ยังจำประสบการณ์ไปเข้าค่ายธรรมะกันได้รึเปล่า?
เชื่อว่าหลายๆ คนน่าจะมีประสบการณ์ร่วม เช่น การที่พระอาจารย์หรือวิทยากรเปิดคลิปต่างๆ ที่สะเทือนอารมณ์ คลิปผ่าท้องคลอด คลิปสัตว์ที่เป็นอาหารเราถูกฆ่าอย่างไร รวมถึงวิธีการต่างๆ ที่ช่วยผลักดันอารมณ์ของเราไปทางใดทางหนึ่ง
เอาเข้าจริง ประเด็นเรื่องค่ายธรรมะที่กลับมาให้พูดถึงกันอยู่บ่อยๆ หลายคนได้ตั้งคำถามถึงเรื่อง ‘วิธีการ’ ต่างๆ ที่ฝึกฝนพฤติกรรมและทัศนคติของเราที่เกิดขึ้นในกิจกรรมค่ายธรรมะ
หัวข้อสำคัญที่ถูกพูดถึงกันอย่างจริงจัง คือคำถามที่ว่า แล้วค่ายธรรมะต่างๆ นั้นมีความจำเป็นแค่ไหนที่ต้องบีบคั้นอารมณ์ความรู้สึก จนเกิดภาวะที่กระทบกระเทือนทางจิตใจกับเหล่าเด็กนักเรียน/นักศึกษา
ตั้งคำถามกับรูปแบบกิจกรรม
พระมหาไพรวัลย์ วรรณบุตร วัดสร้อยทอง เคยพูดถึงกรณีนี้ผ่านรายการตอบโจทย์ของช่อง ThaiPBS เอาไว้ โดยท่านได้ตั้งข้อสังเกตถึงการมองเพียงแค่ ‘เป้าหมาย’ หรือ ‘ปลายทาง’ ของการกิจกรรม จนไม่ได้สนใจถึง ‘รูปแบบ’ ของกิจกรรมต่างๆ ว่ามันเหมาะสมหรือรุนแรงต่อจิตใจเกินไปรึเปล่า
และบางครั้งกิจกรรมอาจเลยไปไกลถึงการทำโทษต่อความผิดในเรื่องเล็กๆ น้อยๆ จนกลายเป็นการสร้างความกลัวต่อนักเรียนด้วยเช่นกัน
“มันเป็นวิธีการแบบอำนาจนิยมนะ ทำยังไงก็ได้ ให้คนที่เข้ารับการอบรม ให้คนในค่ายรู้สึกกลัวกับรู้สึกผิด ทุกเรื่องจะเป็นความผิดหมดแม้แต่เรื่องเล็กน้อย เช่น วางรองเท้าไม่เป็นระเบียบ กินอาหารไม่หมด ตื่นสาย นั่งสมาธิตัวไม่ตรง ก็จะถูกทำโทษ
“วิธีการอย่างหนึ่งคือทำให้รู้สึกผิด ทั้งๆ ที่เด็กก็ไม่ได้รู้ว่าทำอะไรผิดแต่ต้องรู้สึกผิด เธอเกิดมาผิดนะ เพราะทำให้แม่เจ็บปวดทำให้ต้องเอาคลิปแม่คลอดลูกมาดู หรือกินอาหารก็มีความผิดนะ เพราะมีสัตว์ที่ต้องถูกฆ่า”
ด้านนักวิชาการศาสนวิทยา ดร.ศิลป์ชัย เชาว์เจริญรัตน์ เชื่อว่า ผู้ที่ออกแบบการอบรมมักอยากจะต้องการทำให้คนเปลี่ยนพฤติกรรมและจิตใจได้ โดยหลายครั้ง คิดว่าต้องทำให้มันบีบคั้นอารมณ์ ต้องกระทบอารมณ์ให้ถึงขีดสุด แล้วจะให้ถึงขีดสุดมันต้องแสดงออกชัด และจุดที่แสดงออกชัดก็คือการทำให้ร้องไห้
“ตัวที่ชัดที่สุดที่ทำให้คนร้องไห้ ในการเข้าค่ายธรรมะก็คือการเล่นกับความรู้สึกผิด รู้สึกบาป รู้สึกกลัว” ดร.ศิลป์ชัย กล่าว
