เมื่อเตียงในโรงพยาบาลไม่พอรองรับผู้ป่วย สิ่งที่ผู้ติดเชื้อทำได้ ก็เหลือเพียงการนอนรอ อย่างไม่รู้ว่า ความหวังที่จะได้รักษา หรือความตายจากโรคระบาดจะมาถึงก่อนกันแน่
นี่คือสภาพที่เกิดขึ้นจริงในไทย ประเทศที่เคยได้รับคำชมว่ามีระบบสาธารณสุขดีเป็นอันดับต้นๆ ของโลก แต่สถานการณ์ที่เกิดขึ้นในตอนนี้ กลับมีผู้ป่วยจำนวนมากถูกทิ้งให้เสียชีวิตคาบ้าน ระหว่างเฝ้ารอการรักษา สะท้อนถึงแนวโน้มของความล่มสลายของสาธารณสุขไทย
เพื่อให้เห็นภาพกันอย่างชัดเจน The MATTER ขอพาทุกคนไปดูสถานการณ์ของผู้ป่วยรอเตียง พร้อมพูดคุยกับคุณหมอที่ต้องรับมือกับภาวะคนไข้ล้นโรงพยาบาล และ นพ.สุภัทร ฮาสุวรรณกิจ ประธานชมรมแพทย์ชนบท ถึงการรับมือของบุคลากรทางการแพทย์ และทางออกที่ภาครัฐต้องเร่งมือแก้ไขอย่างเร่งด่วนกัน
รอเตียง เสียชีวิต รอเตียง เสียชีวิต
คุณปู่วัย 72 ปี รอเตียง 7 วัน จนอาการทรุดหนัก เครื่องวัดออกซิเจนจับค่าอะไรไม่ได้ ร่างกายไม่ตอบสนอง สุดท้ายเสียชีวิต
คุณยายวัย 83 ปี รอเตียง 10 วัน ลูกสาวก็พยายามติดต่อประสานโรงพยาบาลแต่ก็ได้รับแจ้งแค่ให้รอเตียงและกักตัวอยู่บ้านไปก่อน สุดท้าย คุณยายเสียชีวิต ขณะที่ ลูกสาวเฝ้าศพแม่ภายในบ้าน และติดเชื้อด้วย
ผู้พักอาศัยในแฟลตดินแดง 7 คน ติดเชื้อและยังไม่ได้เตียงรักษา เลยออกมากางเต็นท์นอนอยู่หน้าแฟลต เพราะไม่อยากให้ลูกหลานที่พักอยู่ในห้องเดียวกันต้องพลอยติดเชื้อไปด้วย แต่กว่าจะได้รับความช่วยเหลือ ก็มี 2 ใน 7 คนที่เชื้อลงปอดไปแล้ว
เด็กน้อยวัย 2 ขวบ ติด COVID-19 นอนรออยู่บนพื้นในโรงพยาบาลข้างเตียงรักษาของพ่อที่ติดเชื้อเช่นกัน สักพักคุณพ่ออาการทรุดหนัก จนร่างกายรับไม่ไหวและเสียชีวิต ขณะที่เด็กน้อยนอนอยู่รออยู่ข้างๆ ไม่มีเอกสารอะไรติดตัวมาเลย ทีมแพทย์ต้องช่วยประสานไปถึงแม่ที่ติดเชื้อและรักษาตัวอยู่ที่อีกโรงพยาบาลหนึ่ง
คู่สามี-ภรรยา ติดเชื้อทั้งคู่ และรอเตียงนานกว่า 7 วัน ภรรยาอาการทรุดหนักกว่าเดิม หายใจติดขัดจนหยุดหายใจ สามีโทรขอความช่วยเหลือจากเจ้าหน้าที่อีกครั้ง แต่ได้รับคำตอบว่า ให้สามีปั๊มหัวใจภรรยาไปก่อน จนสุดท้าย ภรรยาก็สิ้นใจไปต่อหน้าต่อตา
“เจ้าหน้าที่ให้รอ ก็รอ รอจนภรรยาเสียชีวิต ก็ยังไม่มา”
คำกล่าวจากสามีของผู้เสียชีวิต
