“ผมจะทำในสิ่งที่ผู้ว่าฯ กทม. ไม่เคยทำ” จากแท็กไลน์ในการเลือกตั้งผู้ว่าฯ กทม. จนถึง โควตทวีตที่พูดถึงนายกฯ ว่า “มันเข้ามาแล้ว ดีขึ้นป่าวไม่รู้ แต่มึงออกไปอ่ะ ดีขึ้นแน่นอน” ส่งให้ น.ต.ศิธา ทิวารี กลายเป็นนักการเมืองที่โดดเด่นในหมู่คนรุ่นใหม่ และถูกเรียกขานว่าเป็น ‘แด๊ดดี้’ ของน้องๆ
หากจะว่าไป ชื่อของ ศิธา ทิวารี ก็เป็นชื่อที่คุ้นหูกันดีสำหรับคอการเมืองอยู่แล้ว เพราะก่อนที่เขาจะมารับตำแหน่งผู้สมัครผู้ว่าฯ กทม. ของพรรคไทยสร้างไทย เขาเคยไต่เต้าในสนามการเมืองขึ้นไปจนถึง ส.ส. กรุงเทพฯ เขตคลองเตย, โฆษกรัฐบาลสมัยทักษิณ ชินวัตร ตลอดจนเป็นกรรมการบริหารพรรคไทยรักไทยก็เคยมาแล้ว แต่ที่เงียบหายไป ไม่ใช่เพราะเป็นเพราะเขาและสมาชิกพรรคไทยรักไทยรวม 111 คนถูกตัดสิทธิ์ทางการเมืองเป็นระยะเวลา 5 ปีหลังเกิดการรัฐประหารในปี 2549 ซึ่งช่วงเวลานั้นทำให้เขาเงียบหายไปจากหน้าสื่อ และผันเวลามาให้แก่ลูกทั้ง 4 คนมากยิ่งขึ้น
ในวันนี้ชื่อของ ศิธา กลับมาติดลมบนอีกครั้ง เขาลาออกจากพรรคเพื่อไทยเพื่อมาร่วมปลุกปั้นพรรคไทยสร้างไทยร่วมกับคุณหญิงสุดารัตน์ เกยุราพันธ์ ลงสมัครชิงผู้ว่าฯ กทม. ด้วย “หน้าที่” ตามท่ีเขาระบุ ก่อนกลายเป็นขวัญใจคนรุ่นใหม่จากคาแรคเตอร์อบอุ่น และวิธีการพูดหยอกเอินที่เต็มไปด้วยเสน่ห์
จากนักเรียนเตรียมทหารที่ฝันขับเครื่องบินรบ ถึงจุดพลิกผันในชีวิตที่มีโอกาสนั่งโต๊ะกินข้าวร่วมกับอดีตนายกฯ ทักษิณ ชินวัตร ที่อังกฤษ และปัจจุบันหนึ่งในมือที่พยายามปลุกปั้นพรรคไทยสร้างไทยให้เป็นสถาบันการเมือง อดีต ปัจจุบัน และอนาคตเส้นทางการเมืองของ น.ต.ศิธา ทิวารี เป็นอย่างไร ร่วมเปิดเปลือยเรื่องราวทั้งหมดได้ในบทสัมภาษณ์ด้านล่างนี้
คุณศิธาผ่านมาหลายบทบาทอาชีพนักการเมือง ทหาร นายแบบชอบชีวิตช่วงไหนที่สุด
ผมชอบตอนเป็นนักบิน รองลงมาก็ตอนเป็นนักการเมือง นักบินมันเป็นงานที่เราชอบ มีหน้าที่ออกไปรบกับข้าศึกซึ่งเราก็ไม่ได้เคยเจอหรือรู้จักกันอยู่แล้ว เพราะฉะนั้นมันก็มีแต่พวกมีแต่เพื่อน ส่วนการเมืองมันก็สนุก ถ้าเปรียบเทียบคล้ายกับแข่งกีฬาแบบโอเพ่น ไม่มีการจำกัดน้ำหนัก ไม่มีจำกัดความเร็ว คุณใส่ได้ทุกอย่าง ได้ทุกรูปแบบ แต่บางอย่างมันก็หนักเกิน เข้ามาถึงชีวิตส่วนตัว มีการขุดทั้งเรื่องจริง หรือสร้างเรื่องเท็จขึ้นมา เขาถึงบอกว่าใครอยากรู้ประวัติตัวเองให้เข้ามาเล่นการเมือง (หัวเราะ)
สำหรับคุณการตัดสินใจครั้งที่สำคัญที่สุดในชีวิตคืออะไร
อย่างแรกเลยคือตอนตัดสินใจเป็นนักบินตั้งแต่อายุ 7-8 ขวบ ตอนนั้นเห็นเครื่องบินบินผ่านแล้วก็รู้สึกอยากเป็น เลยตัดสินใจเข้ามาเป็นนักเรียนนายเรืออากาศ ส่วนอีกรอบที่สำคัญเลยคือ ตัดสินใจออกจากทหารมาลงการเมือง อันนั้นคือจุดเปลี่ยนชีวิตมาก
ตอนนั้นคิดนานไหมกว่าจะออกมา
โอ้โห คืนนึง (หัวเราะ) ตอนนั้นปี 2543 ผมได้ไปเป็นผู้ช่วยทูตทหารอากาศในอังกฤษ ซึ่งเขาเป็นเตรียมทหารรุ่นเดียวกับนายกฯ ทักษิณ [ตอนนั้นทักษิณยังไม่เคยเป็นนายกฯ – ผู้เขียน] พอนายกฯ ทักษิณไปกินข้าวที่บ้านก็มีทูต ผู้ช่วยทูต ทหารแต่ละเหล่าทัพมานั่งกินด้วย แล้วเก้าอี้มันว่างอยู่ที่นึง เขาก็เลยเรียกผมไปนั่งกินด้วย เพราะอาวุโสสุดในนั้น
แล้วพอนั่งร่วมโต๊ะอาหารกับนายกฯ ทักษิณฟังเขาพูดว่าอยากให้ประเทศพัฒนาไปอย่างไร แล้วแบบฟุ้งซ่านนอนไม่หลับเลย มันมีคนแบบนี้ด้วย เพราะตอนเราอยู่ในกองทัพ มันเป็นสังคมปิด วันๆ คิดแต่ว่าจะไปทิ้งระเบิดแบบไหน ยิงจรวดยังไง พอฟังเขา เราเลยเหมือนเปิดกะโหลก และตอนนั้นก็นาวาอากาศตรีแล้ว เหลือเวลาบินอีกไม่กี่ปี เพราะนาวาอากาศโทก็ต้องพ้นจากฝูงบินแล้ว พอกลับมาเมืองไทยก็มาสมัครพรรคไทยรักไทยของนายกฯ ทักษิณเลย
แล้วก่อนหน้านี้เคยสนใจเรื่องการเมืองไหมครับ
เอาจริง ไม่เคยเลยนะ น้อยมาก ปกติก็เหมือนคนทั่วไปอ่านข่าวเฉพาะพาดหัว และถ้าจะอ่านข่าวการเมืองก็จะอ่านเฉพาะหน้าสาม หน้าวิเคราะห์การเมืองน่าติดตามแล้วที่เหลือก็จะไปดูข่าวอย่างอื่นล่ะ
มีช่วงหนึ่งคุณศิธาเจ้าสู่วงการบันเทิง มีถ่ายแบบ เล่นละคร ตอนนั้นเป็นอย่างไรบ้าง ชอบไหม
ตอนนั้นผมเรียนอยู่โรงเรียนเตรียมอุดมฯ กำลังจะเข้าเตรียมทหาร เวลาจะไปกินข้าวข้างทางก็จะมีคนมาถามว่าไปถ่ายแบบไหม ไปถ่ายโฆษณาของเซนทรัลไหม และพวกเอเจนซี่ต่างประเทศก็ชอบมาชวน อาจจะเป็นหน้าหรือคาแรคเตอร์ที่เขาชอบ เราก็ไปถ่ายแล้วก็ได้ตังค์ ตอนนั้นประมาณ 1,000 – 2,000 บาท/ งาน ซึ่งมันก็เยอะนะสมัยนั้น แต่บางอันก็ถ่ายไม่ได้เพราะว่าเป็นนักเรียนทหาร
ถามตรงๆ ถือว่าตัวเองเคยเป็นหนุ่มเพลย์บอยไหม
ก็อายุ 40 กว่าถึงจะมีเป็นตัวเป็นตน (หัวเราะ) มันก็เป็นธรรมดาของผู้ชายทั่วไป น่าจะพูดได้ประมาณนี้นะ (หัวเราะ) จะบอกว่าหนักกว่าผู้ชายคนอื่นก็จะลำบากนิดนึง
ถ้ามีโอกาสแสดงหนังสักเรื่องอยากรับบทเป็นอะไร
