โอ๊ย เดินสะดุดชายประโปรงหน้าออฟฟิศ คนมองเต็มเลย อายจะแย่แล้วเนี่ย!
เคยทำเรื่องน่าอายในที่สาธารณะกันบ้างมั้ย…
เผลอทำกาแฟหกใส่เสื้อ เดินไม่ดูตาม้าตาเรือจนสะดุดขาโต๊ะ (เจ็บมาก!) หรือทานอาหารเที่ยงเลอะแก้มจนทำเอาเพื่อนที่กินข้าวด้วยอมยิ้ม
แน่นอนว่าความผิดพลาดซุ่มซ่ามที่เกิดขึ้นไม่ใช่เรื่องใหญ่โต ไม่ได้ทำใครคอขาดบาดตาย แต่เราเองที่เป็นตัวต้นเรื่องก็อดไม่ได้ที่จะเขินอายเล็กๆ ทำไมฉันคนนี้มันไม่เจ๋งเอาซะเลย อยากคีปคูลให้ดูดีแบบคนอื่นเขาบ้าง แต่ไม่ว่าจะทำอะไรก็โก๊ะๆ เปิ่นๆ ตลอด อยากอวดคนอื่นบ้างว่า “ไอเรามันก็เท่ซะด้วย”
ใจเย็นๆ ไม่เป็นไรนะทุกคน ใครๆ ก็เดินสะดุดขาโต๊ะได้ทั้งนั้นแหละ เมื่อกี้เราเองก็เพิ่งเตะขาเตียงมาเหมือนกัน เพราะงั้นแทนที่จะมองหาว่า ทำยังไงถึงจะเท่ เราอยากชวนทุกคนมารู้จักกับ ‘Pratfall Effect’ ปรากฏการณ์ที่อธิบายว่า ถ้าทำพลาดนิดๆ ใช้ชีวิตผิดหน่อยๆ เราอาจเป็นที่รักของผู้คนได้มากกว่าการเป็นคนที่เพอร์เฟ็กต์อยู่ตลอดเวลาก็เป็นได้
อะไรคือ Pratfall Effect
Pratfall Effect คือปรากฏการณ์ที่พยายามอธิบายว่า ความผิดพลาดสามารถช่วยให้เราเป็นที่รักได้มากขึ้น ซึ่งมักเกิดกับผู้ที่มีความน่าเชื่อถือ หรืออย่างน้อยต้องเป็นคนที่มีข้อดีในตัวเอง โดยเมื่อเขาหรือเธอก่อเรื่องซุ่มซ่าม แทนที่จะโดนตำหนิ ล้อเลียน กลับกลายเป็นว่าคนรอบข้างต่างพากันชื่นชมและพึงพอใจในตัวเขาหรือเธอคนนั้นมากขึ้น เพราะรู้สึกว่าเข้าถึงง่ายและมีความเป็นคนธรรมดาไม่ต่างจากเรา
ยกตัวอย่าง กรณีของบารัค โอบามา (Barrack Obama) อดีตประธานาธิบดีของสหรัฐอเมริกา ที่ออกมายอมรับตรงๆ ในช่วงหาเสียงเลือกตั้งว่า สมัยเรียน เขาเองก็เคยสูบกัญชาเช่นเดียวกับวัยรุ่นส่วนใหญ่ การยอมรับความผิดพลาดเล็กๆ น้อยๆ นี้ไม่เพียงช่วยให้โอบามาได้รับความนิยมมากขึ้น แต่ยังทำให้เขามีแต้มต่อเหนือคู่แข่งอย่างฮิลลารี คลินตัน (Hillary Clinton) ผู้ซึ่งสามีของเธอเคยให้สัมภาษณ์ว่า เขาไม่เคยลองกัญชามาก่อน แม้จะเป็นในวัยเด็กก็ตาม
