“ประมาณปี พ.ศ.2541 เห็นป้ายมาติดอยู่ที่หน้าพื้นที่ก่อสร้างในคลองด่าน เขาเขียนว่า ‘โครงการจัดการน้ำเสีย จ.สมุทรปราการ’ ชาวบ้าน แม่ค้า กลุ่มที่ทำประมงก็เริ่มจับกลุ่มคุยกันว่า เห้ย ไม่ได้นะ บ้านเราไม่มีน้ำเสียจากโรงงานนี่ ทำไมจะต้องมีบ่อบำบัดน้ำเสียมาอยู่ที่บ้านเรา ตอนนั้นเราก็ออกไปร่วมกับเขา ยังเป็นเหมือนตัวประกอบอยู่เลย”
23 ปี ผ่านไป ต้นเดือนมิถุนายน พ.ศ.2564 ‘ดาวัลย์ จันทรหัสดี’ ส่งข้อความมาหาผมในช่วงหัวค่ำให้อ่านข่าวชิ้นหนึ่ง
“เห็นข่าวนี้รึยัง ศาลอุทธรณ์กลับคำพิพากษาศาลชั้นต้น ให้อดีตข้าราชการกรมควบคุมมลพิษ (คพ.) จำนวน 3 คน พ้นจากความผิดในคดีคลองด่าน” เธอส่งข้อความนี้มาพร้อมลิงก์ข่าวจากสำนักข่าวอิศรา
“เหรอครับ ทำไมเงียบจัง”
ผมตอบข้อความกลับไป และเข้าไปอ่านรายงานข่าวชิ้นนั้น อาจเป็นเพราะใครๆ ก็กำลังสนใจอยู่กับสถานการณ์การแพร่ระบาดของ COVID-19 หรือกำลังงุนงงว่าจะได้ฉีดวัคซีนเมื่อไหร่แน่ เลื่อนมั้ย หรือสังคมกำลังสับสนว่า จะเชื่อข้อมูลของหน่วยงานรัฐหน่วยไหนได้บ้าง นั่นอาจทำให้พื้นที่ข่าวสำหรับการพิพากษาสำคัญของโครงการมูลค่า 22,900 ล้านบาท ที่ถูกเรียกว่าเป็น ‘มหากาพย์ของการทุจริตในประเทศไทย’ มีเพียงน้อยนิด มีสำนักข่าวเพียง 2-3 แห่งที่ลงข่าวนี้
ดังนั้น เพื่อให้เรื่องราวการต่อสู้สุดเหลือเชื่อครั้งนั้นไม่ถูกลืมเลือนไป การต่อสู้ของชาวบ้าน แม่ค้า ชาวประมง ที่แสดงศักยภาพค้นหาข้อมูลเชิงลึกทางวิชาการ จนกลายมาเป็นงานวิจัยชิ้นสำคัญที่เปิดเผยทุกแง่มุมของผู้ที่เกี่ยวข้องกับโครงการนี้ และสามารถล้มโครงการขนาดยักษ์ ‘บ่อบำบัดน้ำเสียคลองด่าน’ ลงได้
ทั้งที่ในยุคนั้น การค้นหาข้อมูลของภาครัฐ ยังทำได้ยากพอๆ กับการปีนขึ้นภูเขาเอเวอร์เรสต์
เราจะย้อนเวลากลับไป 23 ปีที่แล้ว ผ่านเรื่องราวของชาวบ้านคนหนึ่งที่มีบทบาทสำคัญในการคัดค้านโครงการบ่อบำบัดน้ำเสีย ที่ ต.คลองด่าน อ.บางบ่อ จ.สมุทรปราการ โครงการใหญ่ของกรมควบคุมมลพิษ
“มันเป็นเรื่องเหลือเชื่อนะ พอชาวบ้านเห็นป้ายว่า จะมีโครงการทำบ่อบำบัดน้ำเสียเพื่อเอาน้ำเสียจากโรงงานทั้ง จ.สมุทรปราการ มาลงที่คลองด่าน เขาก็รวมตัวกันเลย นัดประชุม และตกลงกันว่าจะไปยื่นหนังสือที่ทำเนียบรัฐบาล ปรากฏว่าต้องใช้รถบัส 10 กว่าคัน ไปจอดที่ลานพระบรมรูปทรงม้า มีชาวบ้านพร้อมใจไปด้วยกันพันกว่าคน เราก็ยังเป็นแค่คนไปร่วมนะ แต่เราเคยเห็นในข่าวโทรทัศน์ว่า เวลาไปเรียกร้องก็ต้องมีเอกสารแจกให้นักข่าวด้วย ก็เลยเอาแถลงการณ์ไปถ่ายเอกสารไว้ และเป็นคนแจกเอกสารให้นักข่าว”
ดาวัลย์เล่าถึงบทบาทในช่วงแรกเริ่มของเธอ ในช่วงเริ่มต้นการประท้วงบ่อบำบัดน้ำเสีย เมื่อปี พ.ศ.2541
ในช่วงแรกเธอคิดเพียงว่า ไม่เป็นธรรมเลย ที่อยู่ดีๆ จะเอาน้ำเสียจากพื้นที่โรงงานอุตสาหกรรม มาทิ้งที่คลองด่าน ซึ่งเป็นพื้นที่เกษตรกรรม เป็นแหล่งประมงสำคัญทั้งปลาสลิดและหอยแมลงภู่
เมื่อมีความเห็นเช่นนั้น ดาวัลย์จึงเริ่มติดตามข้อมูลของโครงการอย่างใกล้ชิด โดยเฉพาะประเด็นที่อาจเกิดผลกระทบกับการทำมาหากินของชาวบ้าน เธอไปพบข้อมูลที่กรมควบคุมมลพิษบอกว่า “น้ำที่มาเข้าโครงการบ่อบำบัดรวมจะกลายเป็นน้ำสะอาด และถูกปล่อยลงทะเลโดยไม่มีผลกระทบอะไร”
