“เมื่อไหร่ก็ตามที่เราคิดอยากให้เป้งมาหา เป้งก็จะมีพลังได้ยินเสียงเรา และไม่ว่าเราจะอยู่ไกลกันแค่ไหน เป้งก็จะมีพลังทะลุผ่านอะไรก็ได้มาหา เปรียบเหมือน ambulance ประจำตัวของเรา”
เพียงไม่กี่ EP. กระแสซีรีส์ ‘My Ambulance รักฉุดใจนายฉุกเฉิน’ กลายเป็นที่พูดถึงของหลายๆ คน อาจด้วยเรื่องราวน่ารักๆ ของ ‘พลังวิเศษ’ ที่ทานตะวัน (รับบทโดย ใหม่—ดาวิกา โฮร์เน่) ใช้เรียกเป้ง (รับบทโดย ซันนี่ สุวรรณเมธานนท์) ให้ทะลุมาหาเวลาที่เธอต้องการตลอดเวลา 15 ปีที่คบกัน ซึ่งทานตะวันก็เชื่อเสมอว่าพลังนี้เกิดจาก ‘ความรัก’ ของพวกเธอทั้งสองคนอย่างแน่นอน
พลังแห่งรักที่ปรากฏในชีวิตจริงอาจไม่ได้วิเศษอย่างในซีรีส์ ที่สามารถวาร์ปไปหากันเมื่อไหร่ ที่ไหนก็ได้เหมือนกับรถพยาบาลที่ติดไซเรนมาหา แต่มันมีพลังทางจิตวิทยาและวิทยาศาสตร์ที่เอาไว้บ่งบอกได้ว่า ความรักความสัมพันธ์ของคุณกับคนรักนั้น ‘หวานชื่น’ มากแค่ไหน ลองมาสำรวจไปพร้อมๆ กันว่าพวกคุณมีพลังเหล่านี้กันบ้างหรือเปล่า
คุณสองคนเริ่มหน้าตาคล้ายกัน
เคยสงสัยบ้างไหมว่าทำไม ‘คู่รักมักหน้าคล้ายกัน’ หรือชอบมีเพื่อนมาแซวๆ ว่าเราหน้าเริ่มคล้ายแฟนแล้วนะ เพราะพลังแห่งรักทำให้เราทั้งสองมีหน้าตาคล้ายกันยังไงล่ะ
มีทฤษฎีของโรเบิร์ต ซายองค์ (Robert Zajonc) นักจิตวิทยาสังคมชาวอเมริกา อธิบายเอาไว้ว่า คนเรามักจะเลียนแบบลักษณะของผู้คนที่อยู่รอบตัว หรือที่เรียกว่า ‘การเลียนแบบจิตไร้สำนึก’ (unconscious mimicry) ที่เรามักจะทำไปโดยไม่รู้สึกตัว อย่างเวลาเราเผลอพูดด้วยน้ำเสียงเหมือนเพื่อน หรือลอกเลียนแบบท่าทางของคู่รัก ซึ่งกลไกการเลียนแบบนี้จะทำให้เรารู้สึกเหมือนกลายเป็นส่วนหนึ่งของคนรอบตัวไปโดยปริยาย เนื่องจากเราเริ่มมีอะไรที่เหมือนๆ กัน และยังทำให้คู่รักเกิดการ ‘ปรับเปลี่ยนใบหน้า’ ให้เริ่มคล้ายคลึงกัน เมื่อพวกเขามีการเลียนแบบอีกฝ่ายเป็นระยะเวลานานๆ
โรเบิร์ตยังอธิบายอีกว่า ยิ่งชีวิตสมรสมีความสุข คู่รักก็จะยิ่งหน้าคล้ายกันเข้าไปอีก จากการลองนำรูปถ่ายของคู่รักหลายคู่มาเปรียบเทียบดู แล้วก็พบว่า แม้พวกเขาจะไม่ได้หน้าตาใกล้เคียงกันเลยสักนิด แต่เมื่อเวลาผ่านไปประมาณ 25 ปี จู่ๆ ก็เริ่มหน้าตาคล้ายกันอย่างน่าตกใจ
เหตุที่เป็นเช่นนี้ก็เพราะพวกเขามีการ ‘แชร์ประสบการณ์’ ร่วมกันผ่านการใช้ชีวิตคู่ ทั้งช่วงเวลาแห่งความสุข ความทุกข์ และความเศร้า ซึ่งทุกสิ่งที่เผชิญมาด้วยกันนั่นเองที่ส่งผลให้พวกเขามีการเคลื่อนไหวร่างกายและสภาพอารมณ์คล้ายคลึงกัน ไม่ว่าจะเป็นกล้ามเนื้อบนใบหน้า หรือแม้กระทั่งริ้วรอยก็ยังอยู่ในตำแหน่งเดียวกันอีกด้วย