โห ผมเล่นหนังไม่ได้เลย อย่าว่าเล่นหนังแค่เอาไปพูดบนเวทีก็แย่แล้ว เพราะมันติดมาจากตอนเรียนทหาร อันดับแรกเลยคือห้ามยิ้ม ถ้ายิ้มปั๊บโดนข้อหาไอหน้าทะเล้น แล้วก็จะโดนตัดคะแนน โดนลงโทษ เพราะงั้นพอยืนบนเวทีเราจะกลายเป็นตัวตลกทันที ยืนตัวตรง “สวัสดีครับ ผม น.ต.ศิธา ทิวารี วันนี้ผมจะบรรยายสรุปเรื่อง..” แพทเทิร์นที่ฝึกมามันเป็นอย่างนี้ คนก็เลยสงสัยทำไมตอนแถลงดุจังวะ แต่พอคุยเล่นอีกเรื่องหนึ่ง
แต่ว่าตอนแรกที่คุณศิธาเข้ามาทำงานในไทยรักไทย ตำแหน่งก็เป็นโฆษกรัฐบาลไม่ใช่หรือ
ผมเข้าไปเลือกตั้งสมัยแรก ก็ได้เป็น ส.ส. ที่เขตคลองเตย ถามว่าตอนนั้นหินมั้ย ตอบได้ว่าหินมาก เพราะว่ารอบๆ เราเนี่ยแพ้หมดเราแหลมมาเขตเดียว ผู้ใหญ่เขาก็มาคุย คุณมาลง ส.ส. ก็เหมือนไก่ชน ถ้าชนะมาเขาแห่รอบหมู่บ้าน แต่ถ้าแพ้เขาเอาไปลงหม้อแกง (หัวเราะ) แต่ตอนนั้นเราก็ทุ่มเทเต็มที่ เป็นทหารมาเคยนอนกลางดินกินกลางทรายมาแล้ว ก็กินนอนในชุมชนมันจะเป็นอะไรไป บ้านชาวบ้านไฟไหม้ เขากลายเป็นคนเป็นคนไร้บ้าน เราก็ไปนอนอยู่กับเขาตรงนั้นตั้งแต่วันที่ไฟไหม้จนกระทั่งขึ้นบ้านใหม่ ก็ได้ใจชาวบ้าน สมัยแรกเลยได้รับเลือกตั้ง
พอเป็น ส.ส. ก็โชคดี เพราะ พล.อ.ชวลิต (ยงใจยุทธ) รมต. กลาโหมเขาไม่มีเลขาฯ เขาก็ต้องเลือก ส.ส. ไปเป็น ท่านรัฐมนตรีก็มองว่าทำงานกับคนหนุ่มดีกว่าเลยกลายเป็นว่า ส.ส. สมัยแรกผมได้เป็นเลขาฯ รัฐมนตรีเลย ทีนี้มันมีประเด็นเกิดขึ้นเยอะ อย่างกรณีเครื่องบินการบินไทยระเบิด ก็มีคำถามว่าเป็นการลอบสังหารนายกฯ หรือเปล่า กองทัพก็ต้องไปดูเรื่องนิรภัยการบิน แล้วเราเป็นเลขาฯ รมต. ก็เลยต้องออกมาพูดเยอะ พอได้วิเคราะห์อย่างตรงไปตรงมา คุณสรยุทธ์ สุทัศนะจินดา (นักข่าวช่อง 3 – ผู้เขียน) เขาก็ชวนผมไปออกรายการ พอไปเราก็โต้จากข้อมูล ข้อเท็จจริง อันไหนที่ไม่ใช่เราก็ยอมรับด้วยตัวข้อมูล พอวันประชุมพรรค ป๋าเหนาะ (เสนาะ เทียรทอง อดีตประธานที่ปรึกษาพรรคไทยรักไทย – ผู้เขียน) ท่านก็ถามคนไหนศิธา ท่านก็ชมว่าเก่งมาก คนรุ่นใหม่ต้องเป็นแบบนี้ จนปรับ ครม. ทำเนียบก็โทรมาถามว่าว่างไหม จะให้เข้ามาช่วยงานส่วนกลาง เขาให้เอกสารเรามาเซ็นก็เห็นว่าให้เป็นโฆษกรัฐบาล ก็ถามย้ำกลับไปนะว่าเป็นรองโฆษกหรือเปล่า เขาก็บอกว่าไม่ใช่ เราก็ตอบกลับไปว่าถ้าไว้วางใจผมก็ทำเต็มที่ครับ
แต่ก็เป็นงานหินมาก เพราะคนเป็นโฆษกต้องรู้งานของทั้ง 20 กระทรวง วาระ ครม. มี 80-90 วาระ เราก็ต้องคัดเรื่องที่สำคัญออกมา พอถึงเวลาก็ต้องไปบรีฟให้นักข่าวฟัง เพราะฉะนั้นเราเข้าประชุมก็ต้องตั้งใจฟังแล้วจด ถ้านายกฯ ไม่พูดสักข่าวก็ต้องฟังจากเรา แล้วนักข่าวที่รู้ลึกก็มักจะจี้ถาม เราก็ต้องรู้ให้จริงให้ได้คำตอบ เราต้องทำงี้ตลอด มันก็หนัก แต่ว่าพอมันผ่านมา มันทำให้รู้เรื่องว่าแต่กระทรวงทำงานกันอย่างไร เชื่อมอย่างไร
ในเรื่องการทำงาน นายกฯ ทักษิณเป็นไอดอลเลย ท่านเหลือเชื่อในเรื่องบริหารความคิด เวลา และการจดจำส่วนต่างๆ มีคนเคยเปรียบเทียบว่าท่านจะจำเหมือนเก็บใส่ลิ้นชักไว้ สมมติพอผ่านไปเดือนนึงมีคนมาถามเรื่องนี้ ท่านก็เหมือนหยิบออกจากลิ้นชักแล้วบอกให้ไปลองคุยกับคนนี้ หาตัวจับยากจริงๆ คนแบบนี้ ผมยังไม่เคยเจอใครที่เชื่อมโยงได้ดีเท่าเขา และสิ่งที่แกสอนและทำให้ดูมาตลอดอีกอย่างคือ แกจะไม่พูดเท็จ อันไหนที่พูดไม่ได้ก็จะไม่พูด แต่ถ้าต้องพูดจะต้องพูดความจริง
คุณศิธาดูยังมีความชื่นชมเวลาพูดถึงคุณทักษิณ
ผมยังเชื่ออยู่ตลอดเวลาว่า ถ้าเกิดท่านได้ทำงานและได้โอกาสชี้แจงเรื่องต่างๆ อย่างเป็นธรรม บ้านเราจะลดโทนทางการเมืองลงเยอะ ตอนนี้เราเห็นอยู่แล้วว่าสังคมมันแยกเป็นเหลือง-แดง แน่นอนว่ามีตรงกลางที่สวิงไปมาด้วย ซึ่งในมุมมองผม ต้องขยายตรงนี้เพิ่มขึ้นและต้องคิดแบบสมเหตุสมผลถ้าคนที่เราเชียร์ทำผิด เราก็ต้องด่า และถ้าคนที่เราไม่ชอบทำถูก เราก็ต้องชม
ถ้าเกิดเราทำทุกอย่างให้ตรงไปตรงมา อย่างกรณีนิรโทษกรรมสุดซอย ผมไม่เคยเห็นด้วยเลย และคนใกล้ตัวนายกฯ ทักษิณที่ไม่เห็นด้วยอีกคนนึงคือ โอ๊ค – พานทองแท้ ชินวัตร แต่เขาพูดไม่ได้ เพราะพรรคต้องการเดินแบบนั้น และถ้าถึงที่สุดแล้วศาลมีคำตัดสินแล้ว ฝ่ายนึงมองว่าดีแล้ว แต่อีกฝ่ายบอกว่าไม่เป็นธรรมล่ะ เอาขึ้นมาพิจารณาใหม่เลยดีไหมว่ากันตามกระบวนการ ผิดก็คือผิด ถ้าแบบนี้ผมมองว่ามันจะดีขึ้น
ที่อยากถามคือ ถ้ายังรู้สึกชื่นชมคุณทักษิณ ทำไมตัดสินใจออกจากพรรคเพื่อไทย
ต้องแยกระหว่างตัวนายกฯ ทักษิณกับพรรคเพื่อไทย เพราะเมื่อก่อนตอนมีนายกฯ ทักษิณทุกอย่างจะจบลงได้ด้วยตัวเขา แต่วันนี้ท่านอยู่เมืองนอก แล้วพอเพื่อไทยเป็นพรรคใหญ่ ไม่มีใครใหญ่กว่าใคร ทุกคนระนาบเดียวกันหมด ทำให้การบริหารจัดการในพรรคมันอุ้ยอ้ายมาก เรื่องง่าย ๆ เรื่องนึงก็เห็นกันเป็นซ้ายกับขวา เป็นพรรคใหญ่ถึงแม้จะทำงานง่ายได้ ส.ส. เยอะ แต่ว่าในรายละเอียดเราไม่สามารถไปให้ถึงจุดหมายที่ต้องการได้ คือคนนึงจะเดิน อีกคนก็ดึงขากางเกง ดึงกันไปดึงกันมาอยู่อย่างงี้
เราก็เลยออกมาเป็นพรรคเกิดใหม่ ไม่มี ส.ส. สักคน ทำของเราเป็น niche market เล็กๆ แล้วถ้าคนที่มีอุดมการณ์ตรงกันมารวมกัน อีกหน่อยพรรคมันจะใหญ่เอง ตอนนี้ทำมันเล็กๆ ไปก่อน จะได้ ส.ส. กี่คนก็ได้ อยากส่งผู้ว่าฯ กทม. ก็ส่ง แพ้ก็แพ้ ให้ประชาชนเห็นว่าเราจะทำ
