ท่ามกลางการแพร่ระบาดของไวรัส COVID-19 สายพันธุ์โอไมครอน เกิดกระแสเรียกร้องในโลกออนไลน์ #ยกเลิกเขาชนไก่ เพราะกังวลเรื่องสุขอนามัย และอาจกลายเป็นคลัสเตอร์แพร่ระบาดใหม่ได้
เสียงเรียกร้องจากคนที่เรียนรักษาดินแดนอยู่น่ารับฟัง ด้วยสถานการณ์แพร่ระบาดตอนนี้ยังไม่น่าไว้ใจเท่าไหร่ แต่ที่น่าสนใจคือ รุ่นพี่ รด. หรือคนที่เคยไปเขาชนไก่มาก่อนจากประสบการณ์และสายตา พวกเขามองสภาพความเป็นอยู่บนเขาชนไก่อย่างไร สุขอนามัยดีเพียงพอไหม รวมไปถึงพวกเขาได้เรียนรู้อะไรจากเขาชนไก่และการเรียน รด. ทั้งหลักสูตรบ้าง
The MATTER ชวนรุ่นพี่ รด. มาพูดคุยถึงประสบการณ์เขาชนไก่ เหตุผลที่มาเรียนรักษาดินแดน (ทุกเสียงตอบเหมือนกันว่า “เพราะไม่อยากเกณฑ์ทหาร”) รวมไปถึงการคอร์รัปชั่นและผลประโยชน์ทับซ้อนที่เกิดขึ้นตลอดหลักสูตรรักษาดินแดน
ประสบการณ์เขาชนไก่
แดง (นามสมมุติ) พนักงานบริษัทอายุ 25 ปี ซึ่งสมัยที่เขาเรียน รด. เขาต้องไปเขาชนไก่ถึงสองรอบคือ ในสมัยปี 2 และปี 3 เป็นระยะเวลา 3 และ 5 วันตามลำดับ เขาเล่าถึงประสบการณ์ที่เขาชนไก่ว่า เมื่อไปถึงนักศึกษาวิชารักษาดินแดนจะได้ฝึกกิจกรรมคล้ายจำลองการออกรบ อาทิ ได้ทดลองยิงอาวุธสงคราม เดินป่าทางไกล ทำอาหารในป่า รวมถึงสนามรบจำลองที่รับผิดชอบโดยเซเล็บเขาชนไก่ที่ชื่อว่า “จ่านรก”
สำหรับที่หลับที่นอนเป็นเต้นท์หลังหนึ่งที่มีผ้าใบสีดำปูอยู่บนพื้น แต่ความสุดของเต๊นท์หลังนี้คือ มันยาวแค่ครึ่งหนึ่งของคนที่มีส่วนสูงประมาณ 170 เซนติเมตรขึ้นไป หรือเรียกได้ว่าถ้าเอาหัวเข้าไปก็ขาโผล่ ถ้าเอาขาเข้าก่อนก็หัวโผล่
จุดพีคที่สุดของเขาคือสมัยไปเขาชนไก่ตอนปี 3 ที่เป็นช่วงเวลาเดียวกับการสอบคณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เขาเกือบไม่ได้ไปสอบเพราะครูฝึกบอกให้ผู้ปกครองมารับตัวเขาเอง แต่ผู้ปกครองเขาไม่ว่าง ทำให้ตอนแรกเขาตัดใจแล้ว
“ตอนนั้นเราเตรียมตัวมานานมาก หลังพิงฝาแล้วกะเอาที่นี่ให้ได้ แต่วันสอบดันมาตรงกับวันไปเขาชนไก่ ตอนนั้นกลายเป็นเรื่องใหญ่เลยคือ เราต้องไปเขาชนไก่วันนึง แล้วทำเรื่องขอเขาออกมาสอบ”
“พอวันจริง ทหารไม่ให้ออก เขาบอกผู้ปกครองต้องมารับเอง แต่บ้านเราไม่ว่างไง เราก็ทำใจแล้วคงไม่ได้ไป โทรไปบอกที่บ้านว่าไม่ได้ไปสอบแล้วนะ แต่เหมือนมีปาฏิหารย์ประมาณทุ่มนึงทหารก็เดินมาเรียกบอกให้ไปเอากระเป๋า จนมารู้ทีหลังว่าแม่ของเพื่อนไปไฟท์ให้เราถึงได้ไปสอบ สุดท้ายเราติดนะ แต่เพื่อนไม่ติด”