รอเตียง เสียชีวิต รอเตียง เสียชีวิต .. สถานการณ์อันวนเวียนไม่รู้จบ และยังมีอีกมากมายหลายกรณีที่เฝ้ารอวันได้รับการรักษาในโรงพยาบาล ซึ่งหากดูข้อมูลย้อนหลังในรอบสัปดาห์ที่ผ่านมา (24-30 มิถุนายน) จะพบว่า ผลเฉลี่ยจำนวนผู้ป่วยที่อาการหนัก สูงถึง 1,731 ราย โดยยอดรายวันยังคงเพิ่มสูงขึ้นเรื่อยๆ พร้อมกับยอดผู้ป่วยที่ต้องสวมเครื่องช่วยหายใจที่พุ่งตามกันมา โดยมีค่าเฉลี่ยอยู่ประมาณ 494 ราย และไม่มีทีท่าว่าจะลดลงเลย
ค่าเฉลี่ยนี้แสดงให้เห็นอย่างชัดเจนเลยว่า นับวันผู้ป่วย COVID-19 ที่อาการทรุดหนัก ยิ่งเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ และนั่นแปลว่า อุปกรณ์รักษา สถานที่ และเตียงรักษา ยิ่งเหลือน้อยลงเรื่อยๆ
ก่อนหน้านี้ เราเคยรวบรวมข้อมูล 30 เคสของผู้เสียชีวิตจาก COVID-19 ซึ่งพบว่า ระยะเวลาที่สั้นที่สุดนับตั้งแต่ผู้ป่วยได้รับแจ้งว่าติดเชื้อ ถึงวันที่เสียชีวิต คือ 1 วัน หรือก็คือ ได้รับแจ้งวันนั้น และเสียชีวิตในวันเดียวกัน และขณะที่ค่าเฉลี่ยของจำนวนวันที่ได้รับแจ้ง ถึงวันที่เสียชีวิตนั้น อยู่ที่ประมาณ 4 วัน
“ทราบผลตอนเที่ยงวันของวันที่ 25 ครับ เจ้าหน้าที่ที่โทรมาแจ้ง บอกให้รอ 3-4 วัน จะมีรถจากพยาบาลเข้ามารับ เพราะว่าโรงพยาบาลใกล้ๆ เตียงเต็มหมด รอจนถึง ช่วง 6 โมงเย็น จึงมีเจ้าหน้าที่จากโรงพยาบาลแห่งหนึ่งโทรเข้ามา บอกว่าจะเข้ามารับภายใน 1-2 วัน”
เสียงจากชายคนหนึ่งที่ติดเชื้อและต้องเฝ้ารอเตียงรักษาในโรงพยาบาล เล่าให้เราฟังถึงการติดต่อรอรับเตียงที่ได้นัดหมายไว้แล้ว แต่จนถึงวันที่กำหนดก็ยังไม่มีการติดต่อกลับมา เขาจึงโทรกลับไปหาทางโรงพยาบาล แล้วถึงทราบว่า สถานะของเขาขึ้นว่า ติดต่อไม่ได้ เลยไม่มีรถมารับ
“ต้องบอกว่า ทางเจ้าหน้าที่ที่โทรมา บอกผมว่า ตอนแรกโทรไม่ติด เพราะได้เบอร์ไปผิด แล้วค่อยติดต่อมาเบอร์สำรอง คิดว่า หลังจากที่คุยกันแล้ว เขาอาจจะไม่ได้อัพเดตข้อมูลเรารึเปล่า อันนี้ไม่แน่ใจ”
โชคดีที่ในวันที่ 28 มิถุนายนที่ผ่านมา โรงพยาบาลก็โทรมาประสาน ทำให้เขาได้รับการรักษา แม้เจ้าตัวจะเล่าว่า ความจริง เขาได้คิวรับวัคซีนแล้วในเดือนหน้า แต่ก็ติดเชื้อไปเสียก่อน
อย่างไรก็ตาม เราต่างทราบกันดีว่า ความโชคดีไม่ได้เกิดขึ้นได้กับทุกคน เห็นได้จากเคสที่เล่าไปก่อนหน้า ซึ่งนั่นเป็นเพียงผู้ป่วยรอเตียงที่เกิดขึ้นในช่วงเดือนที่ผ่านมาเท่านั้น ยังไม่นับถึงการระบาดระลอกมีนาคม-เมษายน ที่มีผู้ป่วยหลายคน รอคอยเตียงจนเสียชีวิตไปแล้วหลายราย
