เมื่อพูดถึงสวีเดน ภาพความเจริญก้าวหน้าอาจเป็นสิ่งแรกๆ ที่ผุดขึ้นมาในใจของใครหลายคน
แต่ไม่เพียงแค่การเติบโตทางเศรษฐกิจเท่านั้น ความก้าวหน้าทางประชาธิปไตยและสิทธิมนุษยชนในสวีเดนก็เป็นประเด็นที่น่าสนใจเช่นกัน โดยเมื่อปี ค.ศ.2021 รายงานจาก Economist Intelligence Unit (EIU) จัดอันดับให้สวีเดนเป็นประเทศที่มีประชาธิปไตยที่ดีที่สุดเป็นอันดับที่ 4 ขณะที่ประเทศไทยได้อันดับที่ 72 จากทั้งหมด 167 ประเทศ
ยิ่งกว่านั้น สวีเดนยังเป็นประเทศที่ปกครองด้วยระบอบประชาธิปไตยโดยมีพระมหากษัตริย์อยู่ภายใต้รัฐธรรมนูญ (constitutional monarchy) นั่นยิ่งทำให้หลายคนสนใจถึงประวัติศาสตร์ความเป็นมาของประชาธิปไตยในสวีเดน
อุทยานเรียนรู้ป๋วย 100 ปี ร่วมกับ Nitihub จึงจัดงานงานเสวนาเรื่อง ‘ประสบการณ์ในการสร้างหลักนิติธรรมในสวีเดน (Swedish Experience in Establishing the Rule of Law)’ ขึ้น โดยมี Jon Åström Gröndahl เอกอัครราชทูตสวีเดนประจำประเทศไทยเป็นผู้บรรยายในหัวข้อดังกล่าว
The MATTER จึงขอสรุปคำบรรยายในงาน เพื่อให้ผู้อ่านได้เข้าใจถึงประวัติศาสตร์ความเป็นมาของสวีเดนที่เคยมีการปกครองแบบสมบูรณาสิทธิราชย์มาสู่การปกครองแบบประชาธิปไตยที่ได้รับการชื่นชมจากทั่วโลก และชวนหาคำตอบว่า ปัจจัยที่ทำให้ประชาธิปไตยในประเทศแห่งนี้เข้มแข็งได้คืออะไรบ้าง
ประวัติศาสตร์ชนชาติสวีเดน
เริ่มกันที่ช่วงยุคกลาง (ค.ศ. 476 – 1453) สวีเดนเคยมีการปกครองที่แบ่งแยกกันหลายเขต ซึ่งแต่ละเขตก็จะมีกฎหมายเฉพาะตัวกันไป แต่ทุกๆ เขตจะอยู่ภายใต้กษัตริย์องค์เดียวกัน จนมาถึงยุคของพระเจ้าแมกนุส เอริคสัน (Magnus Erikssons) เมื่อราว 700 ปีก่อน ได้ออกกฎหมายที่ให้ทุกเขตการปกครองใช้ร่วมกัน ซึ่งถือเป็นจุดเปลี่ยนให้สถาบันกษัตริย์มีอำนาจโดยสมบูรณ์ในสวีเดน
ท่านทูตอธิบายว่า กฎหมายฉบับนี้ระบุถึงกฎเกณฑ์ต่างๆ ในสังคม ทั้งเรื่องของการเสียภาษี เรื่องของการจัดการมรดก แต่ข้อสำคัญของกฎหมายดังกล่าวคือการมอบอำนาจให้กับสถาบันกษัตริย์ ภายใต้กฎว่า “การวิจารณ์พระมหากษัตริย์เท่ากับการวิจารณ์พระเจ้า” ซึ่งมีโทษเท่ากับบาปหนักถึงตาย ดังนั้น ประชาชนต้องเชื่อฟังพระมหากษัตริย์
“กฎหมายฉบับนี้มักถูกเรียกว่าเป็น ‘รัฐธรรมนูญฉบับแรก’ ของสวีเดน และมันฝังรากลึกในการเมืองของสวีเดนมาถึงศตวรรษที่ 19”
ขณะเดียวกัน ในช่วงเวลาที่พระเจ้าแมกนุส เอริคสันปกครอง ก็ถือเป็นช่วงแห่งการสร้างชาติสวีเดน กำเนิดมหาวิทยาลัยแรก และในปี ค.ศ.1611 ก็เกิดจักรวรรดิสวีเดน ซึ่งครอบคลุมทั้งดินแดนในนอร์เวย์ ฟินแลนด์ ส่วนหนึ่งของรัสเซีย เอสโตเนีย และลัตเวีย ซึ่งยุคนี้ถูกเรียกอย่างเป็นทางการว่า ‘The Age of Greatness’
