นับเป็นเวลาเกือบหนึ่งอาทิตย์แล้วที่รัสเซียส่งกองทัพบุกยูเครนอย่างเต็มรูปแบบ ปลายทางของสงครามครั้งนี้ยังดูห่างไกล โดยเฉพาะสำหรับชาวยูเครน
ขณะที่เสียงไซเรนและกระสุนปืนดังกึกก้องในกรุงเคียฟ เมืองหลวงของยูเครน เสียงร้องไห้ของเด็กน้อยที่ต้องแยกจากพ่อยังดังตามมาเป็นระยะ ขณะที่เสียงระฆังงานวิวาห์ยังได้ยินจากโบสถ์ สองคู่รักก็เตรียมถอดชุดเจ้าบ่าวเจ้าสาวเพื่อสวมคอมแบทร่วมรบปกป้องผืนดินบ้านเกิด
เรื่องราวมากมายเกิดขึ้นระหว่างสงครามอันโหดร้าย และแทบไม่มีสิ่งใดที่พูดได้เต็มปากว่าเป็นเรื่องดีในช่วงเวลาเช่นนี้
ทุกคนคือครอบครัว ชาวยูเครนพาสัตว์เลี้ยงเข้าที่หลบภัย หลังกองทัพรัสเซียเริ่มโจมตี
เสียงไซเรนดังระงมในหลายเมืองของยูเครน เป็นสัญญาณบอกให้ชาวเมืองอพยพไปที่สถานีรถไฟฟ้าใต้ดิน ซึ่งเป็นหลุมหลบภัยที่รัฐบาลจัดขึ้น อารมณ์ความรู้สึกของชาวเมืองหลากหลายทั้งหวาดกลัว กังวล หรือโกรธแค้น เช่นเดียวกับสัมภาระที่พวกเขานำมาด้วย บ้างแบกกระเป๋าที่บรรจุของสำคัญเต็มสองมือ บ้างกุมมือคนในครอบครัวพาเดินอย่างเร่งร้อน และบ้างอุ้มสุนัข แมว กระต่าย ตลอดจนสัตว์เลี้ยงอีกหนึ่งคนสำคัญของครบครอบครัวไปด้วย เพราะไม่อยากปล่อยมันไว้ระหว่างที่กองทัพรัสเซียบุกเข้ามา
หนึ่งในนั้นยอมรับกับนักข่าวจาก Washington Post ว่า ยังไม่รู้เหมือนกันว่าจะไปไหนต่อ รู้แต่ว่าต้องออกจากกรุงเคียฟในตอนนี้
การอพยพหนีภัยสงครามในยูเครนยังดำเนินอย่างต่อเนื่อง โดยล่าสุด UNHCR ประเมินว่า มีผู้อพยพออกจากยูเครนมากกว่า 500,000 คนแล้ว โดยโปแลนด์, ฮังการี และมอลโดวา คือ 3 ประเทศที่ชาวยูเครนอพยพไปมากที่สุด
พ่อชาวยูเครนฝากลูกชายไว้กับหญิงแปลกหน้าที่ชายแดงฮังการี ก่อนกลับไปร่วมสงคราม
รัฐบาลยูเครนมีคำสั่งห้ามผู้ชายทุกคนที่อายุระหว่าง 18 – 60 ปี เดินทางออกนอกประเทศ เพื่อเตรียมรายงานตัวเป็นทัพสำรองในสงครามกับรัสเซียนั่นทำให้พ่อวัย 38 ปีผู้หนึ่ง ตัดสินใจขับรถมาที่ชายแดนฮังการีพร้อมลูกชายและลูกสาว ก่อนตัดสินใจฝากทั้งคู่ไว้กับ Nataliya Ableyeva หญิงวัย 58 ปีที่เขาไม่เคยรู้จักมาก่อน Nataliya เล่าว่าหลังจากที่ได้พูดคุยกันบริเวณชายแดน พ่อของเด็กทั้งสองก็ตัดสินใจฝากเด็กทั้งสองไว้กับเธอ และบอกว่าอีกไม่นาน แม่ของเด็กที่อยู่ในอิตาลีจะมารับตัวพวกเขาไปดูแล แล้วเขาก็หันหลับกลับไป มุ่งหน้ากลับสู่กรุงเคียฟ ที่การปะทะยังคงมีอย่างต่อเนื่อง
