แค่กดถ่ายรูป ก็พร้อมโพสต์ลงอินเทอร์เน็ต สมัยนี้ใครๆ ก็สามารถเป็นช่างภาพได้ พร้อมโพสต์ และแชร์ภาพต่างๆ รวมถึงเหตุการณ์ในชีวิตประจำวันกันได้อย่างแพร่หลาย เพียงแค่มีโทรศัพท์มือถือ
รูปภาพต่างๆ ที่เราโพสต์แชร์ ภาพข่าว ภาพวิดีโอเกม การ์ตูน หรือแม้แต่ศิลปะ ก็กลายเป็นภาพที่มีพลัง อำนาจ และมีอิทธิพลกับตัวเรา ทั้งในทางสังคม และทางการเมืองโดยที่อาจจะเราไม่รู้ตัว
ในโอกาสที่ปีนี้ คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ครบรอบ 70 ปี และคณะรัฐศาสตร์ ม.ธรรมศาสตร์จะครบรอบ 70 ปีในปีหน้า และร่วมจัดงานบรรยายในประเด็น อำนาจของ ‘ภาพ’ ในการเมืองโลก (The Power of Images in Global Politics) ที่มี ศ.ดร. Roland Bleiker จากคณะรัฐศาตร์ และความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ แห่งมหาวิทยาลัย Queensland มาร่วมพูดคุยกันในประเด็นนี้
ยุคของภาพ (Visual Age)
อ.Bleiker เริ่มด้วยการเล่าคอนเซ็ปต์ของ การมอง Visual ว่า ภาพเป็นสื่อที่สำคัญ และปัจจุบันนี้เราอยู่ในยุคของภาพ หรือที่เรียกว่า ‘Visual Age’ ที่ทั้งภาพ หรือวิดีโอ กลายเป็นสิ่งที่กำหนดมุมมองที่เรามองเห็น และ Visual Culture ต่างก็แทรกซึมอยู่รอบตัวเรา ซึ่งภาพไม่ใช่เพียงแค่รูปที่ ‘กว้าง x ยาว’ แต่ยังมีภาพในมิติต่างๆ ที่ช่วยให้เราเข้าใจสังคมมากขึ้น
เช่นประเด็นเกี่ยวกับสงคราม ก็มีการตีความออกมาได้ รูปภาพของสงคราม การ์ตูน งานศิลปะ ภาพยนตร์ วิดีโอเกม อนุสาวรีย์ หรือแม้แต่แฟชั่น เสื้อผ้าแบบทหาร ฯลฯ ที่เป็นรูปแบบที่ให้เราเห็นภาพต่างๆ ในแต่ละชุดความคิด
เขาเสนอว่า ภาพเชื่อมโยงกับเราใน 3 ระดับ คือ 1) เชื่อมเรากับเหตุการณ์ เช่น เราเห็นภาพอนุสาวรีย์สงครามเวียดนาม ทั้งๆ ที่เราไม่เคยไปร่วม หรือมีชีวิตในช่วงนั้น แต่เราก็รับรู้ว่ามีเหตุการณ์นั้นอยู่ 2) เชื่อมเรากับโลก เช่น มีประสบการณ์ส่วนตัวของเราที่เชื่อมโยงกับบริบทอื่นๆ ที่รายรอบที่เราสนใจ 3) ภาพเป็นผู้กระทำการ มีพลังทางการเมือง ที่ทำให้เรากลายมาเป็นเป็นผู้กระทำการได้ด้วย โดยอาจารย์มองว่า เราไม่ได้แค่มองเห็นภาพเท่านั้น แต่มันยังนำเราสู่ปฏิบัติการทางการเมืองด้วย
เรื่องของภาพ ไม่ใช่เรื่องราวใหม่ เพราะเราก็เห็นภาพกันมาตลอด แต่ในปัจจุบัน เรื่องของความรวดเร็วในการเผยแพร่ภาพนั้นเปลี่ยนแปลงไป อย่างในสมัยก่อน การถ่ายภาพต้องมีกระบวนการ กว่าจะสามารถถ่ายทอดภาพๆ หนึ่งออกมาได้ ทั้งต้องมีต้นทุน มีอุปกรณ์ อย่างกล้องถ่ายรูป แต่ตอนนี้ เทคโนโลยีเปลี่ยนไป ทุกๆ คนมีกล้อง มีอำนาจในการแลกเปลี่ยนข่าวสาร ความรับรู้ที่มีต่อเหตุการณ์ ทั้งในระดับท้องถิ่น และโลกจึงเปลี่ยนไป เกิดการลดทอนอำนาจของการควบคุมภาพ และสร้างประชาธิปไตยให้กับภาพในการส่งผ่าน
