“ความสำคัญจึงอยู่ที่นายกรัฐมนตรี ซึ่งจะผิดไม่ได้ ท่านนายกฯ ชวน (หลีกภัย) จะไม่อ่าน แต่ใช้วิธีจำเอา ส่วนนายกฯ ท่านอื่นๆ จะใช้วิธีอ่านทีละวรรค ตามที่สำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรีพิมพ์ลงบัตรแข็ง ซึ่งดูปลอดภัยกว่าการจำ เพราะจะไม่ผิดพลาด ขืนท่องจำผิดๆ ถูกๆ ตกคำว่า ‘และ’ คำว่า ‘หรือ’ ไปสักตัว ก็อาจต้องส่งศาลรัฐธรรมนูญตีความว่าได้ถวายสัตย์ฯ ครบถ้วนหรือยัง จะยุ่งเปล่าๆ”
คือถ้อยคำที่ วิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรีด้านกฎหมาย เขียนไว้ในหนังสือ หลังม่านการเมือง ซึ่งตีพิมพ์มาตั้งแต่ปี พ.ศ. 2554 ถึงความจำเป็นในการกล่าวถวายสัตย์ปฏิญาณต่อพระมหากษัตริย์ให้ถูกต้องตามตัวอักษร
กระทั่งคำเชื่อม เช่น ‘และ’ ‘หรือ’ ก็ยังต้องพูดให้ถูก ไม่เช่นนั้นอาจกลายเป็นประเด็นขึ้นมาได้ ..อย่าว่าแต่หายไปทั้งประโยค!
หนังสือดังกล่าว รองนายกฯ ผู้เคยร่วมงานกับนายกฯ มาถึง 8 คน 12 รัฐบาล – เขียนในระหว่างว่างเว้นจากตำแหน่งทางการเมือง – ก่อนจะกลับเข้าสู่แวดวงอำนาจอีกครั้งหลังการรัฐประหารในปี พ.ศ.2557
แม้ว่าเมื่อนำข้อสงสัยคล้ายๆ กับที่เจ้าตัวเขียน หลังกลายเป็นประเด็นว่า พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและ รมว.กลาโหม ได้กล่าวคำถวายสัตย์ปฏิญาณ ตามถ้อยคำในรัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบันครบถ้วนหรือไม่ ไปสอบถามกับเจ้าตัวอีกครั้ง ใน พ.ศ.ปัจจุบัน จะได้รับคำตอบจากชายชื่อวิษณุเชิงว่า ไม่รู้ ไม่ทราบ ไม่ตอบ
ไปจนถึง “แล้ววันหนึ่งจะทราบเองว่า ทำไมไม่ควรพูด” และ “อย่าไปรู้ในสิ่งที่ไม่เห็นจะต้องรู้”
สำหรับข้อสงสัยว่า พล.อ.ประยุทธ์ กล่าวคำถวายสัตย์ฯ ครบถ้วนหรือไม่ เกิดขึ้นจากเปิดประเด็นโดย ปิยบุตร แสงกนกกุล เลขาธิการพรรคอนาคตใหม่ ในการเปิดประชุมร่วมกันของรัฐสภา เพื่อรับฟังการแถลงนโยบายจากคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 25 กรกฎาคม ที่ผ่านมา
โดยถ้อยคำที่นายกฯ ต้องกล่าวตามรัฐธรรมนูญฉบับปี พ.ศ.2560 มาตรา 161 ก็คือ
“ข้าพระพุทธเจ้า (ชื่อผู้ปฏิญาณ) ขอถวายสัตย์ปฏิญาณว่า ข้าพระพุทธเจ้าจะจงรักภักดีต่อพระมหากษัตริย์ และจะปฏิบัติหน้าที่ด้วยความซื่อสัตย์สุจริต เพื่อประโยชน์ของประเทศและประชาชน ทั้งจะรักษาไว้และปฏิบัติตามซึ่งรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยทุกประการ”
แต่สิ่งที่ พล.อ.ประยุทธ์ พูดมีเพียง
“ข้าพระพุทธเจ้า (ชื่อผู้ปฏิญาณ) ขอถวายสัตย์ปฏิญาณว่า ข้าพระพุทธเจ้าจะจงรักภักดีต่อพระมหากษัตริย์ และจะปฏิบัติหน้าที่ด้วยความซื่อสัตย์สุจริต เพื่อประโยชน์ของประเทศและประชาชน”
ตกคำว่า “ทั้งจะรักษาไว้และปฏิบัติตามซึ่งรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยทุกประการ”
ฝ่ายค้านเตรียมหยิบเรื่องการถวายสัตย์ฯ ไม่ครบถ้วน ตามรัฐธรรมนูญไปตั้งเป็นกระทู้ถามสดให้นายกฯ ได้อธิบาย รวมถึงอาจนำไปเป็นหนี่งในประเด็นของการอภิปรายไม่ไว้วางใจในอนาคต ที่อาจเกิดขึ้นก่อนการพิจารณางบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ.2563
ส่วนการยื่นขอให้ศาลรัฐธรรมนูญช่วยวินิจฉัย สุทิน คลังแสง ส.ส.มหาสารคาม พรรคเพื่อไทย ในฐานะประธานวิปฝ่ายค้าน มองว่า ใช้เวลานานเกินไป จึงใช้วิธีขออภิปรายไม่ไว้วางใจก่อนพิจารณางบประมาณ และเรียกร้องให้นายกฯ “แสดงความรับผิดชอบ” ที่หมายถึงการลาออกจากตำแหน่ง
แต่ พล.อ.ประยุทธ์ก็ยังยืนยันว่า ข้อความที่ตนกล่าวครอบคลุมครบถ้วนหมดแล้ว และขอให้จบเรื่องนี้ “อย่าให้บานปลาย”
ตลอดช่วงเวลาที่ผ่านมา ผู้มีอำนาจชุดก่อนที่ต่อเนื่องมายังชุดปัจจุบัน ถูกตั้งคำถามว่า อาจทำผิดรัฐธรรมนูญฉบับปี พ.ศ.2560 เสียเอง ทั้งตั้งคณะไม่เป็นกลางทางการเมืองมาสรรหา ส.ว (มาตรา 269) การแจก ส.ส.ให้กับพรรคเล็กเกินกว่าจำนวน ส.ส.พึงมีของพรรคนั้นๆ (มาตรา 91) การไม่ระบุแหล่งที่มาของรายได้ที่จะนำมาใช้ดำเนินนโยบาย (มาตรา 162) ฯลฯ
และกรณีล่าสุด การอ่านคำถวายสัตย์ฯ ไม่ครบถ้วนตามที่บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญ มาตรา 161
คำถามที่น่าสนใจก็คือ แล้วเราจะมีช่องทางตรวจสอบ ‘ข้อสงสัย’ เหล่านั้น ให้กระจ่างได้อย่างไร
และคำถามต่อไป แล้วเราจะมั่นใจได้อย่างไรว่าองค์กรที่เกี่ยวข้องจะพิจารณาเรื่องราวชวนสงสัยว่ากระทำผิดรัฐธรรมนูญหรือไม่ อย่างถูกต้อง ซื่อสัตย์ เป็นธรรม และไม่เลือกปฏิบัติ