ใกล้เข้ามาแล้วกับการเลือกตั้งผู้นำของสหรัฐฯ ที่กำลังจะเกิดขึ้นในวันที่ 3 พฤศจิกายนปีนี้ โดยแน่นอนว่าการเลือกตั้งของประเทศมหาอำนาจ ย่อมเป็นที่จับตาต่อโลกว่ากระแสการเมือง เศรษฐกิจ และความสัมพันธ์ระหว่างประเทศจะเปลี่ยนไป และกระทบแต่ละประเทศอย่างไร
ซึ่งที่ผ่านมา จากการดำรงตำแหน่งประธานาธิบดีมาแล้ว 1 สมัย ของโดนัลด์ ทรัมป์ จากพรรครีพับลิกัน เราก็ได้เห็นความเปลี่ยนแปลงทางนโยบาย การเมือง ความสัมพันธ์รวมไปถึงความขัดแย้งที่เกิดขึ้น อย่างที่เราอาจไม่เคยเห็นมาก่อน ดังนั้นการเลือกตั้งครั้งนี้ถือเป็นครั้งสำคัญว่า โจ ไบเดน อดีตรองประธานาธิบดีสมัยบารัค โอบามา ผู้ท้าชิงจากเดโมแครต จะสามารถชิงตำแหน่ง และเปลี่ยนแปลงสิ่งที่ทรัมป์ได้ทำไว้ หรือจะเป็นทรัมป์ที่สานต่อนโยบายของเขาต่อไป
The MATTER พูดคุยกับ อ.ปองขวัญ สวัสดิภักดิ์ อาจารย์ประจำสาขาการระหว่างประเทศ คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ซึ่งขณะนี้กำลังศึกษาระดับปริญญาเอก ที่ มหาวิทยาลัยเซาเธิร์
การเลือกตั้งครั้งนี้ แตกต่างจากครั้งอื่นๆ เนื่องด้วยสถานการณ์โรคระบาดอาจารย์มองสถานการณ์การเลือกตั้งสหรัฐฯ ตอนนี้อย่างไรบ้าง
เรื่อง COVID-19 มันทำให้เปลี่ยนแปลงหลักๆ คือการต้องลงคะแนนผ่านไปรษณีย์ ตอนนี้การเลือกตั้งวันปกติก็ยังมีอยู่ในหลายๆ รัฐ แล้วแต่รัฐว่า รัฐไหนจะให้โหวตผ่านไปรษณีย์อย่างเดียว บางรัฐก็มีทั้งไปรษณีย์ มีทั้งโหวตก่อนเลือกตั้ง และโหวตในวันเลือกตั้งด้วย แต่ว่าสิ่งที่เขาปรับเปลี่ยนในช่วงโควิด คือในบางรัฐ ทำให้กติกาโหวตผ่านไปรษณีย์ง่ายขึ้น เพราะว่าการที่เข้าไปโหวตโดยตรงก็เสี่ยงที่จะติดโรค อย่างเช่นในแคลิฟลอเนียร์จะเน้นการลงคะแนนผ่านไปรษณีย์ซะส่วนใหญ่ นี่ก็ทำให้การเลือกตั้งในปีนี้ แตกต่างจากปีอื่นๆ สัดส่วนการเลือกตั้ง มันให้ความสำคัญกับการลงคะแนนผ่านไปรษณีย์
จริงๆ การเลือกตั้งผ่านไปรษณีย์ไม่ควรจะมีปัญหาเลย มันก็มีมาตลอดในสัดส่วนที่ต่ำกว่า แต่มันมีปัญหาตรงที่ว่า ทรัมป์อาจสร้างเรื่องเล่าว่า การโหวตผ่านไปรษณีย์ไม่ปลอดภัย อาจทำให้มีการโกงการเลือกตั้งได้ มันเลยทำให้คนที่สนับสนุนพรรครีพับลิกัน มักจะต่อต้านการเลือกตั้งผ่านไปรษณีย์ และไปเลือกตั้งล่วงหน้า แต่มันก็มียอดที่ออกมาอย่างชัดเจน ว่าคนที่ลงคะแนนเลือกตั้งทั้งผ่านไปรษณีย์ และล่วงหน้า เป็นพรรคเดโมแครตเยอะกว่าพรรครีพับลิกัน ตอนนับคะแนนคงจะไม่มีปัญหาอะไร แต่มันอยู่ที่ว่า ถ้าสมมติว่าทรัมป์แพ้การเลือกตั้ง เรื่องเล่าที่ทรัมป์สร้างมาเรื่อยๆ ว่าการเลือกตั้งผ่านไปรษณีย์ปัญหา ก่อให้เกิดการโกง มันก็จะทำให้ทรัมป์สามารถใช้ประเด็นนี้ตอบโต้ได้ หากเดโมแครตชนะ
COVID-19 ไม่ได้ทำให้การเลือกตั้งพิเศษไปกว่าเดิม แต่มันเป็นปัญหา เป็นประเด็นใหญ่ เพราะทรัมป์ กับรีพับลิกันพยายามชี้ว่าการเลือกตั้งผ่านไปรษณีย์ไม่ปลอดภัย แล้วอีกอย่างก็คือ มีความพยายามที่จะทำให้ USPS (การไปรษณีย์แห่งประเทศสหรัฐอเมริกา) ไม่มีประสิทธิภาพในการส่งไปรษณีย์ได้ทันเวลา หรือคนที่ส่งไปรษณีย์ไม่สามารถส่งกลับมาได้ทันเวลา และพยายามทำให้วิธีการโหวตผ่านไปรษณีย์มีอุปสรรคอยู่เรื่อยๆ ผ่านข้อกำหนดในต่างๆ หรือตัดงบประมาณหน่วยงานไปรษณีย์
