ปลายปี ค.ศ.1999 องค์การศึกษาวิทยาศาสตร์และวัฒนธรรมแห่งสหประชาชาติ หรือ ยูเนสโก (UNESCO) มีมติให้วันที่ 11 พฤษภาคมของทุกปีเป็นวันรำลึกถึง ‘ปรีดี พนมยงค์’ หนึ่งในบุคคลสำคัญของโลกและรัฐบุรุษอาวุโสชาวไทย
ปรีดี พนมยงค์ หรือ หลวงประดิษฐ์มนูธรรม เป็นนักกฎหมายที่มีบทบาทอันสำคัญยิ่งต่อภูมิทัศน์ของการเมืองไทย เคยเป็นทั้งอาจารย์ ผู้สำเร็จราชการแผ่นดิน นายกรัฐมนตรี และได้รับตำแหน่งสำคัญทางการเมืองมานับไม่ถ้วน แต่บทบาทที่เป็นที่รู้จักกันดีที่สุด อาจเป็นในฐานะของผู้นำฝ่ายพลเรือนของ ‘คณะราษฎร์’ ซึ่งเป็นผู้นำการปฏิวัติสยามในปี ค.ศ. 1932 ที่เปลี่ยนแปลงการปกครองจากระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์กว่า 800 ปีมาเป็นประชาธิปไตย อันเป็นจุดเริ่มต้นของเกมช่วงชิงอำนาจระหว่างฝ่ายพลเรือนกับฝ่ายทหารที่ยังคงร้อนระอุมาจนถึงทุกวันนี้
นอกจากนั้น ปรีดียังเป็นหนึ่งในคนสำคัญของกำลังฝ่ายพลเรือนที่ต่อต้านจักรวรรดิญี่ปุ่นในช่วงสงครามโลกครั้งที่สอง หรือ ‘เสรีไทย’ ซึ่งในภายหลังได้กลายเป็นแหล่งข่าวกรองทางการทหารที่ฝ่ายสัมพันธมิตรในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ให้ความไว้วางใจ
ภาพลักษณ์ของ ปรีดี พนมยงค์ ในเชิงสัญลักษณ์การต่อสู้กับระบบการปกครองและชนชั้นอาจถูกนำไปกล่าวขานต่อด้วยถ้อยคำที่ทั้งยกย่องและย่ำยีตามแต่ฝ่ายใดจะเป็นผู้เล่า แต่ถึงกระนั้น ปรีดีที่มีกำเนิดเป็นสามัญชนคนธรรมดา ก็เคยรั้งตำแหน่งผู้สำเร็จราชการแผ่นดินอันเป็นตำแหน่งที่โดยปรกติจะสงวนไว้ให้กับชนชั้นปกครอง ซึ่งสะท้อนทั้งสถานะทางการเมืองและการยอมรับของชนชั้นนำบางกลุ่มที่มีต่อปรีดีด้วย ชื่อของปรีดียังถูกนำไปตั้งเป็นมรดกให้กับสถานที่และอนุสรณ์ต่างๆ มากมาย แม้แต่สถาบันสมิธโซเนียนในสหรัฐอเมริกาก็ยังเคยนำไปตั้งชื่อพันธุ์สัตว์ชนิดใหม่ของโลกเพื่อให้เป็นเกียรติ
อนุกรมวิธาน
อนุกรมวิธานวิทยา หรือ taxonomy เป็นศาสตร์ที่ศึกษาและกำหนดกฎเกณฑ์การจัดจำแนกหมวดหมู่ของสิ่งมีชีวิตตามสายวิวัฒนาการ ที่ครอบคลุมการกำหนดชื่อวิทยาศาสตร์ที่เป็นสากล, การตรวจสอบ, และการรวบรวมตัวอย่างของสิ่งมีชีวิต
การจำแนกหมวดหมู่ของสิ่งมีชีวิตในปัจจุบัน มีรากฐานมาจากระบบ Linnaean taxonomy ที่นักพฤกษศาสตร์ชาวสวีเดนชื่อ คาร์ล ลินเนียส (Carl Linnaeus, หรือเรียกตามบรรดาศักดิ์ว่า Carl von Linné) เป็นผู้ริเริ่มไว้ และได้รับการปรับปรุงเรื่อยมาจนมีอยู่ 8 ลำดับขั้นใหญ่ๆ ซึ่งถ้าหากเราจำแนกมนุษย์ชนิดปัจจุบันโดยใช้หลักของอนุกรมวิธาน ก็จะได้ลำดับดังนี้
