ.2562 เป็นต้นมา ถ้าเราไปพูดกับนักศึกษาเรื่องเดิม เราจะล้าหลังแล้ว เพราะความคิดเขาไปข้างหน้าแล้ว ขณะที่ปี พ.ศ.2557-2558-2559 เขาอาจจะแค่ติดๆ หู เราอยากจะพูดให้เขาเห็นปัญหา แต่พอปี พ.ศ.2562 เขาอินกับปัญหาเป็นการทั่วไป เราแค่ไปเติมข้อมูลให้เขาแหลมคม ถ้าจะโกรธจะเกลียดอะไร ก็มีหลักฐานมีข้อเท็จจริงมากขึ้นเท่านั้นเอง แต่เราไม่ต้องทำงานสร้างทัศนคติแล้ว
ความเปลี่ยนแปลงนี้เพราะการเลือกตั้งไหม อะไรคือจุดเปลี่ยน
ไม่ใช่เพราะการเลือกตั้ง แต่มันอึดอัดสะสมมาใน 5 ปีของ คสช. แต่มันไม่มีโอกาสจะทำอะไรได้ พอมีเลือกตั้ง คนส่วนหนึ่งก็ innocent ก็เข้าใจว่าการเลือกตั้งจะเปลี่ยนแปลงอะไร เขาจะมีโอกาสเลือกตัวแทน แล้วตัวแทนจะเข้าไปเปลี่ยนแปลง แล้วมันจะไม่เป็นเหมือนเดิม แต่พอเลือกตั้งเสร็จแล้ว เห็นกลไกต่างๆ ทำงานให้คนที่เขาเลือกไม่ได้ไปต่อ มันก็ชัดขึ้นๆ คิดว่ามันค่อยๆ สั่งสมมา ไม่มีจุดเปลี่ยนใดจุดหนึ่งเสียทีเดียว แม้แต่คดียุบพรรคอนาคตใหม่ด้วย ที่ต่อให้ศาลรัฐธรรมนูญไม่สั่งยุบ ความรู้สึกเช่นนี้มันก็มีอยู่แล้ว
ถ้าเช่นนั้น ‘การเลือกตั้ง’ มันสำคัญอย่างไรกับการเมืองไทย
เลือกตั้งมันเป็นช่องทางที่สำคัญที่สุดที่จะบอกว่าประชาชนคิดอย่างไร ไม่ได้แปลว่าเลือกนายกฯ อย่างเดียวด้วย แต่การที่ประชาชนเลือกมา 8-9-10 พรรค มันก็แสดงให้เห็นว่าเฉดความคิดเห็นของสังคมมันเป็นอย่างไร ผลการเลือกตั้งแต่ละครั้งมันบอกอะไรได้หลายอย่าง ใช้มองสังคมการเมืองได้หลายชั้น โอเคมันตัดสินว่าใครจะเป็นผู้นำรัฐบาลต่อ แต่อย่างงานที่ผมทำ มันทำให้เราไปนั่งดูผลอย่างละเอียดขึ้น
การเลือกตั้งปี พ.ศ.2562 เกิดขึ้นภายใต้รัฐธรรมนูญใหม่ที่ผู้ร่างบอกว่าดีที่สุด จะทำให้คะแนนเสียงไม่ตกน้ำ เราเห็นข้อดีอย่างนั้นไหม หรือเห็นปัญหาของมันแทน
เลือกตั้งด้วยกติกาปี พ.ศ.2562 มันมีข้อดีหลายอย่าง แต่ข้อดีก็ไม่เกิดเพราะ คสช.ไป disrupt มันเอง ตัวอย่างเช่นไพรมารีโหวต ที่ทำไม่ได้เพราะ คสช.ไปล็อคไม่ให้พรรคการเมืองทำกิจกรรม พอใกล้เลือกตั้งคุณก็ออกมาตรา 44 ไม่ต้องทำ หรือคะแนนเสียงไม่ตกน้ำคนที่ได้ประโยชน์ที่สุดก็คือพรรคพลังประชารัฐของ คสช.ที่ใช้วิธีดูด ส.ส.ให้ย้ายข้าง แล้วเอาคะแนนทั้งจังหวัดมาเป็นคะแนนของพรรค เพื่อไปเลือกนายกฯ คือถ้าการเมืองไทยไม่มีระบบแบบเจ้าพ่อย้ายข้างแล้วเอาคะแนนไปทั้งจังหวัด ระบบเลือกตั้งแบบ MMA (จัดสรรปันส่วนผสม) มันก็อาจจะแย่ไม่มากก็ได้ แต่มันก็ทำตัวเองทั้งนั้น