หรืออีกหนึ่งตัวอย่างที่คงช่วยให้ทุกคนเห็นภาพปรากฏการณ์ Pratfall ชัดเจนยิ่งขึ้น คือบรรดาตัวละครจอมเปิ่นในโลกของซีรีส์ ลองนึกภาพนางเอกที่ซุ่มซ่ามแล้ว ซุ่มซ่ามอีก แถมยังชอบก่อเรื่องโดยไม่ได้ตั้งใจจนกลุ่มเพื่อนหัวเสีย ทว่าเธอก็กลายเป็นที่หมายปองของเหล่าตัวละครหลัก แถมดีไม่ดียังกลายเป็นที่รักของผู้ชมทางหน้าจอไปพร้อมกันด้วย หรือในแวดวงดาราศิลปิน บางครั้งเมื่อไอดอลที่เราชื่นชอบทำอะไรโก๊ะๆ ออกมาให้เห็น หรือกระทั่งลืมเนื้อเพลง เรากลับหลงรักเขายิ่งกว่าเดิมเพราะความเป็นธรรมชาติที่ได้เห็น
มากไปกว่านั้น หากลองสังเกตกันในชีวิตจริง แฟนหรือใครก็ตามที่เรากำลังปิ๊งอยู่ก็อาจเป็นคนเปิ่นๆ โก๊ะๆ ที่แม้จะทำอะไรพลาดบ่อย แต่เราก็ละสายตาจากเขาหรือเธอคนนั้นไม่ได้เลยสักวินาที สรุปง่ายๆ Pratfall Effect คือปรากฏการณ์ที่บอกว่า เรื่องที่น่าจะออกมาร้าย กลับกลายเป็นข้อดีนั่นเอง
รู้ได้ยังไงว่าสิ่งนี้มีอยู่จริง
นั่นน่ะสิ หลายเรื่องในโลกของเราก็เป็นเพียงสมมติฐานลอยๆ ที่ใครนึกจะพูดขึ้นมาก็ได้ แต่ไม่ใช่กับ Pratfall Effect เพราะย้อนกลับไปในปี 1966 นักจิตวิทยาชาวอเมริกันที่ชื่อเอเลียต อารอนสัน (Elliot Aronson) ได้ตีพิมพ์งานวิจัยที่ศึกษาความเชื่อมโยงระหว่างการทำผิดพลาดกับเสน่ห์ของมนุษย์ โดยเขาได้ขอให้นักศึกษาจำนวน 48 คน มาช่วยทำการทดลอง เริ่มแรกเอเลียตแบ่งนักศึกษาออกเป็น 4 กลุ่มเท่าๆ กัน จากนั้นก็เปิดวิดีโอที่มีคนกำลังตอบคำถามกับกล้องให้พวกเขาดู ซึ่งแต่ละกลุ่มจะได้รับชมวิดีโอที่แตกต่างกัน 4 คลิป นั่นคือ
- คลิปที่ 1 คนมีความรู้ตอบคำถาม ซึ่งตอบถูก 92%
- คลิปที่ 2 คนทั่วไปตอบคำถาม ซึ่งตอบถูกเพียง 30%
- คลิปที่ 3 คนมีความรู้ตอบคำถาม และเผลออุทานตอนท้ายเพราะทำกาแฟหก
- คลิปที่ 4 คนทั่วไปตอบคำถาม และเผลออุทานตอนท้ายเพราะทำกาแฟหก
หลังจากดูวิดีโอจนจบ เอเลียตก็ให้นักศึกษาทุกกลุ่มกรอกแบบสอบถามเกี่ยวกับความประทับใจที่มีต่อบุคคลในคลิป ซึ่งผลปรากฏว่า คนในคลิปที่ 3 (คนมีความรู้ที่ทำกาแฟหก) ถูกลงความเห็นว่าเป็นคนที่มีเสน่ห์มากที่สุด แถมยังมากกว่าคนในคลิป 1 ที่ไม่ทำกาแฟหกเสียอีก
เสียงอุทานเพราะการทำกาแฟหกนี่เองที่เป็นความเงอะงะซึ่งช่วยให้บุคคลกลายเป็นที่รักมากขึ้น โดยเราสามารถถอดข้อสรุปจากการทดลองของเอเลียตได้ 3 ข้อ นั่นคือ
1) ไม่ต้องกังวลกับความผิดพลาดมากขนาดนั้น