หลังการยื่นหนังสือที่ทำเนียบรัฐบาลผ่านพ้นไป เธอจำไม่ได้ด้วยซ้ำว่าใครเป็นคนออกมารับเอกสารร้องเรียนของชาวบ้าน ดาวัลย์เชื่อว่าเพียงแค่การรวมตัวกันออกไปประท้วง คงไม่สามารถทำให้โครงการที่มีมูลค่ามหาศาลขนาดนี้ยุติลงได้ แต่จะต้องใช้ข้อมูลที่น่าเชื่อถือมาหักล้างข้อมูลของกรมควบคุมมลพิษจนเป็นที่ยอมรับ เธอจึงไปที่ห้องสมุด ม.เกษตรศาสตร์ เพื่อหาข้อมูลทางวิชาการเกี่ยวกับ ‘การไหลของกระแสน้ำในบริเวณทะเลคลองด่าน’
“มีน้องคนนึง เขาช่วยหาข้อมูลเบื้องต้นเกี่ยวกับทิศทางการไหลของกระแสน้ำในทะเลคลองด่านมา เราก็เลยไปที่ ม.เกษตรฯ ไปหาข้อมูลที่เป็นงวานวิจัยเกี่ยวกับทะเลคลองด่านมาเพิ่ม ต้องถ่ายเอกสารมานั่งอ่านเยอะมาก ได้ข้อมูลว่า ถ้าปล่อยน้ำจืดลงไปในทะเลตรงนั้น น้ำจะวนกลับมาอยู่ตรงนั้น แล้วตามข้อมูลของกรมควบคุมมลพิษ จะปล่อยน้ำจืดที่บำบัดแล้วลงทะเลวันละ 525,000 ลูกบาศก์เมตร/วัน ซึ่งตรงที่เขาจะปล่อยน้ำลงไป เป็นแหล่งเพาะเลี้ยงหอยแมลงภู่ของชาวคลองด่าน ชาวประมงจะเอาไม้ไผ่ไปปักไว้ในทะเล หอยแมลงภู่ก็จะเกิดมาเกาะอยู่กับไม้ไผ่ ถ้าน้ำจืดที่ถูกปล่อยลงไปวนกลับมาตามกระแสน้ำ สภาพความเค็มของน้ำก็จะเปลี่ยนไป หอยแมลงภู่ก็จะไม่เกิด”
เมื่อนำเสนอเรื่องนี้ออกไป ดาวัลย์ได้รับเชิญไปพูดในรายการโทรทัศน์ของ ดร.เจิมศักดิ์ ปิ่นทอง ซึ่งมาจัดรายการที่คลองด่าน เธอเล่าว่า ผู้ร่วมรายการฝ่ายตรงข้ามคงคิดไม่ถึงว่าชาวบ้านธรรมดาอย่างเธอจะมาโต้แย้งด้วยข้อมูลทางวิชาการได้ ทำให้ข้อมูลที่เธอเตรียมมาได้รับความสนใจ
“ช่วงนั้นจะมีงานที่ธนาคารพัฒนาเอเชีย (Asian Development Bank – ADB) มาประชุมที่ จ.เชียงใหม่ เราก็รู้มาว่า ADB เป็นสถาบันการเงินที่สนับสนุนการศึกษาโครงการบ่อบำบัดน้ำเสียคลองด่านด้วย เราก็เริ่มทำข้อมูลเพิ่ม นำข้อมูลต่างๆ มาปะติดปะต่อกัน ไปตัดข่าวคลองด่านจากในหนังสือพิมพ์ทุกข่าวมารวบรวมไว้ ไปพบกลุ่ม NGOs ที่จะไปยื่นเรื่องกับ ADB เพื่อเจรจาให้เขานำเรื่องคลองด่านบรรจุไว้เป็นหนึ่งในประเด็นที่จะยื่นข้อเรียกร้องด้วย โดยขอให้ ADB หยุดให้เงินสนับสนุนโครงการ เราก็ร่วมเดินทางไปยื่นข้อเรียกร้องที่เชียงใหม่ด้วย
“หลังจากนั้น กลุ่ม ส.ว. จำนวน 102 คน เช่น เจิมศักดิ์ ปิ่นทอง, จรูญ ยังประภากร, ไกรศักดิ์ ชุณหะวัณ, จอน อึ้งภากรณ์, แก้วสรร อติโพธิ ฯลฯ ก็ร่วมลงชื่อส่งไปที่ ADB ให้หยุดสนับสนุนโครงการนี้เช่นกัน”
..นั่นคือช่วงหนึ่งของการยกระดับคัดค้านโครงการ
ในช่วงนั้นยังเป็นช่วงที่ ส.ว.มาจากการ ‘เลือกตั้ง’ ส.ว.ตอนนั้นจึงค่อนข้างมีบทบาทสูงในการนำประเด็นที่สังคมให้ความสนใจมาพิจารณาในคณะกรรมาธิการ (กมธ.) ชุดต่างๆ ดาวัลย์ถูกเสนอชื่อเข้าไปอยู่ในคณะอนุกรรมาธิการของ กมธ.สิ่งแวดล้อม วุฒิสภา ซึ่งบรรจุเรื่องผลดี-ผลเสียของโครงการบ่อบำบัดน้ำเสียคลองด่านเป็นวาระที่ต้องพิจารณาด้วย
การเข้าไปอยู่ในกลไกที่สามารถเรียกหน่วยงานต่างๆ ให้นำเอกสารมาชี้แจงได้ ทำให้เธอได้เห็นข้อมูลในด้านอื่นๆ มากขึ้น จนสามารถนำมาต่อจิ๊กซอว์เป็นข้อมูลในงานวิจัยในเวลาต่อมา
แต่ก็ยังไม่เห็น ‘สัญญา’ ระหว่างกรมควบคุมมลพิษ กับ ผู้รับเหมา เพราะหน่วยงานยังไม่ยอมปล่อยเอกสารนี้
ดาวัลย์ จันทรหัสดี แม่ค้าขายอาหารตามสั่งจาก ต.คลองด่าน อ.บางบ่อ จ.สมุทรปราการ จึงยื่นฟ้องต่อศาลปกครอง เพื่อให้ได้ดูสัญญาโครงการบ่อบำบัดน้ำเสียขนาดยักษ์ มูลค่า 22,900 ล้านบาท จนในที่สุดกรมควบคุมมลพิษต้องเปิดเผยสัญญาออกมา