สำหรับ Nataliya เธอเองเข้าใจหัวอกพ่อของเด็กทั้งสองดี เพราะลูกทั้งสองของเธอก็เป็นตำรวจและพยาบาล จึงอพยพออกจากยูเครนไม่ได้
Nataliya ดูแลเด็กทั้งสองไม่นานนัก ก่อนที่แม่ของทั้งคู่ Anna Semyuk จะเดินทางมาถึง เธอตรงเข้าไปสวมกอดเด็กทั้งสอง ก่อนหันมาขอบคุณ Nataliya และทั้งคู่ก็เริ่มร้องไห้ ”ทุกสิ่งจะเรียบร้อย อีกไม่นานเราจะได้กลับบ้าน” Anna บอกกับลูกทั้งสองของเธอ
“เราอาจต้องตาย แต่ก่อนถึงวันนั้น เราอยากอยู่ด้วยกัน” คู่รักแต่งงานกลางสงคราม ก่อนจับปืนฮันนีมูนที่แนวหน้า
รุ่งเช้าที่รัสเซียยกทัพบุกยูเครนเต็มรูปแบบ Yaryna Arieva และคู่หมั้นของเธอ Sviatoslav Fursin ตัดสินใจเลื่อนงานแต่งที่เดิมวางไว้วันที่ 6 พฤษภาคม มาเป็นวันที่ 25 กุมภาพันธ์ในทันที
“สถานการณ์มันแย่มาก แต่เราทั้งคู่จะสู้เพื่อบ้านเกิดของเรา” Arieva กล่าวกับสำนักข่าว CNN เมื่อวันที่ 25 ก.พ. ที่ผ่านมา เธอกล่าวต่อว่า “เราอาจต้องตาย แต่ก่อนถึงวันนั้น เราอยากอยู่ด้วยกันก่อน”
ทั้งคู่อาจเคยวางแผนฮันนีมูนไว้อย่างสุขสงบกว่านี้ แต่ล่าสุด เฟซบุ๊กของ Arieva โพสต์ภาพที่ทั้งเธอและสามีเดินทางไปเข้าร่วมกองกำลังป้องกันมาตุภูมิ และอยู่กลางสมรภูมิแล้วในตอนนี้
“ฉันหวังว่าทุกอย่างจะกลับมาปกติ และเรายังคงมีแผ่นดินและบ้านเกิดที่สงบและอบอุ่น โดยที่ไม่มีรัสเซียอยู่ในนั้น” Arieva กล่าว
“พวกเราทิ้งพ่อไว้ในเคียฟ” ครอบครัวในกรุงเคียฟแตกสลาย หลังรัสเซียเปิดฉากรุกเมืองหลวง
“พวกเราทิ้งพ่อไว้ในกรุงเคียฟ เขาจะได้ขายของต่างๆ และช่วยเหล่าวีรบุรุษของพวกเรา” Mark Goncharuk เด็กชายตัวน้อยน้ำตารื้นขณะให้สัมภาษณ์กับ The Guardian ก่อนพูดต่อ “และเขาอาจร่วมต่อสู้ด้วย”
Mark และแม่ของเขาอพยพออกจากกรุงเคียฟ หลังกองทัพรัสเซียยกทัพเข้าล้อม และเริ่มใช้อาวุธสงครามยิงถล่มเข้ามาในเมืองเมื่อช่วงกลางดึกของวันที่ 26 กุมภาพันธ์ที่ผ่านมา ด้านทหารยูเครต้านสุดกำลังไม่ให้เมืองหลวงถูกยึดไปได้
Vitaliy Klitschko นายกเทศมนตรีประจำกรุงเคียฟ ยืนยันมีผู้เสียชีวิตจากการปะทะในเมืองเคียฟแล้วอย่างน้อย 31 ราย และหนึ่งในนั้นเป็นเด็ก ขณะที่องค์กรสหประชาชาติ หรือ UN เปิดเผยเมื่อวาน (28 ก.พ.) ว่า ตั้งแต่สงครามเริ่มต้น มีพลเรือนชาวยูเครนเสียชีวิตแล้วอย่างน้อย 102 ราย และคาดว่ายังมีมากกว่านี้อีกมาก
หญิงชราให้ทหารรัสเซียเก็บเมล็ดทานตะวันใส่กระเป๋า เพื่อให้มันโตหน้าหลุมศพหลังพวกเขาแพ้สงคราม