ครั้งนี้ แม้ทรัมป์จะเป็นผู้ชิงตำแหน่งเหมือนเดิม แต่มีปัจจัยอะไรที่แตกต่างจาก 4 ปีที่ผ่านมาบ้าง
ปัจจัยหลักๆ คือ 4 ปีที่แล้ว ทรัมป์ดูไม่เหมือนนักการเมืองคนอื่นๆ ตอนนั้นคนยังไม่รู้ว่าการที่ทรัมป์ขึ้นมาจะเป็นอย่างไร มันก็ดูไม่เป็นไปตามธรรมเนียม คนอาจจะไม่ชอบที่ทรัมป์พูดตอนที่ขึ้นปราศรัยเมื่อ 4 ปีที่แล้ว แต่พอมันมาถึงตอนนี้ มันเห็นแล้วว่า ผลที่ทรัมป์อยู่ในอำนาจมา 4 ปีมันเป็นยังไง
ทั้งนโยบายที่เห็นได้ชัดก็คือเรื่องผู้อพยพ หรือคนเข้าเมือง ที่ทรัมป์พยายามต่อต้านตั้งแต่ตอนที่จะสร้างกำแพงกับเม็กซิโก ตอนนี้กระทบมาถึงกระบวนการขอ Green card มันเห็นผลชัดเจนที่ผ่านมา หรือแม้กระทั้งเรื่องเชื้อชาติ ที่ทรัมป์ดูเหมือนจะสนับสนุนการที่คนจะสามารถเหยียดคนอื่นได้ พอไม่ต่อต้านก็เหมือนเป็นการไฟเขียวให้กับคนที่เป็น White Supremacists
คนเห็นความเปลี่ยนแปลงในรอบ 4 ปีที่ผ่านมา มากกว่าการแค่เกลียดทรัมป์ใน 4 ปีที่แล้ว ตอนนี้มันแบ่งแยกคนชัดเจนมาก ดังนั้นวันนี้ มันต่างจาก 4 ปีที่แล้วตรงที่ว่า การเลือกตั้ง แคมเปญของเดโมแครตกลายเป็นว่า ส่วนหนึ่งก็โฟกัสเรื่องนโยบาย แต่ส่วนหนึ่งที่ทำให้เชื่อมคนจำนวนมากขึ้นมาคือ ‘ไม่เอาทรัมป์’ มันกลายเป็นปัจจัยสำคัญของการเลือกตั้ง 4 ปีนี้ ที่ไม่มีใน 4 ปีที่แล้ว
4 ปีที่แล้ว ที่ชัดเจนกว่าคือ ไม่เอาฮิลลารี แต่ว่าตอนนี้การที่ทรัมป์อยู่มา และเห็นความเปลี่ยนแปลง คนก็เริ่มคิดว่าจะทำยังไงก็ได้ ไม่เอาทรัมป์กลับมา และก็โฟกัสไปที่การทำให้มรดก สิ่งที่ทรัมป์มาในช่วง 4 ปี กลับมาเป็นปกติมากขึ้น ปัจจัยที่เห็นรอบตัว และสื่อกลายเป็นแบบนี้ เพราะสังคมอเมริกากลายเป็น 2 ขั้วไปแล้วเรียบร้อย
พูดถึงสหรัฐฯ เอง ก็มักมีการพูดถึงจีน จีนมีปัจจัยต่อการเลือกตั้งในครั้งนี้อย่างไร
มี 2 ส่วนหลักๆ ส่วนแรกก็คือ ไบเดน และทรัมป์ พยายามพูดเรื่องจีนยังไงบ้าง แล้วจีนพยายามเข้ามาเกี่ยวข้องกับการเลือกตั้งในสหรัฐฯ ยังไง
ในประเด็นแรก เราก็เห็นอยู่แล้วว่านโยบายของทรัมป์กับไบเดนมันต่างกันสุดขั้วมาก แต่สิ่งที่ 2 คนนี้มีร่วมกันคือ เห็นจีนเป็นปัญหา และ 2 ฝ่ายก็มีความพยายามในการดีลกับจีนคนละแบบ แต่ว่าไม่ได้มีคนเห็นค้านกับการต้องดีลกับจีน แค่ดีลในระดับที่แตกต่างกัน ยังไงก็ตามอาจจะเป็นไปได้เพราะสาธารณะก็เห็นว่า จีนเป็นคู่แข่งในระดับนึงแล้ว ทั้ง 2 ฝ่ายก็ต้องพูดในเรื่องนี้ ถ้าจะพยายามหาคนมาซัพพอร์ตตัวเอง
ฝั่งทรัมป์ก็จะยืนยันในนโยบายต่อไป ในการใช้วิธีแข็งกร้าวกับจีน ด้วยการเก็บภาษีเหมือนเดิม ในขณะที่ไบเดนทำ คือการพยายามสร้างพันธมิตรมากขึ้น กับประเทศอื่นๆ ที่จะร่วมกันต้านการขึ้นมาของจีนได้ แต่ในขณะเดียวกันสิ่งที่ทรัมป์จะคงไว้อยู่ก็คือการเก็บภาษีกับบริษัทที่ไปลงทุน ไปผลิตในต่างประเทศ และกลับมาขายในตลาดสหรัฐฯ
การเก็บภาษีมันอาจจะไม่เกี่ยวข้องกับเรื่องจีนโดยตรง มันอาจจะเกี่ยวข้องกับการจ้างงานในสหรัฐฯ มากกว่า แต่ว่าฐานการผลิตของสหรัฐฯ จำนวนนึงอยู่ในจีน มันก็ส่งผลกระทบต่อจีนอยู่แล้ว หลักๆ ก็คือไบเดนจะสร้างพันธมิตร และอาจจะมีการเจรจาใหม่อีกครั้งในเรื่อง TPP ในขณะที่ทรัมป์ก็จะตั้งคำแพงภาษี พยายามเพิ่มประสิทธิภาพทางการทหารของตัวเอง