“พอศาลปกครองให้เขาเปิดเผยสัญญาออกมา เราก็ต้องไปนั่งอ่านเอกสารทั้งหมดที่ศาลปกครองนะ เขาไม่อนุญาตให้ถ่ายเอกสารออกมา เอกสารที่เขาให้เราอ่านเป็นภาษาอังกฤษหมดเลย เราก็เลยชวนเพื่อนที่เป็นชาวต่างชาติไปนั่งอ่านด้วยกัน ช่วงนั้นต้องไปอ่านอยู่หลายวัน
“จนในที่สุด เราก็พบความผิดปกติในสัญญา เราไปสังเกตเห็นว่า บริษัทหนึ่งในกิจการร่วมค้า NVPSKG ซึ่งเป็นผู้รับเหมาถอนตัวออกไปแล้วตั้งแต่ก่อนเซ็นสัญญา และเป็นบริษัทที่สำคัญด้วย เพราะมีผลต่อสถานะของผู้รับเหมาว่าอาจจะทำให้ขาดคุณสมบัติในการรับงานนี้”
ดาวัลย์เล่าเหตุการณ์ที่เธอได้เริ่มเห็นสัญญาของโครงการ และนำไปสู่การตรวจสอบประเด็นการทุจริตในเวลาต่อมา
ผู้รับเหมาในโครงการบ่อบำบัดน้ำเสียคลองด่านในสัญญาใช้ชื่อว่า ‘กิจการร่วมค้า NVPSKG’ ซึ่งหมายถึง การรวมตัวกันของบริษัทเอกชน 6 แห่ง N V P S K G
- N คือ นอร์ทเวสท์ วอเทอร์ อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด เป็นรัฐวิสาหกิจของอังกฤษ
- V คือ บริษัท วิจิตรภัณฑ์ก่อสร้าง จำกัด
- P คือ บริษัท ประยูรวิศการช่าง จำกัด
- S คือ บริษัท สี่แสงการโยธา จำกัด
- K คือ บริษัท กรุงธนเอนยิเนียร์ จำกัด
- G คือ บริษัท เกตเวย์ ดิเวลลอปเมนท์ จำกัด
บริษัทที่ถอนตัวออกไปก่อนจะมีการเซ็นสัญญา ก็คือ N หรือบริษัทนอร์ทเวสท์ฯ ซึ่งมีความสำคัญมากถึงมากที่สุดต่อความชอบธรรมของผู้รับเหมารายนี้
เพราะเมื่อดูประสบการณ์ทำงานจากรายชื่อของทั้ง 6 บริษัทที่มารวมตัวกัน เราจะพบว่า N หรือ บริษัทนอร์ทเวสท์ฯ เป็นเพียงบริษัทเดียวที่ ‘มีประสบการณ์ในการทำระบบบำบัดน้ำเสีย’ ซึ่งใน TOR ของโครงการนี้ มีเงื่อนไขที่ระบุชัดเจนว่า ผู้รับเหมาที่จะมีคุณสมบัติเข้ามาทำงานนี้ได้ จะต้องมีประสบการณ์ในการทำโครงการบ่อบำบัดน้ำเสียขนาดใหญ่มาก่อน
ดังนั้น เมื่อ N ถอนตัวไป ก็มีคำถามตามมาว่า VPSKG ที่เหลืออยู่ ไม่มีบริษัทไหนเลยที่มีประสบการณ์ทำบ่อบำบัดน้ำเสียมาก่อน หมายความว่า ‘ขาดคุณสมบัติไปแล้ว’ ใช่หรือไม่?
5 รายที่เหลือ คือ VPSKG เป็นผู้รับเหมารายใหญ่ในประเทศ ประสบการณ์ส่วนใหญ่คือทำงานรับเหมาก่อสร้างทางหลวง ส่วนบทบาทในโครงการนี้ ก็แบ่งงานกันทำไปคนละส่วน ทำบ่อบำบัด เดินท่อลอดใต้แม่น้ำเจ้าพระยา จัดหาที่ดินในการก่อสร้าง แต่ทั้งหมดไม่มีประสบการณ์ก่อสร้างบ่อบำบัดน้ำเสีย
การตรวจสอบหลังจากนั้น จึงเชื่อมโยงไปถึงความเกี่ยวพันต่างๆ ระหว่างโครงการกับ 5 บริษัทที่เหลือ
บริษัทเหล่านี้ยังล้วนเป็นบริษัทที่ก่อตั้งหรือมีผู้ถือหุ้นในขณะนั้นเป็น ‘ตระกูลนักการเมืองดัง’ ที่มีส่วนร่วมในการอนุมัติโครงการ แต่ในช่วงนั้นคือ ปี พ.ศ.2538 ประเทศไทยยังไม่มี ‘พ.ร.บ.ว่าด้วยความผิดเกี่ยวกับการเสนอราคาต่อหน่วยงานของรัฐ’ หรือที่เราเรียกกันว่า ‘กฎหมายป้องกันการฮั้วประมูล’ (ออกมาใช้ปี พ.ศ.2542) จึงยังไม่มีข้อห้ามเกี่ยวกับผลประโยชน์ทับซ้อน บริษัทเอกชนที่มีชื่อของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองเป็นกรรมการผู้ถือหุ้น จึงสามารถเข้าร่วมเสนอราคาในโครงการของรัฐได้ (มีข้อห้ามหลังรัฐธรรมนูญฉบับปี พ.ศ.2540)
เมื่อเห็นเช่นนั้น ดาวัลย์ ก็เริ่มตรวจสอบย้อนกลับไปอีก ย้อนไปก่อนปี พ.ศ.2541 จึงไปพบว่า เดิมทีโครงการนี้ไม่มีความเกี่ยวข้องกับพื้นที่ ต.คลองด่าน อ.บางบ่อเลย
แล้วกลายมาเป็น “บ่อบำบัดน้ำเสียคลองด่าน” ได้อย่างไร?