“พอเห็นสดๆ มันก็รู้สึกตึงเครียด หวาดกลัว และสงสารแม่ เพราะเราออกมาแล้วทำให้แม่เจ็บปวด เสร็จแล้วพระวิทยากรก็จะพูดชี้นำว่ากว่าแม้จะคลอดเรามาต้องเจ็บปวดขนาดนี้ และกว่าจะเลี้ยงเราโตขึ้นมา แล้วดูสิว่าเราทำตัวอย่างไร
“ความเข้มแข็งในจิตใจของแต่ละคนไม่เท่ากัน ความมีเหตุมีผลไม่เท่ากัน ภูมิหลังของแต่ละบ้านไม่เท่ากัน ความสัมพันธ์ของแม่กับลูกในแต่ละบ้านก็มีเงื่อนไขที่ไม่เหมือนกัน”
สิ่งที่ต้องระวังคือเด็กแต่ละคนไม่ได้เข้มแข็งเท่ากัน
ผู้เชี่ยวชาญด้านเด็กและวัยรุ่น สุริยเดว ทรีปาตี กุมารแพทย์ บอกกับคมชัดลึกว่า จริงอยู่ที่เป้าหมายคือการหวังดีให้เกิดความรู้สึกรักครอบครัว หรือเป็นคนกตัญญู แต่ถึงอย่างนั้น การใช้กิจกรรมที่มีเนื้อหาบีบคั้นอารมณ์และจิตใจ ก็คือสิ่งที่ต้องระวังเป็นอย่างยิ่ง
“รักแม่ก็ดี รู้สึกสงสารแม่แล้วก็รู้สึกผิด สำหรับหลายคนเวลารู้สึกผิดก็เลิกทำ แต่บางคนไม่ได้แค่รู้สึกผิด แต่รู้สึกว่าตัวเองชั่ว ตัวเองเลว ตัวเองเนรคุณ ตัวเองอกตัญญู พอเขาไม่สามารถเป็นคนดีได้อย่างที่พ่อแม่หวัง เขาก็จะจมอยู่กับความรู้สึกผิดนั้นอย่างรุนแรง ยิ่งถ้าคนนั้นมีพื้นฐานทางจิตใจอ่อนแอ ทีนี้จมอยู่กับความรู้สึกผิดไม่สามารถขึ้นมา มันก็จะฝังลึกทางจิตใจ”
ที่สำคัญคือ กิจกรรมที่ส่งผลต่อจิตใจเช่นนั้น ทางที่ดีก็ควรจะมีนักจิตวิทยาคอยดูแลและสอดส่องผลกระทบที่อาจจะเกิดขึ้นกับเด็กๆ
“เด็กบางคนเขาไม่ได้พร้อมนะ ในการเข้าสู่กลุ่มอะไรแบบนี้” เขาระบุผ่านรายการทีวี “กระบวนการแบบนี้มันไม่ได้อยู่ในกลุ่มใหญ่ มันต้องเป็นกลุ่มเล็ก และวิทยากรควรจะมีนักจิตวิทยาเข้ามาร่วมด้วย เพราะจะได้คอยสังเกตการณ์ได้ด้วยว่ามีเด็กคนไหนที่มีความรู้สึกที่ไม่ดีแล้ว และถ้ารู้สึกไม่ดีแล้วจะปรึกษาจิตแพทย์ดีไหม
“วิทยากร กระบวนการ รูปแบบ วิธีการ พวกนี้ควรจะมีการดูแล และพอทำกระบวนการเสร็จก็ต้องถอดบทเรียนโดยมีนักจิตวิทยาอยู่ด้วย”
ด้านความเห็นของ ธัญญา เรืองแก้ว อดีตผู้เชี่ยวชาญด้านติดตามตรวจสอบการดำเนินการบริหารจัดการศึกษาขั้นพื้นฐาน สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) เชื่อว่า ถึงแม้กิจกรรมค่ายธรรมะจะตั้งใจดี แต่ถึงอย่างนั้น ก็ต้องระมัดระวังเรื่องรูปแบบให้เหมาะสมกับวัย และความแตกต่างของเด็กแต่ละคนด้วย
“เด็กอ่อนไหวมาก บางคนคิดสั้น ครูต้องรู้จักเด็กทุกคนว่าเป็นอย่างไร ความกลัวมันเป็นจิตใต้สำนึกของคนเรา เป็นเรื่องอ่อนไหวของแต่ละคน” อดีตผู้เชี่ยวชาญด้านติดตามตรวจสอบการดำเนินการบริหารจัดการศึกษาขั้นพื้นฐาน ระบุ