ส่วนจีนเข้ามาสนใจการเลือกตั้งยังไง จริงๆ มันก็มีข่าว มีรายงานว่าจีนก็พยายามยิงโฆษณาเข้าไปในเฟซบุ๊ก ซึ่งเฟซบุ๊กได้แบนโฆษณาบางส่วนแล้ว แต่ว่าโฆษณาที่จีนยิงเข้าไปไม่ได้พยายามสนับสนุนฝ่ายไหนเป็นพิเศษ แต่ต้องการให้คนอเมริกันเห็นประเด็นที่จีนสนใจมากกว่า ก็เลยเกี่ยวกับที่ทั้งสองฝ่ายต้องมีนโยบายกับจีน
แล้วรัสเซียยังมีบทบาทอะไรไหม
ยังมีความกังวลว่า รัสเซียจะเข้ามาข้องเกี่ยวกับการเลือกตั้งอีกแล้ว ก็มีการป้องกัน มีการตรวจสอบบอทมากขึ้น รัสเซียชัดเจน ว่าเขาอยากได้ทรัมป์ต่อ เพราะว่าการดีลกันมันง่ายกว่า ทรัมป์เป็นนักธุรกิจมากๆ และเขาไม่ได้สนใจมาตรฐาน หรือไม่ต้องมีความเป็นประชาธิปไตยก็ได้ ถ้ามันตกลงได้ว่ามีผลประโยชน์ร่วมกัน ซึ่งจริงๆ ที่ผ่านมา การสนับสนุนประชาธิปไตยของสหรัฐฯ ก็ปากว่าตาขยิบมาตลอด
อยากให้อาจารย์เปรียบเทียบคาแรคเตอร์ หรือนโยบาย อุดมการณ์ของแคนดิเดต 2 คนนี้ให้เราเห็นกัน
สองคนนี้ก็คนละขั้วที่ชัดเจน ไบเดนก็เป็นขั้วที่ไม่เอาทรัมป์อย่างชัดเจน จะกลางๆ และก็เอานโยบายสวัสดิการบางอย่าง แต่ก็ไม่ได้ถึงกับซ้ายจัด แต่ทรัมป์ก็จะขวาอย่างชัดเจน ขณะที่นโยบายที่คนอเมริกันสนใจ ในรอบนี้ นโยบายต่างประเทศมีผลน้อยมาก เพราะว่าปัญหาในประเทศเป็นประเด็นที่ใหญ่กว่ามาก
นโยบายหลักๆ ที่พูดกันในหลายยุคหลายสมัย คือนโยบายเศรษฐกิจ ว่าจะดูแลปากท้องอย่างไร ทรัมป์ก็ยังเป็นเหมือนเดิม คือตัดลดภาษี ซึ่งทรัมป์มองว่าจะช่วยสร้างงาน มีการลงทุนมากขึ้น เพราะคนจะมีการเก็บออม คำถามก็คือการตัดลดภาษีมันไปเอื้อให้กับนายทุนมากกว่ารึเปล่า คนอื่นๆ ก็ได้ผลบางส่วน แต่พอมันเป็นสัดส่วน มันแปลว่าบริษัทใหญ่ๆ ประหยัดต้นทุนได้มากกว่ากลุ่มอื่นๆ เขาจะบอกว่ามันเอื้อต่อชนทุกชั้น แต่เมื่อดูเปอร์เซ็นเราก็จะเห็นว่าคนข้างบนได้ประโยชน์มากกว่า
ส่วนไบเดน ก็จะเก็บภาษีกับบริษัท และคนรวยมากขึ้น เก็บภาษีที่ได้จาก Capital Gain ที่เกิดจากการเล่นหุ้นเป็นต้น และจะเพิ่มค่าแรงขั้นต่ำสำหรับคนอเมริกา ตอนนี้ค่าแรงขั้นต่ำของคนอเมริกา คนที่ทำงานในธุรกิจที่ได้ tips เขาไม่ได้ค่าแรงขั้นต่ำ เพราะมีความเชื่อว่าได้ tips อยู่แล้ว ไม่ควรมีการการันตีค่าแรงขั้นต่ำ ไบเดนก็จะบอกว่าค่าแรงขั้นต่ำควรจะปรับใช้กับทุกคน อันนี้คือนโยบายเศรษฐกิจหลักๆ
และอีกเรื่องที่เป็นประเด็นที่พูดกันต่อเนื่องทุกปี ในการเลือกตั้งสหรัฐฯ ก็คือ การประกันสุขภาพ ซึ่งก็เหมือนเดิม และเดาได้ คือทรัมป์ไม่เอา obamacare แต่ไบเดนจะเอา obamacare ต่อ และจะลดอายุผู้สูงอายุที่เข้าถึง ลงจาก 65 มา 60 ปี พวกนี้ก็เป็นนโยบายที่ชัดเจน ไม่มีอะไรแตกต่างจากเดิม
