เมื่อยกคำว่า ‘ดี’ ขึ้นมาเป็นตัวชี้วัดบนเส้นระนาบนึง สันนิษฐานได้ว่าสุดปลายเส้นนึงน่าจะเป็นคำว่า ‘ดีที่สุด/ประเสริฐ/เลิศเลอ’ ขณะที่สุดปลายของอีกเส้นน่าจะเป็นคำว่า ‘ไม่ดี/เลว/ชั่วร้าย’ และถ้าเราใช้เส้นระนาบดังกล่าวในการวัดคุณค่าของคนใดคนหนึ่ง เป็นไปได้สูงว่าต้องเกิดการเปรียบเทียบในทันทีว่ามีคนที่ ‘ดีกว่า’ หรือ ‘ไม่ดีกว่า’ คนอีกกลุ่มนึง
คำถามสำคัญจึงเริ่มตรงนั้นว่า อะไรคือความดี? อะไรคือตัวชี้วัดความดี?
คำว่าคนดีกลายเป็นวาทกรรมที่ถูกนำมาใช้บ่อยครั้งในการเมืองไทย โดยเห็นได้ชัดที่สุดในการชุมนุมของกลุ่ม กปปส. (2556-2557) ซึ่งมีการใช้วาทกรรมดังกล่าวเพื่อให้ท้ายการชุมนุมของตน จนสุดท้าย นำไปสู่การรัฐประหาร 2557 และการครองอำนาจของเครือข่าย คสช. เรื่อยมาจนถึงปัจจุบัน ซึ่งนับเป็นเวลามากกว่า 8 ปีแล้ว
วาทกรรมคนดีคือประเด็นใหญ่ในงานเสวนาหนังสือเล่มใหม่ล่าสุดของ ประจักษ์ ก้องกีรติ อาจารย์ประจำคณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ในชื่อ ‘ให้คนดีปกครองบ้านเมือง: ศีลธรรม ความรุนแรง และการเมืองวัฒนธรรมขวาไทย’ ที่ถูกนักวิชาการ 4 คนร่วมกันแกะแคะออกมาว่า ที่มาที่ไปของความดีแบบ กปปส. คืออะไร มันถูกใช้เพื่อสนับสนุนการเคลื่อนไหวของ กปปส. อย่างไร และที่สำคัญ มันทิ้งมรดกตกทอดอะไรมาถึงสังคมไทยในปัจจุบันบ้าง
1.คนดีของ กปปส. คืออะไร
กลุ่ม กปปส. มักจะใช้คำว่า คนดี/ความดี อยู่เสมอตลอดการเคลื่อนไหว ซึ่งหนังสือ ‘ให้คนดีปกครองบ้านเมือง’ ชี้ว่าภายใต้ความดีนั้นมี 2 แนวคิดหลักที่สนับสนุนความเชื่อของกลุ่ม กปปส.