เดือนตุลาคม พ.ศ.2538 คณะรัฐมนตรี มีมติเห็นชอบในโครงการจัดการน้ำเสียเขตควบคุมมลพิษ จ.สมุทรปราการ เพื่อสร้างระบบบำบัดน้ำเสีย รองรับน้ำเสียจากบ้านเรือนและโรงงานอุตสาหกรรมของจังหวัดสมุทรปราการไปจนถึง 20 ปีข้างหน้า โดยใช้พื้นที่ดำเนินการครอบคลุมทั้ง 2 ฝั่งของแม่น้ำเจ้าพระยาที่ ต.บางปลากด อ.พระสมุทรเจดีย์ และ ต.บางปู อ.เมือง จ.สมุทรปราการ โดยตั้งวงเงินงบประมาณไว้ประมาณ 13,600 ล้านบาท
..จะเห็นว่าชื่อ ‘คลองด่าน’ ยังไม่มีความเกี่ยวข้องเลย
จนมาถึงปี พ.ศ.2540 กรมควบคุมมลพิษ ทำสัญญาก่อสร้างบ่อบำบัดน้ำเสีย ที่ยังคงระบุพื้นที่ก่อสร้างคือ 2 ฝั่งของแม่น้ำเจ้าพระยากับกิจการร่วมค้า NVPSKG แต่ข้อเท็จจริงในสัญญาต่างออกไป
“โครงการมีมติ ครม.เห็นชอบเมื่อปี พ.ศ.2538 ใช่มั้ย และในปี พ.ศ.2539 กรมควบคุมมลพิษ ออกประกาศให้เอกชนมาเสนอราคา ทีแรกมีผู้เสนอราคาเข้ามา 4 ราย แต่ไม่มีใครผ่านเกณฑ์คุณสมบัติเลย เพราะใน TOR มีเงื่อนไขว่า ‘ผู้รับเหมาต้องมีประสบการณ์ในการจัดการน้ำเสีย’ ในที่สุดก็เหลือผู้รับเหมาที่มีคุณสมบัติแค่รายเดียว คือกิจการร่วมค้า NVPSKG ในเวลานั้น ศิริธัญญ์ ไพโรจน์บริบูรณ์ รองอธิบดีกรมควบคุมมลพิษเป็นประธานคณะกรรมการประกวดราคา และทำสัญญาในปี พ.ศ.2540 โดยมีหนังสือถึงปกิต กิระวานิช อธิบดีกรมควบคุมมลพิษ ซึ่งในช่วงที่เซ็นสัญญากัน บริษัทนอร์ทเวสท์ฯ หรือตัว N ได้ขอถอนตัวออกไปแล้ว ดังนั้น แม้ว่าชื่อของเอกชนในคู่สัญญาจะยังใช้ชื่อว่า NVPSKG แต่บริษัทที่เหลืออยู่จริงคือ V P S K G เท่านั้น” นี่คือสิ่งที่ดาวัลย์ค้นพบจากการไปนั่งอ่านเอกสารในศาลปกครอง
นอกจากจะพบเห็นการหายตัวไปจากสัญญาของบริษัท N
ดาวัลย์ยังพบว่า โครงการจัดการน้ำเสียเขตควบคุมมลพิษ จ.สมุทรปราการ ทำสัญญากับเอกชนในรูปแบบที่เรียกว่า ‘การจ้างเหมาแบบเบ็ดเสร็จ’ หรือ Turn Key คือ กรมควบคุมมลพิษบอกความต้องการกับผู้รับเหมาให้ไปดำเนินการเองทั้งหมด ทั้งออกแบบ จัดหาที่ดิน ตามกรอบงบประมาณที่ตกลงกันไว้ หรืออาจบอกได้ว่า ‘สร้างไป-ออกแบบไป’ ดังนั้นผู้รับเหมาในโครงการนี้ จึงมีหน้าที่ ‘จัดหาที่ดินสำหรับใช้เป็นพื้นที่ก่อสร้างได้เอง’ อีกด้วย
นั่นกลายเป็นช่องทางที่ทำให้เกิดกระบวนการ ‘เปลี่ยนแปลงรูปแบบโครงการ’ ในปี พ.ศ.2541 ซึ่งรวมไปถึงการจัดหาที่ดินแปลงใหม่สำหรับก่อสร้างโครงการด้วย
ชื่อของ ‘คลองด่าน’ และ ‘ราคาที่ดิน’ ที่เพิ่มขึ้นอีกหลายพันล้านบาท จึงปรากฎขึ้นในขั้นตอนนี้
“ผู้รับเหมาเขาอ้างว่า หาที่ดินตามพื้นที่เดิมคือ ต.บางปลากดไม่ได้ ทั้งที่เราก็รู้มาว่า มีคนเสนอขายที่ดินให้ แต่เขาไม่เอา และจากข้ออ้างนี้ จึงเสนอเปลี่ยนแปลงพื้นที่ก่อสร้างโครงการมาลงที่ ต.คลองด่าน จากโครงการก่อสร้างบ่อบำบัดน้ำเสีย ‘2 ฝั่ง’ ของแม่น้ำเจ้าพระยา จึงเปลี่ยนมาเป็นการก่อสร้างที่ฝั่งตะวันออกเพียง ‘ฝั่งเดียว’ แต่ต้องเพิ่มระยะทางมาอีก 20 กิโลเมตร และต้องทำท่อลอดใต้แม่น้ำเจ้าพระยา”
“พอเขาขอเปลี่ยนเอาบ่อบำบัดมาลงที่คลองด่าน เท่ากับจะเอาน้ำเสียจากแหล่งโรงงานอุตสาหกรรมมาบำบัดและปล่อยทิ้งลงที่แหล่งเกษตรกรรมและประมง พร้อมขอปรับเพิ่มงบประมาณการก่อสร้างจาก 13,600 ล้านบาท เป็น 23,700 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากเดิมอีกประมาณ 10,000 ล้านบาท ดูยังไงมันก็ไม่มีสมเหตุสมผลเลย”