นอกจากนั้นมันเห็นว่า การ disrupt ก็เกิดขึ้นเพราะคนที่ใช้อำนาจใช้กฎหมายและตีความกฎหมายนั่นเอง จะเลือกตั้งเมื่อไรก็ต้องรอวิษณุ (เครืองาม) ออกมาพูด พอคนของคุณรวบอำนาจในการใช้กฎหมายทั้งหมด แล้วก็ใช้กฎหมายแบบแปลกๆ ด้วย มันก็ไม่ได้ปล่อยข้อดีจากระบบที่คุณสร้างความฝันเอาไว้มันทำงาน ทุกคนก็มาอยู่กับว่าจะถูกยุบพรรคไหม ยุบแล้วตั้งพรรคใหม่จะถูกยุบอีกหรือเปล่า ความสนใจมันเลยอยู่แค่นี้ ไม่ได้ปล่อยให้ระบบทำงาน
แต่ผู้ที่เห็นชอบกับรัฐธรรมนูญนี้อาจจะบอกว่า ขออีกสักสิบปี แล้วข้อดีในรัฐธรรมนูญนี้จะทำงานเอง
มันก็มีข้อดีอยู่ แต่คุณต้องเอาคนของคุณออกจากระบบก่อน ถ้ายัง disrupt ระบบ ไม่ปล่อยให้ระบบทำงาน มันก็คงจะมองมันในแง่ดีได้ลำบาก
รวมถึงเลือกตั้งครั้งหน้าใช้ไพรมารีโหวต ซึ่งถ้าบังคับให้กับทุกๆ พรรคอย่างเท่าเทียม แล้ว กกต.ออกกฎที่เหมาะสมกับสภาพสังคมปัจจุบัน มันก็อาจจะดีก็ได้ แต่แนวโน้มก็คือพรรคพลังประชารัฐก็ทำอะไรก็ได้ แค่ส่งเอกสารไป แต่พรรคฝ่ายตรงข้ามก็ลำบาก ต่อให้ทำดีแทบตาย อาจจะจับผิดเอกสารไม่กี่บรรทัดแล้วนำไปสู่การตัดสิทธิ์อะไรกันอีก ซึ่งถ้าเป็นแบบนั้นจะให้มองไพรมารีโหวตในแง่ดีได้ลำบาก
ที่บอกว่าหลายคนค่อนข้าง innocent คิดว่าเลือกตั้งแล้วจะเปลี่ยนอะไรได้ ผ่านมาปีหนึ่ง คิดว่าเขาจะเติบโตขึ้นมากน้อยแค่ไหน
ผมจำได้ว่าก่อนเลือกตั้งซัก 1 เดือน ผมไปพูดที่มหาวิทยาลัยแห่งหนึ่ง นักศึกษาก็ยกมือถามว่าธนาธร (จึงรุ่งเรืองกิจ อดีตหัวหน้าพรรคอนาคตใหม่) จะเป็นนายกฯ ได้ไหมครับ ผมก็ตอบว่าไม่ได้ เขาก็งงมากทำไมจะไม่ได้ หลังจากนั้นผมก็พูดเรื่องกลไกกติกาต่างๆ ทั้งปวง แต่วันนั้นมันอาจจะเป็นแค่กระดาษเปล่าสำหรับเขา เขาคงจะไปเลือกพรรคอนาคตใหม่แล้วคิดว่าธนาธรจะได้เป็นนายกฯ ทีนี้เมื่อมันไม่ได้แล้วเจออะไรซ้ำๆๆๆ จนกระทั่งยุบพรรค ก็ไม่แปลกอะไรถ้าคนที่ยกมือถามวันนั้นจะเป็นคนออกไปจัดชุมนุม
คือวันนั้น ต้นปี พ.ศ.2562 ภาพที่เขาฝันเขามีสิทธิสร้างมันได้ แต่พอเห็นว่ามันไม่ได้ก็แปรผันไปเป็นการแสดงออกซึ่งความไม่พอใจเป็นเรื่องปกติ คือผมไม่รู้ว่าคนๆ นั้นจะไปใช้ชีวิตอย่างไร แต่ก็พอจะอนุมานว่าน่าจะเป็นอย่างนี้แหละ
แปลว่าคนๆ เดิมอาจจะไม่คาดหวังกับการเลือกตั้งแล้วหรือเปล่า
ถึงวันนั้นคนก็คาดหวังกับการเลือกตั้งน้อยลงนะ แม้จะมีคนเรียกร้องให้ยุบสภาเลือกตั้งใหม่อยู่ แต่คนก็คงเข้าใจมากขึ้นแล้วว่าการเลือกตั้งมันไม่ใช่ว่าง่ายๆ ใสสะอาด แล้วเดินไปอย่างที่มันควรจะเป็น