แดงต้องกลับขึ้นไปเขาชนไก่อีกรอบหลังจากทำการสอบสิ้นสุด แต่มันทำให้เขาไม่สามารถไปร่วมฝึกกับเพื่อนได้ และถูกแยกตัวไปไว้อีกกลุ่มหนึ่ง ซึ่งแง่หนึ่งก็สะท้อนวิธีจัดการปัญหาหน้างานของทีมผู้จัด หรือกองทัพบกได้เป็นอย่างดี
“พอเรากลับขึ้นไปกลายเป็นว่าไม่ได้ฝึกอะไรเลย เขาแยกเราไปอยู่หลังโรงอาหารและให้เช็ดโต๊ะ เตรียมอาหาร ตัดหญ้า ล้างรถกระบะ เขาให้ทำอะไรก็ทำ เหมือนให้หมดๆ ไปวันนึงอะ”
ด้านแอล (นามสมมุติ) ข้าราชการวัย 25 ปี และเป็นเพศทางเลือกเล่าถึงภาพรวมของการฝึกเขาชนไก่อย่างขบขันว่า
“รู้สึกว่าทำไมเราต้องมาทำกิจกรรมภาคสนามแบบปลอมๆ นี้ด้วย 5555 ตอนนั้นไปกับเพื่อนมันก็สนุกอยู่แล้ว แต่ถ้าถามว่าคุ้มไหมที่ไป เหอะ! ไม่คุ้ม”
เช่นเดียวกับหนุ่ม (นามสมมุติ) สื่อมวลชนรุ่นใหม่วัย 22 ปี ที่เคยไปเขาชนไก่มาสองครั้งสมัยเรียนปี 2 และปี 3 ที่สรุปถึงประสบการณ์เขาชนไก่ไว้ว่า
“เอาจริงๆ กิจกรรมแต่ละอย่างของ รด. ก็น่าสนใจ ถ้าครูฝึกใส่ใจจัดการสอนให้มีประสิทธิภาพจริงๆ และที่สำคัญคือต้องเป็นการสมัครใจไปเรียน แต่พอถูกบังคับให้ต้องมาเรียน ก็เลยรู้สึกต่อต้าน ไม่อยากเข้าร่วม ทำให้โดยรวมแล้วก็ไม่ได้อะไรจากการมาเรียน รด. เลย”
ขณะที่ทางด้าน ส.ส.พิจารณ์ เชาวพัฒนวงศ์ จากพรรคก้าวไกล ซึ่งไปเขาชนไก่มาช่วงปี 2536 เล่าว่า “ตอนสมัยเรียนที่ไปมันก็แปลกดีนะ ถ้าถามว่ามันคุ้มค่าไหม มันคุ้มค่าแน่นอนถ้ามันทำให้เราไม่ต้องไปเกณฑ์ทหาร แต่พอเราโตขึ้นและมองย้อนกลับไปก็ต้องยอมรับว่า มันเป็นการฝึกที่ไม่ได้เรียนรู้อะไรที่นำมาใช้ได้จริงสักเท่าไหร่ ถ้าเราต้องเข้าสู่สถานการณ์การรบจริงๆ”
เขาเล่าต่อว่าบนค่ายทหารมีพฤติกรรมล่วงละเมิดทางเพศที่ครูฝึกที่ชอบทำกับกลุ่มเพศทางเลือก ซึ่งทำให้เกิดบรรยากาศการฝึกที่ไม่เหมาะสมเสียเท่าไหร่
“อย่างสมัยผมไปเรียนก็มีเพื่อนๆ ที่เป็นเพศทางเลือก ทีนี้เราจะเห็นพฤติกรรมครูฝึกที่ไปกอด ไปหอม ไปจูบ ทั้งในที่แจ้งและที่ลับ ซึ่งผมคิดว่ามันไม่ค่อยเหมาะสมเท่าไหร่”
“หรือบางที เพื่อนบางคนไม่ได้เป็น แต่ทางครูฝึกก็เข้ามาประชิดและมีพฤติกรรมที่คล้ายกับกลุ่มเพศทางเลือก ซึ่ง.. ผมไม่รู้จะพูดยังไงดี (หัวเราะ) แต่เอาเป็นว่ามันไม่ควรทั้งนั้นแหละ”