หากเป็นบุคคลที่เป็นที่ยอมรับหรือมีข้อดีด้านใดด้านหนึ่งอย่างเด่นชัด การเผลอทำอะไรผิดเพี้ยนไปบ้างจะช่วยสร้างแรงดึงดูดใจต่อคนทั่วไป ดูเข้าถึงง่ายมากขึ้น มีความเป็นมนุษย์มากขึ้น ที่สำคัญคือเป็นผู้ที่กล้ายอมรับผิดในสิ่งที่ตัวเองก่อ ตรงกันข้าม คนที่ดูเป๊ะ ทำทุกอย่างถูกต้องทุกระเบียดนิ้วจะทำให้คนรอบข้างรู้สึกกลัวที่จะเข้าหา รู้สึกเกร็งๆ ที่จะพูดด้วย ทั้งที่เขาอาจจะไม่ได้ทำอะไรผิดเลยด้วยซ้ำ
2) ปรากฏการณ์นี้ไม่ได้ใช้ได้กับทุกคน
หากเป็นผู้ที่ดูแย่ในสายตาผู้อื่น ไม่มีความรับผิดชอบ ไม่ตรงต่อเวลา พูดจาโกหกหรืออะไรก็แล้วแต่ คนกลุ่มนี้จะยิ่งดูไม่ดีมากขึ้นไปอีกหากก่อความผิดพลาด ต่อให้เป็นเรื่องเล็กน้อยก็ตาม ซึ่งจากการทดลองข้างต้น คนที่ได้รับคะแนนความพึงพอใจน้อยที่สุดก็คือคนในคลิปที่ 4 ซึ่งตอบคำถามไม่ค่อยได้ แถมยังทำกาแฟหกด้วย ซึ่งนักศึกษาที่เข้ามาลงคะแนนน่าจะมองว่า นอกจากจะไม่โดดเด่นในการตอบคำถามแล้ว คนนี้ยังซุ่มซ่ามอีก ดูไม่มีข้อดีเลยแม้แต่อย่างเดียว
3) บริบทมีส่วนสำคัญ
เรายังไม่สามารถระบุได้ว่า ความผิดพลาดแต่ละครั้งส่งผลต่อการรับรู้ของผู้อื่นมากน้อยแค่ไหน เพราะสิ่งนี้ขึ้นอยู่กับภาพลักษณ์ของคนที่ซุ่มซ่าม ตลอดจนความรู้สึกนึกคิดซึ่งคนรอบข้างมีต่อบุคคลนั้น และจากงานวิจัยในช่วงหลังยังพบอีกว่า เพศ อายุ และเชื้อชาติเองก็เป็นปัจจัยที่ส่งผลต่อมุมมองของผู้คนด้วย
ธุรกิจก็หยิบ Pratfall Effect มาใช้
นับตั้งแต่ปี 1966 เป็นต้นมา Pratfall Effect ก็ถูกพูดถึงในวงกว้างมากขึ้นเรื่อยๆ โดยเฉพาะในแวดวงธุรกิจ โดยครั้งหนึ่ง นักจิตวิทยาอย่างอดัม เฟอร์เรียร์ (Adam Ferrier) เคยไปสอบถามผู้บริโภคจำนวน 626 คนว่า จะเลือกอะไรระหว่างคุกกี้ผิวขรุขระกับผิวเรียบ ซึ่งทั้ง 2 แบบมีรสชาติเหมือนกันทุกประการ
ผลปรากฏว่า กว่า 66% เลือกคุกกี้ผิวขรุขระ ที่แม้จะมีสภาพไม่สวยงามบ้าง มีส่วนที่แตกหักบ้าง แต่กลับขายได้ และขายได้ดีกว่าคุกกี้ที่มีลักษณะสมบูรณ์แบบอย่างมีนัยสำคัญ
ตัวอย่างการนำ Pratfall Effect ไปปรับใช้ที่โด่งดังที่สุดคือ Guinness แบรนด์เครื่องดื่มแอลกอฮอล์ที่ครั้งหนึ่งเคยทำยอดขายไม่เข้าเป้า เพราะเป็นเบียร์ที่รินช้า ต้องใช้เวลาตระเตรียมนานกว่าเบียร์เจ้าอื่นๆ จึงไม่ถูกใจทั้งนักดื่ม คนขาย รวมทั้งเจ้าของผับบาร์ที่ต้องบริการลูกค้าในชั่วโมงเร่งด่วน