แต่ถ้าต้องคอยภาวนากันเองแล้ว ก็ถือเป็นความล้มเหลวของภาครัฐอย่างยิ่ง ที่จะให้ประชาชนจะต้องหันไปพึ่งพาดวงชะตาของตัวเอง เพื่อให้มีชีวิตรอดไปได้ แทนที่รัฐบาลจะช่วยให้ประชาชนเข้าถึงสาธารณสุขอย่างมีประสิทธิภาพ
ล่าสุด เมื่อวานนี้ (30 มิถุนายน) อนุชา บูรพชัยศรี โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า รัฐบาลได้ให้โรงพยาบาลสนามบุษราคัม เพิ่มเตียงรองรับผู้ป่วยสีเหลืองและสีแดง อีก 1,500 เตียง โดยเป็นผู้ป่วยสีแดง 125 เตียง รวมทั้งหมด 3,700 เตียง เพื่อแบ่งเบาภาระโรงพยาบาลในกรุงเทพฯ และต้องดำเนินการให้เสร็จภายในสัปดาห์นี้
แต่มาตรการที่ออกมาเมื่อวานนี้ ก็ไม่อาจชดเชยกับชีวิตที่สูญเสียไปในช่วงตลอดการแพร่ระบาดที่ผ่านมา ความหนักหนาของสถานการณ์นี้ เห็นได้ชัดจากตัวเลขผู้ป่วยที่เพิ่มขึ้นตลอดหลายวันที่ผ่านมา
เตียงไม่พอ หมอก็ไม่ไหว
“ที่โรงพยาบาลตอนนี้ มีคนไข้ COVID-19 แอดมิดมาแล้ว 90 คน และกำลังทยอยมาเรื่อยๆ ทำให้เบียดบังเตียงของผู้ป่วยปกติ ซึ่งเดิมทีเตียงก็ล้นอยู่แล้ว”
คุณหมอเอ (นามสมมติ) ผู้เชี่ยวชาญโรคทางปอด ซึ่งต้องรักษาผู้ป่วย COVID-19 ประจำโรงพยาบาลแห่งหนึ่งในต่างจังหวัดเล่าถึงปัญหาให้ฟัง พร้อมบอกว่า ปกติผู้ป่วยก็นอนกันล้นหน้าระเบียงทางเดินอยู่แล้ว แต่เมื่อมีผู้ป่วย COVID-19 เข้ามา สถานการณ์ก็ยิ่งแย่เข้าไปใหญ่
ความน่ากังวลที่ตามมาก็คือ ไม่ใช่แค่ผู้ป่วย COVID-19 บางรายที่ต้องเฝ้ารอเตียงรักษา แต่สภาพการณ์ในตอนนี้ ทำให้ผู้ป่วยโรคอื่นๆ ถูกเลื่อนนัดการรักษาไปด้วย เพราะจำนวนเตียงที่มีอยู่เท่าเดิม แต่คนไข้ COVID-19 ที่มากล้น จนเบียดบังเตียงผู้ป่วยโรคอื่นๆ ไป
คุณหมอเอเล่าว่า โรงพยาบาลบอกให้เลื่อนเคสคนไข้ที่ไม่เร่งด่วนออกไป เช่น เคสที่ต้องผ่าตัด เป็นก้อนมะเร็ง ซึ่งเป็นโรคที่พอรอได้ แต่รอนานมากไปไม่ได้ ซึ่งพอโรคเหล่านี้โดนเลื่อน ก็กลายเป็นว่า พวกเขาอาจจะเสียชีวิตแทนก็เป็นได้
“เพราะว่ายังไงก็ตาม หมอคือหมอคนเดียวกัน ผมเป็นหมอโรคปอด หมวกใบนึงผมก็ต้องรักษา COVID-19 หันมาอีกหมวกมะเร็งปอดเราล่ะ จะตายไหม เราไปดูโควิดแล้ว มะเร็งปอดเราไม่ได้ดู ก็หมอคนเดิมวนไปวนมา สุดท้ายพอไปให้ความสนใจ COVID-19 หันมาอีกทีเคสมะเร็งปอดผม เคสก้อนในปอดผม จะต้องผ่าตัดมันกลายเป็นดีเลย์ไปหมด”
