‘แดนมหัศจรรย์’ แห่งนี้ ไม่มีเด็กหญิงที่ชื่ออลิซ ไม่มีนักทำหมวก ไม่มีสัตว์พูดได้ ไม่มีปาร์ตี้น้ำชา แต่แทนที่ด้วยความหรรษาจากสนามมวย-ม้า-กอล์ฟ-โรงแรม ที่มาพร้อมกับผลประโยชน์มหาศาล ซึ่งเรื่องราวภายในไม่ตรงจากโพรงกระต่ายที่คนภายนอกยากจะรับรู้
กาลครั้งหนึ่งนานมาแล้ว
สนามม้า สนามมวย สนามกอล์ฟ และโรงแรม ในที่ดินราชพัสดุของกองทัพบก ถูกตั้งคำถามมาอย่างยาวนานว่า ผลประโยชน์มหาศาลที่ได้จากธุรกิจเหล่านี้มีตัวเลขเท่าไร? และไปเข้ากระเป๋าใครบ้าง?
กระทั่งเกิดโศกนาฎกรรมกราดยิงที่ จ.นครราชสีมา พร้อมคำสัญญาทั้งน้ำตาจาก ผบ.ทบ.ขณะนั้น ว่าจะปฏิรูปทุกอย่างให้ดีขึ้น
The MATTER ลุยหาข้อมูลซื่อๆ ด้วยการใช้ พ.ร.บ.ข้อมูลข่าวสารของราชการ พ.ศ.2540 พร้อมกับหมั่นทวงถามความคืบหน้าอยู่เรื่อยๆ และดึงหน่วยงานภายนอกเข้ามาช่วยเหลือ จนได้รับข้อมูลเกี่ยวกับ ‘ธุรกิจในที่ดินทหาร’ มา
เราใช้เวลาติดตามทวงถามอยู่ถึง 244 วัน กว่าจะได้รับเอกสาร นานจน ผบ.ทบ.คนที่ให้คำสัญญา ได้เกษียณอายุราชการไปแล้ว
ข้อมูลที่เราขอจากกองทัพบกไป คือขอรายได้ย้อนหลังห้าปี ระหว่างปี พ.ศ.2558-2562 ของธุรกิจบนที่ดินทหารทั้งหมด แต่สิ่งที่ได้มากลับเป็น ‘ค่าเฉลี่ย’ รายได้ของทั้งห้าปีนั้น ไม่เป็นไร ดีกว่าไม่ได้เลย
ธุรกิจแรกๆ ที่คนจับตา ก็คือสนามมวยและสนามม้า ที่คาดกันว่าน่าจะมีผลประโยชน์มหาศาล เพราะเกี่ยวข้องกับการพนันด้วย
โดยกองทัพบกให้ตัวเลขรายได้มาเฉพาะ
- เวทีมวยลุมพินี รามอินทรา กทม. ทำรายได้เฉลี่ยปีละ 40,618,439 บาท
- สนามม้ากองทัพภาคที่ 2 จ.นครราชสีมา ทำรายได้เฉลี่ยปีละ 93,779,801 บาท
ส่วนเวทีมวยค่ายกาวิละ จ.เชียงใหม่ ซึ่งอยู่ระหว่างปรับปรุง (หลังเกิดเหตุไฟไหม้ เมื่อปี พ.ศ.2553) กับสนามม้าหนองฮ้อ มณฑลทหารบกที่ 33 จ.เชียงใหม่ (ที่เพิ่งยุติกิจการในปี พ.ศ.2563) ทหารกองทัพบกไม่ได้ส่งข้อมูลมาให้
สนามมวย-สนามม้า ของกองทัพบก มีรายได้เฉลี่ยปีละหลักสิบล้านบาทเท่านั้น ..คุณเชื่อตัวเลขนี้ไหม?
กองทัพบกมีสนามกอล์ฟในครอบครองถึง 37 แห่ง!
ตอนแรกที่เราได้เห็นข้อมูลก็ตกใจ ไม่น่าเชื่อเหมือนกันว่า กองทัพบกจะมีสนามกอล์ฟอยู่ทั่วประเทศมากขนาดนี้ ภายใต้ชื่อ ‘ศูนย์พัฒนากีฬากองทัพบก’ หรือ ศพก.