อำนาจของภาพถ่าย
เมื่อภาพถ่าย ไม่ใช่เพียงแค่รูปภาพที่ผ่านตาเรามา มันยังมีพลังในทางการเมืองที่แทรกอยู่ในแต่ละภาพด้วย
อ.Bleiker กล่าวถึงคอนเซ็ปต์เรื่องนี้ว่า ไอคอนของรูปภาพเป็นสิ่งสำคัญ เพราะปัจจุบัน แต่ละเหตุการณ์มีรูปภาพที่อธิบายเรื่องๆ เดียวได้มากมาย แต่รูปที่เป็นเหมือนสัญลักษณ์ของเหตุการณ์นั้นๆ จะเชื่อมให้เราได้รับรู้ ทำให้คนที่ไม่เคยมีประสบการณ์ตรงกับเหตุการณ์ สู่เรื่องนั้นได้ ทั้งมันยังส่งพลังให้คนที่เห็นภาพเกิดความรู้สึกสนับสนุน คัดค้าน หรือเลือกที่จะปฏิบัติต่อเรื่องนั้น
โดยรูปภาพที่ได้ยกตัวอย่างมาคือภาพของสงครามเวียดนาม ที่รูปของเด็กๆ ที่เปลือย ร้องไห้ วิ่งหนี ในขณะที่มีทหารเดินตามหลัง ทำให้คนเข้าใจความรู้สึกของเหตุการณ์นั้น แม้เราจะไม่ได้อยู่ร่วมในสถานการณ์ และกลายเป็นภาพไอคอนของสงครามเวียดนามที่เมื่อใดก็ตามที่เห็น ก็จะรับรู้ได้ว่าคือเหตุการณ์ใด
แต่ละภาพ นอกจากจะเป็นสัญลักษณ์ของเหตุการณ์แล้ว ยังมีเนื้อหา และการส่งต่ออารมณ์ ซึ่งก่อนการเปิดดูบางครั้งจะมีการเตือนว่ามีเนื้อหาที่ไม่เหมาะสม หรืออาจทำให้ไม่สบายใจ ที่มีหน้าที่ทำให้ผู้รับสารเตรียมใจก่อนการดูภาพ ซึ่งต่างกับการถ่ายทอดผ่านหนังสือ หรือตัวอักษร ที่ไม่เคยมีการแจ้งเตือนก่อน เพราะภาพมีผลที่ทำให้เราสะเทือนอารมณ์ได้มากกว่าตัวอักษร และมีเรื่องราวหลังภาพทุกภาพ
อ.Bleiker ได้เล่าถึงความรู้สึกของผู้เห็นภาพทั่วไปที่มีต่อผู้ลี้ภัยว่า ปกติแล้ว ถ้าคนเห็นภาพของเด็กลี้ภัย ที่อยู่ตัวคนเดียว คนมักจะมีความรู้สึกเห็นใจ และสงสาร แต่ความรู้สึกของการรับรู้จะเปลี่ยนไปเป็นความกลัว หรือระแวง ถ้าเห็นภาพของผู้ลี้ภัยในกลุ่ม หรือถ้าเห็นกลุ่มผู้ลี้ภัยในแนวระนาบ ก็อาจจะสร้างความรู้สึกที่เป็นทั้งความกลัว หรือเห็นใจไปด้วยพร้อมๆ กันได้
พลังของภาพถ่ายยังเป็นทั้งตัวดึงความสนใจของผู้คน ให้มีส่วนมาสนใจในประเด็นสำคัญ และทำหน้าที่หันเหความสนใจของผู้คนออกไปด้วย
การเมืองในรูปภาพ
อย่างที่เราคุ้นชินกัน รูปภาพกลายเป็นหนึ่งในอุปกรณ์ และเครื่องมือทางการเมืองของทั่วโลก ซึ่งบางครั้ง แค่เราเห็นภาพภาพเดียว ก็อาจจะหลงเชื่อโดยไม่ทันคิดถึงเบื้องหลัง อ.Bleiker เตือนว่า อย่าเพิ่งหลงเชื่อภาพที่มองเห็น เพราะภาพมีความลวงของความจริง ในขีดจำกัดการมองเห็นของมนุษย์
ในภาพแต่ละภาพยังมีสุนทรียศาสตร์ของภาพ หรือการเมืองของภาพ ที่ถ้ามีการกำกับเฟรม กำกับภาพ ครอบและตัด ที่ให้ผลทางการรับรู้ที่แตกต่างกัน แม้จะเป็นภาพเดียวกัน แต่คนละมุม ถ้าเราเห็นภาพในมุมที่กว้างขึ้น เราก็จะเห็นความจริง