โดเมน (Domain) – Eukaryota
อาณาจักร (Kingdom) – Animalia
ไฟลัม (Phylum) – Chordata
ชั้น (Class) – Mammalia
อันดับ (Order) – Primates
วงศ์ (Family) – Hominidae
สกุล (Genus) – Homo
ชนิด (Species) – Homo sapiens
การใช้ชื่อวิทยาศาสตร์แบบทวินาม (binomial nomenclature) ที่เป็นภาษาละตินเพื่อจำแนกสิ่งมีชีวิต ก็เพื่อให้เป็นชื่อกลางที่เข้าใจตรงกันในระดับสากล เนื่องจากสิ่งมีชีวิตแต่ละชนิดนั้น ก็อาจมีชื่อเรียกที่แตกต่างกันไปในแต่ละภาษาและตามท้องถิ่น ซึ่งเมื่อมีการตั้งชื่อและตีพิมพ์รายงานอย่างเป็นทางการแล้ว ถ้าเป็นสัตว์ก็จะถูกรวบรวมไว้ใน International Commission on Zoological Nomenclature (ICZN) หรือใน International Code of Nomenclature for algae, fungi, and plants (ICBN) สำหรับพืช เห็ดรา สาหร่าย
ชื่อวิทยาศาสตร์ยังมีการเปลี่ยนแปลงอยู่เสมอ เช่น เมื่อมีการค้นพบข้อมูลใหม่ในวิวัฒนาการของกลุ่มสิ่งมีชีวิต หรือแก้ไขข้อผิดพลาดในการจำแนกที่มีอยู่เดิม บางครั้งยุบทั้งสกุลทิ้งไปเลยก็มี ทั้งนี้ การเปลี่ยนแปลงจะเกิดขึ้นโดยอ้างอิงข้อมูลจากงานวิจัยที่เป็นวิทยาศาสตร์ ซึ่งสิ่งมีชีวิตชนิดหนึ่งอาจมีชื่อสามัญที่เรียกกันทั่วไปได้หลายชื่อหลายภาษา แต่จะสามารถมีชื่อวิทยาศาสตร์ได้เพียงชื่อเดียวเท่านั้น
อะไรซ่อนอยู่ในชื่อวิทยาศาสตร์?
นอกจากวิถีปฏิบัติของ ICZN และ ICBN ที่ว่าด้วยการกำหนดความหมายและเกณฑ์ของการตั้งชื่อ เช่น Principle of Typification, Principle of Synonymy, และ Principle of Priority อะไรต่างๆ แล้ว ชื่อวิทยาศาสตร์อาจยังซ่อนความหมายที่น่าสนใจเอาไว้ เช่น ลักษณะของสิ่งมีชีวิตนั้น ความคล้ายคลึงกับสิ่งมีชีวิตอื่น สถานที่ค้นพบ หรือแม้แต่ชื่อบุคคล
ปลาบึก หรือ Mekong ginat cafish ปลาน้ำจืดไม่มีเกล็ดที่มีขนาดใหญ่ที่เคยพบได้ตลอดแนวแม่น้ำโขง แต่ปัจจุบันถูกจัดอยู่ในกลุ่มเสี่ยงขั้นวิกฤติต่อการสูญพันธุ์ (critically endangered, IUCN Red List) มีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Pangasianodon gigas ซึ่งคำว่า gigas นั้นมาจาก Gigantes หรือเผ่ายักษ์คิกานเตสในปกรณัมกรีกนั่นเอง
ชื่อวิทยาศาสตร์ของ Crocodylus siamensis จระเข้น้ำจืดพันธุ์ไทย หรือ Siamese crocodile ส่วนท้ายที่ห้อยอยู่ว่า “-ensis” นั้นเป็นภาษาละตินที่แสดงสังกัด โดยรวมจึงแปลได้ว่าเป็นจระเข้ของสยามนั่นเอง นอกจากนี้ยังมี ชื่ออื่นๆ ที่บ่งบอกถึงสถานที่ค้นพบในประเทศไทยได้อีก เช่น Niviventer hinpoon หนูขนเสี้ยนเขาหินปูน ที่พบตามถ้ำหินปูนในจังหวัดอุทัยธานี สระบุรี และลพบุรีของประเทศไทยเพียงแห่งเดียวในโลกเท่านั้น
