กลายเป็นประเด็นร้อนไปทั้งโซเชียลมีเดีย เมื่อเจ้าหน้าที่บุกเข้าตรวจค้น ‘นาตารี’ อาบอบนวดโดยพบว่ามีการลักลอบค้าประเวณี แต่ก็ไม่ตื่นตะลึงเท่าสมุดบัญชีที่ถูกถ่ายภาพแล้วแชร์ไปวิพากษ์วิจารณ์ในวงกว้าง ก็แหม เล่นมีจำนวนเงินที่ชัดแจ้งว่านาตารีอาบอบนวดจ่ายส่วยให้กับเจ้าหน้าที่ของรัฐ และหน่วยงานของรัฐหลายๆ แห่งเป็นจำนวนเท่าไหร่
เท่านั้นไม่พอ ยังมีกระแสทำนองว่าแค่เป็นคนเชียร์เด็กที่นาตารีก็มีรายได้ 7 หลักแล้วนะแก! ตื่นตะลึงขนาดนี้ The MATTER พาดำดิ่งไปในความสงสัย ตกลงธุรกิจค้าบริการทางเพศทำรายได้ขนาดนี้เชียวหรือ? เราเป็นเมืองพุทธต้องไม่มีการค้าบริการทางเพศจริงไหม? ถ้าโสเภณีเป็นอาชีพถูกกฎหมายแล้วมันจะยังไงต่อ?
ประเทศไทยเมืองพุทธ เราไม่มีโสเภณีซะหน่อย?
ไม่อ่ะแก เราเป็นเมืองพุทธ แผ่นดินนี้อุดมไปด้วยความดีงามนานัปการ ขายตัวหรอไม่มีหรอก! The MATTER อยากให้พักด้านดี๊ดีของประเทศเราเอาไว้ก่อน (ถึงแม้จะดีมากจนพูดไป 10 ปีก็ไม่หมด) แล้วลองลืมตามองอาชีพ ‘โสเภณี’ กันใหม่ เพราะอาชีพนี้ไม่ได้มาเล่นๆ แต่มีมาก่อนเราลืมตาดูประเทศนี้ซะอีก
ใครที่คิดว่าโสเภณีนี่เราต้องลอกฝรั่งมาแน่เลย น่าจะรับมาช่วงสมัยใหม่ ซึ่งก็คงมีมาไม่นานนี้เองสินะ บอกเลยว่าคิดผิด โสเภณีเป็นอาชีพสุดเก่าแก่ที่มีมาตั้งแต่โบราณ ในจดหมายเหตุลาลูแบร์ราชทูตของฝรั่งเศสที่เข้ามาในราชสำนักสมเด็จพระนารายณ์มหาราช ช่วง พ.ศ. 2230 เป็นต้นมา โดยระบุเอาไว้ว่า
บรรดาผู้ที่มีบรรดาศักดิ์สูงนั้นหาใช่เจ้าใหญ่นายโตเสมอไปไม่ เช่นเจ้ามนุษย์อัปปรีย์ที่ซื้อผู้หญิง และเด็กสาวมาฝึกให้เป็นหญิงนครโสเภณีคนนั้น ก็ได้รับบรรดาศักดิ์เป็น ออกญา เรียกกันว่าออกญามีน (Oc-ya Meen) เป็นบุคคลที่ได้รับการดูถูกดูแคลนมากที่สุด มีแต่พวกหนุ่มลามกเท่านั้นที่จะไปติดต่อด้วย
ย้อนมาใกล้กว่านั้นก็คือในสมัยรัชกาลที่ 5 ซึ่งมี ‘พระราชบัญญัติป้องกันสัญจรโรค’ เพื่อมุ่งแก้ไขปัญหาโรคโดยในมาตรา 4 วรรค 3 ก็อธิบายความหมายของคำว่า ‘หญิงนครโสเภณี’ ไว้ชัดเจนมาก
หญิงนครโสเภณี หมายถึง หญิงที่รับจ้างทำชำเราสำส่อน โดยได้รับผลประโยชน์เป็นค่าจ้าง
