ทำงานโดยไม่รับเงินเดือน มักได้รับคำชื่นชมว่า ‘มีสปิริต’ หากตั้งใจทำงานเต็มที่ และทำงานอย่างดีเยี่ยม
ก่อนประยุทธ์กับพวกใน ครม. จะประกาศไม่รับเงินเดือน 3 เดือน เพื่อรับผิดชอบที่แก้วิกฤต COVID-19 ล้มเหลว (แต่ไม่ลาออกนะ) ยังมีคนอีกกลุ่มที่ประกาศไม่รับเงินเดือนเลยแม้แต่บาทเดียว ส่วนจะน่าชื่นชมหรือไม่ ไปติดตามการทำงานของพวกเขากัน
คนกลุ่มนั้นก็คือ กลุ่ม ‘ส.ว.โดยตำแหน่ง’ ที่มาจาก ผบ.เหล่าทัพ ทั้ง 6 คน ได้แก่ ปลัดกลาโหม ผบ.ทหารสูงสุด ผบ.ทหารบก ผบ.ทหารเรือ ผบ.ทหารอากาศ และ ผบ.ตำรวจแห่งชาติ
แม้โดยทั่วไป ส.ว.จะมีหน้าที่หลากหลาย แต่หน้าที่สำคัญที่สุดในฐานะ ‘ฝ่ายนิติบัญญัติ’ ยังไงๆ ก็คือการลงมติในที่ประชุม The MATTER ตรวจสอบการทำงานของ ส.ว.จาก ผบ.เหล่าทัพกลุ่มนี้ นับแต่ได้รับโปรดเกล้าฯ แต่งตั้ง (6 ธ.ค. 2563) ถึงการลงมติครั้งสำคัญ คือจะรับหลักการร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญทั้ง 13 ฉบับหรือไม่ (25 มิ.ย.2564)
แม้เป็นที่น่าเสียดายว่า เราตรวจสอบได้เพียงการลงมติในที่ประชุมร่วมกันของรัฐสภา (ส.ส. และ ส.ว.) เท่านั้น เพราะเปิดเผย ‘ใบประมวลผลการลงมติ’ ที่จะแสดงให้เห็นว่า ใครลงมติอย่างไร เห็นชอบ-ไม่เห็นชอบ-งดออกเสียง ไว้บนเว็บไซต์เลย
ต่างกับการประชุมวุฒิสภา ซึ่ง ส.ว.แต่งตั้งชุดปัจจุบันไปออกข้อบังคับว่า หากใครอยากดูใบประมวลผลการลงมติจะต้องไปดูที่สำนักเลขาธิการวุฒิสภาเท่านั้น (คือถ้าคนจากจังหวัดอื่นๆ อยากดูข้อมูล ก็จะต้องเข้ามาที่ กทม. แล้วไปที่รัฐสภา เกียกกาย ไม่ต้องพูดถึงคนที่อยู่ต่างประเทศซึ่งจะต้องบินกลับมาเมืองไทย คิดดูว่าเป็นอุปสรรคขนาดไหน) ซึ่งเราทำหนังสือขอข้อมูลไปหลายสัปดาห์แล้ว ยังไม่มีการติดต่อกลับมาว่าจะให้ข้อมูลมาหรือไม่
ทั้งนี้ ช่วงเวลาดังกล่าวมีการลงมติวาระและร่างกฎหมายสำคัญๆ ‘อย่างน้อย 152 ครั้ง’ ทั้งร่างแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ, ร่าง พ.ร.บ.ประชามติ, ร่าง พ.ร.บ.เข้าชื่อเสนอกฎหมาย, ร่างประมวลกฎหมายยาเสพติด, ร่าง พ.ร.บ.ตำรวจแห่งชาติ และวาระอื่น เช่น ให้ส่งศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่ารัฐสภามีอำนาจแก้ไขรัฐธรรมนูญทั้งฉบับหรือไม่
