25 พฤศจิกายนนี้ สำนักพิมพ์ฟ้าเดียวกันเตรียมเปิดให้จองหนังสือ ‘กว่าจะครองอำนาจนำ’ ซึ่งมีที่มาจากวิทยานิพนธ์ระดับปริญญาเอก ‘ความเปลี่ยนแปลงของเครือข่ายชนชั้นนำไทย พ.ศ.2495 – 2535’ ของ อาสา คำภา จากสถาบันไทยคดีศึกษา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
วิทยานิพนธ์ชิ้นนี้ถูกชื่นชมจาก เกษียร เตชะพีระ จากคณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ว่าเป็น “สุลักษณ์ ศิวรักษ์ที่มีเชิงอรรถ”
The MATTER ชวนเจ้าของหนังสือชุดสยามพากษ์ลำดับที่ 6 พูดคุยถึงสถานการณ์การเมืองในตอนนี้ หลังจากที่ศาลรัฐธรรมนูญมีคำตัดสินให้ 10 ข้อเสนอปฏิรูปสถาบันพระมหากษัตริย์เข้าข่ายล้มล้างการปกครอง ผ่านสายตาเขาเครือข่ายชนชั้นนำไทยมีการปรับตัวอย่างไรบ้างหลังมีการเปลี่ยนผ่านรัชกาล ระบบสมบูรณาญาสิทธิราชย์กำลังถูกดึงขึ้นมาใช้อีกครั้งหรือเปล่า และเขามองภาพความซับซ้อนของการเมืองขณะนี้เป็นอย่างไรบ้าง ?
ที่ผ่านมามันมีคำว่า ‘สมบูรณาญาสิทธิราชย์จำแลง’ มองอย่างไรบ้างกับคำนี้ ถือเป็นการปรับตัวของระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ด้วยไหม
จริงๆ คำนี้มาจากที่ เกษียร เตชะพีระ (อาจารย์ประจำคณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์) ไปพูดในงานดิเรก ทอล์ค ถึงระบบ ‘สาธารณรัฐจำแลง (Disguise Republic)’ และแกก็เอามาอนุมานว่าคำนี้มาใช้เปรียบเทียบกับยุครัฐบาลไทยรักไทยในทศวรรษ 2540
แต่ตามสไตล์อาจารย์เกษียรที่ชอบเปรียบเทียบพลิกกลับ แกก็พูดสิ่งที่ตรงข้ามกับคำว่าสาธารณรัฐจำแลงคือ ‘สมบูรณาญาสิทธิราชย์เสมือน’ ซึ่งจริงๆ คำนี้เป็นคำที่วิชาการมาก แต่มันก็ทำให้คนตั้งคำถามกับระบบที่เราอยู่ว่าเป็นแบบนั้นจริงหรือเปล่า โดยเฉพาะหลังคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญที่บอกว่าปฏิรูปเท่ากับล้มล้าง มันเกิดการตั้งคำถามอย่างจริงจังว่าอำนาจอธิปไตยเป็นของใครกันแน่ เพราะถ้าเป็นของประชาชนก็ควรมีการทำประชามติไหมในการแก้ไขรัฐธรรมนูญ หรือทำไมเวลามีการเรียกร้องขอให้ปฏิรูปสถาบันกษัตริย์ มันกลายเป็นความผิด แม้กระทั่งการแต่งกายล้อเลียน (สวมครอปท็อป) ก็ถูกจำคุกเสียงั้น สรุปแล้วเราอยู่ระบบไหนกันแน่
ดังนั้น ผมว่าคำนี้มันสะท้อนคำถามจากปรากฎการณ์ที่เกิดขึ้นจริง
มันสะท้อนถึงการปรับตัวของชนชั้นนำไทยด้วยหรือเปล่า
ผมคิดว่ามันคือการไม่ปรับตัวอย่างน่าตกใจต่างหาก เพราะสำหรับคนที่ศึกษาเรื่องของชนชั้นนำไทยจะรู้ว่าพวกเขามีเซนส์ของการปรับตัวสูงมาก แต่ในปัจจุบันไม่ใช่แค่ไม่ปรับตัว แต่ยังเดินสู่แนวทางฝ่ายขวามากขึ้น และจะขวามากขึ้นไปอีก
ประเด็นนี้ นิธิ เอียวศรีวงศ์ เคยพูดไว้ว่าธรรมชาติของชนชั้นนำไทยไม่นิยมแนวทางขวาจัด และจะขวาจัดก็ต่อเมื่อมันรู้สึกว่ามันจนตรอก เช่น เหตุการณ์ 6 ตุลาคม พ.ศ.2519 เพราะเอาเข้าจริงชนชั้นนำไทยเขาค่อนข้าง realistic ต่อความเปลี่ยนแปลง เพราะเขา related กับโลกมากกว่ากลุ่มอื่น