แล้วระหว่างพรรคเพื่อไทยกับพรรคไทยสร้างไทย มีความเหมือนและความต่างในแนวคิดและจุดยืนอย่างไรบ้าง
ต้องพูดจุดเหมือนก่อน ผมว่าทั้งสองพรรคโฟกัสที่ประชาชนเหมือนกัน ตั้งใจช่วยคนตัวเล็กใกล้เคียงกัน และอยู่ฝ่ายประชาธิปไตยเหมือนกัน
ส่วนที่ไม่เหมือนกันคือ เราไม่ได้มองว่าพรรคการเมืองไหนเป็นศัตรูเลย อย่างพรรคพลังประชารัฐเขาก็ตั้งพรรคขึ้นมาเพื่อสนับสนุน พล.อ.ประยุทธ์ แล้วก็ดึง ส.ส. ทุกคนตามไป อันนี้เราไม่เห็นด้วย แต่ตัวบุคคลที่เป็น ส.ส. ส่วนใหญ่ก็มาจากทุก ๆ พรรคการเมืองอยู่แล้ว ไม่ได้คิดอะไร
ส่วนของพรรคเพื่อไทย ผมไม่รู้ว่าเขามองพรรคร่วมฝ่ายค้านเป็นมิตรหรือเปล่า ต้องให้เขาตอบ แต่ถ้าดูจากแนวโน้มเรื่อง landslide และการวิเคราะห์กลุ่มคนเลือกตั้งว่าถ้าอยู่ฝั่งประชาธิปไตยไม่เลือกคนนี้ก็คนนู้น มันเหมือนมีกรอบว่าการหาคะแนนของเราอยู่ในอ่างปลาเดียวกัน ฉะนั้น ใครจับปลาในอ่างนี้คือศัตรูกัน ซึ่งผมมองว่าเป็นความคิดที่ผิด เพื่อไทยต้องทำตัวเป็นผู้ใหญ่และพี่ใหญ่ เพราะว่าครั้งนี้และผมคิดว่าครั้งหน้าด้วย คุณจะได้ ส.ส. มากที่สุด ดังนั้น คุณต้องดึงทุกคนเป็นแนวร่วม เพื่อไปสู้กับรัฐธรรมนูญที่บิดเบี้ยวจาก ส.ว. 250 คนที่ลุงแกตั้งไว้ อย่ามาสู้กันเองเลย ถ้าคุณมองว่าเพื่อไทยต้องเป็นพี่ใหญ่ที่ทำให้ฝ่ายประชาธิปไตยแข็งแรง คิดแบบนั้นคุณจะชนะ ซึ่งตรงนี้คือสิ่งที่ผมมีคำถามกับผู้บริหารพรรคเพื่อไทยในเวลานี้
แปลว่าในการเลือกตั้งครั้งหน้า พรรคไทยสร้างไทยสามารถรวมได้กับทุกพรรคใช่ไหม
รวมได้แทบทุกพรรคการเมือง ถ้าไม่มีสามลุงอยู่เบื้องหลัง ไม่ว่าพรรคประชาธิปัตย์หรือพรรคพลังประชารัฐ เพราะอย่างถามว่าพลังประชารัฐใหญ่เพราะอะไร ก็นอกจากมือนึงถือกล้วยใช้พลังดูดแล้ว อีกมือนึงเขายังถือไม้เรียวคอยหวด ถ้าไม่มาร่วมกับฉันเนี่ย คุณจะโดนคดีจากองค์กรอิสระที่ฉันตั้งเข้ามานะ พอทำแบบนี้ทุกคนก็ไปรวมกับเขาหมด ซึ่งคนเหล่านี้ โดนบังคับให้ไปอยู่ แต่ใจเขาไม่ได้อยู่ เขาอยู่เพื่อเอาตัวรอด แถมยังได้กล้วยด้วย ได้ตำแหน่งด้วย ได้งบประมาณไปต่อยอดในพื้นที่ด้วย และในที่สุดเมื่อลงจากหลังเสือ คนเหล่านี้เนี่ยแหละจะกลับมาลงแขกคุณเอง วัฏจักรการเมืองไทยมันเป็นแบบนี้
เมื่อกี้คุณศิธาพูดถึงพรรคประชาธิปัตย์ขึ้นมา สามารถรวมได้จริงไหม
ได้ สำหรับผมอุดมการณ์ของประชาธิปัตย์น่าเลื่อมใสนะ แต่มันเป็นอุดมคติมากเกินไป สมมติกำหนดว่าห้ามรับทรัพย์เกิน 3,000 บาท แต่คุณไปกินข้าวครั้งหนึ่งมันก็เกินแล้ว เสื้อตัวรองเท้าคู่รับมามันก็เกินแล้ว แล้วคุณก็เอากฎหมายที่เข้มงวดไปทำร้ายฝ่ายตรงข้าม ผมถึงบอกว่าประชาธิปัตย์มันอุดมคติมาก
และสอง ประชาธิปัตย์ยังติดโต้ด้วยโวหารอยู่ สมมติเกิดเรื่องหนึ่งขึ้น เหมือนเป็นธรรมเนียมของเขาที่เวลาพูดไม่ได้พูดทางออก แต่พูดว่าคนของเราใจซื่อมือสะอาดยังไง แบบนี้คนมันไม่อยากฟังแล้วไง มันก็เลยอยู่ที่เดิม และลดน้อยถอยลงเรื่อยๆ
แล้วกับพรรคก้าวไกลนี่รวมได้ไหม เพราะหนึ่งนโยบายที่พวกเขาชูคือแก้ไขหรือยกเลิกประมวลกฎหมายหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ ม.112
อย่างที่ผมบอก เวลาเราจะทำงานกับใครต้อง ‘แสวงจุดร่วมสงวนจุดต่าง’ ผมยกตัวอย่าง กรณีพิพาทเรื่องทรัพยากรตรงพรมแดน ถ้าเกิดตกลงกันไม่ได้ว่าเป็นของใคร คุณก็ต้องพักเอาไว้ก่อน อย่าเพิ่งกินเอาฝาชีมาครอบไว้ มันต้องแสวงจุดร่วมก่อนแล้วสงวนจุดต่างไว้ อย่าเพิ่งมูมมาม อย่าเพิ่งไปกิน เพราะงั้นกับพรรคก้าวไกลเนี่ย ผมมองว่าอุดมการณ์ในเรื่องนี้ไม่ได้ต่างกันเลย
กับ ม.112 มันไม่จำเป็นต้องมีแค่ซ้ายสุด-ขวาสุด มันมีโทนสีอีกตั้งเยอะ เรามาเลือกจุดที่พอดีๆ กับความเป็นไทยไหม จุดที่ทุกคนยอมรับกันได้ อย่าไปเหมารวมว่าต้องเป็นแบบนี้แบบนั้น มันเป็นการยัดบรรทัดสุดท้ายไปให้เขา หรือสมมติมีคนมาถามว่าคิดยังไงกับ ม.112 แล้วบางกลุ่มก็บอกบอกว่า “ถ้าไม่ยกเลิกไม่ต้องพูดกัน” ถ้าอย่างงี้มันจะคุยกันไม่จบ จะกลายเป็นว่ามาวัดกันสิว่าใครยกเลิกใครไม่ยกเลิก แต่กับกฎหมายนี้คนส่วนนึงมองว่าเป็นสิ่งที่เขาหวงแหน และต้องการรักษาไว้ ถือเป็นคุณูปการต่อประเทศ เขายอมสู้อย่างถวายชีวิตเหมือนกัน และถ้าสัญญาณของการเผชิญหน้ามันปรากฏตั้งแต่ก้าวแรกแบบนี้ ประเทศมันไปไม่ได้
ที่ผ่านมาเราเจอทั้งวิกฤติการเมือง, เศรษฐกิจ, COVID-19 คนถูกดึงลงมาอยู่ในสนามจนแข่งขันต่อไม่ได้ แล้วพอมาถึงทหารก็ยึดอำนาจเอาไปปกครอง เรื่องแบบนี้เราต้องเข็ดได้แล้ว เพราะงั้นกลับมาแสวงจุดร่วมก่อนดีไหม อีก 4 ปีข้างหน้า โฟกัสเฉพาะเรื่องเศรษฐกิจกับ COVID-19 ทำชีวิตความเป็นอยู่ของพี่น้องประชาชนให้ดีขึ้นก่อน แค่สองเรื่องนี้ผมเชื่อว่า 4 ปีข้างหน้าทำแทบจะไม่ทันแล้ว เรามองว่าอันไหนที่ไม่ใช่เรื่องเร่งด่วนกับพี่น้องประชาชน พักไว้ก่อน เป็นอาหารก็เอาฝาชีไปครอบไว้ก่อน แล้วเรามาทำในเรื่องเร่งด่วนก่อน