แต่ท่านทูตก็กล่าวว่า ในความจริงแล้ว ยุคสมัยนี้ไม่ได้ดีขนาดนั้น เพราะทั่วทั้งยุโรปก็มีสงครามเกิดขึ้นตลอดทศวรรษ สวีเดนเองก็เคยเป็นชาติมหาอำนาจในการครอบครองดินแดนอื่นๆ แต่ไม่นานก็ล้มลง เนื่องจากขนาดของประเทศที่เล็ก จำนวนประชากรที่ไม่ได้มีมากนัก และเมื่อประเทศเพื่อนบ้านเข้าโจมตีสวีเดนพร้อมๆ กัน สวีเดนก็ไร้ทางสู้
ดังนั้น ในช่วงคริสต์ศตวรรษที่ 18 จนถึงปลายศตวรรษที่ 19 อาณาเขตต่างๆ ที่สวีเดนเคยยึดครองมาได้ก็กระจายหายไป รวมถึงฟินแลนด์ ซึ่งครั้งหนึ่งสวีเดนเคยยึดครองได้ทั้งประเทศ แต่ก็ต้องเสียไปให้กับรัสเซีย
ขณะเดียวกัน ในปี ค.ศ.1766 สวีเดนก็ได้ประกาศใช้กฎหมายเสรีภาพสื่อเป็นประเทศแรกของโลก โดยที่พระราชบัญญัติเสรีภาพสื่อ (Freedom of Press Act) ยังคงเป็นกฎหมายที่บังงคับใช้มาอยู่จนถึงทุกวันนี้ ซึ่ง Gröndahl อธิบายว่า กฎหมายดังกล่าวมีหลักการสำคัญอยู่ 2 ประการ
ประการแรกคือ เสรีภาพสื่อซึ่งประชาชนทุกคนมีสิทธิที่จะแสดงความคิดเห็น สื่อสิ่งพิมพ์และวารสารต่างๆ สามารถแสดงความคิดเห็นได้อย่างเต็มที่ โดยภาครัฐไม่มีสิทธิเซนเซอร์หรือเข้ามาตรวจสอบใดๆ
ประการที่สองคือ สิทธิของประชาชนในการเข้าถึงเอกสารของทางการ ถือเป็นหลักการสำคัญอย่างยิ่ง โดยหลักการนี้มีเป้าหมายเพื่อให้เกิดความโปร่งใสและให้ประชาชนได้มีส่วนร่วมกับการตรวจสอบภาครัฐ
ยิ่งกว่านั้น สิทธิดังกล่าวยังมอบให้กับ ‘ทุกคน’ ที่อยากเข้าถึงเอกสารของทางการสวีเดน ไม่ว่าคนผู้นั้นจะเป็นชาวสวีเดนหรือไม่ก็ตาม
“ยกตัวอย่างเช่น ใครก็ตามที่อยากอ่านอีเมลผม สามารถติดต่อไปที่สถานเอกอัครราชทูตสวีเดนได้ แต่ขอร้องล่ะ อย่าทำแบบนั้นเลย” Gröndahl กล่าวติดตลก “แต่ข้อสำคัญคือ ใครก็สามารถทำเช่นนี้ได้ และทางการจะเปิดเผยข้อมูล 99% ของเอกสารทั้งหมด”
อย่างไรก็ดี สวีเดนถูกปกครองอยู่ภายใต้ระบอบกษัตริย์และขุนนางมาตลอด โดยที่พระมหากษัตริย์และขุนนางนี้ ถือเป็นกลุ่มที่มีอำนาจทั้งในทางการเมืองและได้รับสิทธิประโยชน์ทางเศรษฐกิจมหาศาล จนถึงปี ค.ศ.1809 ที่เกิดการปฏิรูปสถาบันมหากษัตริย์ เนื่องด้วยแนวความคิดเรื่องความเท่าเทียมและการกระจายอำนาจที่ถือกำเนิดขึ้นในสวีเดน
จุดเปลี่ยนของอำนาจนี้ เกิดขึ้นเมื่อพระเจ้ากุสตาฟที่ 4 อดอล์ฟแห่งสวีเดน ถูกรัฐประหารโดยเหล่าขุนนาง ซึ่งพอสังคมไร้กษัตริย์แล้ว สวีเดนก็เกิดวิกฤตรัฐธรรมนูญว่า แล้วใครกันเล่าจะเป็นผู้นำของประเทศ ด้วยเหตุนี้ จึงเกิดการเขียนรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ในสวีเดนขึ้น โดยกำหนดว่า จะมอบอำนาจในการปกครองประเทศให้กับรัฐสภา