ถ้าเราไปดูสมัยรัชกาลที่ 4-5 เราจะชนชั้นนำไทยปฏิรูปตัวเอง ซึ่งสะท้อนว่าชนชั้นนำไทยอ่อนไหวต่อแรงกดดันจากภายนอก และข้อเสนอที่ผมเขียนไว้ในวิทยานิพนธ์ของผมคือ ชนชั้นนำไทยมีฉันทามติที่จะไม่มีใครหรือกลุ่มใดควบรวมอำนาจทั้งหมดไว้ และถ้าใครควบรวมอำนาจไว้อาจจะถูกกลุ่มอื่นเทหรือเอาลงจากอำนาจได้ แม้แต่สถาบันกษัตริย์เองก็ตาม ดังนั้น การกดดันเพื่อเปลี่ยนแปลงจึงเกิดจากภายในชนชั้นนำด้วยกันเองด้วย
แต่ว่าชนชั้นนำไทยไม่คุ้นชินกับการเปลี่ยนแปลงที่ถูกเรียกร้องจากคนข้างล่าง ขณะที่สถานการณ์ปัจจุบันการเปลี่ยนแปลงถูกเรียกร้องมาจากข้างล่าง มันเลยเป็นสถานการณ์ที่รับมือไม่ถูกไปไม่เป็น
และสิ่งที่ชนชั้นนำไทยเคยเพียรสร้างและคุ้นเคยกับมัน ที่ อ.เกษียรเรียกว่า ‘ฉันทามติภูมิพล (Bhumipol Consensus)’ มันเป็นสิ่งที่ชนชั้นนำเคยรับได้ แต่คนยุคปัจจุบันไม่เอาแล้ว
ฉันทามติภูมิพลขยายความหน่อยได้ไหม
ผมเข้าใจตามที่ อ.เกษียรนิยามไว้อย่างกว้างๆ ว่า มันคือฉันทามติของชนชั้นนำไทยที่ตกลงกันว่าจะอยู่ด้วยกันแบบนี้อย่างมีดุลยภาพ ปลอดภัย และยังได้เปรียบภายใต้พระราชอำนาจนำของ ร.9
ถ้าเป็นในมิติทางการเมืองฉันทามติภูมิพลอาจหมายถึงการเมืองในระบบรัฐสภาที่ไม่มีพรรคฝ่ายซ้ายขึ้นมาเลย เราอาจตั้งข้อสังเกตได้ว่าตั้งแต่หลัง 14 ตุลาคม 2516 ฝ่ายซ้ายในระบบรัฐสภาและบนท้องถนนมันเกิดขึ้นเต็มไปหมด และมันคือฝันร้ายของกลุ่มชนชั้นนำไทย ดังนั้น พอถึงทศวรรษ 2520 จึงเกิดการจัดดุลยภาพการเมืองว่า ต่อไปนี้เราจะต้องเอาการเมืองระบบประชาธิปไตยแบบที่ไม่มีฝ่ายซ้าย ดังนั้น ตั้งแต่ทศวรรษ 2520 – 2550 ไม่มีพรรคการเมืองที่เป็นซีกซ้ายอยู่ในรัฐสภาเลย นี่คือความปลอดภัยของชนชั้นนำไทยทุกกลุ่มเลย
อาจารย์มองว่าพรรคอย่างไทยรักไทย พลังประชาชนก็ไม่ใช่ฝ่ายซ้าย
พรรคอย่างก้าวไกลหรืออนาคตใหม่ในต่างประเทศคือพรรคซ้ายกลางเท่านั้น ส่วนไทยรักไทยหรือพลังประชาชนคือพรรคที่ผนวกนโยบายประชานิยมเข้ามาเพื่อเอาใจเสียงประชาชน
แต่พอมันขาดช่วงฉันทามติภูมิพล มันเหมือนเกิดตัวประหลาดที่ไม่เคยปรากฎในสภามาก่อน คนอย่างธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ และปิยะบุตร แสงกนกกุล คือคนที่ต้องกำจัดออกไป ตรงนี้คือใหม่ทางการเมือง
ส่วนมิติทางเศรษฐกิจมันเป็นแบบทุนนิยมแบบเสรีนิยมมาตลอด เอื้อทุนใหญ่ให้ได้เปรียบ ชนชั้นกลางเติบโตขยายตัวได้เปรียบเหนือชนชั้นล่าง แต่ขณะเดียวกันก็มีเศรษฐกิจพอเพียงเป็นตัวปลอบประโลมไม่ให้เอาเปรียบคนตัวเล็กตัวน้อยมากไปนัก
