รุ่งเช้าของวันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2564 พล.อ.อาวุโสมิน อ่อน หล่าย นำรถถังและอาวุธสงครามเข้ายึดเมืองหลวงของเมียนมา ก่อนประกาศยึดอำนาจจากพรรคสันนิบาตแห่งชาติ โดยให้เหตุผลว่ามีการเลือกตั้งที่ไม่โปร่งใส และ รับปากว่า “ขอเวลาอีกไม่นาน” จะคืนอำนาจให้ประชาชนตามวิถีประชาธิปไตย
แต่คำกล่าวอ้างดังกล่าวยิ่งเป็นการรดน้ำมันเข้าในใจของประชาชนชาวเมียนมาที่รักประชาธิปไตย พวกเขารู้ว่ามันไม่มีทางเป็นความจริงจึงออกมาประท้วงต่อต้านการยึดอำนาจครั้งนี้ แต่ผลลัพธ์ที่ได้คือ กระสุนปืน, แอร์สไตรก์, การใช้กฎหมายปิดปาก และบทลงโทษจำคุกอดีตที่ปรึกษาแห่งรัฐ อองซาน ซูจี ที่เข้ามาด้วยการเลือกตั้ง
ครบรอบ 1 ปีรัฐประหารเมียนมา เกิดเหตุการณ์สำคัญอะไรขึ้นบ้าง วันนี้เรามาย้อนให้ดูกัน
กองทัพยึดอำนาจรัฐบาลพลเรือน
วันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2564 กองทัพภายใต้การนำของ พล.อ.มิน อ่อง หล่ายได้เข้ายึดอำนาจจากรัฐบาลพลเรือนของ อองซาน ซูจี ทัตมาดอว์ให้เหตุผลว่าชัยชนะอย่างถล่มทลายของพรรคสันนิบาตแห่งชาติเมื่อวันที่ 8 พ.ย. 2563 ไม่เป็นธรรมและเต็มไปด้วยการทุจริต ในวันเดียวกันกองทัพได้ประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินทั่วประเทศเป็นระยะเวลา 1 ปี และจับกุมตัว ซูจี ไปในวันเดียวกัน ทั้งนี้ สำนักข่าวบีบีซีรายงานว่า ทัตมาดอว์ยังควบคุมตัวผู้นำทางการเมืองอีกหลายคน รวมถึงมีการปิดสัญญาณอินเตอร์เน็ตในวันนั้นด้วย
ก่อนหน้าปฏิบัติการครั้งนี้ กองทัพออกมาปฏิเสธข่าวลือรัฐประหารตลอดเวลา และยืนยันว่าจะไม่ใช้กำลังทหารเพื่อจัดการวิกฤตทางการเมืองในประเทศ อย่างไรก็ตาม ผลลัพธ์ออกมาแล้วว่าไม่เป็นไปตามที่คณะรัฐประหารกล่าวอ้าง และนั่นเป็นปฐมบทของการนองเลือดตลอด 1 ปีในเมียนมา
รมต. ต่างประเทศเมียนมาเข้าพบประยุทธ์
ภายใต้ความกดดันจากรอบสารทิศต่อเมียนมา ในวันที่ 24 กุมภาพันธ์ 2564 ได้มีข่าวหลุดออกมาว่า วันนะ หม่อง ลวิน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศของเมียนมา ได้เดินทางมาพบ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีของประเทศไทย ที่สนามบินดอนเมือง และมีรายงานในวันเดียวกันด้วยว่ามีการเข้าพบ ดอน ปรมัตถ์วินัย รัฐมนตรีว่าการต่างประเทศของไทยพร้อมกับ เร็ตโน มาร์ซูดี รัฐมนตรีว่าการต่างประเทศของอินโดนีเซีย ซึ่งก่อนหน้านี้อินโดนีเซียได้เดินทางไปเยือนประเทศอาเซียนหลายแห่งมาแล้ว โดยสำนักข่าวเกียวโตยกคำพูดของเธอต่อวิกฤตการเมืองในเมียนมาว่า “การไม่ทำอะไรเลย ไม่ใช่ทางเลือกของเรา”
