จู่ๆ แดดเปรี้ยงก็แปรเปลี่ยนเป็นเมฆฝนห่มคลุม อ.ภูเขียว จ.ชัยภูมิ หยดน้ำหล่นกระทบหลังคาสังกะสีอยู่ครู่หนึ่ง ก่อนที่แสงจ้าจะกลับคืนมาทันควันจนตาพร่า สถานการณ์ที่เปลี่ยนไปแปลงมาจนตั้งตัวแทบไม่ทัน ชวนให้คิดถึงชะตากรรมของใครหลายคน ในช่วง 5 ปีหลัง
บนที่ดินขนาด 2 งาน 85 ตารางวา เบื้องหลังรั้วสีเขียวสด และต้นไม้น้อยใหญ่ ชายหญิงคู่หนึ่งพร้อมด้วยสุนัข 2 ตัว เจ้าอุ้ยอ้ายและผัดไท ต่างเฝ้ารอวันที่ครอบครัวของพวกเขาจะได้กลับมาพร้อมหน้ากันอีกครั้ง – หลังลูกชายได้ออกมาจากสถานที่คุมขัง
“ถ้าเขาออกมา ก็คิดไว้ว่าจะให้พักผ่อนก่อน แล้วค่อยดูว่าจะให้ทำงานเลยหรือไปเรียนต่อดี” คือแผนอนาคตที่ผู้เป็นแม่วางไว้คร่าวๆ
ในวันที่เราไปเยี่ยมเยียน บนไวท์บอร์ดที่ผู้เป็นพ่อใช้ลงตารางนัดหมายสำคัญ ยังปรากฎข้อความ ‘19 มิถุนายน 2562 ..พ้นโทษ’ แต่หลังเรากลับมาได้ไม่กี่วัน ก็ปรากฎข่าวใหญ่ เมื่อมี พ.ร.ฎ.พระราชทานอภัยโทษถูกประกาศลงมาก่อนงานสำคัญของประเทศ ทำให้กำหนดการพ้นโทษถูกร่นขึ้นมาเป็นวันที่ 10 พฤษภาคม 2562 เร็วกว่าเดิม 40 วัน
เป็นวันที่ จตุภัทร์ บุญภัทรรักษา หรือ ‘ไผ่ ดาวดิน’ จะได้อิสรภาพกลับคืนมาเป็นครั้งแรกในรอบ 2 ปีครึ่ง
1.
ย้อนกลับไปในปี 2534 เด็กชายตัวน้อยๆ ผิวเข้ม ถือกำเนิดขึ้นมาในครอบครัวที่วิบูลย์ ทนายความหนุ่มจากกรุงเทพฯ มาปักหลักสร้างครอบครัวกับพริ้ม หญิงสาวชาวขอนแก่น ในภาคอีสาน
ชื่อ ‘ไผ่’ มาจากความชื่นชอบในพืชพื้นบ้านสารพัดประโยชน์ และเป็นสัญลักษณ์แทนบ้านเกิดของมารดา อ.บ้านไผ่ จ.ขอนแก่น – ก่อนที่ในอีก 7 ปีถัดมา ครอบครัวนี้จะได้ลูกคนที่สองเป็นผู้หญิงชื่อ ‘พิณ’ ตามชื่อเครื่องดนตรีท้องถิ่น
สมัยเล็กๆ ด.ช.ไผ่ เป็นคนสนุกสนาน ติดเพื่อน แถมยังมีความสามารถในการเล่นเครื่องดนตรีพื้นบ้าน ทั้งแคน ซอ พิณ ฯลฯ จนตั้งวงของตัวเอง ชื่อ ‘ไผ่ พิณ แคน’ ขึ้นมา โดยเขาทำหน้าที่หัวหน้าวง ส่วนน้องสาวก็จะคอยเต้นรำอยู่ใกล้ๆ
แม้ผู้เป็นพ่อ ซึ่งเป็นทนายความด้านสิทธิมนุษยชน จะเคยพาเขาไปร่วมกิจกรรมทางการเมืองอยู่บ่อยๆ เช่น การให้ความรู้ด้านกฎหมายกับชาวบ้าน หรือร่วมทำกิจกรรมธงเขียวให้รัฐธรรมนูญมาจากประชาชน เมื่อปี 2540 แต่ความสนใจของไผ่ในวัยเด็กจนถึงวัยรุ่น ก็ยังอยู่ห่างจากกิจกรรมทางสังคมมากมายนัก ออกจะหนักไปตามติดเที่ยวและติดเพื่อนตามวัย จนแม่ต้องคอยบ่นอยู่บ่อยๆ ทุกครั้งที่เขากลับบ้านดึก โดยอ้างว่าไปเลี้ยงวันเกิดเพื่อน