ส่วนทางวัฒนธรรมมีสถาบันพระมหากษัตริย์เป็นแก่นกลางของความเป็นไทย เป็นความจริง ความดี ความงาม ทั้งหมดนี้ฉันทามติภูมิพลที่ชนชั้นนำไทยตอบรับกันมาโดยตลอด แต่มันกำลังจะหายไป และมันคือความกังวลของเขา
ว่าชนชั้นนำไทยมันมีหลายกลุ่ม โดยสถาบันกษัตริย์เป็นกลุ่มหนึ่งเท่านั้น แต่พอถึงพฤษภาคม พ.ศ.2535 สถาบันได้พาตัวเองไปเหนือชนชั้นนำไทยทุกกลุ่ม แต่มันก็มาเสื่อมตั้งแต่ช่วงหลังรัฐประหารปี พ.ศ.2549 เกิดคนเสื้อแดง เกิดปรากฎการณ์ตาสว่าง คนเริ่มตั้งคำถามกับสิ่งที่เป็นอยู่ และพอเปลี่ยนรัชกาลมันก็เริ่มหายไป แต่คนก็ยังถวิลหาเพราะมันคือยุคทอง มันเป็นสิ่งที่ทำให้คนรู้สึกรับไม่ได้
อยากชวนอาจารย์มองนิดนึงถึงคำตัดสินของศาลรัฐธรรมนูญล่าสุดที่บอกว่า “อำนาจปกครองเป็นของสถาบันพระมหากษัตริย์มาตั้งแต่สมัยสุโขทัย อยุธยา และรัตนโกสินทร์”
ผมคิดว่าการให้เหตุผลกับคำตัดสินแบบนี้เหมารวม และไม่เห็นความซับซ้อนของความเปลี่ยนแปลงของประวัติศาสตร์เลย การบอกว่าระบบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขเกิดขึ้นหลังปี พ.ศ.2475 มันไม่ตรงกับข้อเท็จจริงในทางประวัติศาสตร์ เพราะแค่คลิ๊กเข้ากูเกิลก็รู้แล้วว่า คำว่า “ประชาธิปไตย (วรรค) มีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข” มันเกิดขึ้นหลังการรัฐประหารปี พ.ศ.2490 ซึ่งเป็นจุดเปลี่ยนให้คณะราษฎรหมดอำนาจไป
แต่คำว่า “ประชาธิปไตยอันมี (แบบมีคำเชื่อม – ผู้เขียน) พระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข” มันเเกิดขึ้นหลังเหตุการณ์ 6 ตุลาคม พ.ศ.2519 ในสมัยรัฐบาลธานินทร์ กรัยวิเชียร เพราะในคำปรารภของรัฐธรรมนูญปี พ.ศ.2519 เป็นครั้งแรกที่มีคำว่า “ประชาธิปไตยซึ่งมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข” ถูกใช้ แต่ตอนนั้นใช้คำว่าซึ่งเป็นคำเชื่อม ซึ่งต่อมามันก็ถูกทำให้กลายเป็นอุดมการณ์ราชการ และปรากฎตัวต่อในรัฐธรรมนูญมาถึงปัจจุบัน เพราะฉะนั้น คำนี้มันไม่ได้เป็นคำเก่า แต่มันเป็นประวัติศาสตร์ที่เพิ่งสร้าง
ดังนั้น คำตัดสินของศาลรัฐธรรมนูญจึงเป็นการเหมารวมและไม่เห็นความซับซ้อนทางประวัติศาสตร์ อ.นครินทร์ เมฆไตรรัตน์ (หนึ่งในตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ – ผู้เขียน) เองก็เป็นคนที่มีความรู้เรื่องนี้มาก แต่ก็มีคนด่าแกเยอะแล้วล่ะ
อำนาจปกครองเป็นของสถาบันพระมหากษัตริย์ อาจารย์มองอย่างไรบ้างกับคำตรงนี้
ถ้าคุณให้น้ำหนักกับคำว่า ประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข ทั้งสองคำมันควรมาด้วยกันหรือเปล่า และเอาเข้าจริงแล้วประชาธิปไตยเป็นประโยคประธานด้วยซ้ำ ข้างหลังเป็นส่วนขยาย แต่คำตัดสินของศาลรัฐธรรมนูญมันคือการขับเน้นแต่สิ่งหนึ่ง และไม่พูดถึงอีกสิ่งที่มันถูกสร้างมาพร้อมกัน
แปลกใจไหมที่คำตัดสินและการให้เหตุผลออกมาแนวนี้