ถึงอย่างนั้น ก็มีการเลือกตัวกษัตริย์องค์ใหม่ในสวีเดนอยู่ แต่กษัตริย์องค์ใหม่นี้ต้องแบ่งปันอำนาจที่มีกับรัฐสภา – นี่คือจุดเปลี่ยนสำคัญจากระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ มาสู่การจำกัดอำนาจของสถาบันกษัตริย์
“แรงบันดาลใจของรัฐธรรมนูญฉบับใหม่นี้มาจาก Montesquieu นักปรัชญาชาวฝรั่งเศส โดยเขาเชื่อว่าต้องมีการแบ่งแยกอำนาจ นำมาสู่อำนาจนิติบัญญัติ บริหาร และตุลาการ ที่จะถ่วงดุลตรวจสอบซึ่งกันและกัน นักปรัชญาคนนี้เป็นคนเดียวกันกับที่ช่วยเหลือเหล่าบิดาผู้ก่อตั้งสหรัฐอเมริกา (founding fathers) ในการร่างรัฐธรรมนูญของสหรัฐฯ” Gröndahl กล่าว
ด้วยรูปแบบของรัฐบาลที่เปลี่ยนไปนี้ ทำให้ฝ่ายนิติบัญญัติและบริหารสามารถแบ่งปันอำนาจกับสถาบันกษัตริย์ได้ ขณะเดียวกัน ก็มีการก่อตั้งคณะกรรมการรัฐธรรมนูญ ซึ่งประกอบด้วยตัวแทนจากทุกพรรคการเมืองในสภา เพื่อตรวจสอบให้การบริหารประเทศยังคงเป็นไปตามเจตจำนงของรัฐธรรมนูญ
“ผมว่ามันเป็นเรื่องสำคัญมากที่จะต้องระลึกไว้ว่า สวีเดนเป็นประเทศที่ยากจนมากในช่วงเวลานั้น เราค้นพบตัวเองในที่ทางใหม่ ต่างจากที่เคยเป็น เราคือประเทศขนาดกลาง-เล็กที่อยู่ชายขอบของยุโรปตอนเหนือ เราต้องสร้างชาติขึ้นใหม่ ซึ่งถือเป็นเรื่องที่เจ็บปวดสำหรับหลายๆ คนที่ยังคงหวนนึกถึงช่วงเวลาที่สวีเดนเคยยิ่งใหญ่ในอดีต”
แต่เมื่อเวลาผ่านไป Gröndahl เล่าว่า ประชาชนจำนวนมากก็เริ่มตระหนักว่า เราต้องรับมือกับข้อเท็จจริงใหม่นี้ให้ได้ และเราก็ได้เห็นว่า ยิ่งนานวันเข้า ประเทศชาติก็ยิ่งได้รับผลประโยชน์จากความสันติภาพ
จากนั้น ในปี ค.ศ.1917 ก็เกิดสงครามโลกครั้งที่ 1 ขึ้น ซึ่งสวีเดนได้แสดงจุดยืนเป็นกลางทางการเมือง และไม่เข้าไปยุ่งเกี่ยวกับสงครามโลกได้ แต่สวีเดนก็เผชิญกับปัญหาความยากจนอย่างหนักเช่นกัน ซึ่ง Gröndahl ระบุว่า ในปี ค.ศ.1905 สวีเดนเคยยากจนมาจนต้องรับความช่วยเหลือจากอาร์เจนติน่า
“เรายังยากจน และพื้นฐานของสังคมก็ยังไม่เกิดความเท่าเทียม ขณะที่สถาบันกษัตริย์และอำนาจเผด็จการก็ยังคงมีบทบาทมากในสังคม เรามีความวุ่นวายทางการเมือง เราเจอกับการก่อความไม่สงบ และยังเจอกับการปฏิวัติรัสเซียด้วย”
Gröndahl เล่าอีกว่า ชนชั้นนำในช่วงเวลานั้นเข้าใจว่า การปฏิรูปเป็นสิ่งที่หลีกเลี่ยงไม่ได้ หากไม่ต้องการเจอกับการปฏิวัติ เมื่อพวกเขาตระหนักว่า ไม่อาจต้านทานการความคิดของประชาชนจำนวนมากได้