แต่สมมุติมีการแก้ไขรัฐธรรมนูญ เหมือนที่ iLaw ไปร่วมเคลื่อนไหวกับคณะรณรงค์เพื่อรัฐธรรมนูญฉบับประชาชน (ครช.) ถ้าแก้แล้ว การเลือกตั้งจะมีความหมายขึ้นไหม
มีความหมาย จริงๆ ข้อเสนอแก้รัฐธรรมนูญของเรามองข้ามการเลือกตั้งไป ถ้าแก้ไม่เสร็จ มีเลือกตั้งใหม่ ก็เลือกตั้งภายใต้กติกาเดิมไปก่อน แต่ถ้าแก้ภายใต้ข้อเสนอที่เราเสนอ อย่างน้อยๆ นายกฯ ต้องเป็น ส.ส. และต้องลงสมัครรับเลือกตั้งเอง จะมาแบบประยุทธ์ (จันทร์โอชา) ไม่ได้ ต้องอยู่ในระบบก่อน ไม่มีนายกฯ คนนอก ไม่มีระบบที่ใครก็ไม่รู้ลอยมา อีกข้อเสนอคือให้ set zero องค์กรอิสระที่ คสช.เลือกมา ถ้ามันเป็นอย่างนั้นได้ แล้วกรรมการกลางทั้ง กกต. ศาลรัฐธรรมนูญ เป็นคนที่เชื่อถือได้ การเลือกตั้งก็จะมีความหมายมากขึ้น ซึ่งผมสนในเรื่องนี้มากกว่าที่มาของ ส.ส. หรือบัตรเลือกตั้งกี่ใบ ที่มันเถียงกันได้ แต่เอากรรมการให้เป็นกลางก่อน และเสนอด้วยว่า reset กฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญที่เขียนมายุค คสช.ทั้งหมด ไพรมารีโหวตจะมีไว้ก็ได้แต่เขียนแบบให้ประชาชนมีส่วนร่วมจริงๆ ถ้ามันแก้สิ่งเหล่านี้ได้ การเลือกตั้งก็น่าจะมีความหมายมากขึ้น
iLaw ไปร่วมรณรงค์แก้ไขรัฐธรรมนูญได้อย่างไร และมีความหวังแค่ไหนในการแก้ เพราะหลายๆ คนบอกว่ารัฐธรรมนูญนี้กำหนดไว้ให้แก้ยาก
กระแสรณรงค์ที่เกิดขึ้นเรื่องการแก้ไขรัฐธรรมนูญเกือบปีที่ผ่านมา เกิดจากหลายคนคงเห็นแล้วว่ารัฐธรรมนูญฉบับปี 60 มีปัญหาอย่างไรบ้าง คือถ้าจะพูดว่าการเมืองข้างหน้าจะดีได้อย่างไรมันต้องมีรัฐธรรมนูญแบบอื่นไม่ใช่แบบนี้ คือทุกคนก็เห็นตรงกันว่ามันอยู่ภายใต้กติกาแบบนี้ไม่ได้ ใครชวนเรามา เราก็ไปร่วม เพราะ iLaw อ่านรัฐธรรมนูญหลายฉบับ ทำให้พอมีความรู้เรื่องเนื้อหาว่ามันเขียนอะไรไว้ และถ้าไม่เขียนแบบนี้ จะเขียนแบบอื่นได้ไหม คือพอมีความรู้บ้าง แต่ไม่ได้แม่นยำ 100% แต่อาจจะแม่นกว่าหลายๆ องค์กร ก็เลยไปเข้าร่วม
แน่นอนว่าการแก้ไขรัฐธรรมนูญ มันแก้ยาก ไม่ง่าย แต่ผมคิดว่าการแก้รัฐธรรมนูญกับการล้มระบอบอำนาจ คสช.เป็นเรื่องเดียวกัน
การแก้ไขรัฐธรรมนูญเป็นการล้มระบอบ คสช.ด้วยวิธีทางกฎหมาย คือคุณอาจจะล้มระบอบ คสช.ไปได้ก่อน เช่นวิธีทางการเมือง สูญเสียความชอบธรรม คนเดินขบวนเป็นล้าน แล้วเขายอมถอย การถอยออกจากอำนาจก็ต้องมีการแก้รัฐธรรมนูญด้วย แต่ในฐานะที่เราถนัดเรื่องกฎหมาย เราก็บอกว่า เราต้องการแก้รัฐธรรมนูญ ซึ่งก็คือล้มระบอบ คสช. ไม่ว่าจะยกเลิก ส.ว.แต่งตั้ง reset องค์กรอิสระ ไม่เอามาตรา 279 (รับรองประกาศ/คำสั่ง คสช.