ยังมีอีกข้อพิสูจน์ที่ช่วยยืนยันว่าพลังนี้มีจริง คือทฤษฎีที่ว่า คนเราจะถูกดึงดูดด้วยคนที่มีหน้าตาคล้ายกันกับเรา โทนี่ ลิตเติ้ล (Tony Little) นักวิจัยด้านจิตวิทยา มหาวิทยาลัยสเตอร์ลิง ประเทศสก็อตแลนด์ ให้ความเห็นเกี่ยวกับทฤษฎีนี้ว่า “เวลาคุณเห็นใบหน้าที่เหมือนคุณ คุณจะรู้สึกเชื่อใจและให้ความร่วมมือมากขึ้น” นั่นก็เป็นเพราะว่าเรารู้สึกสบายใจกับสิ่งที่เรารู้จัก และสิ่งที่เรารู้จักดีที่สุดก็คือ ‘ใบหน้า’ ของเรานั่นเอง
การดึงดูดคนที่ลักษณะเดียวกันเช่นนี้ มีการนำมารวบรวมและแสดงผลเป็นตัวเลขโดย เอ็มม่า เพียร์สัน (Emma Pierson) นักสถิติที่ศึกษาการจับคู่ของคนจำนวนหนึ่งล้านคน ผ่านอัลกอริทึ่มของเว็บไซต์หาคู่ eHarmony ซึ่งพบว่า มีคนสนใจคนที่เหมือนกับตัวพวกเขาเป็นจำนวนมาก มีการระบุถึงคุณลักษณะ เช่น ความสูง และสิ่งที่ดึงดูดใจ โดยคนที่โชว์คุณลักษณะเหล่านั้นบนโปรไฟล์ จะต้องการคนที่โชว์คุณลักษณะแบบเดียวกันกับพวกเขา และต้องการมากกว่าคนที่ไม่โชว์คุณลักษณะอะไรเลยอีกด้วย
คุณกับหวานใจเริ่มทำอะไรเหมือนๆ กัน
คนส่วนใหญ่มักจะมี ‘กระบวนการตรวจสอบตัวเอง’ (self-monitoring) หรือการปรับตัวเข้ากับสภาพแวดล้อมเพื่อให้คนรอบข้างพึงพอใจ แต่คู่รักที่มีความสัมพันธ์ลึกซึ้ง จะมี ‘การสะท้อน’ (mirroring) นิสัยและภาษากายของอีกฝ่าย ซึ่งเป็นพฤติกรรมที่แสดงให้เห็นถึงการไว้เนื้อเชื่อใจและสบายใจกับความสัมพันธ์นั้นๆ ผ่านการพูดคุยแบบสบายและเป็นธรรมชาติ โดยไม่ต้องมานั่งตรวจเช็คตัวเองก่อนจะพูดอยู่ตลอดเวลา
พวกเขาไม่เพียงแต่จะรู้สึกสบายใจและเป็นตัวเองเวลาได้อยู่ด้วยกัน บางครั้งพวกเขายังมีการเลียนแบบพฤติกรรมของกันและกันอีกด้วย โดย นักวิทยาศาสตร์ได้ระบุไว้ว่า คู่รักมีแนวโน้มที่จะปรับเปลี่ยนนิสัยและพฤติกรรมของตัวเองตลอดชีวิตการแต่งงาน อย่างเช่น หากอีกฝ่ายกำลังพยายามเลิกสูบบุหรี่และกินอาหารเพื่อสุขภาพ อีกคนก็จะเริ่มทำเช่นเดียวกัน
นอกจากนี้ การเปลี่ยนนิสัยและพฤติกรรม ยังส่งผลให้มีพวกเขาทั้งคู่มี ‘ระบบภูมิคุ้มกัน’ ที่เหมือนกันอีกด้วย สงสัยล่ะสิว่าเป็นไปได้ยังไง? นั่นเป็นเพราะระบบภูมิคุ้มกันของคนเราสามารถสะท้อนไลฟ์สไตล์ในแต่ละวันได้ โดยเฉพาะพฤติกรรมการกินและการออกกำลังกาย โดยมีข้อสรุปจากกลุ่มนักวิทยาศาสตร์บอกว่า คู่รักที่แต่งงานกันมาเป็นเวลานาน จะเริ่มมีระบบภูมิคุ้มกันที่คล้ายกันมากขึ้น อาจเป็นเพราะว่าพวกเขาแชร์พฤติกรรมและไลฟ์สไตล์ของตัวเองกับอีกฝ่าย