แต่สิ่งที่มีการพูดถึงมากขึ้นมากกว่าปีก่อนๆ และคนให้ความสนใจ คือ เรื่องสีผิว จากที่มีกรณี Black Lives Matter ขึ้นมา ซึ่งทรัมป์ก็พยายามจะบอกว่าอเมริกาไม่ได้มีปัญหาอะไรแบบนี้ แล้วเขาก็จะให้ความสำคัญกับเรื่องกฎหมายในการควบคุมการชุมนุม แต่ว่ามันก็จะมีกฎหมายนึง ซึ่งทรัมป์ไม่ได้เป็นคนพูด หรือคิดขึ้นมา แต่มีสิ่งที่เรียกว่า การหักลดภาษีให้กับการลงทุนในพื้นที่ struggle zone ในคอมมูนิตี้ที่มีคนสีผิวเยอะ หรือคนจน แต่ที่ผ่านมาคนที่ใช้ประโยชน์จากการหักลดภาษีนี้ ก็คือนายทุนที่มีเงิน เอาประโยชน์ที่ได้จากการหักลดภาษี ไปลงทุนในพื้นที่ยากจน ซึ่งสุดท้ายก็ทำให้คนที่อยู่บริเวณนั้นได้รับผลกระทบมากกว่าเดิม เพราะถูกไล่ที่ มันก็ไม่ได้แก้ปัญหาตรงจุด ทรัมป์ก็จะบอกว่าเขาสนับสนุนนโยบายนี้ต่อไป แต่โดยหลักการมันจะทำให้เกิดการลงทุนในพื้นที่นั้น และจะทำให้ช่องว่างระหว่างคนรวย และคนจนใกล้กันมากขึ้น แต่ว่าผลของนโยบาย คือสิ่งที่มีปัญหา ซึ่งทรัมป์ไม่ได้ยอมรับมัน
ส่วนไบเดน เขาเอาคามาลา แฮร์ริส ขึ้นมาเป็นแคนดิเดตรองประธานาธิบดี แปลว่าเขายอมรับปัญหาเรื่องเชื้อชาติในสหรัฐฯ แล้วจริงๆ คนดำ และคนผิวสีก็เป็นส่วนสำคัญที่จะมาสนับสนุนเขา ดังนั้นเขาจึงมีความจำเป็นที่จะต้องสนใจปัญหาเหยียดสีผิวในสหรัฐฯ และพยายามจะพูดถึงปัญหาคนใช้ผลประโยชน์ของการหักลดภาษีในนโยบายนี้
อีกอย่างที่มันเพิ่มเข้ามาของไบเดน ซึ่งคนค่อนข้างถกเถียงว่าจำเป็นไหม คือการให้เงินสนับสนุน หรือเป็นสินไหมทดแทนกับลูกหลานของคนที่เคยเป็นทาสมาก่อน อันนี้ก็มีการดีเบตกันไปว่าจำเป็นไหม ควรต้องให้ไหม หรือมันควรจะต้องผ่านความรู้สึกแบบนี้ไปแล้วหรือเปล่า ซึ่งอีกฝ่ายนึงก็อาจจะคิดได้ว่า มีคนที่ทำวิจัยออกมาว่า บาดแผลที่มันอยู่กับลูกหลานคนที่เคยเป็นทาสมาก่อนยังมีอยู่ มรดกความเจ็บปวดจากรุ่นพ่อแม่ ปู่ย่านั้น ยังมีผลกระทบทั้งเรื่องจิตใจ และเศรษฐกิจ นี่ก็เป็นดีเบตนึงที่คนให้ความสนใจมากในเรื่องเชื้อชาติ
แต่จุดยืนเรื่องนโยบายตอนนี้แทบไม่มีผลแล้วในสหรัฐฯ เพราะว่าประเทศมันแตกแยกจนที่ว่า คนเชียร์ทรัมป์ก็จะเชียร์ทรัมป์ คนเกลียดทรัมป์ก็จะเชียร์ไบเดน
ความแตกต่างทำให้ทั้ง 2 พรรค 2 แคนดิเดตมีฐานเสียงชัดเจน แล้วคนที่อยู่กลางๆ หรือรัฐที่เป็น swing state จะถูกโน้มน้าวด้วยปัจจัยอะไรได้
ผลมันน่าตกใจมาก ตั้งแต่สมัยโอบามาเป็นต้นมาจนถึงทรัมป์ คนที่จะเชียร์เดโมแครต และรีพับลิกันมั่นคงมากๆ ดังนั้นสิ่งที่คาดหวังได้ก็คือ independent ซึ่งโพลล์ที่ออกมาตอนนี้ ในหลายๆ สำนักข่าวที่เจาะตาม swing state พบว่า ไบเดนยังนำอยู่ในหลายๆ รัฐ แต่ตอนนี้ก็กลายเป็นว่าแต่ละสำนักข่าวระบุถึง swing state ไม่เหมือนกันแล้ว มันไม่ได้มีแค่ฟลอริดา หรือโอไฮโอแบบดั้งเดิม ทั้งตอนนี้เค้าไม่ได้คำนึงถึงแค่ swing state ธรรมดา แต่ยังมีรัฐที่ชนะกันแค่นิดเดียว เขาคาดว่าอาจจะมีปัจจัยที่ทำให้ swing มากกว่าปี 2016 ที่คนหลายคนไม่ออกมาเลือกตั้งด้วยซ้ำ
สิ่งที่ทำให้คนที่อยู่ตรงกลางเลือกทรัมป์ หรือไบเดน ปัจจัยนึงที่ค่อนข้างมีความสำคัญมากในช่วง 6 เดือน หรือเกือบ 1 ปีที่ผ่านมา ก็คือการจัดการปัญหา COVID-19 ของทรัมป์ ซึ่งตอนแรกๆ ที่ทรัมป์ออกมาแถลงทุกวัน ก็ดูว่า ผลสำรวจการยอมรับ (approval rate) ของทรัมป์สูงขึ้น แต่ว่าเราก็เห็นแล้วว่ามันไม่สามารถทำให้ Make America Great Again หรือเป็น Number 1 In the World และเราก็ล็อกดาวน์กันมาเกือบปีแล้ว เศรษฐกิจก็ไม่ฟื้น และก็มีตัวชี้วัดให้เห็นแล้วว่า การไม่ล็อกดาวน์ก็ทำให้ยอดผู้ติดเชื้อพุ่งสูงขึ้น