ให้ชอบด้วยกฎหมายและนิรโทษกรรมตัวเองไว้ล่วงหน้า) ข้อเสนอเหล่านี้มันก็คือการเอา คสช.ลงจากอำนาจ ถ้าอำนาจเขายังเข้มแข็งแบบนี้ เขาก็ไม่มีทางจะรับข้อเสนอ การแก้ไขรัฐธรรมนูญก็จะไม่เกิดขึ้น แต่ถ้าเขารู้สึกว่าอยู่ไม่ได้แล้วต้องการไปด้วยช่องทางปกติก็คือการแก้รัฐธรรมนูญ ในวันนี้ก็คือการนำข้อเสนอไปวางอยู่ แล้วถ้าคุณจะลง การลงก็คือช่องนี้
ในฐานะคนทำฐานข้อมูล ทั้งอธิบายกฎหมายต่างๆ รวมถึงรวบรวมคดีที่เกิดขึ้น พบเจออุปสรรคอะไรบ้าง
เจอ ผมก็พูดกับพวกเราทีมงานเสมอว่าคนที่รู้ดีว่าข้อมูลเราอ่อนแอขนาดไหนก็คือพวกเรานั่นแหละ เราก็ออกเท่าที่ออกได้ แต่ยังมีอีกหลายอย่างที่เราไม่รู้ เช่น คนถูกเรียกไปปรับทัศนคติจริงๆ มีกี่คน ไม่รู้ ความจริงเป็นอย่างไรก็ไม่รู้แล้วนะ และเอาเฉพาะที่เราเก็บข้อมูลได้ เสนอก็เบลอเหลือเกิน เช่น คดี 112 มีเท่าไร เราใช้เส้น 98 คดี แต่คนถูกเรียกปรับทัศนคติทั้งหมดเท่าไร ไม่รู้เลย แล้วเส้นก็เบลอ เราก็ยืนยันไม่ได้ ก็เสียใจอยู่
มีหลายๆ คดีที่เกิดขึ้นในยุค คสช. เราก็ตามไม่ได้ บางคดีก็ไปนั่งฟังแต่ไม่ว่างเขียน บางคดีมีคนถูกจับ แต่ก็หายไปไม่รู้ว่าดำเนินคดีถึงไหน รู้อีกทีก็พิพากษาแล้ว ก็ต้องไปตามทีหลัง ก็หายไปเยอะ มีช่องโหว่ช่องว่างหมด
ทราบมาว่า ต้นปี iLaw กลับมาทบทวนตัวเอง และวางแผนการทำงานกันใหม่ พอจะเล่าให้ฟังได้ไหมว่า จะเปลี่ยนการทำงานไปอย่างไร
ในปี พ.ศ.2563 เราจะ proactive มากกขึ้น คือภายใต้ คสช. เป็น passive เก็บข้อมูล ลงฐานข้อมูล รายงาน เน้น facts ล้วนๆ ปีนี้เราคิดว่า คนน่าจะคิดได้แล้วว่าอยู่แบบเดิมภายใต้ คสช.มันไม่ดีอย่างไร ก็อาจจะพูดเรื่องนี้น้อยลงก็ได้ แล้วพูดเรื่องที่ไปข้างหน้ามากขึ้น นี่คือสิ่งที่เราตั้งใจ แต่จะทำได้หรือเปล่าไม่รู้
มีการกำหนดเรื่องอยากทำลำดับต้นๆ ไหม 1 2 3
ตอนที่คุยกัน คือแก้รัฐธรรมนูญ แก้ พ.ร.บ.ชุมนุมสาธารณะ และ แก้.พ.ร.บ.คอมฯ พอช่วงนักศึกษาชุมนุมเยอะ ก็เปลี่ยนมาทำ พ.ร.บ.ชุมนุมสาธารณะก่อน ตอนนี้ไม่ชุมนุมแล้ว ก็กลับมาแก้ไขรัฐธรรมนูญ
มองบทบาท iLaw ในสังคมไทยอย่างไร
ผมก็ไม่รู้ว่าคนอื่นมองบทบาทเราอย่างไร แต่ก็วางบทบาทว่ายังอยากเป็นแหล่งข้อมูลอยู่ เคยอยากเป็นคนสื่อสารเอง แต่ก็เห็นว่าคนอื่นสื่อสารเยอะแยะมากมาย เราก็ถอยมาทำข้อมูลดีกว่า แล้วถ้าใครจะอยากเอาไปสื่อสาร เราก็ทำข้อมูลไว้ให้เขาใช้ดีกว่าพยายามเอง พอพยายามเล่นเอง เช่น จัดรายการ podcast ทำคลิป ก็ไปไม่ไกลหรอก มันใช้พลังงานคนละแบบ อยากเป็นฐานข้อมูลมากกว่า เป็นฐานข้อมูลที่พูดเรื่องกฎหมายที่ออกมา การบังคับใช้กฎหมาย ระบบกฎหมาย เพื่อสะท้อนภาพรวมของสังคมการเมืองไทยว่ากำลังเดินไปในทิศทางไหน