ว่ากันง่ายๆ ก็คือ การเพิ่มเตียงในตอนนี้ คือการยกเตียงของผู้ป่วยโรคอื่น ให้ผู้ป่วย COVID-19 รักษาไปก่อน แต่ไม่ใช่ ‘จำนวน’ ของเตียง ที่เพิ่มขึ้นมาจริงๆ
ขณะที่ นพ.สุภัทร ฮาสุวรรณกิจ ประธานชมรมแพทย์ชนบท เล่าว่า เดิมมีผู้ป่วยอยู่หลัก 1,000-2,000 คน แต่ตอนนี้ ผู้ป่วยเพิ่มเป็นวันละ 3,000-4,000 คน
“เตียงผู้ป่วยปกติเต็ม ยังพอไหว แต่ที่แย่คือ เตียง ICU ก็เต็ม ปัจจุบัน เข้าใจว่าจะมีสัดส่วนประมาณว่า ในคนไข้ ICU จำนวน 10 คน ถ้าในวันนั้นมีเตียงว่าง 10 เตียง แปลว่า ว่างจากเสียชีวิต 7 คน ว่างจากได้กลับบ้าน 3 คน”
นพ.สุภัทร อธิบายต่อว่า พอเตียงว่าง 10 เตียงของ ICU ก็จะรับคนไข้ใหม่เข้ามาได้ 10 คน จากที่มีคนรอเข้า ICU อยู่ที่ 20-30 คน คนที่เข้าไม่ได้ ก็มีโอกาสเสียชีวิตสูง ส่วนคนที่เข้ามาได้ ถ้าเข้าช้าเพราะต้องรอเตียง โอกาสเสียชีวิตก็จะสูงเหมือนกัน เพราะเขาอาจควรต้องเข้าวันนี้ แต่ไม่ได้เตียง ต้องรออีก 2-3 วัน กว่าจะได้เตียง เขาก็ย่ำแย่แล้ว โอกาสเสียชีวิตก็สูง ดังนั้น อัตราการเสียชีวิตจึงสูงขึ้นแน่นอน เพราะเตียงไม่เพียงพอ
“โดยสภาพแล้ว ใน 100 คนที่ป่วย COVID-19 จะมีซัก 10 คนที่มีภาวะปอดบวม แล้วในจำนวนนี้ก็มี 2-3 คนที่ป่วยหนักมาก อัตราเสียชีวิตก็สูงแน่นอน ยิ่งไม่มีเตียงนอนในโรงพยาบาล การต้องรอเตียงหรือรอที่บ้าน ถ้าระบบการดูแลไม่ดีพอ ก็ทำให้ detached ช้า อัตราการป่วยหนักก็จะสูงขึ้นด้วย”
แต่ที่เราคุยกันนี้ ยังเป็นเพียงอัตราการเสียชีวิตจากผู้ป่วย COVID-19 เท่านั้น ยังไม่รวมไปถึง ผู้ป่วยจากโรคอื่นๆ ที่ต้องเลื่อนการรักษาออกไปก่อน ซึ่งก็มีโอกาสที่อัตราการเสียชีวิตของผู้ป่วยโรคอื่นจะสูงขึ้น จากการขาดแคลนเตียงด้วยเช่นกัน ซึ่ง นพ.สุภัทร ก็กล่าวว่า ข้อมูลจากกระทรวงสาธารณสุขไม่ปรากฏว่าโรคอื่นที่ไม่ได้รับการรักษา เสียโอกาสในการรักษา จะมีอัตราการเสียชีวิตเพิ่มขึ้นแค่ไหน ทั้งโรคหัวใจ โรคหลอดเลือกสมอง โรคหลอดเลือดมะเร็ง หรือแม้แต่ผู้ป่วยอุบัติเหตุเอง เพราะเตียงถูกใช้ดูแลผู้ป่วยโควิดแทนไปแล้ว ICU ก็ถูกใช้กับผู้ป่วย COVID-19 แทนไปแล้ว
