“แค่ซื้อกางเกงในให้ทหารเกณฑ์ สเปกต่อสเปก ซื้อจาก SHOPEE ถูกกว่าเป็นเท่าตัว แถมส่งให้ถึงบ้านด้วยซ้ำ นี่คือตัวอย่างหนึ่งของปัญหาในกองทัพบก”
เป็นน้ำจิ้มที่ ธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ ประธานคณะก้าวหน้า ยกตัวอย่างให้กับเราฟัง ถึงปัญหาภายในกองทัพบก หน่วยงานที่ทรงอำนาจยิ่งในยุคปัจจุบัน ทว่ากลับมีปัญหาเรื่องความโปร่งใส และถูกตรวจสอบได้อย่างยากลำบาก
ก่อนครบรอบหนึ่งปีเหตุกราดยิงโคราช ระหว่างวันที่ 8-9 กุมภาพันธ์ พ.ศ.2563 ที่ชนวนของปัญหาเกิดจากการโกงเงินที่ได้จากการทำธุรกิจภายในกองทัพ แล้วทหารที่โกรธเกรี้ยวนายหนึ่งออกไปก่อเหตุยิงประชาชนจนทำให้มีผู้เสียชีวิต 31 คน (รวมผู้ก่อเหตุที่ถูกวิสามัญฆาตกรรม) และบาดเจ็บอีก 58 คน ที่ถือเป็นเหตุ ‘สะเทือนขวัญ’ ที่สุดเหตุการณ์หนึ่งของปี
The MATTER ขอนัดหมายพูดคุยกับธนาธร ในฐานะหนึ่งในผู้ที่ติดตามและทวงถามการปฏิรูปกองทัพบกอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะหลังจาก พล.อ.อภิรัชต์ คงสมพงษ์ สมัยเป็นผู้บัญชาการทหารบก (ผบ.ทบ.) ผู้ออกมาให้ ‘คำสัญญา’ หลังเหตุกราดยิงโคราชว่าจะปรับปรุงกองทัพในหลายๆ เรื่อง ทั้งปรับปรุงการดูแลคลังเก็บอาวุธ, เปิดช่องทางลับให้ร้องเรียนผู้บังคับบัญชา, จัดการกับการทำธุรกิจในค่ายทหาร, ให้ทหารเกษียณออกจากบ้านพักสวัสดิการ ไปจนถึงการปรับปรุงการใช้ที่ดินราชพัสดุเพื่อทำสนามมวย สนามม้า สนามกอล์ฟ และโรงแรม
เพราะไม่ว่าคุณจะชอบหรือจะชัง จะปลาบปลื้มหรือหมันไส้ แต่ปฏิเสธไม่ได้ว่า ธนาธรเป็นคนที่พยายาม ‘ตั้งคำถามแทนประชาชน’ อย่างกระตือรือร้นที่สุดคนหนึ่ง โดยเฉพาะการตั้งคำถามต่อกองทัพบก ‘อดีตต้นสังกัด’ ของผู้มีอำนาจยุคปัจจุบัน ผู้มียศพลเอกนำหน้าทั้งหลาย
เราส่งคำถามไปให้ธนาธรล่วงหน้า
ประเด็นคำถามการปฏิรูปกองทัพ เรื่องที่ The MATTER จะถามคุณธนาธร
– ทำไมสนใจ ใส่ใจ ติดตามเรื่องนี้
– ใช้กลไก ช่องทางไหน ติดตามและผลักดันการปฏิรูปกองทัพบ้าง
– ความคืบหน้า เท่าที่ติดตาม ทั้งสนามม้า สนามมวย สนามกอล์ฟ โรงแรม ฯลฯ กองทัพปฏิรูปไปถึงไหนแล้ว
– หลัง ผบ.ทบ.เปลี่ยนคน มีอะไรเปลี่ยนไปไหม