ม.112 ไม่ใช่ first priority ของพรรคไทยสร้างไทยพูดแบบนี้ถูกไหมครับ
ผมมองว่าทุกวันนี้ ม.112 ถูกใช้เพื่อปกป้องพวกตัวเอง และทำร้ายฝ่ายตรงข้าม ยกตัวเองเป็นคนดีคนรักชาติแล้วใครที่เขามาด่ารัฐบาลคุณก็บอกว่าไม่รักชาติหมด แต่ไม่ใช่เขาไม่รักชาติ เขาไม่รักมึงต่างหาก ซึ่งทุกวันนี้คุณใช้อำนาจล้นเกินอยู่แล้ว เอาทหารมาปกป้องตัวเอง เอาทหารมาปล้นประชาธิปไตย เขียนรัฐธรรมนูญมาเอื้อคุณเองสารพัด แล้วยังจะเอากฎหมายที่เป็นเครื่องยึดเหนี่ยวจิตใจ เป็นหนึ่งในสีของธงไตรรงค์มาปกป้องตัวเองอีก เพราะงั้นอันดับแรกให้แก้ที่การใช้ ม.112 ให้ไม่ไปทำร้ายฝ่ายตรงข้ามก่อน
ที่ผ่านมา ม.112 ไม่ได้มีอะไรเลย เพิ่งจะมามีช่วงหลังเพราะคนที่มีอำนาจรัฐในมือพยายามใช้เพื่อปกป้องตัวเอง ผมจะปรับเป็นว่าใครนำ ม.112 ไปทำร้ายผู้อื่นจะต้องโดนโทษมากกว่าเดิม 2-3 เท่า เพราะทำให้คนมีอคติกับกฎหมายนี้และทำให้สถาบันเสื่อมถอย
เราต้องจัดการเรื่องความเชื่อแบบนี้เหมือนคำว่า ‘handle with care’ เพราะถ้าไม่ว่าวงไหนถ้าคุณถามว่าศาสนาไหนดีกว่ากัน มันทะเลาะกันทุกวง และสำหรับประเทศไทยในธงธงไตรรงค์เราบรรจุ 3 สิ่งไม่ใช่ 2 สิ่ง ดังนั้น อย่าเพิ่งไปแตะดีมั้ย มาร่วมกันพัฒนาประเทศออกจากสถานการณ์ปัจจุบันก่อน พอเสร็จแล้วค่อยมาคุยกันว่าตรงไหนไม่ใช่
แล้วเราจะมีบรรยากาศที่พูดถึงสถาบันกษัตริย์ เหมือนในประเทศอื่น เช่น สหราชอาณาจักรได้ไหม
คนรุ่นใหม่อาจเข้าใจว่าพูดได้ไม่เห็นเป็นไรเลย แต่ในมุมของคนรุ่นเก่า ถ้าเขาเห็นภาพเขียนหรือมีภาพล้อเลียน เขาอาจรู้สึกว่ามันเกินไป ผมยกตัวอย่างเรื่องการแต่งตัวของผู้หญิง ถ้าต่างประเทศโนบราเขาก็จะเฉยๆ แต่ของเมืองไทยเขาอาจรู้สึกว่ามันไม่สมควร ซึ่งแต่ละคนคิดและมีเส้นที่ไม่เท่ากัน ดังนั้น
ผมมองว่าเรื่องสถาบันกษัตริย์ควรพักไว้ก่อนดีกว่า คุยกันให้ตกผลึกก่อน เพราะถ้าเกิดเอามาวิจารณ์ เดี๋ยวจะมีคนออกมาถามว่าวิจารณ์ได้แค่ไหนและเดี๋ยวก็ล้ำเส้นไปอีก แต่เอาจริงเราก็อยู่กับแบบนี้มานานแล้ว เพิ่งมามีประเด็นช่วงหลังๆ นี่เอง
ผมหมายถึงเรารับฟังทุกคน แต่มองว่าอะไรที่มันขัดแย้งกัน เราอย่าเพิ่งไปแตะเลย เพราะถ้าแตะแล้วเรื่องอื่นไม่สามารถจะเดินต่อได้ และพอขัดแย้งมากก็เผชิญหน้า แล้วเดี๋ยวก็ติดขัด แล้วตาหลิ่วก็มาเอาพุงปลาไปกินอีก บอกอยู่แป๊บเดียวก็ปาไป 8 ปีแล้ว เพราะฉะนั้นอะไรที่เปิดโอกาสให้คนบางกลุ่มมาฉกฉวยอำนาจ เราต้องช่วยกัน ต้องอะลุ่มอล่วยกัน
คุณศิธามองอย่างไรบ้างกับผลการเลือกตั้งผู้ว่าฯ กทม. ที่ออกมา คุณศิธาได้คะแนนทั้งหมด 73,720 คะแนน ขณะที่ ส.ก. ไทยสร้างไทยได้มา 2 ที่นั่ง พอใจไหม
เอาตัวผมก่อนนะ ไม่ว่า 70,000 หรือ 50,000 คะแนน ผมไม่ได้รู้สึกอะไรเลย เพราะยังไงก็แพ้ชัชชาติล้านกว่าคะแนนหมดทุกคนแหละ แล้วกูแพ้ล้านหนึ่งมึงแพ้ล้านสามมันต่างกันมากหรือวะ ถูกไหม แล้วตลอดเวลาที่เดินผมก็พูดตลอดว่าพร้อมสนับสนุน และมองเห็นว่าแกคือคนที่ดีที่สุด แต่เรามีความจำเป็นบางอย่างที่ต้องมาลง เพราะพรรคการเมืองเราเพิ่งก่อตั้ง เราต้องเสนอนโยบายให้คนรู้ ถึงเราไม่ชนะจะเอานโยบายเราไปใช้ก็ไม่ว่า ซึ่งในที่สุด เราก็ทำให้คนรู้ว่าเรามีแนวคิดมีนโยบายกับประเทศไทยอย่างไร
แพ้ชนะไม่ใช่บรรทัดสุดป้ายของเรา มันมีอีกหลายอย่างระหว่างทาง ซึ่งเอามารวมกันอาจจะมีคุณค่ามหาศาลยิ่งกว่าวินาทีที่เข้าเส้นชัยก็ได้ และผมบอกเลยว่า 70,000 คะแนนที่ได้มาแม่งโคตรมีค่า เพราะว่าทุกคนเขามีคนในใจแต่แรกแล้วคือท่านชัชชาติ ผมก็พูดในช่วงหาเสียง 10 วันสุดท้ายนะว่า ใครมีคนในใจอยู่แล้วไม่ต้องลังเลเลย คุณไม่ต้องหย่าเพื่อมาแต่งกับผม อย่างเพื่อนผมโคตรรักผมเลย ถามศิธากับชัชชาติรักใครมากกว่ากัน รักศิธา แล้วเลือกศิธาไหมเบอร์อะไร ศิธาเบอร์ 8 มันออกมาแบบนี้กันหมด แต่ถ้าคุณอยากเชียร์ผมหรือมองว่าสิ่งที่ผมทำมันถูก คุณมาเลือก ส.ก. ผมก็ได้ ผมก็สื่อสารอย่างนี้ไปชัด
แต่สิ่งที่ผมกังวลก่อนลงสมัครผู้ว่าฯ กทม. คือ ผมมีลูกสี่คน คนโตอายุ 13 ขวบ คนเล็ก 3 ขวบ แล้วความเป็นเด็กเราก็กลัวว่าถ้าแพ้ เขาจะคิดว่าพ่อเสียใจหรือเปล่า แต่มันจำเป็นต้องลง ผมเลยใช้มุมนี้ในการสอนลูกเลย บอกลูกผลแพ้ชนะมันไม่ใช่บรรทัดสุดท้าย พ่อลงเพราะมันเป็นหน้าที่แต่แพ้ชนะมันเป็นอีกเรื่องนึง มันเป็นภารกิจเหมือนนักบิน นักบินไม่ถามหรอกว่าออกบินแล้วจะตายไหม แต่เขาสนใจว่าถ้าสำเร็จภารกิจมันก่อประโยชน์ให้คนข้างหลังยังไงบ้าง ซึ่งเขาก็เข้าใจกันนะ หลังประกาศผลเลือกตั้งก็ไม่มีใครร้องไห้ เขาก็บอกว่าคุณพ่อเก่งมาก เหมือนที่บอกว่าทำไม 70,000 คะแนนมีค่า เพราะคนที่เลือกเขารู้อยู่แล้วเราไม่ชนะ แต่เขาอยากส่งสัญญาณให้เราว่ามีคนเห็นสิ่งที่ทำนะ แล้วเขาพร้อมสนับสนุนนะ
สมมติว่าถ้าได้เรียนหนังสือกับผู้สมัครผู้ว่าฯ กทม. ทุกคน คิดว่าจะสนิทกับใครมากที่สุด
