สิ่งที่สำคัญที่สุดในการศึกษาคืออะไร เด็กไทยควรได้เรียนรู้อะไรมากที่สุด?
ในยุคสมัยที่เยาวชนรุ่นใหม่ กล้าคิด กล้าทำ กล้าตั้งคำถามกันในหลากหลายประเด็นมากขึ้น แนวทางการศึกษาที่ภาครัฐเป็นคนกำหนด จึงเป็นเหมือนตัวตัดสินว่า ทิศทางการเรียนรู้ของนักเรียนไทยจะหันไปทางไหน รัฐไทยต้องการมอบอิสระและเสรีภาพให้พวกเขามากขึ้น หรือต้องการจำกัดความคิดของพวกเขากันแน่?
ร่าง พระราชบัญญัติการศึกษาแห่งชาติ พ.ศ. … กลายมาเป็นประเด็นสำคัญ เมื่อรัฐบาลเตรียมเสนอร่างกฎหมายฉบับใหม่ ซึ่งตอนนี้ ร่าง พ.ร.บ.การศึกษาฯ ดังกล่าว ได้ผ่านมติ ครม.แล้ว และกำลังเตรียมเข้าสู่การพิจารณาร่างกฎหมายวาระที่ 1 (ขั้นรับหลักการ)
ตรีนุช เทียนทอง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ กล่าวในที่ประชุมสภาผู้แทนราษฎร ประเทศไทยใช้พระราชบัญญัติการศึกษาแห่งชาติ พ.ศ.2542 เสมือนธรรมนูญการศึกษา เป็นกฎหมายกลางของการศึกษา เป็นเวลากว่า 20 ปีแล้ว ซึ่งต้องยอมรับว่า ขณะนี้ สถานการณ์โลกเปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็ว กระทรวงศึกษาธิการจึงปฏิรูปการศึกษาไทย โดยร่าง พ.ร.บ.การศึกษาแห่งชาติฉบับนี้ได้ผ่านการทำประชาพิจารณ์รับฟังความคิดเห็นจากทุกภาคส่วน ตามขั้นตอนของรัฐธรรมนูญ และยังกล่าวว่า จะผลักดันกฎหมายที่เกี่ยวข้องควบคู่ไปด้วย
แม้เจตนาจะดี แต่ก็มีการตั้งข้อสังเกตโดยกลุ่มเยาวชนรุ่นใหม่ ที่จะได้รับผลกระทบโดยตรงจาก ร่าง พ.ร.บ.ฉบับนี้ The MATTER จึงขอพาไปดูสิ่งที่น่าสนใจจากร่างกฎหมายดังกล่าว ในประเด็นที่เกี่ยวข้องกับนักเรียนโดยตรง เพื่อทำความเข้าใจว่า แนวทางที่ภาครัฐต้องการให้เด็กไทย อันเป็นอนาคตของชาติได้เรียนรู้นั้น เป็นอย่างไรบ้าง?
ในมาตรา 6 ของ ร่าง พ.ร.บ.ฉบับนี้ ได้กำหนดวัตถุประสงค์ของการจัดการศึกษาเอาไว้ โดยเป็นไปเพื่อพัฒนาบุคคลให้มีความสมบูรณ์ทั้งร่างกาย จิตใจ สติ ปัญญา ความรู้ และคุณธรรม เป็นคนดี มีวินัย รู้จักสิทธิควบคู่กับหน้าที่และความรับผิดชอบ ภูมิใจและตระหนักในความสำคัญของชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์ และการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข
รวมถึง ยังกำหนดให้รู้จักรักษาประโยชน์ส่วนรวมและของประเทศชาติ มีทักษะการเรียนรู้ ทักษะอาชีพ และทักษะชีวิตที่สอดคล้องและเท่าทันพัฒนาการของโลก มีโอกาสพัฒนาความถนัดของตนให้เกิดความเชี่ยวชาญได้ มีสำนึกในความรับผิดชอบต่อครอบครัว ชุมชน สังคม และประเทศชาติ และสามารถอยู่ร่วมกับผู้อื่นได้อย่างผาสุก
ในขณะเดียวกัน ยังกำหนดการพัฒนา ฝึกฝน และบ่มเพาะให้ผู้เรียนมีสมรรถนะต่างๆ โดยแบ่งตามระดับช่วงวัยและมีประเด็นสำคัญ ดังนี้
ช่วงวัยที่ 1 : ตั้งแต่แรกเกิดจนอายุ 1 ปี
ต้องได้รับการเลี้ยงดูให้มีสุขภาพที่สมบูรณ์ การพัฒนาทางอารมณ์ และการกระตุ้นการรับรู้ทางประสาทสัมผัสให้สามารถเรียนรู้ในการช่วยเหลือตนเอง และสามารถมีปฏิสัมพันธุ์กับผู้อื่นได้ตามวัย
ช่วงวัยที่ 2 : อายุเกิน 1 ปี – 3 ปี