เอาเข้าจริงก็ไม่แปลกใจถ้าเราดูคำตัดสินของศาลรัฐธรรมนูญชุดนี้ ซึ่งตัดสินมาทั้งคดี ร.อ.ธรรมนัส พรหมเผ่า, คดีบ้านพักหลวง, คดีถวายสัตย์ปฏิญาณ ผลมันออกมาคล้ายกันตลอด และถ้าเราดูว่าใครเป็นคนแต่งตั้งพวกเขาเข้ามาก็คือ คสช. กับ สมาชิกวุฒิสภา
เมื่อวานมี Clubhouse ที่อาจารย์เข็มทอง ต้นกสุลรุ่งเรือง (อาจารย์ประจำคณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์) กับอาจารย์สมชาย ปรีชาศิลปกุล (คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่) มาพูดถึงคำตัดสินของศาลรัฐธรรมนูญ อาจารย์เข็มทองแกตั้งข้อสังเกตไว้ว่า มันมาทรงนี้จริงๆ แต่สำคัญคือ มันกล้าในทางที่แย่ลงมากขึ้น ด้านอาจารย์สมชายตั้งข้อสังเกตว่า เมื่อใดก็ตามที่ชนชั้นนำไทยรู้สึกคุมสภาไม่ได้ เมื่อนั้นจะมีการใช้ระบบตุลาการในการควบคุมแทน และถ้าเปรียบเทียบกับสถานการณ์ตอนนี้ คือคุมสภาได้หรือไม่ได้ไม่รู้แหละ แต่มันมีสิ่งที่ไม่คุ้นเคยเข้ามาในสภา เช่น พรรคอนาคตใหม่ จึงต้องใช้เครื่องมือตุลาการในการจัดการ
ก่อนหน้านี้อาจารย์พูดถึงตัวละครในเครือข่ายชนชั้นนำไปแล้ว ต้องถามอาจารย์ว่าข้าราชการตุลาการอยู่ในวงอำนาจนี้ด้วยหรือเปล่า
ข้าราชการตุลาการถูกดึงเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของข้าราชการสายวังมากขึ้นในสมัยของสัญญา ธรรมศักดิ์ อดีตประธานศาลฎีกาที่ขึ้นมาเป็นองคมนตรี ต่อจากนั้นก็มีตุลาการอาวุโสที่กลายเป็นองคมนตรีอีกเยอะแยะ ดังนั้น ผมคิดว่าตุลาการเป็นส่วนหนึ่งของข้าราชการสายวัง ซึ่งมีส่วนช่วยเสริมสร้างพระราชอำนาจนำของในหลวงรัชกาลที่ 9
ในการศึกษาของผมพบว่า ชนชั้นนำไทยมีหลายกลุ่ม แต่กลุ่มอำนาจมากที่สุดหรือที่เรียกว่า senior partnership คือทหาร คือเหล่าจอมพลทั้งหลายไม่ว่าจอมพลสฤษฎิ์ ธนะรัชต์, จอมพลถนอม กิตติขจร ซึ่งวังก็เป็นส่วนหนึ่งของเครือข่ายชนชั้นนำไทยที่เติบโตขึ้นมาพร้อมกับระบอบสฤษฎิ์ – ถนอม แต่อันที่จริงก็ไม่ได้สนิทกันแบบคอหอยลูกกระเดือกหรอก มันมีทั้งการสนับสนุนและขัดแย้งกันระหว่างสองกลุ่มนี้ ซึ่งความเป็น senior partnership ของทหารมาลดลงหลัง 14 ตุลาคม พ.ศ.2516 แล้วอำนาจก็มาทางสถาบันมากขึ้น แต่กว่าจะครองอำนาจได้จริงๆ คือหลังเหตุการณ์พฤษภาคม พ.ศ.2535 แล้ว
ซึ่งตุลาการก็เป็นหนึ่งในฝ่ายที่สถาบันกษัตริย์ตั้งแต่หลัง 14 ตุลาคม พ.ศ.2516 เพราะก่อนหน้านั้นตุลาการมีปัญหากับจอมพลถนอมที่ใช้ ‘กฎหมายโบว์ดำ’ แต่งตั้งคณะกรรมการตุลาการที่มีฝ่ายบริหารเข้าไปนั่ง หรือเรียกได้ว่าตุลาการถูกแทรกแซงจากฝ่ายบริหาร ทำให้ตุลาการหันไปใกล้ชิดกับสถาบันมากขึ้น
อะไรคือความโดดเด่นของเครือข่ายชนชั้นนำของไทย และตลอดเวลาที่ผ่านมามันมีการปรับตัวอย่างไรบ้างไหมตั้งแต่มีการเปลี่ยนผ่านรัชกาล