วิโรจน์ (ลักขณาอดิศร) ถึงเขามีมุมดุดัน แต่ว่ามันเกิดขึ้นจากอินเนอร์เขา เขาเรียล ต้องยอมรับว่าในมุม ม.112 อาจมองต่างกัน แต่มันไม่ใช่เหตุผลที่จะไม่ชื่นชมเขาไง สมมติพอมีคนพูดเรื่อง ม.112 แล้วมีคนตอบอย่างงี้ หางตาผมจะเห็นเลยว่าวิโรจน์นั่งส่ายหัว ซึ่งเรามองว่ามันต้องเรียล ต้องออกมาจากความจริงใจเวลาพูด ซึ่งถ้าจะเป็นเพื่อนกัน มันต้องรับฟังกัน อันไหนเห็นไม่ตรงกันมาคุยกัน มาเจอกันตรงกลางให้มันไปต่อได้ไหม ซึ่งผมเชื่อว่าวิโรจน์รับฟัง
ถ้านั่งอยู่ในห้องเรียน คุณจะนั่งอยู่ตรงไหนของห้อง
หลังห้องดิ(หัวเราะ) อันนี้คือเบานะ ปกติเขาเรียกผมว่านักเรียนนอก ไม่ใช่ต่างประเทศนะแต่ไปนั่งนอกห้อง สมัยเด็กจะแวบไปสูบบุหรี่ที่ห้องน้ำข้างหลัง คือช่วงเบรกไม่มีใครได้เข้าห้องน้ำหรอก เพราะไปอัดห้องละ 4-5 คน มี 10 ห้องเต็มทุกห้อง ควันขโมง แต่ผมก็สูบเฉพาะตอนนั้นนะ เหมือนอะไรที่เขาห้ามคุณจะอยากทำ แล้วพอเป็นนักเรียนทหารอากาศซึ่งตอนบินอากาศก็น้อยอยู่แล้วก็เลยเลิก
วนกลับมาเรื่องพรรคไทยสร้างไทย ถ้าเกิดอุบัติเหตุทางการเมืองเกิดขึ้นกับคุณหญิงสุดารัตน์ พรรคจะไปต่อไหม
ไปต่อครับ คุยกันว่าอยากสร้างให้พรรคนี้เป็นสถาบันการเมือง มีคอนเซปท์คือ ร่วมกันสร้างประเทศไทยให้ดีที่สุดเพื่อส่งมอบให้กับลูกหลาน ตอนแรกคุณหญิง (สุดารัตน์ – ผู้เขียน) ก็บอกให้มาช่วยกันทำพรรคนะ แต่อายุก็มากกันแล้ว ถ้าถึงเวลาสัก 3-4 ปี เกิดไม่สำเร็จ คุณ (ศิธา) ก็กลับบ้านไปเลี้ยงลูก พี่ (สุดารัตน์) ก็กลับบ้านไปเลี้ยงหลาน แต่ถ้าสำเร็จก็ทำต่อแล้วสนับสนุนให้คนรุ่นใหม่มาทำงาน แต่ในช่วงแรกก็ยังต้องเป็นสุดารัตน์ที่ช่วยทำงาน เพราะเขามีประสบการณ์ทางการเมือง แล้วพอถึงเวลาที่คนรุ่นใหม่สามารถไปได้ เราทำตัวเหมือนนั่งร้านถึงเวลาก็ถอดออก ให้เด็กเขาเดินหน้าสร้างตึกที่ชื่อประเทศไทยให้ไปต่อได้
พี่จิ้น – สมยศ ลีลาปัญญาเลิศ แฟนคุณหญิงก็บอกว่าพี่มีที่ที่ดอนเมืองอยู่ 7 ไร่ให้เอาไปทำพรรคเลย ผมก็ถามว่าทำไมไม่เก็บไว้เป็นมรดกลูกหลาน แกก็บอกเฮียมีที่ดินเยอะแยะแล้ว ลูก 3 คนก็แบ่งให้หมดแล้ว อยากมอบให้ไปทำพรรคการเมืองเพื่อทำประโยชน์ให้กับประเทศ แกก็บอกว่าภรรยาผมคนนี้ตั้งใจให้พรรคไทยสร้างไทยเป็นผลงานมาสเตอร์พีซชิ้นสุดท้าย ผมก็ต้องสนับสนุนเขา แล้วแกลงทุนสร้างพรรคให้ ผมก็แซวใช้คำว่า ‘ภรรยาผมคนนี้’ แสดงว่ามีคนอื่นด้วยหรอ (หัวเราะ)
กังวลไหม ที่การเลือกตั้งที่จะมีขึ้นในปีหน้า ยังมี 250 เสียงจาก ส.ว. อยู่
เป็นสิ่งที่ต้องแก้ไข แต่ว่าแน่นอนว่าในการเลือกตั้งครั้งหน้านี้ ส.ว. จะยังอยู่ แล้วเขาก็ตั้งใจไม่แก้มาตรานี้ด้วย ซึ่งมันเท่ากับไม่ได้ให้อำนาจประชาชนอย่างแท้จริง ซึ่งความเสียหายหรือสิ่งที่มันบิดเบือนไปเนี่ยเทียบเป็นตัวเลขนะ เลือกตั้งครั้งที่แล้ว ส.ส. ต่อประชาชนประมาณ 1:70,000 ถ้าทั้งสภาผู้แทนฯ 500: 35,000,000 คนที่ออกไปเลือกตั้ง แต่พล.อ.ประยุทธ์คนเดียวตั้ง ส.ว. 250 คน ที่มีสิทธิ์มีเสียงเท่ากับ ส.ส. 1 คน เท่ากับว่าเสียงที่ประยุทธ์มีมันเท่าๆ กับเสียงของคนราว 17.5 ล้านคนเลย ครั้งหน้า พล.อ.ประยุทธ์หรือคนที่กำกับ ส.ว. จะชี้เลยว่าจะให้ใครเป็นนายกฯ ซึ่งดูท่าทีแล้วลุงแกไม่ถอยนะ
แสดงว่าไทยสร้างไทยยังเชื่อว่าสวิตช์ของ ส.ว.จะถูกโหวตให้นายก
อยู่ที่ว่าคนเปิด-ปิดสวิตช์เขาจะทำยังไง ถ้าเขาให้เกียรติประชาชน เขามีกระบวนการอื่นที่จะเลี่ยงตรงนี้ได้ เช่น ให้ ส.ส. โหวตกันไปก่อน แล้วดูว่า ส.ส. เลือกใครแล้วคุณก็เลือกตาม ถ้าแบบนี้มันยังพอฟังได้ แต่ครั้งที่แล้ว ส.ว. 250 คนงดออกเสียง 1 คนเพราะเป็นรองประธาน ที่เหลือเลือกประยุทธ์เป็นายกฯ ทั้งหมด ทั้งที่กฎหมายลูกของรัฐธรรมนูญระบุว่า ส.ว. ต้องมาจากคนทุกเหล่า ทุกขั้วการเมือง ทุกสาขาอาชีพ แต่ปรากฏว่าไม่มีขั้วการเมืองไหนเห็นแย้งว่าไม่โหวตประยุทธ์เป็นนายก โอกาสมันยิ่งกว่าถูกหวย 10 ครั้งติดที่ 250 คนจะคิดเหมือนกันหมด เพราะงั้นเฟคละ มันไม่เคารพเสียงประชาชนแล้ว
คิดว่าทำไมคนรุ่นใหม่เรียกคุณศิธาว่า ‘แด๊ดดี้’
ในมุมผม คิดว่าจากที่ดีเบทมันทำให้คนฟังรู้สึกว่าไม่เหมือนว่านักการเมืองเดิมๆ ยอมรับสิ่งที่ไม่ใช่ และยืนยันในสิ่งที่ใช่ นำเสนอนโยบายที่จับต้องได้ และรับฟังทุกคนโดยเฉพาะคนรุ่นใหม่ ทำให้เขารู้สึกเหมือนพ่อที่ฟังลูกหรือผู้ใหญ่ที่ฟังเด็ก เพราะผมรู้ว่าคนรุ่นเก่ากับคนรุ่นใหม่มันสื่อสารกันไม่รู้เรื่อง ยิ่งเรามีลูก 4 คนหน้าที่อันดับแรกของคนเป็นพ่อคือต้องทำความเข้าใจลูก และถ้าผมไม่ฟังเด็กๆ ตั้งแต่วันนี้พอลูกผมโตจะยิ่งแล้วใหญ่เลย เพราะงั้นเสต็ปแรกต้องฟังว่าพวกเขาคิดยังไง แล้วเอาความคิดเก่าออกเพื่อรับฟังความคิดใหม่
อีกมุมหนึ่งที่คนติดตามการเมืองจะเห็นคือ ในเวทีเลือกตั้งผู้ว่าฯ กทม. รอบนี้ ภาพลักษณ์มันเปลี่ยนไปหมดเลย ไม่มีการทะเลาะเบาะแว้ง ถึงแม้จะมีความพยายามดึงลงไปทะเลาะ เช่น ประเด็นไม่มี ส.ก. ซึ่งผมคิดว่าถ้าเอาประโยชน์ส่วนตัวออกไปก่อน แล้วมองอย่างเป็นกลาง ผมว่าสังกัดพรรคหรือไม่ ผมให้น้ำหนักเท่าๆ กัน แต่ถ้าจะทำความเจริญให้กับกรุงเทพฯ มันต้องร่วมมือกัน ดังนั้น ผมเลยบอกว่าใครไม่มี ส.ก. คุณใช้เอา ส.ก. ของไทยสร้างไทยได้เลย ซึ่งผมรู้สึกว่าคนรุ่นใหม่คิดว่ามันต้องอย่างนี้ สู้กันแล้วจะได้อะไร มันก็เลยเป็นอารมณ์ของแด๊ดดี้ที่ทำประโยชน์เพื่อลูกจริงๆ