ประการแรก พุทธศาสนาแบบไทยที่ถูกรวมเข้ากับแนวคิดราชาชาตินิยม หรือความดีในเชิงศีลธรรมแบบไทยพุทธที่ถูกหลอมรวมเข้ากับอุดมการณ์หลักชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์ เช่น คนดีต้องนิ่งเฉยต่อจุดยืนของชาติตัวเองในความขัดแย้งรัสเซีย-ยูเครน หรือต้องเลื่อมใส ศรัทธา นอบน้อมต่อสถาบันพระมหากษัตริย์
ในขณะเดียวกัน การสร้างความหมายเช่นนี้ทำให้เกิดขั้วตรงข้ามเพราะเมื่อมี ‘คนดี’ ก็ต้องมี ‘คนเลว’ และการเกิดขึ้นของขั้วตรงข้ามเช่นนี้เปิดทางให้ฝ่ายที่ถือว่าตนมีคุณธรรมมากกว่าใช้ความรุนแรงทำลายล้างอีกฝั่งด้วยนามของความดีได้
ประการที่สอง การเมืองของความไม่เสมอภาค ใต้แนวคิดการเมืองแบบที่สร้างขั้วตรงข้าม ทำให้ต้องมีคนกลุ่มหนึ่งที่สูงส่งกว่าอีกกลุ่มในทันที (ขณะเดียวกัน ภายในกลุ่มเดียวกันก็มีลำดับชั้นทันที) ไม่ว่าในด้านวัยวุฒิ, คุณวุฒิ หรือบุญบารมี ดังนั้น ความไม่เสมอภาคจึงเกิดเป็นปกติใต้แนวคิดแบบนี้ เช่นนั้น ลักษณะการเมืองแบบนี้จึงต่อต้านแนวคิดประชาธิปไตยด้วยตัวมันเอง
ดั่งที่เห็นได้ในการปราศรัยของกลุ่ม กปปส. อาทิวาทกรรมเสียงคุณภาพของคนกรุงเทพฯ 300,000 เสียงมีค่ากว่าเสียงคนชนบท 15 ล้านเสียงที่ไร้คุณภาพ หรือการยืนยันพูดว่าหลักการ 1 คน 1 เสียงใช้กับสังคมไทยไม่ได้ และมีข้อเสนอให้สิทธิเลือกตั้งเฉพาะกลุ่มที่มีวุฒิปริญญาตรี ซึ่งแปลกประหลาดในโลกประชาธิปไตยสมัยใหม่
2. ความดีเหนือรัฐธรรมนูญและกฎหมาย
เกษียร เตชะพีระ อาจารย์ประจำคณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ได้แสดงความคิดเห็นว่า ขณะที่หนังสือของประจักษ์มองว่าการชุมนุมของกลุ่ม กปปส. “ผิดปกติ” ต่อหลักกฎหมายและการเมืองแบบเสรีประชาธิปไตยกล่าวคือ มีการใช้อาวุธสงครามในที่ชุมนุม, มีการล้มระบบเลือกตั้ง, ปิดสถานที่ราชการ กลุ่ม กปปส. กลับมองว่ารัฐบาลยิ่งลักษณ์ ชินวัตร “ผิดปกติ” เช่นกัน ในแง่หลักศีลธรรมต่อชาติบ้านเมือง
เกษียรสะท้อนว่าเรื่องนี้น่าคิด เพราะ “ความผิดปกติ” กำลังถูกมองจากคนละมุมและถูกใช้คนละความหมาย
เกษียรระบุว่า กปปส. ใช้แนวคิดแบบโลกุตรธรรมปกติ (หลักศีลธรรมเหนือโลกียวิสัย) เพื่อกดทับโลกียธรรมปกติ (หลักการเมืองและกฎหมายปกติในทางโลกย์) หรือแปลได้ว่าใช้หลักศีลธรรมนำหลักกฎหมายที่ปกครองประเทศ
ขณะเดียวกัน ภายในกลุ่ม กปปส. กลับเชื่อว่าสิ่งที่พวกเขาทำอยู่เป็นเรื่องที่ถูกควร และปกติจะทำอย่างยิ่ง (อภิปกติ – ในภาษาเกษียร) เพื่อทำให้การเมืองที่ผิดศีลธรรมภายใต้รัฐบาลยิ่งลักษณ์กลับมาสู่ศีลธรรมอันถูกต้องดีงาม