ยังไม่จบแค่นั้นเพราะตามมาตรา 6 ในกฎหมายฉบับเดียวกัน ก็บอกไว้แจ่มแจ้งว่าใครที่ต้องการตั้งโรงหญิงนครโสเภณี ต้องขออนุญาตจากทางการเสียก่อน ก็แปลว่านอกจากเราจะมีอาชีพโสเภณีแล้ว ยังสามารถมีสถานบริการที่รัฐอนุญาตอย่างเป็นจริงเป็นจังอีกด้วย
อาชีพโสเภณีจึงมีการจัดทำบัญชีรายชื่ออย่างเป็นระบบ รวมถึงมีข้อห้ามการบังคับล่อลวงหญิงมาเพื่อค้าประเวณี (ต้องเป็นโสเภณีด้วยความเต็มใจเท่านั้น) ตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ 4 จนถึงก่อนสงครามโลกครั้งที่ 2 สถานค้าประเวณีมีอยู่ทั่วประเทศเลยก็ว่าได้ เห็นได้ชัดเข้าไปอีกจากคำว่า ‘หญิงงามเมือง’ ซึ่งเรียกอาชีพโสเภณี โดยความหมายในอดีตคำว่าหญิงงามเมืองนี้ให้ความหมายที่ดี และไม่ได้มีภาพลักษณ์เป็นลบอย่างในปัจจุบัน
ทำไมรัฐเคยอนุญาตให้มี ‘ซ่อง’ ด้วยล่ะ?
ในสมัยรัตนโกสินทร์ก็มีการเก็บภาษีเช่นกัน และหนึ่งในภาษีที่ใช้หล่อเลี้ยงรัฐที่สุดท้ายกลายเป็นประเทศไทยที่เราอาศัยอยู่ทุกวันนี้ ก็คือ ‘ภาษีหญิงโคมเขียว’ หรือภาษีที่เก็บจากซ่องนั่นแหละ
การอนุญาตให้มีซ่องในอดีตทำให้รัฐมีรายได้จากการออกใบอนุญาต โดยเจ้าของซ่องที่เรียกว่า ‘นายโรง’ ต้องเสียค่าธรรมเนียมขอรับใบอนุญาตฉบับละ 30 บาท (30 บาทในอดีตจะแพงขนาดไหน คิดดู) ในขณะที่หญิงโสเภณีก็ต้องจ่ายค่าธรรมเนียมฉบับละ 12 บาท โดยทั้งนายโรง ทั้งหญิงโสเภณีต้องต่อใบอนุญาตใหม่ทุกๆ 3 เดือนด้วย
การเสียภาษีหญิงโคมเขียวในขณะนั้น จึงไม่ต่างจากการจ่ายส่วยเพื่อให้สถานบริการคงอยู่ได้ในปัจจุบัน เพียงแต่การจ่ายภาษีหญิงโคมเขียวในอดีตเป็นไปตามกฎหมาย
เงินที่ได้จากการอนุญาตให้มีซ่อง ซึ่งต้องจ่ายทุกๆ 3 เดือนจึงนำเข้ารัฐทั้งหมด ทำให้นำไปใช้พัฒนาประเทศหรือจะใช้เพิ่มรายได้ให้เหล่าข้าราชการก็ยังได้ ในขณะที่ส่วยนาตารีอาบอบนวดที่เราเพิ่งแชร์กันไปหยกๆ กลายเป็นเงินนอกระบบที่ไม่มีประโยชน์ใดๆ ต่อรัฐโดยตรง แถมเป็นการสนับสนุนให้ราชการมีเอี่ยวกับธุรกิจด้านมืดเข้าไปอีก
ประเทศไทยถูกมองเป็นอะไรในสายตาคนอื่น?