คุณศิธามีลูก 4 คน ความเป็นพ่อของศิธาเป็นอย่างไรบ้าง มีห้ามอะไรไหม เจาะหู ทำสีผม สักได้ไหม
ลูกสาวผมน่ารักมาก สมมติเขามีอะไรก็จะมาถามว่า “คุณพ่อคะหนูทำอันนี้ได้ไหมคะ?” เขาบอกเห็นเราเป็นนักการเมือง ครอบครัวทำอะไรก็อาจส่งผลถึงคุณพ่อได้ ครั้งหนึ่งลูกสาวขอทำผมสีฟ้า ผมก็ตอบว่าได้สิ 7 สีไปเลยลูก นกแก้วมันยังมี 7 สีเลย ทำไมหนูจะทำไม่ได้ แล้วเขาก็ถามเรื่องเจาะหูแบบนี้เหมือนกัน เราก็ถามเขาจะร้องไห้ไหม เขาก็บอกหนูทนได้เพื่อนก็เจาะกันทุกคน ผมก็บอกเอาสิลูก 7 รูไปเลย เขาน่ารักจะทำอะไรก็มาถามตลอด
แล้วเขาก็เคยถามว่า ถ้าหนูจะไปสักได้ไหม ผมก็บอกว่าต้องคิดให้ดี เพราะอย่างตอนเด็กๆ หนูเคยอยากเป็นเจ้าหญิง แต่พอโตขึ้นมา 8-9 ขวบ ใครเรียกหนูเจ้าหญิง หนูจะต้องมาบิดอยู่กับคุณพ่อแล้วบอกว่าทำไมต้องเรียกหนูเป็นเจ้าหญิงด้วย คือเขาเริ่มเป็นตัวตนของเขา ไม่อยากให้ใครเรียกเป็นเจ้าหญิง เพราะฉะนั้นสิ่งที่หนูชอบวันนี้ก็อาจจะเปลี่ยนไปได้ และถ้าหนูตัดสินใจจะไปสัก พ่อคิดว่าหนูชอบเวลานี้ในอนาคตหนูอาจจะเปลี่ยนไป แล้วมันจะเป็นแผลเป็น อันนี้หนูต้องคิด แต่เรื่องเจาะหู ทำสีผม เดี๋ยวมันก็กลับมาเป็นตัวตนของหนู แบบนี้พ่อไม่ว่า อยากทำอะไรก็ลอง
ซีเรียสเรื่องการเรียนไหม
ซีเรียส แต่ไม่บังคับ ถึงแม้ผมจะพูดเสมอว่าอยากให้ระบบการศึกษาไทยมันดี แต่ตรงไปตรงมานะ ผมไม่เชื่อว่าระบบการศึกษาของไทยจะตอบโจทย์ยุคปัจจุบัน สถาบันการศึกษาไทยสอนให้คนเข้าที่เรียนดีๆ เพื่อไปตกงานในอนาคต เพราะว่ายังสอนให้เด็กท่องจำอยู่เยอะ อย่างให้ท่องสูตรคูณเนี่ย ถึงท่องได้แม่นที่สุดในโลกคุณค่าของคุณก็คือ 70 บาท เพราะเครื่องคิดเลขมันราคา 70 บาท ดังนั้น ลำดับแรกต้องสอนให้เขาคิด สอนให้รู้จักแอพฯ เครื่องมือต่างๆ ที่จะไปใช้ประกอบอาชีพในอนาคตได้ ไม่ใช่ให้ไปแข่งกับเครื่องคิดเลข ไปแข่งกับ AI หรืออากู๋ (Google – ผู้เขียน)
บางคนถามว่าทำไมส่งลูกเข้าโรงเรียนอินเตอร์ ผมบอกเลยว่าด้วยความเป็นพ่อจะเอาเขามาเสี่ยงไม่ได้ ถ้ามีโอกาสต้องดันเขาให้ดีที่สุด ถึงแม้อาจแพงกว่าหลายเท่า แต่หมดตัวผมก็ยอม เพราะการศึกษาไทยมันไม่ไหวจริงๆ ผมเคยเอาลูกเข้าโรงเรียนไทย แต่สุดมท้ายก็ตัดสินใจเอาออกมา เพราะที่เป็นตอนนี้เด็กไทยไม่ทันจริงๆ
ได้พูดเรื่องการเมืองหรือเรื่องงานกับลูกบ้างไหม
ลูกชาย 8 ชวบ เขาจะพูดภาษาอังกฤษ เขาก็ถามว่าแก้ปัญหายังไงกับ ‘flooding – น้ำท่วม’ เขาก็จะชอบถามอะไรแบบนี้ หรือสมมติไปกินข้าวข้างนอกพอกินเสร็จ เขาก็จะชอบเดินไปคุยกับโต๊ะข้างๆ คนก็แซวกันว่าถ้าเป็นช่วงเลือกตั้ง พอสวัสดีเสร็จต้องอย่าลืมบอกให้กาเบอร์ 11 ช่วยเลือกคุณพ่อผมหน่อย หรือตอนช่วง COVID-19 ให้แม่ครัวทำอาหารไปแจกชาวบ้าน ผมก็ให้พี่เลี้ยงพาเด็กๆ ไปแจก พี่เลี้ยงก็เล่าว่าพอส่งข้าวเสร็จ เขาก็บอกขอบคุณมากนะครับ เดี๋ยวโอกาสหน้าเจอกันใหม่ ยังกะลงเลือกตั้ง
เขาไม่เคยไปช่วยหาเสียงอะไรนะ เพราะเขาเพิ่งอายุ 8 ขวบ ส่วนเราโดนแขว (ตัดสิทธิ์การเมือง – ผู้เขียน) มาเป็น 10 กว่าปีแล้ว
คุณศิธาเป็นอดีตประธานรุ่น 24 โรงเรียนนายร้อยฯ เป็นอดีตนักบินกองทัพอากาศ มองว่าปัญหาที่ใหญ่ที่สุดของกองทัพคืออะไร
เรื่องประธานรุ่น 24 ก่อนนะ ต้องอธิบายว่ารุ่นผมตอนจบออกมาไม่ได้มีการประชุมเลือกประธานในเหล่า ทีนี้คนทำทำเนียบรุ่นเขาไม่รู้จักใคร ก็เลยใส่ชื่อ ‘ศิธา’ เป็นประธานไปก่อน ผู้ใหญ่ก็เลยยึดตามนั้น มันไม่ได้มีการเลือกอะไรกันจริงจัง
สำหรับส่วนกองทัพ ผมมองว่าคนที่รับราชการจะมียศธาบรรดาศักดิ์ติดตัว มีลูกน้อง มีเรื่องการตัดสินใจที่ เกี่ยวกับผลประโยชน์ ฉะนั้นคนที่เข้ามาเป็นผู้บังคับบัญชา ในกองทัพต้องแยกแยะระหว่างส่วนตัวกับราชการให้ดี ซึ่งที่ผ่านมามันปนเปกันไปหมด จนกลายเป็นวัฒนธรรมองค์กรที่ต้องเปลี่ยนแปลง
สอง กองทัพเป็นหน่วยงานที่มีอาวุธยุทโธปกรณ์อยู่ในมือ ซึ่งที่จริงมันคือของประชาชน และทหารคือคนที่ประชาชนจ้างมาใช้อาวุธเหล่านั้น ซึ่งที่ผ่านมาพอมีปัญหาอะไร กองทัพก็จะใช้อุปกรณ์ที่มาจากภาษีของพี่น้องประชาชนในการทำประโยชน์ให้ตัวเอง เพราะฉะนั้นคนที่เข้ามาเป็นผู้บังคับบัญชา หรือมีอำนาจวาสนาบารมีในกองทัพต้องแยกแยะระหว่างเรื่องส่วนตัวกับเรื่องราชการให้ดี ซึ่งที่ผ่านมาผมว่ามันปนเปกันไปหมด และกลายเป็นวัฒนธรรมองค์กรที่ต้องเปลี่ยนแปลง
สาม คนในองค์กรทหารต้องยอมรับในระบอบประชาธิปไตย และยอมรับลงไปในสามัญสำนึกเลยว่า คนที่ประชาชนเลือกมา ไม่ว่าจะชอบหรือไม่ชอบ คุณต้องทำงานร่วมกับเขา ทุกอย่างในประเทศต้องเป็น single command ทหารต้องอยู่ใต้นายกฯ