“ถ้ามองจากมุมรัฐศาสตร์ สิ่งที่ กปปส. ทำเป็นภาวะยกเว้น เป็น The State of Exception แต่ถ้ามองตามโลกุตรธรรม สิ่งที่ กปปส. ทำเป็นเรื่องปกติธรรมดาและควรทำอย่างยิ่ง” เกษียรเสริมต่อว่า “เพื่อให้โลกการเมืองเบื้องต่ำ ซึ่งหมายถึงรัฐบาลยิ่งลักษณ์และพวก ที่ผิดปกติกลับเป็นปกติธรรมอย่างที่ควรเป็น ดังนั้น มองจากโลกเบื้องบน สิ่งที่ กปปส. ทำไม่ใช่เรื่องปกติเลย แต่เป็นสิ่งที่ควรทำอย่างยิ่ง”
“แกนนำและผู้ชุมนุม กปปส. มองว่า ศีลธรรมของกลุ่มตนมีสถานะอยู่เหนือกฎหมายรัฐธรรมนูญและกติกาในระบอบประชาธิปไตย เพราะศีลธรรมของคนดีเป็นคุณค่าตัดสินความดีชั่วที่ศักดิ์สิทธิ์มากกว่ากฎหมายที่รัฐแอบอ้างมาปกป้องตัวเอง”
เกษียรยกถ้อยคำจากหนังสือของประจักษ์ขึ้นมาเพื่อขยายความคำอธิบายให้ชัดเจนยิ่งขึ้น
3. ความอันตรายของการเมืองเชิงศีลธรรม (คนดี)
นักวิชาการทั้ง 3 มองว่าการใช้กรอบศาสนามาเป็นธงขับเคลื่อนการเมืองถือเป็นเรื่องอันตราย
โดยเกษียรกล่าวว่า ศีลธรรมที่กลายเป็นธงนำขบวนการจนละเมิดกรอบกฎหมายเป็นเรื่องสุ่มเสี่ยง เพราะการใช้หลักการเช่นนี้เข้ามาในพื้นที่การเมือง ทำให้การเมืองกลายเป็นพื้นที่สุดโต่ง ขาดการประนีประนอม
“การเอาพื้นที่ศักสิทธิ์ (ศาสนา) มาวางไว้ทางโลก พื้นที่มีขาว-ดำ ดีชั่วชัดเจน มันขาดการประนีประนอม มันสุดโต่ง เด็ดขาด ดังนั้นเมื่อไหร่ที่พื้นที่ศาสนามาอยู่ในโลกการเมือง มันจะนำไปสู่แนวโน้มที่สุดโต่งรุนแรง เมื่อไหร่ที่มีปรากฎการณ์ทำนองนี้ ผมเชื่อว่าต้องระวัง” เกษียรกล่าว
เกษียรพูดถึงแนวคิดพื้นที่รับผิดชอบทางศีลธรรม ซึ่งกำหนดความถูก—ผิดที่แตกต่างของกลุ่มนั้นๆ สิ่งที่ทำได้ในพื้นที่หนึ่ง อาจไม่ควรทำในอีกพื้นที่หนึ่ง เช่น การเลี้ยงสุนัข
ในกรณีของ กปปส. ใครก็ตามที่เป็นพวกเดียวกับ กปปส. ถึงจะเป็นมือปืน กปปส. ก็ยินดีจะปฏิบัติด้วยกันอย่างมิตร เพราะถือว่ายึคศีลธรรมร่วมกัน ขณะที่ถ้าเป็นฝั่งตรงกันข้ามทำในสิ่งเดียวกัน กปปส. ก็พร้อมย่ำให้ไม่เหลือความเป็นมนุษย์ด้วยซ้ำไป
กรณีที่ยกมาข้างต้นคือ วิวัฒน์ ยอดประสิทธิ์ หรือมือปืนป็อปคอร์น การ์ดของกลุ่ม กปปส. ที่ใช้กระสุนจริงยิงปะทะกับผู้ชุมนุมอีกกลุ่ม บริเวณถนนแจ้งวัฒนะ จนทำให้ลุงอะแกว ชายชราที่ไม่เกี่ยวข้องกับการชุมนุมของทั้งสองฝั่ง ถูกยิงจนกลายเป็นอัมพาตและเสียชีวิตในเวลาต่อมา
อย่างไรก็ตาม เรื่องของลุงอะแกวกลับเงียบหายไปและไม่ได้รับการพูดถึงจากฝั่ง กปปส. ขณะที่มือปืนป็อปคอร์นได้รับคำสรรเสิญจาก สุเทพ เทือกสุบรรณ ระหว่างการปราศรัย ตลอดจนมีการสกรีนภาพและข้อความมือปืนป็อปคอร์นลงบนเสื้อยืด, กระเป๋าผ้า หรือเคสโทรศัพท์แล้ววางขายระหว่างการชุมนุมของกลุ่ม กปปส.