อย่างไรก็ดีในวันต่อมา (25 ก.พ. 2564) นายกฯ ยอมรับว่ามีการพูดคุยกับรัฐมนตรีต่างประเทศเมียนมาจริง แต่เป็นเพียงการแลกเปลี่ยนสถานการณ์เท่านั้น ไม่ได้เป็นการยอมรับการยึดอำนาจในเมียนมาแต่อย่างใด และยืนยันตามหลักการของอาเซียนที่จะ “ไม่แทรกแซง” เรื่องภายในของแต่ละประเทศ
ขณะที่หลายฝ่ายออกมาแสดงท่าทีไม่เห็นด้วยกับการพบกันครั้งนี้ หนึ่งในนั้นคือ วัฒนา เมืองสุข อดีตรัฐมนตรีพาณิชย์และอีกหลายรัฐมนตรีสมัยพรรคเพื่อไทย ที่วิจารณ์ว่าท่าทีเช่นนี้ไม่เหมาะสม และส่งผลต่อความสัมพันธ์กับสหรัฐฯ ที่เป็นมหามิตรของไทย
วันกองทัพเมียนมา
การประท้วงในเมียนมาดำเนินอย่างต่อเนื่องตั้งแต่หลังการรัฐประหาร แต่ความรุนแรงมาระเบิดขึ้นในวันที่ 27 มีนาคม 2564 ซึ่งตรงกับวันกองทัพเมียนมา มีรายงานจากสำนักข่าว Reuters ว่า มีผู้เสียชีวิตจากการสลายชุมนุมในวันนั้นถึง 114 ราย นับเป็นตัวเลขสูงที่สุดตั้งแต่มีการชุมนุมประท้วงมา (ถึงเหตุการณ์ขณะนั้น)
การสังหารหมู่ในตัวเมือง ตามมาด้วยปฏิบัติการโจมตีทางอากาศ 2 ครั้งใน จ.ผาปูน รัฐกะเหรี่ยง หรือพื้นที่ฐานที่มั่นของกลุ่มกะเหรี่ยง KNU ซึ่งประกาศจุดยืนต่อต้านการรัฐประหารตลอดมา ทำให้มีผู้เสียชีวิต 3 ราย และบาดเจ็บ 7 ราย ทางการ KNU ยืนยันว่านี่เป็นครั้งแรกในรอบ 20 ปี ที่กองทัพเมียนมาใช้ปฏิบัติการแอร์สไตรก์กับฐานที่มั่นของพวกเขา
ในวันนั้น ไทยร่วมกับ จีน, อินเดีย, ปากีสถาน, บังกลาเทศ, เวียดนาม, และลาว ได้ส่งตัวแทนเข้าร่วมงานสวนสนามของทัตมาดอว์ ขณะที่อีก 12 ประเทศ ได้แก่ ญี่ปุ่น, เกาหลีใต้, ออสเตรเลีย, นิวซีแลนด์, สหรัฐฯ, สหราชอาณาจักร, แคนาดา, เดนมาร์ก, เยอรมนี, กรีซ, อิตาลี และเนเธอร์แลนด์ออกแถลงการณ์กดดันให้กองทัพยุติความรุนแรงกับประชาชน
“กองทัพที่มีความเป็นมืออาชีพ ย่อมต้องปฏิบัติตามมาตรฐานสากล และมีความรับผิดชอบในการปกป้อง, ไม่ใช่ทำร้าย, ประชาชนที่พวกเขาป้องดูแล” ข้อความบางส่วนจากแถลงการณ์ของ 12 ประเทศ
ศึกแม่น้ำสาละวิน
หลายคนคงจำภาพกองข้าวปริศนา 700 กระสอบที่ถูกนำมาวางไว้กลางดึกใน ต.แม่สามแลบ อ.สบเมย จ.แม่ฮ่องสอน ได้ ก่อนที่เวลาต่อมาทางการเมียนมาจะออกมายืนยันว่าเป็นของทัตมาดอว์ โดยลำเลียงเสบียงจากฐานทัพของกองทัพใกล้ อ.แม่สอด จ.ตาก ไปบริเวณ อ.สบเมย จ.แม่ฮ่องสอน ที่กำลังมีการปะทะระหว่างทัตมาดอว์กับกลุ่ม KNU
การปะทะระหว่าง KNU กับทัตมาดอว์เกิดขึ้นตลอดเดือน มี.ค. – เม.ย. โดยเฉพาะบริเวณริมฝั่งแม่น้ำสาละวิน ที่เป็นเขตอิทธิพลของกองพล 5 กองกำลังที่เข้มแข็งที่สุดของ KNU ซึ่งทำให้ประชาชนชาวเมียนมาบางส่วนอพยพเข้ามาในไทยด้วยเช่นกัน