( The MATTER นับเฉพาะการลงคะแนนที่ ‘มีผลเป็นมติ’ ไม่ได้นับการลงคะแนนเพื่อ ‘นับองค์ประชุม’ ซึ่งจะทำให้ ‘จำนวนครั้ง’ ของการลงมติมากขึ้นอีก แต่ถ้าใครเห็นว่าควรจะนับเรื่ององค์ประชุมไปด้วย เราขอนำไปปรับปรุงในอนาคต )
และนี่ก็คือผลการลงมติของกลุ่ม ส.ว.โดยตำแหน่ง จาก ผบ.เหล่าทัพ ชุดปัจจุบัน โดยจะเรียงตามลำดับเลขประจำตัววุฒิสภา
- พล.ต.อ. สุวัฒน์ แจ้งยอดสุข ผบ.ตำรวจแห่งชาติ (เลขประจำตัววุฒิสภา: 19) มาร่วมลงมติ 1 ครั้ง / 152 ครั้ง
- พล.อ.อ. แอร์บูล สุทธิวรรณ ผบ.ทหารอากาศ (เลขประจำตัววุฒิสภา: 40) มาร่วมลงมติ 2 ครั้ง / 152 ครั้ง
- พล.อ. ณัฐ อินทรเจริญ ปลัดกลาโหม (เลขประจำตัววุฒิสภา: 55) มาร่วมลงมติ 0 ครั้ง / 152 ครั้ง
- พล.อ. เฉลิมพล ศรีสวัสดิ์ ผบ.ทหารสูงสุด (เลขประจำตัววุฒิสภา: 118) มาร่วมลงมติ 2 ครั้ง / 152 ครั้ง
- พล.ร.อ. ชาติชาย ศรีวรขาน ผบ.ทหารเรือ (เลขประจำตัววุฒิสภา: 149) มาร่วมลงมติ 2 ครั้ง / 152 ครั้ง
- พล.อ. ณรงค์พันธ์ จิตต์แก้วแท้ ผบ.ทหารบก (เลขประจำตัววุฒิสภา: 236) มาร่วมลงมติ 0 ครั้ง / 152 ครั้ง
โดยวาระการประชุมร่วมกันของรัฐสภาที่ ส.ว.จาก ผบ.เหล่าทัพ ไปลงมติ มีด้วยกัน 2 วาระ
- ขอให้ส่งศาล รธน.วินิจฉัยคำอำนาจแก้ไขรัฐธรรมนูญทั้งฉบับ (สุวัฒน์ / แอร์บูล / เฉลิมพล / ชาติชาย)
- ร่าง พ.ร.บ.ตำรวจแห่งชาติฉบับใหม่ วาระแรก (แอร์บูล / เฉลิมพล / ชาติชาย)
ความจริงแล้ว ผบ.เหล่าทัพที่เป็น ส.ว.โดยตำแหน่งชุดก่อน ก็ประกาศ ‘ไม่รับเงินเดือน’ หลังจากถูก iLaw ตรวจสอบว่าขาดลงมติติด TOP TEN ของเหล่า ส.ว.ด้วยกัน
คือถ้างานในฐานะข้าราชการประจำยุ่งมากๆ จนไม่มีเวลามาทำงานในฐานะผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง เอาจริงๆ รัฐธรรมนูญฉบับปี 2560 มาตราแรกๆ ที่ควรถูกแก้ไข คือมาตรา 269 ที่กำหนดให้ ผบ.เหล่าทัพ 6 คนมาเป็น ส.ว.โดยตำแหน่ง ในระยะห้าปีแรก นี่แหละ
แต่เชื่อว่าสุดท้าย เขาจะไม่ทำหรอก
ไม่ใช่เพราะเงินเดือนในฐานะ ส.ว. เดือนละ 113,560 บาท
แต่เป็นเพราะอำนาจในการร่วมลงมติวาระสำคัญๆ – ทั้งเห็นชอบร่างกฎหมาย ตั้งคนในตำแหน่งสำคัญๆ เช่น ศาล องค์กรอิสระ และแน่นอนที่สุด ‘นายกรัฐมนตรี’