แปลได้ว่าตราบใดที่เป็นพวกเดียวกับ กปปส. สิ่งที่เลวร้ายเช่นการทำร้ายคนอื่นสามารถทำได้ เพราะถือเป็นทำในนามของความดี
4. มรดกความดีจาก กปปส. – สังคมไทย
เกษียรชวนคิดในประเด็นนี้ต่ออย่างน่าสนใจ โดยเขามองว่าการเคลื่อนไหวของ กปปส. ทำให้วาทกรรมความดีแบบที่กลุ่ม กปปส. สถาปนาขึ้นสร้างมรดกสำคัญ 4 ประการแก่สังคมไทย
- วาทกรรมความดีกลายเป็นหลักการหลัก ขณะที่กดทับวาทกรรมอื่น
- วาทกรรมความดีกำหนดความหมาย/ ความเชื่อ/ วาทกรรมของวาทกรรมรองอื่นๆ
- วาทกรรมความดีกำหนดค่าความปกติและไม่ปกติของสังคม
- วาทกรรมความดีแทรกแซง กำกับ เปลี่ยนความหมายของวาทกรรมรองทั้งหมด
วาทกรรมความดีเข้าไปกำหนดความหมายของวาทกรรมอื่น เช่น วาทกรรมทางจิตเวชที่ ทิวากร วิถีตน ชายที่สวมเสื้อ ‘เราหมดศรัทธาในสถาบันกษัตริย์แล้ว’ ถูกมองว่าเป็นผู้ป่วยที่มีอาการทางจิต แต่ คเณศพิศณุเทพ จักรภพมหาเดชาหรือ เค ร้อยล้านกลับยังไม่ถูกดำเนินคดีและได้รับการปล่อยตัว ทั้งที่ตบหน้า ‘ป้าเป้า’ ระหว่างการชุมนุมบริเวณสกายวอร์ค พุ่งเข้าชาร์จ ธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ แล้วตะโกนว่าตนมีระเบิดสร้างความหวาดกลัวให้คนที่มาเดินงานหนังสือ และยังไม่นับกรณีเอางูเห่าไปปล่อยกลางถนน
หรือการเข้าไปกำหนดความจริง/ เท็จของสังคม เช่น กรณีที่สื่อโซเชียลมีเดียแชร์ภาพของ วลาดิเมียร์ ปูติน ถือพระบรมฉายาลักษณ์ของ ร.9 ก่อนที่สำนักข่าวบีบีซีไทยจะตรวจสอบและยืนยันว่าภาพดังกล่าวไม่ใช่ความจริง ซึ่งเกษียระบุว่าในมุมของผู้ที่เชื่อว่าภาพนั้นเป็นความจริงคาดไว้ในใจว่า “มันน่าจะเป็นความจริง (Ought to be True)” เสียก่อนที่จะตั้งคำถามถึงความจริงและเท็จของภาพดังกล่าว
ขณะที่ทางด้านเข็มทอง ต้นสกุลรุ่งเรือง อาจารย์ประจำคณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย มองว่ามรดกความดีแบบ กปปส. ที่ทำให้ความดีไม่ได้ขึ้นอยู่กับการกระทำ แต่อิงแอบอยู่ฝากฝั่งและอุดมการณ์ทางการเมือง จนนำไปสู่ภาวะที่ฝ่ายอนุรักษ์นิยมไทยในปัจจุบันกลายเป็น “หุบเขาคนโฉด” กล่าวคือ เป็นที่ชุบและรวมตัวของบุคคล อาทิ เสี่ยโป้ – ชัชอานนท์ จันที หรือ ประสิทธิ์ เจียวก๊ก ซึ่งล้วนทำสิ่งผิดกฎหมาย แต่กลับเคยได้รับเสียงชื่นชมจากคนกลุ่มหนึ่งเพราะอ้างว่าตัวเองอยู่ฝั่งความดี