ประกอบด้วย
- ศพก.ทบ.รามอินทรา
- ศพก.ทบ.สวนสนประดิพัทธ์
- ศพก.กช. (สนามกอล์ฟภาณุรังษี)
- ศพก.รร.จปร. (เขาชะโงก)
- ศพก.ส.1 ค่ายกำแพงเพชรอัครโยธิน
- ศพก.ศร. ค่ายธนะรัชต์
- ศพก.มทบ.13
- ศพก.พล.ร.2 รอ. ค่ายพรหมโยธี
- ศพก.พล.ร.2 รอ. ค่ายไพรีระย่อเดช
- ศพก.ทภ.2 ค่ายสุรนารี
- ศพก.ร.8 พัน.2 ค่ายมหาศักดิพลเสพ
- ศพก.ร.13 พัน.2 (สนามกอล์ฟหนองสำโรง)
- ศพก.ร.8 ค่ายสีหราชเดโชไชย
- ศพก.ร.3 สนามกอล์ฟประภาศรี
- ศพก.พล.ร.6 ค่ายสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าฯ
- ศพก.ร.16 ค่ายบดินทรเดชา
- ศพก.ร.23 พัน.4 ค่ายสมเด็จเจ้าพระยาฯ
- ศพก.ทภ.2 แห่งที่ 2 ค่ายสุรธรรมพิทักษ์
- ศพก.มทบ.22 ค่ายสรรพสิทธิประสงค์
- ศพก.มทบ.25 ค่ายวีรวัฒน์โยธิน
- ศพก.มทบ.27 ค่ายประเสริฐสงคราม
- ศพก.มทบ.28 ค่ายศรีสองรัก
- ศพก.พล.ม.1 (สนามกอล์ฟม้าศึก)
- ศพก.ม.2 ค่ายพิชัยดาบหัก
- ศพก.ม.2 พัน 12 (สนามกอล์ฟเวียงโกศัย)
- ศพก.ทภ.3 (ดงภูเกิด)
- ศพก.มทบ.31 ค่ายจิรประวัติ
- ศพก.มทบ.32 เขลางค์นคร
- ศพก.มทบ.33
- ศพก.มทบ.34 (สนามกอล์ฟกว๊านพะเยา)
- ศพก.มทบ.37 (แม่กกกอล์ฟ)
- ศพก.พล.ร.5 ค่ายเทพสตรี
- ศพก.ทภ.4 สนามกอล์ฟค่ายวชิราวุธ
- ศพก.มทบ.42 สนามกอล์ฟค่ายเสนาณรงค์
- ศพก.ร.15 พัน.4 สนามกอล์ฟศรีตรัง
- ศพก.ร.25 พัน.2 ค่ายรัตนรังสรรค์
- ศพก.ศม. (สนามกอล์ฟอดิศร)
ทำรายได้รวมกันเฉลี่ยปีละกว่า 316,040,029 บาท
นอกจากนี้ กองทัพบกยังมีสถานพักฟื้นและพักผ่อน หรือเรียกง่ายว่าๆ โรงแรม อีก 6 แห่ง
โดยสร้างรายได้รวมกันปีละหลายร้อยล้านบาท
ประกอบด้วย
- สถานพักฟื้นและพักผ่อน สวนสนประดิพัทธ์ แห่งที่ 1 จ.ประจวบคีรีขันธ์ ทำรายได้เฉลี่ย 66,664,183 บาท
- สถานพักฟื้นและพักผ่อน สวนสนประดิพัทธ์ แห่งที่ 2 จ.ประจวบคีรีขันธ์ ทำรายได้เฉลี่ย 55,267,848 บาท
- สถานพักฟื้นและพักผ่อน บางปู จ.สมทรปราการ ทำรายได้เฉลี่ย 85,971,546 บาท
- สถานพักฟื้นและพักผ่อน ลานนา กรีนเลครีสอร์ท จ.เชียงใหม่ ทำรายได้เฉลี่ย 47,145,082 บาท
- สถานพักฟื้นและพักผ่อน หาดเจ้าสำราญ จ.เพชรบุรี ทำรายได้เฉลี่ย 18,594,344 บาท
- สถานพักฟื้นและพักผ่อน มณฑลทหารบกที่ 37 ไชยนารายณ์ริเวอร์ไซด์ จ.เชียงราย (เปิดให้บริการปี พ.ศ.2563)