คำว่า impact ความเปลี่ยนแปลง ความหวัง สำคัญกับงานของ iLaw มากน้อยแค่ไหน
ความหวังน่าจะสำคัญมาก
คนชอบพูดว่าประเทศมันห่วยแตก ไม่มีความหวัง ไปอยู่ต่างประเทศดีกว่า ผมไม่ค่อยคิดอย่างนั้น ผมคิดว่ามันมีความหวังเสมอ แล้วก็คิดว่าทีมทำงานด้วยความหวังว่ามันดีกว่านี้ได้ แต่มันไม่ได้ดีแบบพลิกฟ้าพลิกแผ่นดิน มันดีขึ้นทีละขั้น ทีละขั้น
impact ก็สำคัญ แต่มองเรื่องเล็กๆ เช่นเสนอแก้ไขรัฐธรรมนูญ เอาทุกคนเห็นด้วย มันไม่เคยเกิดขึ้นตลอดชีวิตการทำงานของผม แต่จะเกิดขึ้นทีละเล็กละน้อย เช่น ทุกวันนี้ พ.ร.บ.คอมฯ อยู่ในความรับรู้ของสังคมมาก มันก็มาจากหลายๆ คนช่วยกันทำ แต่การที่ iLaw เป็นผู้เล่นหลักคนหนึ่งในช่วงหลายปีที่ผ่านมา ก็คิดว่าเราก็ทิ้งอะไรไว้ เป็นส่วนหนึ่งของการสร้าง impact ขนาดนี้ก็พอแล้ว หรืออย่างคดี 112 ที่ใครอยากหาข้อมูลมาหาที่เราได้ ก็เป็น impact ที่พอใจแล้วสำหรับผม
ทำงานตรวจสอบอำนาจรัฐมานาน เคยถูกข่มขู่หรือคุกคามบ้างไหม
ผมโดนน้อยมาก iLaw โดนน้อยมากอย่างอธิบายไม่ได้ แต่เข้าใจว่าเอ็นจีโอส่วนใหญ่ก็โดนทั่วไป เราจะเห็นแนวโน้มได้ว่าสิ่งที่ คสช.ไม่อยากให้เกิด คือการลงถนน เอ็นจีโอถ้าทำงานในห้องประชุม ก็จะไม่เป็นไร แต่ทันทีที่ประกาศว่าจะลงถนน ไม่ว่าจะ P-move สมัชชาคนจน หรือกลุ่มชาวบ้านที่ได้รับความเดือดร้อนจากเรื่องต่างๆ ก็จะโดนหมด ไม่ว่าจะไปพบที่บ้าน เอาไปค่ายทหาร ตั้งข้อหาดำเนินคดี ทีนี้ iLaw ยังลงถนนไม่มากนัก ส่วนใหญ่ทำงานออนไลน์
ตัวผมเองเคยโดนเรียกไปคุย 2 ครั้งแบบอ้อมๆ แต่ไม่เคยโดนแบบว่า iLaw จนมาเข้าค่ายทหาร คนที่เรียกเป็นตำรวจแล้วก็เรียกผ่านทางอื่นมา ก็นั่นแหละ
เพราะเขาประเมินว่า ออนไลน์ไม่ได้มีพลังไปเขย่าท้าทายเขาหรือเปล่า
ก็เป็นได้ว่าออนไลน์ไม่ได้มีพลังขนาดนั้น
ซึ่งเรามองว่าเขาคิดถูกหรือคิดผิด ออนไลน์มีพลังแค่ไหน
(นิ่งคิด) ผมคิดว่าเขาคิดไม่ผิดหรอกที่จะกำกับเรื่องถนนเป็นหลัก ผมไม่รู้ว่าเขาคิดว่าออนไลน์ไม่มีพลังหรือเปล่า แต่โฟกัสเขาอยู่ที่ถนน เขาอาจจะไม่ได้มีเวลา กำลัง ความฉลาด หรือสมาธิมากพอที่จะกำกับได้ทุกอย่างก็เลยเลือกถนนก่อน ซึ่งเขาอาจจะถูก และเขาก็เก่งที่ควบคุมได้ตลอด 5-6 ปีที่ผ่านมา และผมก็คิดว่าออนไลน์ก็มีพลังของคน คนรุ่นอายุ 25 ปีลงไปที่เติบโตมาและมีวิธีคิดแบบนี้ ก็ปฏิเสธอิทธิพลของออนไลน์ไม่ได้ ก็ยอมรับว่า เหล่าคน digital native คุณโตมากับโลกอีกแบบหนึ่งเลย มันก็ shape วิธีคิดออกมาแบบหนึ่ง อ่านโพสต์ของ อ.สมศักดิ์ เจียมธีรสกุล หรือแอนดรูว์ แม็กเกรเกอร์ มาร์แชล อย่างสมัยผม ถ้าอยากเสพ อ.สมศักดิ์ต้องไปนั่งในคลาสที่แกสอน แต่ตอนนี้มีเฟซบุ๊ก โลกมันก็เปลี่ยน