อาเซียนไม่เชิญ มิน อ่อง หล่าย ร่วมประชุมสุดยอดผู้นำ
ในวันที่ 16 ต.ค. 2564 วิเวียน บารากิสนัน รัฐมนตรีต่างประเทศสิงคโปร์ เปิดเผยผ่านทวิตเตอร์ของตัวเองว่า ที่ประชุมอาเซียนมีมติไม่เชิญ พล.อ.มิน อ่อน หล่ายเข้าร่วมประชุดสุดยอดผู้นำอาเซียนในปลายเดือนนี้ โดยให้เหตุผลว่าทางการเมียนมาไม่ยอมตอบสนองข้อเรียกร้อง หยุดใช้ความรุนแรงกับกลุ่มผู้ชุมนุมและปล่อยตัวนักโทษการเมือง
โดยสื่อ Kyodo News รายงานว่า ประเทศที่ยืนยันว่าไม่ต้องการให้ผู้นำคณะรัฐประหารเข้าร่วมได้แก่ สิงคโปร์, ฟิลิปปินส์, อินโดนีเซีย และมาเลเซีย ขณะที่ประเทศอื่นยังมีท่าทีรอมชอมกว่านั้น เช่นเดียวกับทางการไทย ซึ่งโฆษกกระทรวงต่างประเทศออกมาแถลงในวันต่อมาว่า ไทยยังมองเมียนมาเป็นเสมือนครอบครัวสมาชิกอาเซียน ขณะที่ทางการเมียนมาออกมาตอบโต้มติครั้งนี้ว่า มีการแทรกแซงการประชุมจากชาติตะวันตก
ศาลตัดสินจำคุก อองซาน ซูจี
ความรุนแรงบนท้องถนนดำเนินคู่ไปกับการใช้กฎหมายกดหัวประชาชน ในวันที่ 6 ธ.ค. 2564 อองซาน ซูจี อดีตที่ปรึกษาแห่งรัฐได้ถูกพาตัวขึ้นศาลเมียนมา ก่อนถูกตันสินโทษจำคุก 2 ปีในข้อหาฝ่าฝืนมาตรการ COVID-19 และยุยงปลุกปั่น ก่อนที่ในวันที่ 10 ม.ค. 2564 จะตัดสินจำคุกเพิ่มอีก 4 ปี รวมเป็น 6 ปีในข้อนำเข้าและครอบครองวิทยุสื่อสาร
อองซาน ซูจี ยังเหลือคดีความติดตัวอีกอย่างน้อย 7 คดี และถ้าเธอถูกตัดสินว่าผิดทุกคดี เธออาจต้องโทษจำคุกมากกว่า 95 ปี
นี่ไม่ใช่ครั้งแรกที่ “แม่” ของประชาชนหลายคนในเมียนมาถูกเล่นงานด้วยกฎหมาย เพราะก่อนหน้านี้เธอเคยถูกกองทัพสั่งห้ามออกจากเคหะสถานมาแล้ว ก่อนที่คำสั่งดังกล่าวจะยกเลิกในปี 2010 พร้อมกับการเลือกตั้งทั่วประเทศในเวลาต่อมา
สังหารหมู่วันคริสต์มาส
ขณะที่ชาวคริสต์ทั่วโลกกำลังเฉลิมฉลองในเทศกาลคริสมาสต์ เกิดการปะทะกันระลอกใหญ่อีกครั้งระหว่างทัตมาดอว์และกลุ่ม KNU โดยบีบีซีไทยรายงานว่า การปะทะกันดังกล่าวเริ่มต้นตั้งแต่วันที่ 15 ธ.ค. 2564 หลังกองทัพเข้าไปตรวจค้นและจับกุมผู้ต่อต้านรัฐประหารในพื้นที่ของกลุ่ม KNU
สำนักข่าว AP รายงานว่า มีการเผาซากศพจำนวนมากจนกลิ่นเหม็นและกลุ่มควันลอยคว้างในอากาศ โดยหนึ่งในพยานผู้เห็นเหตุการณ์เล่าว่า “ศพถูกมัดด้วยเชือกก่อนที่จะจุดไฟเผา” และยังมีรายงานว่าพบกะโหลกมนุษย์ 27 ชิ้นในเมืองพรูโซ รัฐกะยา ขณะที่ทางด้านเมียนมาออกมาแถลงว่า “ผู้ก่อการร้าย” ไม่ยอมให้เจ้าหน้าที่ตรวจค้นรถ และเริ่มยิงใส่เจ้าหน้าที่ก่อน