พริ้ม บุญภัทรรักษา แม่ของไผ่ เล่าว่า แม้แต่ตอนเข้าเรียนคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น ในปีแรกๆ ทุกครั้งที่โทรไปหาลูก มักจะได้รับคำตอบว่า อยู่ที่ห้างสรรพสินค้า (เราแซวว่า ลูกของแม่เกือบจะมีฉายาว่า ไผ่ เซ็นทรัล แทนไผ่ ดาวดิน แล้ว / พริ้มหัวเราะ)
กระทั่งขึ้นปีที่ 2 และมีคนรู้ว่า เขาเป็นลูกของวิบูลย์ บุญภัทรรักษา หรือทนายอู๊ด จึงถูกชักชวนให้เข้าร่วมกลุ่มเผยแพร่กฎหมายสิทธิมนุษยชนเพื่อสังคมของมหาวิทยาลัยขอนแก่น หรือ ‘กลุ่มดาวดิน’ ลงพื้นที่ทำกิจกรรม รับรู้ความเดือดร้อนของชาวบ้าน สำนึกการต่อสู้เพื่อส่วนรวมจึงตื่นขึ้น พัฒนา และหล่อหลอม จนกลายเป็นตัวตนของชายที่ชื่อไผ่ อย่างทุกวันนี้
2.
ในห้วงเวลานี้ ที่ใครๆ ต่างล้อเลียนหรือวิพากษ์วิจารณ์หัวหน้า คสช. ได้อย่างสนุกปาก เชื่อว่าหลายคนคงนึกถึงบรรยากาศหลังรัฐประหารปี 2557 ไม่ออก หรือนึกได้เพียงลางๆ ว่าตอนนั้นการวิพากษ์วิจารณ์ผู้นำประเทศ แทบจะเป็นเรื่อง ‘ต้องห้าม’ เพราะมีความเสี่ยงที่จะถูกพาเข้าค่ายทหาร และไม่รู้ว่าชะตากรรมหลังจากนั้นจะเป็นเช่นไร
มุกตลกขำปนขื่นทำนองว่า “ระวังมีคนมาเยี่ยม” “ไม่กลัวโดนปรับทัศนคติเหรอ” “อยากกินอะไรในค่ายทหาร” ถูกใช้เป็นการทั่วไป
แต่ไผ่และเพื่อนๆ กลุ่มดาวดิน กลับออกไปชู 3 นิ้ว ต่อหน้า พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้า คสช. ระหว่างลงพื้นที่ จ.ขอนแก่น เพื่อแสดงการไม่ยอมรับอำนาจเผด็จการ หลังการยึดอำนาจผ่านมาเพียงครึ่งปีเท่านั้น
เหตุการณ์ดังกล่าว ไม่เพียงทำให้ชื่อ ‘ไผ่ ดาวดิน’ ปรากฎอยู่ตามหน้าสื่อระดับชาติ ยังทำให้เขาถูกฝ่ายความมั่นคงจับตาอย่างเข้มข้น
วิบูลย์ บุญภัทรรักษา เล่าว่า หลังจากไผ่เข้าร่วมกลุ่มดาวดิน ก็ไปเคลื่อนไหวทำกิจกรรมกับชาวบ้าน และมีเหตุให้เผชิญหน้ากับเจ้าหน้าที่ของรัฐอยู่บ่อยครั้ง ครั้งแรกในปี 2554 หลังจากเขากับเพื่อนๆ ไปคัดค้านการวางสายส่งเสาไฟฟ้าแรงสูงใน อ.กุมภวาปี จ.อุดรธานี และที่ทำให้เป็นข่าวระดับชาติ คือในปี 2556 ที่เคลื่อนไหวคัดค้านทำประทานบัตรเหมืองทองใน อ.วังสะพุง จ.เลย ที่เรายังสามารถค้นหาภาพของเขากับเพื่อนกลุ่มดาวดินในวันนั้นได้ง่ายๆ ทางกูเกิ้ล
“การไปชู 3 นิ้วต่อหน้าประยุทธ์ ทำให้นายทหารบางคนรู้สึกเสียหน้ามาก จนเฝ้าจับตาไผ่อยู่ตลอด” พ่อของไผ่กล่าว
3.