การจะเคลื่อนไหวอะไร จำเป็นจะต้อง ‘ลงถนน’ ไหม ในยุค digital native
ผมว่าแล้วแต่เรื่อง บางเรื่องก็ไม่จำเป็น บางเรื่องกระแสในออนไลน์ก็ทำให้รัฐบาลถอยได้บ้าง เช่น ราฮาฟ (โมฮัมเหม็ด อัล-คานูน หญิงชาวซาอุดิอาระเบีย ที่ขอลี้ภัยไปแคนาดา แล้วขังตัวเองไว้ในสนามบินสุวรรณภูมิ) ก็ไม่มีลงถนน เกิดขึ้นวันเดียวในออนไลน์ ด่ากันแล้วรัฐบาลก็เปลี่ยนท่าทีเลย
แต่บางเรื่องที่มันใหญ่มากๆ ผมไม่ใช้คำว่าลงถนนแล้วกัน แต่ใช้คำว่ามันต้องมากกว่าออนไลน์
คือออนไลน์ ผู้มีอำนาจส่วนหนึ่งยังเชื่อว่ามีการจัดตั้ง พรรคอนาคใหม่มีวิธีในการล้างสมอง ใช้ bots AI เขาก็อ่านค่าสิ่งต่างๆ ในออนไลน์ เช่น เปิดเพจพรรคพลังประชารัฐแล้วมีคนไปด่าเป็นพันๆ คอมเม้นต์ เขาอาจจะคิดว่าคนเหล่านี้ พรรคอนาคตใหม่จัดตั้งมา ดังนั้น ต้องมีอะไรที่มีค่ายกระดับไปจากออนไลน์ด้วย สมมุติไม่ได้ลงถนน แต่เราเข้าชื่อ 5 หมื่นรายชื่อแก้ไขรัฐธรรมนูญ iLaw ประกาศเข้าชื่อแล้วสัปดาห์เดียวมันได้ อีกกลุ่มมีข้อเสนอคล้ายๆ กัน ประกาศตูม สองสัปดาห์มันได้ ผมว่าอันนี้มีความหมาย แต่ต้องมากพอจะทำให้คนข้างบนเห็นด้วย ถ้าจะรีทวีต 5 หมื่นครั้ง แฮชแท็กขึ้น 5 แสนข้อความ มันก็อาจจะได้แค่เท่าที่ผ่านมา
อย่าง flash mob ถือเป็นก้าวกระโดดไหม ของการกระโดดจากออนไลน์มา
เป็นๆ ก็น่าสนใจ
ในฐานะนักกฎหมาย (ยิ่งชีพเรียนจบคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์) พอเราเห็นปัญหาของการบังคับใช้กฎหมายในช่วงเวลาที่ผ่านมา เราคิดยังไง รู้สึกยังไง
ก็มันมีช่วงที่รู้สึกเจ็บปวดและเศร้าโศกอยู่บ้าง แต่งานไม่อนุญาตให้เราเศร้านานเกินไป คือมันมีคดีที่ด้วยหลักฐานและข้อกฎหมายที่จำเลยน่าจะชนะ แต่สุดท้ายมันก็ไม่ชนะ พอมันผ่านไปว่า ก็เข้าใจมากขึ้นว่าต้องดูภาพรวมสังคมการเมือง ไม่ใช่แค่ดูตัวบทอย่างเดียวนะ หลักจากนั้นเราก็ใช้ mindset นี้ในการมองการใช้กฎหมาย มันก็เลิกรู้สึกเจ็บปวดหรือเป็นทุกข์ แต่มันก็รู้แหล่ะว่าเราอยู่ในสังคมที่ไม่ใช่หรอก มันไม่ได้อยากอยู่กันแบบนี้ แต่มันไม่มีวิธีการที่จะไปกระแทกแล้วเปลี่ยนมันในทีเดียว เช่น เขาใช้กฎหมายผิด เราก็ไปบอกว่าต้องใช้กฎหมายแบบนี้สิ แล้วมันจะกลับเข้ารูปเข้ารอยในทีเดียว ไม่ใช่ ได้แค่พูดอะไรที่มันพูดได้ ก็พูดๆ ไป