ไก่แดง ตัดผม ร้านค้าเมียจ่า
“ประเทศไทยมีเรื่องแบบนี้เป็นปกติ จนเราได้มาเห็นกับตาตอนเรียน รด. มันก็ไม่ได้รู้สึกว่าพิเศษอะไร ประกอบกับความรู้สึกที่ว่าเราโดนบังคับให้มาเรียนอีก พอเห็นเมียจ่าขายไก่ย่าง หรือบังคับให้ทำกิจกรรมยิงปืน แล้วเก็บเงินเข้ากระเป๋าจ่า มันเลยไม่รู้สึกว่าเป็นเรื่องใหญ่อะไร เราปล่อยผ่าน ซึ่งจริงๆ มันก็ไม่ถูกต้องอยู่แล้ว”
เรื่องเล่าจากปากหนุ่มตรงกับแอลที่เคยเห็นผลประโยชน์ทับซ้อนที่เกิดขึ้นจากทั้งค่ายฝึกเขาชนไก่และการเรียน รด. ทั้งระบบ โดยหลังจากที่ลงจากรถที่พาเขามาที่เขาชนไก่ สิ่งแรกที่เขาพบคือ
“ไม่เหลือ ตัดผมก่อนเลย ขนาดเราตัดทรงนักเรียนเบอร์ 1 ไปแล้วนะ แต่ทางค่ายจับตัดใหม่ ให้เป็นเบอร์ 0 เลย เก็บตังค์ด้วย (หัวเราะ)”
นอกจากนี้ การฝึกเขาชนไก่และเรียน รด. ยังเปิดช่องให้มีการคอร์รัปชั่นที่ไม่ควรจะเกิดขึ้น
กับเรื่องอื่นคือ ผู้ประสานงาน (ครู) ของโรงเรียนเรามาเรียกรับเงินไปเลยนะ บอกว่าเอาไปให้ทางค่าย เพื่อให้เราฝึกเบาลงกว่าผลัดอื่น
ด้านแดงสรุปทั้งกระบวนการเรียน รด. ว่า มันคือระบบที่ “ถ้าคุณมีเงินก็คือจบ” เขาอธิบายว่าสำหรับเขาการที่โรงเรียนตั้งอยู่แถวพัฒนาการ และต้องเดินทางมาเรียนที่ศูนย์ฝึกแถววิภาวดีก็เสียค่าใช้จ่ายเยอะอยู่แล้ว ยังไม่นับค่าซื้ออุปกรณ์ ค่าตัดผม และจิปาถะอีกมาก ซึ่งคนที่ได้ประโยชน์ทับซ้อนคือบุคลากรในกองทัพ
“ณ ตอนนั้นแทบทุกขั้นตอนมันมีประโยชน์ทับซ้อน ตอนเข้าไปเรียน มันก็ไล่ไปตัดร้านเมียใครสักคน อุปกรณ์ขาดมันก็ไล่ไปซื้อที่สหกรณ์ของกองทัพ หิวข้าวก็ต้องไปกินที่ร้านเมียใครสักคนอีก ซึ่งถ้าเราทำตามมันบอกก็จะอยู่ง่าย สมมุติ ไปกินข้าวร้านเมียเขา เขาก็จะดูแลเราเป็นพิเศษ คุยกันง่ายหน่อยจะขอไปดูดบุหรี่อะไรงี้”
ถ้าใครอยากกลับบ้านเร็วต้องไปยิงเพ้นท์บอล คือมันต้องมีเงื่อนไขสักอย่างตลอดเวลาเพื่อให้มีสิทธิพิเศษ ดาร์กสุดที่เคยเห็นคือ เซ่นทหารด้วยเหล้า ซึ่งจริงๆ คนที่เรียนตอนนั้นมันก็มองว่า เขาอยู่กันแบบนี้แหละ เป็นเรื่องปกติ
ทางด้าน ตัวแทนของประชาชนจากพรรคก้าวไกลกล่าวว่า เมื่อเขาโตขึ้นและมองย้อนกลับไป มันทำให้เขาเห็นความไม่ชอบมาพากลหลายอย่างในการใช้งบประมาณของหน่วยงานที่รับผิดชอบในการฝึกและเรียน รด.