อีกธรรมเนียมที่นิยมในการตั้งชื่อวิทยาศาสตร์ก็คือการตั้งชื่อตามบุคคลที่มีชื่อเสียง ซึ่งสิทธิในการตั้งชื่อนี้จะตกเป็นของคณะวิจัยผู้สำรวจและตีพิมพ์งานวิจัยที่บรรยาย (describing) ชนิดพันธุ์ใหม่ของโลก ทั้งนี้ ไม่ได้มีหลักเกณฑ์เป็นลายลักษณ์อักษรใดที่ห้ามตั้งชื่อสิ่งมีชีวิตใหม่ตามชื่อตัวเอง แต่ถือเป็นมารยาทปฏิบัติเสียมากกว่าว่าผิดผี ผิดธรรมเนียม ซึ่งชื่อของบุคคลที่จะนำมาตั้งชื่อนั้นก็อาจเป็นใครก็ได้ทั้งสิ้น ตั้งแต่บุคคลสำคัญในวงการนั้นๆ บุคคลที่นักวิจัยเจ้าของสิทธิชื่นชอบ หรือแม้แต่ตั้งด้วยความหมั่นไส้ก็มี (ถ้าหากมีใครอุตริตั้งชื่อปลิงดูดเลือดชนิดใหม่ตามคนที่ไม่ชอบหน้า ก็คงจะสนุกดีไม่ใช่น้อย)
ในปี ค.ศ.2017 Vazrick Nazari นักวิจัยชาวอิหร่าน-แคนาดา ตั้งชื่อมอธชนิดใหม่ที่ถูกค้นพบทางตอนใต้ของแคลิฟอร์เนียและตอนเหนือของเม็กซิโกว่า Neopalpa donaldtrumpi ตามนายโดนัลด์ ทรัมป์ ประธานาธิบดีสหรัฐอเมริกาในขณะนั้น นอกจากมอธตัวเล็กชนิดนี้จะมีเกล็ดสีเหลืองซีดบนหัวที่มองเผินๆ แล้วคล้ายทรงผมอันเป็นเอกลักษณ์ของอดีตประธานาธิบดีอยู่ไม่น้อยแล้ว คุณ Nazari ก็คาดหวังว่าการตั้งชื่อแบบที่หวือหวาสักหน่อยแบบนี้ จะช่วยทำให้ความสนใจของสาธารณชนในการปกป้องธรรมชาติที่เปราะบางและยังคงตกสำรวจในอเมริกาให้กระจายออกสู่วงกว้างมากขึ้น
ด้วงปีกแข็งตาบอด Anophthalmus hitleri ที่อาศัยอยู่ในถ้ำธรรมชาตินับได้เพียงห้าแห่งของสโลวีเนียนั้น ถูกตั้งชื่อตาม อดอล์ฟ ฮิตเลอร์ โดย ออสก้า ซีเบล (Oskar Scheibel) วิศวกรและนักกีฏวิทยาสมัครเล่นชาวออสเตรียในปี 1937 ซึ่งตัวฮิตเลอร์เองได้ส่งจดหมายความขอบคุณให้กับซีเบลด้วย แต่ในปัจจุบัน ชื่อของด้วงปีกแข็งชนิดนี้กลับกลายเป็นอันตรายแก่ตัวมันเอง เมื่อสมาชิกกลุ่มลัทธินีโอนาซีนิยมสะสมพวกมันด้วยราคาที่อาจสูงถึงหลายพันยูโรในตลาดมืดจนเป็นภัยคุกคามต่อประชากรในธรรมชาติ ถึงแม้ว่าในปัจจุบัน จะยังไม่มีกฎใดภายใต้ ICZN ที่กำหนดให้เปลี่ยนชื่อวิทยาศาสตร์ที่ตั้งตามชื่อของบุคคลที่ก่ออาชญากรรมต่อมนุษยชาติ (และไม่เป็นที่เป็นยอมรับตามฉันทามติของสังคมสมัยใหม่) ก็ตาม แต่ก็มีกระแสสนับสนุนให้เปลี่ยนแปลงจากหลายฝ่าย ซึ่งรวมทั้งข้อเรียกร้องให้อย่างน้อยที่สุด นักวิทยาศาสตร์เองควรพิจารณาไม่ตั้งชื่อสิ่งมีชีวิตชนิดใหม่ตามชื่อบุคคลที่ไม่พึงประสงค์เพิ่มขึ้นอีก