สำหรับช่วงวัยก่อนเข้าเรียนอนุบาล โดยร่าง พ.ร.บ.ฉบับนี้ กำหนดประเด็นของการเรียนรู้ไว้ว่า เด็กในวัยนี้ต้องช่วยเหลือตัวเองได้มากขึ้น เรียนรู้การพูดและการสื่อสารที่ดี เรียนรู้การสร้างวินัย เข้าใจความรู้สึกของผู้อื่น เริ่มรู้จักเผื่อแผ่ และเริ่มซึมซับวัฒนธรรมไทย
ช่วงวัยที่ 3 : อายุเกิน 3 ปี – 6 ปี
ในช่วงอายุเท่านี้ เป็นวัยของชั้นอนุบาล ซึ่งร่าง พ.ร.บ.กำหนดว่า ต้องฝึกฝนให้เกิดสมาธิอย่างต่อเนื่อง ควบคุมอารมณ์ได้ รู้จักระมัดระวังภยันตราย ซื่อสัตย์สุจริต มีวินัย เคารพกฎกติกา เห็นคุณค่าและมั่นใจในตนเอง รับรู้ความเห็นต่าง เข้าใจและเห็นใจผู้อื่น ช่วยเหลือผู้ปกครองตามกำลังความสามารถ รู้จักความสำคัญของอาชีพที่สุจริต และต้องรู้จักสังคมไทย วัฒนธรรม วิถีชีวิต และความเป็นไทย และเริ่มเรียนรู้เกี่ยวกับโลกซึ่งรวมถึงธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมด้วย
ช่วงวัยที่ 4 : อายุเกิน 6 ปี – 12 ปี
เป็นระดับชั้นประถมศึกษา ซึ่งกำหนดไว้ว่า ต้องรู้จักสิทธิและหน้าที่ของตนเอง ภูมิใจและตระหนักในความสำคัญของชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์ และการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข มีจิตอาสา ภาคภูมิใจในความเป็นไทย ซึมซับในหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง
นอกจากนี้ ยังต้องรู้จักการวางแผนล่วงหน้า มีความฉลาดและรอบรู้ทั้งในด้านคณิตศาสตร์ วิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี วิทยาการคำนวณ ภาษาต่างประเทศ ภาษาไทย ประวัติศาสตร์ วัฒนธรรม และวิถีชีวิตของไทยและประเทศเพื่อนบ้าน รวมถึง ต้องเริ่มหาลู่ทางในการประกอบอาชีพด้วย
ช่วงวัยที่ 5 : อายุเกิน 12 ปี – 15 ปี
ในชั้นมัธยมศึกษาตอนต้น ร่างกฎหมายนี้กำหนดประเด็นไว้ว่า ต้องยอมรับความคิดเห็นที่แตกต่างหลากหลาย เชื่อมั่นและเข้าใจการธำรงความเป็นไทย รู้และเข้าใจในหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงจนสามารถนาไปใช้ในชีวิตได้
ทั้งยังต้องใฝ่รู้และมีทักษะในการเรียนรู้ที่สอดคล้องกับพัฒนาการของโลก และสามารถคิดในเชิงสังเคราะห์ คิดสร้างสรรค์ และสื่อสารได้อย่างมีประสิทธิภาพ รวมถึง สามารถเลือกเส้นทางการศึกษาต่อหรือเส้นทางอาชีพและการทำงานได้ด้วย
ช่วงวัยที่ 6 : อายุเกิน 15 ปี – 18 ปี
สำหรับชั้นมัธยมศึกษาตอนปลาย ต้องแสวงหาความรู้และข้อมูลให้ทันการณ์ รู้วิธีตรวจสอบข้อมูลและสถานการณ์ที่ถูกต้อง ยึดมั่นในคุณธรรม ขยัน อดทน และไม่ท้อถอย เข้าใจบทบาทของไทยในสังคมโลก โดยได้แบ่งแยกเป้าหมายออกเป็นสองด้าน คือ ด้านการประกอบอาชีพ และด้านการศึกษาต่อในระดับบอุดมศึกษา
ช่วงวัยที่ 7 : ระดับอุดมศึกษาหรือทักษะอาชีพชั้นสูง
ต้องรู้จักแสวงหาความสุขสงบทางจิตใจ เป็นพลเมืองที่เข้มแข็ง เคารพกฎกติการอย่างเคร่งครัด เป็นปฏิปักษ์ต่อการทุจริตหรือประพฤติมิชอบ มีความกล้าหาญที่จะแสดงออกในสิ่งที่ถูกต้องชอบธรรม มีส่วนร่วมรับผิดชอบต่อปัญหาบ้านเมือง