จึงมีการเปลี่ยนผ่านจากสภาองคมนตรีมาเป็นรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้ง โดยมีร่างกฎหมายใหม่ที่ให้ประชาชน (เฉพาะผู้ชาย) มีสิทธิในการเลือกตั้ง พร้อมกับที่พรรคเสรีนิยมและสังคมนิยมประชาธิปไตยถือกำเนิดขึ้นมา
“พรรคการเมืองที่มาใหม่นี้ ได้ให้คำมั่นสัญญาถึงความเสถียรภาพว่า จะไม่มีการปฏิวัติ ไม่มีการเปลี่ยนประเทศเป็นสาธารณรัฐสวีเดน และทางสถาบันกษัตริย์ก็ต้องยอมรับแนวทางประชาธิปไตยของสวีเดนด้วยเช่นกัน”
สำหรับ Gröndahl แล้ว การปฏิวัติรัสเซียถือเป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงนี้ เพราะในช่วงเวลานั้น ชาติยุโรปทั้งหลายรู้สึกหวาดกลัวกับสิ่งที่เกิดขึ้นในการปฏิวัติรัสเซีย (การปฏิวัติที่ล้มล้างระบอบการปกครองของพระเจ้าซาร์นิโคลัสที่ 2 แห่งจักรวรรดิรัสเซีย (Tsar Nicholas II of Russia))
ขณะเดียวกัน ในปี ค.ศ.1917 นี้ พระเจ้ากุสตาฟที่ 5 ก็ได้ให้สัญญากับนายกรัฐมนตรีว่า จะไม่เข้าไปแทรกแซงทางการเมือง ซึ่งนายกรัฐมนตรีก็ดำรงอยู่ได้ด้วยการสนับสนุนของสภาที่มาจากเสียงประชาชน แม้ว่ารัฐธรรมนูญในปี ค.ศ.1809 นี้ สถาบันกษัตริย์จะยังมีอำนาจที่ต้องแบ่งปันกับรัฐสภา แต่ในทางปฏิบัติก็ไม่มีอำนาจแล้ว
จากนั้นในปี ค.ศ.1919 รัฐสภาของสวีเดนก็ได้ตัดสินใจให้มีการเลือกตั้งที่มาจากทั้งชายและหญิง และในปี ค.ศ.1921 ซึ่งเป็นปีที่มีการเลือกตั้งครั้งถัดมา ผู้หญิงก็มีสิทธิเลือกตั้งเป็นครั้งแรกในสวีเดน
ความน่าสนใจของเรื่องนี้ก็คือ เมื่อปี ค.ศ.2021 ที่ผ่านมานี้ สวีเดนเพิ่งมีการฉลองครบรอบ 100 ปีประชาธิปไตยในสวีเดนไป โดยการเริ่มนับช่วงเวลาของประชาธิปไตยในสวีเดนนี้ เกิดขึ้นเมื่อผู้หญิงมีสิทธิเลือกตั้ง ขณะที่ช่วงเวลาก่อนหน้านี้ที่สวีเดนมีสภาที่มาจากการเลือกตั้ง แต่เป็นการเลือกตั้งที่ให้สิทธิเฉพาะผู้ชายเท่านั้น ก็ยังไม่ถือว่าเป็นช่วงเวลาแห่งประชาธิปไตยที่แท้จริง
หลักนิติธรรมในสวีเดนเข้มแข็งได้อย่างไร
ในปี ค.ศ.1974 สวีเดนได้ออกกฎหมายพื้นฐาน (fundamental law) มา 4 ฉบับ ซึ่งประกอบมาเป็นรัฐธรรมนูญในปัจจุบัน กฎหมายพื้นฐานนี้ทำให้การแก้ไขรัฐธรรมนูญเป็นไปได้ยาก และต้องมีการรับฟังเสียงจากประชาชนในช่วงเวลาของการเลือกตั้งควบคู่กันไปด้วย
กฎหมายพื้นฐานทั้ง 4 ฉบับนี้ ได้แก่
1.องค์กรของรัฐฯ (The Instrument of Government) ซึ่งยึดหลักการว่า อำนาจมหาชนในสวีเดน ถือกำเนิดขึ้นจากปวงประชาชน และมีสภาของสวีเดนเป็นตัวแทนของประชาชน