– กองทัพจะปฏิรูปหรือไม่ อะไรคือปัจจัยและอุปสรรค ที่สำคัญ
– ผู้เสียชีวิตกราดยิงโคราช มีโอกาสตาย/เจ็บฟรีไหม
ทันทีที่ได้เจอกัน ประธานคณะก้าวหน้าก็ตอบคำถามสุดท้ายก่อนเลยว่า “น่าเสียดายที่ผู้เสียชีวิตน่าจะตายฟรี”
“เรื่องการปฏิรูปกองทัพ ผมคิดว่าน่าเสียดายมากที่เราไม่สามารถหยิบเสียงเรียกร้องจากสังคมหลังเกิดเหตุกราดยิงโคราชมาผลักดันให้เกิดการเปลี่ยนแปลงได้จริงๆ เราปล่อยให้โอกาสนั้นหลุดลอยไป มันน่าเสียดาย เพราะ ณ วันนั้น เสียงของคนทั้งสังคมไปในทางเดียวกัน แม้แต่ประยุทธ์ (พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและ รมว.กลาโหม) ยังออกมาพูด มีการสัญญาหลายอย่างจากทั้งกองทัพและรัฐบาล แต่สุดท้าย ไม่มีอะไรเกิดขึ้นจริงแม้แต่อย่างเดียว ที่เห็นเป็นรูปเป็นร่างก็อันเดียว ซึ่งก็ครึ่งๆ กลางๆ ไม่โปร่งใส ไม่อาจเรียกว่าการปฏิรูปกองทัพได้”
ธนาธรขยายความว่า ความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นแบบ ‘ครึ่งๆ กลางๆ’ ก็คือการให้เครือโรงแรมดุสิตธานี เข้าบริหารโรงแรมสวนสนประดิพัทธ์ จ.ประจวบคีรีขันธ์ ทั้งแห่งที่ 1 และแห่งที่ 2 ที่เขาพยายามทวงถามว่า เป็นการเข้ามาบริหารงานในรูปแบบใด? เหตุใดถึงไม่มีการประมูล? แล้วแบ่งรายได้กันอย่างไร? แต่ไม่มีคำตอบจากกองทัพบก
เช่นเดียวกับการขอคำตอบ เอกสาร รายละเอียดต่างๆ เกี่ยวกับโครงการ ‘ผลประโยชน์’ ที่เกี่ยวข้องกับกองทัพบก ไม่ว่าจะขอ ผ่านเพจ Thanathorn Juangroongruangkit ที่ปัจจุบันมีผู้ติดตามกว่า 2 ล้านคน หรือผ่านเวทีคณะกรรมาธิการวิสามัญเพื่อพิจารณาร่าง พ.ร.บ.งบประมาณ ซึ่งเขาถูกแต่งตั้งให้เป็นที่ปรึกษา
ตัวอย่างข้อมูลที่เขาเคยขอจากกองทัพบก มีอาทิ
- รายได้จากการใช้ทรัพยากรคลื่นวิทยุย้อนหลัง สิบปี
- รายชื่อบริษัทผู้รับบริหารสัมปทานคลื่นวิทยุ และสัญญากับทุกบริษัท
- สัญญาระหว่างกองทัพบกกับช่อง 7 ย้อนหลังตั้งแต่ ปี พ.ศ.2512
- รายได้จากการให้สัมปทานช่อง 7 ทุกปี ตั้งแต่ปี พ.ศ.2512
- รายได้อัตราค่าเช่าโครงข่ายภาคพื้นดิน หรือ MUX
- ข้อตกลงระหว่างกระทรวงกลาโหม กับกระทรวงการคลัง ว่าด้วยการบริหารจัดการงบประมาณ
- รายละเอียดเงินนอกงบประมาณประเภท 1 และ 2 ของกองทัพบก ว่าประกอบด้วยอะไรบ้าง