‘ท่อที่ยาวขึ้น 20 กิโลเมตร’ เป็นจุดสำคัญที่ทำให้งบประมาณสูงขึ้นมาก เพราะท่อที่ใช้นี้ มีราคามากกว่า 140,000 บาท/เมตร ดังนั้นการเพิ่มพื้นที่วางท่ออีก 20 กิโลเมตร ทำให้งบประมาณเฉพาะค่าวางท่อเพิ่มขึ้น 2,800 ล้านบาท
“เขาจะต้องวางท่อเพิ่มอีก 20 กิโลเมตร พอทำมาถึงตลาดคลองด่าน ชาวบ้านอย่างน้อย 50-60 คน ก็จะรวมตัวไปขวางไว้ทุกครั้ง ตรงนี้จึงเป็นหัวใจสำคัญเลย เพราะเรารู้ว่า ถ้าเขาวางท่อตรงนี้ไม่ได้ ถึงจะสร้างบ่อบำบัดเสร็จแล้ว ก็ไม่มีทางส่งน้ำเสียมาเข้าสู่บ่อบำบัดได้ นี่จึงเป็นจุดสุดท้ายที่โครงการยังสร้างไม่เสร็จ” ..ดาวัลย์เล่าเหตุการณ์นี้อย่างภาคภูมิใจ เพราะเมื่อชาวบ้านยังรวมตัวหยุดยั้งการก่อสร้างในพื้นที่วางท่อได้ คลองด่านก็จะยังคงปลอดภัยจากน้ำเสีย
กรมควบคุมมลพิษ เสนอวาระเพื่อขอปรับเพิ่มงบประมาณอีก 10,000 ล้านบาท เข้าสู่ที่ประชุม ครม. ด้วยเหตุผลที่ชี้แจงต่อคณะรัฐมนตรี 4 ข้อ คือ
- เปลี่ยนแปลงระบบท่อจากผิวดินเป็นระบบท่อใต้ดิน
- เปลี่ยนแปลงวัสดุท่อ
- ราคาที่ดินที่เพิ่มสูงขึ้น
- เปลี่ยนแปลงพื้นที่ส่งน้ำเสีย (ที่บำบัดแล้ว) ให้ระบายโดยตรงลงสู่ทะเล
ซึ่ง ครม. ก็เห็นชอบอย่างรวดเร็ว ผ่านการประชุมเป็นวาระ ‘เพื่อทราบ’ เท่านั้น
ดาวัลย์ยังพบจุดเชื่อมโยงที่สำคัญด้วยว่า การย้ายพื้นที่ก่อสร้างโครงการมาลงที่คลองด่าน ยังเชื่อมโยงกับขบวนการซื้อขายที่ดินในคลองด่าน ที่ดำเนินการกันมาได้ระยะหนึ่งแล้ว
“ถ้าคิดย้อนหลังไปดีๆ เราจะเห็นว่าที่ดินตรงนี้ ถูกเตรียมการมานานแล้ว ตั้งแต่ก่อนจะมีโครงการบ่อบำบัดน้ำเสีย เขาจะส่งนายหน้าไปถึงบ้านที่เขาอยากได้ที่ดิน ขอดูเอกสารสิทธิ์ที่ดิน ถ่ายเอกสารไว้ให้แทน และขอซื้อทันทีเพื่อนำเอกสารสิทธิ์ตัวจริงไป จากนั้นจึงนำเอกสารสิทธิ์ที่เป็น สค.1 หรือ นส.3 ก. ไปเปลี่ยนเป็นโฉนด มันไม่ใช่เรื่องที่น่าแปลกใจ ที่จะทำเรื่องนี้ได้ง่ายๆ ถ้าเรารู้ว่าใครอยู่เบื้องหลัง”
ดาวัลย์เล่ามาถึงช่วงสำคัญ คือขบวนการปั่นราคาที่ดินกว่า 1,900 ไร่ ในคลองด่าน ด้วยการตั้งบริษัทมาซื้อขายต่อกันเป็นทอดๆ จนทำให้ที่ดินที่เคยถูกซื้อมาจากชาวบ้านในราคาหลักหมื่นบาทต่อไร่ กลายเป็นที่ดินราคาหลักล้านบาทต่อไร่ เมื่อขายให้กรมควบคุมมลพิษ
อีกหนึ่งตัวละครสำคัญ กำลังจะปรากฎ
ที่ดินที่คลองด่านส่วนใหญ่เป็นพื้นที่ป่าโกงกาง ในช่วงแรกมีเอกชนเข้ามากว้านซื้อที่ดินบริเวณนี้จากชาวบ้าน โดยอ้างว่าจะใช้สร้างสนามกอล์ฟ ในราคาไร่ละ 20,000-60,000 บาท ชื่อ ‘บริษัท เหมืองแร่ลานทอง จำกัด’ หนึ่งในกรรมการบริษัทคือ ‘วัฒนา อัศวเหม’ ซึ่งกำลังดำรงตำแหน่ง รมช.กระทรวงมหาดไทย มีอำนาจกำกับดูแล ‘กรมที่ดิน’ ในช่วงที่อนุมัติโครงการบ่อบำบัดน้ำเสีย
ต่อมา บริษัทเหมืองแร่ลานทองฯ ขายที่ดินต่อให้ ‘บริษัท ปาล์มบีช ดีเวลลอปเมนท์ จำกัด’ มีข้อมูลระบุว่า การเปลี่ยนสถานะที่ดินจาก สค.1 และ นส.3 ก.ให้เป็นโฉนดเกิดขึ้นในช่วงนี้ แม้ว่าพื้นที่บางส่วนจะมีสภาพเป็นคลอง เป็นป่าชายเลน เป็นทะเลโคลน ซึ่งต้องเป็นสมบัติของทางราชการตามกฎหมาย