ยอมรับมาซะดีๆ ว่าบางทีเราก็เลือกมองและกำหนดความหมายให้ประเทศต่างๆ ในแบบของเรา โดยโนแคร์ โนสนว่าเขาจะชอบสิ่งที่เราเรียกเขาหรือไม่
ญี่ปุ่นคือแดนปลาดิบสำหรับเรา ส่วนเกาหลีคือแดนกิมจิ ในขณะที่กัมพูชาคือประเทศที่เต็มไปด้วยมนต์ดำ ไสยศาสตร์ เวียดนามมีผู้หญิงขาวอึ๋มในชุดประจำชาติและพม่าคือเมืองที่เผาทองกรุงศรีอยุธยาและเป็นศัตรูกับเรา
เราไม่เคยถามว่าเขาเป็นอย่างที่เราเรียกจริงไหม หรือเขาโอเคที่เราเรียกเขาอย่างนี้จริงหรือเปล่า แต่ในภาพจำของเราประเทศพวกเขาเป็นอย่างที่เราคิดเองเออเองไปเรียบร้อยแล้ว
ประเทศไทยของเราก็ไม่วายโดนตีตรา(อย่างที่เราตีตราคนอื่น)เช่นกัน โดยภาพอินโฟกราฟิกจาก Asia According to America ซึ่งเป็นการแสดงแผนที่ว่าคนอเมริกามองประเทศในเอเชีย(แบบเหมารวมเอาเอง)ว่าประเทศนั้นเป็นตัวแทนของอะไร
‘BROTHEL’ หรือซ่อง คือสิ่งที่คนภายนอกมองว่าประเทศเราเป็น ในขณะที่อินเดียถูกมองว่าเป็นแกงกะหรี่บ้าง จีนถูกมองว่าเป็นซุปเปอร์มาร์เก็ตของโลกบ้าง ส่วนเวียดนามถูกมองว่าเป็นสุสานจากช่วงสงครามเวียดนามบ้าง
ว่ากันว่าเราสามารถบอกว่าเราเป็นอะไรก็ได้ แต่เราก็ห้ามสิ่งที่คนอื่นนิยามเราไม่ได้ จะดีกว่ามั้ยถ้าเราเริ่มสำรวจตัวเองอย่างจริงจัง ไม่เอามือปิดตาเพื่อที่จะไม่ต้องรับรู้ว่าจริงๆ นอกจากด้านดี เราก็มีด้านที่ต้องหาทางออกเหมือนประเทศอื่นๆ ทั่วโลก
เพราะอะไรประเทศถึงกลายเป็น ‘ซ่องโลก’?
นอกจากธรรมชาติสวยๆ วัฒนธรรมอันหลากหลายในกรุงเทพฯ แหล่งท่องเที่ยวชื่อก้องโลกอย่างพัทยาและภูเก็ต รู้หรือไม่ว่า ‘อยากมาแสวงหาความสุขทางเพศ’ ก็เป็นอีกเหตุผลหนึ่งที่นักท่องเที่ยวทั่วโลกหวังจะได้เจอในประเทศของเรา คำตอบนี้เขาก็ไม่ได้มโนกันขึ้นมาเล่นๆ แต่ Lonely Planet สำรวจจากนักท่องเที่ยว 130 ประเทศทั่วโลก กว่า 7,500 คน (อยากอ่านฉบับเต็ม หาอ่านได้ที่ ‘Sex tourism in Thailand’ ของอาจารย์ศิริเพ็ญ ดาบเพชร)
รวมถึงภาพจำจากการเป็นอุตสาหกรรมทางเพศขนาดใหญ่ ในช่วงที่เราเป็นฐานทัพของทหารอเมริกาในช่วงสงครามเวียดนาม
โสเภณีจะเป็นอาชีพถูกกฎหมายได้เหรอ? ถ้าได้แล้วยังไงต่อ?