ขณะที่เสียงปืนยังดังระงมไปทั่วผืนดินของยูเครน หญิงชรานางหนึ่งได้เข้าไปพูดคุยกับทหารรัสเซียที่เข้ามาคุมพื้นที่ในเมืองที่คาดว่าเธออาศัยอยู่ เธอเข้าไปถามว่าพวกเขามาทำอะไรที่นี่? ทหารรัสเซียรายนั้นตอบกลับมาว่าซ้อมรบ แล้วเธอก็ถามต่อว่าเป็นคนรัสเซียหรือเปล่า และทหารรายนั้นก็ยอมรับ และเธอก็พูดกับทหารนายนั้นต่อ
“แกมันพวกรุกราน แกมันฟาสซิสต์” ด้านทหารนายนั้นก็ได้แต่ปฏิเสธ และพยายามบอกให้หญิงชราเดินไป เพราะการพูดคุยไม่ช่วยอะไรให้ดีขึ้น แต่เธอยังพูดต่อ
“เอาเมล็ดทานตะวันนี่ไป ดอกมันจะได้ขึ้นหน้าหลุมศพ ตอนที่แกตายอยู่ที่นี่” แล้วทั้งคู่ก็เถียงกันอีกครู่หนึ่งก่อนจะเดินแยกกันไป โดยเมล็ดทานตะวันเป็นสัญลักษณ์ของประเทศยูเครนอยู่แล้ว และหลังจากคลิปดังกล่าวถูกเผยแพร่ออกไป ผู้ชุมนุมทั่วโลกที่ต่อต้านสงครามครั้งนี้ ก็เริ่มนำทานตะวันมาใช้แทนสัญลักษณ์สนับสนุนยูเครน
“ทุกวิธีทางเพื่อปกป้องบ้านเกิด” ชาวยูเครนเอาตัวเข้าขวางรถถังรัสเซีย ไม่ให้เคลื่อนไปได้
ชาวยูเครนทำทุกวิถีทางเพื่อต่อสู้และปกป้องบ้านเกิดของตนเอง อย่างเช่นชายคนดังกล่าวในคลิปที่เผยแพร่โดย The Guardian
คลิปดังกล่าวถูกอัดจากทางภาคเหนือของยูเครน โดยขณะที่รถถังของรัสเซียกำลังเคลื่อนผ่านตัวเมือง ชายคนดังกล่าวได้พยายามปีนขึ้นไปเพื่อหยุดรถถัง ก่อนร่วงลงมา แล้วเขาก็พยายามใช้แรงแขนตัวเองดันรถถัง ก่อนล้มเหลวอีกครั้ง ทำให้ในที่สุด เขาคุกเข่านั่งลงเบื้องหน้ารถถัง คล้ายอ้อนวอนให้รถถังหยุดหรือทับเขาจนเสียชีวิต ซึ่งในท้ายสุดเขาก็ถูกพาตัวออกจากถนน
ไม่ใช่เพียงชายคนดังกล่าวเท่านั้นที่ใช้ทุกสิ่งเพื่อขัดขวางกองทัพรัสเซีย ก่อนหน้านี้เมื่อวันที่ 26 ก.พ. ก็มีคลิปที่ชายคนหนึ่งพยายามขวางไม่ให้พาหนะจากกองทัพรัสเซียผ่านไปได้ โดยเหตุการณ์เกิดขึ้นบริเวณที่คาดว่าเป็นถนนเชื่อมระหว่างเมือง โดยชายคนดังกล่าวเขาทั้งวิ่งไล่และยืนขวางจนรถบางคันตกลงไปที่ไหล่ทางข้างๆ
คลิปดังกล่าวถูกนำไปเทียบกับภาพ Tank Man ที่จัตุรัสเทียนอันเหมิน ซึ่งมีนัยยะถึงการต่อต้านระบบอำนาจนิยมในจีน และเป็น 1 ใน 100 ภาพทรงอิทธิพลตลอดกาลของนิตยสาร Time
“ผมก็คนรัสเซีย แต่ผมอาศัยในประเทศนี้” ชายชราถามทหารรัสเซีย ทุกคนมีประเทศตัวเอง ทำไมต้องทำสงคราม