ไม่ใช่แค่เตียงเท่านั้นที่ขาดแคลน แต่บุคลากรทางการแพทย์ที่รับมืออยู่ด่านหน้า ก็เหนื่อยล้าไปตามๆ กัน เพราะต้องเร่งมือรักษาผู้ป่วย ซึ่งคุณหมอเอ ขอแบ่งบุคลากรที่ต้องรับดูแลออกเป็นสองส่วน คือ กลุ่มเบา และกลุ่มหนัก ซึ่งกลุ่มหนักนี้ต้องใช้ทีมที่จำเพาะ ทั้งแพทย์และพยาบาล เช่น แพทย์ผู้เชี่ยวชาญโรคปอดโดยเฉพาะ ซึ่งในจังหวัดที่หมอเอดูแลอยู่นั้น มีแพทย์ผู้เชี่ยวชาญโรคปอด 5 คน ต่อจำนวนประชากรในจังหวัดหลักล้านกว่าคน และพยาบาลเฉพาะทาง ICU เอง ก็ขาดแคลนอย่างหนักเช่นกัน
“ตอนนี้มันหนักมาก พวกผมทำงานมา ถ้าระลอกแรกนี่เฉยๆ แต่นี่มันระลอกสามแล้วไง มันนานแล้วยังไม่จบเสียที ตึงมือแล้ว พอมันมีงานอื่นเข้ามาแทรก คนไข้ปกติมันก็มี สุดท้าย กลายเป็นคนไข้โควิด จะยึดครองโรงพยาบาล คนไข้โรคอื่นๆ เช่น โรคหัวใจ กลายเป็นมากักตัวที่บ้านแทน แล้วพวกนั้นจะกลายเป็นตายแทน ตายด้วยโรคอื่น”
เช่นเดียวกับ นพ.สุภัทร ที่เล่าว่า ตอนนี้ บุคลากรหน้าด่าน ทำงานหนักกว่าปกติอย่างมาก โดยยกตัวอย่างว่า โรงพยาบาลของคุณหมอมีบุคลากรประมาณ 300 คน เดิมมีเตียงดูแลผู้ป่วยได้ 72 เตียง แต่ปัจจุบัน เตียงรักษา COVID-19 อย่างเดียวมี 140 เตียง และเตียงผู้ป่วยทั่วไปได้อีกประมาณ 20 เตียง หรือก็คือ ตอนนี้มีเตียงทั้งหมด 160 เตียง เพิ่มขึ้นมา 2 เท่าจากช่วงก่อน แล้วยังมีเตียงนอกโรงพยาบาล ที่เป็นเตียงของโรงพยาบาลสนามอีก 200-300 เตียง ทำให้งานหนักขึ้น 3-4 เท่า
“การควบคุมโรค คัดกรอง ทำ swab ทุกวันอีก ฉีดวัคซีนประชาชนอีก ก็สาหัสอยู่ แต่เราไม่ได้เกี่ยงงานหนักนะ เราเกี่ยงว่าจะไม่มีวัคซีนมาให้เราฉีดต่างหาก”
ต้องเร่งแก้ไขอย่างไร ไม่ให้สาธารณสุขไทยล่มสลาย
ประเด็นนึงอีกอย่างที่น่าสนใจก็คือ เมื่อเตียงในเมืองหลวงอย่างกรุงเทพฯ เต็มหมด ผู้ป่วยก็ย้ายไปหาเตียงในโรงพยาบาลต่างจังหวัดแทน
เพื่ออธิบายสถานการณ์ที่เกิดขึ้นให้เห็นภาพ คุณหมอเอ ยกตัวอย่างว่า สมมติเราติด COVID-19 ที่กรุงเทพฯ แต่ในกรุงเทพฯ ไม่มีเตียงรักษาแล้ว ต้องรออีก 3-4 วัน ก็ต้องเดินทางไปต่างจังหวัดกันเอง บางคนอาจจะขับรถมาก็ไม่เท่าไหร่ แต่คนที่ไม่มีรถ และต้องนั่งรถโดยสารไปจะแพร่เชื้อไปอีกเท่าไหร่
นพ.สุภัทร ก็กล่าวถึงประเด็นนี้ว่า การปิดแคมป์คนงานที่เป็นคลัสเตอร์นั้น ทำให้คนงานกระจายออกไปตามต่างจังหวัด ซึ่งกลายเป็นปรากฏการณ์ที่อาจทำให้การแพร่ระบาดของโรคกว้างขวางขึ้น