ตลอดระยะเวลาการปะทะจนถึงวันที่ 25 ธ.ค. 2564 มีรายงานว่ากระสุนไม่ทราบฝ่ายตกมาในฝั่งไทย แต่ไม่มีผู้บาดเจ็บ และยังทำให้มีผู้อพยพชาวเมียนมาอย่างน้อย 5,000 คนเดินทางข้ามมาในฝั่งไทย โดยทางนายกฯ ไทยยืนยันว่าจะไม่มีการตั้งศูนย์ผู้อพยพ และไม่มีการอพยพชาวไทยออกจากพื้นที่ แต่ถ้าหากชาวไทยได้รับผลกระทบจะมีการแจ้งเตือนไปยังฝั่งเมียนมา
การทูตคาวบอย
ปฏิทินเปลี่ยนหน้า ศักราชเปลี่ยนเลข รุ่งอรุณของปีใหม่ในวันที่ 7 ม.ค. 2565 สมเด็จ ฮุนเซน นายกรัฐมนตรีของกัมพูชากลายเป็นผู้นำคนแรกที่เดินทางพบ พล.อ.มิน อ่อง หล่าย ที่เมียนมา อย่างไรก็ดี เขาถูกทางการเมียนมาปฏิเสธไม่ให้พบ อองซาน ซูจี อดีตที่ปรึกษาแห่งรัฐก่อนเกิดรัฐประหาร และถูกวิจาณณ์ว่าใช้ท่าที “การทูตแบบคาวบอย” หรือเป็นการทูตชนิดที่เสี่ยงมากเกินไป ซึ่ง ฮุนเซน ยืนยันว่าต้องการเป็นคนกลางแก้ไขปัญหาความขัดแย้งในเมียนมา
การเยือนเมียนมาครั้งนี้ถูกวิพากษ์วิจารณ์อย่างรุนแรงว่า เป็นการใช้ประโยชน์จากตำแหน่งประธานอาเซียนของกัมพูชาเพื่อแสวงหาประโยชน์ให้ ฮุนเซน รวมถึงฝ่ายต่อต้านการรัฐประหารในเมียนมาที่มองว่าท่าทีนี้ เป็นการยอมรับรัฐบาลคณะรัฐประหาร และเมินเฉยต่อความรุนแรงที่เกิดขึ้นต่อประชาชน ขณะที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงต่างประเทศของกัมพูชายืนยันว่า การพูดคุยครั้งนี้เพื่อสร้าง “สิ่งแวดล้อมที่เหมาะสมกับการหารือ และความไว้วางใจทางการเมืองของทุกฝ่าย”
มาถึงขณะนี้ สถานการณ์ในเมียนมายังคงคุกรุ่น ความรุนแรงยังดำเนินต่อไป ไม่มีท่าทีว่าจะสงบ และตลอดปีนี้เรายังต้องติดตามต่อไปว่าความรุนแรง การกวาดล้าง ปิดปากผู้เห็นต่างในเมียนมาจะคลี่คลายลงในทางที่ดีหรือย่ำแย่ลงมากกว่าเดิม เพราะทุกปัญหาที่เกิดขึ้น ย่อมส่งผลกับไทยไม่ทางใดก็ทางหนึ่ง และเช่นเดียวกันว่า ทุกท่าทีของไทยย่อมส่งผลกับรัฐบาลทหารของเมียนมาไม่ทางใดก็ทางหนึ่งเช่นกัน ในฐานะประเทศบ้านใกล้เรือนเคียงและอดีตรัฐบาลคณะรัฐประหารเหมือนกัน
อ้างอิง:
https://thematter.co/brief/139389/139389
https://www.nytimes.com/article/myanmar-news-protests-coup.html
https://www.bbc.com/thai/56196099
https://www.khaosod.co.th/politics/news_6018355
https://thestandard.co/what-happened-at-the-mae-sot-border/
https://news.thaipbs.or.th/content/302707
https://www.bbc.com/thai/international-56547336
https://workpointtoday.com/myanmar-asean-notinvite/
https://www.bbc.com/thai/thailand-59793476
https://www.bbc.com/thai/59903483