ผมว่าเรื่องอำนาจนำมันไม่โดดเด่นอีกแล้ว เพราะคำว่าอำนาจนำหมายถึงมีคนพร้อมที่จะทำตามโดยที่ไม่ต้องสั่ง เขาอยากทำโดยตัวเขาเอง เหมือนรัฐพูดอะไรออกมาและประชาชนก็พูดออกมาเหมือนกันโดยไม่ต้องสั่งอะไร แต่ว่าหลังเปลี่ยนผ่านรัชกาล พระราชอำนาจนำที่เคยชัดเจนในสมัยที่แล้ว ในตอนนี้เหลือแต่การใช้อำนาจดิบ
พอมีตัวอย่างที่เป็นรูปธรรมของการถดถอยของพระราชอำนาจนำไหม
ผมไม่แน่ใจว่าคุณเกิดทันสมัยที่ ร.9 มีพระราชดำรัสวันที่ 4 ธันวาคมไหม มันเป็นธรรมเนียมเลยที่คนไทยจะรอฟังพระราชดำรัสของในหลวงในวันนี้ และไม่ว่าวันนั้น ร.9 จะพูดถึงเรื่องอะไร เช่น เขื่อน ปีต่อมารัฐบาลอนุมัติงบประมาณทันที แถมนายกฯ มาเป็นประธานโครงการเองด้วยซ้ำ หรืออย่างแนวคิดเศรษฐกิจพอเพียง เราก็เห็นว่าคนทำตามอย่างจริงใจและจริงจัง นี่คือพระราชาอำนาจนำ
แต่ในยุคปัจจุบัน เวลารับเสด็จเราจะเห็นแต่ที่มาเฝ้าทั้งนั้น มันสะท้อนว่าคุณต้องใช้ระบบจัดตั้ง
โครงสร้างของเครือข่ายชนชั้นนำไทยทุกวันนี้ยังเหมือนเดิมไหม
ผมว่าส่วนหนึ่งก็คือกลุ่มเดิม ทหาร ชนชั้นนำทางธุรกิจ ซึ่งเครือข่ายของคนเหล่านี้ถึงแม้จะรวมกันแน่น แต่มันไม่เกี่ยวโยงกับคนส่วนใหญ่อีกแล้ว ขณะที่เครือข่ายชนชั้นนำไทยก่อนหน้านี้ ชนชั้นด้านล่างกว่าก็ และถึงรู้ทั้งรู่ว่าตัวเองเสียเปรียบ ก็ไม่ได้ลุกขึ้นมายื่นข้อเสนอแบบตอนนี้
แต่กลุ่มชนชั้นนำไทยในสมัย ร.9 บางกลุ่มก็ล้มหายตายจากไปหมดแล้ว คุณน่าจะเคยได้ยินเรื่องที่เอกสารวิกิลีกส์หลุดออกมา และมีเนื้อหาทำนองว่า พล.อ.เปรม ติณาสูลานนท์, อานันท์ ปันยารชุน และ พล.อ.อ.สิทธิ เศวตศิลาที่ไปพูดกับเอกอัครราชทูตสหรัฐอเมริกาประจำประเทศไทยว่า พวกเขากังวลกับการเปลี่ยนผ่าน ซึ่งคนเหล่านี้หมดบทบาทไปแล้ว
อาจารย์ตั้งข้อสังเกตไว้ว่าในสมัย ร.9 กลุ่มชนชั้นนำกล้าที่จะทักท้วงการตัดสินใจต่างๆ ของสถาบัน แต่ในปัจจุบันเป็นอย่างไรบ้าง
ผมเคยพูดไว้ใน the101.world ว่า สิ่งที่เกิดขึ้นในช่วงการเปลี่ยนผ่านรัชกาล ไม่เคยมีชนชั้นนำไทยคนไหนทักท้วงท่าน คนที่ทักท้วงคนแรกกลับเป็นอานนท์ นำภา ในวันม็อบแฮรี่ พอตเตอร์เมื่อปีที่แล้ว และทำให้กลุ่มชนชั้นนำ เช่น บรรยง พงษ์พานิช ออกมาแสดงความเห็นหลังจากนั้น ที่ออกมาพูดว่าเราน่าจะกลับไปก่อนวันที่ 13 ตุลาคม พ.ศ.2559 นะ แต่ก่อนหน้านี้ทุกคนเงียบเสียงกันหมด เหมือนฉันทามติของชนชั้นนำไทยคือความเงียบ
ขณะที่อาจารย์ปิยบุตรชอบพูดว่า “หน้าอย่างผมพูดไปก็ไม่มีใครเชื่อ ผมอยากให้คนแบบนี้ (ชนชั้นนำ – ผู้เขียน) มาพูดแทน” เขาหมายถึงคนอย่างบรรยง พงษ์พานิช หรืออานันท์ ปันยารชุน
มีการปรับตัวในเชิงรายละเอียดอย่างไรบ้างไหม
ผมคิดว่าวงเครือข่ายอำนาจของสถาบันกษัตริย์ในทุกวันนี้มันเล็กลง ขณะที่ในสมัยก่อนหน้านี้มันกว้างและหลวมใครๆ ก็อยากเป็นส่วนหนึ่งของระบบนี้