แต่ที่ผ่านมาอย่างสมัยนายกฯ ปู (ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร – ผู้เขียน) พอเกิดปัญหาและอยากให้ทหารช่ว เขาจะบอกว่า ‘การเมืองต้องแก้ไขด้วยการเมือง ทหารจะไม่ยุ่งเกี่ยวกับการเมือง’ ซี่งฟังดูแล้วก็เหมือนจะดี แต่ในความเป็นจริงคือ เขาเจตนาที่จะปล่อยให้ความขัดแย้งมันติดล็อกไปไหนไม่ได้ แล้วค่อยไปหยิบตรงนั้นออกมา ทั้งที่กระบวนการที่ถูกต้องคือ ทหารต้องเข้าไปช่วยตั้งแต่ต้น เหมือนที่ช่วย พล.อ.ประยุทธ์ ตั้งแต่ต้น ซึ่งคุณต้องทำแบบนี้ให้ทุกรัฐบาล เพื่อไม่ให้เกิดความวุ่นวาย ตรงนี้คือกลไกหลักที่ทหารไม่ทำ
มันมีวัฒนธรรมหรือแนวคิดอะไรเบื้องหลังไหมที่ทำให้ทหารรู้สึกว่าต้องกระโดดเข้าไปคลี่คลายความขัดแย้ง หรือไต่เต้าขึ้นไปเป็นนายกฯ
ผมว่ามันเป็นแนวคิดเฉพาะตัวบุคคลมากกว่าว่า ประเทศชาติกำลังเดือดร้อน ทหารต้องเข้ามาแก้ไข แต่ถ้ารู้รายละเอียดและเห็นหน้างานจริงๆ มันมีกระบวนการให้ความขัดแย้งมันสุกงอม เพื่อจะดำเนินการอะไรบางอย่าง เช่น สมัยนายกฯ ปู พอเผชิญหน้าจนสุกงอม เขาก็ออกมาเป็นฮีโร่เลย ออกมาปุ๊ปก็มีคนเอาดอกไม้ไปวางไว้บนรถถัง ซึ่งเป็นกระบวนการจัดตั้งทั้งนั้น แต่ขณะเดียวกันประชาชนก็รู้สึกโล่งอก เพราะทะเลาะกันจนไม่ไหวแล้ว ปิดประเทศเป็นปี ทำธุรกิจไม่ได้ ไม่เชียร์ใครแล้วขอเอาธุรกิจให้รอดก่อน
แต่จริงๆ มันมีวิธีที่ไม่ต้องปล้นประชาธิปไตยก็ได้ แต่ทหารไม่ทำเพราะว่ามี hidden agenda ว่าอยากปกครองประเทศ ตลอดระยะเวลา 8 ปี พล.อ.ประยุทธ์ยืนยันในสิ่งนั้นเลยว่า แกต้องการที่จะปกครองประเทศนี้ ไม่สนใจว่าประชาชนจะยอมรับหรือไม่
พูดถึง พล.อ.ประยุทธ์ คุณเองก็เป็นทั้งอดีตนายทหารและอดีตรุ่นน้อง เคยเจอหน้ากันนอกรอบหรือเปล่า
ผมเคยเกี่ยวพันกับเขา 2 ครั้งคือ ครั้งแรกเขาเป็นรองแม่ทัพออกมาให้สัมภาษณ์ว่า น้ำท่วมเพราะตัวบีเวอร์ไปสร้างบ้านอยู่ต้นน้ำ แล้วแกก็พูดต่อเกี่ยวกับรัฐบาล ตอนนั้นพอนักข่าวมาถาม ผมก็เลยตอบว่าเขาก็เหมือนไอตัวบีเวอร์ แทนที่จะทำประโยชน์กลับไม่พูดในสิ่งที่ควรพูด ตอนนั้นแกก็เคืองๆ แล้วก็ไม่เคยคุยกันเลย
มีอีกรอบนึง ตอนเผอิญเจอกันที่วันกองทัพอากาศ สนามบินดอนเมือง ตอนนั้นผมไม่ได้เป็นนักการเมือง ไม่รู้จักกันด้วย เป็นประโยคเดียวในชีวิตที่คุยกัน และผมเชื่อว่าเป็นประโยคที่ทำให้ผมโดนคุมตัว 7 วันช่วงรัฐประหารปี 57 ด้วย แต่ผมยังไม่บอก
คุณศิธาผ่านรัฐประหารมา 2 ครั้ง และคุณก็ได้รับผลกระทบทั้ง 2 ครั้งด้วย ถ้าเทียบมันต่างกันยังไง
ผมไม่สนับสนุนทั้งสองครั้ง แต่ถ้าเทียบกันรัฐประหารปี 57 เลวร้ายกว่าปี 49 หลายเท่า เพราะตอนปี 49 บิ๊กบัง (พล.อ.สนธิ บุญยรัตกลิน หัวหน้า คมช. – ผู้เขียน) ทำตามความเชื่อของเขา เหมือนที่บอกว่า “บางเรื่องตายไปก็บอกไม่ได้” เพียงแต่เขาไม่ต้องการกุมอำนาจไว้กับตัวเอง พอทำเสร็จไม่กี่วันก็ตั้งนายกฯ (พล.อ.สุรยุทธ์ จุฬานนท์ – ผู้เขียน) เขียนรัฐธรรมนูญใหม่ แล้วจัดให้มีการเลือกตั้ง ซึ่งตอนนั้นพวกผมโดนออกกฎหมายย้อนหลัง ตัดสิทธิ์ทางการเมือง 5 ปี (คดียุบพรรคไทยรักไทย/ บ้านเลขที่ 111 – ผู้เขียน) แล้วมานับวันตัดสิทธิ์จากวันที่ตัดสินด้วย พยายามใช้คดีปักหลังทุกคนไว้ นี่คือความเลวร้ายที่เกิดขึ้น แต่ว่าน้อยกว่าปี 57 เยอะ
ตอนปี 57 ผมโดนขังอยู่ 7 วัน พอออกมาผู้ใหญ่ก็มาคุยซึ่งความคิดของท่านคือฟังได้เลย บอกว่าเผชิญหน้ากันแบบนี้ ถ้าทหารไม่เข้าไปหยิบออก มันไปต่อไม่ได้ แล้วพอหยิบออกเดี๋ยวก็จัดให้มีการเลือกตั้งใหม่ ท่านก็ขอความร่วมมือว่าอย่าไปม็อบ ซึ่งผมเชื่อว่าที่ท่านพูดบริสุทธิ์ใจนะ แต่พอ พล.อ.ประยุทธ์ ไปปู้ยี่ปู้ยำขนาดนี้ ผมว่าท่านก็ต้องรู้สึก แต่ความเป็นพี่-น้องทหารด้วยกัน เขาอาจจะไม่พูด
คุณศิธาเชื่อว่าหลายๆ คนที่ร่วมทำรัฐประหารปี 57 ไม่เชื่อว่า พล.อ.ประยุทธ์ จะอยู่มาถึงตรงนี้
มันยิ่งกว่านั้นอีก แต่ว่าขอยังไม่พูด ผมบอกคร่าวๆ ว่าเป็นความคิดและความอยากของคนๆ เดียว ที่เหลือที่ออกไปแถลงโดนบังคับหมด
แล้วคุณศิธาจะพูดเมื่อไหร่
ให้เขาลงจากอำนาจก่อน
ทำไมเวลาที่ประชาชนเรียกร้องให้ปฏิรูปกองทัพ กองทัพถึงชอบทำหูทวนลม ไม่ตอบสนองข้อเรียกร้องประชาชน
เราจะทำอะไรต้องยึดในวัตถุประสงค์ อย่าไปแถมพ่วง ซึ่งทุกประเทศทั่วโลกก็บอกว่าประเทศไทยมันผิดฝาผิดตัวคือ กองทัพไม่สนับสนุนรัฐบาล และถ้าเป็นแบบนี้มันกลายเป็นภาพที่เห็นคือ ถ้ารัฐบาลฝั่งที่ตัวเองไม่หนุนจะไม่ช่วยเลย แต่ถ้าเป็นฝั่งที่ตัวเองหนุนจะช่วย เหมือนกับตอนรัฐบาลประชาธิปัตย์ (ปี 2551 ถึง 2554 – ผู้เขียน) ตอนที่ไปตั้งคณะรัฐมนตรีในค่ายทหาร
ผมว่าวัฒนธรรมองค์กรเปลี่ยนแปลงยากที่สุด ไม่ใช่แค่ทหารแต่ทุกองค์กร ซึ่งวัฒนธรรมองค์กรของทหารจะมีลักษณะเฉพาะของเขา และถ้าจะเปลี่ยนแปลงต้องเข้าใจวัฒนธรรมของเขาก่อน ต้องพูดด้วยเหตุและผล ซึ่งเขาก็รับฟังเหตุและผลนะ แต่ย้ำว่าถ้าเปลี่ยนแปลงอันต้องนี้ไม่ก้าวล่วงเรื่องอื่น
สำหรับผมเองปัญหาใหญ่คือ ทหารต้องซัพพอร์ตรัฐบาล, ประเทศต้องมีลำดับชั้นในการบังคับบัญชา