ดังนั้นความไม่พอใจกับการที่ไม่ชัดเจนในการดีลกับปัญหาของทรัมป์ เช่นจะให้ใส่ หรือไม่ใส่หน้ากาก มันทำให้คนค่อนข้างสับสน และการที่ไม่สามารถแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจได้ ซึ่งแผนกระตุ้นเศรษฐกิจก็ยังไม่ออกมาในรอบ 2 ด้วย ยิ่งทำให้คนรู้สึกว่า การแก้ปัญหาของทรัมป์ไม่เป็นไปอย่างที่ประธานาธิบดีควรทำ และจะเป็น และยิ่งตัวเองมาติด COVID-19 อีก
อัตราผลสำรวจการยอมรับของทรัมป์ ก็จะเห็นการแบ่งแยกชัดเจนมาก ถ้าเป็นในกลุ่มรีพับลิกันก็ยัง มีอัตราที่สูงเท่าเดิม ถ้าเป็นเดโมแครต ก็จะยอมรับต่ำมาก แต่ว่าตัวชี้วัดก็คือมันมีอัตราที่ลดลงในกลุ่ม independent ซึ่งไม่ได้ลดหนัก แต่มันค่อยๆ ลง
ครั้งนี้คนจะออกมาเลือกตั้งเยอะขึ้นไหม จากปัญหาการเมืองภายในต่างๆ ที่มี
เยอะ ถ้าดูจากยอดการออกมาก็เยอะ หลายๆ รัฐก็คือเยอะกว่ายอดคนที่ออกมาเลือกตั้งของ 4 ปีที่แล้วไปแล้ว มันก็มีคนรุ่นใหม่ หรือเราคุยกับเพื่อนเรา เขาก็บอกว่าเขาต้องออก เพื่อที่ว่าไม่ว่าผลจะออกยังไง เขาต้องโหวต เพื่อที่เขาจะมีความชอบด้วยกฎหมายในการวิจารณ์รัฐบาลต่อจากนี้
จากข่าวล่าสุด กับการถูกเปิดเผยเรื่องการจ่ายภาษีของทรัมป์ และการติดเชื้อ COVID-19 ส่งผลต่อทรัมป์ยังไงบ้าง
อย่างที่บอกคือ มันแบ่งแยก polarize จนไม่ส่งผลอะไรแล้ว คนที่จะด่าประเด็นพวกนี้ก็คือคนที่ไม่ชอบทรัมป์ ซึ่งก็คือเดโมแครต มันอาจจะทำให้ independent รู้สึกได้ว่าทำไมถึงเป็นแบบนี้ แต่ไม่ใช่เรื่องที่คนไม่รู้ เรื่องที่ทรัมป์หนีภาษี ก็ถูกพูดถึงอยู่บ่อยๆ ในสื่อ จนเราคิดว่ามันไม่ใช่เรื่องใหม่ แต่มันก็เป็นเรื่องที่สื่อฝ่ายเดโมแครต หรือฝ่ายที่ไม่ชอบทรัมป์นำมาเล่นอยู่ เราว่ามันไม่มีเรื่องอะไรที่ทำให้แปลกใจกับทรัมป์ได้อีกแล้ว มันแตกแยกชัดมากในสหรัฐฯ จนคนที่ยังเชียร์ ก็ยังเชียร์อยู่จิงๆ
ในส่วนของไบเดน ทรัมป์เองก็ชอบโจมตีว่า เขาเป็นนักการเมืองมานาน แต่ไม่ทำอะไรเลย การอยู่ในวงการการเมืองมายาวนาน และเคยเป็นรองประธานาธิบดีในยุคโอบามา มีผลต่อไบเดนไหม
ฝ่ายตรงข้ามก็จะโจมตีไบเดน ในเรื่องที่เขาอนุมัติให้มีการไปอาฟกานิสถานกับอิรัก มีคนเอาเรื่องนี้มาพูดซ้ำๆ ว่าไบเดนเป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้เกิดสงคราม เกิดปัญหาเรื้อรังถึงทุกวันนี้ ซึ่งทรัมป์ไม่เกี่ยว แล้วก็จะมีคนพูดว่าจะทำยังไงให้ไบเดน ออกจากมรดกของโอบามา หรือประเด็นที่ถูกกล่าวหาเรื่องการล่วงละเมิดทางเพศผู้หญิง ก็มีประเด็นแบบนี้เรื่อยๆ
แต่ว่าคนที่ออกไปเลือกไบเดนครั้งนี้ อาจจะไม่ได้ชอบไบเดนก็ได้ หรือไม่ได้สนับสนุนไบเดนเต็มร้อย แต่เขาโหวตไบเดนเพราะเชื่อว่า ถ้าไม่ออกมา เขาต้องอยู่ภายใต้ทรัมป์ไปอีก 4 ปี ซึ่งประเด็นนี้อาจจะสำคัญมากกว่าการชอบหรือไม่ชอบไบเดน ส่วนคนที่ชอบทรัมป์ ก็จะไม่ชอบไบเดนอยู่แล้ว
สมมติว่าถ้าครั้งนี้ทรัมป์ไม่ชนะ แต่ไบเดนชนะ ความแตกแยกที่เคยเกิดขึ้นในยุคนี้ จะมีทางที่กลับมาเป็นเหมือนเดิมมากขึ้นไหม
