“ความพยายามใดๆ ก็ตามที่จะรักษาโรคซึมเศร้าโดยไม่เผชิญหน้ากับทุนนิยม เป็นได้เพียงการเลี้ยงไข้หรือทำให้อาการแย่ลง”
ประโยคข้างต้นมาจากหนังสือ ‘เมื่อโลกซึมเศร้า: Mark Fisher โลกสัจนิยมแบบทุน และลัดดาแลนด์’ ของสรวิศ ชัยนาม ที่เขียนถึงโลกสัจนิยมแบบทุนและความทนทุกข์ทางจิตของคนในสังคม ซึ่งประโยคดังกล่าวนี้สะท้อนถึงปัญหาเชิงโครงสร้างของประเทศไทยได้เป็นอย่างดี
โดยทั่วไปแล้ว ‘โรคซึมเศร้า’ มักถูกอธิบายไว้บนอินเตอร์เน็ตว่าเป็นความผิดปกติของสมองในส่วนที่มีผลกระทบต่อความคิด อารมณ์ ความรู้สึก พฤติกรรม และสุขภาพทางกายที่สามารถเข้ารับการรักษาและกินยาตามที่จิตแพทย์สั่งได้
แต่กับหนังสือเล่มนี้มองว่า โลกของทุนนิยมกำลังทำให้เราทุกคนมีอาการป่วย และต้องดิ้นรนในโลกกลมๆ ใบนี้ต่อไปเพื่อรักษาตัวเอง ผู้ป่วยต้องใช้ทั้งเงิน เวลา และทรัพยากรต่างๆ ในการรักษา แม้ว่าสุดท้ายจะไม่อาจหนีออกจากระบบที่เป็นเหมือนลูกกรงได้
แล้วถ้าโรคนี้มันเกิดขึ้นกับกลุ่มคนชนชั้นกลางไปถึงล่างล่ะ? การดิ้นรนเพื่อรักษาตัวเองคงยากเย็นยิ่งขึ้นไปอีก เพราะแม้จะมีวิธีการรักษาดีๆ อีกเป็นร้อยเป็นพันมากองอยู่ตรงหน้า พวกเขาก็ไม่อาจเอื้อมถึงมันได้ เพราะการรักษาเหล่านี้มีราคาที่ต้องจ่ายสูงเหลือเกิน
มีผู้คนจากทุกชนชั้นกว่า 1.5 ล้านคนที่พบว่าตัวเองเป็นโรคซึมเศร้า โดยมีแนวโน้มจะสูงขึ้นอีกตามการคาดการณ์ของกรมสุขภาพจิต เนื่องจากการรับรู้เรื่องโรคและการเข้าถึงการรักษาที่ง่ายขึ้น ซึ่งปัจจุบันมีวิธีการรักษาโรคซึมเศร้า หรือวิธีการบำบัดใหม่ๆ ที่ให้ผลลัพธ์ที่ดีมากมายไม่ว่าจะเป็นการใช้เสียงบำบัด (Sound Healing), การพบจิตแพทย์ และการรับคำปรึกษาแบบไม่จ่ายยา ฯลฯ
วิธีการเหล่านี้มีค่าใช้จ่ายและต้องใช้ความสม่ำเสมอในการรักษา ซึ่งบางครั้งคนบางกลุ่มก็ไม่สามารถเข้าถึงการรักษาเหล่านี้ได้ รวมทั้งเวลาของคนที่หาเช้ากินค่ำก็มีอย่างจำกัด และแน่นอนว่าการรักษาโรคซึมเศร้าตามระบบการรักษาของโรงพยาบาลรัฐ แม้จะมีอยู่แต่อาจไม่ครอบคลุมและเพียงพอต่อปริมาณผู้ป่วย
The MATTER แลกเปลี่ยนความคิดเห็นกับ ‘โอ๊ต’ ครีเอทีฟ วัย 29 ปี, ‘เมย์’ นักข่าว วัย 30 ปี, และ ‘ข้าวหอม’ วัย 25 ปี อาชีพอิสระ เกี่ยวกับโรคซึมเศร้าที่พวกเขาเป็น และการเข้าไปอยู่ในระบบการรักษาของโรงพยาบาลรัฐ เพื่อทำความเข้าใจว่าระบบสาธารณสุขไทยครอบคลุมการรักษาหรือไม่ และร่วมกันหาทางออกว่าระบบสาธารณสุขไทยควรจะเป็นอย่างไรต่อ