มาถึงปี พ.ศ.2538 ที่ ครม.อนุมัติโครงการ ที่ดินบริเวณนี้ จึงถูกขายต่อให้ ‘บริษัท คลองด่านมารีนแอนด์ฟิชเชอรี่ จำกัด’ ในราคากว่า 250,000 บาท/ไร่
เมื่อถูกเลือกเป็นพื้นที่ดำเนินโครงการ กรมควบคุมมลพิษจึงขอให้ธนาคาร 2 แห่ง ประเมินราคาที่ดินบริเวณนี้ แต่ได้รับการปฏิเสธ เพราะเป็นที่ดินที่ไม่ค่อยมีการซื้อขาย
จนมาถึงเดือนมกราคม พ.ศ.2541 สำนักงานที่ดินจังหวัดสมุทรปราการประเมินราคาที่ดินแปลงนี้ไว้ที่ 480,000 บาท/ไร่ เท่ากันทุกแปลง ทั้งแปลงที่ติดถนนหรือแปลงที่มีสภาพเป็นทะเลโคลนก็ถูกประเมิน ‘ในราคาเท่ากัน’
เดือนกุมภาพันธ์ พ.ศ.2541 กรมควบคุมมลพิษซื้อที่ดินบริเวณนี้จากบริษัทคลองด่านมารีนแอนด์ฟิชเชอรี่ จำนวน 1,903 ไร่ ราคาสูงขึ้นไปถึง 1,030,000 บาท/ไร่ !
ต่อมามีข้อมูลที่ระบุได้ว่า บริษัทคลองด่านมารีนแอนด์ฟิชเชอรี่ฯ มีผู้ถือหุ้นกลุ่มเดียวกับ ‘บริษัท เกตเวย์ ดิเวลลอปเมนท์ จำกัด’ หรือ G ใน NVPSKG กลุ่มผู้รับเหมาโครงการ ทำให้ราคาจากการขายที่ดิน 1,903 ไร่นี้ หากนับตั้งแต่ต้น จะมีมูลค่าสูงขึ้นนับพันล้านบาท
ประเด็นการปั่นราคาที่ดินมาจากหลักหมื่นต่อไร่ มาเป็นหลักล้านบาทต่อไร่ เพื่อมาขายให้กับกรมควบคุมมลพิษ ส่งผลให้ศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง ตัดสินจำคุก วัฒนา อัศวเหม อดีต รมช.กระทรวงมหาดไทย (ดูแลกรมที่ดิน) เป็นเวลา 10 ปี ฐานใช้ตำแหน่งหน้าที่โดยมิชอบข่มขืนใจหรือจูงใจบังคับซื้อที่ดินจากราษฎร รวมประมาณ 1,900 ไร่ และใช้อำนาจข่มขืนใจหรือจูงใจให้เจ้าหน้าที่สำนักงานที่ดินจังหวัดสมุทรปราการ สาขาบางพลี และเจ้าพนักงานฝ่ายปกครอง ออกโฉนดที่ดิน 5 แปลงโดยไม่เป็นไปตามระเบียบและกฎหมาย
แต่วัฒนาก็หลบหนีออกนอกประเทศไปก่อนที่ศาลจะมีคำพิพากษา
ส่วนกลุ่มกรรมการในผู้รับเหมาในกิจการร่วมค้า NVPSKG กรรมการบริษัทคลองด่านมารีนฯ และกรรมการบริษัทปาล์มบีชฯ ถูกตัดสินจำคุกอีก 3 ปี ฐานสมคบกันปั่นราคาที่ดินให้สูงเกินจริง
การต่อสู้อันยาวนานของดาวัลย์ เริ่มจากปี พ.ศ.2541 จนเดินทางมาถึงปี พ.ศ.2546 ประพัฒน์ ปัญญาชาติรักษ์ รมว.กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เดินหน้าตรวจสอบและตัดสินใจยกเลิกสัญญาโครงการบ่อบำบัดน้ำเสียคลองด่าน ด้วยเหตุผลที่พบในสัญญา คือกิจการร่วมค้า NVPSKG ‘ขาดคุณสมบัติ’ ตั้งแต่ก่อนทำสัญญา เนื่องจาก N ที่มีประสบการณ์ในการทำบ่อบำบัดน้ำเสียถอนตัวออกไปแล้ว โดยช่วงที่ตัดสินใจยกเลิกสัญญา โครงการดำเนินการไปแล้วกว่า 95% จ่ายเงินค่าดำเนินการไปจนเกือบครบแล้ว คือประมาณ 20,000 ล้านบาท
ถือเป็นครั้งแรกที่ฝ่ายรัฐจ้างทนายเอกชนเข้ามาเป็นผู้ดำเนินการฟ้องคดีฉ้อโกงสัญญาและฉ้อโกงที่ดิน
จากนั้นการฟ้องคดีต่างๆ รวมถึงคดีทุจริตก็ตามมา