แม้ในสายตาเรา อุตสาหกรรมทางเพศจะถูกมองแต่ด้านลบเท่านั้น แต่ถ้าพาข้ามน้ำข้ามทะเลไปในหลายประเทศทั่วโลก โสเภณีได้กลายเป็นอาชีพที่ถูกกฎหมาย สร้างรายได้ให้กับรัฐจำนวนมหาศาล และการทำให้ถูกกฎหมายก็ย่อมหมายความว่าแรงงานในอุตสาหกรรมทางเพศย่อมได้รับการดูแล คุ้มครอง รวมถึงมีการตรวจโรคติดต่อทางเพศอย่างเป็นระบบด้วย
The MATTER พาไปสำรวจประเทศสวิตเซอร์แลนด์ประเทศที่ได้ชื่อว่าสงบ ประชากรมีคุณภาพชีวิตดีเยี่ยม การศึกษาก็ดีงาม แถมประชากรที่มีความสุขที่สุดในโลก ที่สวิตเซอร์แลนด์โสเภณีต้องได้รับใบอนุญาต การชำระค่าบริการก็สามารถชำระด้วยบัตรเครดิตได้ด้วย โดย ดร.โสภณ พรโชคชัย ได้พูดถึงโสเภณีในสวิตเซอร์แลนด์ไว้อย่างน่าสนใจว่า
สวิตเซอร์แลนด์ มีโสเภณี 14,000 คน สร้างรายได้ได้ประมาณ 118,055 ล้านบาทต่อปี (3.5 พันล้านสวิสฟรังค์) ผู้ชายระหว่างอายุ 20-65 ปี (อายุเฉลี่ย 33 ปี) จำนวน 350,000 คน (20% ของชายในวัยนี้ทั้งหมด) เคยใช้บริการอย่างน้อยปีละ 1 ครั้ง ประชากรสวิตเซอร์แลนด์มี 7.6 ล้านคน แสดงว่ามีโสเภณีประมาณ 1 คนต่อประชากรชาย 271 คน
เห็นได้ชัดว่าการให้โสเภณีเป็นอาชีพถูกกฎหมายที่สวิตเซอร์แลนด์นอกจากจะสามารถควบคุมโรคติดต่อทางเพศได้อย่างเป็นระบบ มีการสวัสดิการคุ้มครองผู้ประกอบอาชีพแล้วยังสร้างรายได้ให้รัฐจำนวนมหาศาล
นอกจากสวิตเซอร์แลนด์แล้ว นิวซีแลนด์ ออสเตรีย ออสเตรเลีย เบลเยียม บราซิล แคนาดา เอกวาดอร์ ฝรั่งเศส เยอรมัน กรีซ เนเธอร์แลนด์ ฯลฯ ก็เป็นประเทศที่ทำให้อาชีพโสเภณีถูกกฎหมายกับเขาด้วย
ย้อนกลับมาที่ไทยเราบ้าง อาจารย์ศิริเพ็ญ ดาบเพชร อาจารย์ประจำภาควิชาประวัติศาสตร์ มหาวิทยาลัยนเรศวร ก็พูดเรื่องเม็ดเงินในอุตสาหกรรมทางเพศในไทยไว้เช่นเดียวกัน โดยกล่าวถึงช่วงสงครามเวียดนามที่อุตสาหกรรมทางเพศในไทยขยายตัวเพื่อรองรับทหารอเมริกาอย่างรวดเร็ว
ในช่วงสงครามเวียดนามมีเงินที่หมุนเวียนอยู่ในธุรกิจการขายบริการทางเพศทั้งพาร์ตเนอร์ เมียเช่า บาร์ คลับต่างๆ ร้านอาหาร มีเงินหมุนเวียนอยู่ในระบบเศรษฐกิจไทยประมาณ 16 ล้านเหรียญสหรัฐ
ต่อให้ปิดตาเดิน เราก็คงปฏิเสธหรือทำเป็นมองไม่เห็นไม่ได้ว่าประเทศเรามีการค้าบริการทางเพศอยู่จริง ภายใต้รูปแบบของบริกาอาบอบนวดบ้าง ร้านคาราโอเกะบ้าง และอีกหลายรูปแบบ ซึ่งเม็ดเงินที่ไหลเวียนอยู่ในธุรกิจประเภทนี้ก็พยุง GDP ของประเทศอยู่เป็นจำนวนล้นหลาม แต่มักถูกนับอยู่ในภาคการค้าและบริการแทน (ดูแค่บัญชีส่วยของอาบนวดนาตารีที่เดียวก็พอเห็นแล้วเนอะ ว่าเยอะขนาดไหน)
แต่อาชีพโสเภณีมันคือการลดทอนศักดิ์ศรีของผู้หญิงนะ?
