ไอ้เจ้ารายชื่อเล็กๆ ที่เราจัดลำดับว่า วันนี้เราควรทำอะไรบ้าง ทำอะไรก่อน แล้วสุดท้ายก็มักทำมันพังทุกที แต่เจ้ารายชื่อเล็กๆ นี้กลับมีความสำคัญต่อมนุษย์อย่างยิ่ง
อุมแบโต เอโค (Umberto Eco) นักเขียนเจ้าของผลงาน The Name of the Rose นักคิดและนักปรัชญาคนสำคัญถึงขนาดพูดว่าการทำ List รายชื่อเป็นบ่อเกิดของวัฒนธรรม (origin of the culture) หืม ฟังแล้วรู้สึกว่ารายชื่อสิ่งที่ต้องทำวันนี้ (ดองมาตั้งแต่ต้นปี) ต้องถูกกลับเอามาปัดฝุ่นใหม่แล้วเริ่มถูกขีดฆ่าได้แล้ว และนั่นน่ะสินะ ทำไมเจ้ารายชื่อที่เราทำบ้างไม่ทำบ้างนี่มันถึงได้รับการยกย่องเชิดชูถึงเพียงนี้ ใครกันที่ทำให้ To Do List เฟื่องฟู แล้วทำไมเจ้าลิสต์นี้มันถึงเวิร์ก
อะ งั้นวันนี้เราอาจจะเริ่มการทำ To-do list ด้วยการใส่การอ่านประวัติศาสตร์และวัฒนธรรมของลิสต์เองไว้อันดับแรก
‘รายชื่อ’ กับการรับมือกับความยุ่งเหยิงไม่รู้จบและการเอาตัวรอดของมนุษย์
คำอธิบาย ที่ว่าลิสต์ถือเป็นจุดกำเนิดของวัฒนธรรม ตามคำของคุณลุงเอโค่ ‘The list is the origin of culture’ แปลความได้ว่าทุกสรรพสิ่งที่มนุษย์สรรสร้างขึ้น (ในนามของ culture) ล้วนมีการจัดการ จัดอันดับเป็นที่ตั้งทั้งนั้น
ลุงเขาว่างี้ การที่มนุษย์จะสร้างวัฒนธรรมขึ้นมาได้ต้องมีการ ‘จัดการ’ และ ‘จัดลำดับ’ สิ่งต่างๆ ออกมาให้เป็นรูปธรรมให้ได้ ในทางปรัชญา โลกประกอบขึ้นจากความยุ่งเหยิง โลกและปัจจุบันขณะคือกระแสของเรื่องราวและเหตุการณ์ที่สับสนไม่รู้จบ ดังนั้นการที่มนุษย์จะทำอะไรได้ มนุษย์ก็ต้องจัดการความยุ่งเหยิงไร้จุดจบให้อยู่มือด้วยการทำให้เป็นรูปธรรม และ แต่นแต้น วิธีการที่สำคัญก็คือเอามาทำเป็นคำๆ เป็นข้อๆ เพื่อที่จะจัดการและจัดลำดับความยุ่งเหยิงนับล้านได้
ลิสต์จึงไม่ใช่รายชื่อในกระดาษ แต่คือการจัดระบบ (cataloging) ในวัฒนธรรมของมนุษย์ มีการจัดลำดับสิ่งต่างๆ เป็นชั้นๆ ซ้อนทับกันมากมายตั้งแต่รายชื่อส่วนตัวที่เราไม่ได้ขีดฆ่าในไอโฟน สิ่งที่เราคำนึงว่าเราต้องทำในแต่วัน เมนูอาหาร รายชื่อของที่เราต้องซื้อไปจนถึงคอลเล็กชั่นวัตถุในพิพิธภัณฑ์ ชุดคำในพจนานุกรมและสารานุกรมต่างๆ ทั้งหมดนี้เอโคเรียกว่า ‘คลังความสำเร็จทางวัฒนธรรม’ ของพวกเรา