— มีเนื้อหาที่อาจส่งผลกระทบต่ออารมณ์ของผู้อ่าน —
‘โอ๊ต’ วัย 29 ปี อาชีพ ครีเอทีฟ ผู้ที่อยู่ในระบบการรักษาพยาบาลด้านจิตเวชของรัฐเป็นระยะเวลาร่วม 4 ปี เล่าถึงจุดเริ่มต้นของโรคที่เป็นอยู่ว่า เขาเริ่มรู้สึกมีอาการในช่วงที่โรคซึมเศร้ายังไม่ได้เป็นที่รู้จัก เพราะความเครียดที่สะสมจนแม่ต้องพาไปหาหมอ และได้รับการวินิจฉัยว่าเป็นโรคเครียด เขาจึงกลับบ้านมาพร้อมกับยาจำนวนหนึ่งที่หมอจ่ายให้
“หมอก็บอกว่าเป็นโรคเครียด เขาก็เลยให้ยาอะไรมาก็ไม่รู้ ซึ่งเป็นยาที่เรากินแล้วเราหลับ แบบสลบเลย เหมือนตาย เราก็เลยหยุดกิน และก็แบกรับความเครียดความกดดันนั้นมาตลอด จนเข้าไปเรียนมหาวิทยาลัย ประมาณช่วง 2 ปีแรกยังไม่มีอาการอะไร ยังรู้สึกว่าตัวเองปกติ
จนกระทั่งเข้าปี 3 มันเริ่มทำงานหนักขึ้น เรียนหนักขึ้น เราก็เริ่มคิดว่าตัวเองเป็นโรคซึมเศร้า แล้วตอนนั้นกระแสโรคซึมเศร้าก็เริ่มเป็นที่พูดถึงมากขึ้น ทางมหาวิทยาลัยก็มีศูนย์ที่คอยให้คำปรึกษา แต่ปัญหาคือเข้าไปที่ศูนย์ 3 ครั้ง ไม่เคยได้เจอหมอหรือพยาบาลเลย เหมือนมีสถานที่อยู่แต่ตัวหมอไม่เคยอยู่ ตอนนั้นเราไม่รู้ว่ากับคนอื่นเจอแบบนี้ไหม แต่เราเลือกไปตรงนั้นเพราะตอนนั้นเรียนอยู่ แล้วก็ไม่มีเงินไปรักษาข้างนอกด้วย” โอ๊ตเล่า
ครีเอทีฟคนนี้เล่าต่อว่า เขาอยู่กับช่วงเวลาเหล่านั้น ที่เหมือนผ่านไปแค่เวลาแต่ความเศร้ายังอยู่มาตลอด จนกระทั่งเริ่มทำงานในวงการสื่อ ซึ่ง ณ เวลานั้นมีสถานการณ์ที่ทำให้เครียดมาก เขาเลยตัดสินใจที่จะลาออก
“ก็จะลาออก แต่ก่อนที่จะออกได้ตัดสินใจไปหาหมอที่ รพ.เอกชนแห่งหนึ่งในเมือง เพราะมีสิทธิประกันสังคมที่นั่น พอเข้าไปพยาบาลเขาก็บริการดีก็จัดให้เราได้หาหมอที่เหมาะกับโรคของเรา ปรากฏว่าพอได้เจอหมอมองหน้าเราอยู่ประมาณ 10 วินาที แล้วบอกว่า ‘หน้าอย่างคุณไม่เป็นหรอก’ คือไม่มีการถามไถ่อาการที่เป็น หรือเรื่องราวที่เจอมาเลย แต่แค่มองหน้าแล้วบอกว่าคุณไม่เป็นหรอก พร้อมกับจ่ายยาอะไรมาก็ไม่รู้ให้ เราเลยไม่กิน”