2. กฎมณเฑียรบาลว่าด้วยการสืบสันตติวงศ์ (Act of succession) แต่เดิมสวีเดนจะมีแต่รัชทายาทชาย จนปี ค.ศ.1977 พระเจ้ากุสตาฟที่ 16 พระมหากษัตริย์องค์ปัจจุบันของสวีเดน มีลูกคนแรกเป็นผู้หญิง เลยแก้กฎหมายให้เป็นเกิดความเป็นกลางทางเพศ (gender neutral) ในการสืบราชบัลลังก์ ซึ่งเป็นประเทศแรกที่แก้ไขกฎหมายนี้
นอกจากนี้ สถาบันกษัตริย์ของสวีเดน ยังมีหลักการว่าจะไม่ยุ่งเกี่ยวกับการเมือง ซึ่งเป็นหน้าที่ของรัฐสภา ส่วนกษัตริย์จะมีบทบาทในเรื่องพิธีการต่างๆ เช่น เปิดสภา รับพระราชอาคันตุกะ และยังผู้ส่งทูตอย่างเป็นทางการไปยังประเทศต่างๆ ทั่วโลก
Gröndahl ยังกล่าวว่า งบประมาณสำหรับราชวงศ์ เป็นการจัดสรรจากงบประมาณแผ่นดิน แปลว่าต้องเปิดเผย โปร่งใส วิจารณ์ได้ ตัวเลขต่อปีประมาณกว่า 520 ล้านบาท ซึ่งราชวงศ์เองก็ต้องจ่ายภาษีให้กับประเทศเช่นกัน
“ผมมักได้รับคำถามอยู่หลายๆ ครั้งว่า เรามีกฎที่คล้ายคลึงกับ ม.112 ในสวีเดนหรือเปล่า ซึ่งคำว่า ‘Lèse-majesté’ (กฎหมายหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ) ในสวีเดนได้ถูกยกเลิกไปแล้วตั้งแต่ปี ค.ศ.1948 และแม้ว่าจะยังมีบทบัญญัติที่คุ้มครองการล้มล้างความมั่นคงของประเทศอยู่ แต่บทบัญญัตินี้ถูกนำมาใช้น้อยครั้งมากๆ ในรอบศตวรรษที่ผ่านมา”
3. พระราชบัญญัติเสรีภาพสื่อ ตามที่ได้กล่าวไปในตอนต้น ซึ่งถือเป็นหนึ่งในปัจจัยที่ส่งผลให้หลักนิติธรรมของสวีเดนยังคงดำรงอยู่ได้
Gröndahl เล่าว่า บทบาทของสื่อในสวีเดนถือเป็นสิ่งสำคัญในการตรวจสอบรัฐบาล ซึ่งสื่อแต่ละสำนักสามารถประกาศจุดยืนทางการเมืองของตนเองได้อย่างเปิดเผย ขณะเดียวกันสื่อของรัฐอย่างวิทยุและโทรทัศน์ ซึ่งถือเป็นบริการสาธารณะนี้ ก็จะมีตัวแทนจากพรรคการเมืองต่างๆ มาร่วมกันดูแล โดยที่สื่อของรัฐจะได้รับเงินจากภาษีของประชาชนมาใช้ในการบริหารจัดการองค์กร
4. กฎหมายพื้นฐานว่าด้วยเสรีภาพในการแสดงออก (The fundamental law on express of freedom) ซึ่งเป็นกฎที่ให้สิทธิประชาชนทุกคนในการแสดงความคิดเห็น ไม่ว่าจะเป็นเรื่องใดก็ตาม
“ทั้งหมดนี้ จะเห็นได้ว่า สิ่งสำคัญของหลักนิติธรรมในสวีเดนมากจากการเปลี่ยนปกครองแบบอัตตาธิปไตยมาเป็นรัฐสภาที่มาจากประชาธิปไตย พระราชบัญญัติเสรีภาพสื่อที่หมายรวมถึงสิทธิของประชาชนในการเข้าถึงเอกสารของทางการไปด้วย กฎหมายพื้นฐานที่เป็นตัวสร้างรากฐานการเมืองที่มั่นคงในสวีเดน และศาลที่เป็นอิสระและมีเครื่องมือในการคงไว้ซึ่งหลักนิติธรรมของประเทศ” Gröndahl กล่าวสรุป
จะเห็นได้ว่า การนำประสบการณ์ในอดีตมาเรียนรู้ และการเข้ามามีส่วนร่วมของประชาชนถือเป็นจุดสำคัญที่ทำให้ประชาธิปไตยในสวีเดนเบ่งบานได้