นับแต่ คสช.เข้ามา กลุ่มดาวดินก็ประกาศเคลื่อนไหวทำกิจกรรมในประเด็นที่กว้างขวางกว่าแค่เรื่องสิ่งแวดล้อมหรือสิทธิของชาวบ้าน แต่ยังรวมถึงเรื่องทางการเมือง เพราะมองสิทธิเสรีภาพจะเกิดขึ้นไม่ได้ภายใต้อำนาจเผด็จการ
โทษของการออกไปชู 3 นิ้วต่อหน้า พล.อ.ประยุทธ์ของไผ่ จบลงเพียงถูกนำไปปรับทัศนคติในค่ายทหาร ก่อนที่จะถูกแจ้งความเป็นคดีจริงๆ ในภายหลัง เมื่อไปชูป้ายคัดค้านรัฐประหาร แล้วคดีที่ 2, 3, 4 ก็ตามมา จากการไปร่วมชุมนุม 14 นักศึกษาคัดค้านรัฐประหาร, แจกใบปลิวคัดค้านร่างรัฐธรรมนูญฉบับประชามติ, ขึ้นเวทีพูดเพื่อเสรีภาพ แต่คดีที่เป็นจุดเปลี่ยนจริงๆ คือ คดีที่ 5 เมื่อเขาแชร์บทความพระราชประวัติรัชกาลที่ 10 จากเว็บไซต์บีบีซีไทย ลงในเฟซบุ๊กส่วนตัว Pai Jatupat
คดีท้ายสุด ทำให้พ่อและแม่ของไผ่มองว่า ลูกๆ พวกตนถูกกลั่นแกล้งจากฝ่ายความมั่นคง เพราะบทความนั้นมีคนแชร์ถึง 2.8 พันคน แต่มีคนถูกดำเนินคดีเพียงคนเดียว – ก็คือไผ่
ขณะที่กระบวนการยุติธรรมในคดีนี้ตั้งแต่ตอนจับกุมไปจนถึงการพิจารณาคดีก็ถูกตั้งคำถามจากหลายๆ ฝ่าย ทั้งการถอนประกันตัวด้วยเหตุผล ‘เย้ยหยันอำนาจรัฐ’ ซึ่งไม่มีในกฎหมาย หรือกระบวนการพิจารณาคดีเป็นการลับ และห้ามสื่อมวลชนรายงานข่าว ฯลฯ กระทั่งครั้งหนึ่ง แม่ของไผ่เคยพยายามใช้หัวโขกกำแพงห้องพิจารณาคดี หลังรู้สึกสิ้นหวังต่อกระบวนการยุติธรรม
“ตลอดช่วงเวลาพิจารณาคดีของไผ่ อารมณ์ของเราก็ขึ้นๆ ลงๆ บางครั้งรู้สึกมีหวัง แต่ต่อมาก็ผิดหวัง วันที่แม่เอาหัวโขกกำแพง เพราะวันนั้นไผ่ลุกขึ้นอภิปรายในห้องพิจารณาคดีด้วยตัวเอง มีการยกตัวอย่างปฎิญญาสากลว่าด้วยหลักสิทธิมนุษยชนที่คุ้มครองผู้ต้องขัง แต่ดูเหมือนจะไม่มีใครฟังลูกของเราเลย แม่ก็เลยเอาหัวโขกกำแพงเพื่อประท้วง” พริ้มเล่าถึงเหตุการณ์วันนั้น
กระทั่งในวันที่ไผ่ตัดสินใจรับสารภาพ แทนที่จะสู้คดีต่อ วิบูลย์ก็เล่าให้เราฟังว่า เมื่อย้อนกลับไปคิดถึงวันนี้ เขารู้สึกเหมือนถูกหักหลัง เพราะโทษจากคดีแชร์ข่าวบีบีซีไทย ในความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 ซึ่งมีอัตราโทษขั้นต่ำอยู่ที่จำคุก 3 ปี หากรับสารภาพจะได้ลดโทษลงกึ่งหนึ่ง เหลือ 1 ปี 6 เดือน ถ้าคิดจากเวลาที่ไผ่อยู่ในคุกมาเกือบปี ก็เหลือแค่ไม่กี่เดือน แต่ทั้งๆ ที่มีการพูดคุยกับผู้เกี่ยวข้องแล้ว ศาลกลับตัดสินให้จำคุกไผ่ 5 ปี ลดโทษกึ่งหนึ่ง เหลือ 2 ปี 6 เดือน
“ไผ่นั่งร้องไห้อยู่นานมาก ไม่เคยเห็นเขาร้องไห้หนักขนาดนี้มาก่อนเลย เขาอยากสู้คดีต่อ เพราะรู้ว่าไม่ผิด แต่ก็เป็นพ่อกับแม่ที่ไปบอกเขาว่าให้รับสารภาพ เพราะได้คุยกันแล้ว และคิดว่าอีกไม่นานก็จะได้ออกมา” พริ้มย้อนถึงเหตุการณ์วันนั้น
4.