ฯลฯ
ที่เขาไม่เคยได้รับเอกสารใดๆ จากกองทัพบกเลยแม้แต่แผ่นเดียว
หนึ่งในที่มาความสงสัยของธนาธรต่อผลประโยชน์ภายในกองทัพ คือการที่นายพลซึ่งมาเป็นสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) 81 คน มีทรัพย์สินรวมกันมากถึง 6,319 ล้านบาท เฉลี่ยคนละ 78 ล้านบาท
ทั้งๆ ที่ หากรับราชการโดยไม่ใช้เงินแม้แต่บาทเดียว ก็น่าจะมีทรัพย์สินสูงสุดเพียง 57 ล้านบาท เท่านั้น
กว่าชั่วโมงที่ The MATTER ได้คุยกับธนาธร จะพบว่า เขาพูดถึงปัญหาและข้อสงสัยเรื่องผลประโยชน์ภายในกองทัพบกอย่างคล่องแคล่ว และกระโดดไปกระโดดมาในหลายๆ เรื่อง ทั้งเรื่องของการจัดซื้อกางเกงในทหารเกณฑ์ (จัดซื้อแพง) การจัดซื้อเครื่องมือกล (จัดซื้อแพง) สโมสรฟุตบอลอาร์มี่ยูไนเต็ด (ใช้ทรัพยากรส่วนร่วม แต่ผลประโยชน์เข้าส่วนตัว) ให้ทหารเกษียณออกจากบ้านหลวง (ประยุทธ์ยังอยู่ต่อได้) บริษัท RTA Entertainment (กองทัพบกให้กู้เงิน 1.2 พันล้าน โดยไม่คิดดอกเบี้ย ทั้งที่ขาดทุน) ฯลฯ
“แต่ละเรื่อง มันสุดสุดจริงๆ” เป็นวลีที่เขาพูดแทบจะทุกห้านาที
แต่สิ่งที่ตัวธนาธรสนใจและให้เวลาลงลึกมากที่สุด ก็คือ ‘การพาณิชย์ในกองทัพ’
ขออธิบายก่อนว่า ตามปกติแล้ว แหล่งรายได้ของหน่วยงานราชการส่วนใหญ่จะมาจาก ‘เงินงบประมาณ’ ที่รัฐสภาจัดสรรให้ในแต่ละปีผ่าน พ.ร.บ.งบประมาณ
แต่สำหรับกองทัพบก ยังมีรายได้จาก ‘เงินนอกงบประมาณ’ เช่น รายได้จากค่าสัมปทานโทรทัศน์ วิทยุ โครงข่ายโทรทัศน์ ฯลฯ ไม่เพียงเท่านั้น ยังมีรายได้จาก ‘เงินสวัสดิการ’ ที่ได้มาจากการใช้ที่ดินราชการ ซึ่งกองทัพมีอยู่มากกว่า 1 ล้านไร่ และผลประโยชน์จากสนามมวย สนามม้า สนามกอล์ฟ และโรงแรม
ซึ่งตัวธนาธรบอกว่า เงินสวัสดิการตรวจสอบยากกว่าเงินนอกงบประมาณ ซะอีก
“ตามระบบงบประมาณของกองทัพบก มันมีเงินในงบประมาณกับเงินนอกงบประมาณ ซึ่ง 2 ตัวนี้ก็ยังอยู่ในระบบ แต่เงินสวัสดิการ ไม่อยู่ในระบบเลย
“เงินที่เก็บได้จากตรงนี้ ก็ไม่ได้อยู่ในงบประมาณ แต่เอาไปทำสวัสดิการของเขาเอง พูดง่ายๆ คือเอาไปแจกจ่ายให้เอง ซึ่งแน่นอนที่สุดว่าเราไม่มีหลักฐานชัดเจน แต่จากการพูดคุยกับคนในกองทัพหลายคน ก็บอกว่ามีคนบางกลุ่มเอาไปเกือบหมด ตกสู่นายทหารชั้นผู้น้อยจริงๆ น้อยมาก