ไม่เคยมีจังหวะที่รู้สึกหดหู่ ท้อแท้ สิ้นหวัง แต่มันรู้สึกว่าบางช่วงก็อยู่ๆ ทรงๆ แต่บางช่วงก็รู้สึกภูมิใจที่เรียนกฎหมายมา พอจะมีพื้นฐานความรู้ที่สามารถหยิบจับแล้วใช้สวนกับอำนาจที่ใช้อยู่ได้บ้าง
คือผมคิดว่านิติศาสตร์ก็มีข้อเสียเยอะ มันแห้งแล้งน่าเบื่อ มันเป็นตัวอักษรแข็งๆ แล้วการปฏิบัติตามตัวอักษร ไม่ได้แปลว่าจะถูกต้องเป็นธรรมเสมอไป ซึ่งนิติศาสตร์มันไม่ได้ถูกสอนให้ตั้งคำถามพวกนี้เลย ไม่สอนให้ตั้งคำถามเลยว่าถ้าคุณจับชาวบ้านคนหนึ่งที่ปลูกยางพาราติดคุกเพราะบุกรุกป่ากับจับอีกคนที่บุกรุกเป็นพันๆ ไร่ แต่ลงโทษเท่ากัน มันยุติธรรมไหม มันจะไม่ถูกตั้งคำถาม เพราะถูกสอนว่า กฎหมายเขียนว่าบุกรุกป่ามันมีโทษเท่านี้ๆ นี่คือข้อเสีย แต่มันก็มีข้อดีอยู่คือ ถ้ากฎหมายเขียนไว้ว่าผิดก็คือผิด ถ้าทำผิดแล้วไปบอกว่าถูก มันคือการใช้กฎหมายที่มันผิด 100% ไม่ต้องตีความ หยิบทฤษฎีสมัยโบราณมาอธิบายให้มันถูก มันถูกไมได้ ดังนั้นการเอาเรื่องกฎหมายจับกับความบิดเบี้ยวของบ้างมัน บางส่วนก็ตีความไป แต่บางส่วนกีชี้ได้เลยว่าแบบนี้รัฐบาลผิด เช่น รัฐธรรมนูญกำหนดว่าถ้ามีโรคติดต่อร้ายแรง (อย่าง COVID-19) รัฐต้องบริการประชาชนโดยไม่เสียค่าใช้จ่าย ดังนั้นถ้ารัฐเก็บเงินจากประชาชนก็ผิด 100%
ทิศทางการออกกฎหมายและบังคับใช้กฎหมายในระยะหลัง มีแนวโน้มที่ดีขึ้นไหม เราควรใช้วิธีคิดว่า “อยู่กันไปแบบนี้เรื่อยๆ” หรือ “สังคมจะขึ้นกว่านี้ได้อีก”
คือจริงๆ มันแย่ลง ถ้าเทียบวันนี้กับตอนเริ่มทำงานที่ iLaw ปี พ.ศ.2552 มันแย่กว่าเดิมเยอะ เพราะวันนี้ กฎหมายต่างๆ ที่เอามาใช้ออกมาในสมัย คสช.หมดเลย ทั้งรัฐธรรมนูญ กฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญ ประกาศ/คำสั่ง คสช. พ.ร.บ.คอมฯ พ.ร.บ.ชุมนุมสาธารณะ เขียนเอง ออกเอง ใช้เอง หมดเลย
แต่ที่ผมยังมีความหวังและมองโลกในแง่ดี คือการตั้งคำถามกับระบบกฎหมายก็ดี กับความยุติธรรมในสังคมก็ดี กับระบบการเมืองที่มีทหารเข้ามาเกี่ยวข้อง มีการรัฐประหาร ก็ดี ผมไม่แน่ใจว่าในประวัติศาสตร์ชาติไทย เราเคยสู้เรื่องนี้จริงๆ จังๆ สักกี่ครั้ง แล้วเราไปได้ถึงไหนกัน