“อาทิตย์หน้าเราอาจจะเห็นตัวเลข 5,000 คน เป็นเบสิกของจำนวนผู้ติดเชื้อ แน่นอน เพิ่มวันละพัน จะเอาเตียงที่ไหนมาให้นอน มันหาไม่ได้อยู่แล้ว วันละพันเตียง อย่างในโรงพยาบาลหาไม่ได้แน่ๆ ที่ผ่านมาหลายส่วนก็ช่วยกัน ทั้งกระทรวงและท้องถิ่นก็เปิดโรงพยาบาลสนามซึ่งแต่ละที่ก็มีอยู่หลักร้อยเตียง พันเตียง ก็เต็มหมดแล้วเหมือนกัน เพราะงั้น ปรากฏการณ์ตอนนี้คือ เต็มถ้วนหน้า”
แต่ยังไม่ทันต้องรอให้ถึงสัปดาห์หน้า วันนี้ (1 กรกฎาคม) ยอดผู้ติดเชื้อใหม่รายวันก็พุ่งมาแตะ 5,533 รายแล้ว ขณะที่ยอดผู้เสียชีวิตก็พุ่งไปถึง 57 ราย นับเป็นตัวเลขที่สูงที่สุด ตั้งแต่ COVID-19 แพร่ระบาดในไทย
ทางแก้สำหรับเรื่องนี้คือ การจัดทำระบบส่งต่อผู้ป่วยให้มีประสิทธิภาพ เพื่อส่งต่อผู้ป่วยในกรุงเทพฯ ออกสู่โรงพยาบาลต่างจังหวัดได้ โดยเชื้อโรคไม่แพร่ไปสู่คนอื่นๆ
คุณหมอเอให้ความเห็นถึงคำกล่าวของ อนุทิน ชาญวีรกูล รมว.สาธารณสุข ที่เคยกล่าวว่า จะให้ความจุของโรงพยาบาลโดยรอบกรุงเทพฯ และปริมณฑล รับผู้ป่วยจากกรุงเทพฯ แต่คำถามคือ มีรถไปรับผู้ป่วยไหม หรือว่าให้ผู้ป่วยเดินทางกันเอง เพราะจะให้รถพยาบาลจากต่างจังหวัดไปรับเองก็ไม่พอ จึงต้องมีระบบช่วยให้ผู้ป่วยเดินทางมาได้ โดยไม่แพร่เชื้อต่อ
“ผู้บริหารย่อมทำตามนโยบายของกระทรวงที่จะกระจายผู้ป่วยออกมาจากกรุงเทพฯ แต่ผู้บริหารไม่เคยมาลงดูหน้างานว่า เขาทำงานกันอย่างไร ไหวไหม”
อีกประเด็นที่คุณหมอเอตั้งคำถามคือ เวลาเจอผู้ติดเชื้อ ทำไมถึงไม่รับมาทั้งบ้าน? ซึ่งสอดคล้องกับเคสที่เรายกตัวอย่างกันไปช่วงต้นว่า บางที ครอบครัวเดียวกัน อยู่บ้านเดียวกัน แต่ก็ไม่ได้รับการรักษาพร้อมกัน
“ติดคนนึง ในครอบครัวมี 4-5 คน กลับไปอยู่บ้าน ก็รับแค่คนเดียวมา คนที่เหลือล่ะ ก็คอนแทคไปแล้ว มันก็ทยอยกันติด สุดท้ายก็เหลือตัวคนเดียว แล้วคนนึงไปโรงพยาบาลนึง อีกคนนึงไปโรงพยาบาลนึง บางทีเราต้องมีองค์รวมในการรักษา มันก็ติดกันทั้งบ้านแหละ รับมาเลยทั้งบ้าน ตามข่าว เห็นไหม สุดท้ายเหลือยายแก่ๆ คนเดียว ลูกไปโรงพยาบาลนี้ คนนี้ไปโรงพยาบาลนี้ ยายยังไม่มีใครมารับ อ่าว ก็ในเมื่อติดแล้วทั้งบ้าน ทำไมไม่มาพร้อมกัน”
ขณะที่ นพ.สุภัทรก็มองว่า การให้ผู้ป่วย COVID-19 ที่ไม่มีอาการพักฟื้นที่บ้าน หรือ home isolation เป็นทางออกที่สำคัญ และเป็นวิธีที่ดี แต่ต้องปล่อยให้ทำกันเองตามยถากรรม เหมือนกรณีของแคมป์คนงาน