ถึงในปี พ.ศ.2531 คุณต้องตั้งเครื่องราชอิสริยาภรณณ์สกุลดิเรกคุณาภรณ์ขึ้นมาเพื่อมอบให้คนกลุ่มใหม่ที่ถวายเงินให้สถาบัน เพราะก่อนหน้านี้มันมีแค่เครื่องราชฯ สกุลช้างเผือกกับเครื่องราชฯ สกุลมงกุฎไทย ซึ่งเป็นเครื่องราชฯ สำหรับข้าราชการ
ส่วนหนึ่งเพราะเครือข่ายชนชั้นนำไม่มีการปรับตัว แข็งทื่อ และใช้พระเดชสูงมากเกินไป และมันทำให้มีคนลุกขึ้นมาวิพากษ์วิจารณ์แบบที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อนเต็มไปหมด ซึ่งสมัยก่อนไม่มีแบบนี้เลย
ตัวเครือข่ายชนชั้นนำของไทยที่เรียกว่า ‘เครือข่ายสถาบันพระมหากษัตริย์ (Network Monarchy)’ มันมีส่วนในการค้ำจุนระบบที่เป็นอยู่ทุกวันนี้อย่างไรบ้าง
ถ้าพูดให้ชัดคือ เครือข่ายสถาบันพระมหากษัตริย์เป็นตัวสำคัญที่สร้างฉันทามติภูมิพลขึ้นมา พวกเขาเป็นคนสร้างและได้รับประโยชน์ แต่ในปัจจุบันก็ยังเป็นกลุ่มนั้นอยู่ แต่ความรู้สึกมันเปลี่ยนไป มันมีความกลัวมากขึ้น และวงอำนาจมันแคบลง
ในยุคก่อน สมมุติผมอยากเข้าไปเป็นส่วนหนึ่งของวงอำนาจ ผมทำอย่างไรได้บ้าง และมันต่างจากยุคนี้อย่างไร
มันมีอยู่ 2-3 ทาง สมมุติคุณเป็นคหบดีในต่างจังหวัด คุณก็สามารถเข้าไปถวายเงินในวาระที่ทรงเสด็จต่างจังหวัดได้ หรือเข้าไปเป็นลูกเสือชาวบ้านและไต่เต้าขึ้นมาจนเป็นหัวหน้ากลุ่ม (ยุคต่อสู้กับคอมมิวนิสต์) คุณก็จะได้ยืนอยู่แถวหน้าในการรับพระราชทานธง อันนี้ในกรณีที่เป็นมนุษย์โนเนมเข้าไปดีล
หรือถ้าเป็นตระกูลที่ใกล้ชิดกับพระราชสำนัก เคยมีประสบการณ์ทางประวัติศาสตร์ร่วมกัน สิ่งที่ในงานศึกษาของผมเขียนคำว่า ‘ข้าราชการสายวัง’ คือคนที่ถวายงานรับใช้ใกล้ชิด ข้าราชการสายวังที่ผมยกตัวอย่างรุ่นแรกๆ เลย เช่น ม.ล.ปิ่น มาลากุล เป็นข้าราชการสายวังที่ปรากฎตั้งแต่ทศวรรษ 2490 เป็นนักเรียนทุนในสมัยรัชกาลที่ 6 และครอบครัวก็มีความสัมพันธ์กับวงอำนาจมาแต่เดิม
อาจารย์มองว่าคณะรัฐประหารและกลุ่มอำนาจตอนนี้มาเกาะสถาบัน
ทหารมีความเปลี่ยนแปลงในตัวของมันเองด้วย จากที่เคยเป็น senior partnership มีอำนาจเหนือทุกกลุ่มในยุคเหล่าจอมพล คุณเคยได้ยินเรื่องของ พ.ท.ณรงค์เดช นันทโพธิ์เดชไหม เขาเป็นโมเดลของทหารเสือพระราชินี เป็นคนที่รบก็เก่ง จงรักภักดีอีกด้วย มันคือต้นแบบของทหารแนวใหม่ในยุคที่อำนาจแบบจอมพลเสื่อมลง ฉะนั้น ทหารที่โตมาในยุคหลัง 14 ตุลาฯ มันจึงมีแนวโน้มที่จะวิ่งไปขอความชอบธรรมจากวัง ซึ่งกรณีของ 3 ป. ก็เติบโตมาในเส้นทางที่ทหารกับวังเดินไปบนเส้นทางเดียวกัน
ที่ผ่านมาอาจารย์มองว่ากลุ่มชนชั้นนำของไทยสนับสนุนประชาธิปไตยมากแค่ไหน
ถ้าเรามองเรื่องนี้แบบขาว-ดำ เราอาจมองว่าชนชั้นนำไทยมันไม่สนับสนุนประชาธิปไตยเลย แต่ส่วนตัวผมมองว่าชนชั้นนำไทยไม่ได้ปฏิเสธประชาธิปไตย มันแล้วแต่เงื่อนไขประวัติศาสตร์ เพราะอย่างที่ผมบอกว่าคนกลุ่มนี้ related กับโลกก่อนคนอื่น เขารู้ดีว่ามันคือเทรนด์ของโลก และมันปฏิเสธไม่ได้ ฉะนั้น เขาไม่ได้ปฏิเสธประชาธิปไตยหรอก แต่มันอยู่ที่ว่าจะปรับประชาธิปไตยมาเป็นแบบไหนมากกว่า
