การหายตัวไปของ วันเฉลิม สัตย์ศักดิ์สิทธิ์ ผู้ลี้ภัยทางการเมืองในประเทศกัมพูชา ได้เร่งให้เกิดกระแสเรียกร้องความยุติธรรมให้กับผู้ลี้ภัยทางการเมืองที่ถูกอุ้มหายในต่างประเทศ ทั้งในโลกออนไลน์ และโลกออฟไลน์
หลายคนออกมาเคลื่อนไหวในเรื่องนี้ด้วยเหตุผลต่างๆ ไม่ว่าจะเป็น เพราะคิดว่าการอุ้มหายอาจเกิดขึ้นกับใครก็ได้ ในยุคที่การแสดงความคิดเห็นทางการเมืองบนโลกออนไลน์กลายเป็นเรื่องปกติ หรือ วันเฉลิมเองก็ดูไม่ต่างอะไรจากตัวพวกเขามาก จึงเห็นว่าต้องมีกระบวนการอะไรสักอย่างเพื่อป้องกันไม่ให้เรื่องนี้เกิดขึ้นกับใครอีก
จึงสมควรแก่เวลาที่เราจะพูดถึงเรื่อง พ.ร.บ.ป้องกันการทรมาน-อุ้มหาย อีกครั้ง โดยบทความนี้จะพาทุกคนไปทำความเข้าใจว่ามันมีสาระสำคัญอะไรบ้าง และจะช่วยวันเฉลิมได้อย่างไร
ทำไมถึงต้องมี พ.ร.บ.ป้องกันการทรมาน-อุ้มหาย
คนที่อยากให้มีกฎหมายฉบับนี้เห็นว่าประเทศไทย ยังไม่มีกฎหมายป้องกันหรือลงโทษเจ้าหน้าที่ที่ซ้อมทรมานหรือบังคับให้คนอื่นสูญหาย และที่ผ่านมาหลายคนได้สูญหายไประหว่างการถูกควบคุมตัว โดยไม่มีใครสามารถเอาผิดเจ้าหน้าที่ได้ จึงต้องมีการผลักดันร่าง พ.ร.บ.ป้องกันการทรมาน-อุ้มหาย ให้บังคับใช้เป็นกฎหมายให้ได้
สำหรับร่าง พ.ร.บ.ป้องกันการทรมาน-อุ้มหาย ปัจจุบันผลักดันกันอยู่ 2 ฉบับ ได้แก่ ฉบับรัฐบาล (โดยกระทรวงยุติธรรม ) และฉบับประชาชน (โดยองค์กรภาคประชาชน 23 องค์กร) แต่ยังไม่มีฉบับใดที่ผ่านการพิจารณาโดยสภา จนสามารถออกมาเป็นกฎหมายได้
ฉบับที่ถูกพูดถึงในสื่อต่างๆ มากที่สุด คือ ฉบับประชาชน ซึ่งเป็นร่างกฎหมายที่พยายามอุดช่องว่างทางกฎหมายต่างๆ ที่ทำให้เกิดการซ้อมทรมานหรือการอุ้มหายโดยเจ้าหน้าที่รัฐ โดยการกำหนดมาตรการต่างๆ เช่น ให้บันทึกข้อมูลการควบคุมตัว ให้ญาติหรือทนายเข้าพบผู้ที่ถูกควบคุมตัว หรือ ให้ญาติมีสถานะเสมือนเป็นผู้เสียหาย ได้รับสิทธิเสมือนคนที่ถูกอุ้มหายหรือทรมาน เป็นต้น