อย่างไรก็ดี แทนที่จะหากรรมวิธีที่ช่วยให้เบียร์มีอัตราการไหลที่เร็วขึ้น Guinness ที่มั่นใจว่า ผลิตภัณฑ์ของตัวเองมีคุณภาพอยู่แล้ว กลับเลือกจะทำการตลาดอย่างชาญฉลาดผ่าน Pratfall Effect โดยออกสโลแกน ‘Good things come to those who wait’ หรือ ‘สิ่งที่ดีจะตกเป็นของคนที่คอยเป็น’ กลายเป็นว่า ผู้บริโภคซื้อไอเดียดังกล่าว เริ่มเปลี่ยนความคิดจาก ‘ต้องรีบดื่ม’ เป็น ‘เบียร์ที่ดีต้องอาศัยระยะเวลา’ และอันที่จริง วินาทีที่ใช้ในการรินเบียร์ลงแก้วก็ไม่ได้มากมายจนเป็นปัญหาขนาดนั้น สโลแกนใหม่นี้จึงช่วยให้ลูกค้ารู้สึกว่าแบรนด์มีความจริงใจที่จะบอกเล่าปัญหาตรงๆ ทั้งยังลดความคาดหวังที่ผู้ดื่มมีต่อสินค้าด้วย ท้ายที่สุด การใช้ Pratfall Effect ก็ช่วยให้เครื่องดื่มสัญชาติไอร์แลนด์ได้รับความนิยมมาจนถึงปัจจุบัน
จะว่าไปเรื่องราวของ Guinness ก็แอบคล้ายสโลแกน ‘เค็มแต่ดี’ ของยาสีฟันซอลส์ หรือเทคนิค Bully Marketing ที่ เบียร์— ศรัญญู เพียรทำดี เจ้าของเพจ Buffalo Gags ใช้ขายน้ำพริกแคบหมูยายน้อยอยู่เหมือนกัน เพราะบางที การมีข้อเสียเล็กๆ น้อยๆ ก็อาจเพิ่มเสน่ห์ให้กับสินค้าหรือตัวตนของเราได้ไม่น้อยเลย
อย่างไรก็ตาม สิ่งหนึ่งที่เราอยากเตือนทุกคนไว้ก็คือ ถึงความผิดพลาดจะช่วยให้เราดูจริงใจ ไม่ขี้เก๊กมากแค่ไหนก็ตาม เราก็ไม่อยากให้ทุกคนถึงกับต้องพยายามจงใจก่อเรื่องผิดพลาด เพราะอย่างที่บอก อะไรที่ไม่เป็นธรรมชาติ คนเขาดูออก แถมปรากฏการณ์นี้ยังขึ้นอยู่กับบริบท และยิ่งถ้าเราถูกเกลียดโดยใครบางคนอยู่แล้วด้วย การสร้างปัญหาก็คงยิ่งทำให้เขาเกลียดเรามากกว่าเดิม
สุดท้ายนี้ก็หวังว่าบทความนี้จะช่วยให้ทุกคนรู้สึกดีกับความซุ่มซ่ามที่ตัวเองทำไปโดยไม่ได้ตั้งใจมากขึ้น ท่องให้ขึ้นใจว่า ถ้าเราดีพอ การไม่พยายามสมบูรณ์แบบตลอดเวลาก็อาจช่วยให้เราดูน่าคบหามากกว่าคนที่เพอร์เฟ็กต์…โก๊ะนิด เปิ่นหน่อย น่ารักจะตายไป
และไม่แน่นะ ใครบางคนอาจจะกำลังแอบชอบคนโก๊ะๆ เปิ่นๆ แบบเราอยู่ก็ได้ ใครจะไปรู้ล่ะ…
อ้างอิงจาก