ในช่วงหลังรัฐประหารปี พ.ศ.2490 เราจะเห็นว่าคนในกลุ่มอนุรักษ์นิยม เช่น ในพรรคประชาธิปัตย์ ควง อภัยวงศ์ หรือ ม.ร.ว.เสนีย์ ปราโมช เขาไม่ได้มีเป้าหมายกลับไปเป็นสมบูรณาญาสิทธิราชย์ แต่ต้องการสร้างการเมืองในระบบรัฐสภาที่จัดตำแหน่งแห่งที่ให้อำนาจกับสถาบันกษัตริย์มากขึ้น คือเป็นเสรีนิยมรอยัลลิสต์ หรือช่วงก่อน 14 ตุลาฯ เราจะพบว่าสถาบันกษัตริย์กับนักศึกษาเป็นแนวร่วมกลุ่มเดียวกัน ที่ต้องการไล่รัฐบาลถนอม ซึ่งเป็นการใช้พลังประชาธิปไตยเพื่อโค่นล้มเผด็จการ
ถ้าเรากระเทาะเปลือกของชนชั้นนำไทย เราจะพบว่าในช่วงทศวรรษ 2520 ชนชั้นนำไทยตั้งแต่ตัวนายกฯ (พล.อ.เปรม ติณสูลานน์ – ผู้เขียน) กลุ่มนักการเมือง เทคโนแครต รวมถึงสถาบันพระมหากษัตริย์เลือกประชาธิปไตยมากกว่าเผด็จการ ตรงนี้ดูย้อนแย้งมากในสมัยนี้ แต่ในตอนนั้น พล.อ.เปรมทะเลาะกับ พล.อ.อาทิตย์ กำลังเอก ผบ.ทบ. บ่อยมาก ทำให้ชนชั้นนำไทยเลือกไปอยู่กับประชาธิปไตย ไม่เข้าข้างฝ่ายทหาร นอกจากนี้ ในช่วงแรกของรัฐบาลชุดนี้ รัฐมนตรีมักจะเป็นข้าราชการประจำ แต่พอช่วงท้ายๆ รัฐมนตรีกลับเป็น ส.ส. เกือบหมดเลย มันสะท้อนว่ามันมีกระบวนการทำให้เป็นประชาธิปไตย (Democratization) ชัดเจนมากขึ้น
ฉะนั้น ชนชั้นนำไทยไม่ใช่ไม่สนับสนุนประชาธิปไตย แต่มันอยู่ที่ว่าประชาธิปไตยแบบไหน และในช่วงจังหวะไหนที่ส่งเสริมและจะเป็นประโยชน์ต่อเขา ชนชั้นนำไทยรู้ดีว่าพวกเขาไม่ใช่เสียงส่วนใหญ่ เขาเลยไม่ให้ความสำคัญกับประชาธิปไตยในเชิงตัวเลข แต่ให้ความสำคัญกับประชาธิปไตยแบบตรวจสอบถ่วงดุล ดังนั้น สิ่งนี้มันเลยแยกไม่ออกจากเรื่อง ‘การเมืองคนดี’
เพราะอย่างในรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2540 ทึ่อานันท์ ปันยารชุนเป็นประธานกรรมาธิการยกร่างเนี่ย เราจะเห็นว่ามันมีการใส่คำพวกความโปร่งใส ธรรมาภิบาล หรือเพิ่มองค์กรอิสระลงมาใส่ในรัฐธรรมนูญเต็มไปหมดเลย
สะท้อนกลับมาในแง่สังคมบ้าง หลังๆ มานี้มีบางคนที่โหยหาการกลับไปสู่สมบูรณาญาสิทธิราชย์เลย มองว่าเทรนด์แบบนี้มันสะท้อนอะไรบ้าง
ผมมองว่ามันไม่ใช่อยากกลับไปสมบูรณาญาสิทธิราชย์หรอก แต่มันคือความโหยหาสิ่งที่คุ้นเคยอย่างฉันทามติภูมิพลมากกว่า มันคือความไม่พร้อมต่อการเปลี่ยนแปลงที่เห็นต่อหน้า อย่างในสภาก็ไม่คุ้นที่มีพรรคอนาคตใหม่เข้ามา หรือมีเด็กที่มาชูสามนิ้ว ทั้งหมดนี้มันคือความไม่คุ้นชิน
คนที่โหยหาระบอบนี้ มันคือความโหยหาสิ่งเก่าๆ ที่คิดว่าเป็นความจริง ความดี ความงามของฉันทามติภูมิพล ซึ่งในปัจจุบันเสื่อมความขลังไปแล้ว
ในความคิดของอาจารย์คำว่า ‘กษัตริย์ภายใต้รัฐธรรมนูญ (Constitutional Monarchy)’ มันควรจะเป็นแบบไหน