“เราต้องการให้เขารักษาตัวที่บ้าน ในกรณีที่เขาป่วยไม่มาก แล้วมีระบบการดูแลทางการแพทย์ให้เขา ผ่านโทรศัพท์ ผ่านการโทรไลน์ คุยกัน วิดีโอคอลกันได้ ถ้ามีอาการอะไร ก็มีรถไปรับเพื่อมาโรงพยาบาล แต่ระบบเหล่านี้มันซับซ้อน ต้องเซ็ต โดยเฉพาะในเขตกรุงเทพฯ”
ในพื้นที่ต่างจังหวัด อย่างที่ นพ.สุภัทรประจำอยู่นั้น ก็มีคนไข้ตกค้างที่บ้าน ไม่มีเตียงให้นอน แต่จะมีเจ้าหน้าที่โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล (รพสต.) โทรไปคุยทุกวัน เพื่อถามไถ่อาการ ถ้ามีอาการที่น่ากังวล ก็จะพามาโรงพยาบาล มาตรวจ
นพ.สุภัทรบอกอีกว่า ถ้าตรวจผู้ป่วยแล้ว อาการยังไหว ก็จะให้กลับบ้านก่อน เพราะเตียงไม่พอ แต่ถ้าไม่ไหวก็ต้องพยายามหาเตียงในโรงพยาบาลที่เขาประจำอยู่ให้ได้ ถ้าไม่ได้ ก็ต้องหาจากโรงพยาบาลอื่น ซึ่งนี่เป็นปรากฏการณ์ที่เกิดในต่างจังหวัด และจัดการได้
“แต่กรุงเทพฯ นอนรักษาที่บ้าน แล้วใครจะดูแลเขาล่ะ จะปรึกษาใครได้ มันไม่มี พอไม่มี ก็จะกลายเป็นการนอนตามยถากรรม รอเตียงที่ไม่รู้ว่าเมื่อไหร่ อันนี้ไม่ถูกต้อง ถึงต้องเซ็ตระบบอย่างยิ่ง และยากด้วย”
ด้านคุณหมอเอก็เสริมว่า ถึงจุดนี้ ก็ต้องทำ home isolation กันจริงแล้ว แต่ปัญหาก็คือ เชื้อกลายพันธุ์ที่รุนแรงกว่าเชื้อดั้งเดิม ทำให้มีผู้ป่วยปอดอักเสบกันค่อนข้างมาก ดังนั้น ถ้าจะให้นอนรักษากันที่บ้าน กระทรวงก็ต้องมีเกณฑ์ที่ชัดเจนว่า ผู้ป่วยแบบไหนที่ทำได้ แบบไหนที่ทำไม่ได้ เช่น คนที่มีโรคประจำตัวเยอะ เป็นเบาหวาน ความดัน และอายุเกิน 70 ปี ถ้าจะให้พักรักษาที่บ้าน อาจจะเสียชีวิตได้ ดังนั้น การมีเกณฑ์กำหนดที่ชัดเจนจึงเป็นเรื่องสำคัญมาก
พอพูดถึงเรื่องความน่ากลัวของไวรัสกลายพันธุ์ ก็ชวนให้นึกถึงข่าวที่บุคลากรทางการแพทย์จำนวนมาก ติด COVID-19 อย่างกรณีของโรงพยาบาลเชียงรายประชานุเคราะห์ ที่พบบุคลากรทางการแพทย์ติดเชื้ออย่างน้อย 41 ราย โดย 7 รายในนี้ มีอาการปอดอักเสบ
กรณีของโรงพยาบาลแห่งนี้ นำไปสู่คำถามเรื่องประสิทธิภาพของวัคซีนที่บุคลากรทางการแพทย์ได้รับ เมื่อส่วนใหญ่ได้วัคซีนล็อตแรกอย่าง Sinovac ซึ่งในจำนวนบุคลากรทางการแพทย์ที่ปอดอักเสบนั้น มี 2 คน ได้รับวัคซีน Sinovac แบบครบโดสแล้ว