วราภรณ์ อุทัยรังษี ทนายความสมาคมนักกฎหมายเพื่อสิทธิมนุษยชน ได้อธิบายว่า แม้กฎหมายจะกำหนดให้ผู้ที่ถูกควบคุมตัว มีสิทธิพบทนายหรือญาติ แต่ร่างกฎหมายฉบับนี้จะทำให้มีความชัดเจนมากขึ้นในเรื่องการทำบันทึกการควบคุมตัว – การปล่อยตัว เพื่อเป็นหลักประกันว่าคนที่ถูกควบคุมตัวจะปลอดภัย ไม่ถูกซ้อมทรมาน หรือ สูญหายไปไหน รวมถึงกรณีที่มีการซ้อมทรมาน หรือ หายไประหว่างควบคุมตัว ร่าง พ.ร.บ. ฉบับนี้ก็จะกำหนดให้เจ้าหน้าที่ที่อยู่กับผู้ที่ถูกควบคุมตัวเป็นคนสุดท้ายตกเป็นผู้ต้องสงสัยทันที
นอกจากนี้ในกระบวนการไต่สวน ร่าง พ.ร.บ. ฉบับนี้ จะมีการระบุเพิ่มว่า หากมีการควบคุมตัวโดยมิชอบด้วยกฎหมาย สามารถยื่นคำร้องตาม พ.ร.บ. ฉบับนี้ได้ ศาลเองก็มีอำนาจในการสั่งปล่อยตัวผู้ที่ถูกควบคุมตัวได้
ร่างกฎหมายนี้ยังให้อำนาจแก่อัยการในการสอบสวนคดีตามกฎหมายนี้ เพื่อป้องกันเรื่องผลประโยชน์ทับซ้อนของเจ้าหน้าที่ตำรวจที่เป็นทั้งผู้สอบสวนและผู้มีอำนาจในการควบคุมตัว นอกจากนี้ยังทำให้คดีดังกล่าวกลายเป็นคดีพิเศษด้วย
แต่ร่างกฎหมายนี้ อาจไม่คุ้มครองกรณี ‘วันเฉลิม’
แม้ร่าง พ.ร.บ.ป้องกันการทรมาน-อุ้มหาย จะถูกเปลี่ยนเป็นกฎหมายแล้ว แต่การดำเนินคดีกับผู้ที่อุ้มวันเฉลิม อาจจะยังคงเป็นเรื่องยากอยู่ เพราะกฎหมายตัวนี้เน้นเอาผิดเจ้าหน้าที่รัฐเพียงอย่างเดียว ผู้เสียหายไม่สามารถเอาผิดผู้กระทำผิดคนอื่นที่ไม่ใช่เจ้าหน้าที่รัฐ หรือ ไม่สามารถพิสูจน์ได้ว่าเป็นเจ้าหน้าที่รัฐได้
วราภรณ์ กล่าวว่า พ.ร.บ. ฉบับนี้ ครอบคลุมการกระทำผิดนอกประเทศ แต่กรณีวันเฉลิม อาจจะยังไม่มีหลักฐานที่แสดงให้เห็นว่าเป็นการทำของเจ้าหน้าที่รัฐ เช่น หมายจับ ถ้าเกิดว่าเป็นเคสที่มาเฟียเป็นคนอุ้ม กฎหมายตัวนี้ก็ไม่ครอบคลุม
สำหรับกรณีของวันเฉลิม กฎหมายที่ตรงที่สุด คือ ความผิดอาญาฐานกักกักขังหน่วงเหนี่ยว แต่ความผิดฐานนี้ยังมีปัญหาตรงที่ ต่อให้เข้าองค์ประกอบ ผู้เสียหายต้องแจ้งความเอง เพราะถือเป็นความผิดส่วนตัวและยอมความได้
ญาติของผู้เสียหายไม่สามารถแจ้งความเรื่องกักขังหน่วงเหนี่ยวได้ แต่จะทำได้ก็ต่อเมื่อ พิสูจน์ได้ว่าวันเฉลิมเสียชีวิตแล้ว หรือบาดเจ็บสาหัสจนไม่สามารถดำเนินคดีได้ มีเพียง 2 กรณีนี้เท่านั้น ไม่มีสาเหตุอื่นๆ เช่น หายตัวไป
อย่างเคสของทนาย สมชาย ที่ ศาลยกฟ้องไป เพราะคุณอังคณา (ภรรยา) ไม่ใช่ผู้เสียหายโดยตรง จึงไม่สามารถดำเนินคดีกักขังหน่วงเหนี่ยวได้ เรื่องอุ้มหาย จึงมีช่องว่างเยอะพอสมควร