อาจจะมีโอกาส เพราะว่านโยบายของไบเดนตอนนี้ ก็ไม่พยายามจะแยกฝั่งตรงข้ามเต็มที่ ยังพูดถึงการปกป้องการจ้างงาน การแทร็กบริษัทที่ไปจ้างงานในต่างประเทศ และกลับมาขายในสหรัฐฯ มันมีแมสเซจที่ดึงดูดคนที่ไม่อยากให้การจ้างงานออกไปนอกประเทศ อย่างเรื่องของเชื้อชาติเอง ไบเดนก็ไม่ได้สนับสนุนการตัดลบงบประมาณของตำรวจทั้งๆ ที่กลุ่มผู้ชุมนุม BLM เรียกร้องประเด็นนี้ มีความพยายามของไบเดนที่จึงดึงกลับมาตรงกลางมากขึ้น แต่เราก็ไม่แน่ใจว่าจะทำให้กลับมาตรงกลางได้ขนาดไหน ในสังคมที่ซ้ายสุด กับขวาสุดไม่คุยกันแล้ว มีการทะเลาะกัน มันก็อาจจะยากนิดนึง
จริงๆ เทรนด์ของความแตกแยกมันก็มาตั้งแต่สมัยโอบามาแล้ว ไม่ใช่เพิ่งมาเริ่มตอนทรัมป์ แต่ทรัมป์ทำให้เทรนด์นั้นมันกว้างขึ้น
ถ้าโจ ไบเดนชนะ หรือทรัมป์ชนะ จะมีผลแตกต่างในประเทศ และนอกประเทศอย่างไร
แตกต่างมาก เรื่องเศรษฐกิจอาจจะพูดยาก เพราะหากเดโมแครตขึ้นมา GDP ก็ไม่ได้สูงสุดโต่งขนาดนั้น แต่ว่าเดโมแครตก็จะไปเน้นเรื่องการทำให้เกิดความเท่าเทียมมากขึ้น สิ่งที่ต่างในตอนนี้ คนพุ่งเป้าไปที่เรื่องการเหยียดผิว เรื่องการแสดงความเกลียดชัดต่อฝ่ายตรงข้าม มันไม่ได้กลายเป็นมาตรฐาน แต่มันกลายเป็นเรื่องที่ทำให้ทำได้ในยุคทรัมป์ การที่ไบเดนขึ้นมาอาจจะทำให้มาตรฐานเปลี่ยน และกลับไปที่เดิมอีกนิดนึง อาจมีการสนใจคนกลุ่มน้อยมากขึ้นกว่าตอนนี้ มั่นคงมากขึ้นกับคนเข้าเมือง ที่อาจทำให้มีนโยบายที่รุนแรงน้อยลง ส่งคนกลับบ้านน้อยลง และคงความเป็นประเทศที่เปิดรับคนต่างชาติเข้ามา
เราก็ต้องยอมรับว่าอุตสาหกรรมหลักๆ ของสหรัฐฯ เช่นเทคโนโลยี ขับเคลื่อนด้วยคนต่างชาติ ไม่ใช่คนในประเทศ คนต่างชาติที่มาจบปริญญาในอเมริกา และมีสกิล หรือมาจากประเทศอื่นๆ ซึ่งคนอเมริกาจริงๆ ไม่สามารถมีสกิลทำงานตรงนี้ เมื่อใดก็ตามที่อเมริกาปิดกั้นคนที่มีสกิล ซึ่งมันเริ่มเห็นแล้ว ในกรณีทรัมป์ที่ทำให้ขอ Green card ได้ยากขึ้น มันส่งผลกระทบต่อเทคโนโลยีหลักๆ ของสหรัฐฯ เหมือนกัน และจะทำให้บริษัทพวกนี้ต้องย้ายไปตั้งฐานในแคนาดา หรือประเทศอื่นที่เอื้อให้เขาสามารถจ้างคนที่มีคุณภาพได้มากขึ้น ซึ่งมันก็เป็นผลเสียต่ออเมริกา อันนี้ก็ต้องรอดูต่อไป
แต่ทรัมป์ก็คาดการณ์ยาก พอเจอปัญหา เขาก็เปลี่ยน และก็ไม่ค่อยลงร่องลงรอย แต่การปรับเปลี่ยนภายใต้ไบเดนอาจจะทำให้สหรัฐฯ กลับมาอยู่ในความเป็นปกติมากขึ้น
ส่วนเรื่องต่างประเทศ แตกต่างกันแน่นอน ไบเดนจะเน้นการเจรจากับพันธมิตร รักษาพันธมิตรไว้ เหมือนรักษามาตรฐานที่สหรัฐฯ สร้างขึ้นภายหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 ในขณะที่ทรัมป์ชัดเจนว่า จะไม่เอาพันธมิตรแล้ว เพราะการมีพันธมิตรมันเปลืองงบประมาณ ซึ่งแง่นึงเราก็ว่าสิ่งที่ทรัมป์พูดเป็นเรื่องจริง เพราะประเทศในยุโรปก็มีความสามารถในการสร้างกองกำลังของตัวเองขึ้นมาปกป้องได้แล้ว แต่การที่ยุโรปไม่ขึ้นมาทำส่วนนี้ ก็เพราะมีอเมริกาสนับสนุนอยู่ จริงๆ การที่ไม่เอาพันธมิตรก็มีเรื่องของความไว้เนื้อเชื่อใจกันในความสัมพันธ์ระหว่างประเทศด้วย จริงอยู่ที่ยุโรปมันขึ้นมาได้ถ้าอเมริกาไม่ซัพพอร์ต แต่ความไว้เนื้อเชื่อใจจะเป็นอย่างไรหลังจากนี้ อันนี้ก็เป็นสิ่งที่ยังไม่รู้
อย่างไทย หรืออาเซียนเอง จะได้รับผลกระทบมากน้อยแค่ไหน อย่างไร