บนที่ดินของครอบครัวบุญภัทรรักษา จะมีสิ่งปลูกสร้าง 2 หลัง หลังแรกเป็นห้องนอนและห้องทำงานของวิบูลย์ หลังที่สองเป็นห้องนอนของพริ้มกับลูกๆ ทั้ง 2 คน โดยห้องนอนที่ทาสีชมพู-เป็นของลูกสาว และห้องนอนที่สีฟ้า-เป็นของลูกชาย
พริ้มพาเราเดินไปดูห้องนอนของไผ่ ที่ยังเป็นเพียงห้องโล่งๆ มีเพียงเตียง 1 ตัว และกระเป๋าอีกใบหนึ่ง “ห้องนี้ต่อเติมขึ้นมาตอนที่ไผ่ยังอยู่ในเรือนจำ ไผ่บอกว่า แม่ยังไม่ต้องทำอะไร เดี๋ยวเขาออกมา จะมาจัดการเอง”
ภาพอนาคตของลูกคนโตถูกคนเป็นพ่อเป็นแม่ร่างไว้อย่างคร่าวๆ ทั้งให้ไปสอบตั๋วทนายหรือให้ไปเรียนต่อ แม้ทั้งคู่จะบอกว่า “ขึ้นอยู่กับตัวไผ่เองว่าจะตัดสินใจอย่างไร”
ก่อนหน้านี้ ทั้งไผ่และน้องสาว ที่ปัจจุบันเรียนคณะนิติศาสตร์ ม.รามคำแหง มีความฝันอยากเป็นผู้พิพากษา แต่หลังจากมีคดีแชร์ข่าวบีบีซีไทยเกิดขึ้น ทั้งพ่อและแม่ก็ไม่แน่ใจว่า ฝันดังกล่าวจะยังคงอยู่ในตัวลูกๆ หรือไม่
“แม่กับไผ่ทะเลาะกันบ่อยมาก เพราะแม่จะคอยเตือนอยู่บ่อยๆ ว่าไผ่ไม่จำเป็นต้องออกนำหน้า แต่เขาก็บอกว่า ไผ่อยู่ที่เดิม เพียงแต่เพื่อนถอยไปข้างหลัง เลยทำให้ไผ่ดูเหมือนนำอยู่ข้างหน้า และถ้าไผ่ไม่ทำ แล้วใครจะทำ” พริ้มเล่า
ระหว่างคุยกับเรา พริ้มได้หยิบอัลบั้มรูปครอบครัวเก่าๆ มานั่งดูย้อนรำลึกอดีต ทั้งวงดนตรีของไผ่ที่ตั้งวงเล่นอยู่หน้าบ้าน การได้ใบประกาศเกียรติคุณจากโรงเรียน การทำให้แม่ได้รับรางวัลดีเด่นถึง 2 ครั้ง ไปจนถึงสมัยที่ครอบครัวได้ไปเที่ยวในต่างประเทศด้วยกัน ครั้งแรกและครั้งเดียว “สำหรับแม่ ไผ่เป็นเด็กดีเสมอ”
บางช่วงบางตอน แม้พริ้มจะแอบเปรยถึงค่าใช้จ่ายในครอบครัว แต่เธอก็บอกว่า ยังมีรายได้จากการทำคดีอยู่บ้าง ที่สำคัญเธอไม่อยากให้ลูกรู้สึกเป็นห่วง และตลอดเวลาที่ไผ่ยังถูกคุมขัง เธอจะต้องไปเยี่ยมลูกสัปดาห์ละ 1-2 ครั้ง ไม่ได้ขาด
“ไผ่ถูกโจมตีมาตลอดว่าเป็นคนที่ไม่หวังดีต่อประเทศชาติ ไม่ว่าจะทำหรือไม่ได้ทำอะไร แต่ถึงอย่างนั้นผมก็ยังภูมิใจในตัวลูกชายคนนี้” วิบูลย์ยืนยัน
5.