เป็นคำถามที่ยากเหมือนกัน พูดง่ายสิ่งที่ควรจะเป็นคือพระมหากษัตริย์ต้องอยู่ภายใต้รัฐธรรมนูญ ซึ่งมันก็มีตัวแบบให้เห็นเยอะแยะ เช่น ในญี่ปุ่น หรือสหราชอาณาจักร ในงานของวอลเตอร์ เบจฮอต (Walter Bagehot) เขียนไว้ว่า สถาบันพระมหากษัตริย์มีสิทธิได้แค่ เตือน, กระตุ้น, ให้คำแนะนำผ่านช่องทางลับ
ในกรณีของสังคมไทย ผมคิดว่าเราอยู่ในรัชสมัยของ ร.9 มานานมาก จนทำให้เรามีตัวแบบความคิดเดียว การอยู่มา 70 ปึทำให้บางทีคนไทยก็ไปคุ้นชิ้นกับภาพในช่วงที่ ร.9 มีพระราชอำนาจนำอยู่เยอะ โดยลืมไปว่าปรากฎการณ์ที่ทำให้พระองค์มีอำนาจนำเยอะมากๆ เนี่ย มันเป็นสิ่งที่ขัดแย้งกับ Constitutional Monarchy โดยหลักการ
ในสมัย ร.9 มีสถานการณ์คล้ายกันนี้อยู่บ้างหรือเปล่าที่พระราชอำนาจถูกจำกัด คือช่วงก่อนจอมพลสฤษฎิ์ทำรัฐประหาร หรือ 10 ปีแรกของ ร.9 มันเป็นช่วงที่พระมหากษัตริย์อยู่ในกรอบที่ทำอะไรได้และไม่ได้ชัดเจน คือไม่สามารถแสดงบทบาทอะไรในทางสาธารณะได้อย่าง่ายดาย แต่ตั้งแต่ปี พ.ศ.2500 กรอบตรงนี้ก็ถูกทำให้หายไป และความทรงจำต่อภาพแบบนั้นมันก็นานมากจนคนไทยลืมไปหมดแล้วว่าสิ่งที่เป็กษัตริย์ภายใต้รัฐธรรมนูญคืออะไร คนไทยลืมว่า King Can Do No Wrong เพราะกษัตริย์ไม่ทำอะไรเลย แต่กลับไปรู้สึกว่า King Can Do Something และยังชื่นชมอีกด้วย
แต่เรื่องนึงที่ผมอยากพูดคือ เอาเข้าจริงในหลวง ร.9 ก็ทรงระวังอยู่ไม่น้อย เวลาที่รู้สึกว่าทำอะไรที่อาจมากเกินไปจะยั้งและพยายามบอกสังคมว่าตัวเองไม่ได้ทำอะไรผิดหลักการกษัตริย์ภายใต้รัฐธรรมนูญ เช่น ช่วงหลัง 14 ตุลาฯ มีการร่างรัฐธรรมนูญฉบับปี พ.ศ.2517 ซึ่งนี้กำหนดให้คนที่จะแต่งตั้งวุฒิสภาคือประธานองคมนตรี แต่ ร.9 บอกว่าเหมือน “เอาไฟมาลนท่าน” เพราะท่านเป็นคนแต่งตั้งองคมนตรี และถ้าวุฒิสภามาจากองคมนตรีอีก มันจะเชื่อมโยงกันได้ ท่านก็บอกขอให้เปลี่ยนเถอะ
เมื่อชนชั้นนำไทยไม่คุ้นเคยกับการเรียกร้องจากล่างขึ้นบน อาจารย์มองว่าปรากฎการณ์ที่เกิดขึ้นในตอนนี้ มันมีอะไรรออยู่ข้างหน้าบ้าง
ตอนนี้คุณกำลังไปตัดทางดีลกับเขา (คนรุ่นใหม่) จากที่มันควรมีชอยส์ เหมือนเดิม – เปลี่ยนแปลง – หายไป คุณกลับไปตัดชอยส์ของการเปลี่ยนแปลงไป ซึ่งผมคิดเหมือนนักวิชาการหลายๆ คนว่า มันคงจะแย่ถ้าไม่ปรับตัว
และน่าเสียดายเพราะสถาบันมีมิติของการปรับเปลี่ยนตัวเองมาโดยตลอด ไม่ว่าจะปรับในทางที่ถูกต้องหรืออย่างไร แต่สุดท้ายก็กลับมาสู่อำนาจนำแบบช่วงหลังพฤษภาฯ ปี พ.ศ.2535 ซึ่งผมมองว่าเป็นปรากฎการณ์มหัศจรรย์ของสังคมไทยได้
Fact Box:
- ดาวน์โหลดวิทยานิพนธ์ “ความเปลี่ยนแปลงของเครือข่ายชนชั้นนําไทย พ.ศ. 2495 – 2535” ได้ที่นี่
- สั่งซื้อหนังสือ “กว่าจะครองอำนาจนำ” หนังสือชุมสยามพากษ์ลำดับที่ 6 ของสำนักพิมพ์ฟ้าเดียวกันได้ที่นี่า