“มันมีความสงสัยกับการใช้งบประมาณของหน่วยงานที่รับผิดชอบ อย่างเรื่องอาหาร ตอนเราเรียนมันจะมีกุนเชียงที่เราแซวกันว่า เอาไว้ปาแรงๆ หัวจะแตกได้ หรือผัดมะเขือ 2 ไร่ ไก่ 2 ตัว สุดท้าย ทำให้คนฝึกต้องไปซื้อมาม่าจากร้านสะดวกซื้อที่เข้าใจว่าน่าจะเป็นร้านของภรรยาเหล่าครูฝึก (หัวเราะ)”
#ยกเลิกเขาชนไก่
“เห็นด้วยกับ #ยกเลิกเขาชนไก่ เพราะถ้าพูดถึงเรื่องความสะอาด การจัดการของ รด. ไม่คำนึงถึงสุขอนามัยแน่นอนอยู่แล้ว”
หนุ่มแสดงความกังวลสำหรับการจัดกิจกรรมค่ายเขาชนไก่ในปีนี้ โดยเฉพาะในเรื่องสุขอนามัย เพราะทั้งผู้จัดค่ายเขาชนไก่ (กองทัพบก) และตัวสถานที่เองน่าจะไม่มีความพร้อมในการควบคุมโรคระบาด เขากล่าวต่อว่า
“ไม่อยากให้น้องๆ มาเจอเขาชนไก่นี่แหละ มันลดทอนความเป็นมนุษย์ ทั้งไม่สะอาด ทั้งไม่มีประสิทธิภาพในการจัดการ อีกอย่างคือ ไม่อยากให้ต้องมาเจอการปลูกฝังทางอุดมการณ์ในการเรียนการสอนของ รด. เพราะแต่ละคนก็ควรจะมีสิทธิเลือก มีสิทธิในความคิดของตัวเอง”
เช่นเดียวกับแดงที่กล่าวว่า “ถ้าในสถานการณ์นี้ มันต้องเซฟไว้ก่อน ตรงนั้นมันคนหมู่มาก คือถ้าติดกันนิดเดียว มันควบคุมยาก มันไม่ควรเสี่ยง และถึงแม้มาตรการดีแค่ไหน ผมก็ยังคิดว่าไม่ควรจัดอยู่ดี อาจไปให้ทำวิธีอื่นแทนเพื่อให้ผ่านหลักสูตรนี้ไปก่อน มันควรยืดหยุ่นกันได้”
สำหรับ ส.ส. อดีตนักศึกษาวิชาทหารก็แสดงความกังวลเช่นกันว่า หากฝึกที่เขาชนไก่อาจเสี่ยงให้เกิดคลัสเตอร์ใหม่มากกว่านักศึกษาจะได้ความรู้กลับคืนมา
“ผมคิดว่าภายใต้สถานการณ์ปัจจุบัน มันไม่มีความจำเป็นต้องไปสร้างความเสี่ยงให้เกิดคลัสเตอร์ใหม่ เพราะสภาพที่เอาเด็กไปอยู่รวมกันภายใต้ความเหนื่อยล้า มันยากที่จะให้เด็กสวมหน้ากากอนามัย หรือรอบคอบกับการป้องกันตัวเอง ผมยืนยันว่าภายใต้สถานการณ์ปัจจุบัน มันควรจะหยุดไปซะ”
ไม่มีใครอยากมาเรียน รด. ถ้าไม่ต้องเกณฑ์ทหาร
“คือมันไม่เมคเซนส์ตั้งแต่แรกที่เราเรียน รด. อยู่แล้ว ทุกคนเขาหลับหูหลับตาไปเรียน มันไม่มีใครอยากไปอยู่แล้วตั้งแต่แรก อันนี้ทุกคนรู้ เพราะไปมันก็เหนื่อย ไปก็ทำอะไรไม่รู้ไร้สาระ”
แดงยอมรับเหมือนทุกคนว่าเหตุผลที่เขาต้องมาเรียน รด. เป็นเพราะไม่อยากต้องไปเสี่ยงกับการเกณฑ์ทหารตามที่ระบุไว้ พ.ร.บ.เกณฑ์ทหาร พ.ศ.2497 ซึ่งระบุให้ชายไทยทุกคนต้องเข้ารับการเป็นทหารเกณฑ์เมื่ออายุครบ 21 ปีบริบูรณ์ แต่อันที่จริงแดงมองว่า