“ในช่วงนั้น งานวิจัยเรื่องบ่อบำบัดน้ำเสียคลองด่านของเราสมบูรณ์แล้ว ทั้งประเด็นข้อโต้แย้งเรื่องผลกระทบกับพื้นที่ อาชีพประมง และประเด็นเกี่ยวกับการทุจริต การเปลี่ยนแปลงพื้นที่ทำโครงการ และการปั่นราคาที่ดิน เราก็เลยเอาข้อมูลที่มีทั้งหมดมาไรท์ใส่แผ่น CD ไว้ และไปจัดแถลงข่าวเปิดเผยผลงานวิจัยที่สถาบันไทยคดีศึกษา ม.ธรรมศาสตร์ เชิญหน่วยงานที่เกี่ยวข้องมาฟังหมด เชิญ ป.ป.ช.มาด้วย และแจก CD ให้นักข่าวทุกคนที่ไปวันนั้น ถ้าเราไม่ทำแบบนี้ เกิดวันหนึ่งเราตายไป ข้อมูลพวกนี้ก็ตะตายไปกับเราด้วย แต่การที่เราแจกออกไป จะเป็นเครื่องมือที่ใช้ยืนยันได้ว่า ข้อมูลเกี่ยวกับโครงการบ่อบำบัดน้ำเสียคลองด่าน มีแหล่งอ้างอิงทั้งหมด จะถูกใช้เพื่อบิดเบือนผิดไปจากนี้ไม่ได้” ดาวัลย์กล่าวถึงช่วงท้ายของการต่อสู้ของเธอ กับโครงการมูลค่า 22,900 ล้านบาทที่มีกลุ่มอำนาจขนาดยักษ์คอยหนุนหลัง
ส่วนผู้รับเหมา กิจการร่วมค้า NVPSKG ก็ส่งเรื่องไปที่อนุญาโตตุลาการ โดยร้องว่า ‘ถูกยกเลิกสัญญาไม่เป็นธรรม’ ซึ่งในช่วงที่ประพัฒน์ยังเป็น รมว.กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติฯ มีจุดยืนว่า กรมควบคุมมลพิษจะไม่เข้าร่วมกลไกของอนุญาโตตุลาการ เพราะเป็นกลไกที่รัฐเสียเปรียบ เนื่องจากจะพิจารณาจากเนื้อหาในสัญญาเท่านั้น แต่หลังประพัฒน์พ้นจากตำแหน่งไป ไม่มีข้อมูลว่ากลไกเป็นอย่างไร
จนในปี พ.ศ.2558 อนุญาโตตุลาการมีคำสั่งให้กรมควบคุมมลพิษต้องจ่ายเงินส่วนที่เหลือพร้อมดอกเบี้ยให้เอกชนอีกรวม 9,600 ล้านบาท หรือที่สื่อมวลชนเรียกกันว่า ‘ค่าโง่คลองด่าน’
โดยรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา จ่ายเงินไปแล้ว 1 งวด ประมาณ 4,000 ล้านบาท เมื่อเดือนพฤศจิกายน พ.ศ.2558
แต่ก่อนจะถึงกำหนดจ่ายเงินค่าโง่งวดที่ 2 ในวันที่ 21 พฤษภาคม พ.ศ.2559 ป.ป.ช. และ สตง. มีหนังสือถึง ปปง. ขอให้ใช้อำนาจยึดหรืออายัดทรัพย์สินผู้ร่วมกระทำความผิดในคดีคลองด่าน ซึ่งรวมไปถึงเงินค่าโง่งวดที่สอง เพราะทั้ง ป.ป.ช.และ สตง. มองว่า NVPSKG เป็นผู้ร่วมกระทำความผิดในคดีคลองด่าน
จากนั้น 10 พฤษภาคม พ.ศ.2559 ที่ประชุมคณะกรรมการธุรกรรม ปปง.จึงมีมติให้อายัดทรัพย์สินที่เกี่ยวกับการกระทำความผิด กับกลุ่มบุคคลที่มีพฤติการณ์ในการทุจริตและแสวงหาประโยชน์โดยมิชอบด้วยกฎหมายจากโครงการบ่อบำบัดน้ำเสียคลองด่าน รวมถึงค่าโง่ที่กรมควบคุมมลพิษต้องจ่ายในอีก 2 งวดที่เหลือ เพราะมีเหตุอันควรน่าเชื่อว่า กลุ่มกิจการร่วมค้า NVPSKG กับพวก เกี่ยวข้องกับการแสวงหาประโยชน์จากที่ดิน ที่ออกโฉนดมาโดยมิชอบ เพื่อนำมาก่อสร้างโครงการนี้
วันที่ 17 ธันวาคม พ.ศ.2558 ศาลอาญาพิพากษาจำคุกคนละ 20 ปี ปกิต กิระวานิช อดีตอธิบดีกรมควบคุมมลพิษ, ศิริธัญญ์ ไพโรจน์บริบูรณ์ อดีตรองอธิบดีกรมควบคุมมลพิษ และยุวรี อินนา ผอ.กองจัดการคุณภาพน้ำ ขณะดำรงตำแหน่งนักวิชาการสิ่งแวดล้อม 7 ในความผิดฐานเป็นเจ้าหน้าที่มีหน้าที่จัดซื้อ ทำ จัดการรักษาทรัพย์ใดๆ, ร่วมกันใช้อำนาจในตำแหน่งปฏิบัติหน้าที่ หรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ จากกรณีทุจริตโครงการก่อสร้างบ่อบำบัดน้ำเสียคลองด่าน ทำให้เกิดสัญญาที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย เป็นสัญญาที่รัฐเสียเปรียบ และเป็นสัญญาที่เอื้อประโยชน์ให้กับเอกชน ทั้งยังปกปิดรูปแบบการประกวดราคา การจัดซื้อที่ดิน สร้างความเสียหายให้รัฐอย่างร้ายแรง