ถ้าดูท่าทีของไบเดน อาจจะกลับมาให้ความสนใจเอเชียตะวันออกเฉียงใต้มากขึ้น ในการสร้างพันธมิตรเพื่อที่จะป้องกันไม่ให้จีนเติบโตขึ้นในการมาแทนที่สหรัฐฯ ขณะที่อย่างที่เห็น ทรัมป์แทบจะไม่เห็นความสำคัญของเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เพราะเขาคิดว่า เขาสามารถหยุดการขึ้นมาของจีนโดยที่ไม่ต้องพึ่งพันธมิตร
ดังนั้นไทยกับเอเชียตะวันออกเฉียงใต้อาจมีความสำคัญในเชิงยุทธศาสตร์มากขึ้น ถ้าไบเดนขี้นมา ถ้าดูจากนโยบายของโอบามาเป็นอย่างไรในช่วงที่ไบเดนเป็นรองประธานาธิบดี เราก็เห็นการที่อเมริกาพยายามจะมาสร้างความสัมพันธ์ในเอเชียแปซิฟิก ดังนั้นเป็นไปได้ว่า ไทยจะสำคัญมากขึ้น หลังไบเดนขึ้นมา ประเด็นในประเทศไทยก็จะได้รับความสนใจมากขึ้นเช่นกัน
ทำไมคนไทยต้องสนใจการเลือกตั้งสหรัฐฯ
การเลือกตั้งสหรัฐฯ ไม่ว่าใครจะเป็นประธานาธิบดี หรือจะเลือกตั้งครั้งไหนมันสร้างแรงสั่นสะเทือนทั่วโลก เพราะมันมีนโยบายที่เกี่ยวข้องกับทั่วโลกหมด ปฏิเสธไม่ได้ว่า หลังสงครามโลกครั้งที่สอง หรือสงครามเย็น สหรัฐฯ รันนโยบายต่างๆ ที่เกี่ยวกับประเทศอื่นๆ
ถ้าถามว่าทำไมเราต้องสนใจ เพราะนโยบายของสหรัฐฯ ต่อจีน ย่อมส่งผลต่อประเทศไทย ไม่ว่าจะเป็นด้านการเมืองหรือเศรษฐกิจ ถ้าเขามีการแข่งขันกัน เราจะวางตัวเองตรงไหน ถ้ามีการปิดกั้น หรือตั้งกำแพงภาษี เราจะได้ประโยชน์จากตรงนั้นได้ไหม ซึ่งที่ผ่านมาเราได้ประโยชน์จากมันไม่ได้เลย ทั้งๆ ที่เราควรจะทำได้
สหรัฐฯ เป็นมหาอำนาจ ไม่ใช่แค่เรื่องระหว่างสหรัฐฯ กับจีน แต่ว่าเขาจะเข้ามาเกี่ยวข้องกับพันธมิตรมากน้อยแค่ไหน และมันเกี่ยวกับการวางบทบาทของไทย กำหนดยุทธศาสตร์ของไทย ว่าเราควรจะเล่มเกมอะไร เพราะว่าสหรัฐฯ กังวลเรื่องจีนจริงๆ
ถ้าเช่นนั้น ไทยควรวางตัวอย่างไร กับประเทศมหาอำนาจอย่างสหรัฐฯ
ดีที่สุดคือ การไม่อยู่ข้างใดข้างหนึ่ง ไม่เข้าหาจีนจนเกินไป แต่เราคิดว่าจริงๆ แล้วการที่ทรัมป์ขึ้นมา ทำให้รัฐบาลไทยวางตัวง่ายมาก เพราะการคบค้าสมาคมกับจีน มันได้ประโยชน์ด้านการค้า มีกฎเกณฑ์ต่างๆ น้อยกว่า แต่ถ้าพูดในมุมของประชาชน ก็แปลว่าอิทธิพลในการช่วยเหลือจากประเทศตะวันตก ในการที่จะมีซัพพอร์ตมาช่วยต่อต้านรัฐบาลก็อาจจะน้อยลง เพราะเขาไม่ได้สนับสนุนเราขนาดนั้น
ภายใต้รัฐบาลทรัมป์เขาไม่ได้แคร์อยู่แล้ว เพราะเขาไม่ได้มองว่าการขึ้นมาของจีน ทำให้เขาต้องเข้าไปเกี่ยวข้อง หรือผูกมิตรกับพันธมิตรอื่นๆ ตอนนี้ยากที่จะทำให้ประเด็นให้สิ่งที่คนเรียกร้อง หรือผู้ชุมนุมเรียกร้องให้สหรัฐฯ มาให้ความสนใจแบบที่ผ่านมา หรือออกมา call out รัฐบาลไทย ก็ทำได้ยากขึ้น เพราะเขาไม่ได้สนใจเรา
คิดในอีกแง่นึง ปัญหาแบบทรัมป์ก็คือ เราอาจจะไม่รู้ด้วยซ้ำว่า รัฐบาลไทยอยากเลือกข้างจีนหรือเปล่า แต่ว่ามันไม่มีอีกตัวเลือกนึงที่จะมาสนับสนุนแล้ว มันจะว่าง่ายก็ง่าย ยากก็ยาก เราไม่รู้ว่าจริงๆ จุดยืนในเคสที่มหาอำนาจยังแคร์ประเทศไทย จุดยืนเราจะเป็นอย่างไร
พูดถึงประเทศประชาธิปไตย คนไทยมักพูดถึงสหรัฐฯ การเลือกตั้งประธานาธิบดีสะท้อนให้เห็นประชาธิปไตยของประเทศนี้ อย่างไร