5. ผู้มีบารมีกำหนดความดี และความดีกำหนดกฎหมาย
เข็มทอง ระบุว่า เมื่อสังคมไทยเต็มไปด้วยแนวคิดที่สนับสนุนฐานคิดคนไม่เท่ากัน (อาทิสำนวนแข่งเรือแข่งพายแข่งได้ แข่งบุญแข่งวาสนาแข่งไม่ได้) ความดีจึงถูกกำหนดผ่านผู้มีบารมีสูงสุด เช่นสงครามไหนที่ทำได้ และสงครามไหนที่ทำไม่ได้ เขายกตัวอย่างพระราชนิพนธ์ ‘ธรรมาธรรมะสงคราม’ ที่พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ร.6 ประพันธ์ขึ้นในช่วงไทยเข้าสู่สงครามโลกครั้งที่ 1
“กฎหมายหายไปเลยในช่วง 6-7 เดือนที่ กปปส. อยู่เหมือนบ้านเมืองไม่มีกฎหมาย ใครจะถูกทุบตี ยิงกัน ล้มการเลือกตั้ง กฎหมายมันหายไปเลย ผมก็คิดแบบนักกฎหมายนะ ถ้าตอนนั้นกฎหมายเป็นกฎหมายบ้านเมืองคงไม่มาถึงจุดนี้” เข็มทองกล่าว
เข็มทองมองว่าจุดเปลี่ยนสำคัญเริ่มขึ้นหลังการรัฐประหาร 2549 แทบทุกอย่างในสังคมไทยกถูกยึดโยงกับเรื่องศีลธรรม โดยเฉพาะกฎหมายที่เคยอยู่บนเกณฑ์ objective (ภววิสัย) เป็นสมการง่ายๆ ที่ใช้ความจริงเป็นฐาน “ผู้ใดฆ่าผู้อื่นถึงผิด” ถูกแทรกแซงผ่านศีลธรรมซึ่งมีผู้มีบารมีกำหนดจนสมการเพี้ยนกลายเป็น “ผู้ใดฆ่าผู้อื่นถึงผิด + แต่อยู่ฝั่งไหน” หรือแปลได้ว่ากฎหมายถูกเปลี่ยนให้กลายเป็นเรื่องของฝากฝั่งทางอุดมการณ์ทางการเมือง
“มันกลายเป็นว่าเราโยนองค์ประกอบความผิดของกฎหมายออกหมด เราโยนหลักกลางๆ ที่แปลว่าทุกคนเสมอภาคเบื้องหน้ากฎหมาย ไม่ว่าจะสีอะไร จะทำอะไร ถ้าทำผิดก็ต้องถูกลงโทษเหมือนกันหมด เราโยนมันทิ้งไปหมด แล้วใช้เกณฑ์ Subjective ต้องดูก่อน ทำไปเพื่อความดีหรือเปล่า ถ้าใช่ก็ลงโทษแต่น้อย หรือทำอะไรก็อาจได้ประกันก่อน มันมีข้อยกเว้นเยอะมาก” เข็มทองกล่าวต่อว่า
พอวาทกรรมคนดีมันแทรกเข้าไปในกฎหมาย พอจะตัดสินอะไร มันต้องไปกางก่อนว่าอยู่ในยูนิเวิร์สเดียวกับเราไหม ถ้าใช้กฎหมายก็เข้าไปคุ้มครองหรือโอบอุ้มคนดีเหล่านั้น มันก็ทำให้เกิดคำว่าเป็นคนดีจะทำอะไรก็ได้ เพราะความดีไม่ใช่การกระทำ แต่มันอยู่ที่ว่าคุณเชื่อถูกหรือเปล่า ถ้าคุณเชื่อถูก คุณอยากทำอะไรทำ