แม้แต่ในวงการเฟมินิสต์เองเรื่องนี้ก็ยังถูกถกเถียงกันไม่จบสิ้น โดยกลุ่มหนึ่งมองว่าการค้าบริการทางเพศ หรือการอยู่ในอุตสาหกรรมทางเพศคือการทำให้ผู้หญิงกลายเป็นเพียงสินค้า
ในขณะที่อีกกลุ่มหนึ่งกลับมองว่าการจะทำหรือไม่ทำอาชีพอะไรก็เป็นอีกทางเลือกหนึ่งของผู้หญิง ซึ่งผู้หญิงก็ควรจะเลือกได้ และแทนที่จะเอาปัญหาไปซุกไว้ใต้พรม เราควรทำให้มันถูกต้องและทำให้อาชีพนี้ควรได้รับการคุ้มครอง ไม่ต้องถูกกดขี่ แถมการทำให้ถูกกฎหมายก็จะเป็นการระบุทำให้ผู้หญิงได้รับการคุ้มครองว่าผู้ที่มาขายบริการจะต้องมาด้วยความเต็มใจเท่านั้นด้วย
สิ่งที่มองไม่เห็น ไม่ได้แปลว่าไม่มีอยู่ การเลือกเบือนหน้าหนีไม่ได้ทำให้สิ่งที่เราคิดว่าเป็นปัญหาจางหายไป ถึงเวลาแล้วหรือยังที่เราจะมองมันไปพร้อมๆ กัน ผ่านแว่นหลายๆ มิติ ว่าตกลงการค้าบริการทางเพศเป็นปัญหาจริงไหม ถ้าเป็น เรามีวิธีมองมันหรือหาทางออกร่วมกันได้อย่างไร?
อีกทางหนึ่ง หากเรามองมันด้วยมิติอื่นๆ นอกจากมิติทางศีลธรรมอันดีงามล่ะ? มิติความเป็นมนุษย์ที่ถ้าเราไม่สามารถทำให้การค้าบริการทางเพศหมดไปได้
คนที่ประกอบอาชีพนี้ก็ไม่ควรต้องถูกรังแกและขูดรีดโดยเจ้าหน้ารัฐ หรือแม้กระทั่งจากเจ้าของสถานประกอบการเอง รวมถึงเขาก็ควรได้รับการคุ้มครองในฐานะแรงงานและคนที่หาเงินให้ประเทศเหมือนกันกับอาชีพอื่นๆ ได้หรือไม่? เราพร้อมจะเลิกมองพวกเขาเป็นปีศาจและลดทอนความเป็นอาชญากรรม (Decriminalization)ให้กับอาชีพโสเภณีได้หรือยัง?
อ้างอิงข้อมูลจาก
คำ ผกา-อรรถ บุนนาค. “ถึงเวลาหรือยังที่โสเภณีจะเป็นอาชีพที่ถูกกฎหมาย,”คิดเล่นเห็นต่าง. กรุงเทพฯ: มติชน, 2555 : น.340-347.
____________. “ทำไมประเทศไทยจึงได้ชื่อว่าเป็น’ซ่อง’ของโลก,”คิดเล่นเห็นต่าง. กรุงเทพฯ: มติชน, 2555 : น.435-444.
โสเภณีถูกกฎหมาย ช่วยปราบทุจริต รักษาศีลธรรม
ขุนนางสยามชี้ “ย่านปทุมวัน” เหมาะทำเป็น “นครโสเภณี” มากกว่า “เมืองมหาวิทยาลัย”
15 Countries Around The World That Have Legalized Prostitution