ความสำเร็จ (ในกรณีของ list ที่เรารวบรวมความสำเร็จหรือผลงานทางวัฒนธรรมของเราเอาไว้) และ to-do list คือทางที่เราจะทำสิ่งต่างๆ ได้สำเร็จในแต่ละวัน ไอ้เจ้า To-do list ไม่ว่าจะเขียนลงกระดาษหรือด้วยการจัดการการทำสิ่งต่างๆ ในแต่ละวันของเรา เลยเป็นเหมือนเครื่องการันตีว่า ในแต่ละวันจะเป็นวันที่สำเร็จมีประโยชน์โภคผล – productive day
ตามรากศัพท์ Productive ก็หมายถึงเป็นวันที่เราผลิตอะไรได้ เอโคบอกว่าเจ้าลิสต์เนี่ยถึงจะไม่ได้ปรากฏอย่างเป็นรูปธรรมมาตั้งแต่ยุคโบราณ แต่มันก็เป็นแกนสำคัญที่มนุษย์แม้แต่ยุคหินมาจนถึงมนุษย์ยุคกลางเอง ต้องพยายามรักษาลำดับขั้นต่อของสิ่งที่ตัวเองทำไว้ในใจ ว่าวันนี้ ‘เราต้องอะไรให้สำเร็จบ้างนะ‘
เพราะถ้ามนุษย์เราไม่ Produce ไม่ว่าเราจะล่ากวางได้ซักตัว หรือเพาะปลูกข้าวสาลีให้ได้เพียงพอ ถ้าทำไม่ได้เราก็ตาย วัฒนธรรมอารยธรรมของเราก็จบกัน
เบนจามิน แฟรงคลิน กับการเป็นเจ้าพ่อไลฟ์โคชจากศตวรรษที่ 18
พูดถึงการทำ to do list ใครๆ ก็อ้างอิงกลับไปที่เบนจามิน แฟรงคลิน (Benjamin Franklin) คือเหล่าประธานาธิบดีและรัฐบุรุษของอเมริกันมักจะถูกเรียกขานว่าเป็นบิดา (father) คือคนพวกนี้เป็นผู้ทรงภูมิที่นอกจากปกครองแล้วยังเป็นคนที่คอยสั่งสอน ชี้นำและเป็นตัวอย่างที่ดีให้กับมวลชนด้วย
แฟรงคลินเองนอกจากจะเป็นรัฐบุรุษแล้ว เป็นนักปกครอง และนักวิทยาศาสตร์แล้ว ยังเป็นนักเขียนที่คอยแนะแนวทางการใช้ชีวิต… ก็คล้ายๆ ไลฟ์โค้ช ในปัจจุบัน ผลงานสำคัญที่ขายดีถึงขนาดนำความมั่งคั่งมาให้ (คล้ายๆ เข็มทิศชีวิต) ชื่อ Poor Richard’s Almanack คือเป็นชุดคำสอนว่าจะใช้ชีวิตยังไงดี จะมีคุณธรรมอะไร
แฟรงคลินเป็นคนที่เคร่งมาก ถ้ามองย้อนไป อิทธิพลทางศาสนาเป็นสิ่งที่สำคัญมาก ชาวอังกฤษที่อพยพไปอเมริกาในตอนนั้นได้รับอิทธิพลทางความคิดแบบพิวริตัน (puritan) – คริสเตียนที่ค่อนข้างเคร่งศาสนา ความเคร่งนี้ครอบคลุมไปในทุกด้านของชีวิต ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของวินัย การใช้เวลา การระงับอารมณ์ การทบทวนตัวเอง