6. การเมืองคนดีที่นำไปสู่สุญญากาศการตรวจสอบ
ประจักษ์ระบุว่าการเมืองเชิงศีลธรรมขัดแย้งกับการเมืองสมัยใหม่ที่ตั้งอยู่บนการตรวจสอบอำนาจ เขายกตัวอย่างกลุ่มผู้นำนาซีที่เคยมีการบันทึกประวัติไว้ว่ามีอารยธรรมสูงสง่า ชอบฟังเพลงคลาสิก แต่กลับสามารถออกนโยบายรมแก๊สฆ่าคนยิวได้มากถึง 6 ล้านคน
“ดังนั้น ไม่เกี่ยวกับเรื่องศีลธรรมส่วนตัว แต่ที่สนใจคือเมื่อมีอำนาจแล้วต้องถูกตรวจสอบและกำกับได้” ประจักษ์กล่าว
ประจักษ์กล่าวว่าในสภาพการเมืองปัจจุบัน ตัวเขาเชื่อว่ากลุ่มที่เคยร่วมการชุมนุม กปปส. น่าจะรู้สึกอิหลักอิเหลื่อ เพราะการล้มประชาธิปไตยเพื่อเปิดทางให้เผด็จการเข้ามามีอำนาจกลับยิ่งทำให้การตรวจสอบเป็นไปได้ยากยิ่งขึ้น
และประเด็นที่ กปปส. เคยใช้เพื่อสร้างความชอบธรรมไม่ว่าเรื่องการคอรัปชั่น หรือเผด็จการรัฐสภา ในปัจจุบันกลับยิ่งเห็นได้ชัดขึ้น เพราะเผด็จการไทยไม่เคยปฏิเสธกลุ่มทุนผูกขาดอยู่แล้ว หรือภาพของเผด็จการรัฐสภาที่เด่นชัดขึ้นของ 250 ส.ว. แต่งตั้งในปัจจุบัน
“กลุ่มคนที่เรียกตัวเองว่าอนุรักษ์นิยม เป็นคนดี มีศีลธรรมอาจจะไม่ชอบระบอบในตอนนี้ แต่คุณก็รู้ว่ามันมีเสรีภาพให้คุณน้อยเช่นกันในการวิพากษ์วิจารณ์คัดค้าน หรือเดินขบวนออกไปสร้างความเคลื่อนไหว เพราะจะเจอกับการปราบปรามเช่นกัน”
7. นิยามความดียังเปลี่ยนแปลงได้
”พื้นที่สังคมซับซ้อนและมีความหมายที่ถูกกักเก็บไว้เสมอ ที่ซุกเก็บเหล่านั้นบางที่อาจถูกทำลายไป และที่ใหม่ก็ถูกสร้างขึ้นมา เพียงแต่เราจะเอื้อมถึงทรัพยากรทางวัฒนธรรมแห่งการตีความหมายทางเลือกนี้ได้ทันไหม และตีความหมายมันอย่างไร” เกษียรกล่าวไว้ในช่วงท้ายของการเสวนา
เขายกกรณีที่เขาและคนรุ่นเดือนตุลาฯ (เกษียรอยู่ในยุค 6 ตุลาคม 2519) ได้นัดพบปะกันเพื่อถามไถ่สารทุกข์สุกดิบและถกเถียงความเป็นไปของบ้านเมือง โดยในงานวันนั้นได้มีการเชิญ วรเจตน์ ภาคีรัตน์ อาจารย์ประจำคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ที่เคยผลักดันให้แก้ไขกฎหมาย ม.112 จนภายหลังรัฐประหารของ คสช. เขาถูกคุกคามและต้องลี้ภัยไปอยู่ต่างประเทศชั่วคราวขึ้นมาพูด หลังจากวรเจตน์พูดจบ เกษียรได้เป็นตัวแทนกล่าวขอบคุณวรเจตน์ เกษียรระบุว่าเขานึกอย่างอื่นไม่ออก ยกเว้นคำว่า “อาจารย์วรเจตน์เป็นคนดี ไม่มีใครสามารถผูกขาดความหมายของคนดีและความดีได้เพียงผู้เดียว”