ในประเทศไทยเองนั้น ก็มีการตั้งชื่อสัตว์หลายชนิดตามบุคคลสำคัญ เช่น กุ้งดีดขัน Alpheus sudara ตามนามสกุลของ สุรพล สุดารา อาจารย์ประจำภาควิชาวิทยาศาสตร์ทางทะเล คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, ค้างคาวคุณกิตติ (Kitti’s hog-nosed bat, Craseonycteris thonglongyai) ค้างคาวขนาดเล็กที่สุดในโลกที่ควบตำแหน่งสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมที่เล็กที่สุดในโลกชนิดหนึ่งด้วยเช่นกัน, หรือหมอบุญส่ง เลขะกุล ผู้มีชื่อเสียงในฐานะเป็นบุคคลสำคัญในการวางรากฐานงานอนุรักษ์ธรรมชาติในประเทศไทย ก็มีงูลายสอหมอบุญส่ง หรือ Isanophis boonsongi
นอกจากนี้ ชื่อที่ตั้งตามบุคคลที่มีชื่อเสียงแบบป๊อปคัลเจอร์ก็มีให้เห็นเช่นกัน อย่างมดที่เลี้ยงเชื้อราเป็นอาหารจากป่าแอมะซอน Sericomyrmex radioheadi ที่นักวิทยาศาสตร์ผู้ค้นพบมีความประทับใจบทเพลงและการที่วง Radiohead ออกมาเคลื่อนไหวในประเด็นโลกร้อน, แมงมุมพเนจร Thunberga greta ที่ถูกตั้งชื่อตาม เกรียตา ทุนแบร์ย นักรณรงค์ด้านสิ่งแวดล้อมชาวสวีเดน, Marianina khaleesi ทากทะเลที่ถูกตั้งชื่อตาม Daenerys Targaryen ตัวละครจาก Game of Thrones เพราะลักษณะรยางค์บนหลังของมันเหมือนผมเปียยาวๆ ที่คุณแม่มังกรชอบถักนั่นเอง การตั้งชื่อตามบุคคลในกระแสนิยมเช่นนี้ อีกนัยหนึ่งก็คล้ายเป็นการปลุกผีภาษาละตินซึ่งเป็นภาษาที่ตายแล้ว ให้กลับมาเป็นส่วนหนึ่งของยุคสมัยอีกครั้ง
และมีนักวิทยาศาสตร์บางทีมเปิดประมูลสิทธิในการตั้งชื่อสิ่งมีชีวิตชนิดใหม่ของโลกเพื่อนำเงินมาสนับสนุนโครงการวิจัยด้วย ก็จัดว่าเป็นวิธีระดมทุนที่น่าสนใจอีกวิธีหนึ่ง
นกปรีดี
“เมื่อไปสหรัฐอเมริกา เราไม่มีเวลาไปเยี่ยมชมสถาบันสมิธโซเนียน (Smithsonian Institution) ที่เลื่องลือด้านธรรมชาติวิทยา ครั้นเวลากลับมาเมืองไทย ผ่านเมืองกัลกัตตา ประเทศอินเดีย ผู้แทนสถาบันสมิธโซเนียนได้รอพบที่นั่น และแจ้งให้นายปรีดีทราบว่าสถาบันสมิธโซเนียนได้ตั้งชื่อนกสายพันธุ์ที่ค้นพบเมื่อวันที่ ๙ ธันวาคม พ.ศ. ๒๔๗๑ ทางภาคเหนือของสยาม โดยฮิวจ์ เอม. สมิธ (Hugh M. Smith) ว่า “Chloropsis Aurifrons Pridii“ โดยใช้รหัส “USNM 311538” พร้อมทั้งระบุด้วยว่า “ชื่อของนกนี้ตั้งเพื่อเป็นเกียรติแด่นายปรีดี พนมยงค์ (หลวงประดิษฐ์มนูธรรม) ผู้นำขบวนการเสรีไทย”
—เนื้อความบางส่วนจากหนังสือ ไม่ขอรับเกียรติยศใดๆ ทั้งสิ้น ๗๕ ปี ๔ เดือน ๙ วัน พูนศุข พนมยงค์ หน้า 136
ในระหว่างปลายปี ค.ศ.1946 ถึงต้นปี ค.ศ.1947 (เท่ากับ พ.ศ. 2489 ถึง 2490 ตามลำดับ) นายปรีดี พยมยงค์และคณะได้รับเชิญจากประเทศพันธมิตรในฐานะแขกผู้มีเกียรติเพื่อเชื่อมสัมพันธไมตรีอันดีต่อกัน ซึ่งในระหว่างนั้นก็ได้รับแจ้งข่าวดีดังกล่าว นับเป็นสามัญชนคนไทยคนแรกที่ได้รับเกียรตินี้