เขาเริ่มหาข้อมูลด้วยตัวเอง พร้อมกับถามจากเพื่อนที่เข้ารับการรักษาอยู่จนได้มาเจอโรงพยาบาลรัฐแห่งหนึ่งในเมือง ซึ่งหลังจากที่ติดต่อเข้าไปแล้วพบว่าต้องรอคิวพบหมอนานถึง 4 เดือน “เขาให้เรารอประมาณ 4 เดือน ซึ่งคนมันก็จะเป็นจะตายอะ แต่ตอนนั้นก็ทำอะไรไม่ได้ เพราะเราก็ไม่มีเงินไปรักษาที่อื่น เพราะที่อื่นมีค่าใช้จ่ายประมาณ 4,000-5,000 พันบาทต่อครั้ง แล้วมันต้องไปอย่างต่อเนื่อง เราไม่น่าจะไหว ก็เลยต้องเป็นที่นี่”
โอ๊ตเล่าว่า เมื่อ 4 ปีที่แล้ว การเข้าไปรับการรักษายังต้องใช้เวลารอคิวถึง 4 เดือน แต่เมื่อประมาณครึ่งปีก่อนเพื่อนของเขามาเล่าว่าต้องใช้เวลารอคิวหมอที่โรงพยาบาลเดียวกันถึง 6 เดือน ซึ่งระยะเวลามันนานขึ้น คนป่วยเยอะขึ้น และเขาเดาว่าตอนนี้ก็คงจะกินระยะเวลานานกว่า 6 เดือนแน่ๆ
เราถามถึงปัญหาที่โอ๊ตเจอระหว่างเข้ารับการรักษา ซึ่งโอ๊ตบอกว่า เขาได้รับการบริการอย่างดี แต่สภาพแวดล้อมของโรงพยาบาลนั้นไม่ค่อยดีเท่าไรนักจากความคับแคบและบรรยากาศที่ชวนอึดอัดในโรงพยาบาล
“คือเขาเอาคนป่วยทุกระดับ 1-10 มาอยู่ในจุดเดียวกัน อันนี้เราหดหู่มาก มันจะมีคนที่เขาแบบหลุดไปแล้วอยู่ตรงนั้นกับเราด้วย แล้วมันทำให้เรากลัว”
ส่วนการรักษาโอ๊ตมองว่า ยังไม่ตอบโจทย์สำหรับเขาที่ต้องให้ทุกคนกินยา เพราะในความเป็นจริงแล้วอาการของเขาอาจจะต้องการการพูดคุยมากกว่าการซักถาม จ่ายยา และกลับบ้าน
“ทุกคนที่ไปรักษาจะถูกป้อนยาเลย เราเข้าใจว่าระบบของมันพัง การให้ยาคือวิธีการเดียวที่จะลัดและลดภาระหมอ เราก็เลยทำใจว่าเรากินยาก็ได้ ทั้งๆ ที่ไม่ได้อยากกินยาขนาดนั้น ส่วนการพูดคุยของหมอ เราไม่รู้สึกว่ามันจะนำไปสู่อะไร ซึ่งถ้าจะเปลี่ยนหมอ เราต้องคุยกับหมอเอง แบบเราต้องไปบอกหมอว่าทำไมเราถึงจะไม่รักษากับคุณแล้ว ซึ่งในความเป็นจริงจะให้เราไปบอกเขายังไง เราก็คิดว่ามันประหลาดนิดนึงที่ระบบดันให้ผู้ป่วยไปคุยกับหมอเอง” โอ๊ตเล่า
โอ๊ตเสนอว่า การรักษาด้านจิตเวชเป็นสิ่งที่เข้าถึงได้ยากมากๆ ยิ่งถ้าเป็นคนที่อาศัยอยู่ต่างจังหวัด และแม้ว่าสังคมปัจจุบันจะพัฒนาความรู้ความเข้าใจในเรื่องโรคไปไกลแล้ว แต่โรงพยาบาลทั้งรัฐและเอกชนมีความพร้อมแค่ไหนในการรองรับคนเหล่านี้เข้าสู่การรักษา