เกษียรขยายความต่อว่า ถึงแม้ในปัจจุบันความดีกำลังถูกผูกขาดโดยคนบางกลุ่ม แต่ยังมีคนอีกกลุ่มเหมือนกันที่อยู่ในกำลังพยายามช่วงชิงความหมายนี้กลับคืนมา และต้องให้เวลาแก่พวกเขาสักหน่อย เพื่อให้ความหมายของคำว่าความดีหรือเรื่องเล่าอื่น เปลี่ยนแปลง และสร้างตัวอย่างเป็นระบบ
“ในจังหวะที่เรื่องเล่าแม่บทเดิมไม่ตอบโจทย์สมัยใหม่ มันไม่ใช่ว่าจะมีเรื่องเล่าชุดใหม่ขึ้นมาได้ทันที มันต้องใช้เวลาสะสม บางทีมันเป็นแค่ความรู้สึก บางทีมันเป็นแค่เสียงบ่น บางทีมันเป็นแค่การแสดงออกที่แปลกๆ เช่น ใส่ชุดไดโนเสาร์ออกมาเต้น แต่ว่าจังหวะเต้นของหัวใจที่ไม่ยอมสยบให้แก่เรื่องเล่าแม่บทเก่าๆ ให้เวลากับมัน โครงสร้างความรู้สึกจะค่อยๆ หล่อหลอมตัวเองอย่างเป็นระบบมากขึ้น รอแค่คนที่มาจัดให้มันเป็นข้อคิดอย่างเป็นระบบ เป็นแนวคิด วาทกรรม ข้อเสนอที่เป็นระบบ” เกษียรกล่าว
“ผมคิดว่าเราต้องเยือกเย็น เราต้องให้โอกาสกับความคลุมเครือและความไม่เป็นระบบเพื่อที่จะสร้างเรื่องเล่าชุดใหม่ขึ้นในสังคม และถ้าเราทำได้ก็ช่วยทำให้มันเป็นระบบระเบียบยิ่งขึ้น”
8. สลิ่มกลับใจ
หนึ่งในผู้ร่วมเข้าฟังเสวนาได้ตั้งคำถามต่อเกษียรถึง ปรากฎการณ์ “สลิ่มกลับใจ” ว่าส่งผลอย่างไรต่อนิยาม “ความดี/คนดี” หรือไม่
เกษียร ตอบว่า “ผมคิดว่าบุคคลเปลี่ยนความคิดได้ จะดีหรือไม่ดีก็ได้ ผมไม่มีปัญหากับบุคคลที่เปลี่ยนความคิด แต่ผมมีปัญหากับบุคคลที่ยึดติดกับอำนาจแล้วไม่ยอมเปลี่ยน แล้วยังใช้อำนาจนั้นทำร้ายคนอื่น
“เวลาคุณทำร้ายคนด้วยอำนาจ โดยเฉพาะใช้ความรุนแรงในการทำร้ายเขาเนี่ย คำขอโทษคืนความเป็นคนให้คนที่คุณทำลายลงไปไม่ได้”
“และผมไม่แน่ใจว่าคำขอโทษ มันจะคืนความเป็นคืนความเป็นคนให้ตัวคุณเองที่ใช้ทำร้ายคนอื่นได้หรือเปล่า” เกษียรทิ้งท้าย
ฟังเสวนา “ให้คนดีปกครองบ้านเมือง : ศีลธรรม ความรุนแรง และการเมืองวัฒนธรรมขวาไทย” ได้ที่: https://www.facebook.com/DJC.Center/videos/3480293532204579/