สภาพที่เราสัมผัสในอเมริกาตอนนี้ โดยเฉพาะคนอเมริกันฝั่งลิเบอรัล อยู่ในสภาวะความกลัวพอสมควร ว่าการเลือกตั้งครั้งนี้ มันจะทำให้ความเป็นประชาธิปไตยในสหรัฐฯ ต่ำลง เราอาจจะไม่เชื่อนะว่า คนอเมริกันเริ่มพูดคุยกันว่ามันเป็น democracy step back เรานึกไม่ถึงเพราะเราไม่เคยไปถึงจุดนั้นด้วยซ้ำ แต่ว่าในสหรัฐฯ เขามองว่าการที่เข้ามาแทรกแซงให้ผลการเลือกตั้งมันรวน ให้เงินทุนกับ usps ลดลง มีการเจรจา มีข้อเรียกร้องที่มากขึ้น การที่มีการตั้งผู้พิพากษาศาลสูงสุดที่ปกติต้องให้รัฐบาลใหม่ ให้อำนาจเขาก่อนในการแต่งตั้ง แต่ทรัมป์จะแต่งตั้งก่อน หรือแม้แต่ความกลัวที่ว่าเดโมแครตชนะ ทรัมป์จะยอมให้ตำแหน่งกับไบเดนหรือเปล่า มันมีความกลัวมาตลอด เพราะที่ผ่านมา 4 ปี มันก็ดูเห็นว่า ทรัมป์เองก็ไม่ได้เชื่อในบรรทัดฐานประชาธิปไตยขนาดนั้น
แต่เราคิดว่าความกลัวบางอันมันก็เป็นความกังวลมากไป เรายังเชื่ออยู่ว่าหลักการที่จะมีการเปลี่ยนผ่านที่ลื่นไหลในสหรัฐฯ ยังคงอยู่ ทรัมป์ไม่น่าจะสั่งการให้มีทหารออกมาเพื่อปกป้องตัวเองได้ เราเชื่อว่า สถาบันมันยังแข็งแรงอยู่ แม้ว่าคนอเมริกันอาจจะไม่ได้เชื่อในสถาบันขนาดนั้น
แปลว่ากระบวนการถ่วงดุลอำนาจ หรือโครงสร้างประชาธิปไตยก็ยังค้านอำนาจกันอยู่
ในสายตาของคนที่เราเห็นประเทศเราระบบไม่ถ่วงดุลกัน เราเชื่อว่ามันยังทำงานได้อยู่ แต่ก็รอดู เพราะในระหว่างนี้มันยังมีสภาคองเกรส มีศาลสูงสุดอยู่ และยิ่งกว่าสถาบันคือ ยังมีคนที่เชื่อในบรรทัดฐานพวกนี้อยู่ ดังนั้นถ้าทรัมป์ไม่ยอมปล่อยให้มีการเปลี่ยนผ่านที่ลื่นไหล เราว่าจะมีกระบวนการของประชาชน
เราเรียนรู้อะไรได้บ้าง จากประชาธิปไตยในประเทศอเมริกา
ถ้าเราจะเรียนรู้อะไรได้ซักอย่าง การออกแบบสถาบันทางการเมืองมันสำคัญมาก ที่จะทำให้อำนาจของตนกลุ่มไหน ตำแหน่งไหน มีแค่ไหน และจะถูกถ่วงดุลได้ขนาดไหน มันมีความสำคัญมากต่อสเถียรภาพของการเมือง มันยาก และก็จะต้องเปลี่ยนแปลงไปเรื่อยๆ จนกว่าจะถึงจุดที่ทุกอย่างลงตัว
แต่เราไม่สามารถอยู่ในการเมืองที่เราจะหาแต่คนดี อยู่ที่ตัวบุคคลได้ เพราะว่ามันไม่มีทางที่เราจะหาคนที่เป็นคนดีมาบริหารประเทศได้ตลอดเวลา ดังนั้นกรณีทรัมป์มันแสดงให้เห็นว่า แม้ว่าประธานาธิบดีจะเป็นยังไง คนจะเกลียดขนาดไหน ตลอดเวลาที่ผ่านมามันมีการถ่วงดุลระหว่างฝ่ายค้าน ฝ่ายรัฐบาล มันมีการใช้อำนาจของศาลในการตัดสิน ว่าบางอย่างถูกหรือผิดกับรัฐธรรมนูญ และที่สำคัญ ทุกๆ 4 ปี ก็ได้เลือกตั้งใหม่ นี่คือสิ่งที่สำคัญคือการออกแบบสถาบันการเมืองให้ถ่วงดุลกัน ไม่มีใครได้อำนาจไปมากที่สุด และไม่เชื่อในระบบตัวบุคคล
นี่คือสิ่งที่นักศึกษา หรือการชุมนุมในไทยเรียกร้องว่า เราไม่ได้ต้องการตัวบุคคล เราต้องการระบบที่มันดี โครงสร้างที่มันดี อันนี้คนจะด่าอเมริกาอะไรก็แล้วแต่ แต่การใช้กำลังควบคุมฝูงชนในการชุมนุมที่ผ่านมา มันก็ถูกตรวจสอบได้ ถูกฟ้องได้ สิ่งนี้มันไม่เคยเกิดขึ้นในประเทศไทยเลย
ถ้าสถาบันดี สถาบันมั่นคง มีรัฐธรรมนูญที่ดี และเราเคารพรัฐธรรมนูญ มันจะล้มลุกคุกคลานยังไงก็แล้วแต่ในช่วงเวลาที่เราเรียนรู้กันไป แต่ซักวันหนึ่งมันจะเข้าที่เข้าทาง และมันจะได้ตัวแทนที่ใช้อำนาจจากประชาชนจริงๆ