ในบรรดา ‘ว่าที่ ส.ว.’ ชุด คสช.แต่งตั้งมากับมือ ชื่อของบุคคลที่ถูกสปอตไลต์สาดส่องที่สุด ก็คือ พล.อ.ปรีชา จันทร์โอชา น้องชายของนายกรัฐมนตรีคนปัจจุบัน และอยากเป็นนายกฯ คนต่อไป
The MATTER ขอไปรู้จักว่าเขาเป็นใคร ทำไมใครๆ ต่างสนใจชายวัย 62 ปีคนนี้
พล.อ.ปรีชา (ชื่อเล่น: ติ๊ก) เป็นน้องคนรองในบ้าน 4 ป. ของตระกูลจันทร์โอชา ประยุทธ์ – ปรีชา – ประคัลภ์ – ประกายเพชร ที่เกิดจากคุณพ่อ พ.อ.ประพัฒน์และคุณแม่ เข็มเพชร
เขาเกิดเมื่อวันที่ 8 ก.ค. ปี 2499 แต่งงานกับผ่องพรรณ มีลูก 2 คน คือ ปฐมพลกับปฏิพัทธ์ ซึ่งกำลังไปได้สวยในอาชีพผู้รับเหมาก่อสร้าง ที่รับงานจำนวนมากจากหน่วยทหาร โดยเฉพาะในพื้นที่ภาคเหนือ
พล.อ.ปรีชารับราชการทหารมาตลอดชีวิต และเกษียณอายุราชการในตำแหน่งปลัดกระทรวงกลาโหม เมื่อปี 2559 แต่ 2 ปีก่อนหน้านี้ เขาได้รับแต่งตั้งจากพี่ชายให้เป็นสมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ หรือ สนช.
พล.อ.ปรีชาเคยเลือกพี่ชายเป็นนายกฯ มาแล้วครั้งหนึ่ง เมื่อปี 2557 และกำลังจะได้เลือกพี่ชายเป็นนายกฯ อีกครั้งในปี 2562 หากได้เป็น ส.ว.แต่งตั้งจริงๆ
พี่เลือกน้อง น้องเลือกพี่ พี่เลือกน้อง และน้องกำลังจะเลือกพี่อีกครั้ง
เป็นความสัมพันธ์ระหว่างพี่น้องที่ประชาชนได้แต่มองตาปริบๆ – ด้วยความชื่นชม?

พล.อ.ปรีชา จันทร์โอชา ถือรูปตัวเองกับภรรยา ผ่องพรรณ
ตลอดการทำงานในฐานะสมาชิก สนช. ซึ่งมีค่าตอบแทนจากภาษีประชาชน เป็นเงินประตำแหน่ง 71,230 บาท และเงินเพิ่มอีก 42,330 บาท รวม 113,560 บาท เกือบ 5 ปีที่ผ่านมา พล.อ.ปรีชาถูกวิพากษ์วิจารณ์เรื่องการไม่เข้าร่วมประชุมหรือร่วมลงมติร่างกฎหมายสำคัญๆ อยู่บ่อยครั้ง
ทั้งที่ การออกกฎหมายเป็นหน้าที่สำคัญของสมาชิก สนช.
iLaw เคยไปนั่งนับสถิติการลงมติของ พล.อ.ปรีชา ระหว่างเดือน ม.ค. – มี.ค.2559 พบว่าจากการลงมติทั้งหมด 250 ครั้ง เขาได้ร่วมลงมติเพียง 5 ครั้งเท่านั้น (สนช.ไม่เปิดเผยสถิติการลงมติของสมาชิกรายคน อ้างว่าเป็น ‘ข้อมูลส่วนบุคคล’ และเจ้าตัวไม่ได้อนุญาตให้เปิดเผยไว้ก่อนหน้า)
นำไปสู่การตรวจสอบภายในกันเองของ สนช. เพราะตามข้อบังคับการประชุมขณะนั้น สมาชิกต้องร่วมลงมติไม่น้อยกว่า 1/3 ของการลงมติทั้งหมด ไม่เช่นนั้นจะสิ้นสมาชิกภาพ เรียกง่ายๆ คือ ต้องพ้นจากตำแหน่ง
แล้วผลการตรวจสอบก็ออกมาตรงตามที่ใครๆ คาดไว้ล่วงหน้า คือ พล.อ.ปรีชาไม่สิ้นสภาพการเป็นสมาชิก สนช. เพราะยื่นใบลาไม่มาลงมติอย่างถูกต้อง และประธาน สนช. พรเพชร วิชิตชลชัย ก็อนุมัติ
ผู้เกี่ยวข้องใน สนช. บอกว่า ใครอยากได้ผลสอบเรื่อง พล.อ.ปรีชา ให้ยื่นคำร้องขอเข้ามา แต่พอ The MATTER ใช้สิทธิตาม พ.ร.บ.ข้อมุลข่าวสารของราชการ พ.ศ.2540 ขอไป กลับได้รับการปฏิเสธ อ้างว่าการเปิดเผยผลสอบดังกล่าว ‘จะทำให้กฎหมายเสื่อมประสิทธิภาพ’ !

ข้อบังคับการประชุมสภานิติบัญญัติแห่งชาติ ปี 2557
สำนักงานเลขาธิการ สนช. ยังเปิดเผยผลการลงมติของ พล.อ.ปรีชาตลอดทั้งปี 2559 พบว่าได้ร่วมลงมติ 428 ครั้ง จากทั้งหมด 1,264 ครั้ง เกินเกณฑ์ 1/3 อยู่เล็กน้อย
หลายคนให้เหตุผลว่า ขณะนั้น พล.อ.ปรีชาต้องรับราชการในกองทัพไปด้วย ทั้งแม่ทัพภาคที่ 3 (ปี 2556-2557) ผู้ช่วยผู้บัญชาการทหารบก (ปี 2557-2558) และปลัดกระทรวงกลาโหม (ปี 2558-2559)
แต่คำถามเรื่องการสวมหมวกหลายใบ ของทหาร ‘บิ๊กๆ’ ทั้งหลาย ในยุค คสช.ก็มีมาตลอด บางคนเป็น 2 ตำแหน่ง 3 ตำแหน่ง ไปจนถึง 4 ตำแหน่งสำคัญในเวลาเดียวกัน ทำให้เกิดข้อสงสัยว่าจะทำงานได้เต็มที่ไหม คนดีมีความสามารถมีอยู่เพียงเท่านี้เองจริงๆ หรือ
หลังเกิดการตรวจสอบกรณีเข้าประชุมของ พล.อ.ปรีชา และสมาชิก สนช.อื่นอีกจำนวนหนึ่ง
สนช.ก็มีการแก้ไขข้อบังคับการประชุม โดยตัดข้อกำหนดที่ว่าจะต้องร่วมลงมติอย่างน้อย 1/3 ของจำนวนทั้งหมดภายใน 90 วัน ไม่เช่นนั้นอาจสิ้นสมาชิกภาพออกไป โดยอ้างว่าเพราะรัฐธรรมนูญฉบับปี 2560 ไม่ได้กำหนดบังคับเอาไว้
นี่คือผลงานของ พล.อ.ปรีชา ว่าที่ ส.ว.แต่งตั้ง สมัยที่เป็นสมาชิก สนช.
และเป็นผลงานของ สนช. สภาที่จะมีสมาชิกหลายๆ คนเข้ามาเป็น ส.ว.แต่งตั้ง เช่นเดียวกับ พล.อ.ปรีชา
– ที่มาภาพหน้าปก: matichon