“เช่น เพื่อนเราที่ใช้เวลา 6 เดือนรอเจอหมอ 6 เดือนสำหรับบางคนฆ่าตัวตายได้เลยนะ คือถ้าเขาป่วยจริง หรืออยู่ในขั้นรุนแรงจริงๆ ขนาดคนที่รักษาอยู่ยังมีโอกาสจบชีวิตลงเลย แล้วถ้าคนที่เขาไม่ได้รับการรักษา หรือไม่รู้แม้กระทั่งว่าตัวเองป่วยเป็นอะไร อันนี้มันน่าเศร้านะ”
‘เมย์’ อายุ 30 ปี อาชีพนักข่าว เล่าให้เราฟังว่าเธอเข้ารับการรักษาอยู่ที่โรงพยาบาลรัฐบาลแห่งหนึ่ง ซึ่งได้รับคำแนะนำมาจากทางมหาวิทยาลัย ประกอบกับอาการที่เป็นไม่ได้หนักด้วยจึงไม่จำเป็นต้องใช้ยานอกบัญชี
“ถ้าไปครั้งแรกไม่สามารถเจอหมอได้เลย เจอแค่คนซักประวัติเบื้องต้นคือนักสังคมสงเคราะห์ หรือนักจิตวิทยาไม่ก็เจ้าหน้าที่ แล้วต้องรออีกสองอาทิตย์ หรือเดือนนึงค่อยกลับมา ส่วนวันที่ต้องไปหาหมอต้องไปแต่เช้าเพื่อไปเอาคิว แต่ที่นี่ยังดีคนน้อย ถ้าในเมืองก็อาจจะต้องไปตั้งแต่ตี 4-5 ส่วนที่นี่มาไม่เกิน 8 โมงก็จะได้คิวเร็วหน่อย แต่ยังไงก็กินเวลาครึ่งวันอยู่ดี ซึ่งความเร็วนี้ก็ขึ้นอยู่กับจำนวนหมอด้วย” เมย์เล่า
เมย์บอกว่าโรงพยาบาลที่เธอไปรักษามีหมออยู่ 5 คน ซึ่งหมอ 1 คนต้องดูแลคนไข้เป็นร้อยๆ คน และนอกจากการมาเอาคิวแต่เช้ามันไม่ได้แปลว่าเธอจะไม่ต้องรอ เธอใช้เวลากว่า 2 ชั่วโมงหลังจากรับคิวเพื่อคุยกับหมอ
สุดท้ายเมย์ตัดสินใจไม่รักษาต่อที่โรงพยาบาลนี้ เพราะเธอไม่รู้ว่าอาการที่เธอกำลังเป็นอยู่นั้นมันดำเนินไปถึงขั้นไหนแล้ว และหมอเองก็ไม่สามารถประเมินอะไรได้เลย “ไปหาหมอ 2 เดือนครั้งแต่ก็เหมือนเดิม เขาก็ไม่บอกว่าเราดีขึ้นหรือแย่ลง จนเราสงสัยว่าตัวเองหายหรือยัง เพราะเราก็ไม่ได้อยากกินยาให้มันกระทบไตไปตลอดนึกออกไหม จนสุดท้ายเราก็ยอมรับกับหมอไปตรงๆ ว่าเราจะย้ายไปรักษาที่โรงพยาบาลใกล้บ้าน”
ปัจจุบันเมย์ย้ายมารักษาต่อที่โรงพยาบาลเอกชนแห่งหนึ่งโดยใช้สิทธิประกันสังคม “หากเทียบกับที่เก่าค่าใช้จ่ายในการไปหาหมอแต่ละครั้งก็ตกครั้งละประมาณ 300 บาท ส่วนที่ใหม่เป็นเอกชนเราใช้สิทธิประกันสังคมได้ เพราะประกันสังคมจะครอบคลุมสิทธิการรักษาด้านจิตเวชที่ดีกว่าสิทธิ 30 บาท”
คนสุดท้ายที่เราพูดคุยด้วยคือ ‘ข้าวหอม’ อายุ 25 ปี อาชีพอิสระ เธอเริ่มเล่าให้ฟังว่า ตอนแรกเริ่มมีอาการโดยไม่รู้ตัวจนพ่อแม่ต้องพาไปหาหมอ และเคยมีความพยายามที่จะฆ่าตัวตาย “ตอนนั้นคือซึมมาก เครียด เคยพยายามฆ่าตัวตายแล้วแต่ไม่สำเร็จ มีชักด้วย พ่อแม่เลยต้องพาไปหาหมอ จนหลังๆ พอได้รับยาและเริ่มปรับตัวได้ก็ลองหาข้อมูลอ่านเกี่ยวกับเรื่องนี้ แล้วก็ลองทำพวกแบบทดสอบถามภาวะซึมเศร้าในเน็ตดู ก็เลยได้รู้จักอารมณ์ตัวเองมากขึ้น เหมือนรู้เท่าทันตัวเอง”