เพราะทั้ง 3 คน เป็นข้าราชการระดับสูงในกรมควบคุมมลพิษ ที่อยู่ในคณะกรรมการประกวดราคา, คณะกรรมการตรวจการจ้าง และคณะกรรมการพิจารณาคัดเลือกผู้มีคุณสมบัติในการขายที่ดิน – โดยปกิตในฐานะอธิบดีกรมควบคุมมลพิษ เป็นผู้แต่งตั้งคณะกรรมการ
แต่ในชั้นอุทธรณ์ ศาลพิพากษายกฟ้องทั้ง 3 คน ด้วยเหตุผลว่า การดำเนินการทั้งหมดอยู่ในรูปแบบ ‘คณะกรรมการ’ จึงไม่ใช่ความผิดส่วนบุคคล
ดาวัลย์ จันทรหัสดี ในฐานะชาวคลองด่านคนหนึ่ง ที่เสียสละทรัพย์สินส่วนตัว ทุ่มเทแรงกายแรงใจ ต่อสู้กับเรื่องนี้มานานกว่า 20 ปี อธิบายบทบาทของอดีตข้าราชการกรมควบคุมมลพิษทั้ง 3 คน ซึ่งมีส่วนร่วมอยู่ในทุกขั้นตอน ทุกคณะกรรมการ ทั้งการเริ่มโครงการ การทำสัญญาทั้งที่เอกชนขาดคุณสมบัติไปแล้ว การเปลี่ยนแปลงพื้นที่ทำให้ต้องเพิ่มงบประมาณในการจัดหาที่ดิน และการเดินท่อรวบรวมน้ำเสียจากบางปูมาที่คลองด่านเป็นระยะทาง 20 กิโลเมตร ราคาท่อเมตรละแสนกว่าบาท ดังนั้นจึงควรต้องสู้ต่อในชั้นฎีกาอีกครั้ง แล้วให้ศาลเป็นผู้ตัดสิน
ดาวัลย์ จึงแสดงความเห็นของเธอว่า คดีของอดีตข้าราชการ ทั้ง 3 คน จะมีผลต่อคดีอื่นๆ รวมทั้งเรื่องการจ่ายเงินค่าโง่อย่างแน่นอน เพราะการสั่งอายัดไม่ให้จ่ายค่าโง่งวดที่ 2 เกิดขึ้นหลังจากที่ศาลชั้นต้น พิพากษาให้ทั้ง 3 คนมีความผิด และผลจากคดีนี้อาจจะเป็นหลักฐานที่นำไปยืนยันในคดีอื่นได้ ว่ามีการร่วมมือกันแสวงหาผลประโยชน์ ดังนั้น ฝ่ายรัฐบาลต้องรีบแสดงออกให้ชัดเจนว่าจะสู้ต่อในชั้นฎีกา และต้องต่อสู้คดีอย่างจริงจัง
“รัฐบาลชุดปัจจุบัน ต้องพิสูจน์ตัวเองด้วยว่าเอาจริงเอาจังแค่ไหน โดยเฉพาะ รมว.กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติฯ ต้องแสดงให้เห็นว่า มีความพยายามที่จะปกป้องประโยชน์ของชาติ ด้วยการสู้คดีฟ้องเอาผิดอดีตข้าราชการกรมควบคุมมลพิษทั้ง 3 คน ต่อในชั้นฏีกา เพราะถ้าจะวิจารณ์กันตรงๆ นอกจากช่วงที่รัฐมนตรีประพัฒน์ (ปัญญาชาติรักษ์) ต้องจ้างทนายเอกชนมาทำคดีคลองด่านแทนทนายของรัฐ เราก็ไม่เคยเห็นฝ่ายรัฐตั้งใจสู้คดีนี้อย่างจริงจังเลย ยิ่งไปคิดต่อว่า กลุ่มผู้รับเหมาที่กำลังต่อสู้คดีด้วยอยู่ เป็นบริษัทของตระกูลไหนบ้าง เกี่ยวพันกับใครบ้าง มันก็อดสงสัยไม่ได้ว่า เราสู้คดีเพื่อต้องการชนะหรือไม่”
“ถ้าฝ่ายรัฐเห็นว่าโครงการนี้มันผิด ไม่ถูกต้อง ก็ต้องชกหนักๆ หน่อย สู้คดีจริงจังหน่อย อย่าให้ถูกครหาได้ว่ารัฐสู้คดีไม่จริงจัง เพราะถ้าเป็นเช่นนั้น จะเท่ากับว่า โครงการบ่อบำบัดน้ำเสียคลองด่าน ที่ทำให้รัฐต้องสูญเสียเงินไปเกือบ 30,000 ล้านบาทแล้ว โดยไม่ได้อะไรกลับมาเลย ยังจะเอาผิดใครแทบไม่ได้เลย แถมยังถูกครหาได้ว่า เราจะยอมจ่ายเงินเพิ่มให้กับเอกชนที่ถูกกล่าวหาว่ามีส่วนร่วมกับการทุจริตอีก”
“ถ้าเขาจะทำบ่อบำบัดน้ำเสียตามแผนเดิม อยู่ในแห่งโรงงานอุตสาหกรรม ไม่ย้ายพื้นที่ ไม่มาปั่นราคาที่ดิน ไม่เพิ่มงบอีก 10,000 ล้านบาท หรือพูดง่ายๆ ว่า ถ้าเขาตั้งใจจะแก้ปัญหาน้ำเสียจริงๆ ไม่มัวแต่ไปคิดถึงการหาผลประโยชน์ทับซ้อนจากการก่อสร้าง ป่านนี้เขาคงได้ใช้งานบ่อบำบัดน้ำเสียจนคุ้มไปแล้วมั้ง”
อดีตแม่ค้าขายอาหารตามสั่ง ชาว ต.คลองด่าน กล่าวทิ้งท้าย