ข้อมูลที่กองทัพบกส่งตรงมาให้ The MATTER กิจการสนามม้า สนามมวย สนามกอล์ฟ และโรงแรม ในที่ดินราชพัสดุของกองทัพทั้งหมด 47 แห่ง สร้างรายได้ในช่วงห้าปี (ระหว่างปี พ.ศ.2558-2562) เฉลี่ยปีละ 724,081,272 บาท มีรายจ่าย 649,769,813 บาท เป็นกำไรสุทธิ 74,907,061 บาท
แบ่งเป็นธุรกิจที่ทำกำไร 41 แห่ง ขาดทุน 2 แห่ง เพิ่มเปิดให้บริการ 2 แห่ง และไม่ได้ให้ข้อมูลมา 2 แห่ง
โดยธุรกิจที่สร้างรายได้มากที่สุด 5 ลำดับแรก ได้แก่
อันดับที่ 1 สนามกอลฟ์ รามอินทรา กทม. ทำรายได้เฉลี่ย 149,372,607 บาท
อันดับที่ 2 สนามม้า กองทัพภาคที่ 2 จ.นครราชสีมา ทำรายได้เฉลี่ย 93,779,801 บาท
อันดับที่ 3 สถานพักฝื่นและพักผ่อน บางปู จ.สมุทรปราการ ทำรายได้เฉลี่ย 85,971,546 บาท
อันดับที่ 4 โรงแรมสวนสนประดิพัทธ์ แห่งที่ 1 จ.ประจวบคีรีขันธ์ ทำรายได้เฉลี่ย 66,664,183 บาท
อันดับที่ 5 สนามกอล์ฟสวนสนประดิพัทธ์ จ.ประจวบคีรีขันธ์ ทำรายได้เฉลี่ย 57,052,657 บาท
หลังเหตุกราดยิงโคราช ต้นเดือนกุมภาพันธ์ พ.ศ.2563 ที่ทำให้มีผู้เสียชีวิต 31 คน โดยชนวนเหตุมาจากคนในกองทัพบก
กองทัพบกได้เซ็น MOU กับกรมธนารักษ์ว่าจะปรับปรุงธุรกิจเชิงพาณิชย์บนที่ดินราชพัสดุ ซึ่งกองทัพมีอยู่กว่า 1 ล้านไร่ ให้มีความโปร่งใส โดยจะดึงเอกชนเข้ามาบริหารงานแทน และจะนำเงินส่งเป็นรายได้แผ่นดิน
แต่แม้คำสัญญาดังกล่าวจะถูกประกาศมาจะครบปีแล้ว กองทัพบกก็ยังจ้างเอกชนมาบริหารธุรกิจในมือได้แค่ให้เครือโรงแรมดุสิตธานีเข้ามาบริหารสถานพันฟื้นและพักผ่อนสวนสนประดิพัทธ์ แห่งที่ 1 และ 2 ใน จ.ประจวบคีรีขันธ์เท่านั้น (นอกเหนือจากสนามมวยลุมพินี รามอินทรา กทม. ที่ให้เอกชนดูแลอยู่แล้ว)
ส่วนกิจการอื่นๆ อีกกว่า 40 แห่ง ยังไม่มีความชัดเจนว่าจะดำเนินการอย่างไรต่อไป
ยุทธนา หยิมการุณ อธิบดีกรมธนารักษ์ ให้ข้อมูลกับ The MATTER ว่า กรมธนารักษ์จะเก็บค่าเช่าจากที่ดินราชพัสดุ 5% ของมูลค่าที่ดินนั้นๆ จากกองทัพบก เพื่อส่งเป็นรายได้แผ่นดิน
“จากการประเมิน การปรับปรุงการใช้ประโยชน์จากที่ดินราชพัสดุ ทั้งของ ทบ. รวมไปถึงกองทัพเรือ กองทัพอากาศ รัฐวิสาหกิจไปจนถึงหน่วยงานราชการอื่นๆ น่าจะทำให้ได้รับเงินจากค่าเช่าเข้าเป็นรายได้แผ่นดินเพิ่มมากขึ้นปีละหลายพันล้านบาท” อธิบดีกรมธนารักษ์กล่าว
แล้วความเปลี่ยนแปลงอื่นๆ จะตามมาอีกเมื่อใด?
นี่คือคำถามที่สังคม ต้องช่วยติดตามผลักดันกันต่อไป อย่าให้รอยเลือดและคราบน้ำตาจางหายไป โดยไม่มีความเปลี่ยนแปลงใดๆ เกิดขึ้น