“น่าจะแก้ไขในส่วนของผู้เสียหายและคนที่จะดำเนินคดี เพราะผู้เสียหายโดยตรง หรือ ผู้เสียหายที่แท้จริง กว่าเขาจะกลับมาได้ บางทีมันก็สายไปแล้ว เขาเสียหายเกินกว่าที่จะทำอะไรได้ ต่อให้มีกฎหมาย ต่อให้ดำเนินคดีได้ก็ ไม่มีประโยชน์อะไร”
วราภรณ์ ได้ให้ความเห็นเกี่ยวกับการปรับปรุงกฎหมายฉบับนี้อีกว่า ต้องเพิ่มเนื้อหาให้ครอบคลุมกับกรณีที่ไม่ใช่เจ้าหน้าที่รัฐ เช่น อาจจะเปลี่ยนมาใช้คำว่า ‘บุคคลใด’ แทน เพื่อให้ครอบคลุมผู้กระทำความผิดทุกคน ตอนนี้กฎหมายยังมีช่องว่าง ต่อให้มี พ.ร.บ. ฉบับนี้ พอมีเคสแบบวันเฉลิม หรือ ผู้ลี้ภัยหลายคนที่เคยโดนอุ้มก่อนหน้านี้ ก็ช่วยพวกเขาไม่ได้
ผลักดันมานานแล้ว แต่ทำไมยังไม่บังคับใช้เป็นกฎหมายเสียที
ผ่านมาหลายปีแล้วนับตั้งแต่ประเทศไทยเข้าร่วมเป็นภาคีของอนุสัญญาต่อต้านการทรมานและการประติบัติหรือการลงโทษที่โหดร้าย ไร้มนุษยธรรม หรือที่ย่ำยีศักดิ์ศรี พ.ศ. 2527 (CAT) รวมถึงได้ลงนามในอนุสัญญาระหว่างประเทศ ว่าด้วยการคุ้มครองบุคคลทุกคนจากการหายสาบสูญโดยถูกบังคับ พ.ศ.2549 (ICPPED)
แต่ดูเหมือนว่าการมีส่วนร่วมในอนุสัญญา 2 ฉบับนี้ ก็ไม่ได้เร่งให้กฎหมายควบคุมการทรมานหรืออุ้มหาย (เช่น พ.ร.บ.ทรมาน อุ้มหาย) เกิดขึ้นในประเทศไทยแต่อย่างใด
ทนายความด้านสิทธิมนุษยชน ระบุว่า การลงนามในอนุสัญญาแสดงให้เห็นว่า ประเทศไทยมีข้อผูกมัดที่ต้องปฏิบัติตาม รัฐฯ ต้องคุ้มครองสิทธิของพลเมืองในประเทศของตัวเองเป็นหลักสากล อย่างเคสของวันเฉลิม รัฐมีหน้าที่คุ้มครองสิทธิของพลเมืองของตัวเอง เพราะวันเฉลิมก็เป็นพลเมืองของรัฐไทย ตราบใดยังไม่เปลี่ยนสัญชาติ
ในส่วนสาเหตุที่ทำให้กฎหมายฉบับนี้เกิดขึ้นล่าช้า วราภรณ์ วิเคราะห์ว่า อาจเกิดจากกฎหมายบังคับใช้กับเจ้าหน้าที่รัฐฯ โดยตรง ทำให้มีคนไม่เห็นด้วยเยอะพอสมควร จึงต้องใช้เวลา กฎหมายฉบับนี้บังคับกับเจ้าหน้าที่ แต่ก็คุ้มครองสิทธิประชาชนและผู้เสียหายมากมาย
“เรื่องของวันเฉลิมเป็นเรื่องของทุกคน เกิดขึ้นกับใครก็ได้ เรื่องอุ้มหายไม่ควรเกิดขึ้นกับใครเลย ไม่ว่าจะเป็นฝ่ายที่อยู่ตรงกันข้าม เห็นไม่ตรงกับเรา”
อ้างอิง