“เมื่อก่อนนี่นะ บ้านเราเนี่ย…” หลังจากนั้นพ่อหรือแม่เราก็เริ่มเล่าเรื่องราวเก่าๆ ความเป็นมาและภูมิหลังยืดยาวของครอบครัวของเรา เราเป็นใคร มาจากไหน เมื่อก่อนมีความเป็นอยู่อย่างไร จากภาพรวมใหญ่ๆ ไปจนถึงเรื่องราวเล็กๆ น้อยๆ ที่เราเองฟังแล้วก็รู้สึกสนุกไปกับเรื่องราวเก่าๆ เหล่านั้น
มนุษย์เป็นสิ่งมีชีวิตที่เล่าเรื่อง เราเข้าใจตัวเองและเชื่อมโยงกับคนอื่นๆ ผ่านเรื่องเล่าและการเล่าเรื่องให้กันฟัง การเล่าความหลังในครอบครัวก็ดูจะเป็นสิ่งที่ทำให้เราเข้าใจตัวเอง รู้สึกตัวเองมีที่มา มีรากเหง้า รู้สึกอบอุ่น เชื่อมโยง และแข็งแรง มีงานศึกษาที่บอกว่าการเรื่องเล่าเก่าๆ นี้ยังมีความสำคัญไปกว่านั้นอีก เพราะเป็นสิ่งที่ส่งเสริมตัวตนและพัฒนาการของสมาชิกในครอบครัวได้ด้วย
‘ครอบครัว’ คืออะไร มีงานศึกษาจำนวนหนึ่งพยายามอธิบายว่า อะไรคือสิ่งที่ทำให้เราเป็นครอบครัวเดียวกัน นักวิจัยบอกว่าการเป็นครอบครัวเดียวกันไม่ได้ขึ้นอยู่แค่ว่าเรามี ‘สายเลือด’ มีลักษณะทางชีววิทยาร่วมกัน แต่สิ่งสำคัญที่เชื่อมโยงสมาชิกในครอบครัวไว้ก็คือเรื่องเล่าความหลังทั้งหลาย ความหลังที่เชื่อมต่อทุกคนในครอบครัวไว้อย่างเข้มแข็งมั่นคง
แน่ล่ะว่าเรื่องราวความผูกพันและประวัติศาสตร์ที่เรามีร่วมกันคือแกนสำคัญที่เชื่อมเราทุกคนไว้เป็นครอบครัว ในทุกครอบครัวย่อมมีเรื่องเล่าเป็นของตัวเอง
นอกจากนี้นักวิจัยและผลการศึกษาจำนวนหนึ่งยังพบว่า การเล่าและรับฟังเรื่องราวความหลังนั้นส่งผลเชิงบวกต่อเด็กๆ ที่เป็นสมาชิกในครอบครัวให้เติบโตขึ้นเป็นผู้ใหญ่ที่น่ารักมั่นคงจากความอบอุ่นนั้นๆ ด้วย
มีงานศึกษาเชิงคลินิก พบความเชื่อมโยงระหว่างวัยรุ่นที่มีความรู้เรื่องอดีตและภูมิหลังของครอบครัวตัวเองว่า ยิ่งถ้าแนบแน่น – คือตอนเด็กๆ ที่บ้านน่าจะเล่าเรื่องต่างๆ ให้ฟังบ่อยๆ ก็จะยิ่งมีผลเชิงบวกทั้งในทางจิตวิทยาและในแง่ของพัฒนาการทางการศึกษา วัยรุ่นที่ใกล้ชิดกับภูมิหลังของตัวเองมีแนวโน้มเคารพตัวเองสูง เป็นสมาชิกในครอบครัวที่ดี มีความวิตกกังวลต่ำ
ในทำนองเดียวกันมีผลการวิจัยที่สอดคล้องเรื่องประโยชน์ของการฟังและเข้าใจเรื่องราวเก่าๆ ในวัยรุ่นว่า มีแนวโน้มที่จะมีสุขภาวะที่ดี มีความเข้าใจอารมณ์และตัวตนของตัวเอง
การชอบเล่าเรื่องหรือทวนความหลังจึงไม่ใช่แค่การติดอยู่กับอดีต จากผลเชิงบวกของการเล่าและการรู้เรื่องราวเก่าๆ นักการศึกษาและนักจิตวิทยาพัฒนาการจึงเห็นว่าการทบทวนและเล่าเรื่องในอดีตเป็นประโยชน์และเป็นการสร้างความผูกพัน มีการทดลองและฝึกให้แม่ๆ รู้จักการเล่าเรื่องในอดีตที่มีรายละเอียดและมีคุณภาพกับลูกๆ (เช่นกระตุ้นให้ลูกมีปฏิสัมพันธ์ด้วย มีการถาม ชวนคิดชวนคุยและให้ลูกเล่าเรื่องของตัวเองแลกเปลี่ยน) ผลคือพบว่า เด็กๆ จากแม่ๆ ที่ได้รับการฝึกฝนให้ฟื้นความหลังอย่างรุ่มรวยและออกรสมีแนวโน้มที่จะมีพัฒนาการดีกว่า เด็กๆ มีแนวโน้มที่จะมีความทรงจำที่ดีกว่า สามารถใช้คำศัพท์ต่างๆ ในการแสดงความรู้สึกได้มากกว่า
การเล่าเรื่องความหลัง ที่ดูจะเป็นสิ่งที่มีทุกบ้าน ดูเป็นเรื่องธรรมดาๆ แต่ดูเหมือนว่าจะเป็นแกนกลางของครอบครัวและตัวตนของเราที่เติบโตขึ้นในครอบครัวนั้นๆ ถ้าเรามีย่ายายญาติผู้ใหญ่ – หรือแม้แต่ตัวเราเองที่เล่าเรื่องราวสนุก เชื่อมโยงและมีปฏิสัมพันธ์กับเราอย่างออกรสและมีสีสัน จากความสนุกที่ได้ฟังหรือเล่าเรื่องเก่าๆ ก็อาจจะกลายเป็นแกนกลางของความอบอุ่น ไปจนการเป็นตัวกระตุ้นเชิงพัฒนาการ ความเฉลียวฉลาดของสมาชิกในครอบครัวด้วย
ว่าแล้วก็นึกอยากจะนอนฟังเรื่องเก่าๆ จากผู้หลักผู้ใหญ่บ้างเลยเนอะ สนุกดีออก
อ้างอิงข้อมูลจาก