ขณะเดียวกัน ร่างกฎหมายดังกล่าว ยังกำหนดให้เป็นหน้าที่หรือสิทธิของรัฐ เอกชน ไม่ว่าจะเป็นบุคคลธรรมดา คณะบุคคล หรือนิติบุคคล รวมถึง บิดามารดาหรือผู้ปกครอง เป็นผู้มีสิทธิในการจัดการศึกษาได้ด้วย แต่ต้องเป็นการศึกษาที่จะให้บรรลุตามเป้าหมายที่กำหนดไว้
รวมถึง การจัดการศึกษา และแผนการศึกษาแห่งชาติ ยังต้องสอดคล้องกับ พ.ร.บ.ฉบับนี้ ยุทธศาสตร์ชาติ และแผนการปฏิรูปประเทศ ไม่เป็นปฏิปักษ์หรือขัดแย้งต่อหน้าที่ของปวงชนชาวไทย
และถ้าหาก การจัดการศึกษานั้น ไม่บรรลุเป้าหมายตามกำหนด กระทรวงศึกษาฯ มีอำนาจสั่งให้ผู้จัดการศึกษาปรับปรุงแก้ไข หรือสั่งระงับการจัดการศึกษานั้นได้ แต่ถ้าสั่งระงับการจัดการศึกษา ต้องกำหนดมาตรการรองรับผู้เรียน ให้สามารถเรียนต่อในสถานศึกษาหรือได้รับการศึกษาด้วยวิธีการอื่นใดที่สมควรด้วย
ขณะที่ ในบุคคลที่มีความต้องการจำเป็นพิเศษตามที่คณะกรรมการนโยบายกำหนด ต้องได้โอกาสเข้าเรียนและร่วมกิจกรรมต่างๆ ในสถานศึกษาเดียวกับผู้เรียนทั่วไปอย่างเหมาะสม สอดคล้องกับความต้องการจำเป็นพิเศษ เพื่อการพัฒนาให้เต็มศักยภาพสูงสุดของแต่ละบุคคล โดยจะแยกเป็นสถานศึกษาเฉพาะหรือจัดให้มีระบบพิเศษขึ้นเป็นการเฉพาะในสถานศึกษาก็ได้ แต่ต้องให้ผู้เรียนดังกล่าวเรียนร่วมกับผู้เรียนทั่วไปได้มากที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้
ยิ่งกว่านั้น ในหมวดการจัดการศึกษา ยังกำหนดไว้ด้วยว่า การจัดการศึกษาเพื่อคุณวุฒิตามระดับสำหรับบุคคลซึ่งมีความสามารถพิเศษให้จัดด้วยรูปแบบที่เหมาะสม โดยคำนึงถึงความสามารถของบุคคลนั้น
ประเด็นต่างๆ ที่กล่าวมานี้ ทำให้หลายคนตั้งคำถามกับแนวทางของการศึกษาที่จะถือกำเนิดขึ้นมาจากร่าง พ.ร.บ.การศึกษาฯ ฉบับใหม่ เมื่อเทียบกับฉบับปี 2542 ซึ่งระบุให้การจัดการเรียนการสอนอยู่คู่กับคุณค่าประชาธิปไตย สิทธิ เสรีภาพ ความเสมอภาค ผสมกับคุณค่าแบบไทย สากล และการเรียนรู้ตลอดชีวิต แต่ในร่างฉบับใหม่นี้ กลับไม่เอ่ยถึงคำว่า เสรีภาพ ความเสมอภาค และไม่เน้นย้ำถึงการมองเห็นศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ด้วย
นอกจากนี้ ยังมีประเด็นอื่นๆ อีกมาก ที่ทำให้หลายคนคับข้องใจกับร่าง พ.ร.บ.การศึกษาฉบับใหม่ ทั้งการกำหนดเกณฑ์ต่างๆ ในการทำงานของครู รวมไปถึง แนวทางปฏิบัติที่ขาดความเป็นสากลโลก
คงต้องมาดูกันว่า จะมีการปรับแก้อะไรอีกหรือไม่ ในเมื่อรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการเองระบุว่า “พร้อมที่จะรับฟังข้อเสนอแนะจากทุกฝ่าย เพื่อให้การปฏิรูปการศึกษาเดินหน้าต่อไปได้ ตามเป้าหมายที่กำหนดไว้ในยุทธศาสตร์ชาติ และแผนปฏิรูปประเทศด้านต่างๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่งแผนปฏิรูปประเทศด้านการศึกษา”
นี่คือประเด็นสำคัญที่ทำให้หลายคน หันมาจับตามอง เพราะร่าง พ.ร.บ.การศึกษาแห่งชาติฉบับนี้ จะกลายมาเป็นแนวทางสำคัญในการกำหนดกรอบการเรียนรู้ของกลุ่มประชากรที่ได้ชื่อว่าเป็น ‘อนาคตของชาติ’
อ้างอิงเพิ่มเติมจาก