“ประเทศสมัยใหม่ไม่จำเป็นต้องมีทหารด้วยซ้ำ เรามองว่ามันเป็นเรื่องผลประโยชน์ล้วนๆ เลยกับการมีอยู่ของกองทัพและระบบของมันทั้งหมด มันมีงบประมาณของรัฐที่มากองไว้ตรงนี้ เลยคิดว่ามันคงไปทับซ้อนผลประโยชน์เขา เลยยื้อไว้ไม่ให้เลิก”
แค่ทหารเกณฑ์ยังไม่ได้ใช้ทำอะไรเลย นี่ยังมี รด. อีก ไม่เคยได้ยินในประวัติศาสตร์นะว่า รด. ออกไปรบ (และถ้าวันนึงมีสงครามจริงๆ – ผู้สัมภาษณ์ถาม)
โหย ไปรบไม่ได้อยู่แล้ว (หัวเราะ) ตาย ตายอย่างเดียว มันเป็นการสอนขอไปทีอยู่แล้ว เด็กมันเยอะ ไม่ได้ฝึกอะไรที่ใช้ได้
ด้านสื่อมวลชนรุ่นใหม่มองว่าถ้ามีโอกาสเลือกได้ ตนเองจะไม่เลือกเรียน รด. แน่นอน เพราะสำหรับเขาช่วงมัธยมปลายเป็นช่วงเวลาค้นหาตัวเอง ถ้าไม่ต้องเสียเวลากับการเรียนรักษาดินแดน เขาอยากจะนำไปทำกิจกรรมอย่างอื่นที่มีประโยชน์กับชีวิตและพัฒนาตัวเองมากกว่า
ไม่เรียนแน่นอน เราเลือกมาเรียนตรงนี้เพราะไม่อยากเสียเวลาในอนาคตไปกับการเกณฑ์ทหาร มันคือตัวเลือกที่เราไม่มีสิทธิเลือกจริงๆ สุดท้าย เราก็ต้องกล้ำกลืนฝืนใจมาเรียน
อย่างไรก็ตาม ทุกคนเห็นตรงกันว่าหากยังยกเลิกการบังคับเกณฑ์ทหารไม่ได้ และวัยรุ่นไทยยังต้องลงเรียน รด. อยู่ การกลับมาทบทวนหลักสูตรการฝึกน่าจะเป็นสิ่งที่ดีที่สุด
“ถ้าเราเลิกบังคับ (ผ่าน พ.ร.บ.เกณฑ์ทหาร) และเอางบตรงนั้นไปพัฒนาหลักสูตรให้คนอยากเรียนจริงๆ มันเก่งขึ้น เช่น ปืน อย่างตอนเราเรียนมันรุ่นเก่า 30-40 ปีที่แล้วนะ มันใช้ฝึกไม่ได้จริงๆ ด้วยซ้ำ เหมือนเป็นพรอบอะ ถ้าเราเอาเงินไปลงกับอุปกรณ์ก็น่าจะดี” แดงให้ความเห็น
ด้านแอลให้ความเห็นว่า ตัววิชารักษาดินแดนไม่ใช่สิ่งที่ผิด เพียงแต่หลักสูตรที่เป็นอยู่ทุกวันนี้ มันไม่สามารถนำไปใช้ได้จริง และควรปรับปรุงโดยด่วน โดยเขาตั้งคำถามว่าที่รักษาดินแดนยังมีอยู่ทุกวันนี้ มันเพื่ออยากสอนให้นักศึกษารู้จักวิชาทหารจริงๆ หรือเป็นเพียง “รายรับเทาๆ ของกองทัพอีกอย่างหนึ่งไปแล้ว เขาเสริมว่าไม่ใช่การเรียน รด. เท่านั้นที่ต้องปฏิรูป แต่มันคือการสอนวิชาทหารในทุกระบบ
“วิชาทหารมีได้ แต่ต้องปฏิรูป ไม่เพียงแต่หลักสูตรนี้นะ ทั้งองคาพยพเลย ตั้งแต่ รร.นายร้อย รร.นายสิบ รร.เสธ ทุกวันนี้หลักสูตรที่เรียนก็คือหลังสงครามเย็นใหม่ๆ นี่ไม่นับระบบคอร์รัปชั่นของกองทัพที่เหมือนองค์กรอาชญากรรมที่ถูกกฎหมายอีกนะ”
“ผมมองว่าถ้ายังยกเลิกการเกณฑ์ทหารไม่ได้ ผมคิดว่ารัฐมนตรีกลาโหม (พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา – ผู้เขียน) ควรลงไปดูในหลักสูตรว่า ทำอย่างไรให้การเรียน รด. มันมีประโยชน์มากกว่า” ส.ส.พรรคก้าวไกลทิ้งท้ายถึงเรื่องนี้