นกเขียวก้านตองหน้าผากสีทองชนิดย่อย pridii (Golden-fronted leafbird, Chloropsis aurifrons pridii Deignan, 1946) เป็นหนึ่งในห้าชนิดนกเขียวก้านตองที่สามารถพบได้ในประเทศไทยจาก 13 ชนิดทั่วโลก ชนิดย่อยนี้สามารถพบได้ในบริเวณภาคตะวันตกและตะวันตกเฉียงเหนือของประเทศไทยได้ไม่ยากนัก อาศัยในพื้นที่ป่าเบญพรรณและป่าผลัดใบทั่วไป โดยเพศผู้จะมีขอบสีเหลืองจางๆ ล้อมรอบ “หน้ากาก” สีดำบนใบหน้าเป็นจุดสังเกต กินผลไม้และแมลงเช่นเดียวกับนกเขียวก้านตองชนิดอื่น
นอกจากนี้ ยังมีนกเขียวก้านตองปีกสีฟ้าชนิดย่อยที่พบกระจายพันธุ์อยู่ทางภาคใต้ของไทยที่ได้รับชื่อว่า Chloropsis cochinchinensis seri-thai หรือ ‘นกเสรีไทย’ เพื่อที่รำลึกถึงขบวนการเสรีไทย เอช. จี. ไดแนน (H. G. Deignan) เป็นผู้บรรยายและตั้งชื่อนกทั้งสองชนิดในปี ค.ศ.1946 โดยใช้ตัวอย่างหรือ specimens ที่ ฮิวจ์ เอม. สมิธ (Hugh M. Smith) เก็บมาในปี ค.ศ.1928 และยังมี Schistura pridii (Vidthayanon, 2003) ปลาปล้องทองปรีดี ที่ถูกค้นพบโดย ชวลิต วิทยานนท์ ในเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าดอยเชียงดาว จังหวัดเชียงใหม่ ซึ่งปลาน้ำจืดชนิดนี้มีสถานะการอนุรักษ์ในระดับโลกจัดอยู่ในกลุ่มใกล้สูญพันธ์ุ (endangered, IUCN Red List) เนื่องจากพบแห่งเดียวในโลก และถิ่นอาศัยซึ่งเป็นลำธารน้ำใสเย็นที่ไหลแรงถูกคุกคามจากการสร้างฝายเพื่อใช้ประโยชน์จากทรัพยากร และมลภาวะต่างๆ
อาจมีข้อสงสัยว่า การที่สถาบันสมิธโซเนียนยกยอปรีดีและเสรีไทยขึ้นมาในช่วงเวลาดังกล่าวนั้น เป็นส่วนหนึ่งในปรากฏการณ์ทางการเมืองของสหรัฐอเมริกาช่วงแรกเริ่มยุคสงครามเย็นด้วยหรือไม่ แต่อย่างไรก็ตาม ก็ไม่อาจปฏิเสธมรดกทางความคิด หรือ legacy ที่สามัญชนชื่อ ปรีดี พนมยงค์ ทิ้งไว้ให้คนรุ่นหลัง ซึ่งรวมทั้งเอกสารลับในหอจดหมายเหตุกระทรวงต่างประเทศฝรั่งเศสที่หลายคนตั้งตารออ่านในปี ค.ศ.2024 อีกด้วย
อ้างอิงข้อมูลจาก
Scientists Should Stop Naming Species after Awful People
Taxonomy for Sale to the Highest Bidder
Scientists Just Named a Tiny Moth After Donald Trump
Who is setting traps for rare cave beetles? The answer is, foreigners.
Revision of the fungus-farming ant genus Sericomyrmex Mayr (Hymenoptera, Formicidae, Myrmicinae)
Greta Thunberg: Meet the Thunberga Greta! A new spider species named after the climate activist