พวกคุณสองคนรู้ใจกันและกัน
พลังวิเศษนี้คงมีคู่รักหลายคู่ที่อยากได้ เพราะหากสามารถอ่านใจอีกฝ่าย ชีวิตคู่ก็คงราบรื่นและไปได้สวย อย่างไรก็ตาม พลังนี้อาจไม่ได้มาง่ายๆ หากแต่ต้องเริ่มจากการสัมผัสได้ก่อนว่าคู่รักของคุณกำลังรู้สึกอะไรอยู่ หรือเรียกกันว่า ‘ความเห็นอกเห็นใจ’ (empathic accurancy) ที่จะนำไปสู่การเข้าใจความคิดและอารมณ์ของอีกฝ่ายได้ในเวลาต่อมา
พอรู้ใจกัน มันก็นำไปสู่เรื่องที่มีแต่เราที่ ‘รู้กันแค่สองคน’ โดยโจชัว วูล์ฟ เชงก์ (Joshua Wolf Shenk) ได้เขียนเรื่องนี้ไว้ในหนังสือ Powers of Two ว่า เมื่อคู่รักมีความคิดร่วมกัน (shared-mind) ก็จะทำให้พวกเขาเข้าใจ ‘ภาษา’ หรือข้อความลับๆ ซึ่งในที่นี้อาจรวมไปถึง ‘มุกตลก’ ที่คนนอกไม่เก็ท ซึ่งการสื่อสารลับๆ ที่รู้กันแค่สองคนนี้ จะช่วยให้ความสัมพันธ์ของคู่รักแน่นแฟ้นและโรแมนติกมากขึ้น
ยกตัวอย่างงานวิจัยจากมหาวิทยาลัยแคลิฟอร์เนียที่ศึกษาเกี่ยวกับศิลปะของการสื่อสาร พบว่า คนเราจะรีบหันมาสบตากัน เวลาที่พวกเขาได้ยินเรื่องที่รู้ข้อมูลมาก่อนหน้านี้ จากผลการศึกษานี้จึงทำให้คู่รักที่มีการแชร์ประสบการณ์ร่วมกันหรือเจออะไรด้วยกันบ่อยๆ มักจะมีโค้ดลับที่คนอื่นมักไม่เข้าใจอยู่เสมอ
ยิ่งไปกว่านั้น เชงก์ยังบอกว่า คู่ที่มีความสัมพันธ์ในระยะยาวหรือใช้เวลาร่วมกันมากๆ มักจะเกิดปรากฏการณ์ ‘การระบาดทางอารมณ์’ (emotional contagion) โดยมีการกระตุ้นความรู้สึกของกันและกันอย่างรุนแรงจนส่งอิทธิพลเป็นวงกว้าง ทำให้ ‘น้ำเสียง’ หรือแม้กระทั่ง ‘จังหวะ’ ในการพูดคล้ายกันอย่างกับออกมาจากปากคนคนเดียวกัน
แครอล บรูสส์ (Carol Bruess) นักจิตวิทยา มหาวิทยาโอไฮโอ ได้ศึกษาความโรแมนติกของคู่รัก โดยสังเกตความเชื่องโยงระหว่างการใช้ ‘ศัพท์ลับๆ’ กับ ‘ความพอใจ’ ที่พวกเขามีต่อความสัมพันธ์ ซึ่งบรูสส์ก็พบว่า ยิ่งคู่รักใช้ศัพท์หรือประโยคลับๆ มากเท่าไหร่ ก็มีแนวโน้มว่าพวกเขาจะมีความสุขกับชีวิตคู่มากเท่านั้น
พลังแห่งความรักถูกพิสูจน์ว่ามีอยู่จริง แต่ทั้งหมดนี้ก็แค่ข้อสรุปทางจิตวิทยาและวิทยาศาสตร์เท่านั้นแหละ เพราะจะมีพลังวิเศษอะไรทำให้รักยืนยาวไปกว่า ‘ความเอาใจใส่’ ที่มีให้กัน
อ้างอิงข้อมูลจาก