เลิกบังคับเข้าร่วม และคำนึงถึงจิตใจเด็กให้มากขึ้น
ถ้าหากเราค้นหาข้อมูลเกี่ยวกับค่ายธรรมะผ่าน Google หนึ่งในหัวข้อที่จะถูกแนะนำขึ้นมาคือคีย์เวิร์ดมากมาย หนึ่งในนั้นคือ “ไม่อยากไปเข้าค่ายธรรมะ” และ “บังคับเข้าค่ายธรรมะ” นี่อาจจะสะท้อนถึงความรู้สึกของเด็กๆ ได้อยู่บ้างเหมือนกัน
ที่ผ่านมาก็เคยมีข้อมูลว่า โรงเรียนหลายๆ แห่งมักจะบรรจุการเข้าค่ายธรรมะให้เป็นกิจกรรมเชิงบังคับ หรือไปแล้วถึงจะได้คะแนน นี่จึงอาจจะเป็นเหตุผลสำคัญที่เด็กหลายคนตัดสินใจเข้าร่วม
ผู้อำนวยการมูลนิธิศูนย์พิทักษ์สิทธิเด็ก วาสนา เก้านพรัตน์ ให้สัมภาษณ์กับ Voicetv ว่า ประเด็นสำคัญคือการตัดสินใจเข้าร่วมหรือไม่ของเด็กนั้น ต้องอยู่บนพื้นฐานของการรับรู้ข้อมูลที่รอบด้าน และการเปิดให้เด็กๆ มีส่วนร่วมตัดสินใจอย่างอิสระ พวกเขาก็จะสามารถประเมินความพร้อมและการเตรียมตัวที่จะเข้าร่วมกิจกรรมได้
อย่างไรก็ดี ผู้จัดกิจกรรมเองก็ต้องคำนึงถึงความแตกต่างทางจิตใจของเด็กๆ ที่เข้าร่วมกิจกรรม ว่าพวกเขาก็ไม่ได้จะมีความพร้อมรับมือกับภาวะอันเข้มข้นเช่นนั้นได้ทุกคน
“เป็นไปไม่ได้ที่ทุกคนจะได้รับผลที่เหมือนกัน หากสอนให้สำนึกถึงบุญคุณพ่อแม่ แต่ชีวิตจริงตัวเขาเองกำลังมีปัญหาครอบครัวอยู่ แบบนั้นอาจเป็นตัวกระตุ้นความรู้สึกลบในใจได้” วาสนา ระบุ
สุดท้ายแล้ว จุดร่วมในความเห็นของทั้งพระสงฆ์ นักจิตวิทยา และผู้ดูแลเรื่องสิทธิเด็กก็คือ แม้กิจกรรมค่ายธรรมะจะมีเป้าหมายที่ดี หากแต่ ‘วิธีการ’ ที่จะนำไปสู่เป้าหมายนั้นก็คือสิ่งสำคัญ มิหนำซ้ำยังต้องระมัดระวังเป็นอย่างมากด้วย เพราะสภาพจิตใจของเด็กนักเรียนแต่ละคนไม่เหมือนกัน บางคนพร้อมจะรับมือได้ แต่บางคนก็มีเงื่อนไขทั้งจิตใจของตัวเอง และเงื่อนไขทางด้านครอบครัวที่ไม่อาจแบกรับความรู้สึกอันหนักอึ้งเช่นนั้นได้เท่าคนอื่นๆ
ที่สำคัญไม่แพ้กัน คือการปลูกฝังหรือสอนเรื่องคุณธรรม จริยธรรม อาจจะต้องมีทางเลือกอื่นๆ นอกเหนือไปจากการเข้าค่ายธรรมะควบคู่กันไปด้วย เพื่อรองรับกับนักเรียนที่ไม่สะดวกใจที่จะเข้าร่วม
การฝังความเชื่อว่าควรรู้สึกผิดกับสิ่งใดเป็นพิเศษนั้น คือเรื่องใหญ่มากๆ ที่จะส่งผลทางด้านจิตใจกับเด็กนักเรียนในวัยที่กำลังโตเป็นผู้ใหญ่
และความเชื่อด้านลบเหล่านั้น อาจฝังแน่นกับพวกเขาไปนานเกินที่วิทยากรจะประเมินได้