รัสเซียและยูเครนมีความสัมพันธ์กันทั้งในเชิงชาติพันธุ์ ประวัติศาสตร์ ตลอดจนวัฒนธรรม และพูดได้ว่าคนรัสเซียหลายคนก็เข้ามาอาศัยอยู่ในยูเครน เช่นเดียวกับคนยูเครนที่เข้าไปอาศัยในรัสเซีย
คลิปจากสำนักข่าว The Guardian เผยให้เห็นชายสูงวัยคนหนึ่งในเมืองเมลิโทโปล ทางตะวันออกเฉียงใต้ของยูเครน ได้เข้าไปพูดคุยกับทหารรัสเซียสองนายที่เข้ามาในเมือง
“รัสเซียบุกยูเครนนี่มันโคตรไร้สาระ” ชายสูงวัยพูดกับทหารสองนายที่ยืนฟังอย่างนิ่งสงบ “พวกแกมาทำอะไรกันที่นี่? พวกเรามีชีวิตของเรา เหมือนที่พวกแกมีชีวิตของแก”
“ฉันก็เป็นรัสเซียนเหมือนพวกแกนั่นแหละ แต่ฉันอาศัยอยู่ที่ประเทศนี้ เหมือนที่พวกแกมีประเทศของพวกแก พวกฉันก็มีประเทศของพวกฉัน” ชายสูงวัยกล่าวก่อนทิ้งท้ายว่า “พวกแกไม่มีปัญหาหรือไงที่นู้น (รัสเซีย) รวยกันหมดแล้วหรือไง? พวกแกมันน่าอายจริงๆ ”
รัสเซียประกาศว่าสามารถยึดเมืองเมลิโทโปลได้แล้ว ตั้งแต่ค่ำคืนของวันที่ 25 กุมภาพันธ์ อย่างไรก็ตาม ทางการยูเครนออกมาปฏิเสธ เช่นเดียวกับ เจมส์ ฮาเปอร์ รัฐมนตรีกลาโหมของสหราชอาณาจักรที่ออกมาแสดงความเห็นว่า ยังไม่มีรายงานยืนยันว่ารัสเซียยึดเมืองนี้ได้แล้ว ดังนั้น คาดว่ายูเครนยังคงป้องกันเมืองนี้ได้อยู่
“เรามีความหวังว่าเราจะชนะ” ชาวยูเครนในต่างแดนเดินทางกลับบ้าน เพื่อสมัครเป็นทหารปกป้องบ้านเกิด
ขณะที่ผู้หญิง เด็ก และผู้สูงวัยกว่า 500,000 คนเดินทางออกจากยูเครนเพื่อลี้ภัยสงคราม ชาวยูเครนที่อาศัยในต่างแดนจำนวนมากกลับเดินทางเข้ามาในประเทศ เพื่อยืนหยัดเคียงข้างพี่น้องและร่วมสู้เพื่อปกป้องผู้รุกราน
โดยในวันที่ 27 ก.พ. สำนักงานตรวจคนข้ามแดนของโปแลนด์ระบุว่า มีชาวยูเครนประมาณ 22,000 คนที่เดินสวนกับผู้อพยพเข้ามาในยูเครนผ่านทางโปแลนด์ ทั้งนี้ ก่อนเกิดการอพยพจากสงคราม มีชาวยูเครนประมาณ 1 ล้านคนอาศัยอยู่ในโปแลนด์
“ผมโทรหาพ่อกับแม่แล้วก็ร้องไห้ แล้วผมก็ตัดสินใจกับตัวเองว่าจะอยู่โปแลนด์เฉยๆ เฝ้าดูรัสเซียทำลายอิสรภาพและบ้านเมืองของเรา ฆ่าคนของเรา ทำร้ายเด็กๆ และคนแก่ของเรา” Janiel หนุ่มวิศวะวัย 27 ปีที่ทำงานในโปแลนด์กล่าวกับสำนักข่าว AP
“พวกเราต้องปกป้องบ้านเมืองของเรา ถ้าเราไม่ทำ ใครจะทำล่ะ?” หนึ่งในชาวยูเครนที่เดินทางกลับจากโปแลนด์พูดขึ้น ก่อนอีกคนจะเสริมว่า “พวกเราไม่กลัวรัสเซีย พวกมันนั่นแหละต้องกลัวเรา”