วัฒนธรรมที่ว่า ผบ.ทบ. ใหญ่กว่า ผบ.สูงสุด, ทหารอากาศ เพียงเพราะมีกำลังพลและมีรถถังกับปืนเยอะเนี่ยต้องเปลี่ยน ศักดิ์ศรีของ ผบ.ทบ., ผบ.ทอ., ผบ.ทร., ผบ.ตร. คือระนาบเดียวกัน อธิบดีคนละกรม ต้องทำงานประสานกัน เพราะถ้าปล่อยให้วัฒนธรรมองค์กรเป็นแบบนี้ มันมีแนวโน้มว่าโอกาสที่ ผบ.ทบ. จะปฏิบัติอะไรตามใจตน หรือทำอะไรที่อยู่นอกรัฐธรรมนูญสูงที่สุด
คุณศิธาบอกว่าถ้าพูดด้วยหลักเหตุและผล กองทัพพร้อมจะฟัง แต่เรื่องที่พูดถึงบ่อยในสภาอย่าง เกณฑ์ทหาร ก็ดูไม่มีความเปลี่ยนแปลงอะไรเกิดขึ้น
เราพูดกันตลอดว่า ประเทศคือบ้านทหารคือรั้ว และเราอยู่ในบ้านที่มีรั้วที่แข็งแรงสูงอยู่มา 20-30 ปีไม่เคยมีขโมยเข้าบ้าน ถ้าเรารู้สึกว่ามันไม่จำเป็นแล้วเราทำให้รั้วเตี้ยลง หรือประเทศเพื่อนบ้านเขาทำให้รั้วตัวเองสูงขึ้นจนข่มเราเนี่ย โอกาสที่จะเกิดข้อพิพาทแล้วเราไม่มีอำนาจต่อรองจะเยอะ ตรงนี้ต้องเข้าใจทหารก่อนว่าถ้าเราบอกไม่สำคัญแล้วไปตัดงบเขาเนี่ย ตรงนี้มันก็ไม่ใช่ ต้องมาหาจุดพอดีว่าจะมีในเกณฑ์ไหน ที่สามารถถ่วงดุลอำนาจในภูมิภาคได้ และงบประมาณของทหารไปใช้กับส่วนอื่น แต่ทุกวันนี้มันมีแต่ซ้ายสุด-ขวาสุด ไม่บอกตัดงบประมาณทหารไปเลย ก็ยกเลิกเกณฑ์ทหารไปเลย ซึ่งมันไม่ได้ เพราะหน้าที่หลักของทหารคือปกป้องประเทศ
ต้องกลับมาดูว่าทหารที่ต้องใช้จำเป็นต้องเกณฑ์ไหม อย่างปีนี้อาจต้องการ 20,000 หรือ 50,000 คน ก็ต้องมาดูว่ามันเป็นจำนวนที่สอดคล้องกับสภาหรือไม่ จำนวนนี้รวมคนสวนหรือเปล่า รวมคนรถไหม รวมคนขัดรองเท้าให้ผู้บังคับบัญชาด้วยไหม ถ้าเกิดรวมต้องตัดออกซะ แล้วเอาตัวเลขที่แท้จริงว่าต้องใช้ทหารเท่าไหร่เพื่อปกป้องรักษาอธิปไตยของประเทศ ผมเชื่อว่าถ้าเป็นแบบนั้นประชาชนจะเข้าใจ ถ้าทหารทำแบบนี้และทำภาพลักษณ์ของทหารให้ดี ให้คนศรัทธา มันจะมีช่วงที่คนแห่สมัครจนไม่ต้องเกณฑ์เลยก็เป็นไปได้ มันจะกลายเป็นมีคนสมัคร 100 คน แต่ต้องการแค่ 40 คน การจับใบดำ-แดงจะกลายเป็นคัดคนออกแทน ทหารต้องไปถึงจุดนั้นให้ได้ ซึ่งถ้าผมยังอยู่ในกองทัพ ผมเชื่อว่าผมสามารถทำให้กองทัพเป็นที่ยอมรับของคนได้
มองว่าอาวุธยังจำเป็นต้องซื้อไหม แล้วสงครามในอนาคตในมุมคุณศิธาเป็นอย่างไร
อาวุธจำเป็นต้องซื้อ มันเป็นเรื่องของการถ่วงดุลในภูมิภาค เพราะว่าในที่สุดมนุษย์จะเอาชนะกันด้วยพละกำลังเสมอ สัญชาติญาณยังกลับไปที่ความป่าเถื่อนแบบนั้นตลอด ฉะนั้นเราต้องมีความแข็งแรงในตัวเองพอที่จะไม่ให้คนมารังแกเรา ไม่ต้องแข็งแรงกว่าเขา แต่ต้องพอมีอำนาจต่อรองที่ทำให้เขายอมเจรจา และไม่ทำให้เกิด lose-lose situdation แล้วเสียหายทั้งคู่
ประเด็นคือการใช้อาวุธยุทโธปกรณ์ต้องยึดหลักให้มั่นว่าต้องการใช้ทำอะไร คุณอย่าไปคิดว่าคุณคืออเมริกา ที่ต้องมีอาวุธมาถ่วงอำนาจต่างๆ และคอยใช้เพื่อซัพพอร์ตประเทศอื่น ฉะนั้นถ้าถามผม เรือดำน้ำ, เรือบรรทุกเครื่องบิน หรือโดรนติดอาวุธที่ในที่สุดติดไม่ได้ เรื่องพวกนี้มันต้องไม่เกิดขึ้น
สำหรับภัยคุกคามของโลกทุกวันนี้มันปลี่ยนแปลงไปแล้ว มันมีกระบวนการตั้งเยอะก่อนไปถึงสงครามแบบเดิม มันสู้กันด้วยเรื่องเศรษฐกิจ, การศึกษา, วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี, สื่อออนไลน์ หรือโฆษณาต่างๆ ซึ่งปัจจุบันเป็นว่าเราใช้แพลตฟอร์มต่างชาติหมดแล้ว เรากำลังจะเสียอธิปไตยทางเศรษฐกิจทั้งหมด ซึ่งควรนำงบประมาณมาโฟกัสที่เศรษฐกิจมากกว่าการรบ
แล้วทำไมเรายังถึงมีความพยายามในการซื้อเทคโนโลยีที่ไม่เหมาะกับประเทศเรา
ผมว่ามันมี Hidden Agenda บางอย่างอยู่ อธิบายก่อนว่าทุกประเทศที่มีเทคโนโลยีใหม่ๆ เช่น อเมริกา หรือยุโรปจะมีกฎหมายชื่อว่า ‘Sunshine Law’ เป็นกฎหมายปราบปรามคอร์รัปชั่นที่รุนแรงมาก มันกำหนดว่าไม่ว่าจะไปค้าขายกับประเทศอื่นหรือใครก็แล้วแต่ คุณจ่ายค่าคอมมิชชั่นได้ไม่เกิน 3% และค่าใช้จ่ายทั้งหมดต้องเปิดเผยได้ ฉะนั้น ที่ยังซื้ออาวุธยุทโธปกณณ์ล้าหลังมาใช้อยู่ เพราะต้องการซื้อจากประเทศที่ไม่มี Sunshine Law
มันก็เลยเป็นความบังเอิญที่เลวร้าย และเป็นบาปกรรมที่ที่มาตกกับคนไทย เพราะเรื่องวัคซีน COVID-19 ที่ดีๆ เช่นชนิด mRNA มันผลิตจากค่ายอเมริกาและยุโรป แต่ก็ไม่กล้าสั่งซื้อเพราะหาเงินทอนไม่ได้ ก็เลยไปซื้อวัคซีนที่ผลิตจากโลกที่สามแทนทำให้มีคนตายไป 30,000 กว่าคนแล้ว ฉะนั้น คนที่สูญเสียญาติพี่น้องจากโรคระบาด ให้รู้ว่าเรายังมีเรื่องนี้ต้องแก้ไขอยู่
มองภาพจุดสูงสุดในเส้นทางการเมืองตัวเองไว้ตรงไหน
ผมมองภาพว่าตัวเองไม่มีตำแหน่งอะไรเลย แต่ขอเป็นคนตรวจสอบทุกคนว่าทำงานตรงตามวัตถุประสงค์หรือเปล่า หรือมีอะไรที่ผิดฝาผิดตัวไม่ชอบมาพากลหรือเปล่า ถ้ามีผมขออนุญาตคอมเมนท์หรือมีน้ำหนักที่จะเขี่ยออกแล้วเอาคนใหม่เข้ามาแทน อยากทำอย่างนี้มากกว่า ให้ตัวเองโปร่งใสไปเลย ไม่ต้องแตะต้องเรื่องผลประโยชน์
แล้วคนจะถามว่าจุดมุ่งหมายที่สูงที่สุดในชีวิตของคุณคืออะไร ผมบอกว่าไม่อยากได้อะไรเลย ขอแค่ดูแลลูกได้ และถ้าถึงวันที่ตายไปคุณอยากไปงานศพผม เพราะคนนี้แม่งทำประโยชน์จริงๆ อยากไป RIP ศิธา ผมต้องการแค่นี้
Photograph By Krit Pornpichitphai
Illustrator By Krittaporn Tochan