ดังนั้นสิ่งที่แฟรงคลินทำคือการกำหนดตารางเวลาในการทำสิ่งต่างๆ ที่แน่นอนเคร่งครัด ความเคร่งครัดนี้ตามความเชื่อของพิวริตันและความคิดแบบโลกสมัยใหม่ที่เชื่อเรื่องความก้าวหน้าจะนำไปสู่การพัฒนาตัวเอง รายชื่อต่างๆ ตารางประจำวัน และการจดบันทึกของเฮียแกเป็นการวางแผนราย 13 สัปดาห์ เป็นการทั้งวางแผนและใช้เพื่อติดตามผลว่าไอ้เจ้าคุณธรรมค่านิยมต่างๆ เนี่ย เราได้ประกอบจริยวัตรทั้งหลายไปถึงไหนแล้ว ทำอย่างถูกต้อง มีพัฒนาการบ้างไหม ประเด็นที่เฮียแกคอยติดตามตรวจสอบตัวเองก็เช่นเรื่องความสะอาด การระงับอารมณ์ ไปจนถึงว่าได้ใช้เวลาไปอย่างเหมาะสมถูกต้องไหม
Zeigarnik effect กับพลังของ to do list
จากรัฐบุรุษที่เคร่งครัด กลับมาที่คนพื้นๆ ที่อาจทำ to do list ให้สลายไปได้ภายในไม่กี่ชั่วโมง
เอาล่ะ ต่อไปนี้คือเหตุผลที่เราอาจจะกลับไปขุดเจ้าลิสต์นี้มาทำให้ศักดิ์สิทธิ์ขึ้นเหมือนคุณพ่อแฟรงคลิน ในทางจิตวิทยาบอกว่าเจ้าลิสต์แบบนี้มีประโยชน์ต่อกระบวนการทำงานของสมอง เรียกว่า Zeigarnik effect งานทดลองที่สนับสนุนพลังของ to do list ว่า การวางแผนอย่างเป็นระบบช่วยลดภาระของสมองเราและช่วยให้เราทำงานให้ลุล่วงเป็นเรื่องๆ ไปได้
ตัวอย่างสำคัญสำคัญในการศึกษาที่เกี่ยวกับการทำ to do list เกิดจากการที่ Bluma Zeigarnik นักจิตวิทยาชาวรัสเซียสังเกตเห็นว่า เอ๊ะ บริกรในร้านอาหารจะจำรายละเอียดของออร์เดอร์ได้ก่อนที่อาหารพวกนั้นจะถูกเสริฟ หลังจากนั้น รายละเอียดของการสั่งนั้นจะหายวับไปจากความทรงจำไป
ในปี 1927 พี่แกเลยลงมือทำการทดลองให้กลุ่มตัวอย่างลองลงมือทำสิ่งง่ายๆ ต่างๆ เช่น ร้อยลูกปัด หรือแก้พัซเซิล ซึ่งการทดลองจะอยู่ที่กลุ่มตัวอย่างบางส่วนจะไม่ให้ทำกิจกรรมนั้นจนเสร็จ ผลคือพบว่ากลุ่มที่ทำงานจนเสร็จมักจะจำรายละเอียดสิ่งและสิ่งที่ตัวเองทำไม่ค่อยได้ ตรงนี้เองก็เหมือนกับการที่เราจัดลำดับสิ่งต่างๆ พอทำเสร็จปุ๊บ สมองก็จะเคลียเมมตรงนั้นไป ภาระของสมองก็ลดลง
ดังนั้น การที่เราจัดลำดับสิ่งต่างๆ แล้วทำให้เสร็จเป็นอย่างๆ ก็เหมือนการที่นอกจากเราจะได้งาน ได้ productive แล้ว ในระดับจิตวิทยาเองก็มีงานทดลองสนับสนุนว่า สมองเราจะสามารถทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น
อย่างเช่นว่า วันนี้ตั้งใจว่าจะอ่านบทความเรื่อง to do list พออ่านจบถึงตรงนี้ ก็ขีดฆ่าเรื่องนี้ออกไปได้ สมองเราก็เบาสบายขึ้นนิดหน่อย