ข้าวหอมเข้ารับการรักษาในโรงพยาบาลรัฐทั้งหมดสองที่ ซึ่งทั้งสองที่มีข้อเสียเหมือนกันคือรอคิวนาน และอีกสิ่งที่พบคือหมอบางคนไม่มีเวลาพูดคุยเพื่อค้นหาความผิดปกติของผู้ป่วยมากนัก เพราะหมอ 1 คนต้องดูแลคนไข้จำนวนมาก
“หมอนัดพบเรารายสัปดาห์เพื่อดูว่าเราสามารถใช้ชีวิตกับยาที่หมอจ่ายไปได้ไหม ต้องมีปรับยาตรงไหนหรือเปล่า เนื่องจากยาบางตัวจะทำให้เราง่วง หากทุกอย่างโอเคก็จะเริ่มนัดเป็นเดือนละครั้ง สังเกตดูความคิดเรา ดูว่าสารเคมีในสมองเราหลังจากได้รับยาไป ส่งผลให้อารมณ์เราเปลี่ยนไปยังไงบ้าง” ข้าวหอมเล่า
ข้าวหอมเล่าต่อว่า คำแนะนำทั่วไปจากหมอก็สามารถนำไปใช้ได้จริง แต่ในทางปฏิบัติสำหรับคนที่ยังป่วยจะรู้สึกว่าทำได้ยาก แต่ถ้าหมอมีเวลาเพิ่มเติมให้กับคนไข้สามารถซักถาม เพื่อหาแนวทางที่เหมาะสมกับตัวคนไข้ก็น่าจะช่วยได้มาก ส่วนเรื่องค่าใช้จ่าย เธอเสียเงินในการไปพบหมอแต่ละครั้งไม่เกิน 1,000 บาท ยังไม่รวมกับยานอกบัญชีที่เธอต้องใช้
เมื่อถามถึงความต้องการเพิ่มเติมในระบบการรักษาของรัฐในฐานะผู้ป่วยคนหนึ่ง ข้าวหอมมองว่า อยากให้รัฐบาลมีหน่วยงานเฉพาะโรคทางจิตเวช เพื่อมาแบ่งเบาความหนาแน่นของคนไข้ในโรงพยาบาลใหญ่ เพราะผู้ป่วยโรคนี้มักต้องการการยอมรับและความเข้าใจในความผิดปกติเป็นพิเศษ และต้องใช้เวลาพอสมควรในการรักษาแต่ละครั้ง
สิ่งที่สะท้อนออกมาจากประสบการณ์ของทั้ง 3 คน ชี้ไปที่ปัญหาการขาดบุคคลากรทางการแพทย์ ซึ่งกลายเป็นปัญหาใหญ่ที่ยังแก้ไม่ได้สำหรับสาธารณสุขไทย ต้องยอมรับว่าไม่ใช่เพียงแค่จิตแพทย์เท่านั้นที่ขาดแคลน แต่หมอที่รักษาโรคทั่วไป รวมไปถึงบุคลากรทางการแพทย์อื่นๆ ก็ขาดแคลนเช่นกัน
ดังนั้นเราควรตั้งคำถาม ตั้งความหวังต่อรัฐบาล และเฝ้าดูกันต่อไปว่า อนาคตของระบบสาธารณสุขไทยจะเป็นอย่างไรต่อในวิกฤติที่ยังขาดแคลนบุคลากรแพทย์ และแน่นอนว่าประชาชนทุกคนก็ควรได้รับสิทธิการรักษาที่ได้คุณภาพและเท่าเทียมเช่นกัน
อ้างอิงจาก
resourcecenter.thaihealth.or.th