“เงินสวัสดิการ มันได้มาจากการใช้ทรัพยากรของรัฐ แต่ปรากฎว่าประชาชนเข้าไม่ถึง มองไม่เห็นว่าเงินไปที่ไหน ตัวแทนประชาชนอย่างผมที่ครั้งหนึ่งเคยเป็น ส.ส. และคณะกรรมาธิการ ก็ตรวจสอบไม่ได้ว่า เงินก้อนนี้ไปไหน เอกสารต่างๆ ที่ขอไปก็ไม่เคยให้ ทั้งที่อภิรัชต์ตอบในห้องประชุมดิบดีว่าจะให้ แต่สุดท้ายก็ไม่ให้”
จากปัญหาทั้งหมดข้างต้น ทำให้ประธานคณะก้าวหน้าได้ข้อสรุปว่า หากไม่ชนะทางการเมือง ไม่มีทางที่จะ ‘ปฏิรูปกองทัพ’ สำเร็จ ซึ่งชนะทางการเมืองที่ว่า ไม่ได้หมายถึงเป็นรัฐบาล เนื่องจากรัฐธรรมนูญฉบับปี พ.ศ.2560 ล็อกไว้ให้มีรัฐบาลผสม ไม่มีทางจะได้รัฐบาลที่เข้มแข็ง หากไม่แก้ไขรัฐธรรมนูญก็ไม่สามารถปลดล็อกเรื่องนี้ได้ ยังรวมไปถึงการชนะทางการเมืองนอกสภา ‘ชนะทางความคิด’ ให้คนในสังคมส่วนใหญ่คิดเห็นไปในทางเดียวกันให้ได้
“เสียงในสภาอย่างเดียวก็ทำไม่ได้ เพราะเขา ‘เอาหลังมาพิงกัน’ อยู่ คือหลังทหาร นายทุน คนชั้นสูง ตุลาการ มันพิงกันหมด ผลประโยชน์ตอบแทนกันหมด เขาถึงไม่ยอมให้ปฏิรูปกองทัพ เพราะถ้าคุณตัดทหารออกไป เครือข่ายนี้อาจจะล้ม ถ้าจะเปลี่ยนแปลง แค่เสียงในสภาอย่างเดียวก็ทำไม่ได้ ต้องปักวาระให้เป็นเสียงส่วนใหญ่ของสังคม หมายความว่านอกสภา เวทีความคิด คุณก็ต้องผลักมันให้ได้ด้วย เพราะถ้าสังคมส่วนใหญ่ไม่สนับสนุน พลังมันจะไม่พอ”
“ที่ผ่านมา คนบางกลุ่มพยายามสร้างกระแสว่านักเลือกตั้งมันเฮงซวย ทั้งที่มันเป็นอาชีพเดียวที่ประชาชนแต่งตั้ง ข้าราชการ บรรดาแม่ทัพ ประชาชนไม่ได้แต่งตั้ง มันจึงเป็นอาชีพที่มีเกียรติ แต่ฝ่ายนั้นก็พยายามบอกว่า นักการเมืองที่มาจากการเลือกตั้ง คุณอย่ามายุ่งกับกองทัพนะ เพราะคุณมันเลว กองทัพมาจากการแต่งตั้ง มีความจงรักภักดี ไม่จำเป็นต้องภักดีต่อนักการเมืองที่เป็นคนเลว เราก็จำเป็นต้องสู้กับโฆษณาชวนเชื่อแบบนี้ด้วย”
ธนาธรจึงสรุปว่า ภายใต้สถานการณ์เช่นปัจจุบัน คุณไม่มีทางปฏิรูปกองทัพได้เลย เพราะผลประโยชน์มหาศาล และเครือข่ายที่พิงหลังกันอยู่ก็จะไม่ยอมให้ปฏิรูปเด็ดขาด
“เราเสียโอกาสที่ดีที่สุดไปแล้ว ผ่านไปหนี่งปี แทบไม่มีอะไรเกิดขึ้น น่าเสียดายจริงๆ”