นพ.สุภัทรเล่าว่า ที่โรงพยาบาลของเขาเองก็มีบุคลากรทางการแพทย์ที่ติดเชื้ออย่างน้อย 3 คน แม้ว่าจะรับวัคซีนของ Sinovac ครบโดสไปแล้ว แต่ก็มีข้อสังเกตว่า ทุกคนมีอาการเล็กน้อยเท่านั้น
ประเด็นที่สำคัญก็คือ นพ.สุภัทรอธิบายว่า วัคซีนในช่วงแรกที่ฉีดให้บุคลากรทางการแพทย์ ไม่ได้มีทางเลือกมากนัก ทำให้พวกเขามีเพียงแต่วัคซีนของ Sinovac เท่านั้น เพราะไทยสั่งวัคซีนล่าช้า จึงยังไม่มีวัคซีนอื่นมาให้เลือก ทำให้บุคลากรทางการแพทย์ได้ฉีด Sinovac 2 เข็ม ซึ่งก็สร้างภูมิคุ้มกันได้ แต่ไม่สูง และไม่ได้ติดเชื้อทุกคน แต่มีโอกาสติดเชื้ออยู่ ดังนั้น นพ.สุภัทรเลยย้ำว่า เหล่าบุคลากรทางการแพทย์จำเป็นต้องได้รับวัคซีนเข็มสาม
“ทางชมรมแพทย์ชนบทเอง ก็เสนอให้นำเข้าวัคซีนให้ได้ตามเป้าหมายเดิมของรัฐบาล เพราะรัฐบาลเคยคุยโม้ไว้ว่า จะได้ AstraZeneca เดือนละ 10 ล้านโดส Sinovac เดือนละ 5 ล้านโดส รวมแล้ว 15 ล้านโดส ต่อเดือน เราก็ขอ 15 ล้านโดสนี่แหละ เราฉีดวันละ 5 แสนคน ถ้า 30 วัน เราก็ได้ 15 ล้านโดส ฉีดไหว สบายๆ แต่ปัญหาคือไม่มีให้ฉีด ปัจจุบันเราได้ 4 ล้านโดสต่อเดือน หายไป 60% จากเดิมที่ควรได้ 10 ล้าน Sinovac ก็ควรจะมา แต่เราไม่อยากให้สัดส่วน Sinovac เป็นวัคซีนหลัก อยากให้เป็นวัคซีนเสริม”
“แต่ถ้าเราแย่งเข็ม 3 มาจากประชาชน โดยที่ประชาชนยังไม่ได้เข็ม 1 เลย ก็น่าเกลียด นี่คือปัญหาว่าวัคซีนมันไม่พอ ถ้าพอก็จะได้ฉีดให้ประชาชน และเข็ม 3 ให้บุคลากรทางการแพทย์ แต่นี่เข็ม 1 ยังไม่ได้ฉีดเลย เราก็รอนะ เราก็รอให้ประชาชนได้ฉีดเข็ม 1 มากกว่านี้ก่อน แล้วเราค่อยมาฉีดเข็ม 3 ให้บุคลากรทางการแพทย์กัน”
เตียงไม่พอ ผู้ป่วยโรคอื่นไม่ได้รักษา หมอ-พยาบาลรับมือหนัก ผู้ติดเชื้อกระจายไปจังหวัดอื่นๆ รวมถึง วัคซีนที่ไม่เพียงพอกับความต้องการของประชาชน ล้วนเป็นสัญญาบ่งชี้ถึงความย่ำแย่ของสถานการณ์ปัจจุบันในระบบสาธารณสุขไทย
นี่คือปัญหาใหญ่ภาครัฐที่ต้องเร่งแก้ไข และเป็นสิ่งสำคัญที่จะต้องรู้ว่า การรายงานผู้เสียชีวิตรายวันไม่ใช่เพียงตัวเลขที่ไร้ชีวิต และต่อให้มีหนึ่งรายที่จากไปในแต่ละวัน ทั้งจากการรอเตียง และรอวัคซีนที่มีประสิทธิภาพ นั่นก็คือความสูญเสียอย่างมหาศาลที่ไม่อาจหาอะไรมาทดแทนได้
อ้างอิงเพิ่มเติมจาก
ข้อมูลจากแถลงการณ์จากศูนย์บริหารสถานการณ์ COVID-19 ประจำวันที่ 25 มิถุนายน – 1 กรกฎาคม 2564