เช่นในรูปภาพนี้ ที่ถ้าเราเห็นเพียงแค่กลุ่มของบิชอป หรือพระในศาสนาคริสต์ เราอาจเข้าใจว่าเป็นภาพพิธีกรรมทางศาสนา แต่ถ้าเราเห็นภาพรวมทั้งหมดแล้ว แท้จริงภาพนี้กลับเป็นพิธีของลัทธิฟาสซิสต์ ที่มีบิชอปไปเข้าร่วมด้วย ซึ่งทางการเมืองก็มีการใช้ความลวงนี้อยู่จำนวนมาก
อ.Bleiker เสริมว่า ภาพจำเป็นต้องถูกตีความ และถูกทำความเข้าใจ เพราะภาพมักถูกใช้ในการสร้างความชอบธรรมให้กับรัฐ และมีนัยยะทางการเมือง เช่นภาพถ่ายจากดาวเทียม ที่ไม่ได้ถูกสร้างด้วยตัวมันเอง แต่เป็นภาพประกอบสร้างขึ้น ที่รัฐ และผู้มีอำนาจตัดสินใจใช้เป็นเครื่องมือ อย่างเช่นภาพดาวเทียมที่ถูกใช้ประกอบคำกล่าวหาว่า อิรักครอบครองอาวุธชีวภาพ จนกลายเป็นหลักฐานให้สหรัฐฯ เข้าสู่การทำสงครามอิรักในปี 2003 ซึ่งภายหลังค้นพบแล้วว่าข้อกล่าวหานั้นไม่เป็นความจริง
ผลกระทบของภาพที่สร้างพลัง
หลังการรับรู้ เห็นภาพต่างๆ แล้ว หลายคนอาจจะมีอารมณ์ มีความรู้สึกต่อเหตุการณ์นั้นๆ ที่แตกต่างกันไป อ. Bleiker มีมุมมองว่า การทำความเข้าใจภาพกลายเป็นการเมืองในตัวมันเอง เพราะภาพต่างก็มีนัยยะทางการเมืองที่นำไปสู่ข้อถกเถียง ทั้งภาพยังกระทำการในฐานะที่เป็นตัวสร้างบทบาททางการเมืองที่ต่างกัน และยังส่งผลต่อเราในหลายระดับ
เช่น เมื่อภาพการทรมานในคุกเปิดเผยออกมา ก็เกิดเป็นการดีเบต โต้เถียงของกลุ่มคนที่คิดเห็นแตกต่าง และเกิดการตั้งคำถามว่าการกระทำนี้สมควรหรือไม่ จนเกิดเป็นการเมือง
อ.Bleiker ยังมองว่า ‘ภาพไม่ได้มีความเป็นกลาง’ แต่ถูกใช้เพื่อยกย่อง เชิดชูปฏิบัติการบางอย่าง เช่น Propaganda ของรัฐบาล ที่ถูกใช้เป็น Visual Power ให้มีบทบาทในการสร้างระบอบทางการเมือง ผลิตโฆษณาชวนเชื่อ การยอมรับ และกระตุ้นสร้างความนิยม เช่นในสมัยระบอบนาซีของเยอรมนี ก็ได้มีการสร้างภาพยนตร์ที่ชื่อว่า ‘The Triumph of the Will’ ที่เชิดชูฮิตเลอร์ และพรรคนาซี หรือภาพลักษณ์ของ ‘คิม จองอึน’ ผู้นำเกาหลีเหนือ ที่ได้สร้างบรรทัดฐานความเป็นชายในสังคมเกาหลีเหนือ
ยิ่งไปกว่านั้น อ.Bleiker ยังระบุว่า นอกจากการสร้างการยอมรับแล้ว ภาพยังเป็นเครื่องมือในการต่อต้านด้วย อย่างภาพสัญลักษณ์ของการเคลื่อนไหวทางสังคม การรวมตัวแสดงพลัง หรือแม้แต่ภาพการ์ตูนล้อเลียน ก็นำไปสู่การต่อต้านด้วย เช่น ในรูปของหญิงผิวสี ที่เผชิญหน้ากับกองกำลังทหารในเครื่องแบบ ก็ถูกนำมาใช้ในกลุ่ม Black Live Matter ที่ต่อต้านความรุนแรง และสร้างความเท่าเทียมให้กับกลุ่มคนผิวสีด้วย
ดังนั้น อ. Bleiker จึงได้สรุปว่าพลังของภาพ มีอิทธิพลในทางการเมืองมาก และยังสามารถทำให้สิ่งที่จับต้องไม่ได้ หรือมองไม่เห็นอย่างเช่นเรื่องของสันติภาพ ประชาธิปไตย หรือเศรษฐกิจถูกสื่อออกมามองเห็นได้ ทั้งยังมีผลต่อตัวเราในการรับรู้ ความรู้สึก เป็นเครื่องมือทางการเมืองที่กระตุ้นให้เราเข้าไปมีส่วนร่วมได้ด้วย