ถึงวันนี้ คดีส่วนใหญ่ของไผ่จะถูกศาลยกฟ้องหรือยกคำร้องไปเกือบหมดแล้ว หลังจากหัวหน้า คสช. ใช้มาตรา 44 ยกเลิกคำสั่งห้ามชุมนุมทางการเมืองเกินห้าคนก่อนการเลือกตั้ง ในปี 2562 เหลืออยู่เพียงคดี 14 นักศึกษาทำกิจกรรมบริเวณอนุสาวรีย์ประชาธิปไตย เมื่อปี 2558 แต่คดีนั้นยังอยู่ในชั้นพนักงานสอบสวน อีกไกลกว่าจะมีผลต่อชะตากรรมนอกเรือนจำของไผ่
เหตุผลที่เราเดินทางไปพูดคุยกับครอบครัวบุญภัทรรักษาถึง อ.ภูเขียว จ.ชัยภูมิ และหยิบแง่มุมในชีวิตของไผ่มาถ่ายทอด เพราะ 1.) เขาเป็นคนหนุ่มสาวที่ทำกิจกรรมเรียกร้องสิทธิเสรีภาพที่โดดเด่นที่สุดคนหนึ่งในยุคหลัง และ 2.) นี่คือผู้ถูกกระทำจากอำนาจรัฐ และจากกระบวนการยุติธรรม ที่ถูกตั้งคำถามเรื่องความยุติธรรม
ในเอกสาร ‘นิติรัฐที่พังทลาย: รายงาน 4 ปี ภายใต้ คสช. สิทธิมนุษยชน และผลพวงรัฐประหารต่อสังคมไทย’ ของศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน เผยแพร่ช่วงกลางปี 2561 ระบุว่า คสช.ใช้กระบวนการยุติธรรมมาจัดการกับผู้แสดงความคิดเห็นทางการเมืองในลักษณะต่างๆ เช่น การนำพลเรือนมาดำเนินคดีในศาลทหาร 1,886 คดี กับพลเรือนกว่า 2,408 ราย และใช้ศาลยุติธรรมดำเนินคดีสำคัญ เช่น คดี 112 คดียุยงปลุกปั่น ขัดคำสั่งหัวหน้า คสช. พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ ฯลฯ ที่หลายคดี มีทหารเป็นคู่ความหรือเป็นผู้ฟ้องโดยตรง
เกือบ 5 ปีแล้ว ที่ประเทศไทยอยู่ภายใต้ ‘ความสงบ’ ที่มาจากการใช้อำนาจเข้าจัดการหรือกดทับการแสดงความคิดเห็นที่แตกต่างจากภาครัฐ
นอกจาก ไผ่ ดาวดิน แล้ว ยังมีผู้ต้องหาอื่นๆ ที่ถูกพาตัวเข้าค่ายทหาร ถูกฟ้องร้อง ถูกคุมขัง หลายคนต้องแยกจากครอบครัวเป็นเวลายาวนาน สูญสิ้นอิสรภาพ จากการกระทำที่ไม่ใช่อาชญากรรม ไม่ได้สร้างเสียหายต่อชีวิตและทรัพย์สินของใคร แต่เพียงเพราะเห็นต่างจากผู้มีอำนาจ
เราขอปิดท้ายบทความนี้ ด้วยคำพูดที่แม่ไผ่เคยเตือนลูกชายอยู่บ่อยครั้ง ว่าให้เคลื่อนไหวด้วยความระมัดระวัง “เพราะเผด็จการสมัยก่อน เขาใช้ปืน แต่เผด็จการสมัยนี้ เขาใช้กฎหมาย”