ถ้าจะว่ากัน คงจะมีปี พ.ศ.2475 ที่มีการเปลี่ยนแปลงการปกครอง หรือเหตุการณ์ 14 ตุลาฯ พ.ศ.2516 ที่มีการชุมนุมของนักศึกษาขับไล่เผด็จการคนนั้น แต่มันก็คือคนๆ นั้น แต่ในชั่วชีวิตของผมที่เกิดไม่ทันเหตุการณ์พวกนั้น ผมไม่ได้เกิดมากับการตั้งคำถามพวกนี้ ผมเกิดมากับนักการเมือง มองไม่เห็นทางออกจากวังวนของสิ่งที่มันเป็นไป คือนักการเมืองก็คือนักการเมือง ประชาชนไม่ค่อยสนใจการเมือง นักการเมืองก็อยู่ในสภาฯ ก็คอร์รัปชั่น กฎหมายก็ออกมา เราก็ไม่รู้ว่ามันถูกต้องเป็นธรรมอย่างไร ศาลตัดสินแล้วก็ต้องไหว้ ต้องเคารพ ต้องยืนตรง ต้องห้ามวิพากษ์วิจารณ์
แต่พอการเมืองมันเปลี่ยน แล้วมันกดทับคน ก็ทำให้คนตั้งคำถาม เช่น ทำไมศาลตัดสินแบบนี้ เอ๊ะ ศาลต้องถูกวิจารณ์ได้สิ ศาลต้องถูกตั้งคำถามได้
เราต้องให้เครดิตเสื้อแดงก่อนที่ตั้งคำถามกับระบอบทหาร ระบอบศาลอย่างแข็งกร้าว ซึ่งผมก็เข้าใจว่า ปี พ.ศ.2475 หรือ 14 ตุลาฯ ไม่เคยมีครั้งไหนตั้งคำถามกับระบอบศาลมากขนาดนี้ ทีนี้พอคนเสื้อแดงเริ่มสู้ ชนชั้นกลางก็ไม่เอา ก็เกลียด เด็กๆ รุ่นใหม่จะไปร่วมเสื้อแดงก็น้อย กระทั่งในตอนนี้ เสื้อแดงยังอยู่ ยังไม่ตาย เพียงแต่ไม่ค่อยพูดอะไร แต่ spirit มันยังอยู่ ปี พ.ศ.2562-2563 พรรคอนาคตใหม่ก็ขึ้นมา พร้อมวิธีคิดทางการเมืองแบบใหม่ที่สอดคล้องกับคน Gen Y แล้วพรรคอนาคตใหม่ก็โดนอะไรก็ว่าไป คนรุ่นใหม่ คนชั้นกลางในเมือง ก็ตั้งคำถามกับระบบการออกกฎหมาย ระบบศาล ระบบการเมืองที่มีทหารมาเกี่ยวข้อง มันก็เปิดตลาดคนอีกกลุ่มหนึ่ง อีก gen นึงขึ้นมา แล้ว spirit แบบนี้จะไม่หายไป แบบคนรุ่นใหม่ไม่เอา คสช. มันก็มีแต่ทางข้างหน้านะ ในประวัติศาสตร์มันไม่เคยเดินมารอยนี้ รอยแบบลงถนนแล้วตายเดินมาแล้ว แต่รอยแบบเราต้องตั้งคำถามอะไรบ้าง แล้วศัตรูที่แท้จริง ที่ทำให้ประชาชนไม่ได้เป็นผู้มีอำนาจอย่างแท้จริง มันก็ถูกตั้งคำถามมากขึ้นเรื่อยๆ
มันก็เดินมาถูกทางแล้วแหละ เพียงแต่มันไม่เร็ว มันช้า แล้วมันก็ค่อยๆ ลามไปสู่กลุ่มคนใหม่ๆ ยิ่งคนที่มีอำนาจอยู่ใช้อำนาจที่ผิดอย่างไร ยิ่งขยายวงคำถามและความต้องการเปลี่ยนแปลงไปเรื่อยๆ แต่มันก็ช้ากว่าที่ผมคิดอยู่นะ ผมเคยแอบฝันว่าหลังจาก คสช.อยู่มา 2-3 ปี คนก็จะเห็นว่าการใช้อำนาจไม่ถูกต้องคืออะไร แต่นี่มัน 6 ปีแล้ว คนที่ยังไม่เห็นก็มีอยู่ แต่มันเห็นแต่ทางข้างหน้าว่าคนที่อยากเปลี่ยนแปลงจะขยายวงขึ้นและมีเยอะขึ้น
สิ่งที่เกิดขึ้นแล้ว ความตื่นตัวทางสังคมการเมือง ความเข้าใจปัญหาเกิดขึ้นแล้ว มันย้อนกลับไม่ได้ อย่างมากคนรุ่นนี้หายไป แล้วคนรุ่นใหม่ก็มีแนวโน้มจะเข้าใจปัญหาไปอีกๆ อย่างวันนี้ ถ้าไปพูดเรื่องเดิมกับเมื่อปี พ.ศ.2558 กับนักศึกษมหาวิทยาลัย คนก็จะด่าว่า ล้าหลัง มันก็น่าจะไปในทางนี้