แต่ไม่ใช่ทุกคนที่เดินทางกลับยูเครนเพราะอยากเข้าร่วมกองทัพ Lesa หญิงสาววัย 36 ปีที่เดินทางกลับมายูเครนพร้อมกับพี่ชายระบุว่า “ฉันกลัวมาก แต่คนเป็นแม่ต้องการอยู่กับลูก เป็นคุณจะทำยังไงล่ะ? แต่สำหรับฉันมันน่ากลัว แต่ฉันก็ต้องทำ”
นอกจาก Lesa ก็ยังมี Alina ที่เดินทางกลับมายูเครนเพื่อรับลูกเช่นกัน “พวกเราชาวยูเครนต้องมาพาเด็กๆ อพยพให้หมด.. เพื่อให้พวกเขาต่อสู้อย่างเต็มที่”
จากเซนต์ปีเตอร์สเบิร์กถึงรอบโลก ประชาชนทั่วโลกลงถนน ร่วมต่อต้านสงครามรัสเซีย – ยูเครน
วันที่ 27 ก.พ. สำนักข่าว Aljazeera รายงานว่า มีผู้ออกมาชุมนุมทั่วประเทศรัสเซียมากกว่า 5,000 คน โดยบางส่วนมาพร้อมแผ่นป้ายที่มีข้อความว่า “ยุติสงคราม”, “กลับบ้านเถอะพี่น้องรัสเซีย” และ “สันติภาพแด่ยูเครน” อย่างไรก็ตาม มีรายงานว่าเจ้าหน้าที่รัสเซียผู้สลายการชุมนุม และมีการจับกุมผู้ร่วมชุมนุมกว่า 2,000 ราย รวมถึงจับกุมสื่อทั้งที่มีเอกสารยืนยันตัวตน
และไม่ใช่แค่ในรัสเซียเท่านั้นที่มีการต่อต้านสงคราม ขบวนประชาชนเกิดขึ้นในท้องถนนทั่วโลกตั้งแต่ วลาดิเมียร์ ปูติน ประธานาธิบดีรัสเซียลั่นคำสั่งให้บุกยูเครน เช่นเดียวกับในไทยเอง ที่คนหลายสัญชาติออกมารวมใจเป็นหนึ่งเดินขบวนไปที่สถานทูตรัสเซียเพื่อเรียกร้องให้ยุติสงครามกับยูเครน
ไม่มีใครทราบว่าสงครามจะดำเนินไปจนถึงเมื่อไหร่ จะมีคนบาดเจ็บล้มตายอีกมากแค่ไหน และจะสิ้นสุดลงด้วยคราบน้ำตาของอีกสักกี่หมื่นร้อยครอบครัว สิ่งที่ทำได้ตอนนี้สำหรับคนไกลเช่นเราอาจมีเพียง หวังให้ผู้ครองอำนาจที่มืดบอดตระหนักเสียทีว่า สงครามไม่นำไปสู่อะไร และไม่มีวันนำไปสู่อะไรนอกจากเลือดและน้ำตา
อ้างอิง:
https://workpointtoday.com/melitopol-ukraine-captured-by-russia/
https://www.washingtonpost.com/world/2022/02/24/ukraine-people-flee-russia-attack-pets/
https://www.facebook.com/thematterco/photos/3135519593330088
https://edition.cnn.com/2022/02/24/europe/ukraine-wedding-invasion-thursday-intl/index.html
https://www.facebook.com/people/Ярина-Арєва/100004887704913/
https://www.bbc.com/news/av/world-europe-60525996
https://apnews.com/article/russia-ukraine-europe-poland-migration-8de0893dfcf7db46e6a6acf9911104a4
https://www.aljazeera.com/news/2022/2/27/more-than-2000-arrested-at-anti-war-protests-in-russia
https://people.com/politics/protests-around-world-russia-invasion-ukraine/